ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (14) : 4 โปรแกรมแก้หนี้จากแบงก์ชาติ ‘ดูแลตลอดเส้นทาง’

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (14) : 4 โปรแกรมแก้หนี้จากแบงก์ชาติ ‘ดูแลตลอดเส้นทาง’

28 สิงหาคม 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

ผู้ที่มีหนี้และเข้ามารับคำปรึกษาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยหลัก คือ ผู้ที่มีหนี้มากกว่ารายได้ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลง แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย และผู้ที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 12 เดือน คือ กลายเป็นหนี้เสียแล้ว แบงก์ชาติจะมีหลักการให้การแก้ปัญหาแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน พร้อมข้อเสนอเพื่อให้ลูกหนี้เลือกที่นำไปเจรจากับเจ้าหนี้ตามความเหมาะสม

‘ชวนันท์ ชื่นสุข’ รองผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ดูแลการแก้ไขหนี้ประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอี รวมถึงการอบรมให้ความรู้กับกลุ่มครู กล่าวว่าหลักในการแก้หนี้ที่แบงก์ชาติให้คำแนะนำสำหรับประชาชนรายย่อย กรณีนี้ลูกหนี้ยังไม่เป็นหนี้เสีย คือปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และสำรวจดูว่ายังมีทรัพย์อะไรบ้างที่สามารถจำนำ จำนอง ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า เพื่อนำเงินที่ได้มาจ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง และปรับการผ่อนในระยะเวลาที่ยาวขึ้น

ถ้าประชาชนหรือนิติบุคคลที่มีปัญหาหนี้และต้องการแก้ไข คือ ปรับแผนการผ่อนชำระ ปรับค่างวดการผ่อนชำระลง หากมีการติดต่อกับเจ้าหนี้แล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่เข้าใจหรือไม่สามารถหาข้อสรุปตรงกันได้ สามารถแจ้งเรื่องมาที่แบงก์ชาติ จะมีโปรแกรมการแก้หนี้ ซึ่งประชาชนสามารถใช้ช่องทางนี้ได้ เมื่อรับเรื่องแล้ว แบงก์ชาติจะส่งเรื่องไปให้กับแบงก์เจ้าหนี้ เพื่อให้ดำเนินการติดต่อกับลูกค้า และแบงก์จะส่งผลกลับมาที่แบงก์ชาติ ว่าได้ช่วยเหลืออย่างไร

มีคำถามเข้ามาเยอะมากว่า ปล่อยให้เป็นหนี้เสียดีหรือไม่ เพื่อจะได้เข้าคลินิกแก้หนี้ อยากให้ถามกลับไปที่ตัวเองก่อนว่า เคยอยู่ในสภาวะที่เป็นหนี้เสียหรือไม่ เพราะการปล่อยให้ตัวเองเป็นหนี้เสียจะมีความยุ่งยากอีกแบบหนึ่ง อาจจะเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ เพราะผ่อนต่อเดือนได้ แต่ไม่สบายตัวเหมือนคนที่ไม่เป็นหนี้เสีย

การเป็นหนี้เสีย สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตได้ยาก ถ้าถูกฟ้องก็จะมีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย ถูกติดตามทวงถามหนี้ ถูกขายหนี้

ฉะนั้นถ้ามีปัญหาในการชำระหนี้แล้ว ต้องรีบติดต่อเจ้าหนี้ขอปรับโครงสร้างหนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อขอลดค่างวด เพิ่มระยะเวลาการผ่อน เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย

ขณะที่คลินิกแก้หนี้ สำหรับผู้ที่เป็นหนี้เสีย เวลานี้มีการปรับเงื่อนไขตลอดเวลา ปัจจุบันใครที่เป็นหนี้ค้างชำระ 120 วัน สามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ จากเดิมกำหนดว่า ต้องเป็นหนี้เสียก่อนวันที่เท่าไหร่ เช่น ต้องเป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 จึงจะเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว ถ้าค้างชำระ 120 วันขึ้นไปเข้าคลินิกแก้หนี้ได้

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (6) : คลินิกแก้หนี้ ช่วยคนเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลกลับมายืนได้
  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (11): โครงการ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ อีกหนึ่งทางออกปลดภาระหนี้และเป็นไท
  • ‘ชวนันท์’ กล่าวว่า งานด้านการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยหลักมี 2 ด้าน คือ การแก้หนี้กับการให้คำปรึกษาในการแก้หนี้ ในด้านการแก้หนี้สำหรับประชาชนรายย่อย ไม่ว่าจะก่อนการระบาดของโรคโควิด หรือหลังโควิด ก็ตาม หลายคนมีปัญหานี้ แบงก์ชาติจึงทำช่องทางขึ้นมา และคอยติดตามตลอดเวลา นอกจากนี้ เวลาออกมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ แบงก์ชาติจะไปตั้งบูธเพื่อให้คำปรึกษาด้วยว่าจะแก้หนี้อย่างไร โดยให้คำปรึกษาเป็นรายคนที่แม้จะมีหนี้หลายรายการ ก็ให้คำปรึกษาทุกรายการ เพื่อให้เขาไปคุยกับเจ้าหนี้ได้ คือสามารถตั้งต้นที่จะคุยได้ โดยแบงก์ชาติทำหน้าที่ประสานให้สองฝ่ายคุยกันได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาสามารถให้สองฝ่ายคุยกันได้ประสบความสำเร็จประมาณ 60-70% โดยในงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้จะได้มากหน่อย

