ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯปัดตอบ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ใช้เงินจากไหน – มติ ครม.ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม – ค่าบริการสนามบิน

นายกฯปัดตอบ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ใช้เงินจากไหน – มติ ครม.ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม – ค่าบริการสนามบิน

26 มีนาคม 2024


เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯปัดตอบ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ใช้เงินจากไหน
  • สั่งคมนาคมดูแล ปชช.เดินทางช่วงสงกรานต์
  • อนุมัติงบฯปี’68 จ้างภารโรง
  • มติ ครม.ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม – ค่าบริการในสนามบิน
  • อนุมัติ 3 พันล้าน จ่ายค่าอาหารกลางวันเด็ก ม.ต้น 5.7 แสนคน
  • ผ่าน กม.ป้องกันเด็กเสพกัญชา – กัญชง – กระท่อม
  • ตั้งปลัดดีอีเอส คุมบอร์ดจัดซื้อระบบคอมฯภาครัฐ
  • เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณคณะรัฐมนตรีที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในการอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทุกอย่างจบลงด้วยดี

    กำชับคมนาคมดูแล ปชช.เดินทางช่วงสงกรานต์

    สำหรับผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวันนี้ เรื่องแรก นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก กำชับกระทรวงคมนาคมให้ช่วยดูแลความปลอดภัยหลาย ๆ เรื่อง ผมเองจะไปตรวจตอนใกล้ ๆ สงกรานต์ และให้ฝ่ายความมั่นคงช่วยดูแลความเป็นอยู่ ความปลอดภัยทุก ๆ เรื่องให้ช่วงปีใหม่ไทยเป็นไปได้ด้วยดี แล้วให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะมีการจัดนิทรรศการจำนวนมาก และขอให้ดูแลพี่น้องประชาชนด้วย

    จัดงบอุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก ม.ต้น

    เรื่องที่ 2 ครม.อนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เน้นยำว่า ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

    อนุมัติงบฯปี’68 จ้างภารโรง

    เรื่องที่ 3 ครม.อนุมัติการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง โดยเห็นชอบตามหลักการที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เฉพาะปี 2568 โดยให้กระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณในการจ้างนักการภารโรงอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และมีประสิทธิภาพสำหรับระยะต่อไป และให้กระทรวงศึกษาธิการนำเทคโนโลยี เช่น กล้องวงจรปิดมาดูแลความปลอดภัยแทนการเพิ่มกำลังคน โดยสืบเนื่องจากการยกเลิกเวรครูไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

    ผ่อนผันต่างด้าวกลับประเทศ ร่วมงานสงกรานต์

    เรื่องสุดท้าย ครม.เห็นชอบและอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง และร่างประกาศตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาเดินทางกลับประเทศต้นทาง เพื่อเข้าร่วมประเพณีสงกรานต์ พร้อมทั้งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบประกาศอย่างเร่งด่วน

    ปัดตอบ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ใช้เงินจากไหน

    ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะใช้เงินจะไหน นาย เศรษฐา ตอบว่า “เดี๋ยวคอยแถลงข่าว ก็เคยตอบไปแล้ว คุณจะให้ผมพูดแล้วเกิดความสับสนตลอดเวลา เดี๋ยวคอยแถลงข่าวก่อนได้ไหม”

    ถามว่า ที่มาของแหล่งเงินดิจิทัล แถลงพรุ่งนี้เลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า “ก็เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ตามที่แถลงไป อย่าให้มีความสับสนเลย เพราะแถลงขั้นตอนต่าง ๆชัดเจนไปเรียบร้อยแล้ว”

