ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อรัฐบาลนี้หนุนซีรีส์วายสู่ตลาดโลก

เมื่อรัฐบาลนี้หนุนซีรีส์วายสู่ตลาดโลก

18 กรกฎาคม 2021


1721955

สืบเนื่องจากเมื่อ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์โพสต์เฟซบุ๊กประกาศกร้าวว่า…

‘เสริมทัพส่งออกโต! รัฐบาลเดินหน้าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก ซีรี่วายและเกมมาแรงในภูมิภาค’ นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกระแสความนิยมคอนเทนต์ซีรีส์วาย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ เฉพาะในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกันกว่า 1,000 ล้านบาท

ก่อให้เกิดกระแสบนสื่อออนไลน์ตามมาต่อเนื่องไปถึงกิจกรรมทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นแฟนมีตติ้ง การจัดอีเวนต์ และการเป็นพรีเซ็นเตอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ตอกย้ำให้ประเทศไทยเป็นฮับของคอนเทนต์วายที่ต่างประเทศให้ความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ โดยทางกรมจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ในระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2564 เชิญผู้ประกอบการไทยจำนวน 10 ราย เข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการคอนเทนต์ทั้งจากญี่ปุ่น ไต้หวัน และละตินอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การจัดเจรจาการค้าธุรกิจภาพยนตร์และซีรีส์วายผ่านช่องทางออนไลน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นครั้งแรกของไทยที่สนับสนุนคอนเทนต์วายสู่ตลาดโลก

จักรวาลวายไทยวันนี้

อะไรทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าอุตสาหกรรมวายไทยจะไปไกลสู่ตลาดโลกได้ หากมองในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ไทยผลิตผลงานซีรีส์วายมากถึง 40 เรื่อง และในปีนี้คาดว่าจะมีเพิ่มมากถึง 90 เรื่อง หลายคนอาจจะมองว่าเป็นตัวเลขที่เว่อร์ไปมาก แล้วช่องทีวีจะมีช่วงเวลาพอที่จะรองรับจำนวนซีรีส์เหล่านี้ได้จริงหรือ

แต่โลกวันนี้มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ มากมาย และหลายแพลตฟอร์มก็เวลคัมคอนเทนต์ชายรักชายเหล่านี้อย่างยิ่ง อาทิ iQiyi (อ่านว่า อ้ายฉีอี้) แพลตฟอร์มจากจีนที่ผุดขึ้นหลังจากคอนเทนต์จีนไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควรในตลาดโลก อีกทั้งกรณีซีรีส์ชายรักชายเป็นของต้องห้ามทางช่องทีวีจีน แต่สามารถเผยแพร่ทางออนไลน์ได้, WeTV ช่องออนไลน์ร่วมทุนฮ่องกงกับจีนที่ลงมาเล่นตลาดเดียวกัน แต่มีการลงทุนสร้างเนื้อหาเฉพาะของช่องตัวเองด้วย รวมถึงตั้งแต่ปีที่แล้วมีเนื้อหาวายจากฝั่งเกาหลีด้วย ที่แม้รัฐเกาหลีจะไม่ห้าม แต่ประเด็น LGBTQ ยังคงไม่อาจยอมรับได้ในสังคมเกาหลี, VIU แม้จะมีเนื้อหาจากฝั่งเกาหลีเยอะมาก แต่ช่องนี้มีสำนักงานในฮ่องกง ที่ให้บริการไปถึงอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา, Rakuten Viki เป็นอีกช่องที่เน้นเนื้อหาจาก ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน แต่จริง ๆ ช่องนี้มีสำนักงานใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย แต่มีเจ้าของเป็นชาวเอเชียนอเมริกันกับเกาหลี และมีสำนักงานย่อยในสิงคโปร์ โตเกียว และโซล, GagaOOLala แพล็ตฟอร์มล่าสุดจากไทเป ที่มีเนื้อหา LGBTQ ล้วน ๆ จากทั่วโลก

