ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังชง ครม.ชุดใหม่ รื้อลดหย่อนภาษี-ตัดสิทธิคนรวยรับ “เบี้ยคนชรา”

คลังชง ครม.ชุดใหม่ รื้อลดหย่อนภาษี-ตัดสิทธิคนรวยรับ “เบี้ยคนชรา”

14 กรกฎาคม 2023


เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง (คนกลาง) พร้อมด้วยนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) (ซ้ายมือ) และนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สศค.ร่วมกันแถลงข่าวในงานสัมมนา “ภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง” ณ ห้อง Prego โรงแรม Amari Koh Samui

คลังเตรียมงบฯกว่า 1.2 แสนล้านบาท รับมือ พ.ร.บ.งบประมาณฯปี’67 ล่าช้า 6 เดือน – เล็งชง ครม.ชุดใหม่ปรับโครงสร้างภาษี 12 รายการ – รื้อค่าลดหย่อนภาษี – เก็บภาษีซื้อขายหุ้น – ตัดสิทธิคนรวยรับ “เบี้ยยังชีพคนชรา”

ปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นในช่วงลอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี รอบแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา จึงนัดประชุมสภา เป็นครั้ง 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาทำหน้าที่บริหารประเทศเมื่อไหร่

ล่าสุด กระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการผลกระทบทางการเมืองที่มีผลต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 2567 ปกติจะเริ่มเบิกจ่ายเงินงบฯกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป คาดว่าจะเกิดความล่าช้าออกไปถึง 6 เดือน ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศ อาจจะต้องทบทวน หรือ ปรับปรุงวงเงินและรายการค่าใช้จ่ายต่างๆให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธ์ศาสตร์ของรัฐบาลชุดใหม่

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านบาท ประกอบไปด้วยรายจ่ายประจำเป็นส่วนใหญ่ กับรายจ่ายลงทุนประมาณ 600,000 ล้านบาท ในส่วนของรายจ่ายประจำ หรือ งบประจำนั้นไม่มีปัญหา เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ไปหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบฯปี 2567 เอาไว้แล้ว โดยใช้กรอบการเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2566 ไปพลางก่อนได้ แต่อาจมีปัญหาในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุนที่มีวงเงินรวมกว่า 600,000 ล้านบาท อาจต้องรอไปจนกว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา และมีผลบังคับใช้ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาหามาตรการรองรับงบลงทุนที่อาจจะหายไปในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

จากการศึกษาของ สศค.พบว่า ปกติการเบิกจ่ายงบลงทุนของทุกปีจะมาเบิกจ่ายกันมากในช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณนั้น จะมีอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ที่ 30% ของวงเงินงบลงทุน ดังนั้น หากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เกิดความล่าช้าไป 6 เดือน ก็อาจจะมีผลทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงนี้หายไปประมาณ 180,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 30% ของวงเงินงบลงทุน 600,000 ล้านบาท ทางกระทรวงการคลังจึงต้องเตรียมจัดหาเม็ดเงินเข้าไปช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนักประมาณ 0.03 – 0.05% ของ GDP

ถามว่าเม็ดเงินที่กระทรวงการคลังจัดเตรียมไว้พยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้จะมาจากแหล่งไหนบ้าง นายกฤษฎา กล่าวว่า ประการแรก กระทรวงการคลังได้ไปหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 โดยใช้แนวทางการเบิกจ่ายงบฯของปีก่อนมาใช้เป็นแนวทางไปพรางก่อนได้ และพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบสัมมนา งบฯฝึกอบรม โดยเลื่อนให้มาเบิกจ่ายกันในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2567 ประการที่ 2 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีวงเงินรวมประมาณ 500,000 ล้านบาท ให้มาเบิกจ่ายกันในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะมีเม็ดเงินประมาณ 50,000 – 60,000 ล้านบาท และประการที่ 3 ใช้วงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ยังเหลืออยู่อีก 70,000 ล้านบาท เข้ามาช่วยเสริม ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณได้จัดเตรียมไว้ทั้งหมดนี้ น่าจะเพียงพอที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นในช่วงนี้ไปได้ แต่ถ้า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีผลบังคับใช้ได้เร็วกว่า 6 เดือน ก็ยิ่งดี

