ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ทุนใหญ่” อสังหาริมทรัพย์ในลาว

“ทุนใหญ่” อสังหาริมทรัพย์ในลาว

23 มกราคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ระหว่างปลายเดือนธันวาคม 2566 ถึงสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม 2567 ช่วงคาบเกี่ยวเทศกาลขึ้นปีใหม่ มีความเคลื่อนไหวของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ใน สปป.ลาว 3 แห่ง เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้ง 3 โครงการ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง, โครงการลาดซะวงพลาซ่า และเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน…

วันที่ 29 ธันวาคม 2566 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว รายงานว่า บริษัทลาวทาดหลวงลงทุนพัฒนา จำกัด ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการสร้างสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง โดยมีกิแก้ว ไขคำพิทูน รองนายกรัฐมนตรีของลาว หวงกัวปิง ประธานบริษัทลาวทาดหลวงลงทุนพัฒนา รวมถึงผู้บริหารองค์กรปกครองนครหลวงเวียงจันทน์อีกหลายคน มาร่วมในพิธี

หวงกัวปิง ประธานบริษัทลาวทาดหลวงลงทุนพัฒนา กล่าวว่า สนามกอล์ฟที่จะสร้าง ใช้เงินลงทุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของนครหลวงเวียงจันทน์ เพราะบริเวณโดยรอบสนามกอล์ฟไม่ได้มีเพียงกิจกรรมด้านกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่ยังจะมีแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ศูนย์การค้า ร้านค้าปลอดภาษี ร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิง

สอนปะเสิด ดาลาวง หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมและกำกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ กระทรวงแผนการและการลงทุน กล่าวว่า สนามกอล์ฟที่จะสร้างมีเนื้อที่ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวงระยะแรก ถือเป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับกิจการที่ได้เข้ามาลงทุนอยู่แล้วในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ และยังช่วยดึงดูดนักลงทุนรายอื่นให้เข้ามาลงทุนในนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับผู้ที่อยู่ในลาวและชาวต่างชาติ ที่จะมีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับกิจกรรมหลากหลายในเขตเศรษฐกิจบึงทาดหลวง

พิธีวางศิลาฤกษ์สนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม ในเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว
บึงธรรมชาติขนาดใหญ่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง ที่มาภาพ : เพจเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง

เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง ตั้งอยู่ที่เมืองไซเสดถา ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองเวียงจันทน์ เดิมเป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่กว่า 312 ไร่ ที่ใช้รองรับน้ำเสียจากตัวเมืองเวียงจันทน์เพื่อนำไปบำบัดก่อนปล่อยลงแม่น้ำโขง และกักเก็บน้ำบางส่วนที่บำบัดแล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงฤดูแล้ง

วันที่ 28 ธันวาคม 2554 รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานแก่บริษัทหวั่นเฟิง เซี่ยงไฮ้ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน นำพื้นที่ 1,000 เฮกตาร์ หรือ 6,250 ไร่ รอบๆ บึงทาดหลวง มาสร้างเป็นเมืองใหม่ใช้ชื่อว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง โดยบริษัทหวั่นเฟิง เซี่ยงไฮ้ ได้ตั้งบริษัทลาวทาดหลวงลงทุนพัฒนาขึ้นเป็นผู้ดำเนินการ มีอายุสัมปทาน 99 ปี ใช้งบประมาณรวม 5,000 ล้านดอลลาร์ เป็นการลงทุนจากฝั่งจีน 100%

ต้นปี 2555 บริษัทลาวทาดหลวงลงทุนพัฒนา เริ่มสร้างโครงการระยะแรกบนพื้นที่ 365 เฮคตา หรือ 2,281.25 ไร่ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 1,700 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วย ถนนรอบโครงการยาว 30 กิโลเมตร คอนโดมิเนียมสูง 17 ชั้น 11 อาคาร ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล และโครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆ อีกหลายยูนิต รวมถึงสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สูงถึง 108 เมตร

เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวงยังเป็นต้นทางของทางด่วนเวียงจันทน์หมายเลข 1 ทางด่วนสายแรกที่สร้างขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจรในตัวเมืองเวียงจันทน์ ระยะทาง 15.30 กิโลเมตร วิ่งตรงจากบึงทาดหลวงไปถึงเขตดงหมากคาย เมืองไซทานี มูลค่าก่อสร้างรวม 200 ล้านดอลลาร์ โดยองค์กรปกครองนครหลวงเวียงจันทน์ได้ให้สัมปทานแก่กิจการร่วมทุนระหว่างบริษัทเอเซียลงทุน พัฒนา และก่อสร้าง กับบริษัท China North Industries Corporation เมื่อเดือนเมษายน 2562 มีอายุสัมปทาน 50 ปี เริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563

ธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง ที่มาภาพ : เพจเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง

ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยล่าสุด เมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 มีบริษัทที่จดทะเบียนและลงทุนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง ทั้งสิ้น 39 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากจีน วงเงินลงทุนรวม 2,000 ล้านดอลลาร์ ในนี้เป็นทุนจดทะเบียน 503 ล้านดอลลาร์…

วันที่ 10 มกราคม 2567 พลจัตวา สีพอนไซ คำทองเหวิน หัวหน้ากรมเศรษฐกิจ กระทรวงป้องกันประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสารประเทศลาว ว่า โครงการลาดซะวงพลาซ่าจะทดลองเปิดให้บริการในวันที่ 26 มกราคม 2567 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสถาปนากองทัพประชาชนลาว ครบรอบ 75 ปี และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มีนาคม 2567 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 69 ปี ของการก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิวัติลาว รวมถึงต้อนรับการเป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ปีนี้ลาวเป็นเจ้าภาพ

โครงการลาดซะวงพลาซา เป็นการสร้างอาคารสูง 33 ชั้น ซึ่งจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดของนครหลวงเวียงจันทน์ในขณะนี้ ตั้งอยู่ริมถนนไกสอน พมวิหาน (ถนนสาย 13) บริเวณหลัก 5 ซึ่งเป็นทำเลที่มีความโดดเด่นมากทางเศรษฐกิจของนครหลวงเวียงจันทน์ อยู่ห่างจากเขตตัวเมืองเก่าที่แออัด แต่ไม่ไกลจากอาคารรัฐสภา และอยู่ห่างจากหอประชุมแห่งชาติลาวเพียง 200 เมตร นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และสี่แยกดงโดก ซึ่งเป็นจุดตัดของถนนวงแหวนที่เชื่อมระหว่างถนนสาย 13 ใต้และ 13 เหนือ โดยไม่ต้องวิ่งผ่านตัวเมืองเวียงจันทน์

โครงการลาดซะวงพลาซ่า อาคารสูงที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

เดิมโครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างกรมเศรษฐกิจ กระทรวงป้องกันประเทศ กับบริษัทฉงชิ่ง ฟางเต๋อ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในสัดส่วน 25 : 75 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2556 โดยบริษัทฉงชิ่ง ฟางเต๋อได้รื้อโรงแรมลาดซะวงเดิมและเรือนพักค่ายป่าแปกทิ้งทั้งหมด เพื่อสร้างอาคารใหม่สูง 33 ชั้น เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว มีพื้นที่ใช้สอย 150,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านล่างจะสร้างเป็นศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ ศูนย์อาหาร แหล่งบันเทิง ศูนย์กีฬา และศูนย์สุขภาพ

วันที่ 29 กันยายน 2557 บริษัทฉงชิ่ง ฟางเต๋อ จัดพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นการก่อสร้าง ตามแผนเดิมหลังวางศิลาฤกษ์แล้วจะใช้เวลาก่อสร้าง 20 เดือน เพื่อให้เสร็จทันรองรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 28-29 ในเดือนกันยายน 2559 ที่ลาวเป็นเจ้าภาพ

