ThaiPublica > คอลัมน์ > You season4…7ชนชั้นผู้ดีอังกฤษกับวัฒนธรรมด้านมืด

You season4…7ชนชั้นผู้ดีอังกฤษกับวัฒนธรรมด้านมืด

11 กุมภาพันธ์ 2023


1721955

“ผมมาอยู่ลำพังในเมืองต่างถิ่น ตัวคนเดียวกับใจแตกสลาย” เป็นประโยคอธิบายได้ดีเกี่ยวกับฉากฆ่าครั้งใหม่ของโจคลั่งรัก (เพนน์ แบดจ์ลีย์) แห่งซีรีส์ YOU ณ กรุงลอนดอน กับการพลิกบทบาทใหม่ เมื่อฆาตกรต่อเนื่องผันตัวมาเป็นนักสืบยังกับในนิยายอะกาธ่า คริสตี้ไม่มีผิด บอกแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าความสนุกของซีซั่น 4 นี้จะลดน้อยลงเลย ส่วนตัวสำหรับเห็นว่าฉลาดมาก หลายคนอาจคิดว่าเพราะอะไรอันใดหนอกับอีแค่การเปลี่ยนพื้นที่จะทำให้ซีรีส์นี้เปลี่ยนแปลงอะไรไปหนักหนา สำหรับเรากลับพบว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และไม่ใช่แค่การแสดงให้เห็นพัฒนาการว่าตัวละครนี้เติบโตขึ้น แต่สิ่งที่แต่ละสังคมเป็น มันมีส่วนกระทบต่อ โจ ที่เข้าไปสู่สังคมนั้น(อย่างมาก)

“กัปตันอเมริกามาแหน่ะ ถ้าใครอยากได้ลายเซ็นเชิญตรงนี้เลยจ้า” “ถึงฉันจะชอบเล่นมุขจิกกัดหนุ่มอเมริกันจอมอวดดีตีหน้าสุภาพก็เหอะนะ แต่วันนี้คงไม่เหมาะ” “ขอให้บ่ายนี้โชคดี…รึไม่ดี..ดีนะ” ถ้าคุณสังเกตบทพูดอันแสนจะเล่นคำ กำกวม และผู้ดี๊ผู้ดีหน้าซื่อใจคดในซีซั่น 4 นี้ดีดี จะพบว่าบทสนทนาเต็มไปด้วยการตีความ เนื้อหาส่อเสียดเหยียดเชื้อชาติหรือชนชั้นของอีกฝ่ายหนึ่ง มุขตลกสไตล์ผู้ดีอังกฤษ สุภาพ ตีหน้าตายแต่ร้ายลึก อังกฤษผู้ภาคภูมิใจในชาติที่ตะวันไม่เคยตก เพราะมีอาณานิคมอยู่ทั่วทั้งโลก และภาษาอังกฤษคือภาษาสากลที่ทั้งโลกใช้สื่อสารกัน ความภาคภูมิใจ การเหยียดเชื้อชาติหรือชนชั้น คือภาพรวมของสังคมใน YOU ซีซั่นนี้ที่ต่างจากที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะเป็นซีซั่นแรกที่เล่าเรื่องในลอนดอน ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ยืนเหตุการณ์ทั้งหมดในสหรัฐ

ตั้งแต่ซีซั่นแรกความสนุกของ YOU คือ เราต้องคอยตามลุ้นว่าเมื่อไร โจ โกลเบิร์ก ฆาตกรต่อเนื่องจะถูกจับได้เสียที ไปพร้อม ๆ กับการเอาใจช่วยตัวละครนี้ให้รอดไปได้ตลอดรอดฝั่ง ปั่นประสาทคนดูอย่างยิ่งเพราะหลาย ๆ ครั้งการฆ่าของเขาทำไปเพราะความรักความห่วงใยต่อใครอีกคน แล้วคนที่ถูกฆ่ามันก็ช่างโฉดชั่วสมควรตายเสียจริง แต่การฆ่าก็คือการฆ่า การฆ่าคนด้วยกันเป็นโทษสูงสุดทั้งทางกฎหมายและทางศาสนา ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีศาสนาหรือเป็นคนเชื้อชาติใด แต่การฆ่าคนตายคือความโหดเหี้ยมที่สุดตามบรรทัดฐานทางสังคม

[อาจมียกเว้นบางสังคมที่มองว่าการฆ่าเป็นความดีงาม หากผู้ที่ถูกฆ่านั้นทำผิดแผกจากจารีต อย่างการแขวนคอประจานคนเสพกามระหว่างเพศเดียวกันในอิหร่าน หรือการรุมกระทืบ LGBTQ+ ในรัสเซียที่มีความเข้มแข็งในแบบออธอร์ด็อกซ์ ไปจนถึงความรักต่างชนเผ่าในบางกลุ่มของอินเดียก็อาจนำไปสู่ความตายได้โดยไม่ผิดต่อลัทธิความเชื่อ หรือกลุ่มไอซิสที่โยนชาวซีเรียที่เป็นเกย์ลงจากตึกจนถึงแก่ความตาย ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังกระทำต่อกันอยู่ หรือหากจะย้อนไปในความเชื่อโบราณ อย่างในจีนสมัยก่อนเมื่อฮ่องเต้เสียชีวิต พวกเขาต้องฝังทั้งเป็นบรรดานางบำเรอ ขันที เหล่าทหาร และคนรับใช้ลงหลุมไปพร้อมฮ่องเต้ในบางรัชสมัยก็มี—แล้วก็น่าแปลกมากทั้งคนยุคเก่าและเดี๋ยวนี้ ทั้งที่พวกเขาอ้างว่าเชื่อในความดี สวรรค์ พระเจ้า แต่กลับฆ่าคนด้วยกันอย่างง่ายดาย หน้าตาเฉย เพียงเพราะความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาในแต่ละสังคม

