ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (20) สตางค์ STORY เรื่องการเงินสำหรับทุกคน

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (20) สตางค์ STORY เรื่องการเงินสำหรับทุกคน

24 กันยายน 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการตั้งฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมผู้ใช้บริการทางการเงิน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและหาแนวทางในการดูแลและให้การศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเงินที่เหมาะสมให้แก่ผู้บริโภคในทุกระดับ โดยพบว่า ปัญหาที่สำคัญของผู้ที่มีปัญหาหนี้สิน คือ ขาดความรู้เรื่องดอกเบี้ย ทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ย วิธีการคำนวณ ไปจนถึงการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยระหว่างผู้กู้แต่ละราย นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่มีการออมในกรณีที่ฉุกเฉิน ไม่มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย จนนำไปสู่การใช้จ่ายที่มากกว่ารายได้

จุฬาลักษณ์ พิบูลชล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ(ควบ) ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมผู้ใช้บริการทางการเงิน กล่าวว่า งานให้ความรู้ทางการเงิน ถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนในเชิงป้องกัน และจะเน้นฝั่งลูกค้า ฝั่งผู้บริโภค สิ่งที่แบงก์ชาติพยายามทำมาและจะทำต่อไป คือ การกระตุ้นที่มีหลักการ 4 ข้อที่เป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คือ 1.ทำเรื่องให้ง่าย 2.สนุกสนาน น่าดึงดูด 3.ใครก็ทำกัน 4.ทำถูกเวลา ซึ่ง 4 ข้อนี้เรียกว่า EAST คือ Easy Attractive Social และ Timely ที่จะต้องนำมาประยุกต์ใช้ ตัวอย่างที่เคยทำ คือ การวางแผนการเงิน หน้าที่ของผู้ใช้บริการ และเรื่องหนี้ ที่เน้นเชิงป้องกัน ตั้งแต่ยังไม่เป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ คือ ถ้ายังไม่เป็นหนี้ ถ้ายังไม่ได้สมัครใช้สินเชื่ออะไร จะเน้นความสามารถในการชำระหนี้ การเลือก การเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์โดยต้องให้เวลาที่จะดูว่า สินเชื่อที่จะขอนั้น แต่ละแบงก์ให้เงื่อนไขอะไรบ้าง ให้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ มีเงื่อนไขอะไร ค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ โดยในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีหน้าหนึ่งที่สามารถเข้าไปดูได้ว่าสินเชื่อแต่ละแบบ แต่ละธนาคาร หรือกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจ มีการคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาหรือข้อสังเกตที่พบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ การขาดความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ย และพฤติกรรมที่ไม่ได้มีการเปรียบเทียบก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้สินเชื่อ โดยส่วนใหญ่จะไม่มีการเปรียบเทียบ หรือไม่มีการคำนวณก่อนที่จะกู้ บางคนอาจมีความเร่งด่วนในชีวิต ใครให้ก่อนก็เอา โดยที่ไม่มีเวลาจะดูว่า สินเชื่อไหนดอกเบี้ยแพง ดอกเบี้ยถูก หรือบางคนก็ไม่สนใจ คิดว่าที่ไหนก็ให้ดอกเบี้ยเท่ากัน มีหลายแบบ ทั้งนี้ ความรู้เรื่องดอกเบี้ย

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (9):เป็นหนี้เรื้อรังจนเกษียณ เพราะไม่มีความรู้ทางการเงิน
  • หรือปัญหาเรื่องดอกเบี้ยที่พบ มี 3 เรื่อง

    เรื่องแรก ผู้ที่ใช้สินเชื่อในปัจจุบันไม่รู้ว่า สินเชื่อที่ใช้มีอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ หน่วยเป็นเท่าไหร่ และเมื่อหมดหนี้แล้ว จะเสียดอกเบี้ยทั้งหมดเท่าไหร่ กรณีไม่รู้ว่าหน่วยเป็นอะไร ถ้าสังเกต เวลาดูละครจะมีโฆษณาบริการสินเชื่อเป็นระยะ ว่าคิดดอกเบี้ย 0.7% หรือ 0.9% แต่อยากให้ดูให้ดีว่า ดอกเบี้ยเหล่านี้เป็นอัตราที่คิดต่อเดือน หรือโฆษณาก็บอกว่าคิดต่อเดือน แต่อยากให้ผู้กู้คิดก่อนว่า ถ้าทั้งปีอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไหร่ เช่น 0.7% ต่อเดือน ถ้า 1 ปี หรือ 12 เดือน เท่ากับ 0.7×12 เท่ากับทั้งปีเสียดอกเบี้ย 8.4% หรือเงิน 100 บาท ต้องเสียดอกเบี้ยให้เขา 8.40 บาท นี่คือตัวอย่าง หรือบางคนไม่ทราบว่า ผ่อนจ่ายจนหมดแล้วเสียดอกเบี้ยไปเท่าไหร่ ทำให้มีข่าวว่าคนตกใจว่า ทำไมเสียดอกเบี้ยเยอะ คือ ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดเท่าไหร่ จะได้รู้ว่า หนึ่งต้องเตรียมเงินไว้จ่ายเท่านี้ สอง คือถ้าเห็นว่าจำนวนที่ต้องจ่ายจำนวนมาก จะทำอย่างไรให้เราจ่ายได้ถูกกว่านี้

