ThaiPublica > เกาะกระแส > ม็อบภาค ปชช. บุกคลัง – ค้านตัด “เบี้ยคนชรา” แนะรัฐบาลกลับลำใช้ระเบียบเดิม – เก็บภาษีคนรวย

ม็อบภาค ปชช. บุกคลัง – ค้านตัด “เบี้ยคนชรา” แนะรัฐบาลกลับลำใช้ระเบียบเดิม – เก็บภาษีคนรวย

17 สิงหาคม 2023


เครือข่าย ปชช. 53 องค์กร กว่าเกือบ 200 คนบุกคลัง – ค้านตัด “เบี้ยคนชรา” แนะ มท.ยกเลิกระเบียบใหม่ – กลับไปใช้ระเบียบเดิม ชงคลังเก็บภาษีมั่งคั่ง-ลาภลอย-ภาษีหุ้น หาเงินจัดระบบสวัสดิการประชาชนแบบถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประมาณ 200 คน เดินทางมาเรียกร้อง และคัดค้านการตัดสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีฐานะร่ำรวย จากการประกาศปรับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีตัวแทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังมารอรับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว

ทั้งนี้ผู้ชุมนุมได้เตรียมตั้งขบวน เคลื่อนไปยังที่หมายถัดไป คือ กระทรวงมหาดไทย และช่วงบ่ายจะไปที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์ (พม.) เป็นลำดับสุดท้าย

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ระบุว่า ในห้วงยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ยังคงรักษาการในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ กระทรวงมหาดไทยได้ออกหลักกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 โดยเพิ่มคุณสมบัติการเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เป็นเงื่อนไขในการรับเบี้ยยังชีพ

ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2552 สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ถูกปรับจากระบบสงเคราะห์คนยากไร้อนาถามาเป็นสิทธิสวัสดิการระบบถ้วนหน้า ขอเพียงให้ประชาชนมีอายุ 60 ปี และไม่ได้รับสวัสดิการ หรือ บำนาญอื่นใดจากรัฐในลักษณะเดียวกัน

จนเมื่อเข้าสู่การรัฐประหาร 2557 การบริหารประเทศภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา การดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย กลับลิดรอนสิทธิสวัสดิการของประชาชน ลดทอนด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้พิสูจน์ความยากจน แสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบสวัสดิการถ้วนหน้า อันเป็นการเคารพสิทธิเสมอกันของประชาชน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศนี้

ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐควรต้องออกโรงมาปกป้องดูแลทรัพยากรมนุษย์ ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ในฐานะพลเมือง ทรัพยากรบุคคลของประเทศ

ในนามของพลเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการออกระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เราจะร่วมกันปกป้องสวัสดิการประชาชน และร่วมกันคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกันดังนี้

    1) กระทรวงมหาดไทย ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว
    2) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ให้ถูกลิดรอนต่ำลงไปกว่าที่เคยเป็น ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566
    3) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี
    4) กระทรวงการคลัง ต้องมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง โดยการตัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้ในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น
    5) รัฐบาลใหม่ ต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้น สวัสดิการต้องเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าและบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน

  • เจาะงบบุคลากรภาครัฐ ก.พ. คาดไม่เกิน 10 ปี ‘บำเหน็จ-บำนาญ’ แซง ‘เงินเดือน’ ขรก.
  • เจาะฐานะการคลัง รับรัฐบาลใหม่… ‘ไม่มีเงิน’ จริงหรือ?
  • \

  • คลังชง ครม.ชุดใหม่ รื้อลดหย่อนภาษี-ตัดสิทธิคนรวยรับ “เบี้ยคนชรา”
  • นายกฯชี้ “เพื่อไทย” แจกเงินดิจิทัล ให้ดูงบฯปี’67 – มติ ครม.อนุมัติ 200 ล้าน ชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน กรณีซื้อหุ้น IFC – IBRD