ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯแจงปมจ่าย “เบี้ยคนชรา” ย้ำคนเก่าได้เหมือนเดิม – มติ ครม.แก้ กม.โอนที่ ส.ป.ก.ให้ทายาท – สถาบันเกษตรกร

นายกฯแจงปมจ่าย “เบี้ยคนชรา” ย้ำคนเก่าได้เหมือนเดิม – มติ ครม.แก้ กม.โอนที่ ส.ป.ก.ให้ทายาท – สถาบันเกษตรกร

15 สิงหาคม 2023


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ แจงปมจ่าย “เบี้ยคนชรา” ย้ำคนเก่าได้เหมือนเดิม วอนคนรวยเสียสละ
  • ยังไม่พิจารณาโผโยกย้าย ขอดูความเหมาะสม
  • ย้ำไม่ยุ่ง รทสช.ร่วมรัฐบาล เป็นสิทธิ์พรรค
  • มติ ครม.แก้ กม.โอนที่ดิน ส.ป.ก.ให้ทายาท – สถาบันเกษตรกรได้
  • เก็บค่าแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาฯเป็น “กองทรัสต์” 0.01%
  • แก้กฎกระทรวง เพิ่มข้อกำหนดสร้างอาคารใหม่
  • เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า

    ยังไม่พิจารณาโผโยกย้าย ขอดูความเหมาะสม

    พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมวันนี้มีเรื่องพิจารณาหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่จะต้องประชุมกับต่างประเทศ ส่วนภายในเป็นเรื่องการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ทำให้เกิดปัญหากับอนาคต ซึ่งรัฐบาลนี้ต้องทำจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรี และครม.ใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ

    พลเอกประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงว่า ที่ประชุม ครม. ยังไม่ได้มีการพิจารณา แต่แนวทางก็คือจะพิจารณาความเหมาะสม

    แจงปมจ่าย “เบี้ยคนชรา” ย้ำคนเก่าได้เหมือนเดิม วอนคนรวยเสียสละ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยพลเอกประยุทธ์ ตอบว่า ได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์หลักการที่มาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ แต่ข้อสำคัญจากประเด็นดังกล่าว คนอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือ ไม่เข้าใจ และแกล้งไม่เข้าใจ ก็ไม่ทราบ เพราะคนที่เคยได้รับอยู่แล้ว ก็ยังได้รับเหมือนเดิม

    วันนี้เป็นการเตรียมการสู่อนาคตว่าจะใช้งบประมาณอย่างไร ให้เพียงพอในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าสามารถดำเนินการได้ต่อไป หากมีเม็ดเงินงบประมาณเพียงพอ สิ่งที่เราทำมันจำเป็นต้องทำ เพราะผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น เราต้องมาดูว่ามีเงินมากน้อยแค่ไหน เรียกว่า เป็นการเผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกัน เราว่าอย่างนั้น คนที่มีรายได้สูงควรเสียสละ อันนี้ ไม่ได้ไปให้โดยตรงอยู่แล้ว ให้ผ่านทางภาษีอะไรก็ว่ากันไป” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    “อย่าไปฟัง หลาย ๆ อย่างมาจากคนที่ไม่เคยทำ และไม่เคยเป็นรัฐบาลมาแล้วนำมาพูด ผมไม่อยากจะมาตอบโต้ตรงนี้” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    เดินหน้ารักษาการโดยดูความเหมาะสม ขอให้ไว้ใจ

    เมื่อถามว่าใกล้เดือนตุลาคม ขณะที่รัฐบาลใหม่ ยังไม่มี พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “ต้องดูความเหมาะสม อะไรที่ทำได้ หรือไม่ได้ และอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ ก็ไว้ใจเราก็แล้วกัน อย่าให้ปัญหามันมากขึ้นไปกว่านี้อีกเลยนะจ๊ะ”

    “วันนี้การเมือง ก็เรื่องของการเมือง เรื่องการทำงานของรัฐบาลก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มันต้องทำทุกวันอยู่แล้ว โอเคนะจ๊ะ ขอบคุณ” พลเอกประยุทธ์กล่าว