แล้วเชื่อหรือไม่เฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ มีซีรีส์วายไทยให้ดูกันเกือบทุกวันร่วม 10 เรื่อง
กรกฎาคม >> พุธ-เสี่ยวซำน้อย (AIS play), รักมันมหาศาล (ช่อง3,We TV) / พฤหัส-หนังสือรุ่น (LineTV) / ศุกร์-อ้อมกอดบ้านเกิด (youtube ช่อง TB Entertianment), ได้ครับพี่ดีครับน้อง(LineTV), ครั้งหนึ่งที่รัก (LineTV), จะรักก็รักเหอะ ss2 (Gagaoolala) / เสาร์-ครั้งหนึ่ง…เราเคยรักกัน (ช่อง9,AIS play) / อาทิตย์-วุ่นนักรักซะเลย (ช่อง9,LineTV)

สิงหาคม >> ศุกร์-เมื่อหัวใจใกล้กัน (one31,Line TV)

แถมปีนี้ยังมีโปรเจ็คต์ซีรีส์เบอร์ปัง ๆ ที่ได้นักแสดงเด่น ๆ พล็อตเจ๋ง ๆ กำลังถ่ายทำอยู่อีกหลายเรื่อง อาทิ
ใส่รักป้ายสี สิงโต ปราชญา (โซตัส:พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง) กับ เต้ ดาวิชญ์ (เดือนเกี้ยวเดือน)

คุณหมีปาฎิหาริย์ อิน สาริน (ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง) กับ จ๊อบ ธัชพล (ระบำเมฆ) กำกับโดย ป้าแจ๋ว ยุทธนา ที่ดัดแปลงจากนิยายวายอิงการเมืองของ ปราปต์ ผู้เขียน กาหลมหรทึก (รางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด, ดัดแปลงเป็นละครช่อง One31), นิราศมหรรณพ (ชอร์ตลิสต์รางวัลซีไรต์) และ ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋ (ดัดแปลงเป็นละครฮิตช่อง3)

ส่งร้อนเสิร์ฟรัก ซุง กิดาการ (เปรมิกาป่าราบ) มาสอนสูตรลับอาหารให้ มาร์ค ศิวัช (บังเอิญรัก, เคว้ง)

แค่เพื่อนครับเพื่อน นนน กรภัทร์ (รักไม่เอาถ่าน, นักเรียนพลังกิฟต์) มาแมน ๆ เตะบอลกันกับ โอม ภวัต (ดิวไปด้วยกันนะ, จิ้นนายกลายเป็นฉัน, เธอเขาเงาแค้น)

แต่ขณะเดียวกันก็มีบางเรื่องที่ทำตัวอย่างซีรีส์ออกมาได้น่าสนใจมาก มีการเวิร์คช็อปนักแสดงและโปรโมทไปบ้างแล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ไปต่อ ไม่รู้ว่าจะพับโครงการไปเลย หรือรอนายทุนใหม่มาปลุกโปรเจ็คต์ อาทิ รักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก , วุ่นรักนักบิด

เนื้อหาชายรักชายกลายเป็นของขายดีทางฟรีทีวีดิจิตอล ล่าสุดที่เห็นได้ชัด ก็อย่างละครพีเรียด ช่อง8 เรือนร่มงิ้ว ที่ประเด็นหลักวนเวียนกับตัวละครคุณหลวงกับหนุ่มรับใช้กล้ามแน่น และทั้งที่ไม่ได้ใช้ดาราแม่เหล็กเบอร์ต้น ๆ แต่กลับดันให้เรตติ้งละครช่อง8 พุ่งชนิดที่ช่องเองยังเซอร์ไพร์ส แถมทำให้เรตติ้งช่องนี้สูงขึ้นยกแผง เพราะขาจรก็หันมาดูละครเรื่องอื่น ๆ ของช่องนี้ด้วย

ปีที่ผ่านมาซีรีส์วายไทยฮิตกระฉูด!