  • “จุลพันธ์” แจกแน่! ดิจิทัลหมื่นบาท ไตรมาส 4 ปีนี้ – เงินมาจากไหน ยังไม่ตอบ
  • มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เห็นชอบผลประชุม คกก.ไทย-ลาว ป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว เพื่อดูแลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง ครั้งที่ 4 ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมไทย – ลาวฯ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2547 เพื่อเป็นกลไกสำหรับการปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแม่น้ำโขง และแม่น้ำเหืองระหว่างไทย และ สปป. ลาว ตลอดจนกำหนดวิธีการทางเทคนิคที่จำเป็นเพื่อป้องกันตลิ่ง และฝั่ง รวมถึงเพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยาตามแม่น้ำโขง และแม่น้ำเหือง

    โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงร่วมกัน เช่น

      1. การรับรองการปรับปรุงแก้ไข ข้อกำหนดมาตรฐาน ด้านเทคนิคการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง และข้อกำหนดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองที่มีอยู่เดิม

      2. ประเด็นอื่นๆ เช่น (1) การรับทราบผลการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกัน โดยเป็นการตรวจสอบความเรียบร้อยของพื้นที่ฝ่ายไทยและ สปป. ลาว บริเวณริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (2) การรับรองแผนการตรวจสอบพื้นที่ รวม 18 บริเวณ ซึ่งเป็นบริเวณก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และบริเวณทรายดูด โดยในพื้นที่ของฝั่งไทยครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดหนองคาย เชียงราย เลย และอำนาจเจริญ (3) ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคกก. ร่วมไทย-ลาวฯ ครั้งที่ 5 ต่อไป

    ทั้งนี้ ขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดผลตามที่ตกลงร่วมกันโดยเร็ว

    เพิ่มอัตรากำลัง รพ.ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 (แผนความต้องการอัตรากำลังฯ) จำนวน 662 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 237,986,400 บาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ทั้งนี้ แผนความต้องการอัตรากำลังฯ จะส่งผลต่อการเพิ่มอัตรากำลังด้านบุคลากรและภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พิจารณาดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามภารกิจหลักอย่างประหยัดคุ้มค่าและคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่าย โดยเฉพาะเงินรายได้หรือเงินนอกงบประมาณอื่นใดที่มหาวิทยาลัยมีอยู่หรือสามารถนำมาใช้จ่ายได้เป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐอย่างยั่งยืนตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

    นายคารม กล่าวว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ 585 ไร่ และได้รับการจัดตั้งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร ตอบสนองนโยบายภาครัฐในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการแพทย์ การจัดการสุขภาพ และเชื่อมต่อข้อมูลกับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อขยายไปสู่การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมชั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษหรือเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูง สำหรับโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา เป็นอาคารสูง 9 ชั้น เนื้อที่ใช้สอย 70,000 ตารางเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เปิดให้บริการขนาด 100 เตียง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และพัฒนาเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ขนาด 300 เตียง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2572 โดยการดำเนินการของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา มีการเชื่อมโยงกับการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ทั้งในส่วนของความร่วมมือด้านระบบบริการการส่งต่อ การศึกษา และการวิจัยกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

    “เพื่อรองรับการดำเนินงาน และเตรียมความพร้อมในการเปิดบริการโรงพยาบาลในปีงบประมาณ 2568 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอัตรากำลังจากรัฐบาล ได้แก่ บุคลากรฝ่ายแพทย์ ฝ่ายพยาบาล ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายสหวิชาชีพ และฝ่ายสนับสนุน เพื่อให้สามารถให้บริการทางการแพทย์และให้การดูแลรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและทันสมัยแก่ประชาชนในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้ง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา จะสามารถเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติชั้นคลินิกและฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป” นายคารม กล่าว

    อนุมัติ 2,955 ล้าน จ่ายค่าอาหารกลางวันเด็ก ม.ต้น 5.7 แสนคน

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน ดังนี้ 1.โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 6,855 แห่ง งบประมาณ 2,460.39 ล้านบาท 2.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) จำนวน 376 แห่ง งบประมาณ 337.25 ล้านบาท 3.กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) จำนวน 4 แห่ง งบประมาณ 1.99 ล้านบาท และ 4.กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 109 แห่ง งบประมาณ 155.94 ล้านบาท รวมจำนวน 7,344 แห่ง จำนวนนักเรียนทั้งหมด 575,983 คน ในระยะเวลา 200 วัน ต่อปีการศึกษา รวมงบประมาณทั้งสิ้น 2,955.57 ล้านบาท โดยให้มีผลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงมหาดไทยในส่วนเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

