ThaiPublica > คอลัมน์ > The Haunting of Bly Manor นิยายร้อยปีก่อนที่ถูกดัดแปลงบ่อยที่สุด

The Haunting of Bly Manor นิยายร้อยปีก่อนที่ถูกดัดแปลงบ่อยที่สุด

29 พฤศจิกายน 2020


1721955

ภายหลังความสำเร็จอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ เดอะ เทเลกราฟ ให้ 5 ดาวเต็มไม่มีหัก, นิตยสารฟอร์บส ยกย่องว่า “น่าจะเป็นซีรีส์ดีที่สุดที่เน็ตฟลิกซ์เคยผลิตมา” ขนาดเควนติน ทารันติโน ผู้กำกับหนังอินดี้มือรางวัล ยังให้สัมภาษณ์เดอะเยรูซาเล็มโพสต์ ว่า “นี่คือซีรีส์เน็ตฟลิกซ์เรื่องโปรดสุดของผมปีนี้” จนถึงขั้นตัวพ่อนิยายสยองอย่างสตีเฟน คิง ยังต้องทวีตชมว่า “ปกติผมไม่สนใจแนวประเภทตีความใหม่ แต่เรื่องนี้เยี่ยมยอดมาก เป็นผลงานใกล้ระดับอัจฉริยะอย่างแท้จริง ผมว่า เชอร์ลีย์ แจ็กสัน (เจ้าของบทประพันธ์ดั้งเดิมผู้ล่วงลับ) จะต้องเห็นด้วยกับผม” ทำให้ผู้สร้าง The Haunting of the Hill House (2018) ที่เคยยืนยันกับสื่อว่า “จะไม่มีซีซันสองอีกแล้ว เพราะเรื่องมันจบไปแล้ว” กลับพลิกลิ้นประกาศสร้างภาคต่อทันที และย้ำว่ายังคงจะใช้นักแสดงบางคนจากภาคแรกด้วย

ซึ่งภาคต่อเรื่องที่ว่าก็คือ The Haunting of Bly Manor (ตุลาคม 2020)ที่ดัดแปลงจาก The Turn of the Screw บทประพันธ์ขึ้นหิ้งของนักเขียนชาวอเมริกัน-อังกฤษ เฮนรี เจมส์ ทีนี้เลยกลายเป็นว่าซีรีส์ The Haunting ชุดนี้ จะไม่เล่าเรื่องต่อเนื่องจากภาคแรก แต่เปลี่ยนไปเล่าเส้นเรื่องใหม่ทั้งหมด

FYI ซีรีส์ภาคต่อแต่เส้นเรื่องใหม่

American Horror Story (9 ซีซัน 2011-ปัจจุบัน)

ตัวชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่ซีรีส์นี้ทั้งหมดจะเกี่ยวกับเรื่องผี คดีหลอน สยองขวัญ อิงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในอเมริกา แยบยลคมคายด้วยการเสียดสีประเด็นสังคมต่างๆ ในแต่ละไทม์ไลน์ ไม่ว่าจะศาสนา เชื้อชาติ ความเชื่อ เพศ ลัทธิ การเมือง รสนิยม แถมยังมีภาคสปิน-ออฟ อีก 2 ชุด คือ American Crime Story ที่หันไปเน้นคดีฆาตกรรม ออกมาแล้ว 2 ซีซัน กับ American Horror Stories ที่เพิ่งประกาศเมื่อสิงหาปีนี้ว่า ซาราห์ พอลสัน นักแสดงขาประจำซีรีส์นี้ จะนั่งแท่นกำกับเอง โดยความต่างของชุดนี้คือ แทนที่เรื่องหนึ่งจะเป็นตอนยาวหลายอีพีจบ คราวนี้มันจะเป็นเรื่องสั้นๆ จบในแต่ละอีพีไปเลย

Channel Zero (4 ซีซัน 2016-2018)