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขด้วยว่า “ในปีที่ผ่านมามีฐานผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ” อะไรคือปัจจัย แน่นอนว่ากระแสวายไทยเกิดกลุ่มก้อนมานานแล้ว มีอีเวนต์ แฟนมีตติ้ง ต่าง ๆ ในจีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเมื่อการมาถึงของ โซตัส พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง (2016) ที่ประเทศเงินหนาประชากรเยอะอย่างจีน ถึงกับเดินทางมาไทยเพื่อเปย์คู่จิ้น คริส พรีวัส-สิงโต ปราชญา

แต่การที่ปีที่ผ่านมาฐานผู้ชมก้าวกระโดดไปมากกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ ต้องถือว่าเป็นโชคดีในโชคร้ายจริง ๆ เพราะโควิด-19 ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องหาอะไรดูช่วงกักตัวยาว ซึ่งตัวการที่ทำให้วายกลายเป็นกระแสหลักในญี่ปุ่นประเทศต้นกำเนิดวัฒนธรรมวาย คือ เพราะเราคู่กัน ที่ออกฉายทางช่อง GMM25 และ LineTV ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2020 ที่เริ่มจากเรตติ้งพุ่ง ทั้ง ๆ ที่ทางช่องเองก็ไม่ได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาถึงจุดนี้

สังเกตได้จากตัวผู้กำกับ ที่เพิ่งแป้กมาก่อนหน้านั้นจาก Social Death Vote (2018, ช่อง3 และ LineTV) แถมพระเอกคือ ไบร์ท วชิรวิชญ์ ตัวประกอบซีรีส์เรื่องแป้กที่ว่านั่น เขามีผลงานมาตั้งแต่ปี2013 มากถึง 12 เรื่อง แต่ในจำนวนนั้นเป็นตัวประกอบไปเสีย 8 เรื่อง จะมีลุ้นก็นักแสดงหน้าใหม่อย่าง วิน เมธวิน

แต่จุดที่ทำให้เรตติ้งไปไกลเกินคาด ก็ต้องยอมรับว่านิยายเรื่องนี้สนุกมาก เขียนโดย JittiRain ที่มาพร้อมกับเพลงป๊อปใส ๆ เข้าถึงใจวัยรุ่นได้ไม่ยากของวง สครับบ์ และไบร์ท-วิน ก็เหมาะมากกับบท สารวัตร-ไทน์ ในเวลาเดียวกันกับช่วงโควิดระบาดหนัก และญี่ปุ่นประกาศล็อคดาวน์ ก็มีชาวเนตแปลซับภาษาญี่ปุ่นแบบไม่เป็นทางการ ปล่อยให้ดูฟรีทางโซเชียลในญี่ปุ่น ดังที่จะขอสรุปจากชาวไทยที่ตามกระแสคั่นกูในญี่ปุ่นมาแต่แรกอย่างช่อง KungZapf ที่หยิบทวิตต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมาแปลให้ฟังว่า “รีทวิต(ถึงซีรีส์นี้)ทั้งหมด 47,000 ครั้ง หน้าดีมาก หล่อเหมือนประติมากรรม เป็นใบหน้าที่สมควรจะลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ไบร์ทคุงหล่อจนปวดใจ วินคุงก็คาวาอี้มาก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีซีรีส์ไทยที่ทำให้รู้สึกสนุก และใจเต้นได้ขนาดนี้” และนี่เป็นเพียงกระแสแรก ๆ ที่ต่อเนื่องเรื่อยไปจนซีรีส์จบ

