ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤติอุตสาหกรรมยาสูบ (2) : 7 ปี รื้อภาษีบุหรี่ รายได้รัฐ-Earmarked Tax หาย 1.5 หมื่นล้าน-สินค้าทดแทนเกลื่อน

วิกฤติอุตสาหกรรมยาสูบ (2) : 7 ปี รื้อภาษีบุหรี่ รายได้รัฐ-Earmarked Tax หาย 1.5 หมื่นล้าน-สินค้าทดแทนเกลื่อน

12 กุมภาพันธ์ 2024


ต่อจากตอนที่แล้ว

7 ปี รื้อภาษีบุหรี่ โรงงานยาสูบยอดขายตก กระทบผลการจัดเก็บภาษี – กองทุน ‘Earmarked Tax’ ลดลง 14,944 ล้านบาท – เกษตรขาดรายได้ 1,262 ล้านบาท ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันสูบ ‘ยาเส้นมวนเอง – บุหรี่ไฟฟ้า – บุหรี่เถื่อน’ ทดแทน

7 ปี คลังรื้อภาษีบุหรี่ไป 2 ครั้ง ทำยอดขายบุหรี่วูบหายไปทั้งตลาดกว่า 9,571 ล้านมวน โรงงานยาสูบอาการหนักสุด นอกจากยอดขายตกตามตลาดแล้ว ยังเสียส่วนแบ่งการตลาดให้บุหรี่นอกอีก 27% รายได้หาย กำไรหดไปอีก 99% ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงผลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตผ่าน “แสตมป์ยาสูบ” และเงินที่การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) หรือ “โรงงานยาสูบ” ต้องหักนำส่งเป็นให้กับกองทุนต่าง ๆ ตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “Earmarked Tax” หายออกนอกระบบตามไปด้วย อาทิ เงินบำรุงให้กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในอัตรา 2% ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ , เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ไทยพีบีเอส) ในอัตรา 1.5% ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ , กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติในอัตรา 2% ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ , ภาษีเพื่อมหาดไทยไม่เกิน 10% ของภาษียาสูบ , กองทุนผู้สูงอายุ 2% ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ เป็นต้น

ก่อนกรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษี ปี 2560 โรงงานยาสูบมีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ประมาณ 79.06% ของยอดจำหน่ายบุหรี่ทั้งตลาด ส่วนที่เหลือ 20.94% เป็นบุหรี่นำเข้า หรือ “บุหรี่นอก” ปีนี้โรงงานยาสูบจ่ายค่าแสตมป์บุหรี่ให้กรมสรรพสามิต รวมกับหักเงินนำส่งกองทุนต่างๆ (Earmarked Tax) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 49,170 ล้านบาท

หลังโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่แบบ 2 Tier มีผลบังคับใช้ในปี 2561 ส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบตกวูบลงมาเหลือ 59.68% ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่นอกเพิ่มขึ้นเป็น 40.32% ปีนี้โรงงานยาสูบจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพสามิต และกองทุน Earmarked Tax ลดลงเหลือ 43,476 ล้านบาท เปรียบเทียบปีก่อนรายได้หายไป 5,695 ล้านบาท, ปี 2562 ส่วนแบ่งการตลาดโรงงานยาสูบลดลงเหลือ 58.24% ส่วนบุหรี่นอกเพิ่มขึ้นเป็น 41.76% ปีนี้โรงงานยาสูบจ่ายค่าภาษีให้กรมสรรพสามิตและกองทุน Earmarked Tax ลดลงเหลือ 42,621 ล้านบาท เปรียบเทียบปีก่อนลดลงอีก 855 ล้านบาท, ปี 2563 ส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบลดลงเหลือ 55.54% บุหรี่นอกเพิ่มขึ้นเป็น 44.46% โรงงานยาสูบจ่ายค่าแสตมป์ให้กรมสรรพสามิต และกองทุน Earmarked Tax ประมาณ 38,240 ล้านบาท เปรียบเทียบปีก่อนลดลง 4,381 ล้านบาท

