ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ วอนทุกฝ่ายรอศาลวินิจฉัย ชี้ปม 8 ปี ตีได้ 3 แนว-มติ ครม. จัดงบฯ 2,923 ล้าน อุดหนุนรถอีวี 26,900 คัน

นายกฯ วอนทุกฝ่ายรอศาลวินิจฉัย ชี้ปม 8 ปี ตีได้ 3 แนว-มติ ครม. จัดงบฯ 2,923 ล้าน อุดหนุนรถอีวี 26,900 คัน

23 สิงหาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ วอนทุกฝ่ายรอศาลวินิจฉัย ชี้ปมวาระ 8 ปี ตีความได้ 3 แนว – สั่งหาข้อสรุปปมสร้าง ‘อควาเรียมหอยสังข์’ ล่าช้า – มติ ครม.จัดงบฯ 2,923 ล้าน อุดหนุนรถอีวี 26,900 คัน – คืนเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ 28,345 ราย 245 ล้าน – ต่ออายุ “กุลิศ สมบัติศิริ” นั่งปลัดพลังงานอีก 1 ปี

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บริเวณตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีไม่ได้แถลงข่าว แต่มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

มอบคมนาคมดูแล “ไรเดอร์” ส่งอาหาร

นายอนุชา กล่าวว่า ก่อนเริ่มการประชุม ครม.วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดถึงการประชุม ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019) ว่า สถานการณ์โควิด – 19 ในปัจจุบัน ประชาชนยังคงต้องยึดหลักการดูแลตัวเอง ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็มีหน้าที่ติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด – 19 และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดูแลกลุ่มพนักงานขับรถส่งอาหาร หรือ “ไรเดอร์” และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการกำจัดขยะติดเชื้อ

สั่งซ่อมถนน-สะพานชำรุดจากน้ำท่วม

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ห่วงใยประชาชนจากสถานการณ์น้ำ เพราะปัจจุบันเป็นช่วงฤดูฝนที่มีน้ำหลาก โดยนายกฯต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และได้กำชับให้กระทรวงกลาโหม ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจและทหาร ช่วยประสานงานสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงดูแลพื้นที่คมนาคมที่ชำรุด ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพาน และพื้นที่สาธารณะ พร้อมย้ำว่าสิ่งสำคัญคือต้องเร่งระบายน้ำ

วอนทุกฝ่ายรอศาลวินิจฉัย ชี้ปมวาระ 8 ปี ตีความได้ 3 แนว

นายอนุชา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลา 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ข้อเท็จจริงคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อจากนี้คือ หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่อง ก็สามารถดำเนินการในส่วนปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่หากมีการรับเรื่อง รัฐบาลจะต้องส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า หากศาลฯ พิจารณาให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ หมายความว่ารองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะทำหน้าที่รักษาการแทน แต่พลเอกประยุทธ์ยังคงปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ ครม.ตามปกติ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่หากกรณีที่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ และคณะรัฐมนตรีจะดำเนินหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

“สื่อมวลชนถามมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นทั้งในส่วนของฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำที่ปฏิบัติหน้าที่ ก็จะทำหน้าที่ไปตามปกติทุกอย่าง เพราะการพิจารณาและการวินิจฉัยของศาลจะไม่กระทบส่วนใดๆ ในการบริหารราชการในปัจจุบัน” นายอนุชากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอนุชา ยังให้แนวทางการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1. หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที กรณีที่ศาลนับวันดำรงตำแหน่งวันแรกคือวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 โดยจะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565

2. ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่เริ่มนับจากวันที่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยมีวาระครบ 8 ปีวันที่ 8 มิถุนายน 2570

3. ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่เริ่มนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เมษายน 2560 เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ซึ่งให้ครม.เก่าเริ่มเป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน 2568

“คาดว่าอยู่ใน 3 แนวทางนี้ที่เป็นไปได้ นายกฯ ได้กล่าวไปแล้วว่า นายกฯยินดีให้ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่สุดท้ายแล้วขอให้ประชาชนทุกคนได้เคารพกฎหมาย โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลที่ถือเป็นที่สิ้นสุด ถ้าทุกคนมองภาพในการเดินหน้าจากนี้ไป หรือ นำแนวทางความคิดเห็นของส่วนตัวมาเป็นที่สิ้นสุด ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้ง อยากให้ทุกท่านได้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” นายอนุชากล่าว