    เรื่องที่สอง คือ ไม่รู้วิธีการคำนวณ ไม่รู้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ใช้อยู่ คิดหรือคำนวณอย่างไร ใช้วิธีลดต้น ลดดอก หรือใช้วิธีเงินต้นคงที่ ที่เรียกว่า Flat Rate ส่วนใหญ่เขาบอกเท่าไหร่ก็จ่าย ที่เคยพบ คนจะมองเพียงว่าจ่ายไหวหรือไม่ แต่ไม่ได้ดูไส้ในว่า เงินที่จ่ายแต่ละงวดมีการตัดเงินต้นเท่าไหร่ ตัดดอกเบี้ยเท่าไหร่

    เรื่องที่สาม คนมักจะไม่รู้ หรืออะไรบ้างที่มีผลทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก ซึ่งจะกลับไปที่ข้อสอง คนไม่รู้วิธีการคำนวณ ซึ่งสูตรการคำนวณพื้นฐานเลย คือ ตัวเงินต้นxอัตราดอกเบี้ยxระยะเวลา ฉะนั้น ถ้าตัวใดตัวหนึ่งขึ้น หรือ 2 ใน 3 หรือว่าทั้งหมด ถ้ามันขึ้น ก็จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ย หรือถ้ามีอะไรลง เช่น อัตราดอกเบี้ยลง เราก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลง หรือสามารถผ่อนอะไรสักอย่างให้จบไวขึ้น แล้วจะเสียดอกเบี้ยโดยรวมน้อยลงเหมือนกัน

    จุฬาลักษณ์ กล่าวว่า โดยความจริง ธนาคารควรบอกหลักการเหล่านี้ และเข้าใจว่าเวลานี้มีเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้บ้าน แจ้งผู้กู้ว่า ใช้เกณฑ์ลดต้น ลดดอก คือผู้ให้กู้ต้องให้ตารางประมาณการณ์ ซึ่งไม่ตรงตัวเสียทีเดียว เพราะใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ถ้าลอยขึ้น ก็จะแพงขึ้น ถ้าลด ก็จะลดลง แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้กู้ได้รู้คร่าว ๆ ว่าในอนาคตแต่ละเดือนต้องแบ่งเงินเท่าไหร่ของรายได้เพื่อมาจ่าย

    อย่างไรก็ตาม ชัดเจนว่า เจ้าหนี้ควรจะบอก หรือหลายกรณีที่บอก แต่ไม่ชัดเจน หรือบางกรณีอาจจะบอกแล้ว แต่ผู้ลูกหนี้ไม่ได้ฟัง ไม่ได้สนใจ หรือลืมไปแล้ว จึงคิดว่าจะมีอีกคนไหมที่ควรจะบอก ซึ่งก็คือโรงเรียน ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เลข บางคนรู้สึกว่ามันยาก แต่อยากจะบอกว่า อย่าไปกลัวเรื่องเลข เรื่องคำนวณ แต่ขอให้เข้าใจหลักการ อาจจะอาศัยเครื่องคิดเลข โปรแกรมคำนวณก็ได้ เพื่อให้รู้ว่าแต่ละเดือนต้องจ่ายเท่าไหร่ และอยากจะชวนให้มองระยะยาวไปกว่าเดิม จากเดิมมองแต่ละเดือนทำอย่างไรให้รอด ให้มองยาวขึ้นว่า วันนี้รอดจริง แต่เสียโอกาสไปมากเหมือนกันถ้าจ่ายขั้นต่ำอยู่ หรือวันที่ผ่อนบ้านตอนเงินเดือนน้อย เขาให้ผ่อน 30 ปี จ่ายค่างวดตามเงื่อนไข 30 ปีไปก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เงินเดือนเพิ่มขึ้น ถ้าสามารถจ่ายเพิ่มได้ ก็น่าจะไปคุยกับแบงก์ เปลี่ยนเงื่อนไขขอผ่อนจ่ายให้หมดเร็วขึ้น เพราะถ้าจำนวนปีในการผ่อนจ่ายน้อยลง ดอกเบี้ยที่เสียก็จะน้อยลงด้วย

