ThaiPublica > คอลัมน์ > Family The Unbreakable Bond ด้านมืดหน่วยสืบราชการลับเกาหลีใต้

Family The Unbreakable Bond ด้านมืดหน่วยสืบราชการลับเกาหลีใต้

28 พฤษภาคม 2023


1721955

เพิ่งจบไปหมาด ๆ สำหรับซีรีส์เกาหลี Family The Unbreakable Bond (2023) เป็นซีรีส์ที่นอกจากเป็นการกลับมาพบกันในรอบ 9 ปีแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ 4 อีกด้วยที่คู่พระนาง จาง ฮยอก กับ จาง นา-รา มารับบทคู่กัน นับตั้งแต่ Bright Girl’s Success (2002), You Are My Destiny (2014) และซีรีส์สั้นตอนเดียวจบฉายช่วงส่งท้ายปีเก่า Drama Festival 2014: Old Goodbye (2014)

Family The Unbreakable Bond เป็นซีรีส์สายฮาเล่าเรื่องคู่สามีภรรยาที่แต่งงานอยู่กินกันมาหลายปี จนมีลูกสาวสุดแสบด้วยกันหนึ่งคน บ้านนี้ประกอบไปด้วยน้องชายพระเอกตัวป่วนกับเมียที่กำลังตั้งท้องอ่อน ๆ และพ่อของพระเอก โดยในช่วงแรกคนดูจะแทบไม่รู้กำพืดฝ่ายนางเอกเลย และสิ่งที่คนดูจะรู้แต่คนทั้งบ้านไม่เคยรู้มาก่อนคือ พระเอกทำงานอยู่ในหน่วย NIS ของรัฐบาลเกาหลีใต้…แต่นั่นไม่ใช่ความลับหนึ่งเดียวของเรื่อง เพราะยังมีเซอร์ไพร์สใหญ่รออยู่อีกตรงกลางเรื่อง

คือแม้ซีรีส์เรื่องนี้จะฮาจัด แต่อีกด้านหนึ่งมันเป็นพล็อตแอ็คชั่นสายลับ ตัวพระเอกจาง ฮยอก นอกจากจะเป็นพ่อในบ้านแล้ว นอกบ้านเขาคือพลแม่นปืนลอบสังหารฝีมือดี ที่คนดูอย่างเราคงคิดว่าโม้ฉิบเป๋ง แต่เราอยากจะบอกว่าถึงซีรีส์นี้จะเล่าได้แบบฮาปอดโยกบวกกับบู๊สนั่นหักหลังกันไปมา แต่เรื่องจริงของหน่วย NIS นั้นดำมืดกว่าที่เห็นในซีรีส์มาก

NIS หน่วยสืบราชการลับเกาหลีใต้

ถ้าใครยังจำได้ถึงข่าวอื้อฉาวสนั่นโลกเมื่อปี 2016 กรณีนางพัค กึน-ฮเย ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่เป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียว ทั้งยังเป็นบุตรีอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการทหาร พัค ช็อง-ฮี (หรือที่บ้าเราเรียก ปักจุงฮี) ถูกตั้งข้อหามากถึง 18 ข้อ ทั้งบังคับข่มขู่ ใช้อำนาจในทางมิชอบ ทุจริตคอร์รัปชัน และหนึ่งในนั้นคือการรับสินบนจากหน่วยสืบราชการลับ (NIS) ที่นางพัคถูกกล่าวหาว่าได้รับมากถึงเดือนละ 50-200 ล้านวอน (ราว 1.5-6.1 ล้านบาท) ทุกเดือนนับตั้งแต่เข้าพิธีสาบานตนเมื่อปี 2013 จนถึงช่วงกลางปี 2016 รวมคิดเป็นเงินไทยราว 82 ล้านบาท หนำซ้ำนางยังถูกสื่อท้องถิ่นระบุว่าเงินจำนวนนี้นางพัคนำไปใช้ฉีดโบท็อกซ์ ซื้อสินค้าแบรนด์เนม และมือถือแจกเพื่อนพ้อง ซึ่งสุดท้ายในเดือนเมษายน 2018 กรณีฉ้อโกงทั้งสิ้นของนางพัคคิดเป็นเงินรวมกันราว 673 ล้านบาททำให้เธอในวัย 68 ปี ถูกโทษปรับ 526 ล้านบาท และจำคุกอีก 24 ปี ภายหลังถูกเพิ่มโทษเป็น 25 ปี และยังบวกคดีอื่นอีก 7 ปี อย่างไรก็ตามล่าสุดช่วงปลายปี 2021 นางพัคได้รับการนิรโทษกรรมจากอดีตประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ตามกระบวนการปรองดองแห่งชาติ สิริรวมติดคุกไปจริง ๆ แค่ 4 ปี 9 เดือน แต่นี่ยังแค่น้ำจิ้ม NIS ยังเคยร่วมคดีฉาวอีกเป็นกระบุง