    นายคารม กล่าวว่า งบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ให้เป็นไปตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ในอัตรา 24 บาทต่อคนต่อวัน เป็นอัตราเฉลี่ย เช่นเดียวกันนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้หลักวิธีการหาค่าเฉลี่ยของอัตราตามขนาดของโรงเรียนและจำนวนนักเรียน ดังนี้ 1.จำนวนนักเรียน 1 – 40 คน ค่าอาหาร 36 บาทต่อคนต่อวัน 2.จำนวนนักเรียน 41 – 100 คน ค่าอาหาร 27 บาทต่อคนต่อวัน 3.จำนวนนักเรียน 101 – 120 คน ค่าอาหาร 24 บาทต่อคนต่อวัน และ 4. จำนวนนักเรียน 121 คนขึ้นไป ค่าอาหาร 22 บาทต่อคนต่อวัน

    ยก ‘บุรีรัมย์’ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดให้จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอ โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดบุรีรัมย์ (สถานศึกษานำร่อง 83 แห่ง) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2569 รวมจำนวน 18,600,000 บาท โดย ศธ. จะขอรับการจัดสรรงบประมาณตามชั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

    นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 19 พื้นที่ ได้แก่กรุงเทพมหานคร จังหวัดจันทบุรี ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี สุโขทัย แม่ฮ่องสอน กระบี่ ตราด สระแก้ว สตูล ระยอง ศรีสะเกษ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสทั้งนี้ การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะส่งผลให้สถานศึกษานำร่องในพื้นที่สามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้อง กับบริบทในพื้นที่โดยสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างอิสระ ยืดหยุ่น คล่องตัวไม่ต้องอิงกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือไม่เอื้อจากส่วนกลาง เช่น การเลือกใช้หลักสูตร/สื่อการเรียนการสอนออกแบบการทดสอบเฉพาะพื้นที่ได้ สถานศึกษาได้งบพัฒนาเป็นวงเงินรวม (Block Grant) มีช่องทางผลักดันการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถปรับลดและยกเลิกโครงการที่เพิ่มภาระงานครู และส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยกลไกการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อผู้เรียน สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

    “จังหวัดบุรีรัมย์มีความพร้อมในการจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เนื่องจากมีแนวทางการดำเนินงานตรงกับแนวคิดหลักของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีแนวทางการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา มีแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา มีภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในการให้ความร่วมมือจัดการศึกษา มีหน่วยงานที่มีความเข้าใจเป้าหมายและหลักการสำคัญของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมให้คำปรึกษา ชี้แนะ และเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ อีกทั้ง ยังมีแผนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ชัดเจน” นายคารม กล่าว

    ผ่าน กม.ป้องกันเด็กเสพกัญชา – กัญชง – กระท่อม

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2549 โดยกำหนดให้เด็กที่ใช้พืชกระท่อม กัญชา กัญชง หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม หรือ สารสกัดจากพืชกระท่อม กัญชา กัญชง เพื่อนันทนาการเป็นพฤติกรรมเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

    ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กใช้พืชกระท่อม กัญชา กัญชง หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อม กัญชา และกัญชงในลักษณะสารเสพติด ซึ่งจะกระทบต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญา และการเจริญเติบโตของร่างการ และเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

    ขยายเวลาทำโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่น 4

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2569 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยขอผูกพันงบประมาณข้ามปีสำหรับการดำเนินโครงการฯ กรอบวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 5.51 ล้านบาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จะเป็นผู้ขอตั้งงบประมาณเป็นรายปีตามกระบวนการขั้นตอนวิธีการงบประมาณในภาพรวมต่อไป เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินโครงการฯ และไม่กระทบต่อการศึกษาของผู้รับทุนตามสิทธิที่ได้รับ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศธ. ดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 เพื่อให้นักเรียนที่มีฐานะยากจน เรียนดี และมีความประพฤติดีที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าทั้งสายสามัญ และสายอาชีพในทุกอำเภอ/เขตทั่วประเทศมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาต่อ ระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรี หรือปริญญาใบแรกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แห่งละ 1 ทุนในหลักสูตรสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและความต้องการของประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย รวมทั้งคำนึงถึงการสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นแก่ประชากรทุกกลุ่ม เสริมสร้างองค์ความรู้ และศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอันเป็นรากฐานที่เข้มแข็งในการพัฒนาประเทศ

    ปัจจุบัน ศธ. ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว จำนวน 4 รุ่น มีผู้รับทุน รวมทั้งสิ้น 3,093 คน โดยจากจำนวนนี้มีผู้รับทุน จำนวน 3,088 คน และมีผู้สละสิทธิก่อนรับทุนจำนวน 5 คน โดยปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 2,921 คน ไม่สำเร็จการศึกษา จำนวน 161 คน และอยู่ระหว่างการศึกษา รุ่นที่ 4 จำนวน 6 คน

    และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ผู้รับทุนในรุ่นที่ 4 จำนวน 6 คน ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสุขภาพ จึงปรับเปลี่ยนจากการศึกษาในต่างประเทศเป็นศึกษาในประเทศ และไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามระยะเวลาที่โครงการ รุ่นที่ 4 กำหนด ในปี 2565 และแม้จะมีงบประมาณเหลือจ่ายเพียงพอต่อการบริหารจัดการโครงการฯ แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ต่อเนื่องจนผู้รับทุนสำเร็จการศึกษา (ปี 2569) เนื่องจากงบประมาณถูกพับโดยผลของกฎหมาย

    ดังนั้น ศธ. จึงจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ดังนั้น เพื่อให้การจัดสรรทุนเกิดความต่อเนื่องและไม่เกิดผลกระทบต่อการศึกษาของผู้รับทุนอีก 6 คน ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา จึงจำเป็นต้องขออนุมัติขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ รุ่นที่ 4 เป็นปีงบประมาณพ.ศ. 2567-2569 โดยขอผูกพันงบประมาณข้ามปีสำหรับดำเนินโครงการฯ รุ่นที่ 4 กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5.51 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินโครงการฯ รุ่น 4 และไม่กระทบต่อการศึกษาของผู้รับทุนตามสิทธิที่ได้รับ รวมทั้งให้มีสถานะรองรับการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนวิธีการงบประมาณต่อไป

    เสนอ ‘ชุดไทย – มวยไทย’ ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรม

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการเสนอรายการ “ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The Thai National Costume) และ “มวยไทย” (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบเอกสารรายการ เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) (ยูเนสโก) จำนวน 2 รายการ ดังนี้ (1) เอกสารรายการ “ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The Thai National Costume) (ชุดไทย) และ (2) เอกสารรายการ “มวยไทย” (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) (มวยไทย)

      2. เห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (คณะกรรมการฯ) เป็นผู้ลงนามในเอกสารนำเสนอรายการชุดไทยและเอกสารนำเสนอรายการมวยไทย ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
      (ตามเอกสารแนวทางการอนุวัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กำหนดให้รัฐภาคียื่นรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี)

    สาระสำคัญ

    กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารรายการ “ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” (Chud Thai : The knowledge, Craftsmanship and Practices of The Thai National Costume) และ “มวยไทย” (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เนื่องจากทั้งชุดไทยและมวยไทย มีคุณค่าและความสำคัญในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมเพื่อต่อยอด รวมทั้งสามารถสะท้อนอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทยได้อย่างชัดเจน โดยชุดไทยถือเป็นมรดกวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยที่แสดงถึงคุณค่าของงานช่างฝีมือ ลวดลายบนผืนผ้า เทคนิคการทอ การออกแบบ และการตัดเย็บเครื่องประดับที่งดงาม ส่วนมวยไทยถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ที่สามารถฝึกฝนและปฏิบัติได้จริงทั้งในแง่ของศิลปะการป้องกันตัวและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