ไม่เว้นแม้แต่สังคมอุดมความดีเฉกเช่นชาติไทย ที่ปลูกฝังให้เราเป็นคนดี ทำความดี คิดดี แต่ตอนนี้เมื่อรัฐจำคุกและละเมิดสิทธิและชีวิตเยาวชน สังคมอันดีงามก็ต่างพร้อมเพรียงกันเพิกเฉย หุบปาก ปล่อยให้อนาคตของชาติถูกทำร้ายไปเรื่อย ๆ เพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องการปรับตัว เพียงเพราะพวกเขาเห็นชัดแจ้งว่าสังคมเราถูกแช่แข็งล้าหลังกว่าสังคมอื่นไปมากแล้ว และเพียงเพราะพวกเขาต้องการสังคมในแบบที่พวกเขาอยากได้ แต่กลายเป็นความโฉดชั่วมหันต์ราวกับพวกเขาไปฆ่าคนตาย ขณะที่คนที่ฆ่าคนตายเป็นเบือกลางถนนในหลายเหตุการณ์ เรากลับหลับหูหลับตาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ปล่อยให้คนกลุ่มนั้นลอยนวล แล้วก็ไปบิ๊กคลีนนิ่งเดย์กันครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย]

จากแต่เดิมเน็ตฟลิกซ์จะปล่อย 10 ตอนรวด แต่ด้วยนโยบายปีนี้ที่คนสมัครสมาชิกน้อยลง หลายซีรีส์จึงถูกปล่อยออกมาแบบกั๊ก ๆ แบ่งเป็นสองพาร์ท และ YOU คือหนึ่งในนั้น พาร์ทแรกของซีซั่น 4 ถูกปล่อยออกมา 5 ตอน เมื่อวันที่ 9 กุมภาที่ผ่านมานี้ ส่วนอีก 5 ตอนที่เหลือจะตามมาในวันที่ 9 มีนาคม

สิ่งที่ซีซั่นนี้มีคือการจิกกัดกันไปมาระหว่างตามประสาชาวอังกฤษ การใช้ภาษาเหยียดชนชั้น อันตีแผ่ประเทศที่แม้จะเชื่อในความเสมอภาค แต่กลับยังคงแบ่งชนชั้น ไปจนถึงวัฒนธรรมด้านมืด หรือประวัติศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนยุคเราอาจไม่เคยรู้มาก่อนหรือลืมไปแล้ว บทความคราวนี้เราจะรวบรวมวัฒนธรรมยิบย่อย ประวัติศาสตร์หยุมหยิมเหล่านั้น มา ณ ที่นี้ อาทิ

(จากซ้าย) วูดดี้ อัลเลน กับ ซุนยี / โรแนน ลูกชาย มีอา ฟาโรว์ / (ขวาบน) แฟรงค์ ซิเนตร้า

เมื่อหัวใจเรียกร้อง “The Heart Wants What It Wants”

ซีรีส์เปิดฉากอย่างฉับไวด้วยการย้อนรวบเล่าเหตุการณ์ทั้งสามซีซั่นที่ผ่านมาภายในไม่กี่นาที ก่อนที่จะเปิดฉากซีซั่นล่าสุดในต่างแดน พร้อมบทพูดว่า “ดังที่ชายเจ้าปัญหาในร่างกวีชาวสีรุ้งเคยกล่าวไว้ว่า หัวใจมันเรียกร้อง” คนยุคเราน่าจะคุ้นหูคำว่า The Heart Wants What It Wants เพราะมันคือเพลงดังของ เซลิน่า โกเมซ เมื่อปี 2014 ซึ่งอันที่จริง โกเมซ หยิบมาจากโควทของคนดังคนหนึ่ง ที่เอามาจากนักเขียนอีกคนหนึ่งอีกที นั่นแปลว่า เน็ตฟลิกซ์ไทยแปลบทพูดตอนนี้ผิดความหมายไปมาก เพราะเน็ตฟลิกซ์แปลว่า “ชายเจ้าปัญญาในร่างกวีชาวสีรุ้ง” แปลไทยเป็นไทยคือ กวีเกย์เจ้าปัญหาคนหนึ่ง หมายถึงบุคคลคนเดียว แต่ทว่าย้อนกลับไปที่ประโยคต้นฉบับภาษาอังกฤษ คือ “As a problematic man appropriating a queer poet once said: The heart wants what it wants.” หรือแปลไทยได้ว่า “ดังที่ชายเจ้าปัญหาคนหนึ่งที่ยึดเอาคำพูดของกวีเควียร์คนหนึ่งที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวว่า” นั่นตีความได้ว่า จริง ๆ แล้วประโยคนี้เอ่ยถึงคนสองคน 1.ชายเจ้าปัญหาคนหนึ่ง 2.กวีชาวเควียร์(หรือชาวเกย์)อีกคนหนึ่ง ชัด ๆ คือ กวีชาวเกย์ใช้ประโยคนี้มาก่อน แล้วชายเจ้าปัญหาหยิบมาพูดต่อ

อันที่จริงคำพูดนี้สำหรับอเมริกันชนรุ่นเจ็น-เอ็กซ์ขึ้นไปต่างรู้กันดีว่า “ก็หัวใจมันเรียกร้อง” เป็นคำตอบที่ วูดดี้ อัลเลน ผู้กำกับชื่อดัง เคยตอบกับนิตยสารไทม์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2001 ต่อกรณีงาบลูกสาวเมียเก่ามาทำเมียนั่นเอง

กรณีอื้อฉาวนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1976 เมื่อ เด็กหญิงโอซุนยีถูกพบทิ้งไว้ในกรุงโซล และไม่สามารถสืบหาพ่อแม่ที่แท้จริงได้ และทางการสันนิษฐานว่าปีเกิดของเธอคือ 1970 จากการสแกนกระดูกของเธอ กระทั่งผ่านไปอีก 5 ปี มีอา ฟาร์โรว ดารานักแสดงฮอลลีวูดกับสามี(ในตอนนั้น) อังเดร เพรวิน นักแต่งเพลงประกอบหนัง ได้ยื่นขอรับเลี้ยง ซุนยี ในปี 1978 แล้วพาเธอจากเกาหลีมายังสหรัฐ แต่แล้วหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี ฟาร์โรว ก็หย่าขาดจาก เพรวิน ในปี 1979 เมื่อฟาร์โรวหันไปมีสัมพันธ์กับ วูดดี้ อัลเลน ผู้กำกับหนังคอมิดี้ชั้นครู แต่ชื่อพ่อแม่บุญธรรมของ ซุนยี ยังคงเป็น เพรวิน กับ ฟาร์โรว