จุดร่วมกันของซีรีส์ชุดนี้คือ แต่ละซีซันจะหยิบมาจากเรื่องสยองในเว็บ creepypasta (เป็นสแลงที่หยิบมาจากเสียงพ้องของคำว่า copied and pasted หรือเรื่องสยองที่ถูกเล่าซ้ำกันจนปรุทางเน็ต) ความท้าทายของซีรีส์นี้จึงอยู่ที่วิธีการดัดแปลง เรื่องที่ผู้ชมส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้ว ให้ยังคงความน่าสะพรึงชวนติดตาม แถมตัวต้นฉบับส่วนใหญ่ก็ยังสั้นแค่ไม่กี่บรรทัด แต่ต้องมาขยายเป็นซีรีส์ยาว 6 ตอนจบ


Slasher (3 ซีซัน 2016-ปัจจุบัน) https://youtu.be/5oEyZz4mfcA

ซีรีส์แคนนาดา ที่หยิบพลอตซ้ำๆ แสนคลิเช่จากหนังเลือดสาด ฆาตกรรมทั้งหลายแหล่ มายำใหม่แต่เติมความโหดชนิดที่ไม่เคยปรากฎบนจอทีวีมาก่อน ผสมพลอตหักมุมที่คนดูจะคาดเดาไม่ได้เลย ล่าสุดเน็ตฟลิกซ์ประกาศว่าซีซัน 4 จะตามมาแน่นอนในปี 2021 โดยได้ เคที แมคกราท (Jurassic World) จากซีซันแรกมาแสดงนำ

นิยายร้อยปีก่อนที่ถูกดัดแปลงบ่อยที่สุด

สิ่งที่ The Haunting ภาคสองยังคงยึดโยงเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ใช่แค่ตรงมันยังเป็นแนวสยองขวัญในคฤหาสน์หลังโตเหมือนกับภาคแรกเท่านั้น แต่คือการหยิบบทประพันธ์คลาสสิกขึ้นมาตีความใหม่ และความยิ่งใหญ่อันแสนท้าทายของบทประพันธ์ชิ้นนี้ The Turn of the Screw ที่เคยถูกแปลเป็นภาษาไทยมาแล้ว 2 เวอร์ชัน คือ ‘ขวัญหาย’ แปลโดย รัชญา เรืองศรี กับ ‘เธอยังอยู่เหย้า เขายังเฝ้าเรือน’ แปลโดย ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี นั้นมาจากต้นฉบับนิยายอังกฤษ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1898 หรือเมื่อ 122 ปีก่อน แถมยังเคยถูกดัดแปลงเป็นหนังเป็นซีรีส์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 34 เวอร์ชัน!

FVI หนังและซีรีส์ที่ดัดแปลงจาก The Turn of the Screw

The Nightcomers (1972)

หนังเล่าเหตุการณ์หนึ่งปีก่อนจะเกิดเรื่องในฉบับนิยาย เมื่อเศรษฐีเมืองหลวงทิ้ง ไมล์ส กับฟลอรา หลานชายหญิงกำพร้า ไว้ในคฤหาสน์อันห่างไกล ให้อยู่ภายใต้การดูแลของ เจสเซล พี่เลี้ยงเด็ก, ควินต์ คนสวน และโกรส แม่บ้าน เด็กชายซึบซับความรุนแรงจากคนสวนจอมกักขฬะ (แสดงโดยดาราสุดเก๋า มาร์ลอน แบรนโด) ที่ลักลอบเล่นรักกับเจสเซลในแบบซาดิสต์อยู่บ่อยๆ สุดท้ายสองพี่น้องก็ร่วมมือกันฆ่าควินท์กับเจสเซล ก่อนจะปิดฉากจบเมื่อมีพี่เลี้ยงคนใหม่เดินทางมาถึง อันเป็นฉากแรกในนิยาย

Star Trek: Voyager (1995-ตอน13 “Cathexis”, ตอน16 “Learning Curve” และตอน 24 “Persistence of Vision”)

ซีรีส์ไซไฟสุดฮิต Star Trek มีช่วงหนึ่งเกี่ยวกับอุปกรณ์สุดล้ำ โฮโลเด็ค ที่คล้ายเครื่องฉายหนัง แต่แทนที่จะฉายภาพบนจอ เจ้าเครื่องนี้สามารถเปลี่ยนทั้งห้องให้กลายเป็นฉากหนังสมจริงมาก ให้เราเข้าไปเดินเล่นเป็นตัวละครได้เลย และเรื่องที่พวกเขาเลือกเล่นมีชื่อว่า Janeway Lambda one อันพาให้ตัวละครบนยานโวยาจเจอร์สวมบทบาทเป็นผู้เล่นในนิยายย้อนยุค The Turn of the Screw