[ในสมัยที่ พัค กึน-ฮเย ชนะการเลือกตั้ง NIS รณรงค์สนับสนุนนางพัค และต่อต้าน มุน แจ-อิน ในทุกทาง โดยเฉพาะการปล่อยข่าว บิดเบือนข่าว เฟคนิวส์ และเสี้ยมปั่นกระแสทางโซเชียล (เหมือน IOบ้านเราเลยจ้า)]
(จากซ้ายไปขวา) ตราสัญลักษณ์ KCIA / ANSP/NIS ทั้งหมดคือหน่วยงานเดียวกันเพียงแค่เปลี่ยนชื่อ

National Intelligence Service (NIS) คือชื่อปัจจุบันของ Korean Central Intelligence Agency (KCIA) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 ในช่วงการปกครองของสภาสูงสุดทางทหาร (แปลง่าย ๆ ว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร) ของประธานาธิบดี พัค ช็อง-ฮี แล้วอันที่จริงหน่วยงานนี้ปรากฏตัวตนขึ้นในวันที่พัค ช็อง-ฮี ทำรัฐประหารรัฐบาลชุดก่อนหน้าเขา (และไม่กี่วันหลังจากนั้นก็ตั้งสำนักงานโดยเจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดมาจากหน่วยข่าวกรอง และจากกระทรวงความมั่นคงรวมสี่หมื่นคน จากรัฐบาลชุดก่อน เพื่อควบคุมผู้สื่อข่าวทั้งประเทศกว่าล้านคน มีหัวหน้าใหญ่เป็นหลานเขยของ พัค ช็อง-ฮี) ด้วยข้ออ้างเพื่อการฟื้นฟูความมั่นคงของชาติ (คุ้น ๆ มั้ย…เราจะทำตามสัญญา)

หน้าที่เดิมของ KCIA คือการกำกับดูแลและประสานงานทั้งกิจกรรมข่าวกรองระหว่างประเทศและในประเทศ ไปจนถึงการสืบสวนอาชญากรรมโดยหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลทั้งหมด รวมทั้งของกองทัพ อำนาจที่กว้างขวางของหน่วยงานอนุญาตให้แทรกแซงทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตัวผู้สืบราชการลับต้องผ่านการฝึกอบรมและตรวจสอบเป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ พวกเขาเป็นหัวโจกสนับสนุนการทำรัฐประหารหลายครั้ง รวมถึงในเหตุการณ์ล้อมฆ่าสังหารหมู่นักศึกษา-ประชาชนที่กวางจูในปี 1980 ด้วย

ในปี 1981 หน่วยงานนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Agency for National Security Planning (ANSP) ภายใต้แผนพัฒนาของกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติภายใต้ประธานาธิบดีเผด็จการทหารอีกคนหนึ่ง คือ ชุน ดู-ฮวาน ที่นอกเหนือจากการพยายามสืบหาข่าวกรองเกี่ยวกับเกาหลีเหนือแล้ว ยังทำหน้าที่ปราบปรามนักเคลื่อนไหวและผู้ชุมนุมทางการเมืองชาวเกาหลีใต้เองแล้ว ANSP ยังมีส่วนร่วมอย่างมากในกิจกรรมนอกขอบเขตของตน เช่น การเมืองภายในประเทศ การแบนการเซ็นเซอร์บิดเบือนข่าวสาร ปั่นเฟคนิวส์ (เหมือน IO บ้านเราเลยเนอะ) และการจัดการในช่วงกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ในระหว่างการดำรงอยู่ของ ANSP พวกเขามีส่วนร่วมในหลายกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การอุ้มหาย การซ้อมทรมาน ไปจนถึงการแทรกแซงการเลือกตั้ง และลอบสังหาร ฯลฯ

ในปี 1999 หน่วยงานเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน ในช่วงที่มีประธานาธิบดีมาจากฝ่ายพลเรือน เอาทหารออกไปจากการเมือง และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ปัจจุบัน NIS ถูกลดบทบาทลงอย่างมากเพื่อโต้ตอบกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนเกี่ยวกับการละเมิดและความเลวร้ายต่าง ๆ ที่หน่วยงานนี้เคยทำมาในอดีต

