ThaiPublica > คอลัมน์ > Moving โศกนาฎกรรมก่อนปีโอลิมปิกที่เกาหลี

Moving โศกนาฎกรรมก่อนปีโอลิมปิกที่เกาหลี

20 สิงหาคม 2023


1721955

มาถึงเกือบจะครึ่งทางแล้วสำหรับซีรีส์แนวซูเปอร์ฮีโรเกาหลี Moving (2023) ที่จากช่วง 7 ตอนแรกมุ่งประเด็นไปยังกลุ่มรุ่นลูก ก่อนที่จะย้อนไปเล่าอดีตอย่างจริงจังในช่วงรุ่นพ่อรุ่นแม่ตั้งแต่ตอนที่ 8 เป็นต้นมา Moving เป็นซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากมันฮวา(เว็บตูน) ชื่อเดียวกันที่มียอดผู้อ่านสูงถึง 200 ล้านวิว โดยเจ้าของนามปากกา Kang Full หรือ Kang Pool (ชื่อจริง คัง โด-ย็อง)

Moving เป็นเจ้าของสถิติซีรีส์ลงทุนสูงสุดในเวลานี้ที่ดิสนีย์ยอมจ่ายให้กับจำนวน 20 อีพีสูงถึงราว 48.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (แต่เจ้าของสถิติสูงสุดฝั่งเอเชียในปีหน้าคือ Squid Game 2 ที่คาดว่าจะมี 9 อีพี เน็ตฟลิกซ์ทุ่มทุนสูงถึงราว 74.6 ล้านเหรียญ ซึ่งหากเทียบกับซีรีส์ดังฝั่งอเมริกาอย่าง Game of Thrones ซีซั่นสุดท้ายที่มีแค่ 6 ตอน คราวนั้นเอชบีโอยอมทุ่มทุนสูงถึง 90 ล้านเหรียญ หรือเฉลี่ยตกอีพีละ 15 ล้านเหรียญเลยทีเดียว)

โดยแต่เดิมซีรีส์ Moving ดิสนีย์จะร่วมทุนสร้างกับช่อง JTBC และจะได้ โม วอน-อิล ผู้กำกับซีรีส์เรตติ้งสูงสุดตลอดกาลแห่ง The World of the Married (2020) มากำกับ แต่สุดท้าย JTBC ถอนตัวเนื่องจาก Alienoid (2022) หนังไซ-ไฟย้อนยุคจอมยุทธผสมซูเปอร์ฮีโร่แนวเดียวกันเกิดเจ๊งยับ ทาง JTBC จึงขาดความมั่นใจที่จะร่วมทุนด้วย สุดท้าย Moving ได้ พัค อิน-เจ ผู้กำกับร่วมจากซีรีส์ซอมบี้ย้อนยุคสุดฮิต Kingdom 2 (2020) มารับหน้าที่กำกับทั้งหมดโดยได้ คัง โด-ย็อง เจ้าของเว็บตูนเรื่องนี้มาเขียนบทเองทุกอีพีด้วย

(จากซ้าย) โปสเตอร์หนัง Timing ฉบับแอนิเมชั่น
ปกมันฮวา Timing, Moving, Bridge และ Hidden

แต่ Moving ไม่ใช่แนวดราม่าซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกในจักรวาลของ คัง โด-ย็อง จริง ๆ แล้วเรื่องราวในจักรวาลเดียวกันนี้เคยถูกทำเป็นหนังแอนิเมชั่นมาก่อนแล้วใน Timing (2014) ที่ดัดแปลงจากมันฮวาของ คัง ในปี 2005 อันเปิดฉากด้วยการฆ่าตัวตายของเด็กมัธยมคนหนึ่ง ทำให้ผู้มีพลังวิเศษ 4 คน มารวมตัวกัน ได้แก่นักเรียนที่สามารถหยุดเวลาได้ พนักงานกินเงินเดือนที่สามารถย้อนเวลาได้ 10 วินาที พนักงานฟาสต์ฟูดที่สำมารถทำนายเหตุการณ์ 10 นาทีล่วงหน้าได้ และครูผู้มีลางสังหรณ์แม่นยำ