    “มีตัวอย่างที่เป็นบุคคลธรรมดา มีหนี้ที่เป็นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งหมด 5 แห่ง 10 วงเงิน มูลหนี้เกือบ 1 ล้านบาท แต่ยังมีรายได้ มีเงินเดือน แต่เงินเดือนที่เหลือจ่ายหนี้ไม่ไหว ก็ใช้วิธีหมุน คือกดบัตรเงินสดไปจ่ายบัตรเครดิต เขาแจ้งมาทางทางด่วนแก้หนี้ มีการยื่นรายการมา เราก็พยายามปรับโครงสร้างหนี้ให้ในแต่ละบัญชี ซึ่งจะเปลี่ยนการชำระจากสินเชื่อบัตรเครดิต มาเป็นสินเชื่อแบบมีระยะเวลา ทั้ง 5 แห่งจะมีระยะเวลาสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ไหว ก็แนะนำ เพื่อลดวงเงินการผ่อนชำระต่อเดือน ลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย แล้วถามว่ามีทรัพย์อะไรบ้าง มีบ้านปลอดภาระหรือไม่ มีรถปลอดภาระหรือไม่ หรือบ้านติดจำนองอยู่ จะได้แนะนำ สุดท้าย เขาเล่าให้ฟังว่า มีรถปลอดภาระ ก็ให้เอารถไปจำนำทะเบียนที่ได้ดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนระยะยาว แล้วนำเงินนั้นมาจ่ายหนี้ดอกเบี้ยแพงก่อน จากนั้นส่งใบปิดบัญชีมาให้ดู เพราะหลักสำคัญ คือ การกู้หนี้ใหม่เพื่อปิดหนี้เดิม ไม่ใช่กู้ใหม่เพื่อนำไปใช้จ่าย ซึ่งทำให้หนี้เยอะขึ้น ลุกค้ารายนี้ทำตามคำแนะนำทุกอย่าง ได้เงินมาตัดสินเชื่อส่วนบุคคลดอกเบี้ยสูงก่อน ตัดบัตรเครดิตวงเงินใหญ่ ดอกเบี้ย 16% เพื่อลดภาระ จนกระทั่งรายได้ต่อเดือนของเขาสามารถเหลือมาผ่อนชำระต่อเดือนได้”

    พร้อมเล่าต่อว่า “แต่ก็มีเคสที่เสียใจ คือในงานมหกรรมแก้หนี้ ปี 2564 มีโปรแกรมสำหรับหนี้ที่ถูกยึดทรัพย์แล้วได้รับการผ่อนปรน ให้ผ่อนระยะยาว เคลียร์กันไปได้ พอปี 2565 ลูกหนี้รายนี้กลับมาอีก ถูกยึดทรัพย์เหมือนกัน แต่หนี้คนละที่ ครั้งแรกเป็นหนี้บัตร ครั้งที่สองเป็นหนี้รถ ทำให้เสียใจที่ไม่สามารถดูแล เพราะหนี้รถเกิดปัญหาว่า รถหาย ซึ่งหนี้เช่าซื้อ ถ้ารถหายไป หรือเอาไปจำนำ เพื่อนขอยืมไปแล้วไม่คืน จะแก้ยาก เพราะไม่มีใครทราบว่า ใครผิด ใครทุจริต คือรถ กรรมสิทธิ์เป็นของเจ้าหนี้ เป็นของไฟแนนซ์ ลูกหนี้เป็นแค่ผู้ครอบครองรถ”

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (1) : ธปท. จับมือหลายภาคส่วน แก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เน้นคุณภาพชีวิต
  • ‘ชวนันท์’ กล่าวว่า สำหรับนิติบุคคลจะต่างกับประชาชนรายย่อยเล็กน้อย ถ้าเป็นบริษัท แบงก์ชาติมีโครงการ Multi Creditor คือ บริษัทต้องมีเจ้าหนี้หลายราย แล้วแก้ไขพร้อมกัน โดยขนาดสินเชื่อต้องใหญ่หน่อย คือ 250 ล้านบาท โครงการ Multi Creditor นี้ เจ้าหนี้ทุกรายจะมาประชุมมาตกลงร่วมกันว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าอย่างไร แต่ถ้านิติบุคคลต้องการจะแก้แบบแยกกัน ขอคุยกันกับเจ้าหนี้แต่ละราย ก็ลงทะเบียนทางด่วนแก้หนี้ได้ กรณีจะต่างกันเล็กน้อย คือคุยกับเจ้าหนี้เองเลย เช่น มีเจ้าหนี้ 5 ราย ก็คุยกัน 5 แห่ง กลุ่มนี้จะเป็นนิติบุคคลรายเล็ก/กลุ่มเอสเอ็มอี โดยผ่านทางด่วนแก้หนี้ ส่วนใหญ่จะสัมฤทธิ์ผล และได้รับคำชม