The Others (2001)

แม้จะไม่ดำเนินเรื่องตามฉบับนิยายโดยตรง แต่ตัวผู้กำกับก็ยอมรับว่าหยิบยืมไอเดียและบรรยากาศหลายอย่างจากในนิยายมาใช้ ย้อนไปในช่วยปลายสงครามโลก ภายในคฤหาสน์ทรงโกทิกในชนบทห่างไกล นิโคล คิดแมน ดาราออสการ์ แสดงเป็นคุณแม่ลูกสอง ผู้เฝ้ารอการกลับมาของสามีจากสงคราม เธอมีบ่าวไพร่อีก 3 คนคอยช่วยดูแลเรื่องต่างๆ ภายในบ้าน แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็พบว่ามีคนอื่นอีกที่อยู่ในคฤหาสน์นี้

The Turning (2020)

เวอร์ชันหนังล่าสุดที่เพิ่งฉายไปเมื่อต้นปีนี้เอง แถมยังเป็นหนังค่ายเดียวกับผู้สร้างซีรีส์ The Haunting ด้วย หนังโชคร้ายที่ดันมาฉายในปีโควิด ทำให้รายได้คว่ำไม่เป็นท่า แถมนักวิจารณ์ยังจวกด้วยว่า “ดูมีสไตล์แต่ค่อนข้างเละเทะ” หนังปรับให้ทันสมัยขึ้นด้วยการเดินเรื่องในปี 1994 ดีไซน์ฉากสวยด้วยการใส่เหตุผลว่าแม่ผู้ล่วงลับของเด็กๆ เป็นศิลปิน ภายในคฤหาสน์หรูจึงเต็มไปด้วยงานอาร์ตสะพรึงๆ และแม้จะฉากผีโผล่ที่ทำออกมาค่อนข้างดี แต่ไม่มีประเด็นอะไรใหม่เพิ่มเติมให้จดจำ

สิ่งที่มีในนิยาย

ดังนั้นไม่ว่าจะกี่เวอร์ชัน ทุกเวอร์ชันยังคงยึดโครงเรื่องตามในนิยาย เช่นเดียวกับเวอร์ชันล่าสุดนี้ สิ่งที่ The Haunting of Bly Manor ยังคงเดิมไว้ก็คือ แดเนียล หญิงสาวถูกว่าจ้างโดย เฮนรี เศรษฐีหนุ่มเมืองหลวง ให้ไปดูแลหลานกำพร้าชายหญิง 2 คน ไมล์สกับฟลอรา ทั้งคู่เป็นลูกพี่ชายของเฮนรีซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปพร้อมกับภรรยา โดยหลานทั้งสองถูกทิ้งไว้ให้อยู่กับกรอส แม่บ้าน ภายในคฤหาสน์หลังมหึมานามว่าบลาย ที่ตั้งอยู่ในชนบทอันแสนห่างไกล โดยสิ่งที่แดเนียลรับรู้ตั้งแต่ก่อนเดินทางมาถึงก็คือ หลานทั้งคู่แม้จะน่ารัก แต่มีพฤติกรรมร้ายกาจ ทำให้ต้องจ้างพี่เลี้ยงคอยประกบ แต่เจสเซล พี่เลี้ยงคนเก่า ดันมาตายไปเสียก่อน พร้อมกับควินท์ เลขาหนุ่มของเฮนรีก็มาหายตัวไปด้วย และสิ่งที่เฮนรีกำชับนักหนาก็คือ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้น ถ้าไม่สาหัสจริงๆ แดเนียลห้ามโทรติดต่อมาหาเขาเป็นอันขาด เธอต้องจัดการแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง

มาถึงบรรทัดนี้คุณผู้อ่านย่อมเอะใจแล้วว่า ต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลภายในคฤหาสน์บลายแห่งนี้เป็นแน่แท้ ถ้าเป็นเรา ย่อมเตือนตัวเองว่าอย่าหาทำเลยงานแบบนี้ แต่นี่คือเรื่องเขย่าขวัญ แดเนียลตกลงรับงานนี้โดยทันที แถมยังหวังด้วยว่าจะดูแลเด็กทั้งสองให้อยู่ในร่องในรอยเป็นอย่างดี