อย่างไรก็ตาม หลังเริ่มโครงการไปแล้ว 3 ปี โครงสร้างหลักของตัวอาคารสร้างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการตกแต่งภายนอก บริษัทฉงชิ่ง ฟางเต๋อ เกิดประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ขาดสภาพคล่อง การก่อสร้างทุกอย่างจึงหยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2559

กระทรวงป้องกันประเทศได้ตั้งคณะเฉพาะกิจแก้ไขและผลักดันโครงการลาดซะวงพลาซาขึ้น เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ลงทุน จากการหารือร่วมกันระหว่างคณะเฉพาะกิจกับฟานเยี่ยน ประธานบริษัทฉงชิ่ง ฟางเต๋อ ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องว่าให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานเดิมที่เคยเซ็นไว้ และเปลี่ยนรูปแบบจากการร่วมทุนเป็นให้บริษัทฉงชิ่ง ฟางเต๋อ เช่าที่ดินจากกระทรวงป้องกันประเทศ และเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารโครงการนี้แต่เพียงผู้เดียว โดยมีอายุความร่วมมือ 99 ปี

วันที่ 23 ธันวาคม 2564 กระทรวงป้องกันประเทศได้เซ็นบทบันทึกกับบริษัทฉงชิ่ง ฟางเต๋อ เพื่อเดินหน้าโครงการลาดซะวงพลาซาต่อให้เสร็จสมบูรณ์ หลังหยุดชะงักมานาน 5 ปี โดยบริษัทฉงชิ่ง ฟางเต๋อ ได้ตั้งบริษัทลาดซะวงพัฒนา ขึ้นเป็นผู้ดำเนินการ

พลจัตวา สีพอนไซ คำทองเหวิน หัวหน้ากรมเศรษฐกิจ กระทรวงป้องกันประเทศ ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 พลจัตวา สีพอนไซ คำทองเหวิน บอกว่า การก่อสร้างโครงการลาดซะวงพลาซ่าคืบหน้าไปแล้ว 89% รัฐบาลโดยกระทรวงป้องกันประเทศ และบริษัทที่มีส่วนร่วมกับการก่อสร้าง ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำจากจีน 21 แห่ง มีเจ้าหน้าที่และแรงงานรวม 1,500 คน แบ่งเป็นคนจีนและคนลาวอย่างละครึ่ง กำลังเร่งทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เสร็จทันตามกำหนดการ

อาคารลาดซะวงพลาซ่า เป็นที่ตั้งของโรงแรมว่านต๋า วิสตา (Wanda Vista) จากจีน และตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ โรงแรมว่านต๋า วิสตา ได้ประกาศรับสมัครพนักงานจำนวนมาก หลากหลายตำแหน่งงาน เพื่อเตรียมเปิดให้บริการในวันที่ 26 มกราคม 2567…

วันที่ 13 มกราคม 2567 สำนักข่าวสารประเทศลาว รายงานว่า คำพัน พมมะทัด ประธานองค์การตรวจตราแห่งรัฐ และหัวหน้าองค์การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขั้นศูนย์กลาง พร้อมด้วยวิไลวง บุดดาคำ เจ้าแขวงจำปาสัก ได้นำคณะไปเยี่ยมชมการก่อสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ที่บ้านท่าค้อ เมืองโขง แขวงจำปาสัก

จางสี รองประธานบริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน ซึ่งเป็นผู้ให้การต้อนรับ ได้กล่าวรายงานว่า การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1 คือ การก่อสร้างตึกเอนกประสงค์รูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียว 2 ตึก สูงตึกละ 60.9 เมตร แบ่งเป็น 13 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 67,132.2 ตารางเมตร แต่ละตึกยังมีชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 17,067.05 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตึกกระติ๊บข้าวเหนียวทั้ง 2 ตึก เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมแคนคู่ ที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน เริ่มสร้างเมื่อต้นปี 2566 คาดว่าโครงสร้างอาคารจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2567 จากนั้นเป็นขั้นตอนการตกแต่งภายใน โดยมีกำหนดการเปิดใช้อาคารอย่างเป็นทางการปลายปี 2568