    ย้ำไม่ยุ่ง รทสช.ร่วมรัฐบาล เป็นสิทธิ์พรรค

    พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หลังมีข่าวพรรครวมไทยสร้างชาติจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยว่า “ไม่ต้องแนะนำอะไรหรอก เขามีอุดมการณ์เขาอยู่แล้ว ก็ว่าไปตามอุดมการณ์ของเขา และเป็นสิทธิ์ของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ที่ต้องคุยกัน บอกแล้วไง อย่าเอาเราไปยุ่งตรงนี้”

    เมื่อถามว่า นายกฯ ได้ดูแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ บอกว่า “ไม่ได้ดู ใครหรือ ไม่ได้ดู”

    “ไม่ได้วิจารณ์หรือวิเคราะห์อะไรทั้งสิ้น เพราะผมถือว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของพรรคการเมือง สส.ก็คุยกัน เอาประเทศนี้เดินหน้าไปให้ได้ก็แล้วกันนะ ไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรกับใครอยู่แล้ว ขอบคุณทุกคนนะจ๊ะ สวัสดีจ๊ะ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    จัดงบฯเยียวยาชาวมูโนะแล้วกว่า 107 ล้านบาท

    ดร.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบความคืบเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากเหตุไฟไหม้โกดังเก็บดอกไม้เพลิง บริเวณตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ว่า ปัจจุบันการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย ได้มีการระดมกำลังจากทั้งทหารและพลเรือนเข้าซ่อมแซมบ้านแล้วเสร็จ จำนวน 280 หลัง คงเหลือ จำนวน 369 หลัง และได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง ไปแล้ว จำนวน 346 หลัง

    นอกจากนี้ ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส ได้เข้าช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าบ้านตามหลักเกณฑ์ของ สถานบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนเรื่องการหางานทำ สำนักงานแรงงานจังหวัดนราธิวาส สำรวจความต้องการด้านแรงงานของผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 2,513 คน ณ วันที่ 13 สิงหาคม จำนวน 2,146 ราย พบว่าต้องการหางานทำ จำนวน 142 ราย ต้องการฝึกอาชีพ จำนวน 185 ราย ซึ่งทางสำนักงานจะเร่งดำเนินการประสานหางานให้ต่อไป

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ทางด้านเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ จำนวน 107,881,995.23 บาท ซึ่งแยกออกเป็น 2 รายการ 1. ซ่อมและสร้างบ้านจำนวน 100,466,995.23 บาท และ 2. ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 7,415,000 บาท

    “นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ ทั้งด้านทรัพย์สิน และจิตใจ พร้อมให้กำลังผู้ประสบภัย และครอบครัวผู้สูญเสีย ยืนยันรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้พี่น้องชาวมูโนะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ขอให้เข้มแข็งก้าวผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมจะเดินเคียงข้างไปกับประชาชน” ดร.รัชดา กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล, ดร.รัชดา ธนาดิเรก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    แก้ กม.โอนที่ดิน ส.ป.ก.ให้ทายาท – สถาบันเกษตรกรได้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิ โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. …. และขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 นี้

    สาระสำคัญร่างกฎกระทรวง เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใน 3 กลุ่ม คือ ทายาทโดยธรรม สถาบันเกษตรและการโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. ดังนี้