Blind (รูปซ้าย) The Good Bad Mother (รูปขวา)

โซลโอลิมปิก 1988

ว่าแต่กีฬาโอลิมปิกเกี่ยวอะไรกับหน้าที่ของหน่วยสืบราชการลับ อยากให้ย้อนไปถึงซีรีส์ Blind (2022) ที่เราเคยเขียนไปใน บทความเก่า เล่าถึงกรณีที่ชุนดูฮวานต้องการจัดการพื้นที่เมืองให้สะอาด ด้วยการกวาดล้างกว้านจับคนไปอยู่ในศูนย์พักพิง ที่กลายเป็นว่าหนึ่งในนั้นเป็นศูนย์ใช้แรงงานทาสและก่ออาชญากรรมในหมู่เด็ก

รวมถึงถ้าใครดูซีรีส์ The Good Bad Mother (2023) ที่ออกฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันอยู่ตอนนี้(ยังไม่จบ) ตอนต้นเรื่องมีการเล่าเหตุการณ์ว่ารัฐบาลจะถ่ายทอดสดพิธีวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกปี 1988 ซึ่งหนึ่งในเส้นทางที่ผู้วิ่งจะผ่าน คือโรงเล้าหมูของครอบครัวพระเอก รัฐบาลจึงส่งคนมาเจรจาให้ย้ายโรงหมูนั้นออกไปเพื่อปรับทัศนียภาพให้พร้อมสำหรับการวิ่งคบเพลิงที่จะมีการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมไปยังอเมริกาด้วย

ช่างเป็นการเขียนบทที่แดกดัน เพราะอเมริกาเองเป็นประเทศแรกที่มีหน่วย CIA (ก่อตั้งเมื่อปี 1947) ที่นอกจากจะสืบราชการลับแล้ว ยังมีส่วนร่วมสนับสนุนการทหารในหลายประเทศ(รวมถึงไทยด้วยในนาม กอ.รมน.)ด้วยข้ออ้างในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ใน The Good Bad Mother คนที่มาเจรจานั้นมาในนามหน่วยงานของรัฐ หรือ ANSP อีกที ที่ในซีรีส์เล่าว่าพวกเขาลอบวางเพลิงเล้าหมู ไปจนถึงอุ้มฆ่าจับพ่อพระเอกไปแขวนคอแล้วให้ร้ายว่าเขาผูกคอฆ่าตัวตายเอง เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง แต่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นจริงในสังคมเกาหลีใต้

คิม แด-จุง ขณะรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโลก

ผลงานเด่นด้านมืดของหน่วยสืบราชการลับ

**ออกตัวไว้ก่อนว่าในส่วนต่อไปนี้ทั้งหมดไปจนจบ ผู้เขียนพยายามรวบรัดเหตุการณ์อย่างย่นย่อ ในความเป็นจริงมีความสลับซับซ้อนและเหตุการณ์คาบเกี่ยวกันทางการเมืองอีกหลายชั้นมาก

บนเวทีรางวัลโนเบล ในปี 2000 อดีตประธานาธิบดี คิม แด-จุง ผู้ได้ฉายาว่า เนลสัน แมนเดลาแห่งเอเชีย คนเกาหลีหนึ่งเดียวที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโลก เขากล่าวบนเวทีว่า “ในเดือนสิงหาคม 1973 ขณะลี้ภัยในญี่ปุ่น ผมถูกลักพาตัวจากห้องพักโรงแรมในโตเกียวโดยเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลทหารเกาหลีใต้ในขณะนั้น ข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มกระหึ่มโลก เจ้าหน้าที่ KCIA พาผมไปที่เรือของพวกเขาที่ทอดสมออยู่ตามชายทะเล พวกเขามัดผม ปิดตาและปิดปากผม และกำลังจะโยนผมลงทะเล…”