สั่งหาข้อสรุปปมสร้าง ‘อควาเรียมหอยสังข์’ ล่าช้า

คำถามเรื่อง ‘อควาเรียมหอยสังข์’ จังหวัดสงขลาที่ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างระยะเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้ โดยนายอนุชา ตอบว่า “เรื่องนี้มีการตรวจสอบมาหลายส่วน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ มีทางด้านอาชีวะเป็นเจ้าของงานก่อสร้าง ต้องบอกว่าอาจมีเรื่องงบประมาณช่วงแรกที่เบิกจ่ายไม่ครบถ้วน ในช่วงที่ผ่านมาก็จะมีลำดับขั้นตอนการพิจารณา การเพิ่มงบประมาณ การพิจารณาแนวทางปรับเปลี่ยนในส่วนงานอื่นๆ ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือเพื่อหาข้อสรุป และย้อนดูปัญหาที่เกิดขึ้น การแก้ไข รวมถึงการสอบถามความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้อง”

มติ ครม.มีดังนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล , ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และน.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯคนใหม่ (ขวามือ) ร่วมกันแถลงข่าวการประชุม ครม.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

จัดงบกลาง 2,923 ล้าน อุดหนุนรถอีวี 26,900 คัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบกลาง 2,923 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ดังนี้

1) กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท

    1.1) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนเงินอุดหนุน 70,000 บาท/คัน

    1.2) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน

2) กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน

3) กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จำนวนเงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน

ส่วนผู้ขอรับสิทธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนตามมาตรการจะต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น และต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องยื่นขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่างๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ รวมทั้งนำส่งรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุนดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคัน ตามจำนวนที่ไม่สามารดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารที่วางไว้

โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,800 คัน โดยแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุน ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้น ทั้งยัง เป็นการสนับสนุนเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งเงินอุดหนุนและส่วนลดทางภาษีต่างๆ ตกสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ผลักดันให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV และชิ้นส่วนรถยานยนต์ EV ในภูมิภาคด้วย

คืนเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ 28,345 ราย 245 ล้าน

นายอนุชา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติในหลักการการคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565) พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น และได้นำเงินมาคืนให้ทางราชการ รวมทั้งแจ้งให้มีการถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 สิงหาคม 2565)

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีคำวินิจฉัยว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐเป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และการจ่ายเงินเบี้ยงยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้สูงอายุ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรค 2 มีเพียง 2 ประการคืออายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว ดังนั้น ระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบของ กผส. นั้น ที่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ระหว่างนี้ พม. ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งเมื่อได้แนวทางชัดเจนแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวต่อไป

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. การคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนราชการแล้วจำนวน 28,345 ราย นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน และสมควรที่จะต้องรีบดำเนินการ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ผู้สูงอายุเสียชีวิต และการร้องเรียนต่างๆ เป็นต้น

จ่ายเงินค่ารักษาโควิดฯให้ สปสช. 18,447 ล้าน

นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รอบที่ 4 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องที่หน่วยบริการ/สถานพยาบาลให้บริการแล้วระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2565 วงเงิน 18,447.98 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขไวรัสโควิด-19 ทั้งในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีนและการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ

เห็นชอบพาณิชย์จ่ายเงินอุดหนุน SMEs ขายของออนไลน์

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-Border e – Commerce) ภายใต้โครงการ SMEs Pro-active ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเป็นการส่งเสริมกิจกรรมการขายสินค้าและบริการแบบ B-2-B (Business-to-Business) ผ่าน 3 แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ คือ Alibaba, KlangOne และ GlobalConnect โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท/บริษัท/ครั้ง รวมไม่เกิน 6 ครั้ง เพื่อใช้เป็น 1) ค่าใช้จ่ายแรกเข้าและหรือค่าสมาชิกของแพลตฟอร์ม และ 2) ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าการตลาด และค่าใช้จ่ายในการทำ Online Content ของแพลตฟอร์ม โดยใช้จ่ายจากงบกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันโครงการ SMEs Pro-active ดำเนินการในระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562- 2567) วงเงินโครงการรวม 500 ล้านบาท

ความจำเป็นที่ต้องเสนอเพิ่มกิจกรรมการส่งเสริมการค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศได้ และผู้จัดงานแสดงสินค้าได้ปรับเปลี่ยนการจัดงานเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงเสนอเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการค้าดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนงบเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จากเดิมที่โครงการสนับสนุนเฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าและกิจกรรมทางธุรกิจในต่างประเทศเท่านั้น

