ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (12): ‘ไกล่เกลี่ยหนี้’ ทางออกปัญหาหนี้สิน ที่ไม่ต้องเข้าไปสู่กระบวนการศาล

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (12): ‘ไกล่เกลี่ยหนี้’ ทางออกปัญหาหนี้สิน ที่ไม่ต้องเข้าไปสู่กระบวนการศาล

14 สิงหาคม 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มุ่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการดูแลคือกลุ่มที่มีปัญหาหนี้เสีย หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้เกิน 3 เดือน ที่ได้รับการสนับสนุน ผลักดันให้มีการเจรจาหารือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถหลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้ได้

จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภายใต้ข้อเท็จจริง 8 ประการ เช่น คนไทยเป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน รวมถึงเป็นหนี้เสีย โดยแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะมี 3 หลักการ คือ ทำครบวงจร ทำให้ตรงจุด และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทำครบวงจร คือ วงจรของหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และเป็นหนี้เสียแล้ว

ก่อนเป็นหนี้ แบงก์ชาติและภาคส่วนต่าง ๆ ต้องช่วยกันระมัดระวัง และให้ความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ว่าก่อนที่จะเป็นหนี้ เขาควรรู้อะไร คือควรออมเงินก่อน ควรมีวินัยทางการเงิน ต้องรู้ว่า ถ้าจะใช้สินเชื่อ ต้องเป็นสินเชื่อที่ดี เช่น เอาไปปลูกบ้าน ตั้งเนื้อตั้งตัว แต่ถ้าเป็นสินเชื่อไม่พึงประสงค์ ฟุ่มเฟือย ก็ไม่ควรกู้ นี่คือสิ่งที่ต้องให้ความรู้ทางการเงิน

ขณะเป็นหนี้ ต้องบอกเขาได้ว่า สินเชื่อแต่ละประเภทมีวัตถุประสงค์ต่างกัน อัตราดอกเบี้ยถูกและแพงต่างกัน ถ้าเป็นหนี้แล้วควรผ่อนชำระ ผ่อนงวดอย่างไร ถ้าผ่อนงวดขั้นต่ำอย่างเดียว เงินที่ผ่อนไปจะไม่ไปตัดเงินต้น จะทำให้ผ่อนเป็นเวลานาน เป็นหนี้นาน แต่ถ้าผ่อนด้วยจำนวนเงินที่เยอะขึ้นมาหน่อย จะตัดเงินต้นด้วย เป็นความรู้ที่จะให้อย่างต่อเนื่อง

เป็นหนี้เสีย พอเป็นหนี้เสียแล้ว สถาบันการเงินจะส่งฟ้อง หรือขายหนี้ออกไปให้บริษัทข้างนอกตั้งทนายมาฟ้อง ซึ่งพบว่า ช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด คดีการเงินขึ้นศาลจำนวนมาก ประมาณ 5 แสนกรณี

จิตเกษม กล่าวว่า ถ้าเป็นหนี้เสียแล้ว รายได้ช็อตแล้ว ขาดส่งชำระ จะมีกระบวนการหนึ่งคือ…

ไกล่เกลี่ยหนี้ โดยขณะนี้ธปท.ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ 3 เสาหลักด้านกระบวนการยุติธรรม คือ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และศาลยุติธรรม โดยกระทรวงยุติธรรม จะมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่คอยสนับสนุนให้เกิดการไกล่เกลี่ยตามพ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยภาคประชาชน พ.ศ.2562 เป็นการไกล่เกลี่ยคดีอาญา และคดีแพ่ง ทั้งที่กำลังจะขึ้นสู่ศาล หรือขึ้นสู่ศาลแล้ว หรืออาจจะตัดสินแล้ว