THE HAUNTING OF BLY MANOR (L to R) AMELIE BEA SMITH as FLORA , BENJAMIN EVAN AINSWORTH as MILES, and T’NIA MILLER as HANNAH in THE HAUNTING OF BLY MANOR. Cr. EIKE SCHROTER/NETFLIX ยฉ 2020

สิ่งที่ไม่มีในนิยาย

แต่สิ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ตีความไปไกลต่างจาก 34 เวอร์ชันที่ผ่านมา ทั้งที่ในต้นฉบับนิยายมีความหนาเพียงร้อยหน้าเศษ เล่าเหตุการณ์เมื่อศตวรรษที่แล้ว ขณะที่ซีรีส์ถูกวางเอาไว้ตอนละเกือบชั่วโมง และมีทั้งหมด 9 ตอน และการตีความใหม่ของซีรีส์นี้ โดยยังวางอยู่บนพล็อตหลักก็คือ

เพิ่มตัวละคร

ตัวละครหลักที่ไม่มีในนิยายคือ โอเวน พ่อครัว ที่แสดงโดยหนุ่มอังกฤษลูกครึ่งอินเดีย ราหุล โคห์ลี ที่เขาจะเป็นรักเดียวของแม่บ้านโกรส ที่เวอร์ชันนี้เป็นนักแสดงผิวสี รับบทโดย ทีเนีย มิลเลอร์

ส่วนอีกตัวละครที่ไม่มีในนิยาย คือ เจมี สาวคนสวนที่ตอนแรกบทนี้เดิมทีจะเป็นผู้ชาย โดยจะยกบทนี้ให้ โอลิเวอร์ แจ็กสัน-โคเฮน แต่ผู้กำกับเกิดเปลี่ยนใจด้วยเหตุผลว่า “ตัวละครนี้ตอนหลังจะมารักกับแดเนียล ที่แสดงโดยวิกตอเรีย เพเดรตติ ซึ่งมันจะดูประหลาดมาก เพราะในภาคแรกคู่นี้เคยแสดงเป็นฝาแฝดกันมาก่อน สุดท้ายผมเลยคิดว่าเปลี่ยนให้คนรักของแดเนียลเป็นผู้หญิงน่าจะท้าทายและทันสมัยกว่า เลยจับโอลิเวอร์ ไปรับบทควินท์ (เลขาเจ้าของคฤหาสน์) แทน ส่วนบทเจมีก็คัดนักแสดงหญิงมาแทน คือ เอมิเลีย อีฟ”

เปลี่ยนไทม์ไลน์

ซีรีส์นี้เปลี่ยนไปเล่าเรื่องในปี 1987 ในส่วนที่กล่าวมานี้ทั้งการเปลี่ยนไทม์ไลน์ การเพิ่มตัวละคร เปลี่ยนเพศ และเชื้อชาติ ไมก์ ฟลานาแกน ผู้สร้างซีรีส์เรื่องนี้เผยไอเดียให้ฟังว่า “ยุค 80s เป็นยุคแห่งความรักร่วมสมัย เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้คนเริ่มกล้าจะเปิดเผยตัวตน โดยเฉพาะการเป็นเกย์ (บทนางเอกแดเนียลมีใจให้เจมี หญิงคนสวน) รวมถึงความเป็นไปได้ในแง่ความรักระหว่างเชื้อชาติ (โอเวน พ่อครัวลูกครึ่งอินเดียรักกับแม่บ้านโกรส หญิงผิวสี) โดยไม่ต้องคำนึงถึงความตึงเครียด ความขัดแย้งทางอารมณ์ และศีลธรรม อย่างที่เคยเป็นข้อจำกัดและกดทับผู้คนในยุคศตวรรษที่ 19 ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มุ่งสำรวจว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังความตาย แต่ตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อเรารักใครสักคน และรักนักรักหนาจนไม่อาจตายพรากจากไป”