หลังจาก วูดดี้ อัลเลน คบหากับฟาร์โรว พวกเขารับลูกบุญธรรมมาเลี้ยงอีกสองคน คือ ดีแลน กับ โมเสส ก่อนที่พวกเขาจะมีลูกชายแท้ ๆ ด้วยกันหนึ่งคนคือ โรแนน ฟาร์โรว [มีบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งนักข่าวถามว่าทำไม โรแนน ถึงดูหล่อผิดกับวูดดี้ มิอาตอบว่า “ใครจะรู้ เขาอาจเป็นลูกของแฟรงค์ ซิเนตร้า ก็ได้นะ” เพราะช่วงที่ฟาโรว์กับอัลเลนระหองระแหงกันมีข่าวว่า มิอา ไปกิ๊กอยู่กับซิเนตร้า นักร้องเสียงนุ่มคนดัง]

เรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นในปี 1992 เมื่อ มิอา ไปเจอรูปเปลือยของ ซุนยี ในบ้านของอัลเลน และคนถ่ายรูปนั้นคือ อัลเลน เอง ในขณะนั้นอัลเลนมีอายุ 56 ปี ส่วนซุนยีอายุ 22 อันเป็นเหตุให้มิอา กับ วู้ดดี้ หย่าขาดจากกันในปีเดียวกันนั้น สุดท้ายซุนยี กับ อัลเลน แต่งงานกันในเวนิส เมื่อปี 1997 ขณะที่เธออายุ 26 ปีส่วนเขาอายุ 61 ปี และแน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างซุนยี กับ มีอา แม่บุญธรรมของเธอยังคงห่างหินกันอยู่จนถึงทุกวันนี้

ในบทสัมภาษณ์นิตยสารไทม์เมื่อปี 2001 คำถามสุดท้ายคือ คุณคิดว่าความสัมพันธ์ของพวกคุณแข็งแรงดีและเท่าเทียมกัน? อัลเลนตอบว่า “ใครจะรู้ ผมก็แข็งแรงเพอร์เฟ็คต์ดีนะ” ท้ายประโยคเขาตอบว่า “เมื่อหัวใจเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ ไม่มีเหตุผลสำหรับเรื่องพวกนี้หรอก คุณเจอใครสักคนแล้วคุณตกหลุมรักเธอ มันก็แค่นั้นเอง” และนี่คือคำตอบของ วูดดี้ อัลเลน ชายเจ้าปัญหา

เอมิลี ดิคคินสัน

แต่ประโยค The heart wants what it wants ถูกเอ่ยถึงครั้งแรกในปี 1862 ในจดหมายของ เอมิลี ดิคคินสัน เมื่อเธอส่งไปหา แมรี่ โบว์ลส์ ภรรยาของ ซามูเอล โบว์ลส์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของหนังสือ สปริงฟีลด์ รีพับลิกัน อันเป็นความหมายในเชิงโรแมนติกระหว่างหญิงรักหญิงด้วยกัน แม้ว่าในช่วงชีวิตของ ดิคคินสัน ผลงานของเธอจะไม่เป็นที่รู้จัก และในบั้นปลายเธอมีปัญหากับการเข้าสังคม ไปจนถึงขั้นเก็บตัวแต่ในห้องและสื่อสารกับคนอื่นผ่านบานประตูที่ปิดอยู่ แต่หลังจากบทกวีเพียง 10 บทจากพันแปดร้อยบทถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1890 หลังการเสียชีวิตของเธอในปี 1886 เธอก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกวีนิพนธ์คนสำคัญที่สุดของสหรัฐ และอีกประการสำหรับคำแปลว่า “กวีสีรุ้ง” ในฉบับไทย อาจจะผิดบริบทไปมาก เพราะในไทม์ไลน์ของดิคคินสัน ยังไม่มีการใช้สีรุ้งเป็นสัญลักษณ์ และอันที่จริงเธอเลือกจะสวมใส่สีขาวและดำมาตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม เอมิลี ดิคคินสัน คือ a queer poet ที่ YOU ซีซั่นนี้หมายถึง

ภาพประกอบวิธีเจาะและชื่อเรียกในแบบต่าง ๆ

เจาะห่วงจู๋แบบเจ้าชายอัลเบิร์ต

ในซีซั่นนี้ โจ โกลเบิร์ก เปลี่ยนตัวตนใหม่กลายเป็น ศาสตราจารย์ โจนาธาน มัวร์ สอนวิชาวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย จนมีเหตุไปพัวพันกับชนชั้นอีลีท เซเล็บคนดัง กลุ่มชนชั้นไฮ-โซรวย ๆ หนึ่งในนั้นอ้างตัวว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ มีฉากหนึ่งที่โจเหลือบไปเห็นว่าปลายจู๋ของชายคนดังกล่าวถูกเจาะห่วงในแบบที่เรียกว่าเจ้าชายอัลเบิร์ต โจก็ประชดประชันขึ้นในใจว่า “เห็นจะจริงที่ว่าเขาเป็นเชื้อพระวงศ์ เพราะเจาะห่วงจู๋แบบเจ้าชายอัลเบิร์ต” ซึ่งอันที่จริงการเจาะห่วงจู๋ในลักษณะนี้ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีเชื้อเจ้า

การเจาะห่วงจู๋มีด้วยกันหลายรูปแบบดังภาพประกอบด้านบน แต่ละแบบมีชื่อเรียก และหนึ่งในนั้นถูกเรียกว่า “แบบเจ้าชายอัลเบิร์ต (PA)” อันเป็นการเจาะจากปลายรูฉี่ไปยังส่วนเงี่ยงหยักของอวัยวะ เชื่อว่าจะกระตุ้นอารมณ์เพศของคู่รักได้เนื่องจากตัวตุ้มเหล็กจะไปกระตุ้นตรงจุดจีสปอตของทั้งชายและหญิงได้พอดี หรือการเจาะแบบเจ้าชายอัลเบิร์ตย้อนกลับ เป็นการเจาะห่วงจากปลายรูฉี่แทงออกมายังส่วนหัวของอวัยวะ (ในซีรีส์คือแบบย้อนกลับ) การเจาะแบบนี้จะเหมาะสำหรับช่วยกระตุ้นจุดคลิตอลิสของเพศหญิง

