ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ไซยะบูลี”…แขวงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย – อีกก้าวของลาว “การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น”

“ไซยะบูลี”…แขวงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย – อีกก้าวของลาว “การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น”

30 พฤษภาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พิธีเซ็นบันทึกมอบ-รับภารกิจควบคุมดูแล 13 กิจการในแขวงไซยะบูลี จากกระทรวงการเงินให้แผนกการเงิน แขวงไซยะบูลี เป็นผู้ดูแลโดยตรง ที่มาภาพ : กระทรวงการเงิน

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานแผนกการเงิน แขวงหลวงน้ำทา ได้มีพิธีเซ็นบันทึกการมอบ-รับ ภารกิจควบคุม ดูแล กิจการ-โครงการลงทุนขนาดใหญ่ 4 แห่ง จากเดิมที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลกลาง คือกระทรวงการเงิน ให้มาอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น คือแผนกการเงิน แขวงหลวงน้ำทาโดยตรง ตัวแทนผู้ลงนามในบันทึก ได้แก่ สมบูน อินทะปัดถา หัวหน้าสำนักงาน กระทรวงการเงิน และ คำเพ็ด จันทะวง หัวหน้าสำนักงาน แขวงหลวงน้ำทา โดยมี สันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน อ่อนจัน คำพาวง รองเจ้าแขวงด้านเศรษฐกิจ แขวงหลวงน้ำทา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการเงินและแขวงหลวงน้ำทา ร่วมเป็นสักขีพยานกิจการขนาดใหญ่ 4 แห่ง ที่ถูกส่งมอบการควบคุมดูแลจากกระทรวงการเงิน ให้มาขึ้นกับแขวงหลวงน้ำทาโดยตรง ได้แก่

    1.บริษัทส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า ลาว-จีน จำกัด
    2.บริษัทหงดา การค้า จำกัด
    3.บริษัทจีงยุ่น บริการธุรกิจ จำกัด
    4.บริษัทน้ำลอง พาวเวอร์ จำกัด

บันทึกมอบ-รับ ที่ได้เซ็นกันครั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงของกระทรวงการเงิน ฉบับที่ 0698/กง. ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 ว่าด้วย “การทดลองมอบวิสาหกิจให้ 9 แขวงเป็นผู้ควบคุม” เนื้อหาในข้อตกลงกำหนดว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป พันธะภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ภาษีรายได้ ภาษีกำไร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าทรัพยากร ค่าเช่าที่ดิน ค่าภาคหลวง ค่าสัมปทานฯลฯ ที่บริษัททั้ง 4 แห่ง
เคยต้องจ่ายให้กับกระทรวงการเงิน จะเปลี่ยนมาจ่ายโดยตรงให้แก่แผนกการเงิน แขวงหลวงน้ำทา

ถัดจากนั้นหนึ่งวัน ในวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ห้องว่าการแขวงไซยะบูลี ได้มี พิธีเซ็นบันทึกมอบ-รับลักษณะเดียวกัน โดยโอนบทบาทการควบคุม ดูแลกิจการขนาดใหญ่ 13 แห่ง จากที่เคยอยู่กับกระทรวงการเงินมาเป็นของแขวงไซยะบูลี โดยตรง ประกอบด้วย

    1.บริษัทผลิตไฟฟ้าหงสา จำกัด
    2.บริษัทอิตาเลียนไทย หงสา จำกัด
    3.บริษัทภูไฟมายนิ่ง จำกัด
    4.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนงานที่รับผิดชอบงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา โรงไฟฟ้าหงสา
    5.บริษัทสหกลอิควิปเมนท์ จำกัด(มหาชน)
    6.บริษัทเมืองเงิน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
    7.บริษัทไซยะบูลี พาวเวอร์ จำกัด
    8.บริษัทเอ็มพีจี มายนิ่ง จำกัด
    9.บริษัทซีเน็ก(ลาว) จำกัด
    10.บริษัทน้ำพูน พาวเวอร์ จำกัด
    11.บริษัทมอละกด เยนเซียน บ่อแร่ จำกัด
    12.บริษัททีที พาวเวอร์ โตโท่ จำกัดผู้เดียว
    13.บริษัททีที พาวเวอร์ 45 จำกัดผู้เดียว
เขื่อนไซยะบูลี ที่มาภาพ : เว็บไซต์ CK Power
……

ข้อตกลงฉบับที่ 0698/กง. เป็นยุทธศาสตร์สำคัญด้านการเงินการคลังของรัฐบาล สปป.ลาว ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งทางด้านงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น เพื่อให้งบประมาณของแต่ละแขวงอยู่ในสถานะเกินดุล แต่ละแขวงสามารถนำรายได้ที่เกิดจากการลงทุนของธุรกิจต่างๆในพื้นที่ของตนมาบริหารจัดการได้เองโดยตรง ไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง

ข้อตกลงดังกล่าว สอดคล้องกับมติที่ประชุมสภาแห่งชาติ ฉบับที่ 63/สพซ. ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ที่กำหนดให้แต่ละแขวงสร้างความเข้มแข็งด้วยตนเองทีละก้าว ให้เป็นแขวงที่มีงบประมาณเกินดุลรายรับสูงกว่ารายจ่าย จากนั้น ค่อยส่งต่อรายรับส่วนเกินที่เหลือ เข้าไปยังส่วนกลาง

9 แขวงนำร่อง ที่จะเริ่มทดลองรับมอบภารกิจควบคุมดูแล กิจการ โครงการลงทุนขนาดใหญ่จากกระทรวงการเงิน มาบริหารจัดการเอง นอกจากแขวงหลวงน้ำทา และแขวงไซยะบูลี ที่ได้เซ็นบันทึกการมอบ-รับกันไปแล้ว อีก 7 แขวงที่เหลือ ได้แก่ แขวงหลวงพระบาง แขวงบ่ลิคำไซ แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต แขวงอัตตะปือ แขวงเซกอง และแขวงจำปาสัก ทั้ง 9 แขวง ล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวโดยเฉพาะภายใต้ 2 ยุทธศาสตร์หลัก

ยุทธศาสตร์แรก คือการปรับตำแหน่งประเทศจาก Land Lock เป็น Land Link ที่ต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็น Laos Logistics Link(LLL) เพื่อให้ลาวเป็นประเทศศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่งเป็นจุดเชื่อมต่อของประเทศอื่นๆในภูมิภาคอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ คือการทำให้ลาวเป็น “แบตเตอรี่ของอาเซียน” หรือศูนย์กลางการผลิตพลังงานไฟฟ้าส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

ในภาคเหนือ แขวงหลวงน้ำทาเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างลาวและจีน เป็นทั้งประตูการค้า การคมนาคม- ขนส่ง เป็นต้นทางของถนนสาย R3a เส้นทางเชื่อมต่อ 3 ประเทศ จีน-ลาว-ไทย เป็นต้นทางของทางรถไฟลาว-จีน และเป็นต้นทางของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว 3 ใน 4 กิจการที่แขวงหลวงน้ำทาเพิ่งเซ็นบันทึกรับมอบภารกิจควบคุมดูแลมาจากกระทรวงการเงิน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจที่เกี่ยวพันกับการค้า การส่งออก-นำเข้า ระหว่างลาวและจีน รวมถึงการส่งออก-นำเข้าของจีน ที่ใช้ลาวเป็นทางผ่าน ภายในแขวงหลวงน้ำทาเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟในเส้นทางรถไฟลาว-จีนถึง 2 แห่ง คือ สถานีบ่อเต็น และสถานีนาเตย ที่เหลืออีก 1 กิจการ ทำธุรกิจพลังงานแขวงหลวงพระบาง อีกหนึ่งแขวงในภาคเหนือ เป็นเมืองมรดกโลก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างรู้จักและต้องการไปเยือน

ในภาคกลาง แขวงบ่ลิคำไซ คำมวน และสะหวันนะเขต เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่งสินค้า จุดเชื่อมต่อ 3 ประเทศ ไทย-ลาว-เวียดนาม ผ่านถนนหมายเลข 9 ที่มีท่าเรือดานัง ภาคกลางของเวียดนาม เป็นปลายทางและถนนหมายเลข 12 ซึ่งมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ชายทะเลของจังหวัดอาติงห์ ในภาคกลางค่อนไปทางเหนือของเวียดนาม และเป็นท่าเรือที่ถูกกำหนดให้เป็นทางออกสู่ทะเลของลาวไปแล้ว

ในภาคใต้ แขวงอัตตะปื เซกอง และจำปาสัก เป็น 3 แขวงที่อยู่ในกรอบความร่วมมือ “สามเหลี่ยมพัฒนา” กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม หรือ CLV DTA : Cambodia- Laos-Vietnam Development Triangle Area ซึ่งทั้ง 3 ประเทศมีหลายโครงการที่กำลังทำร่วมกันอยู่ภายใต้กรอบนี้