“สิ่งที่ซีรีส์นี้พร่ำบอกคือ ความตายไม่ได้หมายถึงการจากไป แต่หมายถึงจิตวิญญาณที่ยังคงยึดติดกับห้วงเวลา และสถานที่แห่งนั้น พวกเขาไม่อาจจากไปไหน เพราะพวกเขาไม่ยอมปล่อยผ่านความเจ็บปวดเคียดแค้นเหล่านั้น แต่กลับยังคงจมปลักและทุกข์ทรมานอย่างหนัก… กาลเวลาจึงเข้ามามีบทบาททำให้ความทรงจำยังคงวนเวียน หลอกหลอน และตอกย้ำให้พวกเขามีพฤติกรรมซ้ำเดิม… ไม่สิ้นสุด พวกเขายังคงยึดติดอยู่ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ไม่ไปไหน”

สร้างปูมหลัง

อีกสิ่งที่ไม่เคยปรากฏในเวอร์ชันใดมาก่อนเลย คือการสร้างปูมหลังให้แก่ตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะบทของแดเนียล ที่เปลี่ยนจากสาวอังกฤษมาเป็นสาวอเมริกันจากดินแดนอันห่างไกล ที่สร้างเหตุผลหนักแน่นว่าทำไมเธอตอบรับงานนี้โดยทันที ทั้งที่ดูเหมือนงานนี้จะไม่มีใครอยากทำ นั่นเพราะอดีตที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเกิด ที่เธอพยายามจะฝังกลบไปแต่ผีจากอดีตก็ยังคงตามติดมาหลอนเธอในต่างแดน

ไม่เพียงเท่านั้น ซีรีส์ยังคงใส่ปูมหลังให้กับเหตุการณ์และตัวละครต่างๆ โดยเฉพาะผีร้ายที่สิงอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้ ที่ปรากฏอยู่ในอีพีที่ 8 The Romance of Certain Old Clothes (1868) อันเป็นชื่อเรื่องสั้นของเฮนรี เจมส์ ซึ่ง ไมก์ ฟลานาแกน ใช้เรื่องราวของเรื่องสั้นนั้นนำมาเป็นดีเอ็นเอสำคัญของความหลังแห่งคฤหาสน์บลาย เขาให้ความเห็นว่า “ตัวเรื่องสั้นนี้เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่งอกกลายมาเป็นสิ่งต่างๆ แห่งความหลอกหลอนในไทม์ไลน์ปัจจุบันของซีรีส์ ยิ่งถ้าคุณได้อ่านเรื่องสั้นแสนคลาสสิกเล่มนี้ คุณจะบอกได้ทันทีเลยว่า มันคือแรงบันดาลใจสำคัญให้กับเรื่องผีหลอนในบ้านอื่นๆ อีกมากมายในยุคนี้ เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ความคลั่งแค้น และจินตนาการ สิ่งที่อธิบายในหนังสือเล่มนี้มันสวยงามมาก”

นอกจากนี้ ในแต่ละชื่อตอนของซีรีส์นี้ แท้จริงแล้วคือชื่อหนังสือของเฮนรี เจมส์ ซึ่งตัวซีรีส์หยิบองค์ประกอบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากหนังสือเหล่านั้นมาเป็นส่วนอธิบายเรื่องราวหรือผสมใส่เป็นปูมหลังของเรื่องราวต่างๆ อีกด้วย หนังสือเหล่านั้น คือ The Great Good Place (1900), The Pupil (1891), The Two Faces (1900), The Way It Came (1896), The Altar of the Dead (1895), The Jolly Corner (1908), The Beast in the Jungle (1903)

เฮนรี เจมส์

แท้จริงแล้ว เฮนรี เจมส์ เกิดในครอบครัวชนชั้นปัญญาชนผู้มั่งคั่งในนิวยอร์ก ก่อนที่บั้นปลายชีวิตของเขาจะย้ายไปอยู่ในลอนดอน พี่ชายของเขาคือ วิลเลียม เจมส์ (นักปรัชญาและนักจิตวิทยา ผู้คิดค้นหลักสูตรจิตวิทยาในสหรัฐฯ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาอเมริกัน) เฮนรี เจมส์ ได้ชื่อว่าเป็นนักประพันธ์นิยายภาษาอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีเนื้อหาคลุมเครือชวนให้ตีความ ผลงานของเขาเคยเข้ารอบชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถึง 3 ครั้ง คือในปี 1911, 1912 และ 1916 (อันเป็นปีที่เขาเสียชีวิต)