    อย่างไรก็ตาม การจะปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ ทุกคนต้องสำรวจตัวเองว่า เวลานี้ในกระเป๋ามีเงินอยู่เท่าไหร่ มีภาระอะไรบ้าง ที่สำคัญต้องอย่าสร้างภาระเพิ่ม เพราะถ้าสร้างภาระเพิ่ม สุดท้ายอย่างไรก็ไม่พอ คือ แก้หนี้ก็ต้องแก้ แต่การคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เพิ่มมากขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะเดินไปแก้ไขหนี้ อย่าลืมว่า คำว่าแก้หนี้ อาจจะลดการผ่อนชำระลง แต่หนี้ก็จะหมดช้าลง

    ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องดูเงินในกระเป๋า ต้องมีการวางแผนคุมค่าใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่สร้างภาระไม่สร้างค่าใช้จ่ายเพิ่ม หารายได้เพิ่ม

    ‘ชวนันท์’ กล่าวว่างานอีกด้านคือการอบรมให้ความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มครูนั้น โดยกระทรวงศึกษาธิการจะตั้งสถานีแก้หนี้ครูขึ้น ตามเขตการศึกษา โดยแบงก์ชาติจะอบรมให้ความรู้บุคลากรในสถานีแก้หนี้ครู เพื่อไปให้ความรู้ครูที่มีปัญหาหนี้ เพราะครูจะติดต่อทางสถานีแก้หนี้ ทางสถานีก็จะให้คำแนะนำคุณครูในการคุยกับเจ้าหนี้

    สิ่งที่ให้ความรู้คุณครู คือให้ความรู้เบื้องต้นเรื่องหนี้ คือ หนี้บัตร หนี้รถ หนี้บ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล จำนำทะเบียน ให้ความรู้ผลิตภัณฑ์ การปรับโครงสร้างหนี้ว่ามีกี่แบบ สินเชื่อแต่ละประเภทจะปรับโครงสร้างหนี้วิธีไหนได้บ้าง พร้อมกันนี้จะมีการอบรมผู้ไกล่เกลี่ย ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เป็นคู่กรณี ให้ความรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์ การปรับโครงสร้างหนี้ แต่สิ่งที่จะบอกผู้ไกล่เกลี่ย คือ ผู้ไกล่เกลี่ยจะอยู่ตรงกลางระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เขาต้องเข้าใจว่า เมื่อหาทางออกให้กับลูกหนี้ได้ ขณะเดียวกันเจ้าหนี้ยอมรับได้ ความรู้ผู้ไกล่เกลี่ยก็จะลึกขึ้นอีกนิดว่า จะต้องหาทางออก หาข้อสรุปที่ลูกหนี้ทำได้ และเจ้าหนี้ทำได้ ซึ่งแบงก์ชาติพยายามจัดอบรมเพื่อให้มีบุคคลที่ให้คำปรึกษากับประชาชนได้

    ทั้งนี้ แบงก์ชาติมีโปรแกรมรองรับการแก้ไขหนี้ของประชาชน มี หมอหนี้เพื่อประชาชน ทางด่วนแก้หนี้ รับเรื่องร้องเรียน คลินิกแก้หนี้ เป็นการดูแลตลอดเส้นทาง

    ‘ชวนันท์’ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนมีมานานแล้ว แบงก์ชาติพยายามสร้างช่องทาง สร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา จะแก้ได้มากน้อยเพียงไร ทุกคนต้องสำรวจ ต้องดูตัวเอง แล้วแจ้งเรื่องเข้ามา ขณะเดียวกันแบงก์ชาติต้องการผลักดันให้มีหลักเกณฑ์ เช่น market conduct เพื่อให้เจ้าหนี้ดูแลลูกหนี้ และอยู่ระหว่างการออกเกณฑ์ Responsible Lending เพื่อให้เจ้าหนี้รับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นี่เป็นเกณฑ์ฝั่งเจ้าหนี้ให้ดูแลลูกหนี้ ส่วนลูกหนี้ ต้องดูแล สำรวจตัวเอง ถ้าไม่ไหว ต้องการความช่วยเหลือ ก็แจ้งมาผ่านช่องทางที่มีอยู่ได้ตลอดเวลา

    “ระยะนี้มีผู้เข้ารับคำปรึกษาน้อยกว่าช่วงโควิด ด้วยหลายเหตุผล เช่น ช่วงนี้ธุรกิจเริ่มทยอยดีขึ้น แบงก์เจ้าหนี้เองก็ช่วย ประชาชนหรือลูกหนี้ก็ทราบแล้วว่า ติดขัดอะไรก็ไปหาแบงก์เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ คือ เกิดการเรียนรู้ในทุกฝ่าย ลูกหนี้ก็เรียนรู้ เจ้าหนี้ก็เรียนรู้ แบงก์ชาติที่เป็นกองกลางก็เรียนรู้ว่า มีอะไรบ้างที่ควรจะใส่เข้าไปในระบบให้ทุกคนได้รับการดูแล และเป็นกำลังใจให้ทุกคน เป็นหนี้ต้องมีวันจบ”