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active อาทิ 1.เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและมีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 2.เป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหรือหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย 3.เป็นนิติบุคคลที่เป็นผู้ผลิตและหรือผู้ส่งออกสินค้าไทยที่มีประสบการณ์การส่งออก โดยมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ไม่เกิน 500 ล้านบาท นับจากปีที่สมัครเข้าร่วมโครงการ และกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมออนไลน์ คือ 1. เป็นสมาชิก Thaitrade.com ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce ของไทย ที่ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 2. หากไม่เคยส่งออก ผู้ประกอบการจะต้องผ่านการอบรมความรู้เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

เพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงาน 1.50 บาท/กก.

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติ ปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ ณ หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม จากเดิม 19 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 20.50 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ หลังจากไม่ได้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนมที่ได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าขนส่งน้ำนมดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในตลาดได้ และให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในด้านอื่นๆ และเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป

อนุมัติงบฯ 75 ล้าน สร้างบ้าน ขรก.ซอยลือชา 79 ห้อง

ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งภายใต้แผนนี้ ครอบคลุมการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการด้วย มีเป้าหมายก่อสร้างที่อยู่อาศัยรวม 123,000 หน่วย โดยดำเนินการผ่าน 2 โครงการ คือ 1. โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ เป็นการสร้างความมั่นคงด้านการอยู่อาศัยให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยให้ได้มีที่อยู่อาศัยในลักษณะเช่าซื้อเป็นของตนเอง ตั้งเป้า 89,000 หน่วย และ 2.โครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) เป็นการจัดที่อยู่อาศัยในรูปแบบรัฐสวัสดิการ ตั้งเป้า 25,000 หน่วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของหน่วยงานของรัฐ และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจกับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ห่างไกลจากภูมิลำเนา

วันนี้ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) เพิ่มเติม จำนวน 1 อาคาร รวม 79 ห้อง วงเงิน 75 ล้านบาท ของสำนักงบประมาณ โครงการนี้ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุประมาณ 1 ไร่ ในซอยลือชา แขวงพญาไท เขตพญาไท กทม. ซึ่งสำนักงบประมาณได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมให้สำนักงบประมาณพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าพักอาศัยในโครงการให้มีความชัดเจน รอบคอบ และเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้มีรายได้น้อยเป็นลำดับแรก

ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2560 ครม.ได้อนุมัติโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) แล้วรวมทั้งสิ้น 8,744 หน่วย วงเงินงบประมาณ 11,002 ล้านบาท ปัจจุบัน ข้อมูล ณ 1 ก.ค.2565 ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 3,426 หน่วย รวมวงเงิน 6,486 ล้านบาท ของ 12 หน่วยงาน อาทิ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ

ปล่อยกู้กัมพูชาสร้างถนนหมายเลข 67 วงเงิน 983 ล้าน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กัมพูชา สำหรับโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 ช่วงเสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำ (NR67) และอนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการตามขอบเขตของโครงการ NR67 ต่อไป โดยการให้ความช่วยเหลือจะเป็นการให้ วงเงินกู้จำนวน 983 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้เพื่อปล่อยเงินกู้ ระหว่างปี 2567-2569 รวม 491.50 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 50 ของวงเงินโครงการ ส่วนอีก 491.50 ล้านบาท สพพ. จะดำเนินการกู้จากสถาบันการเงินในประเทศต่อไป

ทั้งนี้ สพพ. ได้กำหนดเงื่อนไขให้กัมพูชาใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆภายใต้โครงการดังกล่าวจากไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมถึงต้องให้ผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาจากไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า วัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้าง ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปทำงานในต่างประเทศ และเป็นการกระจายรายได้จากโครงการสู่ผู้ผลิตวัสดุ อุปกรณ์ ก่อสร้างของไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ หรือมากกว่า 491.50 ล้านบาท