แน่นอนว่าความปังระดับนี้ GMM ย่อมไม่พลาดที่จะรักษาความต่อเนื่องด้วยการสร้างตอนพิเศษขึ้นมาอีก 5 ตอน ในชื่อ เพราะเรา(ยัง)คู่กัน ที่เริ่มตอนแรกในวันที่ 14 สิงหาคม ปีเดียวกัน ส่งผลให้มีการตัดต่อเพิ่มฉากใหม่กลายเป็นภาพยนตร์ เพราะเราคู่กัน The Movie ควบคู่กับคนดูซีรีส์นี้ได้ในวงกว้างขึ้นผ่าน NetFlix ขณะที่ในไทยฉบับหนังตั้งใจจะลงโรงในวันที่ 22 เมษายน ปีนี้ แต่เพราะโควิดระบาดหนัก จึงต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ในญี่ปุ่นคลายช่วงล็อคดาวน์แล้วจึงได้ฉายก่อนประเทศไทย ที่เริ่มลงโรงตั้งแต่ 4 มิถุนายน ยาวไปถึง 23 กรกฎาคม ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะ โตเกียว, ไซตามะ, ชิบะ, คันนางาวะ, กุนมะ, ฮอกไกโด, อิวาเตะ, ยามากาตะ, ฟุคูชิม่า อีกมากมายลากยาวไปถึงเกาะโอกินาวะ

จากกระแสหนัง ช่องKungZapf ยังเล่าต่อด้วยว่า “มีคนดูซ้ำเยอะมาก บางคนดูซ้ำถึง 16 รอบ มีสินค้าวางขายมากมาย กิจกรรมหลายอย่าง ป้ายบิลด์บอร์ดโฆษณาขนาดใหญ่บนตึก โตโฮ ซินีมาส์ กลางชินจูกู (ที่สงวนให้สำหรับหนังเด่นที่คาดว่าจะกวาดรายได้เท่านั้น) คนต่อคิวเยอะมาก ที่นั่งเต็ม จนต้องขยายโรงเป็น 400 ที่นั่ง และเพิ่มเป็น 5 รอบต่อวัน เปิดตัวอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น”

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเราคู่กัน ยังทำให้ชาววายญี่ปุ่น ย้อนกลับไปดูซีรีส์วายไทยเก่า ๆ ก่อนหน้านี้อีกหลายเรื่อง ส่งผลให้นิยาย เพราะเราคู่กัน, โซตัส พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง, นิทานพันดาว, พฤติกรรมที่ตาย, ด้ายแดง 5 เล่มนี้ถูกญี่ปุ่นซื้อไปแปลเป็นฉบับภาษาญี่ปุ่น และกลายเป็นมังงะ

มีหลายกระแสในญี่ปุ่น เชื่ออีกด้วยว่า เพราะความปังของ เพราะเราคู่กัน ที่มาในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้เดือนกันยายนปีนั้น ช่องTV Tokyo ประกาศว่าซีรีส์ช่วงต้นฤดูหนาว ที่ปกติมักเป็นโทนอบอุ่น จะเป็นครั้งแรกที่เป็นซีรีส์วาย และเรื่องนั้นคือ Cherry Magic! (ถ้า 30 ยังซิง! จะมีพลังพิเศษ-ดัดแปลงจากมังงะปี2018) ที่แม้จะเป็นเรื่องคู่หนุ่ม-หนุ่มในวัยทำงาน แต่มีองค์ประกอบหลายอย่างคล้ายคลึง เพราะเราคู่กัน เป็นอย่างมาก อาทิ พระเอกรักนายเอกตั้งแต่แรก แต่นายเอกไม่เคยรู้ตัวเลย จนกระทั่งวันเกิดครบ 30 ของนายเอก ซึ่งเขายังรักษาความซิงมาได้ ทำให้เขามีพลังพิเศษได้ยินเสียงคิดในใจของคนรอบข้าง เขาถึงเพิ่งมาสังเกตได้ว่าพระเอกแอบรักเขา แต่เพราะความเป็นเพศชายด้วยกัน นายเอกจึงพยายามปฏิเสธตลอด ทั้งที่ตัวเองก็เริ่มมีใจให้พระเอกแล้วเหมือนกัน