ถามว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ล่าช้ากว่ากำหนด จำเป็นต้องเสนอเรื่องแต่งตั้งปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่เข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาก่อนปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบันเกษียณอายุราชการหรือไม่ นายกฤษฎา ตอบว่า “ไม่ต้องห่วงระบบราชการสามารถรันต่อไปได้ ถึงแม้จะไม่สามารถแต่งตั้งปลัดกระทรวงคลังคนใหม่ได้ก็ตาม ยังมีรองปลัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่รักษาการต่อไปได้ ยืนยันไม่มีเกียร์ว่างแน่นอน แต่อาจจะติดขัดในบางเรื่องที่ต้องไปขออนุมัติจาก ครม.ชุดใหม่ก็เท่านั้นเอง แต่อะไรที่เราทำได้ เราก็ทำ ไม่ต้องห่วง แต่ถ้าเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ได้ในวันนี้ ผมเสนอทันที แต่ตอนนี้เสนอไม่ได้ ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เท่านั้น”

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้มีการจัดเตรียมมาตรการ ทั้งในส่วนของการเพิ่มรายได้และ ลดรายจ่ายเอาไว้เสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังมีเสถียรภาพอยู่ภายใต้กรอบของวินัยการเงินการคลัง ในส่วนของแผนการปฏิรูประบบภาษีของ สศค.นั้นที่ได้ผ่านเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้วมีประมาณ 20 ตัว แต่เรื่องของโครงสร้างภาษีไม่สามารถเปิดเผยได้ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในตอนนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 14% ของ GDP ถามว่าควรขยับขึ้นไปเป็น 16-17% ของ GDP เหมือนในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่

“ที่ผ่านมาเราใช้มาตรการลดหย่อนภาษี เข้าไปช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนมานานหลายปีแล้ว ถามว่าเป็นการช่วยคนรวยมากเกินไปหรือไม่ ลดลงหน่อยได้หรือเปล่า เช่น อาจจะใช้วิธีนำค่าลดหย่อนหลายตัวมามัดรวมกันแล้วกำหนดไว้วงเงินค่าลดหย่อนรวม หรือ แคปวงเงินสูงสุดเอาไว้ ทั้งนี้ เพื่อจะนำเงินไปใช้ในกิจกรรมอย่างอื่นที่มีความจำเป็นมากกว่า ไม่ใช่ใครอยากออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็มาขอให้กระทรวงการคลังช่วยลดหย่อนภาษี ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่คนรวยซื้อทั้งนั้น ส่วนการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น ก็ยังอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพียงแต่รัฐบาลรักษาการมีข้อจำกัดไม่สามารถดำเนินการได้ต่อ แต่ทุกอย่างศึกษาไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กระทรวงการคลังก็มีแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว หรือ ESG ตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกหลายตัว เช่น สินค้าประเภทไหนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำลายสุขภาพ ต้องจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น ซึ่งทางอธิบดีกรมสรรพสามิตได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วมากพอสมควร ส่วนมาตรการลดรายจ่าย ปลัดกระทรวงการคลังได้ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ “เบี้ยยังชีพคนชรา” ว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สศค. ขณะนี้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราปีละ 50,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้จ่ายค่าเบี้ยยังชีพคนชราเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท

ถามว่าคนรวยที่มีอายุเกิน 60 ปี ควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละ 600 – 800 บาท หรือไม่ และควรลดรายจ่ายตรงนี้ลงแล้วนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่นดีกว่าหรือไม่ เป็นประเด็นที่จะต้องไปศึกษากันต่อว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้เงินส่วนนี้เป็นสิทธิของประชาชนทุกคนควรได้รับ หรือ เป็นสิทธิของประชาชนเฉพาะที่เดือดร้อน ไม่มีความสามารถในการหารายได้เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อนำมากำหนดเป็นกติกาการจ่ายเงิน เช่น การกำหนดฐานรายได้ หรือ การถือครองทรัพย์สินของผู้มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยยังชีพคนชรากันใหม่ เป็นต้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ทางกระทรวงการคลังเตรียมเอาไว้เสนอรัให้ฐบาลชุดใหม่พิจารณา

  • รายงานธนาคารโลกชี้ไทยต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ รองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
  • โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (6) : พับแผนหักค่าลดหย่อนภาษี – เพิ่มรายได้ปีละ 6 พันล้านบาท