เมื่อมีการสืบค้นก็พบว่าไม่เคยมีที่มาปรากฎว่าการเจาะจู๋มีมาแต่ใด แล้วย้อนไปได้ไกลสุดคือในปี 1970 นี้เอง เมื่อช่างเจาะในย่านเวสต์ฮอลลีวูดได้ตีพิมพ์จุลสารรวบรวมประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเจาะอันไม่มีข้อมูลอ้างอิงสนับสนุน หนึ่งในนั้นเล่าว่าการเจาะแบบ PA นี้ถูกคิดค้นขึ้นโดย ปรินท์คอนสอร์ต (ตำแหน่งเจ้าชายที่ได้มาผ่านการเป็นสามีของราชินี) อัลเบิร์ต ด้วยความว่าเขามีจู๋ขนาดใหญ่ การเจาะแบบนี้จะไม่ทำให้แข็งตัวเด่นชัดเกินไปเมื่อเขาต้องใส่กางเกงรัดรูป อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเพียงตำนานเมืองที่ไม่มีการยืนยัน และเจ้าชายคอนสอร์ต อัลเบิร์ต องค์ที่ว่าคือ เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งแซ็กซ์-โคบูร์ก และโกทา (1819-1861) เป็นคอนสอร์ตเชื้อสายเยอรมันในสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย
การเจาะในทำนองเดียวกันนี้ในอวัยวะเพศหญิง จะถูกเรียกคู่กันว่า Princess Albertina piercing อันเป็นชื่อเจ้าหญิงที่ไม่มีอยู่จริง

การฝังมุกแบบไทยอยุธยา

ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักประวัติศาสตร์กรมศิลป์ เคยเขียนบทความเรื่อง “การฝังมุก” ของชายไทยในอดีต จากเอกสารต่างชาติ ในมติชนปี 2019 ว่า ‘เอกสารชิ้นแรกที่มีการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวคือบันทึกเรื่อง “Suma Oriental” (หรือภาษาอังกฤษคือ Siam Oriental) เขียนโดยนาย “โตเม่ ปิรืช” (Tome Pires) แต่เนื่องจากนาม “ปิรืช” เป็นภาษาโปรตุเกสที่ออกเสียงยาก เอกสารไทยจึงเรียกว่า “โตเม่ ปิเรส” แทน บันทึกของปิเรสเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ.1512-1515 ตรงกับแผ่นดินสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (นามเดิมพระเชษฐา) ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา หรือสมัยพระเมืองแก้วของอาณาจักรล้านนา

ถือเป็นชาวโปรตุเกสรุ่นแรกที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสยามในเชิงประวัติศาสตร์สังคม ก่อนหน้าที่จะเข้ามาในสยาม ปิเรสเดินทางไปยังอินเดีย มลายู พม่า ปะหัง และจามปามาก่อนแล้ว ปิเรสได้พรรณนาถึง “ผู้ชายชาวสยาม” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมักเปรียบเทียบกับผู้ชายชาวมอญในหงสาวดี ที่ปิเรสเรียกว่าพะโค ดังนี้ “พวกเขามีรูปร่างสูง ผิวคล้ำ ผมเกรียนเหมือนชาวพะโค…ชาวสยามนิยมฝังตะกรุดและแขวนของขลังเป็นจำนวนมาก พอ ๆ กับผู้ชายพะโค นอกจากนี้ พวกขุนนางจะแขวน (เอกสารแปลบางเล่มใช้คำว่า “ฝัง”) เครื่องประดับเพชรยอดแหลมและอัญมณีอื่นๆ ไว้ในบริเวณที่ลับ”

ข้อความดังกล่าวนี้เป็นการบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ชายสยามในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ 500 ปีก่อน โดยมีเอกสารจีนรองรับอีกชิ้นหนึ่ง คือ เอกสารจีนของ “หม่าฮวน” (Ma Huan) เป็นล่ามในคณะเดินทางสำรวจของ “เจิ้งเหอ” ผู้บัญชาการทหารเรือของจีนในยุคราชวงศ์เหม็ง (หมิง) ซึ่งเข้ามาสยามตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ราวค.ศ.1402 ตรงกับแผ่นดินสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราช

หม่าฮวนได้บันทึกเรื่องราวในเอกสารชื่อ “Ying-Yai Sheng-Lan” แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีนโดย J. V. G. Mills มีหลายตอน แต่เรื่องการฝังมุกปรากฏอยู่ในตอนที่ชื่อว่า The Country of Hsien นิตยสารศิลปวัฒนธรรมเคยตีพิมพ์รายละเอียดเรื่องนี้ครั้งแรกในฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปี2000 และจากนั้นมีการแปลอีกหลายสำนวน ความโดยรวมดังนี้

“เมื่อผู้ชายอายุย่าง 20 ปี พวกเขาจะถลกหนังหุ้มองคชาตออกมา แล้วใช้มีดคมบางรูปร่างคล้ายใบหอมกรีดเปิดผิวหนัง แล้วสอดใส่ลูกปัดดีบุกสักโหลหนึ่งเข้าไปข้างในผิวหนังที่เปิดแล้ว จึงปิดแผลและรักษาด้วยสมุนไพรที่เป็นยาประเภทต่าง ๆ

เขาจะรอจนกว่าแผลนั้นจะหายสนิทดี แล้วจึงออกไปข้างนอก และเดินเตร่ไปมา ลูกปัดดีบุกเหล่านั้นเหมือนพวงองุ่น จริง ๆ แล้วยังมีคนอีกชนชั้นหนึ่ง เป็นผู้จัดแจงรับจ้างในเรื่องการผ่าตัด พวกนี้เชี่ยวชาญในการฝังและหล่อเชื่อมลูกปัดดีบุกให้กับผู้คน เขาทำจนเป็นอาชีพอย่างหนึ่งทีเดียว

หากว่าเป็นชนชั้นสูง ขุนนางผู้ใหญ่ หรือคหบดี พวกเขาจะใช้ทองคำทำเป็นเม็ดกลวง ในนั้นใส่เม็ดทรายแล้วเอาฝัง ไปไหนก็ส่งเสียงกรุ๋งกริ๋ง แลถือกันว่างามนัก ผู้ชายที่ไม่มีลูกปัดคือพวกคนชั้นต่ำ นี่เป็นเรื่องพิลึกพิสดารเหลือหลาย”

