ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แกะซองราคาบุหรี่ตลาดบน ตลาดล่าง หลังปรับโครงสร้างภาษี ทั้งระบบรายได้หายกำไรหด – บุหรี่ 1 ซอง เงินภาษีไปไหนบ้าง?

แกะซองราคาบุหรี่ตลาดบน ตลาดล่าง หลังปรับโครงสร้างภาษี ทั้งระบบรายได้หายกำไรหด – บุหรี่ 1 ซอง เงินภาษีไปไหนบ้าง?

26 กันยายน 2018


ผลสืบเนื่องมาจากกรมสรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2560 โดยนำระบบ “ราคาขายปลีกแนะนำ” มาใช้เป็นฐานคำนวณภาษีบุหรี่ แทนราคาหน้าโรงงานหรือราคานำเข้า (CIF) ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ทำให้บุหรี่ทุกยี่ห้อต้องเสียภาษีตามปริมาณ มวนละ 1.20 บาท หรือ ซองละ 24 บาท จากนั้นนำมารวมค่าภาษี ซึ่งคิดตามมูลค่า โดยใช้ราคาขายปลีกที่ซองละ 60 บาท เป็นราคามาตรฐาน หากผู้ประกอบการรายใดตั้งราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 20% ของราคาขายปลีกไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จากนั้นให้เก็บภาษีในอัตรา 40% ส่วนบุหรี่ที่ตั้งราคาขายปลีกเกิน 60 บาท ต้องเสียภาษี 40% ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

จากการกรมสรรพสามิตใช้ราคาขายปลีกแนะนำที่ซองละ 60 บาท เป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีตามมูลค่าดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ตลาดบุหรี่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามโครงสร้างภาษี กล่าวคือ

กลุ่มตลาดบน ตั้งราคาขายปลีกถูกที่สุดซองละ 90 บาท เป็นบุหรี่ยี่ห้อวันเดอร์ แพงที่สุดซองละ 165 บาท มี 2 ยี่ห้อ ได้แก่ มาร์ลโบโร แคปซูล กับเมเวียส แคปซูล

กลุ่มตลาดล่าง ตั้งราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท ได้แก่ บุหรี่ยี่ห้อ LINE 7.1 เดิมเคยขายซองละ 40 บาท เพิ่มเป็น 60 บาท, LINE มวนใหญ่ เดิมขายซองละ 43 บาท เพิ่มเป็น 60 บาท, GOAL เดิมขายซองละ 45 บาท เพิ่มเป็น 60 บาท, SMS เดิมขายซองละ 51 บาท เพิ่มเป็น 60 บาท จะเห็นได้ว่าบุหรี่ของโรงงานยาสูบทุกยี่ห้อ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “การยาสูบแห่งประเทศไทย”) ปรับราคาขึ้นยกแผงประมาณ 50%

ขณะเดียวกัน มีบุหรี่ต่างประเทศบางยี่ห้อ ปรับลดราคาลงมาแข่งในตลาดล่าง 3 ยี่ห้อ เช่น วินสตัน คอมแพค เดิมขายซองละ 70 บาท หลังปรับภาษีขายซองละ 60 บาท, L&M 7.1 เดิมขายซองละ 72 บาท ลดราคาเหลือ 60 บาท และคาเมล เดิมขายซองละ 98 บาท ลดราคาเหลือ 60 บาท และยังมีบุหรี่นอกบางยี่ห้อตั้งราคาขายต่ำกว่า 60 บาท อีก 2 ยี่ห้อ คือ บุหรี่ยี่ห้อเพลย์ออฟ ตั้งราคาขายปลีกที่ซองละ 58 บาท และไอสกอร์ คิงไซซ์ ซองละ 58 บาท เป็นต้น ส่วนบุหรี่ยี่ห้อกรองทิพย์, สายฝน, กรุงทอง, สามิต ราคาซองละ 95 บาท ถูกผลักขึ้นแข่งในตลาดบน โดยมี L&M, ไอสกอร์ แม็กซ์ ขาย ซองละ 99 บาท และ ไอสกอร์ 5.0 ซองละ 100 บาท เป็นคู่แข่งที่สำคัญ

การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนั้น นอกจากจะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของโรงงานยาสูบลดลง จากเดิมเคยครอบครองตลาด 80% ปัจจุบันลดลงเหลือ 60% คาดว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันไปสูบบุหรี่ต่างประเทศที่มีราคาใกล้เคียงหรือถูกกว่า และอีกส่วนหันไปสูบหรี่ทางเลือกใหม่แทน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า, บุหรี่มวนเอง และบุหรี่เถื่อน เป็นต้น และจากการที่บุหรี่ต่างประเทศยอมหั่นกำไรลงมาเจาะตลาดล่าง ซึ่งเป็นตลาดหลักของโรงงานยาสูบ ทำให้โรงงานยาสูบไม่สามารถปรับขึ้นราคาบุหรี่ได้ เพราะจะต้องพยายามรักษาตลาดกลุ่มนี้เอาไว้

สงครามบุหรี่รอบนี้ ทั้งโรงงานยาสูบและผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ จึงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ก่อนปรับโครงสร้างภาษี บุหรี่ซองละ 40-51 บาท เคยได้กำไรซองละ 5-7 บาท หลังปรับโครงสร้างภาษี บุหรี่ซองละ 60 บาท เหลือกำไรซองละ 1 บาท โดยบุหรี่ 1 ซอง ราคา 60 บาท ประกอบด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายดังนี้

