“ชาญชัย” แนะ “เศรษฐา” ไม่ต้องกู้ 5 แสนล้านบาท ทำโครงการ “Digital Wallet” แนะใช้กฎหมาย ปปง. ม. 3 (5) ยึดเงินคดีทุจริต คืนแผ่นดิน
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เตรียมออก พ.ร.บ.กู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะทำได้หรือไม่ ขัดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 รวมถึง พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ และกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ เพราะต้องรอผู้ชี้ขาด คือ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ศาลคดีอาญา
หากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการหาเงิน 5 แสนล้านบาท มาทำโครงการนี้ ตนขอแนะนำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตรวจสอบ หรือ สอบถามไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง.ว่ามีคดีทุจริต และมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบใดบ้างที่ศาลได้ตัดสินคดีจนเป็นที่สิ้นสุดแล้วในรอบ 20 ปีว่ามีทั้งหมดกี่คดี ซึ่งความผิดดังกล่าวเข้าข่ายมูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 มาตรา 3 (5) ที่ระบุว่า “ความผิดมูลฐาน คือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือ หน่วยงานของรัฐ หรือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือ ทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น”
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ตนเคยศึกษาและทำคดีตัวอย่างให้รัฐบาลอายัดยึดทรัพย์ในคดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ มูลค่า 9,058 ล้านบาท ว่าเข้าข่ายความผิดฐานทุจริตในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้น ซึ่งกำกับดูแลหน่วยงาน ปปง. โดยคณะอนุกรรมาธิการการปฏิรูปกฎหมายเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นประธานฯ ได้ศึกษาคดีที่ศาลฎีกาตัดสินแล้วว่า มีความผิดก่อให้เกิดความเสียหาย แต่กลับไม่มีการบังคับคดีตามกฎหมายให้เกิดการอายัดยึดทรัพย์ตามมูลฐานความผิด ม.3 (5) ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ จึงนำคดีนี้เข้าสู่กฎหมาย ปปง. ตามมูลฐานความผิดการฟอกเงิน โดยคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. ได้ส่งเรื่องฟ้องศาล ต่อมาศาลฎีกา (ความแพ่ง) ได้มีคำพิพากษาให้อายัดยึดทรัพย์ผู้ทำความผิด แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้รัฐบาลชำระเงิน 9,058 ล้านบาท ให้ก็ตาม
โดยคำพิพากษาของศาลฎีกา (คำพิพากษาย่อ) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 หน้าที่ 12 ระบุชัดว่า “…แสดงว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่เกี่ยวกับคดีนี้ว่า ได้กระทำความผิดมูลฐานที่จะริบเงินได้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” ดังนั้น ศาลฎีกา จึงมีคำพิพากษาให้อายัดยึดทรัพย์ในคดีดังกล่าว และถือเป็นบรรทัดฐานที่จะใช้ในการยึดอายัดทรัพย์ ตามมูลฐานความผิด ม.3 (5) ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต หรือ การทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า หากนำคดีการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น ๆในรอบ 20 ปี นับแต่ปี 2540 ตั้งแต่กฎหมาย ป.ป.ช.บังคับใช้ รวมทุกคดี คาดว่าจะมีเงินทุจริตจากมูลฐานความผิดสามารถอายัดยึดทรัพย์เข้ารัฐได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท และถ้านายกรัฐมนตรีอยากได้เงินมาทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ตามที่ได้หาเสียง โดยที่ไม่ต้องกู้เงิน ตนขอแนะนำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บังคับใช้กฎหมายป้องกันการฟอกเงิน สั่งอายัดยึดทรัพย์โดยเฉพาะคดีทุจริตที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หรือ ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว รวมทั้งมูลฐานความผิดอื่นตามกฎหมาย ปปง. โดยตนจะรวบรวมข้อมูลและตัวเลขการทุจริตของคดีต่าง ๆ ส่งให้นายกรัฐมนตรีไปดำเนินการสั่งอายัด และยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ต่อไป
“ก่อนหน้านี้ผมเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า จากการที่ผมเคยตรวจสอบคดีทุจริตต่าง ๆ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4.5 แสนล้านบาท จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีไปตามเอาเงินส่วนนี้จากโจรปล้นเงินแผ่นดินตลอด 20 ปี เพื่อนำมาใช้ประโยชน์แก่ประเทศชาติ ท่านจะไม่ถูกครหาว่า เข้ามาทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นี้เพื่ออะไร อีกทั้งการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองทุกระดับเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น” นายชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย