ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > SCN-CHO เตรียมยื่นอุทธรณ์ “ปลดล็อก” คำสั่งศาลปกครอง ระงับตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน

SCN-CHO เตรียมยื่นอุทธรณ์ “ปลดล็อก” คำสั่งศาลปกครอง ระงับตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน

12 พฤษภาคม 2018


ข้อพิพาทระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับผู้ประมูลโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ที่เป็นปัญหายืดเยื้อกันมายาวนาน นับตั้งแต่ขสมก. เริ่มเปิดประมูลครั้งแรกช่วงต้นเดือนมกราคม 2558 ถึงปัจจุบัน ประมูลไปแล้ว 8 ครั้ง ล้ม 7 ครั้ง ครั้งที่ 8 ขสมก. คัดเลือก “กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO” ที่มีบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำ ร่วมกับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เข้าทำสัญญาซื้อรถเมล์ NGV กับ ขสมก. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 และส่งมอบรถเมล์ลอตแรก 100 คันให้ ขสมก.เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ยังไม่ทันได้รับเงินค่ารถเมล์ ปรากฏว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 โดยสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ตามสัญญาจัดซื้อรถเมล์ NGV จนกว่าศาลจะพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในวันเดียวกันศาลมีคำพิพากษาให้ ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด 1,159 ล้านบาท อีก 1 คดี ส่งผลทำให้นโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เคยประกาศว่าจะมอบรถเมล์ NGV เป็นของขวัญปีใหม่แก่คนกรุงเทพมหานคร ตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

ล่าสุดนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO) เปิดเผยว่า ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ตนได้หารือกับบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) แล้ว ทางกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ในฐานะผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งดังกล่าวกำลังรวบรวมประเด็นความเดือดร้อนทั้งหมดไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 อาทิ กรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. หรือ “บอร์ด ขสมก.” มีมติ ให้ ขสมก. ทำสัญญาจัดซื้อรถเมล์ NGV กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ทางกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ไม่รับทราบ เพราะเป็นเรื่องภายในบอร์ด ขสมก. แต่เมื่อ ขสมก. มีหนังสือถึงกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ให้มาลงนามในสัญญาฯ แล้ว หากไม่มาก็จะถูก ขสมก. ยึดเงินสด 400 ล้านบาทที่วางเป็นหลักประกัน

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย
กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO)

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า “ขณะนี้กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ได้ทำสัญญาสั่งซื้ออะไหล่ชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ประเทศจีนแล้ว 489 คัน ในจำนวนนี้นำมาประกอบเป็นรถเมล์ และส่งมอบ ขสมก. แล้ว 100 คัน ยังไม่ได้รับเงินจาก ขสมก. และตามเงื่อนไขในสัญญาสั่งซื้ออะไหล่และแชสซีจากประเทศจีน กำหนดส่งมอบอีก 200 คัน ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนที่เหลืออีก 189 คัน ขอฝากไว้ประเทศจีนก่อน เนื่องจากกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ไม่มีพื้นที่จัดเก็บรถ นอกจากนี้ยังสำรองอะไหล่เพื่อใช้ในการซ่อมบำรุงรักษาอีกบางส่วน สรุปว่าในขณะนี้กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินซัพพลายเออร์ประเทศจีนแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่ต้องเรียนให้ศาลรับทราบ”

“ถามว่าถ้าส่งมอบรถเมล์แล้ว ขสมก. ไม่ตรวจรับทำอย่างไร ประเด็นนี้ผมขอหารือกับบริษัท สแกน อินเตอร์ ก่อนว่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ขสมก. อีกรอบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO คงต้องทำหนังสือแจ้ง ขสมก. เพื่อกำหนดระยะเวลาในการตรวจรับรถส่วนที่เหลือ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ขสมก. ยังไม่ตรวจรับรถอีก คงต้องขออนุญาตนำรถเมล์ไปขายที่อื่น เพราะเราลงทุนไปเกือบ 2,000 ล้านบาท จะปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปคงไม่ได้” นายสุรเดช กล่าว