จากเอกสารที่ดร.เพ็ญสุภา อ้างอิงถึง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของชนชั้นสูงในสมัยอยุธยาว่านิยมฝังลูกปัดแบบที่ส่งเสียงกรุ๋งกริ๋งได้เหมือนลูกกระพรวน ส่วนพวกผู้ชายที่ไม่มีลูกปัดคือพวกชนชันต่ำ ต่างจากยุคสมัยนี้ที่การฝังมุกมักทำกันในคุก และใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ อย่างแปรงสีฟันฝนด้ามให้แหลม และลูกแก้วที่ทำจากเศษขวดแก้วเอากระดาษทรายเกลาให้ไม่มีเหลี่ยมคมก่อนจะฝังลงไป

เล่นฉี่ Pee fetish

ตัวละครไฮโซอีกหนึ่งคนมีรสนิยมเล่นฉี่ หรือ Urolagnia ในซีรีส์ YOU แปลไทยว่า ฝนทองคำ เพจแฟนไซต์ของเว็บ netflixlife.com อธิบายว่า “Pee fetish เป็นรูปแบบหนึ่งของการ sexual kink (การเล่นเซ็กซ์ในรูปแบบที่แหกคอกไปจากบรรทัดฐานทางสังคม) ซึ่งบุคคลจะถูกกระตุ้นอารมณ์เพศด้วยความคิด การมองเห็น และการรับรส ไปจนถึงกลิ่น หรือความชื้นแฉะของปัสสาวะ เรียกอีกอย่างว่า เล่นฉี่ (piss play) หรือฝนสีทอง (golden shower) หรือกีฬาทางน้ำ (watersports) กรณีในเรื่อง ตัวละครจะรู้สึกตื่นเต้นเมื่อถูกปัสสาวะใส่ ซึ่งภายหลังผู้ชมจะทราบด้วยว่าเขาจะเกิดอารมณ์ในลักษณะนี้ก็ต่อเมื่อคนที่ปัสสาวะใส่เขานั้นเป็นชนชั้นต่ำกว่าเขา อันเป็นสาเหตุให้เมื่อคู่ของเขาพยายามจะทำแบบนั้นบ้าง เขากลับไม่เกิดอารมณ์ เนื่องด้วยเขาไม่รู้สึกว่าคู่ของเขาคนนั้นอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยกว่าเขา”

อย่างไรก็ตามบทบาททางเพศอันหลากหลายในทางเฟติช ควรมีการตกลงเห็นชอบกันระหว่างคู่นอน และเรียนรู้ซึ่งกันและกันถึงจุดที่พอดี พอใจ ไม่ใช่การทำอันตรายต่อกันไปจนถึงเสียชีวิต ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นรสนิยมทางเพศอย่างหนึ่ง ถ้าเปรียบก็เหมือนไข่หนึ่งฟอง บางคนชอบกินไข่เจียว บางคนชอบไข่ดาว บางคนชอบไข่ดาวสุก ๆ บางคนชอบกินดิบ บางคนชอบไข่ตุ๋น ความชอบพอของผู้คนอันหลากหลายไม่ใช่ความผิด ตราบเท่าที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายเป็นอันตราย

ตัวอย่างกรณีข่าวดังในเดือนตุลาคม ปี 2015 เมื่อคู่เกย์ในจังหวัดขอนแก่นนัดแนะกันไปเล่นเซ็กซ์เฟติชในแบบใส่ชุดรัดรูปทั้งตัว ปิดช่องระบายอากาศ แล้วรัดด้วยสายโทรศัพท์จนตาย ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าหากทั้งคู่ตกลงปลงใจชอบพอสิ่งนี้ทำกันสองคนไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใด แต่ผิดตรงไม่รู้จักเรียนรู้กันและกันถึงความพอดีว่าแค่ไหน อย่างไร ความปลอดภัยในการเล่นเซ็กซ์แนวนี้ ไม่ใช่แค่เห็นแก่ความใคร่พอใจเพียงฝ่ายเดียวของคุณ แต่หมายถึงคุณต้องรับผิดชอบต่อคู่ของคุณด้วย ซึ่งหากคุณไม่เรียนรู้ถึงขอบเขตตรงนี้ ส่วนใหญ่ก็มักจะตามมาด้วยความตาย

และอย่าคิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นแต่กับคนบ้านนอก ในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ย่านไฮโซ สุขุมวิท 55 เกิดเหตุโยนศพเกย์รายหนึ่งลงจากคอนโดฯ 36 ชั้น หลังจากนัดแนะกันเล่นเซ็กซ์หมู่แบบสามคน แล้วหนึ่งในนั้นช็อคเสียชีวิตจากการเล่นยาเกินขนาด หนุ่มอายุ 35 อีกสองคนไม่รู้จะทำอย่างไรดีจึงทิ้งดิ่งร่างเด็กหนุ่มอายุ 19 ลงจากตึก

(ซ้ายบน) เจ้าชายฟิลิปกับคนสนิท (ซ้ายล่าง) เจ้าชายชาร์ลส์กับคนสนิท ที่เหลือคือรวมพาดหัวส่วนหนึ่งในนิตยสารชื่อดังเกี่ยวกับเจ้าชายแอนดรูว์จอมหื่น

“มีอะไรกับเด็กรับใช้เป็นธรรมเนียมของคนระดับเราอยู่แล้ว”

ประโยคเด็ดสุดเสียดสีนี้หลุดมาจากปากไฮโซปากดีคนหนึ่งในซีซั่นนี้ของ YOU นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ชนชั้นสูงมีสัมพันธ์กับเด็กรับใช้เคยถูกเล่าเป็นซีรีส์มากมาย อย่าง Bridgerton หรือ Crown แต่จะรวบรวมน้ำจิ้มมาไว้ที่นี่ เอาเฉพาะราชวงศ์อังกฤษย้อนหลังไปที่เจ้าชายฟิลิปที่ในวัยหนุ่มทรงหล่อคิ้วมาก ในช่วงต้นรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธ เจ้าชายฟิลิปมีข่าวลือความสัมพันธ์กับ ไมค์ พาร์กเกอร์ เพื่อนสนิทและเลขาหนุ่มส่วนพระองค์ ฉาวหนักจนในปี 1957 พาร์กเกอร์ถูกฝ่ายวังกดดันให้ลาออกขณะเจ้าชายไปเยือนประเทศเครือจักรภพ อันไปสู่การที่ภรรยาของพาร์กเกอร์ขอยื่นหย่ากับเขาด้วย