      1. กำหนดนิยาม เช่น “ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
      2. การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินถึงแก่ความตายสามารถตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับตามที่กำหนดไว้ ในประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ (คู่สมรส/ผู้สืบสันดาน (บุตร)/บิดามารดา/พี่น้อง ร่วมบิดามารดาเดียวกัน/พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน/ ปู่ ย่า ตา ยาย/ลุง ป้า น้า อา) หากมีทายาทหลายคนให้ตกเป็นทรัพย์มรดกร่วมกันของทายาททุกคน เว้นแต่ตกลงกันได้ว่าทายาทผู้ใดจะเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกแต่เพียงผู้เดียว ทายาทผู้รับที่ดินมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ได้รับสิทธิในที่ดินผู้ตายซึ่งมีอยู่ต่อ ส.ป.ก. ทายาทผู้รับที่ดินมรดกใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก.
      3. การโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร กำหนดให้สถาบันเกษตรกรอาจรับโอนสิทธิในที่ดินได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินมีหนี้สินค้างชำระกับสถาบันเกษตรกร ให้สถาบันเกษตรกรที่จะรับโอนสิทธิในที่ดินต้องไม่มีที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมหรือมีที่ดินไม่เกินขนาดที่ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมกำหนด รวมทั้งยินยอมรับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด ที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน (ผู้โอน) มีต่อ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงิน ที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรอื่น ให้สถาบันเกษตรกรใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก.
      4. การโอนสิทธิในที่ดิน ไปยัง ส.ป.ก. กำหนดให้ ส.ป.ก. อาจรับโอนสิทธิในที่ดินจากผู้ได้รับสิทธิ ในที่ดินที่ประสงค์จะโอนสิทธิในที่ดินให้ ส.ป.ก. โดยไม่รับค่าตอบแทนหรือโดยรับค่าตอบแทน หรือการโอนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ให้ ส.ป.ก. จังหวัดจัดส่งคำร้องพร้อมทั้งความเห็นและรายงานผลการตรวจสอบสภาพที่ดิน ให้ ส.ป.ก. พิจารณาสภาพความเหมาะสม ทางการเกษตร ลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ภาระผูกพันในที่ดิน ราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อ ไปจาก ส.ป.ก. ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาสั่งรับการโอนสิทธิในที่ดินได้ เฉพาะกรณีเป็นที่ดินที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น หากที่ดินไม่มีความเหมาะสมที่จะปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น มีการฝ่าฝืน กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะต้องโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. หรืออาจต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้มีการโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. ต่อไป

    ทั้งนี้ ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิ ในที่ดินได้ ดังนี้

      (1) กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินกรณีทั่วไป ราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าราคาประเมิน ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ หรือเกินกว่าราคาประเมินตามความจำเป็นแต่ไม่เกินกว่า 1 เท่าครึ่งของราคาประเมินดังกล่าว
      (2) กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน ซึ่งใช้สอยที่ดิน โดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ราคาค่าตอบแทน การโอนสิทธิในที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิ ในที่ดินได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก. โดยหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้หักกลบลบหนี้ตามมูลค่าความเสียหายไว้ในคาสั่งรับการโอนสิทธิ ในที่ดินดังกล่าวด้วย

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า เป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อ หรือ เวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือ มีที่ดินเกินสิทธิตาม พ.ร.บ. นี้ จัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง หรือ เกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่า หรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจาหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น โดยผู้มีสิทธิได้รับจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ

      (1) เกษตรกร
      (2) บุคคลผู้ยากจน หรือ ผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือ ผู้เป็นบุตรของเกษตรกร และ
      (3) สถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์) ซึ่งที่ดินของ ส.ป.ก.

    โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

      1. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. จะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข) ให้กับเกษตรกร
      2. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่เอกชน ที่ดิน ส.ป.ก. ได้มาโดยการจัดซื้อหรือเวนคืน ส.ป.ก. จะจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน (ส.ป.ก. 4-14 ก) หรือสัญญาเช่าซื้อที่ดิน (ส.ป.ก. 4-18ข) กับเกษตรกรสถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ )

    เห็นชอบร่างแถลง รมต. SMEs เอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 29 ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ ซึ่งจะมีการจัดประชุมขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างอนาคต ที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนสำหรับทุกคน” (Creating a Resilient and Sustainable Future for All) โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงเพื่อใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปคในครั้งนี้

    ร่างถ้อยแถลงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการสร้างเส้นทางสู่การเติบโตของ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และการบูรณาการ SME เข้ากับห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ – ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน – ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของ SME ใน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ดังนี้