    ดังนั้น การเสนอชุดไทยและมวยไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกจะช่วยสร้างความระหนักรับรู้ และภาคภูมิใจของคนไทยให้เห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่มีร่วมกันในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพนำวัตถุดิบทางวัฒนธรรมของไทยที่มีอยู่แล้วไปต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนของสังคมควบคู่ไปกับอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริม และรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน) แล้ว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เคยเสนอรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว จำนวน 7 รายการ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และสงกรานต์ในประเทศไทย ส่วนอีก 3 รายการ ได้แก่ ต้มยำกุ้ง ผ้าขาวม้า และเคบายา (kebaya) อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก

    ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม – ค่าบริการสนามบิน

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม และอัตราขั้นสูง สำหรับค่าบริการในสนามบิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ คค. เสนอว่า

    1. พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มาตรา 6 (1) และ (4) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ใบสำคัญ ใบรับรอง หรือหนังสือรับรอง ไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และมีอำนาจยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตใบสำคัญ ใบรับรอง หรือหนังสือรับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

    ซึ่งต่อมาได้มีพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดใบอนุญาตและใบรับรองที่ต้องออกตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯเพิ่มเติม และกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และใบรับรองดังกล่าวไว้ท้ายพระราชบัญญัติฯ ซึ่งผู้ขอใบอนุญาต หรือ ใบรับรองจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หรือ ใบรับรองในกระบนการขอออกใบอนุญาต หรือ ใบรับรองดังกล่าว และในทางปฏิบัติพบว่า เมื่อพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับแล้วกระบวนการยื่นคำขอ และการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตและใบรับรองดังกล่าวของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ก็ได้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ เพียงแต่ยังไม่มีกฎกระทรวงเพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบรับรองประเภทใหม่ให้ครบถ้วน อันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือใบรับรองที่ออกให้กับผู้ขอได้ และทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตหรือใบรับรองนั้น ๆ ได้ หากยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจะส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมรับการตรวจสอบจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตามโครงการ Universal Safety Oversight Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USOAP-CMA) อันจะส่งผลต่อการประเมินเพื่อยกระดับค่าประสิทธิผลของการดำเนินการ (EI [Effective Implementation] Score) ของประเทศไทย

    2. นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือใบรับรองบางประเภทที่กำหนดไว้เดิมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่สะท้อนต้นทุน และความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเนื่องจากค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตที่กำหนดเดิมเป็นอัตราที่กำหนดขึ้นในขณะที่กรมการบินพลเรือนเป็นผู้กำกับดูแลซึ่งมีสถานะเป็นส่วนราชการและได้รับงบประมาณในการดำเนินการจากรัฐ ซึ่งปัจจุบันได้มีพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จัดตั้ง กพท. ขึ้น เพื่อดำเนินการภารกิจกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนแทนกรมการบินพลเรือนโดยให้มีรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินจึงไม่สามารถใช้อัตราค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตเดิมเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ที่สะท้อนต้นทุน (Cost Recovery) การดำเนินการตามภารกิจของ กพท. และความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจได้

    3. คค. จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …. เพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตหรือใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2562 และแก้ไขปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้จะก่อให้เกิดภาระหน้าที่หรือภาระแก่ผู้ขอรับใบรับรองหรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่ หรือชำระค่าธรรมเนียมสูงขึ้นสำหรับใบรับรองหรือใบอนุญาตที่มีการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม แต่การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตดังกล่าวซึ่งเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของ กพท. ตามมาตรา 10 (3) แห่งพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เพื่อนำมาใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการของ กพท. ในการปฏิบัติภารกิจด้านการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ส่งเสริมให้มีการเดินทางทางอากาศและอุตสาหกรรมการบินอื่น ๆ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