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ก็เช่นกัน ตั้งแต่สมัยเด็ก ราชวงศ์จะแต่งตั้งเด็กชายคนหนึ่งมาคอยรับใช้ชาร์ลส์มาตั้งแต่ปี1980 ซึ่งเด็กคนนั้นก็คือ ไมเคิล ฟอว์เซ็ตต์ อันมีเสียงเล่าลือหนาหูถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายบ่าวคู่นี้ที่ต่อมาแท็บลอยด์เมล์ตั้งฉายาว่า “คนดังที่ชาร์ลส์ขาดไปก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้” รวมถึงหลังจากเจ้าหญิงไดอะน่าแยกทางกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลแล้ว ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงที่ใช้ชีวิตร่วมกัน เธอเองก็เคยมีความสัมพันธ์กับ เจมส์ ฮีวิตต์ เจ้าหน้าที่กองทัพ กระทั่งในปี 2016 โกลบ แท็บลอยด์ของสหรัฐได้พาดหัวเป็นภาพ ชาร์ลส์จูบดูดดื่มกับหนุ่มหล่อรายหนึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งในปี 2013 โกลบก็เคยรายงานมาก่อนแล้วว่าชาร์ลส์น่าจะเคยมีสัมพันธ์แบบเกย์เซ็กซ์

[อย่างไรก็ตามถึงตรงนี้ผู้อ่านควรเข้าใจด้วยว่า การที่ชายคนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์กับชายอีกคน ไม่ว่าจะแค่ไหน หรือขั้นไหนก็ตาม ไม่ได้แปลว่าชายคนนั้นเป็นเกย์ เขาอาจจะเป็นไบฯ ก็ได้ หรือเขาอาจจะไม่ได้เป็นเกย์หรือไบเลยก็ได้ อย่างที่เรายกตัวอย่าง ไข่ คุณชอบไข่เจียว ไม่ได้แปลว่า คุณจะไม่อยากลองกินไข่ดาวดูบ้างในบางมื้อ อย่างในซีรีส์ YOU ตัวละครชายที่ชอบให้คนใช้ชายฉี่รดใส่ คนดูชาวไทยก็อาจจะงงว่า ทำไมเขาจึงมีสัมพันธ์กับแฟนสาวของเขาได้ ซึ่งอันที่จริงข้อมูลเท่านี้ไม่สามารถชี้ชัดได้เลยว่าตัวละครนี้เป็นเกย์ เพราะเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหลได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันเมื่อมนุษย์มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเพศ อย่าง Non-binary ที่ไม่อาจจำกัดเพศหรือความต้องการทางเพศด้วยการแบ่งขอบเขตเป็นได้แค่ 2 เพศอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดบาปชั่วร้าย หากจะเปิดใจทำความเข้าใจ] [นอน-ไบนารี เป็นสำนึกทางเพศที่ไม่อาจถูกจำกัดว่าตัวเองเป็นแค่ชาย หรือแค่หญิง ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม คุณอาจจะรู้สึกผสมผสานระหว่างสองเพศ (androgyne) เป็นกลางหรือรู้สึกไม่มีเพศ (agender) หรือมีเพศที่ลื่นไหลไปมา (Gender Fluid) หรืออื่น ๆ อีกยิบย่อย]

แต่จอมอื้อฉาวแห่งราชวงศ์นี้ต้องยกให้เจ้าชายแอนดรูว์ที่สื่อต่างเรียกเขาว่า Randy Andy (แอนดี้จอมหื่นกาม) นับตั้งแต่ปี2011 เมื่อแอนดรูว์สนิทสนมกับ เจฟฟรีย์ เอปสตีน เศรษฐีชาวสหรัฐ ที่ภายหลังถูกดำเนินคดีข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ กระทบให้แอนดรูว์ต้องยุติบทบาททูตพาณิชย์ของอังกฤษ, สี่ปีต่อมา เวอร์จิเนีย จิวฟรี ระบุในเอกสารถึงศาลว่า เธอถูกบังคับให้ร่วมเพศกับเจ้าชายแอนดรูว์ขณะที่เธอยังเป็นผู้เยาว์ แต่เจ้าชายปฏิเสธ ถึงเช่นนั้นเขาก็กลายเป็นจำเลยสังคมไปเรียบร้อยแล้วเนื่องจากพฤติกรรมฉาว ๆ ในอดีต ความพินาศมาถึงหลังจากเอ็ปสตีนฆ่าตัวตายในคุกเมื่อปี 2019 หลังจากถูกจับด้วยข้อหาค้าบริการทางเพศผู้เยาว์ ซึ่งหนึ่งในลูกค้าคือแอนดรูว์ ไม่นานจากนั้นแอนดรูว์ให้สัมภาษณ์สื่อต่าง ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เขาพูดยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเขาเสื่อมเสียลงไปอีก จนกระทั่งเมื่อจิวฟรีคนเดิมฟ้องร้องเขากรณีทำร้ายร่างกายขณะร่วมเพศกับเธอในวัยเยาว์ ไม่กี่เดือนถัดมาเจ้าชายก็ถูกถอดยศทางทหารทั้งหมด จนกระทั่งกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แอนดรูว์ปิดดีลไกล่เกลี่ยด้วยการให้เงินที่ไม่เปิดเผยจำนวนกับจิวฟรี เพื่อแลกกับการยุติการดำเนินคดีและไม่ต้องถูกไต่สวน