คิมรอดชีวิตมาได้จากการช่วยเหลือของอัครทูตสหรัฐประจำกรุงโซล แต่หลังจากกลับสู่เกาหลี คิมก็ถูกกักบริเวณไว้ในบ้านทันที กรณีของคิม แด-จุง ต้องย้อนกลับไปในปี 1968 เมื่อเจ้าหน้าที่ KCIA ลักพาตัวกลุ่มผู้ประท้วงชาวเกาหลีลี้ภัย 17 คนมาจากเยอรมันตะวันตก กลับมาเกาหลีก็ถูกซ้อมทรมาน ถูกป้ายสีดำเนินคดีด้านละเมิดความมั่นคงต่าง ๆ ไปจนถึงกับถูกกล่าวหาว่าแปรพักตร์เป็นคอมมิวนิสต์ไปร่วมกับพวกเกาหลีเหนือ เมื่อเห็นถึงความชั่วร้ายของเผด็จการขนาดนี้ทำให้คิมเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านแล้วลงสมัครเลือกตั้งสภานิติบัญญัติจนเกือบจะถูกฆ่าโยนทะเลอย่างที่เขาเล่าบนเวทีโนเบล

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คิมเกือบจะถูกสังหาร ย้อนกลับไปในปี 1971 ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ รถของคิมถูกรถบรรทุกคันหนึ่งพุ่งเข้าชนจนคิมต้องเดินกระเผลกไปตลอดชีวิตนับจากนั้น โดยไม่ต้องสืบเลยว่าเป็นอีกหนึ่งในแผนการของเหล่า KCIA สุดท้ายการเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะพัค ช็อง-ฮี ทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เป็นการรัฐประหารรัฐบาลตัวเองในปี 1972 เปิดทางไปสู่ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ ทำให้คิม แด-จุง ต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่นในที่สุด

[หลังจาก พัค ช็อง-ฮี เสียชีวิต เผด็จการสือบทอดอำนาจ ชุน ดู-ฮวาน ก็ทำรัฐประหารอีกครั้ง (ถึงเกาหลีจะรัฐประหารบ่อยในช่วงเผด็จการทหาร แต่ก็ยังพ่ายให้กับประเทศไทยนะจ๊ะ ไทยเราครองสถิติรัฐประหารสูงที่สุดในเอเชียจ้า และอยู่ในอันดับสามของโลก) ไปสู่การตัดสินประหารชีวิตคิม แด-จุง ถึงขนาดพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ต้องร่อนจดหมายมาขอความเมตตาด้วยว่าคิมเป็นคาทอลิก สุดท้ายในปี 1982 คิม ก็ถูกเนรเทศไปสหรัฐ จนผ่านไปอีกหลายปี ชุนดูฮวานก็ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตเมื่อประเทศเกาหลีใต้เริ่มเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และประชาชนลุกฮือขึ้นเรียกร้อง ตอนนั้นคิมได้กลับเกาหลีแล้ว จนในปี 1996 ช่วงปลายสมัยประธานาธิบดี คิม ย็อง-ซัม ก็มีการนิรโทษกรรมให้ ชุน ดู-ฮวาน ตามคำแนะนำของ คิม แด-จุง ทั้งที่ครั้งหนึ่ง ดู-ฮวาน เคยพยายามจะประหารชีวิตแด-จุง แต่แด-จุงกลับขอโอกาสให้ ดู-ฮวาน ออกจากคุกเพื่อเห็นแก่ “จิตวิญญาณแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในชาติ” แล้วในการเลือกตั้งครั้งนั้นเองในปี 1997 คิม แด-จุง ก็ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี]

การลอบสังหารพัค ช็อง-ฮี

คงไม่มีผลงานใดของ KCIA จะโดดเด่นเท่านี้อีกแล้ว เมื่อประธานาธิบดีจอมเผด็จการทหาร พัค ช็อง-ฮี ถูกลอบสังหารโดยผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับของเขาเอง คิม แจ-กยู และทั้งคู่เป็นเพื่อนซี้กัน ทุกวันนี้เกาหลียังคงเสียงแตก พวกหนึ่งยกย่อง แจ-กยู ว่าเป็นผู้รักชาติอย่างแท้จริงที่ก่อการเพื่อยุติระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ยาวนาน 18 ปี (สองเท่าของลุงตู่บ้านเรา ที่เคยหลอกพวกเราว่าขอเวลาอีกไม่นานแต่จนบัดนี้ยังไม่อำลาตำแหน่ง) ส่วนคนอีกฟากหนึ่งมองว่า แจ-กยู คือคนทรยศที่ฆ่าเพื่อนสนิทผู้มีพระคุณ