      1. การขับเคลื่อนให้ชุมชนเอเชียแปซิฟิกเปิดกว้าง มีพลวัตร ยืดหยุ่น มีความสงบสุข เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของผู้คนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต และมีความครอบคลุมถึงสตรี อาทิ ส่งเสริมโอกาสและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ที่สตรีเป็นเจ้าของหรือผู้นำ เป็นต้น
      2. การแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีเอเปค เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและเข้าถึงห่วงโซ่คุณค่าโลก รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ BCG โดยการส่งเสริมนโยบายและความร่วมมือเชิงเทคนิค และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และสากล รวมถึง MSMEs สตรี และกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ
      3. การเสริมสร้างความร่วมมือในการสนับสนุน SME และการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของ MSMEs ให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน โดยมุ่งเชื่อมโยง SME กับห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่าโลก ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า ตลอดจนดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจรูปแบบ BCG และดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและมีจริยธรรม รวมถึงสนับสนุนให้บุคคลที่ขาดโอกาส เช่น สตรี ชนพื้นเมือง และคนพิการ ฯลฯ สามารถใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

    ไฟเขียวร่างแถลง รมต.เอเปค ด้านสตรี – เศรษฐกิจ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี พ.ศ.2566 (APEC 2023 Women and the Economy Statement) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ร่างแถลงการณ์ฉบับนี้ จะมีการรับรองในการประชุมระดับสูงสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสตรีและเศรษฐกิจ (High Level Policy Dialogue on Women and the Economy: HLPDWE) วันที่ 20 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

    ร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี พ.ศ.2566 (APEC 2023 Women and the Economy Statement) ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสตรีในด้านต่าง ๆ ดังนี้

      1. จัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริบาล อาทิ จัดทำนโยบายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้บริบาล (Care Worker) ที่ยุติธรรม เท่าเทียม และเหมาะสม ทั่วทั้งภูมิภาค
      2. ลดช่องว่างระหว่างเพศทางด้านดิจิทัล โดยเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยี การพัฒนาทักษะ การเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยให้สตรีและเด็กหญิงทุกคนสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือ ระบบอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย รวมทั้งเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านดิจิทัลได้อย่างเต็มที่
      3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ 1) ผลักดันการมีส่วนร่วมของสตรีในกระบวนการตัดสินใจและการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การพัฒนานวัตกรรมในด้านพลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม 3) การเข้าร่วมและเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงินและระบบเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) คือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ส่วนระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นดินควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
      4. ส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจที่มีสตรีเป็นเจ้าของ เป็นผู้นำ และเป็นผู้จัดการ ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถแข่งขันได้มากขึ้น รวมทั้งขจัดกฎหมายและนโยบายที่มีการเลือกปฏิบัติและขัดขวางโอกาสในการสมัครงานและความเป็นผู้ประกอบการของสตรี

    เห็นชอบเอกสารการประชุมอาเซียน 3 เวที 14 ฉบับ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ รวม 14 ฉบับ สำหรับการประชุม 3 เวที คือ 1) การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 17 – 22 สิงหาคม 2566 2) การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 2 – 3 กันยายน 2566 และ 3) การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 4 – 7 กันยายน 2566 โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

    การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 17 – 22 สิงหาคม 2566 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อหารือ ทบทวน และพิจารณากำหนดแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ รวม 8 ฉบับ ดังนี้