โดยหลังจากลงนามในเอ็มโอยูแล้ว แบงก์ชาติมีข้อเสนอว่า เมื่อคดีการเงินขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก ผู้ไกล่เกลี่ยควรจะได้เรียนรู้ความรู้ทางการเงิน ทักษะทางการเงิน ปัญหาทางการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ไขหนี้สิน จึงจัดโครงการหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหนี้สินและการเงินขึ้น เพื่อให้ผู้ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ติดอาวุธความรู้ด้านนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในคดีไกล่เกลี่ยทางการเงินได้ หลักสูตรแรกที่จัด เป็นความร่วมมือของแบงก์ชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และมูลนิธิสถาบันศึกษาและพัฒนาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (ส.พ.ส.) โดยผู้ไกล่เกลี่ยที่มีสิทธิ์เข้าอบรม คือ ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมคุ้มครองฯ ต้องมีประสบการณ์การไกล่เกลี่ยมาแล้ว โดยสมาคมผู้ไกล่เกลี่ยร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ จะเป็นผู้คัดเลือกมา ครั้งแรกเข้ามาอบรม 50 คน วิทยากรมาจากแบงก์ชาติ มีเวิร์คช็อปฝึกการไกล่เกลี่ย กรณีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับในส่วนที่เป็นหนี้เสียแล้ว

  • ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานศาลยุติธรรมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
  • ขณะเดียวกัน ได้ให้ความรู้กับผู้ที่เป็นหนี้เสีย เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจทั้งโครงสร้างภาคการเงิน การให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ว่าแบงก์ชาติมีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ ลักษณะพื้นฐานของสินเชื่อต่าง ๆ รวมถึงความรู้เรื่องดอกเบี้ย แนวทางการจัดการหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เขาเข้าใจกลไกในภาพใหญ่ ภาพรวม จะได้สามารถที่จะเข้าใจทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ โดยดูเป็นกรณี ๆ ไป ว่า แต่ละกรณีมีปัญหาหนี้สินที่จะปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร ใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทไหน สถาบันการเงินเป็นธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อสร้างความเข้าใจ

    “ทำไปเรื่อย ๆ ไม่มีหมด เพราะเคสมันเยอะ สิ่งที่ทำวันนี้คือต้องมีการอบรมผู้ไกล่เกลี่ยหนี้รุ่น 2-3-4 แต่ที่ต้องทำคู่กันไป คือ e-learning แล้วสร้างมาตรฐาน e-learning ให้ผู้ไกล่เกลี่ยไม่ว่าจะอยู่กระทรวงยุติรรม อยู่สำนักงานอัยการ ผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นผู้ประนอมชั้นศาล สามารถนำไปเปิดดู ประยุกต์ใช้ นำไปไกล่เกลี่ยได้ โดยหลังจากผู้ไกล่เกลี่ยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเข้ามา ก็ขึ้นกับลูกหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ และโปรแกรมทางเลือกของสถาบันการเงินว่าจะเหมาะสมกับความสามารถของลูกหนี้หรือไม่ โดยผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีจรรยาบรรณ และมีกรอบ ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง จะดูความเหมาะสมของแนวทางแก้ปัญหาให้ทั้งสองฝ่าย โดยลูกหนี้สามารถขอไกล่เกลี่ยได้ตั้งแต่ก่อนฟ้อง ผู้ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสิทธิฯ บางรายอยู่ตามโรงพักก็มี สามารถไกล่เกลี่ยกันตรงนั้นก่อนได้เลย การไกล่เกลี่ยจึงมีหลายระดับ โดยผู้ไกล่เกลี่ยนั้น กระทรวงยุติธรรมมีค่าน้ำมันรถให้เคสละ 1 พันบาท”

    สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แบงก์ชาติได้ให้สถาบันการเงินเปิดโอกาสให้ลูกหนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ก่อน 1 ครั้งก่อนตัดสินใจส่งฟ้อง ถือว่าเป็นมาตรการที่เพียงพอ และเป็นไปตามมาตรฐานในต่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อน ถ้าลูกหนี้รู้สึกไม่ไหว ต้องเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้เลย โดยเจ้าหนี้จะมีโปรแกรมการปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว สามารถคุยได้ต่อเนื่องตลอดเวลา เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย โดยมาตรการแก้หนี้ระยะยาวยังอยู่ถึงสิ้นปีนี้ แต่ถึงจบแล้ว สถาบันการเงินเองก็ยังมีโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ของตัวเองอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับรายได้ การปรับค่าใช้จ่าย ตามหลักการที่สามของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ประชาชนต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ลูกหนี้ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงจะมีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น