ปี 2564 กรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งที่ 2 โดยเพิ่มราคาขายปลีกแนะนำจากซองละ 60 บาท เป็นซองละ 72 บาท รวมทั้งปรับเพิ่มอัตราภาษีที่จัดเก็บตามปริมาณ จากเดิมมวนละ 1.20 บาท เป็นมวนละ 1.25 บาท หรือ ซองละ 25 บาท และปรับเพิ่มอัตราภาษีที่จัดเก็บตามมูลค่า สำหรับกลุ่มบุหหรี่ตลาดล่างเดิมเสียภาษีตามมูลค่าในอัตรา 20% ปรับเพิ่มเป็น 25% ของราคาขายปลีก ส่วนกลุ่มบุหรี่ตลาดบน เดิมเสียภาษีตามมูลค่าในอัตรา 40% ปรับเพิ่มเป็น 42% ของราคาขายปลีก เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ปีนี้ส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบลดลงเหลือ 54.41% ขณะที่บุหรี่นอกเพิ่มเป็น 45.59% การปรับโครงสร้างและขยายฐานภาษีบุหรี่ครั้งที่ 2 ทำให้กรมสรรพสามิต และกองทุน Earmarked Tax ต่างๆมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 40,222 ล้านบาท เปรียบเทียบปีก่อนเพิ่ม 1,982 ล้านบาท

แต่ที่น่าสนใจ คือ ในปี 2565 ยอดขายบุหรี่ทั้งตลาดปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงกว่าการปรับโครงสร้างภาษีครั้งแรก โดยในปี 2564 บุหรี่ทั้งตลาดมียอดขายอยู่ที่ 34,417 ล้านมวน ปี 2565 ลดลงเหลือ 26,788 ล้านมวน ยอดขายบุหรี่ทั้งตลาดลดลง 7,629 ล้านมวน หรือ ลดลง 22.17%

นอกจากยอดขายบุหรี่ทั้งตลาดตกลงแล้ว โรงงานยาสูบยังเสียส่วนการตลาดไปให้บุหรี่นอกไป 4.23% (ปี 2565 โรงงานยาสูบมีส่วนแบ่งการตลาด 50.18% บุหรี่นอก 49.82%) ปีนี้โรงงานยาสูบจ่ายค่าแสตมป์ยาสูบ และกองทุน Earmarked Tax ประมาณ 32,668 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 7,554 ล้านบาท

ล่าสุดในปี 2566 ยอดขายบุหรี่ทั้งตลาดเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย โดยมียอดรวมอยู่ที่ 26,865 ล้านมวน ซึ่งในปีนี้โรงงานยาสูบชิงส่วนแบ่งการตลาดจากบุหรี่นำเข้า กลับคืนมาได้ 2.11% (ปี 2566 โรงงานยาสูบมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 52.29% บุหรี่นำเข้าลดลงเหลือ 47.71%) ปีนี้โรงงานยาสูบจึงจ่ายค่าแสตมป์ยาสูบ และกองทุน Earmarked Tax เพิ่มขึ้นเป็น 34,226 ล้านบาท

รวม 7 ปีที่ผ่านมา โรงงานยาสูบจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพสามิต และกองทุน Earmarked Tax ลดลงไปประมาณ 14,944 ล้านบาท หรือลดลง 30.39%

หากไปดูในรายละเอียดของเงินรายได้ที่โรงงานยาสูบต้องจ่ายให้กับกรมสรรพสามิตในรูปของค่าแสตมป์ และนำส่งเงินบำรุงให้กับกองทุนต่างๆ ที่หักจากภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บได้ (Earmark Tax) รวมทั้งภาษีเพื่อมหาดไทย, ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), ภาษีองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเงินรายได้ที่โรงงานยาสูบต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เริ่มในปีงบประมาณ 2560 (เริ่ม 1 ต.ค. 2559 – 30 ก.ย. 2560) เป็นช่วงก่อนการปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2564 (เริ่ม 1 ต.ค. 2563 – 30 ก.ย. 2564) ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ก่อนที่กรมสรรพสามิตจะปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่เป็นครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้ในตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จะเห็นได้ว่าก่อนปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ในปีงบประมาณ 2560 โรงงานยาสูบจ่ายค่าแสตมป์ให้กรมสรรพสามิต 45,745 ล้านบาท สิ้นปีงบประมาณ 2564 ลดลงเหลือ 34,236 ล้านบาท และ เมื่อกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้น้อยลง ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกองทุนต่างๆลดน้อยลงตามไปด้วย มีรายละเอียดดังนี้