      1) ร่างแผนงานในการปรับมาตรฐานของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Roadmap of ASEAN Standard Harmonization to Support SDGs Implementation) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการปฏิบัติตามมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานขององค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) และคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอนิกส์ (IEC)
      2. ร่างขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย (Terms of Reference of ASEAN – India Trade in Goods Agreement Joint Committee : AITIGA-JC) เป็นการกำหนดขอบเขตหน้าที่และบทบาทของคณะกรรมการร่วมในการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย
      3. ร่างแผนการดำเนินการสาหรับการเจรจาความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย ปี ค.ศ.2023 – 2024 (Work Plan for ASEAN – India Trade in Goods Agreement Negotiations 2023 – 2024) เป็นแผนการเจรจาความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย โดยตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาในเดือนธันวาคม 2567
      4. ร่างโครงสร้างการเจรจาที่เป็นไปได้สำหรับการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย (Possible Negotiating Structure for the Review of the ASEAN – India Trade in Goods Agreement) เป็นการกำหนดองค์ประกอบของคณะเจรจา
      5. ร่างแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาและการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี ค.ศ. 2023 – 2024 (2023 – 2024 ASEAN – U.S. Trade and Investment Framework Arrangement (TIFA) and Expanded Economic Engagement (E3) Workplan) เป็นแผนดำเนินงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและสหรัฐที่จัดทาขึ้นทุกปี เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
      6. ร่างข้อริเริ่มการออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น ค.ศ.2023 – 2033 (Future Design and Action Plan for an Innovative and Sustainable ASEAN – Japan Economic Co-Creation 2023 – 2033) เป็นเอกสารข้อริเริ่มที่กำหนดทิศทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น ในระยะ 10 ปี (ปี 2566 – 2576) ให้แน่นแฟ้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น ในปี 2566
      7. ร่างข้อริเริ่มอาเซียน – จีนในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ASEAN – China Initiative on Enhancing Cooperation on E-Commerce) เป็นเอกสารข้อริเริ่มที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาทางดิจิทัลและขยายความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน
      8. ร่างแผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน – สหภาพยุโรป ปี ค.ศ. 2024 – 2025 (ASEAN – EU Trade and Investment Work Programme 2024 – 2025) เป็นแผนงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป ระหว่างปี 2567 – 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อาเซียนและสหภาพยุโรปมีกรอบการทำงานสำหรับกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 2 – 3 กันยายน 2566 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนประจำเสาหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินการด้านเศรษฐกิจในภาพรวม โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ รวม 4 ฉบับ ดังนี้

      1. ร่างยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (Development of ASEAN Strategy for Carbon Neutrality) เป็นการกำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน และส่งเสริมการดำเนินการตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs) ของแต่ละประเทศสมาชิก
      2. ร่างปฏิญญารัฐมนตรีว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม (Ministerial Declaration on the Framework for ASEAN Industrial Projects Based Initiative : AIPBI ) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะร่วมกันจัดทำกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม
      3. ร่างรายงานการศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Study on the ASEAN Digital Economy Framework Agreement : DEFA) เป็นการรายงานผลการศึกษา ซึ่งพบว่า การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคผ่านการสนับสนุนความร่วมมือข้ามพรมแดนและการเสริมสร้างขีดความสามารถ หากมีการจัดทำกรอบความตกลงฯ ควรมีประเด็นสำคัญบรรจุไว้ด้วย อาทิ การค้าดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล ความปลอดภัยออนไลน์และความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์
      4. ร่างกรอบสาหรับการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Framework for Negotiating the ASEAN Digital Economy Framework Agreement) เป็นการวางแนวทางการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน โดยการใช้หลักการการเจรจา การตรวจสอบ การระบุหัวข้อที่สามารถบรรจุอยู่ในความตกลงฯ

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 4 – 7 กันยายน 2566 เป็นการประชุมระหว่างผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อปรึกษาหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและสังคมภายในกลุ่มรัฐสมาชิก พร้อมทั้งกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการดำเนินงานของประชาคมอาเซียนและหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ รวม 2 ฉบับ ดังนี้

      1. ร่างแถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Leaders’ Statement on the Development of the ASEAN Digital Economy Framework Agreement : DEFA) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียน เพื่อเริ่มการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนอย่างเป็นทางการ
      2. ร่างกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน (ASEAN Blue Economy Framework) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียนอย่างรอบด้านและยั่งยืน ผ่านการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากทรัพยากรทางทะเลและแหล่งน้ำเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