7 ชนชั้นผู้ดีอังกฤษยุคใหม่

จากวัฒนธรรมดาร์ก ๆ ที่เรารวบรวมมาดังที่ปรากฏในซีรีส์นี้ข้างต้น ต้องนับเป็นความชาญฉลาดอย่างยิ่งที่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ความหวือหวาปรากฎให้เร้าใจคนดูเล่น ๆ เท่านั้น แต่มันทั้ง สนุก ตลก เสียดสี จริงแท้ และทั้งหมดทุกสิ่งที่เราสาธยายมาก่อนหน้านี้ทั้งปวง ล้วนมีประเด็นทางสังคมที่เราเรียกกันว่า “ชนชั้น” รวมถึงไม่ว่าจะคำพูดในเรื่องเช่น “แกเหยียบอยู่บน 2 ชนชั้น ทั้งชนชั้นแรงงานและชนชั้นสูง” หรือฉากเล่นกีฬาผู้ดีแบบโครเกต์แล้วลากเอาคนรับใช้มาเป็นเป้าหวด ล้วนเป็นการเสียดสีชนชั้นผู้ดีอังกฤษ ที่เราคนดูต่างรู้ว่าตัวละครกลุ่มนี้เป็นลูกคนรวย เอาแต่ใจ อยากจะทำอะไรผิดกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ทำได้เพราะมีเงินฟาดหัวชนชั้นต่ำกว่าพวกเขา

ส่วนพระเอกเป็นคนนอกเป็นครูต๊อกต๋อยที่จับพลัดจับผลูเข้าไปสุงสิงด้วย แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่าลูกคนรวยในซีรีส์นี้ ยังแบ่งได้อีกหลายชนชั้น และซีรีส์นี้พยายามจะแจกแจงให้เราเห็นชัดเจนว่าแต่ละคนต่างชนชั้นแตกต่างกันอย่างไร มันถูกประกอบสร้างเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนสังคมยุคใหม่นี้ได้อย่างไร แล้วอันที่จริงการแบ่งชนชั้นทางสังคมแบบในซีรีส์นี้ ไม่เพียงเกิดขึ้นในอังกฤษ แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนี้ที่ผู้คนใช้ชีวิตกันอยู่ในโลกโซเชียล

ในอีพีแรก ซีรีส์สาธยายถึงปูมหลังของแต่ละตัวละครอย่างละเอียดลออ [ราวกับหน้าเปิดของนิยายอะกาธ่า คริสตี้(หญิงนักเขียนแนวสืบสวนชื่อดังที่ถูกเอ่ยถึงในซีรีส์นี้ด้วย) ผู้เขียนสังเกตว่าวิธีการเล่าเรื่องของซีรีส์นี้มีรูปแบบคล้ายอ่านนิยายอะกาธ่า อย่างยิ่ง ตั้งแต่หน้าแรกที่จะมีลำดับรายชื่อตัวละครพร้อมบอกว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหน ไปจนกระทั่งซีนใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในปราสาทโบราณ ไร้สัญญาณเครือข่ายทุกระบบทั้งโทรศัพท์และอินเทอร์เนต เสมือนพาคนดูหลุดเข้าไปในนิยายคลาสสิค ในสถานที่ปิดตายห่างไกลเมือง ที่พลิกให้ โจ กลายเป็นยอดนักสืบแอร์กูล ปัวโร] เช่น

คนที่ 1. ครอบครัวเป็นเชื้อพระวงศ์ อย่างน้อยก็เกือบ ๆ เชื้อพระวงศ์ (แต่คนดูจะรู้ภายหลังว่าเขาเป็นหนี้กองโต)

คนที่ 2. ชนชั้นสูงสุดขั้ว ผมบลอนด์แท้ ๆ เคยคบกัปตันพรีเมียร์ลีกสองคน…ในเวลาเดียวกัน เป็นที่สนใจในวงซุบซิบตั้งแต่อายุ 15 ไม่ว่าจะความเด๋อด๋าไปจนถึงการแว็กซ์ขนน้องสาว

คนที่ 3. เป็นคนผิวสี เจ้าหญิงไนจีเรีย อยู่ในแวดวงเทคโนโลยี หัวสูงแต่ทำธุรกิจแนวแชร์ลูกโซ่

คนที่ 4. ศิลปินเชื้อสายเอเชียมีผลงานศิลปะทำลายสถิติยอดขายระดับโลก มีพ่อเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน แต่สร้างตัวตนเป็นศิลปินอมทุกข์ ทั้งที่เป็นลูกผู้ดี ไม่เคยเจอเรื่องร้าย ๆ

คนที่ 5. อินฟลูไฮโซตัวแม่ เครื่องประดับทุกชิ้นเป็นแบรนด์เนมจากสปอนเซอร์ จบอ็อกฟอร์ด ตามด้วยกฎหมายจากฮาร์วาร์ด แต่ระหว่างเรียนเกิดพบว่าการสร้างอาชีพจากยอดไลก์และยอดฟอลไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเยอะ

คนที่ 6. โด่งดังจากเรื่องอื้อฉาว วันไนท์สแตนด์ สะสมคอลเล็คชั่นมีดสุดสะพรึง เป็นเจ้าของเรือลำใหญ่

คนที่ 7. เก่งเรื่องปากแจ๋วชอบดูหมิ่นชาวอเมริกัน คนข้ามเพศ คนจน และคนยิว ดัดจริต และทำตัวรวย

คนที่ 8. ทั้งชีวิตไม่ต้องเรียน ไม่ต้องทำมาหากินก็ใช้ชีวิตสุดหรูได้อย่างสบายไปอีกเจ็ดชั่วโคตรด้วยเงินทั้งหมดของพ่อ เป็นไอดอลของเด็กรวย ๆ

คนที่ 9. ว่าที่นายกเทศมนตรี เขียนหนังสือจากประสบการณ์ชีวิตที่เคยอยู่ในจุดตกต่ำสุดตะกายขึ้นมาอยู่บนชั้นสูงสุด จากครอบครัวยากจนโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยวอารมณ์แปรปรวน ชีวิตเหลวแหลกก่อนจะรู้ตัวว่ามีเชื้อสายเป็นลูกขุนนาง ถีบตัวเองไปเรียนอ็อกซ์ฟอร์ด

สิ่งที่เราจะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้นในปี 2013 หลังจาก บีบีซี และเดอะ การ์เดียน ผุดบทความว่าด้วยการสำรวจชนชั้นทางสังคมในปัจจุบัน ตามมาด้วยบทวิเคราะห์ของเจ้าอื่นอันหลากหลาย ไปจนบทความปี 2016 ของ เดอะเทเลกราฟ ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังอธิบายให้ฟังนี้เป็นการรวบรวมจากบทความสามชิ้นดังกล่าวนั้น

