ThaiPublica > คอลัมน์ > เหตุใดจึงต้องเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

เหตุใดจึงต้องเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

13 ธันวาคม 2023


ที่มาของการอ้างสิทธิ์เหนือไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาเกิดจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ฉบับคือ อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ได้บัญญัติเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีป โดยกำหนดให้รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติบนและใต้ไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม สิทธิเช่นว่านั้นรัฐชายฝั่งจะใช้เองหรือให้สัมปทานแก่บุคคลใดเข้าไปสำรวจหรือแสวงหาประโยชน์ได้

กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปของตนเอง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1970 (พ.ศ. 2513) และอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1972 โดยอาศัยหลักเขตแดนทางบกหลักที่ 73 เป็นจุดตั้งต้นจากนั้นลากเส้นตรงไปทางตะวันตกค่อนลงไปทางใต้เล็กน้อยผ่านเกาะกูดถึงประมาณกลางอ่าวไทยแล้วหักลงใต้เกือบสุดอ่าวไทยแล้วหักขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือโอบล้อมเกาะภูกว๊อกแล้วไปบรรจบเส้นเขตแดนกัมพูชา-เวียดนาม

ประเด็นเรื่องเกาะกูดยังมีความคลุมเครืออยู่ ในเอกสารการประกาศไหล่ทวีปปรากฏว่า มีการลากเส้นผ่านกลางเกาะกูด เป็นการแสดงเจตนาอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือบางส่วนของเกาะกูด เจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชาเคยอ้างระหว่างการเจรจากับฝ่ายไทยเนืองๆ ว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชาครึ่งหนึ่ง แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดตามแผนที่แนบท้ายแล้วจะพบว่า เส้นที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตไหล่ทวีปนั้นได้เว้นเกาะกูดเอาไว้ และในแผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจปี 2544 ได้มีการเว้นเส้นที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตแดนทางทะเลในลักษณะที่เป็นตัว U เว้าอ้อมเกาะกูด ทำให้ฝ่ายไทยตีความว่า กัมพูชาไม่ได้อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด

ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งของฝ่ายไทยคือ เกาะกูดนี้ถูกระบุเอาไว้สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1907 ชัดเจนแล้วว่าอยู่ในเขตไทย เนื่องจากถ้อยคำในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งฝ่ายกัมพูชาใช้อ้างอิงในการกำหนดเขตทางทะเลระบุว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลที่ตรงข้ามยอดเขาที่สูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานแล”

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 นั้นให้ใช้เกาะกูดเป็นจุดเล็งเพื่อกำหนดเส้นเขตแดนทางบก ไม่ใช่สนธิสัญญาที่กำหนดเขตแดนทางทะเลแต่อย่างใด ฝ่ายไทยใช้ประโยชน์จากข้อความนี้เพื่ออ้างอิงอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด ไม่ใช่การกำหนดเขตไหล่ทวีป

ประเทศไทยประกาศเขตไหล่ทวีปของตัวเองหลังกัมพูชาเกือบ 1 ปี คือประกาศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1973 โดยอาศัยหลักเขตทางบกหลักที่ 73 เป็นจุดตั้งต้นเช่นกัน โดยลากเส้นจากจุดที่ 1 ที่ละติจูด 11 องศา 39 ลิปดา เหนือและลองติจูดที่ 102 องศา 55 ลิปดาตะวันออก ไปยังจุดที่สองละติจูด 9 องศา 48.5 ลิปดา เหนือ และลองติจูดที่ 101 องศา 46.5 ลิปดาตะวันออก ถ้าพิจารณาตามภูมิประเทศแล้วจะพบว่า เส้นของไทยเริ่มจากบริเวณระหว่างเกาะกูดและเกาะกงลากเป็นเส้นตรงไปทางตะวันตกเฉียงใต้แล้วหักลงใต้ค่อนไปทางตะวันออกเล็กน้อยตามแนวเส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับเวียดนามแล้วเฉียงใต้ไปบรรจบเส้นเขตแดนไทย-มาเลเซีย

นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่มักอ้างว่าฝ่ายกัมพูชากำหนดเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวโดยไม่ได้อ้างอิงหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดๆเลย ในขณะที่ไทยอ้างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ซึ่งแม้ว่าจะสร้างขึ้นภายหลังจากการประกาศเขตไหล่ทวีปของทั้งสองประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็อาศัยพื้นฐานของอนุสัญญาเจนีวาปี ค.ศ. 1958 (ซึ่งไทยเป็นภาคีอยู่ก่อนและยังคงมีผลบังคับใช้อยู่)

แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์นั้นอ่าวไทยมีความกว้างมากที่สุดเพียง 206 ไมล์ทะเล อนุสัญญาสหประชาชาติอนุญาตให้ประเทศชายฝั่งอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปไปได้ถึง 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ดังนั้นไม่ว่าประเทศชายฝั่งอ่าวไทยทั้งหลายจะประกาศตามหลักการใดหรือไม่มีหลักการใดเลยก็จะเกิดพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่นั่นเอง ป่วยการที่จะมานั่งเถียงกันว่า เส้นของฝ่ายไหนถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่ากัน เพราะอย่างไรเสียอีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับการกำหนดของอีกฝ่ายอยู่แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดเป็นพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกันในอ่าวไทยคิดเป็นพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าใต้พื้นพิภพใต้บาดาลนั้นจะมีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณ 11 ล้านล้านคิวบิกฟุตหรือคิดเป็นมูลค่าในราคาปัจจุบัน 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันอีก 500 ล้านบาเรล คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท รอคอยให้ขุดขึ้นมาใช้กันอยู่ ถ้ามัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งโต้แย้งสิทธิกันไปมาอยู่อย่างนั้น คงไม่มีโอกาสจะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรล้ำค่า

อาศัยตามภูมิปัญญาของมนุษยชาติในยุคปัจจุบันแล้ว ประเทศชายฝั่งที่พิพาทกันในเรื่องเขตแดนทางทะเลหรือไหล่ทวีป สามารถเลือกวิถีทางที่ระงับข้อพิพาทได้ 2 ทางใหญ่ ๆ คือ

ทางแรก ใช้กลไกตามกฎหมายและระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลอนุญาโตตุลาการ ตามภาคผนวกที่ 7 ของอนุสัญญาสหประชาชาติปี 1982 และ อนุญาโตตุลาการพิเศษตามภาคผนวก 8 ของอนุสัญญาสหประชาชาติฉบับเดียวกัน วิธีการนี้เลือกใช้กันหลายประเทศเช่นกัน แต่อุทาหรณ์และประสบการณ์จากคดีปราสาทพระวิหารนั้นบอกให้รู้ว่า ต่อให้มั่นใจในพยานหลักฐานและหลักกฎหมายเพียงใด ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นฝ่ายชนะคดี และฝ่ายที่แพ้คดีมักจะไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ เกิดการตีความคำพิพากษานั้น และขัดแย้งกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการพื้นที่พิพาทในบริเวณปราสาทเขาพระวิหารนั้นได้เลย

ทางที่สอง ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาเลือกใช้อยู่ในปัจจุบันคือ เจรจากันจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่สามารถยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย แนวทางนี้อาจจะใช้เวลานานชั่วลูกชั่วหลาน ระหว่างนั้นอาจจะมีข้อขัดแย้งกันไม่น้อย แต่ถ้าสามารถบรรลุข้อสรุปที่พอใจกันทุกฝ่ายแล้ว จะทำให้มีโอกาสยุติปัญหาข้อพิพาทได้โดยสันติ อีกทั้งมิตรภาพและความรอมชอมอันนั้นนั่นเอง ที่จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่าย เช่น กรณีไทยและมาเลเซีย สามารถขุดค้นทรัพยากรในพื้นที่พิพาทขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ก่อนทันกับความต้องการ

แต่ถ้ายืนยันหรือตะแบงว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกต้องชอบธรรมอยู่คนเดียว หรือใช้กำลังทางทหารเข้าห้ำหั่นกัน รับประกันได้ว่า เกิดหายนะทุกฝ่าย โดยไม่มีใครได้ประโยชน์จากความขัดแย้งหรือสงครามนั้นเลยแม้แต่น้อย