นายสุรเดช กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO มีความคิดเห็นต่าง กรณีวินิจฉัยว่าที่ผ่านมา ขสมก. เปิดประมูลมา 8 ครั้ง ล้ม 7 ครั้ง หากครั้งนี้ ขสมก. จัดหารถเมล์ใหม่ไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า หลังจากที่มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อรถเมล์ NGV ทาง ขสมก. ก็เริ่มจำหน่ายรถเมล์เก่าและหยุดซ่อมรถบางส่วนไปแล้ว เพราะเข้าใจว่าจะได้รถเมล์ใหม่มาใช้งาน แต่หลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้ ขสมก. ต้องนำรถเมล์เก่ากลับมาซ่อมใหม่อีกส่งผลกระทบต่อแผนบริหารจัดการเดินรถ และที่สำคัญรถเมล์ถือเป็นบริการสาธารณะเช่นเดียวกับไฟฟ้า ประปา บริการประเภทนี้ไม่ควรหยุดให้บริการเกิน 3 วัน นี่คือตัวอย่างที่กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO จะยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ในฐานะผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ขสมก. จ่ายเงินค่ารถเมล์ NGV ที่ตรวจรับแล้ว พร้อมค่าซ่อมบำรุงรักษา ส่วนเรื่องการลงมติของที่ประชุมบอร์ด ขสมก. เป็นหน้าที่ของ ขสมก. ที่จะต้องชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง ทางกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ไม่เกี่ยวข้อง

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ขสมก. เปิดประมูลจัดหารถเมล์ NGV ไปทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 บริษัท ช ทวี ไม่ได้เข้าร่วมประมูล เพราะยังหาซัพพลายเออร์มาช่วยสนับสนุนไม่ได้ แต่เนื่องจาก ขสมก. กำหนดเงื่อนไข TOR เข้มงวดมาก การประมูลทั้ง 2 ครั้ง ไม่มีผู้ประมูลรายใดยื่นซองตรงตามเงื่อนไขของ TOR ขสมก. จึงออกประกาศยกเลิกการประมูล จนกระทั่งมาถึงการประมูลครั้งที่ 3 บริษัท ช ทวี ร่วมกับซัพพลายเออร์จากประเทศจีน จัดตั้ง “กิจการร่วมค้า เจวีซีซี” เข้าร่วมประมูลโครงการจัดหารถเมล์ NGV ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรากฏว่าการประมูลครั้งนี้ กิจการร่วมค้าเจวีซีซีเป็นผู้ชนะการประมูล เสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่งคันละ 10,000 บาท รวมราคาที่เสนอ 3,800 ล้านบาท ตอนนั้น ขสมก. ส่งเจ้าหน้าที่มาเลือกสี ลายรถ ดูการตกแต่งภายในตัวรถ และเตรียมออกหนังสือเรียกกิจการร่วมค้าเจวีซีซีมาทำสัญญา เปรียบเสมือนว่ากำลังจะแต่งงานกันแน่แล้ว

“ปรากฏว่ามีหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สุดท้ายการประมูลครั้งนี้ถูกยกเลิก โดย ขสมก. ให้เหตุผลว่าการแปลเอกสารจากภาษาจีนมาเป็นภาษีไทยนั้นไม่ถูกต้องตาม TOR ซึ่งระบุว่าจะต้องให้สถานทูตจีนในประเทศไทยรับรองการแปลเอกสาร ก่อน ขสมก. ออกประกาศ TOR ฉบับนี้ บริษัท ช ทวี เคยทำหนังสือท้วงติงไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ ขสมก. ก็ไม่ได้แก้ไข ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าเจวีซีซีจึงนำเอกสารการแปลส่งให้สถานทูตจีนในประเทศไทยรับรองการแปล แต่เจ้าหน้าที่ที่สถานทูตจีนไม่รับรองให้ เป็นเหตุให้ ขสมก. ต้องยกเลิกการประมูลครั้งนั้น”

จากนั้น ขสมก. เปิดประมูลครั้งที่ 4 บริษัท ช ทวี เข้าประมูลในนามกิจการร่วมค้าเจวีซีซี เสนอราคาต่ำกว่าการประมูลครั้งที่แล้ว 140 ล้านบาท ปรากฏว่าบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล เสนอราคา 3,389.71 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 632 ล้านบาท บริษัท เบสท์รินได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อรถเมล์ NGV กับ ขสมก. ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาส่งมอบรถเมล์ ผู้นำเข้าของบริษัท เบสท์ริน ถูกกรมศุลกากรแจ้งข้อกล่าวหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีตามข้อตกลง AFTA ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงนั้น จนกระทั่ง ขสมก. บอกเลิกสัญญากับบริษัท เบสท์ริน และเปิดประมูลครั้งที่ 5 ขสมก. ไม่ได้นำราคาประมูลครั้งสุดท้ายที่บริษัท เบสท์ริน ชนะมากำหนดเป็นราคากลาง ตามระเบียบ ป.ป.ช. จึงประกาศยกเลิกการประมูล และเปิดประมูลครั้งที่ 6 ใช้ราคากลางตามระเบียบ ป.ป.ช. ปรากฏว่าไม่มีผู้มายื่นซองประกวดราคา เพราะราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 600 ล้านบาท ขสมก. เปิดประมูลครั้งที่ 7 ปรับราคากลางขึ้นมาเป็น 4,020 ล้านบาท แต่ไปกำหนดให้ผู้ประมูลต้องส่งรถเมล์ 20 คันแรก ภายใน 60 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา ปรากฏว่าไม่มีผู้มายื่นซองประกวดราคาอีก เพราะไม่สามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ ขสมก. ประกาศยกเลิกการประมูลอีก