    แก้กฎกระทรวง เพิ่มข้อกำหนดสร้างอาคารใหม่

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการเพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่า หรือ มากกว่าอาคารเก่าและมีจำนวนห้องน้ำและห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร ครั้งที่ 1490-3/65 มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว และกระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งได้จัดทาสรุป ผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ด้วยแล้ว

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงนี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย และข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบและจำนวนของห้องน้ำ และห้องส้วมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของอาคารแต่ละประเภทในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่า และมีจำนวนห้องน้าห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ เช่น

      1. กำหนดคำนิยาม เช่น คำว่า “อาคารสาธารณะ”, “การกั้นแยก” , “สุขภัณฑ์”, “ที่ปัสสาวะ” โดยกำหนดบทนิยามให้เป็นมาตรฐานใกล้เคียงกับศัพท์สามัญ โดยสัมพันธ์กับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่ใช้ใน Building Code เช่น “สุขภัณฑ์” = fixture, plumbing fixture
      2. ตัดและเพิ่มประเภทอาคาร เช่น ตัดอาคารประเภท “โรงมหรสพและสถานบริการ” เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะหรือ มีความซ้ำซ้อน และเพิ่มอาคารประเภท “คลังสินค้าและอาคารชุด” ที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการควบคุม
      3. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน จึงแก้ไขข้อความเรื่องระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เช่น ระบบสัญญาณเตือนฯ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับอัตโนมัติ หรืออุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ, เพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องการอุดปิดล้อมช่องท่อและช่องว่างระหว่างท่อที่ผ่านพื้นหรือผนังเพื่อป้องกันไม่ให้ควันและไฟลุกลาม และเพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องที่ตั้งของห้องน้ำต้องจัดอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้สะดวก โดยทางเดินสู่ห้องน้ำต้องไม่ผ่านเข้าไปในพื้นที่ห้องครัวและไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือกิจกรรมอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และมีระยะทางเดินจากจุดใด ๆ ในอาคารตามที่กำหนด เช่น ศูนย์การค้าไม่เกิน 90 เมตร
      4. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น กำหนดให้มีการกั้นแยกบางส่วนของอาคาร (เช่น อาคารสาธารณะ คลังสินค้า ที่มีห้องเก็บสิ่งของหรือวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้ ห้องเครื่องหรือห้องควบคุมระบบอุปกรณ์ของอาคารต้องจัดให้มีการกั้นแยกพื้นที่) โดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชม. เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ และกำหนดวิธีคิดจำนวนที่สาหรับที่ปัสสาวะกรณีมีลักษณะเป็นราง

    “นอกจากจะห่วงใยในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยังดำเนินการต่อเนื่องตลอดมาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อลดภาระของประชาชน ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จึงยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อลดภาระประชาชน เนื่องจากกฎหมายเดิมสร้างภาระให้แก่ประชาชนมากเกินไป เช่น การกำหนดให้ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้อาคารดังกล่าวต้องใช้ระบบสัญญาณเตือน ฯ แบบที่มีคุณสมบัติทั้งสามารถตรวจจับควันและสามารถส่งสัญญาณเตือนได้ภายในเครื่องเดียวกันไว้อยู่แล้ว (แบบ 2 in 1) จึงไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุแบบใช้มือไว้อีก ซึ่งทำให้การทำงานซ้ำซ้อนกันและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยไม่จำเป็น” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เก็บค่าแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาฯเป็น “กองทรัสต์” 0.01%

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. …. สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

      1. กำหนดคำนิยาม “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อจัดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรงตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
      2. กำหนดค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ หรือ ราคาทุนทรัพย์ที่เช่า หรือ จำนอง แต่จำนวนค่าธรรมเนียมอย่างสูงต้องไม่เกิน 100,000 บาท
      3. กำหนดระยะเวลา เฉพาะการจดทะเบียนที่ดำเนินการนับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