    4. คค. โดย กพท. จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจากประชาชนทั่วไปผ่านทางเว็บไซต์ของ กพท. (www.caat.or.th) และได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบด้วยแล้ว รวมถึงได้จัดให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจและเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นในการกำหนดและแก้ไขปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าเพื่อให้มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมสำหรับการชำระค่าธรรมนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตที่ได้มีการกำหนดขึ้นใหม่และแก้ไขปรับปรุงตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ด้วยแล้ว

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

    กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต หรือ ใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 และแก้ไขปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ร่างกฎกระทรวงนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้) สรุปได้ดังนี้

    1. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต หรือ ใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 เช่น

      1.1 ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศตามขนาดของอากาศยานแต่ละประเภทและพื้นที่ปฏิบัติการ (Area of Operation) ภายในประเทศและภูมิภาคในต่างประเทศ (มาตรา 28/1) ดังนี้

        1.1.1 เครื่องบิน

        1.1.2 เฮลิคอปเตอร์

        1.1.3 บัลลูน การออกใบรับรองผู้ดำเนินอากาศภายในประเทศ

          (1) ออกครั้งแรก ฉบับละ 1,500,000 บาท
          (2) ต่ออายุ ฉบับละ 1,300,000 บาท

      1.2 ใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน

        1.2.1 การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ แบบประจำ

          (1) กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 5,000,000 บาท
          (2) ใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก น้ำหนักสูงสุด ไม่เกิน 5,700 กิโลกรัมขึ้นไป ฉบับละ 2,500,000 บาท

        1.2.2 การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ แบบไม่ประจำ

          (1) กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 3,000,000 บาท
          (2) กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียวหรือใช้เฮลิคอปเตอร์ ฉบับละ 1,500,000 บาท

        1.2.3 การประกอบกิจการทำงานทางอากาศ

          (1) กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 3,000,000 บาท
          (2) ใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียวหรือใช้เฮลิคอปเตอร์ ฉบับละ 5,000,000 บาท
          (3) กรณีใช้บัลลูน ฉบับละ 300,000 บาท

      1.3 ใบรับรองการให้บริการการจัดการจราจรทางอากาศ บริการจราจรทางอากาศ การจัดการความคล่องตัวของการจราจรทางอากาศ และการจัดการห้วงอากาศ ฉบับละ 1,000,000 บาท
      1.4 ใบรับรองการให้บริการระบบสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศและระบบติดตามอากาศยาน ฉบับละ 1,000,000 บาท
      1.5 ใบรับรองการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน ฉบับละ 1,000,000 บาท
      1.6 ใบรับรองการให้บริการข่าวสารการบิน ฉบับละ 1,000,000 บาท
      1.7 ใบรับรองการให้บริการการออกแบบวิธีปฏิบัติการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน ฉบับละ 1,000,000 บาท

    2. แก้ไขปรับปรุงการจำแนกใบอนุญาตหรือใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับค่าบริการในสนามบินเพื่อให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่สะท้อนต้นทุนและความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนี้

      2.1 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ฉบับละ 20,000 บาท สำหรับ

        2.1.1 ใบอนุญาตดำเนินงานเกี่ยวกับรับมอบ จัดเก็บ บรรทุก ขนถ่าย หรือขนส่งวัตถุอันตราย (ตาม ม. 15/27)
        2.1.2 ใบอนุญาตดำเนินงานเกี่ยวกับรับมอบ จัดเก็บ บรรทุก ขนถ่าย หรือขนส่งสิ่งของต้องห้ามหรือต้องดูแลเป็นพิเศษ (ตาม ม. 15/29)(เดิม กำหนดใบอนุญาตส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสัตว์ไปกับอากาศยาน รายครั้ง ฉบับละ 100 บาท รายปี ฉบับละ 10,000 บาท)