หลังจากพัค ช็อง-ฮี ทำรัฐประหารในปี 1961 เพื่อความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ เขาจึงจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1963 ด้วยการเลือกตั้งที่มีความผิดปกติหลายอย่างยิ่งกว่าบัตรเขย่งบ้านเรา และชนะมาได้ด้วยจำนวนเสียงเฉียดฉิวกับคู่ต่อสู้ แต่ในที่สุดช็อง-ฮี ก็ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 1971 เมื่อเขาได้รับความนิยมมากมายจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะการได้เงินสนับสนุนจากกลุ่มทุนเชบอลที่ร่ำรวยมาในช่วงประเทศย่อยยับ (เหมือนกลุ่มทุนเจ้าสัวร้านสะดวกซื้อ ไปจนบะหมี่กึ่งผงซักฟอก เหล้าเบียร์ น้ำมัน ไฟฟ้า ฯลฯ ที่ผูกขาดตลาดในไทยอยู่ตอนนี้รวยเอา ๆ แต่ประชาชนกลับจนลง ๆ) ที่ต่อมาในปี 1972 ช็อง-ฮี ได้ประกาศกฎอัยการศึกแล้วรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง ก่อนจะสถาปนารัฐธรรมนูญยูชินที่มีความเผด็จการอย่างยิ่งขึ้นมาด้วย อันเป็นการเปิดทางให้ ช็อง-ฮี จะอยู่ในอำนาจต่อไปได้เรื่อย ๆ

คือ 1.ยกเลิกการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงแบบ 1 สิทธิ์ 1 เสียงกลายเป็นการเลือกตั้งผ่านผู้แทน ซึ่งผู้แทนเกือบทั้งหมดเป็นคนที่พัค ช็อง-ฮีคัดสรรมาแล้ว 2.จัดสรรที่นั่ง 1 ใน 3 ของรัฐสภาให้กับประธานาธิบดี(คล้ายสว.250เสียง) 3.ให้อำนาจประธานาธิบดีในการออกพระราชกฤษฎีกาฉุกเฉินและสามารถระงับรัฐธรรมนูญ 4.ให้อำนาจประธานาธิบดีในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลทั้งหมด (อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญบ้านเราได้รับการแต่งตั้ง) และยกเลิกสภาแห่งชาติ 5.ยกเลิกวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากเดิมต้องมีการเลือกตั้งทุก 4 ปี ไปสู่การเป็นประธานาธิบดีไปได้เรื่อย ๆ

ภายหลัง แจ-กยู ให้การในชั้นศาลว่าสาเหตุของการก่อการคือรัฐธรรมนูญฉบับยูชิน อีกประการหนึ่งกลายเป็นว่า แจ-กยู ในฐานะผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง แต่เขาสนิทกับ จาง จุน-ฮา ผู้นำขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย ผู้เป็นสมาชิกสภาฝ่ายค้านด้วย แต่ภายหลัง จุน-ฮา ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีด้วยข้อหาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐธรรมนูญยูชิน อย่างไรก็ตาม จุน-ฮา กลับเสียชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำในปี 1975 เมื่อ แจ-กยู ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการ KCIA ในปี 1976 แจ-กยู ได้ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวของจุน-ฮาอย่างลับ ๆ

คิม แจ-กยู ขณะถูกนำตัวขึ้นสู่ศาล

ในปี 1978 พรรค NDP ชนะการเลือกตั้ง แม้ว่า พัค ช็อน-ฮี จะทุ่มเงินอย่างหนักในการควบคุมสื่อและสถาบันทั้งหมดของรัฐบาล แต่ก็ยังพ่ายแพ้ต่อ NDP เนื่องจากประชาชนแห่กันออกมาเลือกตั้งด้วยความเบื่อลุง เอ๊ย เบื่อขี้หน้าพัค ช็อง-ฮี เต็มทน เพราะอยู่ในวาระนานเกินไปแล้ว แต่ด้วยเสียงหนึ่งในสามในสภา(ผลพวงจากรัฐธรรมนูญยูชิน เหมือนเสียงสว.บ้านเรา)ของ พัค ทำให้เขายังคงดำรงอยู่ในตำแหน่ง กระทั่งเดือนพฤษภาคม 1979 เมื่อคิม ยอง-ซัม ได้ขึ้นมาเป็นประธานพรรค NDP เขาประกาศกร้าวว่า “มีลุงไม่มีเรา” เอ๊ย “เราจะไม่ประนีประนอมกับเผด็จการทหารอีก จนกว่าพัคจะยกเลิกรัฐธรรมนูญยูชิน” แต่แล้วพัคก็ใช้กลโกงให้ศาลออกคำสั่งถอดถอน คิม ย็อง-ซัม ออกจากตำแหน่งประธานพรรค(คล้ายถอดธนาธรและยุบพรรคอนาคตใหม่)