จริงๆ ความเปลี่ยนแปลงในซีรีส์ล่าสุดมีหลายสิ่งใกล้เคียงชีวิตจริงของผู้แต่งนิยาย โดยเฉพาะประเด็นรักเพศเดียวกันระหว่างนางเอกแดเนียล และเจมีสาวคนสวน เมื่อนักวิจารณ์วรรณกรรมในยุค 70s เฟรดเดริก วิลค็อกซ์ ดิวปี ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงที่เฮนรี เจมส์ ย้ายไปตั้งรกรากในลอนดอนนั้น เจมส์ประกาศตนว่าเป็นหนุ่มโสด ส่วนครอบครัวเคร่งศาสนาของเขาก็อ้างว่า เจมส์เคยรักกับ แมรี่ ลูกพี่ลูกน้องของเขาเอง แต่เพราะเขารู้สึกผิดต่อจารีตจึงไม่อาจลงเอยกันได้

ขณะที่ดิวปีขุดคุ้ยจดหมายและบันทึกบางส่วนของเจมส์ (มีอีกหลายชิ้นเก็บอยู่กับครอบครัวเจมส์ และไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่) โดยเฉพาะชิ้นที่ชื่อว่า A Small Boy and Others ก็พบว่าแท้จริงแล้วช่วงปลายชีวิตของเจมส์ เขาเขียนจดหมายไปมาหาสู่เด็กหนุ่มมากหน้าหลายตา จึงมีความเป็นไปได้ว่าเจมส์ไม่ได้มีอาการทางประสาทต่อการสำนึกผิดในเรื่องเพศอย่างที่ครอบครัวอ้าง แต่เจมส์แค่เป็นคนรักเพศเดียวกัน อันเป็นสิ่งที่ผู้คนสมัยนั้นไม่อาจยอมรับได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าผลงานของเฮนรี เจมส์ ส่วนใหญ่จะผูกพันกับผู้หญิง ชนชั้นทางสังคม และความรักที่แสนหม่นเศร้าเป็นหลัก

FYI หนังผู้หญิงจากนิยายของเฮนรี เจมส์

The Portrait of a Lady (1996)

ผลงานของผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์เจ้าของรางวัลปาล์มดอร์ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ (จาก The Piano) เจน แคมเปียน ดัดแปลงจากนิยายปี 1881 ตัวหนังสะท้อนภาพอันเลวร้ายชวนรันทดหดหู่ของการแต่งงานผิดพลาด ผ่านตัวละคร อิสซาเบล อาร์เชอร์ (นิโคล คิดแมน) หญิงสาวอเมริกันหัวก้าวหน้าที่หลังจากสูญเสียพ่อแม่ไป เธอก็เดินทางมาอาศัยอยู่กับลุงป้าในอังกฤษ เธอกลายเป็นที่ต้องตาต้องใจของบรรดาชายหนุ่มละแวกนั้น หนึ่งในนั้นคือ ลอร์ดวอร์เบอร์ตัน (ริชาร์ด อี แกรนต์) ขุนนางชั้นสูง ฐานะดี แต่อิสซาเบลกลับปฏิเสธคำขอแต่งงานจากเขาอย่างไม่ใยดี

The Wings of the Dove (1997)

ความรักของ เคท ครอย (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) หญิงสาวในสังคมชั้นสูงผู้สิ้นเนื้อประดาตัวหลังการเสียชีวิตของแม่ ป้าของเคทจึงเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการพยายามผลักดันให้เธอได้แต่งงานกับขุนนางผู้มั่งคั่ง เพื่อช่วยให้เคทมีชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่เคทกลับตกหลุมรักหนุ่มนักข่าวต๊อกต๋อย (ไลนัส โรซ) เธอจึงต้องเลือกระหว่างความปรารถนาในจิตใจ กับข้อผูกมัดทางสังคม ยอมทำทุกอย่างเพื่อความรักไปพร้อมกับการดิ้นรนเพื่อสถานะทางสังคม

Washington Square (1997)