เมื่อรัฐหวังใช้สื่อบันเทิงกู้สภาพเศรษฐกิจ

สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่งจะมาทำในเวลานี้ ด้วยการพยายามขายคอนเทนต์สู่ตลาดโลก ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นสำเร็จมาแล้วในเกาหลี สมัยประธานาธิบดีลำดับที่ 7 คิม ย็อง-ซัม (1993-1998) ที่ถือว่าเป็นคนแรกที่มาจากฝ่ายพลเรือน หัวก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการทหารแบบ 6 คนที่ผ่านมานับตั้งแต่หลังสงครามเกาหลี (1950-1953) และคุณูปการแรกของท่านคือการฟังเสียงประชาชน ด้วยการระดมสมองจากหลายฝ่าย ทุกชนชั้น มาหารือกันรื้อฟื้นประเทศที่พังพินาศหลังจากช่วงสมัยเผด็จการ จนแทบไม่มีใครรู้จักประเทศเกาหลีเลยในเวลานั้น กระทั่งในปี 1994 ท่านก็ได้รับคำชี้แนะให้สนับสนุนการผลิตสื่อต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การส่งออกของเกาหลี

สิ่งที่ทำให้ท่านยอมรับไอเดียนี้ เกิดจากมีผู้เสนอว่า “รายได้รวมของหนังฮอลลีวูด Jurassic Park (1993) เพียงเรื่องเดียวมีมากกว่ายอดขายรถฮุนได 1.5 ล้านคันรวมกัน” การเปรียบเทียบนี้ส่งผล อย่างมากให้ท่านประธานาธิบดีเปลี่ยนโฟกัสไปที่วัฒนธรรม ให้เป็นอุตสาหกรรมที่ส่งออกได้ ท่านจึงสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดตั้งสำนักอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาภาคสื่อของประเทศ และสนับสนุนให้นักลงทุนจำนวนมากขยายการลงทุนไปสู่ภาพยนตร์และสื่อต่าง ๆ และวางรากฐานได้สำเร็จภายในสิ้นปี 1995

ผลงานที่เกิดขึ้นภายในสมัยการปกครองของ คิม ย็อง-ซัม คือ เทศกาลหนังบูซาน ที่เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 1996 ก่อนจะมีเทศกาลนี้ เทศกาลใหญ่ในแถบเอเชีย คือเทศกาลหนังโตเกียว และฮ่องกง แต่หลังจากเทศกาลเมืองบูซานเกิดขึ้น เกาหลีก็ขึ้นแท่นเทศกาลยิ่งใหญ่และดีที่สุดในแถบภูมิภาคนี้ ทั้ง ๆ ที่เลือกช่วงเวลาต้นหนาว อันเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยนิยมไปเกาหลีเพราะสภาพอากาศแปรปรวนเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวฝน แต่เพียงครั้งแรกก็มีผู้ร่วมเทศกาลนี้มากถึง 184,071 คน ท่ามกลางวิกฤติต้มยำกุ้งที่รุดคืบเข้ามาจนฟองสบู่แตกโป๊ะในปี1997 เกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวที่ยืนหนึ่งรอดมหันตภัยทางเศรษฐกิจครั้งนั้นมาได้

ไม่เพียงเท่านั้น ในอีก 2 ปีต่อมา Christmas in August (1998) หนังรักเรียบง่ายลึกซึ้งกินใจ ก็กวาดรายได้สูงสุดในประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากเดิมที่ผู้ชมดูแต่หนังฮอลลีวูด หนังเรื่องนี้ได้ปลุกกระแสนิยมหนังเกาหลีขึ้นอย่างล้นหลาม จนเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรก ๆ ที่ได้เข้าโรงฉายในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และฮ่องกง แถมในปีเดียวกันนั้น The Power of Kangwon Province (1998) ยังคว้ารางวัล Special Mention ในสายประกวด Un Certain Regard จากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาได้สำเร็จอีกด้วย

และแน่นอนว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ ไม่ได้บริหารประเทศแบบไทย ๆ ที่พอรัฐประหารล้มรัฐบาลเก่าที หรือจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่เลือกตั้งแต่ละที ก็เปลี่ยนนโยบายพัฒนาชาติของรัฐบาลชุดก่อนหน้าไปเสียเหี้ยน แต่เกาหลีใต้สืบสานนโยบายใดก็ตามที่ดีอยู่แล้วให้เติบโตงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก ในสมัยประธานาธิบดี คิม แด-จุง (1998-2003)