คิม ย็อง-ซัม หันไปให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทม์ ส่งสารไปยังสหรัฐ เรียกร้องให้อเมริกาเลือกระหว่างการสนับสนุนเผด็จการ หรือจะหันมายืนข้างประชาชนเกาหลี ส่งผลให้พัค ช็อง-ฮีสั่งขับคิม ย็อง-ซัมออกจากสภา ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต้าน พัค ช็อง-ฮี ในเหตุการณ์ที่เรียกว่าการประท้วง ปู-มา คือในเมืองปูซาน และมาซัน เกิดการจราจลประท้วงใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญยูชิน ทำให้ คิม แจ-กยู ออกมาปรามพัค ช็อง-ฮี แต่พัคไม่ฟังและตอบโต้ว่าหากสถานการณ์เลวร้ายลงเขาจะประกาศสั่งยิงประชาชน

ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีอีกหนึ่งปัจจัยคือ ชา จี-ชอล หัวหน้าฝ่ายองครักษ์ เขารับใช้พัคมานานแล้วกลายเป็นที่ปรึกษาคนสนิท เป็นฝ่ายเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงรถถังด้วย ชา จี-ชอลเสี้ยม พัค ให้ไม่ไว้ใจ คิม แจ-กยู เพื่อเปิดทางให้ ชา มีอำนาจในการสั่งการปราบประชาชนได้โดยตรง ส่งผลให้ชาเข้ามาแทนที่ คิม แจ-กยู จนกลายเป็นความแค้นส่วนตัวนับตั้งแต่เพื่อนรักอย่าง จาง จุน-ฮา เสียชีวิตปริศนา ไปจนการเข้ามาแทนที่ของ ชา จี-ชอล ไปจนถึงแนวโน้มที่พัคจะใช้ความรุนแรงปราบกลุ่มผู้ประท้วงที่ ปู-มา

26 ตุลาคม 1979 ระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ พัค ช็อง-ฮี จ้างนักร้องเพลงทร็อตและนักร้องเกาหลีเคยดังสองคนมานั่งดริงค์เอ็นเตอร์เทน ส่วน คิม แจ-กยู ผู้อำนวยการ KCIA ก็ตัดสินใจควักปืนพกกึ่งอัตโนมัติวอลเธอร์ พีพีเค กับ ปืนลูกโม่ สมิธแอนด์เวสสัน รุ่น 36 เปิดฉากยิงจนสุดท้ายมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ได้แก่ ประธานาธิบดีเผด็จการทหาร พัค ช็อง-ฮี, หัวหน้าฝ่ายองครักษ์จอมเลียท็อปบูต ชา จี-ชอล, บอดีการ์ด 3 คน และคนขับรถอีก 1 คน

การเสียชีวิตของ พัค ช็อง-ฮี นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ที่กวางจูที่จบลงด้วยการนองเลือด หลังจาก ชุน ดู-ฮวาน ลุกขึ้นทำรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก่อนที่จะมีการตัดสินประหารชีวิต คิม แจ-กยู และพรรคพวกรวมทั้งหมด 6 คนที่อยู่ในคืนยิงสังหารพัค ช็อง-ฮี

หนังสังหารพัค ช็อง-ฮี

The President’s Last Bang (2005 รูปซ้าย) หนังเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกเปิดตัวในเทศกาลหนังเมืองคานส์ในส่วนของ Director’s Fortnight (เป็นส่วนของการประกวดอิสระที่จัดแยกออกมาต่างหากโดยสมาคมผู้กำกับฝรั่งเศสในช่วงเทศกาลคานส์) ดาร์กคอมิดี้เสียดสีเล่าเหตุการณ์ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเหตุการณ์สังหารพัค ช็อง-ฮี และเหตุการณ์หลังจากนั้น อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้ถูกฟ้องร้องจาก พัค จี-มัน ลูกชายคนเดียวของเผด็จการพัคในปีเดียวกับที่ออกฉาย ทำให้หนังต้องเซ็นเซอร์ในส่วนของภาพฟุตเทจจริงที่นำมาใช้ประกอบหนังที่มีความยาว 3 นาที 50 วินาที (ส่วนใหญ่เป็นภาพเดินขบวนประท้วงในเหตุการณ์ปู-มา) โดยผู้กำกับตัดสินใจแทนที่ฟุตเทจเหล่านั้นด้วยจอว่างเปล่าเป็นเวลาเท่ากัน