อย่างไรก็ตาม…จากยุทธศาสตร์ตามข้อตกลงเลขที่ 0698/กง. ฉบับนี้ แขวงไซยะบูลี เป็นแขวงที่มีบทบาทสำคัญและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศไทยโดยตรงมากที่สุด

เพราะนอกจากไซยะบูลีเป็นแขวงที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยยาวที่สุดแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ส่งขายเข้ามาในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุด และที่สำคัญเป็นแหล่งที่สร้างรายได้มากที่สุดเข้าสู่ระบบงบประมาณของประเทศลาวอีกด้วย

……

ภาพมุมสูง หอหลักเมืองไซยะบูลี ที่มาภาพ : เพจไซยะบูลี วันนี้

พรมแดนลาว-ไทย ของแขวงไซยะบูลียาวถึง 647 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เหนือสุดที่ชายแดนอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ผ่านลงมายังชายแดนอำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา, อำเภอสองแคว อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน, อำเภอบ้านโคก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์, อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอนาแห้ว, อำเภอด่านซ้าย, อำเภอภูเรือ, อำเภอท่าลี่, อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตลอดพรมแดนลาว-ไทย ด้านแขวงไซยะบูลี เป็นที่ตั้งของด่านสากลหรือจุดผ่านแดนถาวร ถึง 4 แห่ง ได้แก่

  • จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านปางมอน เมืองคอบ
  • จุดผ่านแดนถาวรห้วยโก๋น ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านน้ำเงิน เมืองเงิน
  • จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านผาแก้ว เมืองปากลาย
  • จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านคอนผึ้ง เมืองแก่นท้าว
  • การมีด่านสากลอยู่มากถึง 4 แห่ง ทำให้แขวงไซยะบูลี เป็นเหมือนพื้นที่เชื่อมต่อทางบก(Land Link) จากหลายจุดในประเทศไทยเพื่อไปยังเมืองต่าง ๆ ของลาวได้โดยที่ไม่ต้องผ่านนครหลวงเวียงจันทน์และภาคอิสานของไทย

    ที่ตั้งแขวงไซยะบูลี พื้นที่เชื่อมต่อหลายจังหวัดของไทยกับลาว โดยไม่ต้องผ่านภาคอิสานหรือนครหลวงเวียงจันทน์

    จากพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย เมื่อเข้าลาวทางด่านสากลบ้านฮวก สู่เมืองคอบและเมืองเงิน สามารถเดินทางโดยรถยนต์ต่อไปถึงชายแดนลาว-เวียดนาม ฝั่งตรงข้ามเมืองเดียนเบียนฟูได้ โดยใช้ถนนหมายเลข 2W และ 2E ผ่านเมืองปากแบ่ง เมืองไซ แขวงอุดมไซ
    ด่านสากลบ้านฮวก และด่านสากลห้วยโก๋น เป็นช่องทางที่สามารถขับรถยนต์เข้าไปเที่ยวหลวงพระบางได้โดยใช้ถนนสาย 4B ผ่านเมืองเงิน เมืองหงสา เมืองจอมเพ็ด เมืองเชียงแมน จากบ้านนาปุ่ง เมืองหงสา หากไม่ไปทางหลวงพระบาง แต่ใช้ถนนหมายเลข 4A ลงไปยังเมืองไซยะบูลี ยังสามารถเดินทางต่อลงไปถึงนครหลวงเวียงจันทน์ได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางของไทย สามารถขับรถยนต์เข้าไปยังหลวงพระบางและนครหลวงเวียงจันทน์ได้ ทางด่านสากลภูดู่ เพื่อไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 ที่เมืองปากลาย

    ขัวแตะหรือสะพานไม้แห่งนี้ ถูกเรียกเป็น ‘ขัวแตะมิตรภาพลาว-ไทย’ แห่งที่ 1 สร้างข้ามลำน้ำเหืองให้คนจากบ้านนาข่า เมืองบ่อแตน แขวงไซยะบูลี กับคนจากบ้านนาข่า ตำบลปากหมัน อำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย สามารถเดินทางไปมาหากันได้ เพราะบ้านนาข่าทั้ง 2 ฝั่ง เคยเป็นบ้านเดียวกัน แต่มาถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศภายหลัง อีกชุมชนหนึ่งที่มีลักษณะเดียวกัน คือ บ้านเหมืองแพร่ เมืองบ่อแตน กับบ้านเหมืองแพร่ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ที่มาภาพ : เพจ Saona Studio

