ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (1): สำรวจตลาดบุหรี่เมืองไทย ทำไมมีแค่ 2 ราคา?

รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (1): สำรวจตลาดบุหรี่เมืองไทย ทำไมมีแค่ 2 ราคา?

7 มีนาคม 2021


สำรวจตลาดบุหรี่เมืองไทย ทำไมมีแค่ 2 ราคา – การตั้งราคาขายปลีกหลังปรับโครงสร้างภาษี เป็นไปตามกลไกตลาดหรือไม่

3 ปี หลังจากที่กรมสรรพสามิตนำระบบภาษีแบบผสมมาใช้ในการจัดเก็บภาษีบุหรี่ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 มาจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ต้องเสียภาษี ทั้งคำนวณจากปริมาณและมูลค่ารวมกัน

บุหรี่ไม่ว่าจะมวนเล็กหรือมวนใหญ่ ยี่ห้ออะไรก็ตาม ถ้านำออกมาขาย ต้องจ่ายภาษีมวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาทก่อน (ตามปริมาณ) จากนั้นให้ใช้ “ราคาขายปลีกแนะนำ” ที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งกรมสรรพสามิตมาเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีตามมูลค่า มี 2 อัตรา จะเสียภาษีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการตั้งราคาขายปลีกแนะนำที่ผู้ประกอบการแจ้งต่อกรมสรรพสามิต กล่าวคือ ถ้าผู้ประกอบการตั้งราคาขายปลีกซองละ 60 บาทขึ้นไป จะเสียภาษีที่อัตรา 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ แต่ถ้าตั้งราคาขายต่ำกว่าซองละ 60 บาท เสียภาษี 20% การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนั้นให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี โดยกำหนดเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่เอาไว้ กล่าวคือ หลังจากเดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ให้ปรับภาษีบุหรี่ที่ตั้งราคาต่ำกว่าซองละ 60 บาท จากอัตรา 20% เป็น 40% นอกจากการปรับโครงสร้างภาษีแล้ว ยังเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยและเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุเพิ่มอีก 12% ของภาษีสรรพสามิต

การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนั้น ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด บุหรี่ที่เคยขายกันซองละ 40 บาท ปรับขึ้นราคาขายเป็นซองละ 60 บาท และที่เคยขายอยู่ซองละ 63 บาท ปรับขึ้นเป็นซองละ 90 บาท ขณะที่ยาเส้นขายซองละ 10-15 บาท ส่วนบุหรี่หนีภาษีตามแนวชายแดนขายซองละ 20-30 บาท ผลจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ดังกล่าว ทำให้เกิด “ช่องว่างของราคา” ระหว่างบุหรี่กับสินค้าทดแทน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า, ยาเส้น และบุหรี่เถื่อน

บรรดาสิงห์อมควันทั้งหลายจึงต้องปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เปลี่ยนพฤติกรรม หันมาซื้อบุหรี่ราคาถูกลง (ซองละ 60 บาท) หรือ เปลี่ยนไปสูบบุหรี่หนีภาษีแทน ส่วนกลุ่มรากหญ้าหันไปซื้อยาเส้นซองละ 10-15 บาทมามวนเอง ปรากฏว่ายาเส้นขายดีมาก ยอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว

จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2563 ของโรงงานยาสูบที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ในปี 2560 (ก่อนปรับโครงสร้างภาษี) ยอดขายยาเส้นมวนเองทั้งตลาดอยู่ที่ 12 ล้านมวน หลังขึ้นภาษีบุหรี่ไปแล้ว ปี 2561 ยอดขายเพิ่มเป็น 26 ล้านมวน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่รักสุขภาพจำนวนหนึ่งเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีความเชื่อว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ที่ผลิตจากใบยาสูบ

จากภาพที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ตลาดบุหรี่ในปัจจุบันแยกออกเป็น 2 ตลาดอย่างชัดเจน คือ กลุ่มตลาดบน ขายซองละ 90 บาทขึ้นไป กลุ่มตลาดล่างตั้งราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาทต่อซอง ปัจจุบันจึงไม่มีบุหรี่ราคา 61-89 บาทต่อซอง วางขายตามท้องตลาด เปรียบเทียบกับอดีตมีขายกันตั้งแต่ซองละ 63-87 บาท สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถตั้งราคาขายระหว่าง 60-90 บาทได้ น่าจะเป็นผลมาจากนโยบายภาษี ทั้งโรงงานยาสูบและผู้นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ หันมาตั้งราคาสินค้าขายแข่งกันที่ซองละ 60 บาท เพื่อเสียภาษีที่อัตรา 20% หากตั้งราคาเกิน 60 บาทต่อซอง ก็จะเสียภาษี 40% ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกกระโดดขึ้นไปเป็นซองละ 90 บาท

นี่คือคำตอบที่ว่า ทำไมราคาขายปลีกบุหรี่ในเมืองไทยมีแค่ 2 ช่วงราคา คือซองละ 60 บาท กับซองละ 90 บาทขึ้นไป การตั้งราคาขายบุหรี่เป็นไปตามกลไกการแข่งขันของตลาดหรือไม่

  • แกะซองราคาบุหรี่ตลาดบน ตลาดล่าง หลังปรับโครงสร้างภาษี ทั้งระบบรายได้หายกำไรหด – บุหรี่ 1 ซอง เงินภาษีไปไหนบ้าง?
  • อ่านต่อ – รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (ตอน2): 3 ปี ภาษีบุหรี่ 2 อัตรา ใครกระทบบ้าง?