      2.2 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ฉบับละ 40,000 ดังนี้

        2.2.1 ประเภททัศนวิสัย เช่น อุปกรณ์บอกทิศทางและอุปกรณ์ให้สัญญาณ เครื่องหมาย ไฟสนามบิน ฯลฯ
        2.2.2 ประเภทระบบการสื่อสาร เช่น ระบบการสื่อสารประจำที่และเคลื่อนที่
        2.2.3 ประเภทระบบช่วยการเดินอากาศ
        2.2.4 ประเภทระบบติดตามอากาศยาน
        2.2.5 ประเภทเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาการบิน เช่น ระบบตรวจอากาศอัตโนมัติและระบบตรวจวัดวินด์เชียร์ (เดิม กำหนดใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ วิทยุเครื่องช่วยเดินอากาศ ฉบับละ 3,000 บาท เรดาห์ติดตามอากาศยาน ฉบับละ 3,000 บาท วิทยุสื่อสารฉบับละ 1,000 บาท เครื่องช่วยการเดินอากาศ ด้วยทัศนวิสัย ระบบไฟฟ้าสนามบิน ฉบับละ 3,000 บาท และกระบอกทิศทางลม หรือเครื่องชี้ทิศทางลมอื่น ฉบับละ 500 บาท เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศอื่น ฉบับละ 1,000 บาท)

      2.3 ใบอนุญาตจัดตั้งที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน ฉบับละ 2,000 บาท (คงเดิม)
      2.4 ใบรับรองการดำเนินการสนามบินสาธารณะ

    3. กำหนดค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ใบสำคัญ ใบรับรอง ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต ใบสำคัญ ใบรับรอง แต่ละฉบับ ยกเว้นใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (ม. 28/1) เนื่องจากค่าธรรมนียมการต่ออายุใบรับรองไม่เท่ากับค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตครั้งแรก (เช่น สำหรับบัลลูน ออกครั้งแรก ฉบับละ 1,500,000 บาท ต่ออายุ ฉบับละ 1,300,000)
    4. การแก้ไขปรับปรุงการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบรับรองที่ออกให้กับส่วนราชการ

      4.1 กำหนดไม่ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตและใบรับรอง ดังนี้

        4.1.1 ใบอนุญาตจัดตั้งสนามบิน
        4.1.2 ใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ
        4.1.3 ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ

        เนื่องจากส่วนราชการที่ดำเนินการสนามบินราชการ ถือเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง ตามหลักการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการประเภทอื่น ๆ อีกทั้ง สนามบินสาธารณะที่ดำเนินการโดยส่วนราชการในปัจจุบัน มีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินจากประชาชนเช่นเดียวกัน จึงไม่เหมาะสมที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และใบรับรองให้ส่วนราชการดังกล่าว (เดิม ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม)

      4.2 กำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตและใบรับรองเพิ่มเติม ดังนี้

        4.2.1 ใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศประเภทเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาการบิน

        4.2.2 ใบรับรองการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการของกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นการให้บริการของภาครัฐไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการ

    5. กำหนดบทเฉพาะกาลสำหรับบรรดาคำขอที่ยื่นและยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับให้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้

    ตั้งปลัดดีอีเอส คุมบอร์ดจัดซื้อระบบคอมฯภาครัฐ

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

    1. แต่งตั้งกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศและผู้ทรงคุณวุฒิ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศและผู้ทรงคุณวุฒิ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จำนวน 5 คน เพื่อแทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ขอลาออก และดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ดังนี้

      1. พลอากาศตรี นาถวุฒิ หยูทอง ผู้แทนกองทัพอากาศ

      2. นางชาริตา ลีลายุทธ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารกิจการการบินพาณิชย์

      3. นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

      4. นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน หรือการคลัง

      5. นายโชติชัย เจริญงาม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

    2. แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายกิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งรองประธานกรรมการคนที่สอง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเสนอแต่งตั้งรองประธานกรรมการคนที่สอง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รวม 9 คน เนื่องจากรองประธานกรรมการคนที่สองและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ดังนี้