หนังเล่าสังคมในยุค 1840 แคทเทอรีน (เจนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) บุตรสาวของนายแพทย์ผู้ร่ำรวยและมีหน้ามีตาทางสังคม ทำให้เธอกลายเป็นที่หมายปองของบรรดาหนุ่มๆ ผู้หวังจะตกถังข้าวสาร แม้ว่าเธอจะไม่มีคุณสมบัติใดน่าสนใจแบบที่ผู้หญิงพึงมีเลย ไม่ว่าจะในเรื่องหน้าตา ความคิด หรือพรสวรรค์

ก้าวต่อไปของไมก์ ฟลานาแกน

ซีรีส์ชุด The Haunting ไม่ใช่ผลงานแจ้งเกิดของ ไมก์ ฟลานาแกน ตัวเขาโดดเด่นมาตั้งแต่สมัยทำหนังสั้นตอนยังเป็นนักเรียนหนัง จนมาระดมทุนทางเน็ตเพื่อทำหนังยาวทุนต่ำเรื่องแรก Absentia (2011) ที่แม้ฝีมือยังไม่เข้าที่เข้าทาง แต่ก็กวาดรางวัลไปหลายเวที จนมาเป็นที่รู้จักจริงๆ จากเรื่อง Oculus (2013), Hush (2016) และ Before I wake (2016) ที่เน้นสำรวจ หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในแง่ปมทางจิตวิทยา และตอนจบเกินคาดเดา จากบรรดาพล็อตเดิมๆ ของหนังสยองตุ้งแช่ต่างๆ ไปสู่การตีความผลงานคลาสสิกของเจ้าพ่อสยองขวัญ สตีเฟน คิง ใน Doctor Sleep (2019) ตัวละครจิตวิปลาสจากนิยาย The Shining (1977) ที่กลายมาเป็นหนังในปี 1980 โดยฝีมือสุดยอดผู้กำกับผู้ล่วงลับอย่างสแตนลีย์ คุบริก นั่นหมายความว่าตั้งแต่ช่วงนั้น เขาก็มุ่งหันมาสำรวจงานคลาสสิกอเมริกันล้วนๆ

ขณะที่ซีรีส์ The Haunting คือการตีความวรรณกรรมคลาสสิกระดับชาติ จากตรงนี้แฟนเดนตายของเขาจึงเฝ้าจดจ่อว่าฟลานาแกนจะหยิบอะไรมาเล่าอีก ซึ่งก็ประกาศออกมาเป็นทางการแล้วว่า เขากำลังทำอยู่ 2 โปรเจกต์และเป็นซีรีส์ทั้งคู่ แถมชื่อยังคล้ายๆ กันอีก นั่นคือ The Midnight Club วรรณกรรมเยาวชนขายดีอันดับหนึ่งในปี 1994 แต่งโดยคริสโตเฟอร์ ไพก์ ที่จะเล่าเกี่ยวกับ วัยรุ่นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 5 คน มารวมตัวกันในช่วงนอนไม่หลับ เพื่อผลัดกันเล่าเรื่องสยองขวัญ และสัญญาว่าถ้าใครตายก่อน จะหาทางติดต่อกลับมาจากโลกอีกฝั่งหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องคือ Midnight Mass ที่จะเล่าเกี่ยวกับชุมชนบนเกาะทิ้งร่างแห่งหนึ่ง แต่แล้วผู้คนที่อยู่กันอย่างสงบสุขก็เปลี่ยนไป เมื่อมีบาทหลวงลึกลับหลงเข้ามา

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ใน The Haunting ซีซันแรกเสียงเอกฉันท์ไปทางสรรเสริญ ขณะที่ The Haunting of Bly Manor กลับเสียงแตก บ้างก็ชอบภาคแรก บ้างก็ชอบภาคนี้มากกว่า และสิ่งที่ต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ ซีซันนี้จงใจให้น้ำหนักเรื่อง ‘ความรัก’ มากกว่าซีซันแรก และหรี่ดีกรี ‘ความหลอน’ ลงจากเดิมเล็กน้อย ด้วยเหตุผลที่ฟลานาแกนว่า

“เรื่องรักทุกเรื่อง คือ เรื่องผี… เพราะเราไม่สามารถยึดเหนี่ยวความรักอยู่กับเราได้ตลอดกาล มันจึงถูกแทนที่ด้วยความทรงจำที่คอยหลอกหลอนเรา… มันทั้งสวยงามและน่าเศร้าในขณะเดียวกัน”