ขสมก. เปิดประมูลครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 ไม่มีผู้ยื่นซองประกวดราคา ส่วนบริษัท เบสท์รินฯ ก็ถูกบอกเลิกสัญญา ครั้งที่ 8 จึงเปลี่ยนวิธีการจัดหารถเมล์ NGV จากเดิมใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มาเป็น “วิธีคัดเลือก” ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดย ขสมก. ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการที่เคยมาซื้อซองประกวดราคาก่อนหน้านี้ รวมทั้งบริษัท ช ทวี และสแกนอินเตอร์ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมบริษัท ช ทวี ไม่เข้าประมูลรายเดียวต้องไปชวนบริษัทสแกนอินเตอร์มาร่วมงานด้วย นายสุรเดช กล่าวว่า ผลจากการที่ ขสมก. ยกเลิกประกวดราคามาหลายครั้ง ทั้งที่ ขสมก. ได้ตัวผู้ชนะการประมูลแล้ว (บริษัท ช ทวี ชนะประมูลครั้งที่ 3 บริษัท เบสท์ริน ชนะประมูลครั้งที่ 4) ผลปรากฏว่า การประมูลครั้งที่ 8 ไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดยอมออกหนังสือค้ำประกันให้ผู้ประกอบการไปประมูลงานจัดซื้อรถเมล์ NGV ของ ขสมก. เพราะเกรงว่าจะถูกล้มประมูลอีก ก่อนยื่นซองประกวดราคา ทางบริษัท ช ทวี จึงไปหารือกับบริษัทสแกนอินเตอร์ ได้ข้อสรุปว่าทางสแกนอินเตอร์จะใช้เงินสด 400 ล้านบาท ไปซื้อแคชเชียร์เช็คกับธนาคารมาวางเป็นค่าประกันซอง และเข้าเสนอราคากับ ขสมก. เพียงรายเดียวในนาม “กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO”

ส่วนประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือการประมูลครั้งนี้ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เสนราคา 4,260 ล้านบาท สูงกว่าราคากลางที่กำหนด และสูงกว่าราคาที่บริษัท ช ทวี เคยเสนอเมื่อปี 2558 นายสุรเดช ชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องปรับราคาขึ้น คือ 1. เวลาผ่านไป 2 ปี ราคาอะไหล่ปรับตัวสูงขึ้น 2. การประมูลครั้งนี้มีต้นทุนการเงินสูงขึ้น การประมูลครั้งที่ผ่านมาให้แบงก์ออกหนังสือค้ำประกันเสียค่าธรรมเนียม 1.25% แต่การประมูลครั้งนี้บริษัท สแกนอินเตอร์ นำเงินสด 400 ล้านบาทไปวางเป็นหลักประกันไว้กับแบงก์ และคิดดอกเบี้ยกับกลุ่มร่วมทำงานฯ ในอัตรา 7% ต่อปี ประเด็นเหล่านี้ทางบริษัท ช ทวี ชี้แจงกับ ขสมก. ก่อนที่จะลงนามในสัญญาฯ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าก่อนลงนามในสัญญาฯ ทราบหรือไม่ว่ามติที่ประชุมบอร์ด ขสมก. มีปัญหา นายสุรเดช ตอบว่า “ไม่ทราบ เป็นเรื่องของบอร์ด ขสมก. แต่เมื่อ ขสมก. มีหนังสือเรียกผู้ชนะการประมูลไปเซ็นสัญญาแล้วไม่ไปก็จะถูกยึดเงินค้ำประกัน 400 ล้านบาท หลังจากลงนามในสัญญาแล้ว กลุ่มร่วมทำงานฯ ก็สามารถส่งมอบรถ 100 คันแรก ได้ตามที่กำหนดในสัญญาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 แต่หลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วครอง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ตามสัญญาที่ทำกันไว้กับ ขสมก. กลุ่มร่วมทำงานฯ ต้องส่งมอบรถอีก 100 คันภายในเดือนเมษายนนี้ แต่ก็ยังไม่ได้ส่งเพราะศาลมีคำสั่งระงับ ซึ่ง ขสมก. ได้ทำหนังสือแจ้งกลุ่มร่วมทำงานฯ ว่า “จะไม่คิดค่าปรับ เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย และขอให้ชะลอการดำเนินการตามสัญญาเอาไว้ก่อน”