1. ต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายรับซื้อใบยาสูบ ค่าจ้างพนักงาน และส่วนลดที่ผู้ผลิตมอบให้แก่ตัวแทนจำหน่าย ยี่ปั๊ว ซ่าปั๊ว เฉลี่ยซองละ 11.84 บาท คิดเป็นสัดส่วน 19.73% ของราคาขายปลีกที่ซองละ 60 บาท

2. ค่าภาษี และเงินบำรุงทั้งหมด (earmarked tax) เฉลี่ยซองละ 47.16 บาท คิดเป็นสัดส่วน 78.60% ของราคาขายปลีก 60 บาท/ซอง ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประกอบไปด้วย

  • ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บตามปริมาณซองละ 24 บาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของราคาขายปลีกซองละ 60 บาท
  • ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บตามมูลค่าในอัตรา 20% ของราคาขายปลีกแนะนำ อีกซองละ 11.21 บาท คิดเป็นสัดส่วน 18.68% ของราคาขายปลีก
  • ภาษีเพื่อมหาดไทย ซองละ 3.52 บาท คิดเป็นสัดส่วน 5.87 %
  • ส่งเงินบำรุงให้ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซองละ 0.70 บาท คิดเป็นสัดส่วน 1.17 %
  • ส่งเงินบำรุงให้ ThaiPBS ซองละ 0.53 บาท คิดเป็นสัดส่วน 0.88 %
  • ส่งเงินบำรุงกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซองละ 0.70 บาท คิดเป็นสัดส่วน 1.17 %
  • ส่งเงินบำรุงให้กองทุนผู้สูงอายุ ซองละ 0.70 บาท คิดเป็นสัดส่วน 1.17 %
  • ภาษีองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซองละ 1.86 บาท คิดเป็นสัดส่วน 3.10%
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซองละ 3.93 บาท คิดเป็นสัดส่วน 6.55%

3. กำไร ก่อนปรับโครงสร้างภาษี ทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าเคยได้กำไร ซองละ 7.50 บาท ปัจจุบันกำไรลดลงเหลือซองละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วน 1.67% ของราคาขายปลีกที่ซองละ 60 บาท การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งนั้น ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของโรงงานยาสูบลดลงกว่า 20% เนื่องจากยอดขายและกำไรปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางโรงงานยาสูบต้องออกประกาศยกเลิกโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ล่าสุด น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า เลื่อนหรือขยายระยะเวลาในการปรับขึ้นภาษีกลุ่มบุหรี่ตลาดล่าง จากเดิมต้องปรับภาษีจาก 20% ขึ้นเป็น 40% ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขยายออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยโรงงานยาสูบจะยอมรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรต่อไป แต่จะรับซื้อแค่ 50% ของโควตาใบยาสูบที่เกษตรกรได้รับการจัดสรร แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบาย ขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าเรื่องนี้จะเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อไหร่

  • 6 เดือน หลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ โรงงานยาสูบรายได้หาย-กำไรหด เกษตรกร 5 หมื่นราย ถูกตัดโควตา – ขายใบยา
  • กางข้อมูลรายได้ภาษีเหล้า-บุหรี่ ก้อนใหญ่อยู่ในมือใคร?
  • วิกฤติระบบสาธารณสุขไทย กางตัวเลข รพ.รัฐ เงินบำรุงติดลบ 558 แห่ง 12,700 ล้าน
  • นอกจากนี้ยังมีข่าว กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเก็บเงินสมทบจากบุหรี่อีกมวนละ 10 สตางค์ หรือซองละ 2 บาท ให้กับสำนักงานหลักประกันเงินสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำไปใช้สนับสนุนการให้บริการสาธารณสุขของโรงพยาบาล

    หากรัฐบาลไม่เลื่อนหรือขยายเวลาปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ 40% ออกไปอีก 2 ปี รวมทั้งมีการเก็บเงินสมทบ สปสช. อีกซองละ 2 บาท คาดว่าช่วงปลายปี 2562 ทั้งโรงงานยาสูบและผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศคงต้องปรับราคาบุหรี่ทุกยี่ห้อกันอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มบุหรี่ตลาดล่าง ราคาถูกที่สุดน่าจะอยู่ที่ซองละ 90 บาท รอบนี้โรงงานยาสูบเตรียมแผนรับมือไว้แล้วหรือยัง?

    ภาคีเครือข่ายเกษตรกร จี้ปลดผู้ว่าการยาสูบฯ

    ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบจังหวัดลำปาง,สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบจังหวัดเชียงใหม่,สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบจังหวัดน่าน,สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบจังหวัดแพร๋,สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบจังหวัดเชียงรายและพะเยา,สามคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ สุโขทัย,สมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ เพชรบูรณ์,สมาคมพัฒนาชาวไร่บ่มเอง จังหวัดเชียงใหม่,ชมรมชาวไร่ยาสูบสามัคคี นครพนม บึงกาฬ,ชมรมชาวไร่บ่มเอง จังหวัดแพร่,ชมรมชาวไร่บ่มเอง จังหวัดเชียงราย และเครือข่ายชาวไร่ยาสูบภาคอีสาน ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน พร้อมรายชื่อชาวไร่ยาสูบและผู้ที่เกี่ยวข้อง 30,000 ราย ถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยขอให้พิจารณาปลดผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทย จากนั้นก็ได้เดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน,พลเอก ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ พิจารณาปลดผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทย

    ภาคคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    ที่มาภาพ : www.facebook.com/ภาคียาสูบประเทศไทย
    ภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
    ที่มาภาพ : http://click.senate.go.th/?p=64642
    ป้ายคำ :