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี ลาว ได้มาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นการก่อสร้างโรงแรมแคนคู่ ซึ่งนอกจากตึกเอนกประสงค์รูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียวที่เป็นภาชนะจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนลาวมาแต่โบราณ 2 ตึกดังกล่าวแล้ว ยังมีตึกแฝดรูปทรงแคน เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของลาว วางตำแหน่งคล้ายตึกแฝดปิโตรนาส ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อสร้างเสร็จ ตึกแฝดรูปแคนคู่นี้จะเป็นอาคารที่สูงที่สุดของลาว โดยแต่ละตึกมี 63 ชั้น สูงตึกละ 238.98 เมตร มูลค่าการก่อสร้าง 800 ล้านดอลลาร์

จุดเด่นของตึกแฝดแคนคู่ คือจุดชมวิวที่อยู่ชั้นบนสุดของอาคาร สามารถมองเห็นสถานที่สำคัญต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ทั้งวิวแม่น้ำโขงและน้ำตกคอนพะเพ็ง ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร รวมถึงบริเวณเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างลาวกับกัมพูชา ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร

เขตพัฒนาเศรษกิจใหม่สีทันดอน เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัทกวางตุ้งแม่น้ำเหลืองอุตสาหกรรม จากมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในนามบริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เป็นการสร้างเมืองใหม่ขึ้นบนพื้นที่ 9,846 เฮคตา หรือ 61,537.5 ไร่ วงลงทุนรวม 9,000 ล้านดอลลาร์ อายุสัมปทาน 50 ปี ภายในแบ่งเป็น 11 โซน และ 6 ระยะการพัฒนา

ตึกแคนคู่และอาคารอเนกประสงค์รูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียว แลนด์มาร์กสำคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ที่มาภาพ : เพจ Four Thousand Islands

วันที่ 30 มิถุนายน 2560 รัฐบาลลาวได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้กลุ่มบริษัทกวางตุ้งแม่น้ำเหลืองอุตสาหกรรม สำรวจความเป็นไปได้ในพื้นที่ ก่อนเซ็นสัญญาให้สัมปทานพัฒนาโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2561

วันที่ 6 ตุลาคม 2561 มีพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มการสร้างถนนคอนกรีตรอบเกาะดอนโขง ระยะทาง 43.5 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 12 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นเดินหน้าโครงการอย่างเต็มตัว ถนนสายนี้ใช้เวลาสร้าง 2 ปี 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดใช้ถนนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

กลางปี 2565 บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอนและหน่วยงานของรัฐบาลลาว เข้ามาสำรวจทางธรณีวิทยาและบินสำรวจทางอากาศ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างตึกแคนคู่ จากนั้นจึงได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

……

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นของโครงการทั้งสาม ด้านหนึ่งอาจถูกมองเป็นเพียงความคืบหน้าของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

แต่มองในอีกด้าน สำหรับ สปป.ลาว ประเทศเล็กๆ บนภาคพื้นทวีปของอาเซียนที่มีเนื้อที่รวม 236,800 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเพียง 7 ล้านคน ข่าวความคืบหน้าของ 3 โครงการ ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อทางการของรัฐบาลลาวติดต่อกันในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์เศษ และขนาดของแต่ละโครงการ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรลาว

จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ หากมีหลายคนที่ตั้งข้อสงสัยถึง “ตลาด” ของอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ว่าเป็นคนกลุ่มใด และใครกันแน่ที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในลาว…

  • “เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน” เดิมพันของนายกรัฐมนตรี “สายใต้” สอนไซ สีพันดอน
  • “เมืองโขง” เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน อีก 1 ดินแดน “จีน” ตรงข้าม “กัมพูชา”