“ส่วนที่ถามว่าทำไมต้องไปชวนบริษัท สแกนอินเตอร์ เรื่องการร่วมทำงานในแวดวงก่อสร้างถือเป็นเรื่องปกติ ตอนแรกก็ไม่คิดจะเข้าประมูล เราพอจะหารถเข้าประมูลได้ แต่มีเงินทุนไม่เพียงพอ ส่วนสแกนอินเตอร์มีทุน แต่หารถเมล์ยังไม่ได้ จากการที่เรารู้จักกันมา 10 ปี จึงมาจับคู่กัน ทางสแกนอินเตอร์เชี่ยวชาญเรื่องก๊าซธรรมชาติ และก็มีประสบการณ์ในการผลิตรถเมล์ NGV จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วน ช ทวี จดทะเบียนอยู่ในตลาด MAI พวกเราทำทุกอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมาตรวจสอบได้”

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย

รู้ว่ามีปัญหา ทำไม “ช ทวี” ยังเข้าประมูลงานจัดซื้อรถเมล์ NGV

ด้วยขสมก.ขาดทุนสะสมกว่าแสนล้านบาท

การประมูลรถเมล์เอ็นจีวีใช้เวลากว่า 12 ปี ก็ยังมีปัญหาจนถึงปัจจุบัน

ล่าสุดแม้ขสมก. เปิดประมูลไปแล้ว 8 ครั้ง แต่ล้มไป 7 ครั้ง

ถามว่ารอบที่ 8 รู้ว่ามีปัญหา เหตุใดบริษัท ช ทวี ยังเข้าร่วมประกวดราคาครั้งที่ 8 อีก

นายสุรเดชเล่าว่า ประการแรก ในการประมูล ครั้งที่ 3 กิจการร่วมค้าเจวีซีซีชนะการประมูล แต่ต่อมาถูกยกเลิก รอบนั้นบริษัท ช ทวี เสียหายไป 75 ล้านบาท ในทางการค้า เราต้องประมูลโครงการนี้ให้ได้ เพื่อเอาเงินที่เสียไปคืนกลับมา

ประการที่ 2 ช ทวี มีโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับการวางรากฐานระบบขนส่งมวลชนของประเทศ หากบริษัท ช ทวี ประมูลงานจัดหารถเมล์ NGV ได้ ก็สามารถทำโครงการใหญ่ในระดับประเทศต่อไปได้

ประการที่ 3 ช ทวีมีนโยบายช่วยอุตสาหกรรมต่อตัวถังรถให้มีความเข้มแข็ง หากหน่วยงานของรัฐสั่งซื้อรถเมล์จากซัพพลายเออร์ต่างประเทศทั้งหมด อีกไม่นานโรงงานประกอบตัวถังรถเมล์ รถบัส ทั้งที่บ้านโป่ง โคราช ขอนแก่น ก็ต้องปิดกิจการกันทั้งหมด เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัท ช ทวี ต้องเข้ามาประมูลงานที่ ขสมก. จากนั้นก็จะขยายไปยังหัวเมืองสำคัญๆ เพิ่มสเกลใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะไปเจรจาต่อรองกับซัพพลายเออร์ประเทศจีน ขอซื้อเฉพาะเครื่องยนต์ อะไหล่ชิ้นส่วน ส่วนตัวถังหรือบอดี้ ให้โรงงานในประเทศไทยประกอบเอง นี่คือความพยายามในการรักษาฐานของอุตสาหกรรมไทย

“ผมทำอุตสาหกรรม ไม่ได้ทำเทรดดิ้ง แต่สาเหตุที่ต้องมาทำเทรดดิ้งก็เพื่อรักษาฐานอุตสาหกรรมไทย ถ้าพวกเรามัวแต่นั่ง งอมืองอเท้า รอคนทำเทรดดิ้งมาซื้อรถเมล์หรือรถบัสของไทย เขาซื้อของจีนแน่นอน คนไทยต่อรถบัสขายราคาเกือบ 5 ล้านบาทต่อคัน สั่งนำเข้าจากประเทศจีนคันละ 3.8 ล้านบาท เสียภาษีนำเข้า ก็ยังราคาถูกกว่า การแก้ไขปัญหาวันนี้ มันต้องมองทั้งคลัสเตอร์ ” นายสุรเดช กล่าว