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับคาดว่าการพัฒนาโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 จะทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาตามแนวเส้นทางประมาณ 50,000 คน หรือกว่า 10,000 ครอบครัว ใน 38 หมู่บ้าน 12 ตำบล 4 อำเภอ ของจังหวัดอุดรเมียนเจย(อุดรมีชัย) และจังหวัดเสียมราฐ สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตได้รวดเร็วและปลอดภัย และสามารถเข้าถึงสถานศึกษาและสถานบริการสาธารณสุขตามแนวเส้นทางได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตลอดอายุของโครงการ ในแง่ของมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ ประหยัดเวลาในการเดินทาง และมูลค่าจากการลดค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุรวมประมาณปีละ 150 ล้านบาท ขณะเดียวกันถนน NR67 ยังช่วยส่งเสริมให้มีการขยายตัวด้านการค้าชายแดน การขนส่งสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทั้งในไทยและกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ระหว่างไทยกับกัมพูชาในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน เช่น เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากอีสานใต้ไปยังกัมพูชา ได้แก่ บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-เสียมราฐ หรือกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การผลักดันให้เกิดการพัฒนาเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวตลอดแนวเส้นทาง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการให้บริการรถโดยสาร

รับรอง 9 วัดคาทอลิก เป็นวัดตามกฎหมาย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบรับรองวัดคาทอลิกเป็นวัดคาทอลิกตามกฎหมายจำนวน 9 วัด ได้แก่ วัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน), วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ (ลาดพร้าว), วัดนักบุญโธมัสอัครสาวก (ซอยนาคสุวรรณ), วัดพระเมตตา (เชียงแสน), วัดพระแม่แห่งมวลชนนานาชาติ (เชียงของ), วัดพระแม่ปฏิสนธินิรมล (เชียงคำ), วัดนักบุญมอนิกา (น่าน),วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร (แพร่) และวัดพระแม่มหาการุณย์ (แคมป์สน) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเป็นต้นไป

สำหรับการรับรองวัดคาทอลิกจะเกิดประโยชน์ดังนี้คือ มีความมั่นคงด้านศาสนจักร เนื่องจากวัดคาทอลิกเป็นองค์ประกอบหลักและเป็นศูนย์รวมการประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมของศาสนิกชนในวาระสำคัญต่างๆ ตามหลักศาสนบัญญัติ ซึ่งการรับรองวัดคาทอลิกจะทำให้วัดสามารถคงอยู่และสร้างความเชื่อมั่นแก่คริสต์ศาสนิกชนได้ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน เช่น โครงการเงินอุดหนุนกิจกรรมบูรณะศาสนสถาน และยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยวัดคาทอลิกได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีจากเงินที่บริจาคให้แก่วัด

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การรับรองวัดคาทอลิกครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 โดยการรับรองวัดคาทอลิกในประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีการตราพ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณะ ฐานะ ของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม ตามกฎหมาย ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้ให้การรับรองวัดคาทอลิกในเขตการปกครองของมิซซังกรุงเทพ ที่ตั้งขึ้นก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับรวมจำนวน 43 วัด ต่อมาได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณะฐานของวัดบาทหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยาม ลงวันที่ 27 ส.ค. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้นได้มีรับรองวัดคาทอลิกในเขตการปกครองของมิซซังท่าแร่-หนองแสง จำนวน 14 วัด ทำให้มีวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายรวมทั้งสิ้น 57 วัด

แต่ภายหลังปี พ.ศ. 2472 ไม่มีการประกาศจัดตั้งหรือรับรองวัดคาทอลิกเพิ่มเติม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน่วยงานราชการหลายครั้ง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับหน่วยงานและขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตจัดตั้งหรือรับรองวัดคาทอลิก

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าปัจจุบันจำนวนคริสต์ศาสนิกชนเพิ่มขึ้นครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย จึงได้ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ.2564 เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาจัดตั้งและรับรองวัดคาทอลิกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้มีวัดคาทอลิกสามารถยื่นขอจัดตั้งตามกฎหมายเข้าสู่การอนุมัติของ ครม. ในครั้งนี้

ปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ตั้งแต่ 19 ก.ย.นี้

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่1 พ.ศ…. (ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2565)

โดยการดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกานี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย โดยสมัยหนึ่งมีกำหนดเวลา 120 วัน โดยการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2565 ได้มีการเรียกประชุม ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2565 ซึ่งจะสิ้นกำหนดเวลา 120 วันในวันที่ 18 ก.ย. 2565 จึงสมควรที่จะกำหนดให้ปิดประชุมรัฐสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2565

เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุม คกก.มรดกโลก

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทย สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 พร้อมเห็นชอบกรอบวงเงินในการจัดประชุม จำนวน 350 ล้านบาท โดยมอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงนามในหนังสือแจ้งความประสงค์ในการเสนอเป็นเจ้าภาพการประชุมฯครั้งที่ 46 ถึงศูนย์มรดกโลก

ทั้งนี้ หากไทยได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครม.เห็นชอบให้เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามในเอกสารเพื่อจัดทำความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement : HCA) ร่วมกับผู้แทนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) โดยการพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จะมีการพิจารณาในการประชุมฯครั้งที่ 45 ซึ่งเดิมกำหนดจัดการประชุมระหว่างวันที่ 19-30 มิถุนายน 2565 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย แต่เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ประธานกรรมการมรดกโลกได้มีหนังสือแจ้งรัฐภาคีว่า ให้เลื่อนการจัดประชุมครั้งที่ 45 ออกไปก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาการจัดประชุมฯครั้งที่ 45 แต่ยังคงอยู่ในช่วงปี 2565 นี้

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ตามแผนงานที่กำหนดไว้ หากไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จะจัดประชุมในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2566 เบื้องต้นคาดว่าจะจัดการประชุมฯที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะการเป็นผู้นำในการดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกฯ รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม และข้อริเริ่มใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดและขยายความร่วมมือ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ในการดำเนินงานและความร่วมมือกับองค์กรและนานาชาติต่อไป

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยจากข้อมูลสถิติในการจัดการประชุมที่ผ่านมา ในการประชุมฯครั้งที่ 40-43 มีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,300 คน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการต้อนรับผู้มาเยือน และมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการใช้จ่ายในด้านต่างๆทั้งในการเดินทาง ที่พัก การท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายทั่วไป

รับทราบไทยลงสมัครเป็นสมาชิก HRC ปี 2568-70

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของไทย (United Nations Human Rights Council : HRC) วาระปี พ.ศ.2568-2570 ซึ่งมีกำหนดการเลือกตั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และร่างคำมั่นโดยสมัครใจของไทยประกอบการสมัครสมาชิก HRC โดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ มีกำหนดจัดงานเปิดตัวการสมัครเลือกตั้งสมาชิก HRC ของไทย ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 77 ในเดือนกันยายน 2565

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553-2556 และได้ลงสมัครสมาชิก HRC วาระปี 2558-2560 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ไทยจึงว่างเว้นจากการเป็นสมาชิก HRC มาแล้วเกือบ 10 ปี การลงสมัครสมาชิก HRC อีกครั้งของไทยจะเป็นการเน้นย้ำบทบาทและความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลังจากการดำรงตำแหน่งHRC ครั้งล่าสุด ไทยมีความก้าวหน้าในท่าทีและการปฏิบัติในหลายด้านซึ่งสอดรับกับพัฒนาการของกรอบความคิดด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ความคืบหน้าในการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน การผลักดันกฎหมายภายในเพื่อรองรับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน การประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติระหว่างปี 2561-2562

นอกจากนี้ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในความพยายามส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพ และคุ้มครองสิทธิทางสังคมให้กับกลุ่มเปราะบางท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโลกที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากไทยได้รับการเลือกตั้งจะเป็นการแสดงถึงการได้รับความไว้วางใจจากประชาคมระหว่างประเทศ และมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในเวทีที่เป็นเสาหลักของสหประชาชาติ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน และยังเป็นจังหวะเวลาที่สำคัญเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์และความท้าทายในเวทีโลกปัจจุบันที่ไทยควรเข้าไปร่วมมีบทบาทในการกำหนดวาระและทิศทางการหารือในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันประเด็นที่สอดคล้องกับหลักการและผลประโยชน์ของประเทศไทย

ต่ออายุ “กุลิศ สมบัติศิริ” นั่งปลัดพลังงานอีก 1 ปี

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

1.การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอแต่งตั้ง นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

2. แต่งตั้งผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอการแต่งตั้ง นายวิบูลย์ วงสกุล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในปีแรกอัตราเดือนละ 250,000 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบ

3. การต่อสัญญาจ้างผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอการต่อสัญญาจ้าง นายชีระ วงศบูรณะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในปีแรกอัตราเดือนละ 274,000 บาท ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้รับจ้างจะได้รับให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่

4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวทิพานัน ศิริชนะ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

5. ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพิ่มเติม

ป้ายคำ :