อย่างไรก็ตามในปีถัดไปทีมสร้างหนังยื่นอุทธรณ์ทำให้ศาลมีคำสั่งถอดการเซ็นเซอร์ออก โดยศาลมีความเห็นว่า “เราต้องยืนยันสิทธิ์ในการแสดงออกอย่างเสรีและเปิดกว้างเกี่ยวกับการบรรยายถึงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ในที่สาธารณะ” อย่างไรก็ตามศาลเห็นว่าในหนังมีหลายฉากที่ใส่ร้ายอดีตประธานาธิบดีอย่างไม่ยุติธรรม จึงสั่งให้ผู้ผลิตหนังจ่ายเงินแก่ครอบครัวของประธานาธิบดีพัคเป็นเงิน 100 ล้านวอน (2.6ล้านบาท)

The Man Standing Next (2020 รูปขวา) หนังกวาดรางวัลและทำเงินในประเทศ และถูกคัดเลือกเป็นตัวแทนชิงออสการ์ด้วย สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันที่เล่าเหตุการณ์ 40 วันก่อนการยิงสังหาร พัค ช็อง-ฮี ตอนไปฉายที่ญี่ปุ่นหนังเรื่องนี้เปลี่ยนชื่อเป็น KCIA

พัค กึน-ฮเย ทำท่าเงี่ยหูฟังประชาชนผู้โกรธแค้นในเหตุเรือล่ม

ย้อนกลับไปที่นางตัวต้นเรื่อง อดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย นอกจากจะได้รับฉายาว่า “ลูกสาวจอมเผด็จการ” แล้ว ในรัฐบาลสมัยของเธอ เธอยังเคยให้สัมภาษณ์ด้วยว่า “การที่พ่อของฉันทำรัฐประหาร พ่อไม่ได้เป็นกบฏ แต่พ่อต้องการปฏิวัติการเมือง การรัฐประหารในเวลานั้นเป็นการทำให้บ้านเมืองสงบ หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นทางออกเดียวที่ดีที่สุด” (จ้า แม่คุ๊ณณณณ เหมือนข้ออ้างของผู้นำรัฐประหารในประเทศเราเลยเนาะ)

กรณีอื้อฉาวของนางพัค คือการสนิทสนมกับนางชเว ซุน-ซิล ลูกสาวของเจ้าลัทธิ The Church of Eternal Life ที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบคริสต์ พุทธ และการทรงเจ้าเข้าผีแบบเกาหลี นางพัคจึงเชื่อในตัวนางชเว ที่คบหากันมาตั้งแต่ยังสาว ๆ เมื่อได้เป็นประธานาธิบดี ชเว มีส่วนอย่างมากในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แทรกแซงบงการนโยบายรัฐบาลนางพัค และการตัดสินใจหลายต่อหลายอย่างด้วยการพึ่งการทรงเจ้า (อย่าฮาไป นักการเมืองบ้านเราก็มีหลายคนพึ่งการดูหมอดูอีทีฝั่งเขมร หรือลองดูข่าวไปวันล้อมปราบเสื้อแดงปี 2553 สิ ใครไปทำบุญวัดชนะสงครามในช่วงเวลานั้น เพื่อต้องการจะสื่ออะไร) รวมไปถึงเงินจำนวนหลายร้อยล้านที่นางพัคยักยอกมา ก็เพื่อทุ่มให้กับนางชเว คนนี้นี่เอง ไปจนถึงการใช้เส้นนางพัคฝากลูกสาวตัวเองเข้าโรงเรียนชั้นดี และเช่นกันภายหลังเมื่อเรื่องแดง นางชเวก็ต้องโทษจำคุก 23 ปี โดยยังไม่มีการนิรโทษกรรม

ป้ายประท้วงด่าทอนางคนทรงชเว ซุน-ซิล (รูปซ้าย)กับปธน.พัค กึน-ฮเย (รูปขวา)