ส่วน Moving จริง ๆ แล้วเป็นมันฮวาที่ คัง ออนไลน์ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งล่าสุดทางดิสนีย์บอกเป็นนัยว่าถ้าซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะสร้างออกมาทั้งหมด 5 ซีซั่นด้วยกัน รวมถึงอาจมีภาคแยกในจักรวาลเดียวกันตามมาด้วย นั่นก็คือ Bridge (มันฮวาปี 2017 ที่เป็นทั้งภาคต่อของ Moving และภาคเชื่อมต่อข้ามจักรวาลกับเหตุการณ์ใน Timing) และ Hidden ภาคต่ออย่างเป็นทางการของ Moving ที่ฉบับมันฮวายังคงเลื่อนการออนไลน์ออกไปเนื่องจากผู้เขียนต้องทุ่มเวลาให้กับการเขียนบทซีรีส์ Moving

หากจะเล่าให้เห็นภาพชัด ๆ Moving มีส่วนผสมของ X-Men กับซีรีส์ดังอย่าง Heroes คือมีประเด็นหลักที่กลุ่มผู้มีพลังวิเศษที่มีความสามารถแตกต่างกันไปและค่อนข้างจะมีส่วนผสมของความเป็นดราม่ามากกว่าจะเป็นแค่แนวบู๊สู้ผู้ร้ายลูกเดียว โดยครึ่งทางแรกจะเล่าถึง บงซก (อี จ็อง-ฮา) เด็กหนุ่มที่อาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพัง และเขามีความลับที่ต้องปิดบังไม่ให้ใครรู้ จนเมื่อเขามาพบกับ ฮีซู (โค ยุน-จุง) เด็กสาวอีกคนที่อาศัยอยู่ลำพังกับพ่อและมีความลับคล้าย ๆ กัน พร้อม ๆ กับการปรากฎตัวของ แฟรงก์ (รยู ซึง-บอม) ตัวละครปริศนาที่โผล่มาตามไล่ล่าบรรดาครอบครัวของพวกมีพลังพิเศษที่ในเรื่องจะเรียกพวกนี้ว่า “แบล็ค” ก่อนที่ครึ่งหลังจะไปเล่าเหตุการณ์ของพวกแบล็ครุ่นพ่อ ๆ แม่ ๆ ทั้งหลาย ขณะที่ตัวร้าย แฟรงก์ ตามอักษรตัว F อันหมายถึงลำดับที่ 6 นั้น จริง ๆ แล้วพวกมันมีกัน 7 คน แปลว่าแต่ละคนจะค่อย ๆ เผยตัวตนออกมา ก่อนจะไปเจอด่านสุดท้ายหรือผู้ที่ชักใยเบื้องหลังทั้งหมด

แต่สิ่งที่เป็นประเด็นให้เราอยากเขียนบทความนี้ คือเหตุการณ์ในฉากเปิดของอีพี 8 อันเป็นอีพีเปิดตัว คิม ดู-ซิก (โจ อิน-ซัง) ในบทของแบล็คที่มีความสามารถในการเหาะเหินเดินอากาศ และกำลังจะเข้าไปช่วยเครื่องบินลำหนึ่งที่ถูกวางระเบิดในปี 1987 ที่เราอยากจะบอกว่าแม้ในโลกแห่งความเป็นจริงจะไม่มีซูเปอร์ฮีโร่อย่างดูซิกไปคอยเตือนคนขับให้นำเครื่องบินลง แต่จริง ๆ แล้วเหตุการณ์วางระเบิดเครื่องบินในปีก่อนปีโอลิมปิกที่เกาหลีใต้นั้น…เป็นเรื่องจริง!

ย้อนรอยคดีวางระเบิดกลางเวหา

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1987 หนึ่งปีก่อน โอลิมปิก1988 ที่เกาหลีใต้ เกิดเหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ เมื่อสายการบินโคเรียนแอร์ เที่ยวบินที่ 858 เดินทางจากสนามบินซัดดัม(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสนามบินแบกแดด)ประเทศอิรัก แวะพักที่จุดพักที่ 1 ณ สนามบินอาบูดาบี สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ และพักจุดที่ 2 ณ สนามบินดอนเมือง ประเทศไทย โดยมีปลายทางคือสนามบินกิมโป (สนามบินนี้ถูกปลดระวางในปี 2001 ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยสนามบินอินชอนในปัจจุบัน) แต่ขณะที่เครื่องบินกำลังอยู่เหนือทะเลอันดามันเพื่อไปยังจุดแวะพักที่กรุงเทพนั้นเอง เที่ยวบินที่ 858 ก็ระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ทุกคนบนเครื่องทั้งผู้โดยสาร 104 คน และลูกเรืออีก 11 คน (เกือบทั้งหมดเป็นชาวเกาหลีใต้)เสียชีวิตทั้งหมด นับเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้น 34 ปีหลังจากข้อตกลงสงบศึกในสงครามเกาหลีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 1953