    พื้นที่ภาคกลางและภาคอื่นๆของไทย เมื่อเข้าสู่ดินแดนลาวทางด่านสากลสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง สามารถขับรถขึ้นไปยังหลวงพระบางได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 และขับรถเลาะเลียบแม่น้ำโขงไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยใช้ถนนหมายเลข 11 โดยที่ไม่ต้องขับรถผ่านเข้าไปในภาคอิสาน

    ……

    โรงไฟฟ้าหงสา ที่มาภาพ : เว็บไซต์ Hongsa Power

    แขวงไซยะบูลี ยังเป็นที่ตั้งของโครงการผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของลาว 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าหงสาและเขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบูลี ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนี้ ส่งเข้ามาขายในประเทศไทยเป็นหลักใน 13 กิจการที่แขวงไซยะบูลี ได้เซ็นบันทึกรับมอบภารกิจควบคุมดูแลมาจากกระทรวงการเงิน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม บริษัทที่อยู่ในรายชื่อลำดับที่ 1-7 หรือมากกว่าครึ่ง เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการผลิตไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง โรงไฟฟ้าหงสา ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน มีกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ มีผู้ถือหุ้น 3 ราย ได้แก่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้น 40% บริษัทบ้านปู พาวเวอร์ ถือหุ้น 40% และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ซึ่งเป็น Holding Company ของรัฐบาลลาว ถือหุ้น 20% เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2558

    โรงไฟฟ้าหงสาได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณ จากสันติพาบ พมวิหาน(ที่ 2 จากขวา)รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ในฐานะที่เป็นวิสาหกิจที่ปฏิบัติพันธะอากรดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ของลาว ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่

    โรงไฟฟ้าหงสาสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่รัฐบาลลาว โดยเฉพาะกระทรวงการเงินเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทผลิตไฟฟ้าหงสา เพิ่งได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณ จากสันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ในฐานะที่เป็นวิสาหกิจที่ปฏิบัติพันธะอากรดีเด่น ระดับประเทศของลาว ประจำปี 2565

    หลังจากได้โอนการควบคุมดูแลจากกระทรวงการเงินไปสู่แขวงไซยะบูลีแล้ว รัฐบาลกลางยังคงมีรายได้จากโรงไฟฟ้าหงสาผ่านทางเงินปันผลจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่จ่ายให้กับรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาวได้สรุปผลงานประจำปี 2565 มีรายได้รวม 48.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 17.10% ทั้งหมดเป็นรายได้จากโรงไฟฟ้า 4 แห่ง ที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาวถือหุ้นอยู่ ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 19,427 กิกกะวัตต์/ชั่วโมง(GWh) ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าหงสา มีกำลังการผลิต 12,180 GWh, โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 กำลังการผลิต 4,426 GWh โรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังการผลิต 1,896 GWh และโรงไฟฟ้าน้ำเงียบ 1 กำลังการผลิต 925 GWh โรงไฟฟ้าไซยะบูลี พาวเวอร์ เป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขง ในเมืองไซยะบูลีมีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัทซีเค พาวเวอร์ ในเครือ ช.การช่าง ถือหุ้น 42.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี 25% บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน 20% และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) 12.5% เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562

    หลังจากได้โอนการควบคุมดูแลจากกระทรวงการเงินไปสู่แขวงไซยะบูลีแล้ว รัฐบาลกลางของลาวจะมีรายได้ทางอ้อมจากโรงไฟฟ้าไซยะบูลี ผ่านทางเงินปันผลที่โรงไฟฟ้าที่จ่ายให้กับบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(EDL) ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ลาว

    ……

    การรับมอบภารกิจควบคุม ดูแลกิจการทั้ง 13 แห่ง มาเป็นของแขวงไซยะบูลีโดยตรง ทำให้นับจากนี้แขวงไซยะบูลี จะได้รับงบประมาณจำนวนมหาศาล สำหรับนำมาใช้ปรับปรุง พัฒนา ด้านต่างๆภายในแขวงและสามารถดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆได้อย่างคล่องตัวด้วยความที่เป็นแขวงซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศไทยโดยตรงมากที่สุดพัฒนาการที่กำลังจะเกิดขึ้นในแขวงไซยะบูลีนับแต่นี้ไป จะยิ่งส่งเสริมบทบาทของแขวงแห่งนี้ให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น…