ผลงานของ คิม แด-จุง ตามรายงานของ The New York Times (ฉบับ 29 มิถุนายน 2005) ได้เล่าว่า “ปี1998 เกาหลีใต้เริ่มยกเลิกนำเข้าวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นอันเป็นอดีตผู้ปกครองอาณานิคม โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดการรุกคืบทางวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผ่านภาพยนตร์ แอนิเมะ มังงะ และ เจ-ป๊อป เพื่อเกาหลีจะได้สร้างสไตล์ของตนเอง ปีนั้นกระทรวงวัฒนธรรมได้ร้องขอเพิ่มงบประมาณจำนวนมาก เพื่อให้มีการสร้างแผนกอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 300 แผนกในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ”

ปี1999 Shiri หนังสายลับเกาหลีเหนือแฝงตัวมาทำภารกิจวางระเบิดในฝั่งใต้ ทำรายได้แซง Titanic อย่างที่ไม่เคยปรากฎในประเทศใดมาก่อน ในปีถัดมา Autumn in My Heart (2000) ละครเรียกน้ำตาความรักระหว่างพี่ชายกับน้องสาวป่วย ๆ พล็อตน้ำเน่าสุด ๆ แต่เกาหลีกลับหยิบมาเล่าได้อย่างตรึงใจ กลายเป็นกระแส Korean Wave ระลอกแรก ที่ใคร ๆ ก็อยากไปตามรอยสถานที่สวย ๆ ในเรื่องนี้ เมื่อซีรีส์นี้ถูกนำไปฉายทั่วเอเชีย รวมทั้งไทยในชื่อ รักนี้ชั่วนิรันดร์ ตามด้วยวงบอยแบนด์ H.O.T ขึ้นแท่นเป็นเบอร์แรกที่ตั๋วคอนเสิร์ตเกลี้ยงยกแผงในปักกิ่ง และปีถัดไป My Sassy Girl (2001) ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยมก็ทำรายได้ถล่มทะลายทั่วเอเชีย

ปี2002 BoA ผู้ได้รับฉายาว่า ราชินีเคป๊อป ได้คลายนโยบายคว่ำบาตรระหว่างเกาหลี-ญี่ปุ่น ด้วยอัลบัม Listen to My Heart ของเธอที่มียอดขายทะลุล้านแผ่นในญี่ปุ่น Winter Sonata (เพลงรักในสายลมหนาว) ซีรีส์เรียกน้ำตาฮิตทั่วเอเชีย แฟนคลับในญี่ปุ่นตั้งฉายา แบ ยอง-จุน พระเอกเรื่องนี้ว่า “เจ้าชาย” และส่งท้ายปีเก่าด้วยมินิซีรีส์ที่ดึงเอาสุดยอดดาราจาก 2 ฝั่งประเทศ เคียวโกะ ฟุคาดะ มาประกบกับ วอนบิน ใน Friends (2002)

ปิดท้ายสมัยรัฐบาล คิม แด-จุง ด้วยการมาถึงของสุดยอดบอยแบนด์ในตำนาน TVXQ ทงบังชิงกิ หนัง Oldboy (2003) คว้ารางวัลกรังปรีซ์ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และ ซีรีส์ Dae Jang Geum (2003) จอมนางแห่งวังหลวง ก็ทำให้ทั่วโลกหันมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาหารของเกาหลี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใน 10 ปีในช่วงยุคแค่ 2 ประธานาธิบดี ขณะที่ประเทศไทยช่วงพีเรียดเดียวกัน เปลี่ยนผ่านไปแล้ว 5 รัฐบาลที่จบลงด้วยการ ยุบสภา 3 ครั้ง ลาออก 1 ครั้ง และรัฐประหารอีก 1 ครั้ง