    “ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ นอกจากจะเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่เห็นชอบมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) แล้ว ยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการและให้การดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ดำเนินต่อไปได้จากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และยังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่อนผัน รฟท.ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำ จ.เชียงราย สร้างอุโมงค์

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่1 เอ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในทางรถไฟสายใหม่ระยะเร่งด่วน ภายใต้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 – 2565 ซึ่งโครงการฯ ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561

    การขอ ครม. เพื่อผ่อนผันครั้งนี้ เนื่องด้วยโครงการฯ มีงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟที่มีส่วนพาดผ่านลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ บริเวณตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง และ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 2,376 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่รวม 52 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ซึ่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) ของโครงการฯ ได้ผ่านความเห็นขอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ(สศช.) ได้ให้การเห็นชอบด้วยแล้ว

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า โครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 323.10 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างที่สถานีรถไฟเด่นชัย จังหวัดแพร่ และมีสุดสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กรอบวงเงินลงทุน 85,345 ล้านบาท มีระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง 14 มกราคม 2571 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

    มีงานก่อสร้างประกอบด้วย 1) ทางรถไฟคู่ใหม่ 2 เส้นทาง (รางกว้าง 1 เมตร) 2) สถานีรถไฟ 26 สถานี (สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี ขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถไฟ 13 สถานี) 3) อุโมงค์ทางวิ่งรถไฟและงานระบบภายในอุโมงค์ จำนวน 4 แห่ง 4) ลานขนถ่ายสินค้าและบรรทุกตู้สินค้า (container yard)จำนวน 5 แห่ง 5) สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (overpass) จำนวน 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ (underpass) จำนวน 102 แห่ง 6) งานโยธาอื่นๆ เช่นระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนข้าม

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า โครงการฯนี้ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ.2566-70 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก:การสร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ระหว่างท่าเรือ รถไฟ ถนน และท่าอากาศยานอย่างครอบคลุม เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่อุตสาหกรรมและด่านชายแดนสำคัญ มีเป้าหมายหลักในการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งหมดจากเฉลี่ยร้อยละ 0.10 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 7 ในปี 2570

    โดย ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ ดำเนินตามมติ ครม. วันที่ 9 สิงหาคม 2565 กรณีการดำเนินโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ต้องมีการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์ หรือรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณตามโครงการ แต่หากการดำเนินการดังกล่าวมีผลทำให้กรอบวงงเงินของโครงการเปลี่ยนแปลงไปจากวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้กระทรวงคมนาคมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

    พร้อมกำชับให้ รฟท. เร่งดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงการพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์และการปรับปรุงด่านชายแดนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งภายในและระหว่างประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระบบโลจิสติกส์

    สร้างเหรียญครบรอบ 60 ปี มูลนิธิราชประชาฯ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ… มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 60 ปี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566

    ทั้งนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2506 ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน รวมถึงสงเคราะห์ด้านการศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ได้มีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดการดำเนินงานของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ให้มีความต่อเนื่องเป็นไปโดยความเรียบร้อย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 60 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม นี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จึงขอความร่วมมือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับความทุกข์ยากทั่วราชอาณาจักร และพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย พร้อมทั้งพระราชทานทุนการศึกษาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีของทั้ง 2 พระองค์เป็นที่ประจักษ์อย่างหาที่สุดมิได้

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว และได้รับพระราชทานพระบรมราชนุญาตให้จัดทำตามรูปแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว ซึ่งแบบของเหรียญนั้น ด้านหน้าเหรียญมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนด้านหลัง มีตราสัญลักษณ์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พร้อมข้อความแสดงการครบรอบ 60 ปี และ มูลค่ายี่สิบบาททั้งตัวเลขไทยและเลขอารบิก

    ตั้ง “กมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย” นั่งรองเลขาธิการ ปปง.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เสนอแต่งตั้ง นางสาวปนิษฐา บุรี ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้แทนสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ แทนนายประวิทย์ ศรีบัณฑิตมงคล กรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป และให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    2. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอแต่งตั้ง นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เพิ่มเติม