The Great British Class Survey เป็นการร่วมมือกันระหว่าง BBC และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ใช้ชี้วัดทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มากกว่าแค่การประเมินชนชั้นจาก อาชีพ ความมั่นคง และระดับการศึกษา เพื่อกำหนดชนชั้นรูปแบบใหม่ในสังคม
ยกตัวอย่างเช่น นายก.พื้นฐานทางบ้านยากจน การศึกษาต่ำ อวดฉลาด แต่ไต่เต้าไปเป็นทหารยศสูง ทำรัฐประหารจนได้เป็นนายก ฐานะมั่นคง แต่ไม่อาจตรวจสอบทรัพย์สินได้ ไม่ได้แปลว่าปัจจุบันเขาอยู่ในชนชั้นแรงงานอย่างการจัดแบ่งชนชั้นตามรูปแบบเก่า แต่เขาคือ อีลีท ทรงอิทธิพลในการบงการควบคุมสังคมได้

ดังนั้นการจัดหมวดแบบดั้งเดิม ที่ให้ชนชั้นแรงงานเป็นฐานราก ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง ในแบบเก่านั้นล้าสมัยไปแล้ว การสำรวจเพื่อจำลองชนชั้นในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า หนึ่งแสนหกหมื่นคน

ประการสำคัญคือ BBC Lab UK ใช้การวัดนี้จาก ต้นทุนทางสังคม ได้แก่ รายได้ เงินออม มูลค่าบ้าน มรดก และทุนทางสังคม อาทิ จำนวนและสถานะของคนที่รู้จัก เช่น ยอดไลก์ ยอดวิว หรือยอดฟอลโลวในเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมถึงทุนทางวัฒนธรรมที่กำหนดขอบเขตและความออแกนิคของยอดความสนใจในตัวบุคคลนั้น (หมายถึงจำนวนผู้ติดตามที่มาด้วยวิธีออแกนิค ไม่ใช่การเพิ่มยอดไลก์ด้วยการซื้อโฆษณา หรือแฮ็กยอดไลก์) และกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่นกิจกรรมที่พวกเขาทำมีกลุ่มคนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน

1.ชนชั้นนำ (Elite) กลุ่มที่ได้รับสิทธิพิเศษมากที่สุดใน UK แตกต่างจากอีก 6 กลุ่ม สมาชิกชนชั้นนี้เป็นกลุ่ม 6% ในสังคมอังกฤษ มีทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก (โดยเฉพาะจากการออม ไม่ว่าจะออมเอง หรือพ่อแม่ วงศ์ตระกูลออมให้) ทุนทางสังคมสูงลิ่ว และมีทุนทางวัฒนธรรมที่สูงค่ามาก

2.ชนชั้นกลางที่มีสถานะมั่นคง (Established Middle Class) ชนชั้นนี้มีทุนทั้งสามด้าน(ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม)ในระดับสูง แต่ไม่สูงเท่ากลุ่มชนชั้นนำ เป็นกลุ่มชนชั้นที่ชอบอยู่เป็นกลุ่ม และมีการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรม มีอยู่ราว 25%

3.ชนชั้นกลางเฉพาะด้าน (Technical Middle Class) เป็นชนชั้นใหม่ที่มีจำนวนไม่มาก มีประมาณ 6% มีทุนทางเศรษฐกิจสูง แต่มีการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรมน้อยกว่า พวกเขามีเส้นสายทางสังคมอยู่ค่อนข้างน้อย จึงมีการเข้าร่วมทางสังคมน้อยกว่า

4.ชนชั้นแรงงานผู้มีทุนทรัพย์ (New Affluent Workers) คนกลุ่มนี้มีราว 15% มีทุนทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และมีทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคมสูงกว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีความกระตือรือร้น

5.ชนชั้นแรงงานผู้ให้บริการยุคใหม่ (Emergent Service Worker) เป็นกลุ่มที่มี 19% มีทุนทางเศรษฐกิจต่ำ แต่มีทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ ‘วัฒนธรรมยุคใหม่’ และทุนทางสังคมสูง คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนหนุ่มสาว และมักจะอยู่ในเขตเมือง

6.ชนชั้นแรงงานดั้งเดิม (Traditional Working Class) กลุ่มนี้มี 14% มีคะแนนต่ำในเรื่องทุนทุกด้าน แต่ว่าก็ยังไม่ใช่กลุ่มที่จนที่สุด กลุ่มนี้มีอายุเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มอื่น

7.ชนชั้นที่ขาดความมั่นคงในชีวิต (Precariat) มีความไม่แน่นอนประมาณ 15% เป็นกลุ่มชนชั้นที่ยากจนที่สุด มีทุนด้านต่าง ๆ น้อยที่สุด มีชีวิตประจำวันที่ไม่มั่นคง ไม่มีความแน่นอน

ผู้อ่านอาจจะหงุดหงิดใจไปบ้างที่ผู้เขียนไม่ระบุเจาะจงว่าแต่ละตัวละครอยู่ในชนชั้นแตกต่างกันอย่างไร แล้วใครอยู่ในชนชั้นไหนบ้าง เพราะผู้เขียนเกรงว่าจะเป็นการสปอยเนื้อเรื่องจนเกินไป เพราะประเด็นชนชั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมการกระทำของแต่ละตัวละคร รวมถึงคนร้ายตัวจริงของซีซั่นนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนสาธยายมาเล่าให้ฟังอาจจะเยิ่นเย้อ หรือน่าเบื่อไปบ้าง แต่รับรองได้ว่า ซีซั่น 4 ของ YOU คราวนี้ยังคงให้อรรถรสเต็มเปี่ยม สำหรับผู้เขียนเห็นว่าสนุกกว่าซีซั่นที่สามเป็นอย่างมาก แถมเพิ่มประเด็นเสียดสีสังคมที่ดูสุดโต่งเกินจริงอย่างยิ่ง แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเกิดขึ้นจริงบนโลกอันแสนวุ่นวายจากการแข่งขันดิ้นรนถีบตัวกันเพื่อไปอยู่บนยอดทางสังคมแบบใหม่ เป็นอีกซีรีส์ที่ไม่ควรพลาด