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้รับเงินบำรุง 2% ที่หักมาจากภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บได้ ในปีงบประมาณ 2560 ได้รับเงินส่วนแบ่งภาษีบุหรี่จากโรงงานยาสูบ 915 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ลดลงเหลือ 685 ล้านบาท

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ไทยพีบีเอส)ได้รับเงินบำรุง 1.5% ที่หักมาจากภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บได้ ปีงบประมาณ 2560 ได้รับเงินส่วนแบ่งภาษีบุหรี่จากโรงงานยาสูบ 686 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ลดลงเหลือ 513 ล้านบาท

กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ได้รับเงินบำรุง 2% ที่หักมาจากภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บได้ ปีงบประมาณ 2560 ได้รับเงินส่วนแบ่งภาษีบุหรี่จากโรงงานยาสูบ 915 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ลดลงเหลือ 685 ล้านบาท

กองทุนผู้สูงอายุ ได้รับเงินบำรุง 2% ที่หักมาจากภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บได้ แต่เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลังฯที่กำหนดให้หักเงินภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบนำส่งกองทุนผู้สูงอายุ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ในปีงบประมาณ 2560 กองทุนผู้สูงอายุจึงยังไม่ได้รับเงินบำรุง 2% จากภาษีบุหรี่ ส่วนในปีงบประมาณ 2564 กองทุนผู้สูงอายุได้รับเงินบำรุง 2% ที่หักมาจากภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บได้ประมาณ 685 ล้านบาท

ภาษีเพื่อมหาดไทย โรงงานยาสูบจ่ายภาษีให้กับกระทรวงมหาดไทยไม่เกิน 10% ของภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บได้ (จัดเก็บเพิ่ม) โดยในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงมหาดไทยจัดเก็บภาษีบุหรี่ของโรงงานยาสูบได้ประมาณ 10.50 ล้านบาท สาเหตุที่กระทรวงมหาดไทยจัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยได้น้อย เนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 ที่กำหนดให้จัดเก็บภาษีสุรา และบุหรี่เพิ่มอีก 10% นั้น เพิ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ก่อนถึงวันสิ้นปีงบประมาณ 2560 มีเวลาให้จัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยได้ไม่ถึง 14 วัน ส่วนในปีงบประมาณ 2564 โรงงานยาสูบจ่ายภาษีเพื่อมหาดไทย 3,424 ล้านบาท

หมายเหตุ : ภาษีเพื่อมหาดไทยจะแตกต่างจากเงินบำรุงกองทุนต่าง ๆ ตามที่กล่าวข้างต้น ตรงที่ว่าภาษีเพื่อมหาดไทยนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% ของภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บได้ (เก็บเพิ่ม) แต่เงินบำรุงกองทุนต่างๆนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้หักจากภาษีบุหรี่ที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ นำส่งกองทุนต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อ-ขายบุหรี่ในอัตรา 7% ของมูลค่าบุหรี่ปีงบประมาณ 2560 โรงงานยาสูบจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายบุหรี่ให้กรมสรรพากร 5,148 ล้านบาท หลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งที่ 1 ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลงอย่างต่อเนื่อง สิ้นปีงบประมาณ 2564 โรงงานยาสูบจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรแค่ 3,793 ล้านบาท ส่งทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้รับการจัดสรรเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรลดน้อยลงไปด้วย ปีงบประมาณ 2560 องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับการจัดสรรเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร 2,317 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ลดลงเหลือ 1,326 ล้านบาท

เนื่องจากโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงมีหน้าที่นำเงินรายได้ส่งกระทรวงการคลัง ปีงบประมาณ 2560 โรงงานยาสูบส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง 4,963 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ลดเหลือ 2,897 ล้านบาท

รัฐอุ้ม “ชาวไร่ยาสูบ”

การปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ทั้ง 2 ครั้ง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของโรงงานยาสูบ, รายได้ของรัฐบาล และกองทุน Earmark Tax ต่างๆแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงรายได้ของเกษตรกรที่ปลูกใบยาสูบ หรือ “ชาวไร่ยาสูบ” หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ยอดขายบุหรี่ตก โรงงานยาสูบจึงจำเป็นต้องทยอยปรับลดโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลงเป็นลำดับ เพื่อบริหารสต็อกและลดต้นทุนการผลิต โดยในปี 2560 ก่อนปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ โรงงานยาสูบเคยรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกร 26.18 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 2,202 ล้านบาท, ปี 2561 รับซื้อใบยาสูบลดลงเหลือ 24.34 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 2,085 ล้านบาท, ปี 2562 รับซื้อใบยาสูบ 12.46 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,090 ล้านบาท, ปี 2563 รับซื้อใบยาสูบ 12.72 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,111 ล้านบาท, ปี 2564 รับซื้อใบยาสูบ 12.78 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,108 ล้านบาท , ปี 2565 รับซื้อใบยาสูบ 11.85 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,051 ล้านบาท และปี 2566 ลดการรับซื้อใบยาสูบเหลือ 10.82 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 940 ล้านบาท

รวม 7 ปี โรงงานยาสูบปรับลดโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรไป 15.36 ล้านกิโลกรัม หรือ ลดลง 58.68% และส่งผลทำให้รายได้ของชาวไร่ยาสูบและผู้เกี่ยวข้องกว่า 500,000 ราย ลดลงไป 1,262 ล้านบาท หรือ ลดลง 57.30% ที่ผ่านมารัฐบาลและโรงงานยาสูบจึงต้องจัดงบประมาณไปสนับสนุนชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการลดโควตาการปลูกใบยาสูบกว่า 1,300 ล้านบาท โดยเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกจนถึงกระบวนการรับซื้อใบยา

ปัจจุบันโรงงานยาสูบมีโควตารับซื้อใบยาพันธุ์เวอร์ยิเนียจากเกษตรกร 4.73 ล้านกิโลกรัม, ใบยาเบอร์เลย์ 7.1 ล้านกิโลกรัม และใบยาเตอร์กิซ 2 ล้านกิโลกรัม แต่เนื่องจากสถานการณ์ใบยาในตลาดโลกของปี 2566 ใบยาเบอร์เลย์ในตลาดโลกขาดแคลน ส่วนใบยาเตอร์กิซก็มีราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ประเทศไทยจึงสามารถแข่งขันได้ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่ใบยาเวอร์ยิเนียนั้นมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก จึงยากในการระบายใบยาออกสู่ตลาดโลก ทำให้มีใบยาเวอร์ยิเนียคงค้างอยู่ในสต็อกมากกว่า 2.9 ล้านกิโลกรัม โรงงานยาสูบจึงไปส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกใบยาสายพันธุ์เบอร์เลย์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกแทน

ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ ‘ยาเส้นมวนเอง-บุหรี่ไฟฟ้า’ แทน

ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตทั้ง 2 ครั้ง ทำให้บุหรี่ที่เสียภาษีถูกกฎหมายมีราคาแพงขึ้น ปัจจุบันบุหรี่ที่เสียภาษีถูกกฎหมายราคาถูกที่สุด ซองละ 65 บาท ขณะที่ยาเส้นมวนเองซองละ 10 – 15 บาท ส่วนบุหรี่เถื่อน หรือ บุหรี่ปลอม วางขายกันในตลาดออนไลน์ซองละ 20 – 30 บาท และบุหรี่ไฟฟ้าสูบได้ 2,000 ครั้ง ขายกันแท่งละ 100 – 120 บาท และด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนเหล่านี้

