ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊(14) ..โอ่งอ่างกระถางต้นไม้

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊(14) ..โอ่งอ่างกระถางต้นไม้

23 สิงหาคม 2023


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

ในเรื่องเล่าครั้งที่แล้ว ลุงหมีเสนอรูปสวนหย่อมที่บ้านให้ดูหลายจุด แฟนคลับช่างสังเกตบางคนแจ้งมาว่าเห็นรูปโอ่งในสวนหลายใบเลย ลุงหมีจึงขอเล่าขยายความว่าได้ใ่ช้โอ่งอ่างชนิดต่างๆมาเป็นเครื่องประดับสวนอย่างไร

  • เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (13) … สวนหย่อมในบ้าน
  • ขอเริ่มจากโอ่งมังกรก่อน โอ่งชนิดนี้ทำเป็นหลักที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากดินเหนียวที่ราชบุรีมีสีแดงเหมาะกับการปั้นโอ่ง จากนั้นเพิ่มลวดลายโดยทาสีหรือปั้นนูน ลายนิยมคือลายมังกรเพราะถือเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อของคนจีน ทำให้จังหวัดราชบุรีได้รับฉายาว่าเป็นเมืองโอ่งมังกร ในคำขวัญของจังหวัดราชบุรีก็มีคำยกย่องนี้ไว้ด้วย

    แม่บ้านสถาปนิกของลุงหมีนำโอ่งมาใช้เป็นที่ตั้งของกระถางต้นไม้เพื่อยกระดับต้นไม้ให้สูงขึ้นจากพื้นดิน วิธีจัดก็คือใช้แผ่นกระเบื้องมาวางปิดฝาโอ่ง จากนั้นจึงตั้งกระถางต้นไม้ลงบนแผ่นกระเบื้องอีกทีหนึ่ง

    ในรูปแรกจะเห็นกลุ่มโอ่งมังกรใช้วางกระถางต้นไม้นานาชนิด รูปที่สองเป็นรูปเดี่ยวของโอ่งที่เห็นลายมังกรชัดเจนใช้วางกระถางต้นเฟิร์นซึ่งมีใบดกห้อยลงมาอย่างสวยงาม

    โอ่งชนิดต่อมาเป็นโอ่งดินเผาเคลือบโบราณ ส่วนใหญ่เป็นโอ่งเลี่ยนคือไม่มีลวดลาย โดยมักจะเรียกชื่อตามสีของโอ่ง เช่น โอ่งเขียวโบราณ

    ที่บ้านลุงหมีมีโอ่งสีนี้ดูเด่นใบหนึ่ง เพื่อสะท้อนความเป็นโอ่งเก็บน้ำฝน จึงหาซื้อฝาสังกะสีมาปิดโอ่งไว้ให้เหมือนกับที่ใช้กันในต่างจังหวัด จากนั้นจึงค่อยวางกระถางต้นไม้ซึ่งดูเก่าแก่ลงบนโอ่งใบนี้

    โอ่งอีกใบหนึ่งที่ลุงหมีชอบเป็นโอ่งเคลือบสีฟ้าคราม รูปทรงอ้วนป้อม ปากโอ่งเป็นขนาดเล็กแบบไห

    โอ่งใบต่อมามีรูปทรงแปลก คือ เป็นโอ่งแปดเหลี่ยม มีลวดลายเป็นสีเขียวตัดกับสีน้ำเงินดูสวยงาม ใช้วางกระถางปลูกใบหางจรเข้แซมด้วยต้นกระถินบอนไซ และบริเวณใกล้กันมีโอ่งเคลือบสีน้ำเงินนอีกใบหนึ่ง

    ขอปิดท้ายด้วยรูปโอ่งไหกระถางหลายขนาดหลายรูปทรงซึ่งจัดวางไว้ตรงลานทางเข้าตัวบ้าน

    กระถางต้นไม้ที่สวนของบ้านนอกจากกระถางดินเผาและกระถางพลาสติกแล้ว ยังมีกระถางทำจากท่อนไม้ด้วย

    ลักษณะกระถางคือเป็นท่อนไม้ตัดขวางจากลำต้นและมีช่องว่างตรงกลางให้ใส่ดินปลูกต้นไม้ แม่บ้านสถาปนิกจะกรุด้านล่างของท่อนไม้ด้วยตาข่ายพลาสติกเพื่อเป็นช่องทางระบายน้ำจากกระถาง และเพื่อไม่เสี่ยงกับการที่ดินจะหล่นออกมาจากกระถาง จึงใช้กาบมะพร้าวเป็นตัวซับความชุ่มชื้นของนำ้ไว้หล่อเลี้ยงรากต้นไม้

    ลุงหมีเห็นกระถางไม้นี้เป็นครั้งแรกเมื่อแม่บ้านนำจัดวางไว้ในบริเวณสวนหย่อมติดกับตัวบ้าน ความรู้สึกตอนที่มองเห็นคือ ดูคล้ายกับเขียงไม้ จากจุดนั้นไม่นาน ต่อมากระถางไม้เหล่านี้ก็ทะยอยย้ายออกไปสู่จุดสวนหย่อมอื่น ลุงหมีจึงตั้งชื่อเล่นให้กระถางไม้เหล่านี้ว่าเขียงบินมหาภัย

    รูปตัวอย่างของเขียงบินสองชนิด รูปแรก เป็นกระถางรุ่นเก่า ( ดูจากสีของท่อนไม้ได้)

    เมื่อกระถางไม้รุ่นเก่าเริ่มชำรุด ก็จะมีกระถางไม้รุ่นใหม่มาตั้งทดแทนดังในรูปที่สอง

    ขอฉายภาพการเตรียมกระถางไม้รุ่นใหม่ ต้องเริ่มจากนำท่อนไม้ไปแช่น้ำยาฆ่าปลวกเสียก่อน เนื่องจากท่อนไม้ที่กลวงตรงกลาง คือ ท่อนไม้จากต้นแก่ที่โดนปลวกเข้าทำรังข้างในและกัดกินไส้ไม้จนกลวง ต้นไม้ลักษณะนี้จะถูกตัดทิ้งก่อนหักล้มลงมาเสียก่อน จากนั่นจะถูกเลื่อยตัดขวางออกมาให้ใช้ทำกระถางได้

    กระถางไม้เก่าที่เริ่มผุพังจะไม่ถูกโยนทิ้งทันที แต่แม่บ้านนำมา recycle โดยวางกระถางไม้ลงในกระถางพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นจึงตั้งวางบนโอ่งปากกว้างขนาดเล็ก ก็จะได้กระถางต้นไม้ที่น่าสนใจอันใหม่