แน่นอนว่าเนื้อหาที่รัฐบาลเกาหลีผลักดัน ไม่ใช่ประเด็นแบบLGBTQ อย่างที่เคยเล่าไปแล้วในบทความก่อน ว่าสังคมเกาหลียังคงต่อต้านประเด็นนี้ แต่ซีรีส์วายยังมีผลิตอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพดีในเกาหลี และหลายเรื่องรัฐบาลก็สนับสนุนผลักดันไปสู่เวทีโลก

และสิ่งแรกที่เกาหลีใต้ทำ คือผลักดันกองทัพออกจากอำนาจปกครองประเทศ แล้วหันไปฟังเสียงประชาชนเจ้าของอำนาจสูงสุด ผู้จ่ายเงินภาษีเพื่อพัฒนาประเทศได้ถูกได้ควรอย่างที่ประชาชนต้องการ

หันกลับมามองไทย ที่ชาวบ้านต้องพินอบพิเทา คุณท่านเขาจะยึกยักไปซ้ายทีขวาทีก็อย่าได้หืออย่าได้อือ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์บอกจะสนับสนุน แต่ทุกวันนี้ กสทช.หรือกระทรวงวัฒนธรรม ยังบังคับให้ซีรีส์LGBTQ ต้องขึ้นคำเตือนอยู่เลยว่า “เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไม่ควรลอกเลียนแบบ” บางช่องเติม(ด้วยความหวาดกลัวเพราะเคยถูกฟ้องร้อง)ด้วยว่า “มิได้มีเจตนา ชี้นำ ชักจูง ให้เกิดค่านิยมทางเพศแบบผิดศีลธรรมอันดีของสังคม และเกิดทัศนคติในทางลบต่อเพศใดเพศหนึ่ง”

ขณะสิ่งที่รัฐบอกว่าส่งเสริม ก็คือแค่ต่อสายออนไลน์กับบริษัทต่างชาติ โดยไม่ลงทุนอะไรเลย เพราะถ้าหันกลับไปเบิ่งดูเกาหลี รัฐเขาลงทุนตั้งแต่สนับสนุนโรงเรียนสอนสื่อบันเทิง สร้างโรงถ่าย แปลซับภาษาต่าง ๆ ให้ทุนส่งไปประกวดในเทศกาลต่างชาติ ให้ทุนตั้งต้นทำหนังทำซีรีส์ โดยไม่มีเงื่อนไขด้วยว่าต้องเป็นสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ (เพราะเจ้าใหญ่นายโตเมืองดัดจริตบางท่าน อาจมองว่าเนื้อหาแบบวาย “ไม่ใช่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์” ในสายตาท่าน) คือรัฐบาลเผด็จการประเทศนี้หวังจะจับเสือมือเปล่าในทุกช่องทาง แถมยังฉลาดน้อยในการออกมาตรการต่าง ๆ ที่จัดได้ว่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำ เช่น ล่าสุดในสถานการณ์โควิด ก็ประกาศเปรี้ยงไม่ทันให้ตั้งตัวว่า “ห้ามให้ออกกองถ่ายในที่สาธารณะ ส่วนในสตูดิโอสามารถถ่ายทำได้แต่ต้องไม่เกิน 5 คน…นะจ๊ะ”

นี่ยังไม่นับกลุ่มเกมที่ท่านปากบอกจะผลักดันสู่ตลาดโลก แต่เกมดีดีส่งเสริมวัฒนธรรมไทย อย่าง Home Sweet Home กลับถูกกระทรวงวัฒนธรรมปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับท่ารำ และเครื่องดนตรีไทย หรือ อย่างเกมเมอร์ระดับโลก กลับต้องอดไปแข่งเพราะอุปกรณ์ไปค้างเติ่งอยู่ที่กรมศุลกากร

“โปรดอ่านไลน์กลุ่มกันบ้างจะได้ไม่สวนทางระเนระนาดวอดวายรายวันขนาดนี้…นะจ๊ะ”