จากกราฟที่นำมาแสดงจะเห็นได้ว่า หลังจากปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ครั้งที่ 1 กลุ่มผู้บริโภคในตลาดล่างปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันไปบริโภคยาเส้นมวนเองกันอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ยาเส้นมวนเองของโรงงานยาสูบมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 26,114 ล้านมวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13,532 ล้านมวน หรือ เพิ่มขึ้น 108% , ปี 2562 โรงงานยาสูบมียอดขายเส้นเส้นอยู่ที่ 23,492 ล้านมวน ลดลงจากปีก่อน 2,622 ล้านมวน หรือ ลดลง 10% , ปี 2563 ยอดขายยาเส้นอยู่ที่ 26,193 ล้านมวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,701 ล้านมวน หรือ เพิ่มขึ้น 11% , ปี 2564 ยอดขายยาเส้นอยู่ที่ 25,266 ล้านมวน ลดลงจากปีก่อน 927 ล้านมวน หรือ ลดลง 4% , ปี 2565 ยอดขายยาเส้นอยู่ที่ 25,703 ล้านมวน เพิ่มจากปีก่อน 437 ล้านมวน หรือ เพิ่มขึ้น 2% และในปี 2566 ยอดขายยาเส้นคาดว่าจะอยู่ที่ 28,000 ล้านมวน เพิ่มจากปีก่อน 2,297 ล้านมวน หรือ เพิ่มขึ้น 9%

สำหรับสถานการณ์ของการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้านั้น จากข้อมูลบทวิเคราะห์ตลาด ของ ‘โรแลนด์ เบอร์เกอร์’ ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 6.40% ต่อปี ส่วนประเทศไทยก็มีผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2564 พบว่าประชากรไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.14% ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 57 ล้านคน แบ่งออกเป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและภาคกลาง 47,753 คน ขณะที่คนไทยที่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดาคิดเป็นสัดส่วน 26.7%, เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่าคิดเป็นสัดส่วน 11.3% และเชื่อว่าบุหรี่ธรรมดามีอันตรายเท่ากัน คิดเป็นสัดส่วน 62%

โครงการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร พ.ศ. 2564 ที่เก็บข้อมูลจากทั่วประเทศ 73,654 ครัวเรือน ครอบคลุมประชากรตัวอย่าง 164,406 คน นับเป็นการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยทำการสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่มีประมาณ 9.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 17.4% ของจำนวนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 57 ล้านคน และในจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งหมด 9.9 ล้านคน นิยมสูบบุหรี่มวนเอง 8.1% บุหรี่ไฟฟ้า 0.1% บุหรี่ที่สูบผ่านน้ำ 0.03% และบุหรี่ประเภทอื่นๆ 0.1%

บุหรี่เถื่อน-ปลอมทะลัก

นอกจากนี้ยังมีการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมาย โดยมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ปลอม และบุหรี่หนีภาษี ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศที่เสียภาษีถูกต้องหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปริมาณการสูบบุหรี่เถื่อนมากกว่า 70% ของการสูบบุหรี่ทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้

จากข้อมูลการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายในปี 2566 พบว่าแนวโน้มบุหรี่ที่ไม่ได้เสียภาษีมีสัดส่วนสูงถึง 22.3% เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2565 ที่มีสัดส่วนเพียง 15.5% นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจุบันมีบุหรี่ที่ไม่ได้เสียภาษีแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็วเกือบ 2 เท่าตัว ภายในระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 จนถึงปีงบประมาณ 2566 ทางกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมายทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 50,963 คดี ยึดของกลางได้ 33,490,246 ซอง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นผลที่เกิดจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยาสูบได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า

ติดตามอ่านต่อความคืบหน้าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ตอนที่ 3

  • วิกฤติอุตสาหกรรมยาสูบ (1) : 7 ปี รื้อภาษีบุหรี่ โรงงานยาสูบฟุบ
  • สรรพสามิต แจงขึ้นภาษีบุหรี่ยกแผง-เว้นยาเส้น เริ่ม 1 ต.ค.นี้
  • เปิดราคาบุหรี่-เหล้า-เบียร์ หลังสรรพสามิตขยับโครงสร้างภาษี
  • คลังเตรียมขึ้นภาษียาสูบ คาดบุหรี่เถื่อนทะลัก-ยอดขายยาเส้นกระฉูด
  • สหภาพยาสูบบุกคลัง ค้านขึ้นภาษีบุหรี่ เฟส 2 ดันราคาเพิ่มซองละ 8-10 บาท
  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (1): สำรวจตลาดบุหรี่เมืองไทย ทำไมมีแค่ 2 ราคา?
  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (2): 3 ปี ภาษีบุหรี่ 2 อัตรา ใครกระทบบ้าง?
  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (3): แนะทางรอดยาสูบ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