    ขณะเดียวกัน แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ที่มีหลักการหนึ่ง คือ การเกิดหนี้ใหม่อย่างมีคุณภาพ แบงก์ชาติได้ออกเกณฑ์ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) นอกจากนี้ แบงก์ชาติในฐานะธนาครกลางก็เป็นแกนหลักในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน มีการออกแบบหลักสูตร ตั้งแต่เด็กเล็ก ไปจนถึงวัยเกษียณ ครอบคลุมทุกช่วงอายุ เป็นเนื้อหาที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย โดยประสานความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนำหลักสูตรไปบรรจุในโปรแกรมการศึกษาแต่ละช่วง มัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย โดยมีการพัฒนาหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง ในระดับมหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยกำลังจะเสนอที่ประชุมอธิการบดีของสถาบันราชภัฎในการบรรจุหลักสูตรพื้นฐานในโปรแกรมการเรียนของสถาบันราชภัฎ 38 แห่ง

    อย่างไรก็ตาม คนไทยเป็นหนี้เร็ว อายุ 25-29 ปี ไปจนถึง 32 ปี หรือกลุ่มเพิ่งทำงาน กำลังตั้งตัว ต้องกู้หนี้มาจ่ายค่าบ้าน ค่ารถ กลุ่มนี้เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้เยอะ จึงมีโปรแกรมร่วมมือกับสำนักงานอาชีวศึกษามาตลอดหลายปี ในการให้ความรู้และฝึกฝนเรื่องการเงิน และมีการขยายไป 100 กว่าแห่ง โดยให้นักศึกษาไปคิดเรื่องการออม วินัยการออม แล้วมาแข่งขันกัน ผ่านอวท. (องค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย) ที่จัดทุกปี โดยปีนี้มีการบรรจุเรื่องการเงินเข้าไปในการแข่งขัน ทำให้ต่อไปจะฝังอยู่ในระบบการเรียนการศึกษา กลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อนเข้าทำงาน

    ส่วนกลุ่มที่เข้าทำงานแล้ว จะร่วมมือกับองค์ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน 500 คนขึ้นไป ทั้งกลุ่มผลิต กลุ่มบริการ กลุ่มค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า จัดโปรแกรม Responsible Employer ในการจัดฝึกอบรมฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละแห่ง เพื่อให้ไปทำโปรแกรมคล้าย ๆ กับที่จัดให้อาชีวศึกษา ทำการฝึกอบรมพนักงานที่เป็นหนี้ ปรับพฤติกรรมทางการเงิน นอกจากนี้ ยังมีการส่งวิทยากรไปฝึกอบรมกลุ่มครู เพื่อให้ความรู้กับครูที่ “หัวไว ใจสู้” สามารถนำไปถ่ายทอดต่อได้ รวมถึงกลุ่มข้าราชการ กลุ่มสหกรณ์

    จิตเกษม กล่าวว่า งานแบบนี้ไม่มีวันหมด ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องร่วมมือกัน โดยขณะนี้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาทักษะทางการเงิน มีรัฐมนตรีคลังเป็นประธาน มีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และแบงก์ชาติเป็นเลขานุการ กรรมการประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารรัฐ ทั้งหมดนี้เป็นเครือข่ายที่เคยคุยกันมาตลอด รวมถึงกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นฐานราก เพราะกระทรวงมหาดไทยมีกองทุนการออมต่าง ๆ จำนวนมาก จึงอยากให้ความรู้ทั้งสมาชิกกองทุน คือชาวบ้าน ตัวแทนผู้จัดการกองทุนระดับหมู่บ้าน ที่ผ่านมามีการประชุม 2 ครั้ง เริ่มมีการประวลกันว่าใครทำอะไรอยู่ ครอบคลุมกลุ่มใดบ้าง แล้ววางเป็นแผน 5 ปี และรอรัฐบาลใหม่มาสานต่อ