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 1987 สายลับเกาหลีเหนือ 2 คนคือนายคิม ซัง-อิล (ใช้พาสปอร์ตปลอมเป็นชาวญี่ปุ่นในชื่อ ฮาจิยะ ชินอิจิ) และนางสาวคิม ฮยุน-ฮี (ใช้พาสปอร์ตปลอมในชื่อ ฮาจิยะ มายูมิ) ทั้งสองเดิทางจากกรุงเปียยาง เกาหลีเหนือด้วยเครื่องบินไปยังกรุงมอสโก เมืองหลวงของสหภาพโซเวียต ก่อนจะเดินทางไปบูดาเปส ประเทศฮังการีในเช้าวันต่อมา แล้วพักอยู่ที่นั่น 6 วันภายในบ้านของเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือรายหนึ่ง จนวันที่ 18 ทั้งคู่ก็เดินทางไปยังกรุงเวียนนา ออสเตรียด้วยรถยนต์ ก่อนที่ทั้งสองจะปลอมเป็นนักท่องเที่ยวพ่่อกับลูกสาวชาวญี่ปุ่น เพื่อบินไปยังเมืองเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย(ปัจจุบันคือเซอร์เบีย) จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังกรุงแบกแดด อาบูดาบี และสุดท้ายไปโผล่ที่บาห์เรน นอกจากนั้นพวกเขายังซื้อตั๋วจากอาบูดาบีไปยังโรม อิตาลีด้วย คาดว่าเพื่อกบดานหลังจากวางระเบิดเรียบร้อยแล้ว

จนกระทั่งวันที่ 27 สองวันก่อนเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือสองคนเดินทางมาถึงยูโกสลาเวียโดยรถไฟจากเวียนนา แล้วมอบระเบิดเวลาแบบทรานซิสเตอร์ พานาโซนิค ผลิตในญี่ปุ่น ใช้เป็นตัวจุดระเบิด กับระเบิดในรูปของเหลว โดยทำให้มันเป็นเหมือนขวดเหล้า (จากกรณีที่ของเหลวสามารถระเบิดได้นี้เอง ภายหลังจึงมีข้อกำหนดทางการบินห้ามนำของเหลวทุกชนิดขึ้นเครื่องบิน) วันรุ่งขึ้นสายลับทั้งคู่เดินทางจากเบลเกรดไปยังสนามบินที่อิรัก ก่อนจะแฝงตัวไปขึ้นโดยสารไปบนไฟล์ท 858 แล้วลอบติดตั้งระเบิดไว้ที่นั่ง 7B กับ 7C ก่อนจะลงจากเครื่องที่อาบูดาบีในจุดแวะพักแรก

คิม ฮยุน-ฮี ขณะถูกจับกุม

หลังจากเครื่องบินระเบิด สายลับทั้งคู่พยายามหาทางบินจากอาบูดาบีไปยังอัมมาน ประเทศจอร์แดน แต่มีปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางไปบาห์เรนอันเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่จับได้ว่าพวกเขาใช้พาสปอร์ตปลอม จนเมื่อพวกเขาเริ่มรู้ตัวว่ากำลังจะถูกจับได้ ทั้งสองพยายามจะฆ่าตัวตายด้วยการกินไซยาไนต์ที่ซ่อนมาในรูปบุหรี่ ฝ่ายชายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีแต่ยื้อชีวิตไว้ไม่ทัน ส่วนฝ่ายหญิงมีอายุ 25 ปี คือนางสาว คิม ฮยุน-ฮี รอดชีวิตมาได้ ต่อมาเธอสารภาพตามที่กล่าวมาทั้งหมด ก่อนจะถูกตัดสินประหารชีวิต

