ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว – ระงับโครงการจัดซื้อรถเมล์ 489 คัน ขสมก. เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว – ระงับโครงการจัดซื้อรถเมล์ 489 คัน ขสมก. เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่ง

11 เมษายน 2018


วันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. นางพนิดา ทองสุข รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. (ซ้าย) และนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ขวา) เดินทางมาฟังคำสั่งศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง และคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อรถเมล์NGV พร้อมระบบซ่อมบำรุง 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2 คดี ดังนี้

คดีแรก เป็นคดีหมายเลขดำที่ 709/2561 ระหว่างบริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองกลางตรวจสอบการลงมติของบอร์ด ขสมก. กรณีคัดเลือกกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO (บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)) เข้าทำสัญญากับ ขสมก. นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติบอร์ด ขสมก. ระหว่างที่ศาลกำลังตรวจสอบการลงมติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลสั่ง ขสมก. ทุเลาการบังคับตามมติบอร์ด ขสมก. หรือระงับการดำเนินการใดๆ ตามสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะตรวจสอบการลงมติของบอร์ด ขสมก. แล้วเสร็จ และมีคำพิพากษาในคดีนี้

หลังจากศาลไต่สวนคู่ความและพยาน 4 ปากเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 วันนี้(10 เมษายน 2561)ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ที่อนุมัติสั่งซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,891 ล้านบาท และอนุมัติจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถเมล์ NGV อีก 2,369 ล้านบาท กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดยศาลสั่งห้าม ขสมก. นำมติที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ไปดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันต่อ ขสมก. และบอร์ด ขสมก. เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

โดยศาลปกครองกลาง มีความเห็นว่า มติที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 อนุมัติให้ ขสมก. ทำสัญญาซื้อรถเมล์ NGV น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ การตรวจสอบรายงานการทอดเทปบันทึกการประชุมบอร์ดครั้งที่ 15/2560 ไม่ปรากฏข้อความใดในรายงานดังกล่าวที่ระบุว่ากรรมการที่เข้าร่วมประชุมทั้ง 9 คนมีมติอนุมัติให้ ขสมก. ทำสัญญากับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO สอดคล้องกับคำให้การของพยาน 4 ปาก อันได้แก่ รศ.คณิต วัฒนวิเชียร, รศ.พัชรา พัชราวนิช, พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ และนายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ ว่าในการประชุมบอร์ดครั้งที่ 15/2560 มีการอภิปรายซักถามกันอย่างกว้างขวางหลายประเด็น เช่น คุณสมบัติของบริษัท ขสมก. ส่งหนังสือเชิญประกวดราคาประกอบอาชีพขายรถเมล์ NGV และซ่อมบำรุงจริงหรือไม่, ประเด็นราคารถเมล์ที่ยื่นข้อเสนอด้านราคาสูงกว่าราคากลาง และสูงกว่าราคาในการประมูลครั้งก่อนเหมาะสมหรือไม่, ประเด็นการกำหนดระยะเวลานับจากวันที่ออกหนังสือเชิญไปจนถึงวันยื่นซองข้อเสนอมีระยะเวลาสั้นเกินไป, ประเด็นราคารถยนต์ที่นำมาอ้างอิงเป็นราคาที่มีการซื้อ-ขายครั้งเดียว และคู่สัญญามีความเกี่ยวข้องกับผู้เสนอราคา เป็นต้น

ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้บริหารของ ขสมก. ไม่สามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจน จึงให้มีการนำข้อสงสัยของกรรมการไปชี้แจงในการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16 /2560 วันที่ 20 ธันวาคม 2560 สอดคล้องกับคำให้การของพยาน 4 ปาก ว่าการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 ยังไม่ได้มีการลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมติ ตามที่ระบุในรายงานการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 รับรอง

อีกทั้งรายงานถอดเทปที่ศาลได้รับจากผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี รวมทั้งพยาน 4 ปาก ให้ถ้อยคำตรงกันว่า การอนุมัติจัดซื้อรถเมล์ NGV เป็นคำพูดของประธานบอร์ด ขสมก. คนเดียว ในชั้นของการพิจารณาครั้งนี้ ฟังได้ว่า ยังไม่ได้มีการลงมติอนุมัติ

กรณีที่ ขสมก. ชี้แจงต่อศาลว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทำสัญญาซื้อรถเมล์ NGV เนื่องจากไม่มีกรรมการท่านใดคัดค้านหรือมีมติไม่เห็นชอบ ในชั้นนี้ไม่อาจรับฟังได้ และอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากนั้น ขสมก. ได้จัดทำรายงานสรุปผลการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 ส่งให้ที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 ยืนยันมติอนุมัติดังกล่าว ที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งนี้จึงมีมติไม่รับรองรายงานการประชุมดังกล่าว 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และรับรอง 2 เสียง ถือได้ว่าเสียงข้างมากไม่รับรองรายงานการประชุม ก็ไม่มีผลต่อความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาการบังคับใดๆ ตามมติที่ประชุมบอร์ดครั้งที่ 15/2560 ทั้งนี้ หากให้ดำเนินการตามสัญญา อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี, ผู้ที่ยื่นซองเสนอราคารายอื่น และประชาชนผู้เสียภาษี ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลัง โดยการสั่งคุ่มครองครั้งนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดทำบริการขนส่งผู้โดยสาร เนื่องจากแม้การจัดซื้อรถเมล์ NGV ทั้ง 7 ครั้งไม่ประสบความสำเร็จ ทาง ขสมก. ก็มีรถเมล์ปกติและรถร่วมฯ (รถเอกชนร่วมบริการ) ให้บริการประชาชนได้

หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน จนกว่าจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นางพนิดา ทองสุข รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. กล่าวว่า ฝ่ายบริหารของ ขสมก. คงจะต้องยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งศาลต่อไป

อ่านต่อคดีที่2ศาลปกครองพิพากษา สั่ง ขสมก. ชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญา “เบสท์ริน” 1,159 ล้านบาท
ศาลปกครองกลาง สั่งคุ้มครองชั่วคราว