ThaiPublica > เกาะกระแส > สหภาพยาสูบบุกคลัง ค้านขึ้นภาษีบุหรี่ เฟส 2 ดันราคาเพิ่มซองละ 8-10 บาท

สหภาพยาสูบบุกคลัง ค้านขึ้นภาษีบุหรี่ เฟส 2 ดันราคาเพิ่มซองละ 8-10 บาท

23 กันยายน 2021


สหภาพยาสูบบุกคลัง ยื่นหนังสือถึง รมว.คลัง คัดค้านปรับขึ้นภาษียาสูบเฟส 2 ดันราคาบุหรี่เพิ่มอีกซอง 8-10 บาท ชี้ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษี 4 ปีที่ผ่านมาเงินรายได้นำส่งคลังหายกว่า 34,000 ล้านบาท-เกษตรกรขาดรายได้ 900 ล้านบาท วอนรัฐพิจารณาให้รอบด้าน – ไม่ควรมองแค่ผลกระทบต่อสุขภาพด้านเดียว

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ (ยสท.) พร้อมตัวแทนชาวไร่ภาคียาสูบแห่งประเทศไทยกว่า 50 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต คัดค้านกรณีเครือข่ายสุขกาพ เสนอให้รัฐบาลปรับขึ้นภาษียาสูบ ทำให้ราคาบุหรี่ปรับขึ้นไปอีกซองละ 8-10 บาท เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบอีกครั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2560 ขอให้กระทรวงการคลังมองผลกระทบต่าง ๆให้รอบด้านก่อตัดสินใจปรับโครงสร้างภาษี

นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ (ยสท.)

ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ และตัวแทนชาวไร่ ภาคียาสูบแห่งประเทศไทยได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ (ส.ร.ย.) กล่าวว่า ทาง ส.ร.ย.และชาวไร่ยาสูบ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายสุขภาพที่เสนอให้รัฐบาลปรับอัตราภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้น เพื่อให้บุหรี่ปรับราคาขึ้นไปอีกซองละ 8-10 บาท ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาบุหรี่ที่วางขายตามท้องตลาดมีราคาเริ่มต้นที่ซองละ 68-70 บาท

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า หลังจากที่รัฐบาลปรับภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 ทางการยาสูบแห่งประเทศไทยพยายามปรับตัวมาโดยตลอด เพราะต้องขายสินค้าแข่งกับบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาเท่ากัน รวมทั้งบุหรี่เถื่อนที่มีราคาถูกกว่ามาก แม้การยาสูบแห่งประเทศไทยยังพอมีกำไรเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่มีเงินรายได้นำส่งคลัง รวมตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐขาดรายได้ไปกว่า 34,000 ล้านบาท และถ้าหากกรมสรรพสามิตดำเนินการตามข้อเสนอแนะของเครือข่ายสุขภาพ ไม่ใช่แค่รายได้นำส่งคลังหายไปเท่านั้น แต่ ยสท. ก็คงจะหายไปด้วย พนักงาน ยสท. กว่า 2 พันครอบครัว คงต้องกลายเป็นภาระสังคม

“ผมไม่อยากให้กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต ผิดสัญญา หรือ ยอมกลืนจุดยืนของตัวเองที่เคยออกมาให้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีต้องคำนึงผลกระทบ 4 ด้าน คือผลกระทบต่อรายได้รัฐ, ชาวไร่ยาสูบ, สุขภาพประชาชน และปัญหาบุหรี่เถื่อน แต่พอเอาจริงกลับเสียท่าให้หมอ และเอ็นจีโอฝั่งสุขภาพ ขอให้เห็นใจคนในอุตสาหกรรมยาสูบที่ยังตองทำงาน ทำไร่ ส่งเสียครอบครัวเลี้ยงชีพบ้าง” นายสุเทพ กล่าว

ด้านนายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พวกเราชาวไร่ยาสูบทั้งสามสายพันธุ์ยอมเสี่ยงกับโควิดฯมายื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อคัดค้านการจัดเก็บภาษีที่สูงเกินไป จนทำให้บุหรี่ปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก ที่ผ่านมาชาวไร่ยาสูบได้รับผลกระทบมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ จากภาครัฐเท่าที่ควร อาทิ เรื่องเงินชดเชย 160 ล้านบาทที่รัฐเคยรับปากว่าจะให้พวกเรา ก็ยังต้องติดตามทวงถามมา 2 ปีแล้ว และการขึ้นภาษีสรรพสามิตสูงขนาดนั้นกระทบกับปากท้องชาวไร่กว่า 30,000 ครอบครัวและจะทำให้ชาวไร่ถูกตัดโควตาปลูกยาสูบเพิ่มไปอีก ซึ่งกระทบรายได้ของชาวไร่ยาสูบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ชาวไร่ยาสูบสูญเสียรายได้ไปกว่า 900 ล้านบาท หากมีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ตามข้อเสนอของเครือข่ายสุขภาพ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบ

นายสงกรานต์ ภักคีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบ จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวเสริมว่า “ก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตบอกว่าการขึ้นภาษีจะพิจารณาอย่างดี ไม่ให้เดือดร้อนชาวไร่ยาสูบ พวกเราก็อยากขอให้กรมสรรพสามิต และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยึดมั่นในหลักการตามที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่จะไม่ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ และ ยสท. หากกรมสรรพสามิตยอมตามแรงกดดันของเอ็นจีโอแล้ว เท่ากับว่าเราไม่สามารถพึ่งพากรมสรรพสามิตได้อีกต่อไป

อนึ่ง หลังจากที่กรมสรรพสามิตนำระบบภาษีแบบผสมมาใช้ในการจัดเก็บภาษีบุหรี่ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 มาจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ต้องเสียภาษี ทั้งคำนวณจากปริมาณและมูลค่ารวมกัน

บุหรี่ไม่ว่าจะมวนเล็กหรือมวนใหญ่ ยี่ห้ออะไรก็ตาม ถ้านำออกมาขาย ต้องจ่ายภาษีมวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาทก่อน (ตามปริมาณ) จากนั้นให้ใช้ “ราคาขายปลีกแนะนำ” ที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งกรมสรรพสามิตมาเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีตามมูลค่ามีอีก 2 อัตรา ส่วนจะเสียภาษีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการตั้งราคาขายปลีกแนะนำที่ผู้ประกอบการแจ้งต่อกรมสรรพสามิต กล่าวคือ ถ้าผู้ประกอบการตั้งราคาขายปลีกซองละ 60 บาทขึ้นไป จะเสียภาษีที่อัตรา 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ แต่ถ้าตั้งราคาขายต่ำกว่าซองละ 60 บาท เสียภาษี 20% การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนั้นให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี โดยกำหนดเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่เอาไว้ กล่าวคือ หลังจากเดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ให้ปรับภาษีบุหรี่ที่ตั้งราคาต่ำกว่าซองละ 60 บาท จากอัตรา 20% เป็น 40% นอกจากการปรับโครงสร้างภาษีแล้ว ยังเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยและเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุเพิ่มอีก 12% ของภาษีสรรพสามิต

ผลจากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนั้น ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด บุหรี่ที่เคยขายกันซองละ 40 บาท ปรับขึ้นราคาขายเป็นซองละ 60 บาท และที่เคยขายอยู่ซองละ 63 บาท ปรับขึ้นเป็นซองละ 90 บาท ขณะที่ยาเส้นขายซองละ 10-15 บาท ส่วนบุหรี่หนีภาษีตามแนวชายแดนขายซองละ 20-30 บาท ผลจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ดังกล่าว ทำให้เกิด “ช่องว่างของราคา” ระหว่างบุหรี่กับสินค้าทดแทน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า, ยาเส้น และบุหรี่เถื่อน

ตลาดบุหรี่ในปัจจุบันแยกออกเป็น 2 ตลาดอย่างชัดเจน คือ กลุ่มตลาดบน ขายซองละ 90 บาทขึ้นไป กลุ่มตลาดล่างตั้งราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาทต่อซอง ปัจจุบันจึงไม่มีบุหรี่ราคา 61-89 บาทต่อซอง วางขายตามท้องตลาด เปรียบเทียบกับอดีตมีขายกันตั้งแต่ซองละ 63-87 บาท สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถตั้งราคาขายระหว่าง 60-90 บาทได้ น่าจะเป็นผลมาจากนโยบายภาษี ทั้งโรงงานยาสูบและผู้นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ หันมาตั้งราคาสินค้าขายแข่งกันที่ซองละ 60 บาท เพื่อเสียภาษีที่อัตรา 20% หากตั้งราคาเกิน 60 บาทต่อซอง ก็จะเสียภาษี 40% ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกกระโดดขึ้นไปเป็นซองละ 90 บาท

บรรดาสิงห์อมควันทั้งหลายจึงต้องปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เปลี่ยนพฤติกรรม หันมาซื้อบุหรี่ราคาถูกลง (ซองละ 60 บาท) หรือ เปลี่ยนไปสูบบุหรี่หนีภาษีแทน ส่วนกลุ่มรากหญ้าหันไปซื้อยาเส้นซองละ 10-15 บาทมามวนเอง ปรากฏว่ายาเส้นขายดีมาก ยอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2563 ของโรงงานยาสูบที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ในปี 2560 (ก่อนปรับโครงสร้างภาษี) ยอดขายยาเส้นมวนเองทั้งตลาดอยู่ที่ 12 ล้านมวน หลังขึ้นภาษีบุหรี่ไปแล้ว ปี 2561 ยอดขายเพิ่มเป็น 26 ล้านมวน

  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (1): สำรวจตลาดบุหรี่เมืองไทย ทำไมมีแค่ 2 ราคา?
  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (2) : 3 ปี ภาษีบุหรี่ 2 อัตรา ใครกระทบบ้าง?
  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (3) : แนะทางรอดยาสูบ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