แต่กรณีเลวร้ายที่สุดของนางพัค คือการที่เธอล้มเหลวในการจัดการเหตุโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ เมื่อเรือเฟอร์รี่เซวอลล่มในปี 2014 นอกจากเธอจะมาช้าในการเข้าควบคุมสถานการณ์แล้ว เธอยังเบี่ยงเบนข่าวไปยังกรณีดราม่าอื่น ๆ (โดยการปั่นกระแสข่าวจากฝีมือของ NIS) เช่นเจ้าของธุรกิจเรือลำนี้มีความสัมพันธ์กับลัทธิ, ปัดความรับผิดชอบไปที่เจ้าหน้าที่กู้ภัย, ไปจนถึงตำหนิการไม่รู้จักช่วยเหลือตนเองของเหยื่อ
ลูกชายคนหนึ่งของนักการเมืองในพรรคเดียวกับนางพัคออกมาฟาดโจมตีชาวเน็ตที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลนางพัค โดยพยายามเบี่ยงเบนให้มองข้ามความผิดของฝ่ายรัฐบาลของเธอเองที่นอกจากจะมาช้า(เพราะติดเวลาทำพิธีทรงเจ้าเจ็ดชั่วโมง) แล้วยังสื่อสารผิดพลาดจนสื่อต่างกระจายข่าวในตอนแรกว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์ร้ายแรง และเด็ก ๆ ถูกช่วยเหลือได้แล้ว ทั้งที่ความจริงมีนักเรียนเสียชีวิตกว่า 300 คน ส่งผลให้ประชาชนลงถนนประท้วงมากกว่าแปดหมื่นคน สังคมแตกแยกเมื่อบรรณาธิการข่าวรายหนึ่งที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ออกมาให้ข่าวทำนองว่าจำนวนผู้เสียชีวิตนับว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุตามท้องถนน และผู้อยู่เบื้องหลังในการเป็นแขนขาให้กับนางพัค ก็คือบรรดา KCIA หรือในชื่อใหม่ว่า NIS นั่นเอง

NIS ในชีวิตจริงไม่ได้หล่ออบอุ่นไมโครเวฟสายฮาน่ารักอย่างพระเอกจาง ฮยอก อีกอย่างสิ่งที่น่าสนใจมากหลังจาก KCIA รุ่นแรกในเรื่องเล่าว่าพวกเขามีแหล่งกบดานในไทย ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเกาหลี ก็เพราะไทยเคยส่งกองกำลังไปร่วมรบในสงครามเกาหลีช่วงปี 1950-1953 เมื่อเกาหลีเหนือบุกเข้ามาทำสงครามยืดเยื้อเกือบสี่ปีในฝั่งเกาหลีใต้ ส่งผลให้ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่าเข้าเกาหลี (แต่ก็กลายเป็นปัญหาผีน้อยที่จนบัดนี้รัฐบาลทั้งสองประเทศก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้) และอีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องเชื่อมโยงกับในไทย ที่ในซีรีส์บอกว่าไทยเป็นแหล่งค้ายา(มันคือแป้ง)และอาชญากรรมรายใหญ่(จีนเทาด้วยรึเปล่า)

ปัจจุบัน KCIA เปลี่ยนคำขวัญมาแล้ว 3 รอบที่ช่างเสียดสีหน่วยงานนี้ คือ “เราทำงานในเงามืดเพื่อนำชาติไปสู่ความสว่างไสว” แต่พฤติกรรมช่างย้อนแย้งโดยสิ้นเชิง คำขวัญต่อมา เปลี่ยนในปี 1981 สมัยรัฐบาลนายคิม แด-จุง เป็น “ข่าวกรองคือพลังแห่งชาติ” และการเปลี่ยนครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2008 ภายใต้รัฐบาลนายอี เมียง-บัก ที่ NIS มีส่วนสนับสนุนเขาในการฉ้อโกง ไปจนถึงช่วยเหลือในปฏิบัติการ IO คอยบิดเบือนข่าว ทำเฟคนิวส์ ลบข้อมูลอื้อฉาวต่าง ๆ ในโลกโซเชียลให้นายอี คำขวัญล่าสุดนั้นคือ “การอุทิศตนโดยไร้ตัวตนก็เพื่อปกป้องเกียรติยศแห่งสาธารณรัฐเกาหลี”

พอมาถึงบรรทัดนี้หลายคนคงตั้งคำถามว่าทำไมหน่วยงานสืบราชการลับอันแสนชั่วร้ายนี้ยังคงอยู่ ก็เพราะ CIA ของสหรัฐก็ยังดำรงอยู่ รวมถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือก็มีจริง แม้ว่า NIS จะไร้ประสิทธิภาพอย่างมากในเรื่องข่าวกรอง เห็นได้ชัดในกรณีการตายของอดีตท่านผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง-อิล เมื่อหน่วยสืบราชการลับไม่รู้ข่าวนี้มาก่อน ไปจนถึงความล่าช้าในการเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการทดสอบของขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตามหน่วยสืบราชการลับก็ยังจำเป็นตราบเท่าที่ฝ่ายเกาหลีเหนือยังคงมีสายลับของตัวเอง