แต่ภายหลังได้รับการอภัยโทษในสมัยประธานาธิบดี โร แต-วู ด้วยถือว่าพฤติกรรมของเธอมีสาเหตุจากการล้างสมองในฝั่งเหนือ อีกทั้งคำให้การของเธอยังกล่าวโทษต่อประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ คิม จอง-อิล ว่าเป็นผู้บงการทั้งหมด ส่งผลให้สหรัฐเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันประณามเกาหลีเหนือและคิม จอง-อิล ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสังหารหมู่ ขณะที่ฝ่ายเกาหลีเหนือปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับคดีนี้ พร้อมกับอ้างว่าฝ่ายใต้ประดิษฐ์เหตุการณ์นี้ขึ้นมาเพื่อให้ชาวโลกรุมสาปฝ่ายเหนือ

โดยคำตัดสินระบุว่า “บุคคลที่ควรถูกพิพากษาในคดีนี้คือผู้นำเกาหลีเหนือ คิม ฮยุน-ฮี เป็นเพียงหนึ่งในเหยื่อของระบอบการปกครองที่ชั่วร้าย เธอเป็นเหยือเช่นเดียวกันกับผู้โดยสารบนเที่ยวบินที่ 858”

6 ปีต่อมาในปี 1993 คิม ฮยุน-ฮี ตีพิมพ์หนังสือ The Tears of My Soul เปิดเผยโดยละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้รวมถึงการที่เธอถูกฝึกฝนอย่างหนักเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเป็นสายลับสองหน้า และวิธีวางระเบิดอย่างเชี่ยวชาญ และเพื่อเป็นการสำนึกผิดต่ออาชญากรรมที่เธอก่อ เธอได้บริจาครายได้ทั้งหมดให้แก่ครอบครัวของเหยื่อเที่ยวบินที่ 858 นอกจากนี้ยังแฉด้วยว่าเหตุระเบิดในกรุงย่างกุ้งเมื่อปี 1983 ที่พยายามจะลอบสังหารผู้นำฝ่ายใต้ ชุน ดู-ฮวาน นั้นแท้จริงก็เป็นฝีมือของคิม จอง-อิล เช่นกัน

ภาพปัจจุบันของนางคิม ฮยุน-ฮี

อาจมีการบิดเบือนคดี

อย่างไรก็ตามในทางการเมืองในฝั่งเกาหลีใต้ ในปี 2007 สมาคมครอบครัวของเหยื่อได้คลายความสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากคณะกรรมการความจริงและการประนีประนอม สอบสวนเรื่องนี้แล้วพบว่าการทิ้งระเบิดนั้น “ไม่ใช่การบิดเบือน” โดย หน่วยข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้ (NIS)

อย่างไรก็ตามหลังจากมีดราม่ากรณี NIS เองก็เคยบิดเบือนคดี และอยู่เบื้องหลังชักใยอยู่หลายเหตุการณ์ (ดังที่เราเคยเล่าไปแล้วในบทความ ด้านมืดหน่วยสืบราชการลับเกาหลีใต้) ทำให้ในปี 2016 สมาชิกสมัชชาแห่งชาติตั้งข้อสงสัยว่าลอบวางระเบิดเที่ยวบิน 858 นี้ อาจทำโดยฝ่าย NIS เอง เนื่องจากเวลานั้นฝ่ายค้านไม่ประสบความสำเร็จในร่างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย

คิม แต่งงานแล้วในปี 1997 กับอดีตเจ้าหน้าที่ NIS ชาวเกาหลีใต้ที่ดูแลคดีของเธอนั้นเอง และมีลูกด้วยกันสองคน พวกเขาอาศัยอยู่ในเซฟเฮาส์ในเกาหลีใต้ ส่วนครอบครัวของเธอในเกาหลีเหนือถูกทางการจับส่งไปค่ายแรงงานโดยไม่รู้ชะตากรรม

ในการแถลงข่าวหลังจากได้รับการอภัยโทษเธอกล่าวว่า “ในฐานะผู้กระทำความผิด ฉันรู้สึกผิดและเจ็บปวดต่อเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อทุกราย แม้จะได้รับการอภัยโทษแต่ฉันยังคงเป็นนักโทษ เป็นเชลยต่อความรู้สึกผิดในจิตใจของฉันเอง”