หากบริษัท ช ทวี ดำเนินการจัดหารถเมล์ NGV จำนวน 489 คันครั้งนี้สำเร็จ การประมูลงานของ ขสมก. ครั้งต่อไป เราก็จะบอก ขสมก. อย่าเร่งตรวจรับรถเร็ว ขอเวลาประกอบรถเมล์สัก 1 ปี เพื่อให้คนไทยได้ทำงาน เงินก็จะไม่ไหลออกไปอยู่ต่างประเทศ สมมติว่า สั่งนำเข้ารถเมล์จากประเทศจีนคันละ 3 ล้านบาท เงิน 3 ล้านบาทออกไปอยู่ประเทศจีนทั้งหมด แต่ถ้าให้คนไทยประกอบรถเมล์คันละ 3.3 ล้านบาท คนไทยสั่งซื้อเครื่องยนต์ อะไหล่ชิ้นส่วน 1 ล้านบาท อีก 2.3 ล้านบาทอยู่ในเมืองไทย หากจ้างคนไทยผลิต 500 คัน ก็คิดดูเอาเองว่าเศรษฐกิจมันจะหมุนเวียนแค่ไหน

การต่อสู้ไม่ใช่แค่ขายรถเมล์ให้ ขสมก. อย่างเดียว แต่เป็นการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมต่อตัวถังรถโดยสาร ผมคิดแบบนี้มาตั้งแต่แรก มิฉะนั้นขอนแก่นโมเดลมันไม่มีทางเกิด วันนี้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำการค้ากันใหม่เสียที ถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ นี่คือคำตอบ ทำไมเราต้องเข้าประมูล ภาครัฐเองไม่รู้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังก็มองแยกส่วน ยังไม่ได้เชื่อมโยงกัน รอบนี้ซื้อเกือบ 2,000 ล้านบาท ถ้าสั่งนำเข้าเงิน 2,000 ล้านบาทไปเมืองจีนหมด แต่ถ้าประกอบในประเทศ เงิน 1,000 ล้านบาท หมุนอยู่ในเมืองไทย ไปจ้างผู้รับเหมา ช่างสี ซื้อกระจก ยาง รัฐบาลมองเห็นจุดนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร วันนี้คุณมีโอกาสใช้เงิน 1 ครั้ง ก็ควรจะใช้เงินให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

“อย่างรถเมล์ที่ขอนแก่น เราทำแอปพลิเคชันเชื่อมโยงกับระบบ GPS ผู้โดยสารสามารถทราบล่วงหน้าว่ารถเมล์ สาย 7 จะมาจอดที่ป้ายรถเมล์ตรงนี้อีกกี่นาที ไม่ต้องออกไปยื่นรอ ผู้โดยสารเมื่อขึ้นรถเมล์ก็มีไวไฟใช้ วันนี้ประเทศไทยไม่ได้ติดอยู่ที่เทคโนโลยี แต่ติดอยู่ที่ตรงไม่กล้าตัดสินใจว่าทำแบบนี้ถูก ต้องเดินตามนี้ แต่ผู้นำของเรา ตายเพราะคนรอบข้าง 7 ปีก่อน ถ้าพูดถึงเรื่องขอนแก่นโมเดล ทุกคนบอกว่าทำไม่ได้ วันนี้ผมทำแล้ว ผมคิดว่ารถเมล์เป็นเครื่องมือเปลี่ยนเมือง”

ขณะที่โครงสร้างราคาระบบขนส่งในกรุงเทพฯ ก็ถูกบิดเบือน จริงๆ ค่าตั๋วรถไฟฟ้า ทั้ง BTS และรถไฟใต้ดินควรกำหนดราคาค่าบริการให้แพงกว่ารถเมล์ไม่กี่บาทเพื่อให้คนทั่วไปขึ้นรถไฟฟ้าก็ได้ ขึ้นรถเมล์ก็ได้ เป็นฟีดเดอร์กัน เช่น ลงจากสถานี BTS ก็มีรถเมล์วิ่งมารับและวิ่งในระยะทางไกลๆ แต่วันนี้รถเมล์วิ่งแข่งกับ BTS ค่าตั๋วรถไฟฟ้าแพงกว่าฮ่องกงและสิงค์โปร์ โครงสร้างมันบิดเบือนเพราะระบบเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไปขายตั๋วทำกำไร ขอนแก่นโมเดลจะคิดกลับข้าง ค่าตั๋วรถไฟฟ้าที่ขอนแก่นจะแพงกว่ารถสองแถวประมาณ 5 บาท เท่านั้น และผู้ประกอบการรถสองแถวจะเป็นเป็นฟีดเดอร์คอยรับผู้โดยสารจากเรา