      1. นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการคนที่สอง

      2. รองศาสตราจารย์วิทยา กุลสมบูรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ)

      3. นายพิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการพัฒนาชุมชน)

      4. นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน (ด้านการสื่อสารมวลชน)

      5. รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน (ด้านการศึกษา)

      6. นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการกีฬา)

      7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนวันต์ สินธุนาวา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน (ด้านศิลปวัฒนธรรม)

      8. นายเสรี นนทสูติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน (ด้านกฎหมาย)

      9. นายสัมพันธ์ ศิลปนาฏ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน (ด้านการบริหาร)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จำนวน 8 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้

      1. นายเธียรชัย ณ นคร ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม

      2. นายสุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล ด้านสาธารณสุขและสุขภาพ

      3. นายขวัญชัย ดวงสถาพร ด้านทรัพยากรป่าไม้และนิเวศวิทยา

      4. นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ (ภาคเอกชน) ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

      5. นายยงธนิศร์ พิมลเสถียร (ภาคเอกชน) ด้านอนุรักษ์ศิลปกรรม/ ภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อมเมือง

      6. นายปานเทพ รัตนากร (ภาคเอกชน) ด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

      7. นายชวลิต รัตนธรรมสกุล (ภาคเอกชน) ด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม

      8. นายวรพล จันทร์งาม ด้านสังคมและการมีส่วนร่วม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐมพร ศิรประภาศิริ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (สาขาแพทยศาสตร์) ในคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิม ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    6. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันการบินพลเรือน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันการบินพลเรือน รวม 3 คน เพื่อแทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้

      1. พลเอก ดิเรก ดีประเสริฐ ประธานกรรมการ

      2. ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

      3. นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

    7. การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ ดังนี้

    องค์ประกอบชุดใหม่

    ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธานกรรมการ

    กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ นายไชยเจริญ อติแพทย์ นายยรรยง เต็งอำนวย รองศาสตราจารย์วรา วราวิทย์ นายวิษณุ ตัณฑวิรุฬห์ ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล นายสุพงษ์พิธ รุ่งเป้า นายคมสัน ศรีวนิชย์ นายศักดา นาคเลื่อน นายศุภกร คงสมจิตต์ นายอัมภัส ปิ่นวนิชย์กุล นายกฤษณะ สมทรัพย์ นายอภิชาติ ประเสริฐ โดยมีผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการ และเลขานุการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้อำนวยการกลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

    หน้าที่ และอำนาจ (คงเดิม)

      1. พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสม เสนอแนะแนวทางการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของส่วนราชการ องค์การมหาชน ที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน รวมถึงแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาระที่รัฐจะต้องตั้งงบประมาณชดใช้ ในการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะการบูรณาการงบประมาณ เทคโนโลยี และการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ รวมทั้งให้มีการใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกันในการพิจารณาการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

      2. พิจารณาติดตามแผนงาน และโครงการที่ได้ให้ความเห็นชอบของส่วนราชการ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

      3. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ

      4. พิจารณากำหนด และเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องราคาและคุณลักษณะของระบบคอมพิวเตอร์ ที่เหมาะสมกับลักษณะงานต่าง ๆ

      5. เสนอแนะข้อวินิจฉัย ปัญหาและแนวทางปฏิบัติในการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมาย

      6. ให้มีอำนาจเชิญเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง เสนอข้อมูล และ/หรือเอกสารประกอบ การพิจารณาได้ตามความจำเป็น

      7. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และผู้ช่วยเลขานุการเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

      8. ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

    8. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ มอบหมายเป็นหลักการให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ ดังนี้

      1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ)

      2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)

    9. การโอนข้าราชการ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) กำกับการบริหารราชการ สั่ง และปฏิบัติราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอรับโอน นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) (เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนแล้ว

    10. การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้ง นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เนื่องจากลาออก ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2567 เพิ่มเติม