    จุฬาลักษณ์ กล่าวว่า ธปท.มีการให้ความรู้เรื่องการคำนวณดอกเบี้ยอยู่ในเว็บไซต์อยู่แล้ว ในส่วน “สตางค์ STORY” (https://www.bot.or.th/th/satang-story.html) จะมีสูตรการคำนวณ เพื่อทำความเข้าใจ เช่น เรื่องลดต้นลดดอก ที่หลายคนงงว่าจ่ายเงินกู้งวดแรก ๆ ทำไมจ่ายแต่ดอกเบี้ย ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยหลักคณิตศาสตร์ ที่ว่า เงินต้นxอัตราดอกเบี้ยxระยะเวลา ในเมื่อเพิ่งยืมเงินไป เงินต้นที่จำนวนสูง เมื่อคูณกับดอกเบี้ยกู้ยืมจะออกมาเยอะ แล้วเงินที่จ่ายตัดเงินต้นทีละนิด ก็ให้นึกถึงน้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน เงินต้นก็เหมือนกัน เงินงวดที่จ่ายไปก็จะค่อย ๆ ตัดเงินต้นไป ช่วงแรกก็จะตัดออกน้อย แต่พอผ่อนได้ระยะหนึ่งก็จะตัดเงินต้นมากขึ้น พอ 4-5 ปีผ่านไป คนผ่อนเริ่มเปลี่ยนงาน ได้โปรโมท ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือเงินเดือนเพิ่ม ส่วนที่เพิ่มก็ให้ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะเอามาโปะหนี้ หนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิตก็ได้ โดยรีบจัดการตัวที่ดอกเบี้ยแพงก่อน เช่น หนี้บัตรเครดิต ที่ขอแนะนำว่าถ้าใช้ ก็ขอให้จ่ายเต็มจำนวนและจ่ายให้ตรงเวลา จึงจะไม่เสียดอกเบี้ยเลย อยากจะเน้นตรงนี้ จะทำให้เราเป็นผู้ชนะในเกมบัตรเครดิต ไม่ต้องเสียอะไรเลย และได้แต้มที่นำไปแลกโน่นนี่ได้”

    จุฬาลักษณ์ กล่าวว่า อีกปัญหาที่พบบ่อยคือ นอกจากเรื่องการคำนวณ แล้ว คือ การไม่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน พอเกิดเหตุฉุกเฉิน ลูกป่วย รถเสีย หรือหลังคาบ้านรั่ว พอไม่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก็ต้องเลือกกู้เงิน บนพื้นฐานว่า กู้ที่ไหนได้เร็ว เคยไปประชุมแล้วมีการพูดเรื่องคนที่กู้นอกระบบว่าไม่ฉลาด ดอกเบี้ยแพงแล้วยังจะกู้อีก ปรากฏว่ามีอีกรายที่ยืนขึ้นมาพูดว่า เวลาที่ไม่มีเงินซื้อข้าวให้ลูก ใครให้ยืมก็ต้องเอา คือคนที่อัตคัดสุด ๆ จะไม่ค่อยมีทางเลือก

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (11): โครงการ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ อีกหนึ่งทางออกปลดภาระหนี้และเป็นไท
  • แต่ถ้าพอทำได้ เงินออมก้อนแรกในชีวิต คือเงินออมเผื่อฉุกเฉิน เพื่อที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ชีวิตก็ยังมีทางออก รวมทั้งควรมีการออมเงินไว้ เดิมจะสอนว่า ใช้เหลือเท่าไหร่ค่อยออม แต่สังคมปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้เกิดเช่นนั้น ส่วนใหญ่มีเท่าไหร่จะใช้หมด ก็แนะว่าให้ออมก่อน ที่เหลือก็ใช้ในสิ่งที่จำเป็นและบางอย่างที่อยากจะได้ ส่วนอัตราการออมนั้น ถ้ามีเงิน 100 บาท ก็อยากให้ออม 25 บาท หรือ 1 ใน 4 แต่บางคนมีภาระมาก หรือเพิ่งเริ่มทำงาน เงินเดือนน้อย และหลายคนมากที่ต้องส่งเงินกลับบ้าน การออม 25% คงไม่ได้ แต่อย่างน้อย 10% ก็ยังดี เงิน 100 บาท เก็บไว้ 10 บาท วันนี้อาจจะน้อยหน่อย แต่ต่อไป เมื่อมีความสามารถมากขึ้น รายได้มากขึ้น หรือทำงานหลายอาชีพ ก็สามารถออมเพิ่มขึ้น

    ขณะเดียวกัน ควรทำบัญชีรายรับรายจ่าย ควรจะจดไว้เพื่อดูว่ามีรอยรั่วตรงไหน สำหรับมนุษย์เงินเดือนอาจจะยาก เพราะรายรับมีบรรทัดเดียว แต่หลายสิบบรรทัดเป็นรายจ่าย เทียบแล้วอาจจะท้อแท้ใจ แต่อยากให้ลองดูสัก 3 เดือน จะทำให้เห็นรูปแบบว่า มีการใช้เงินไปกับอะไรบ้าง อาจจะมีบางรายการที่ไม่จำเป็นแล้วใช้เงินจำนวนมากไป หรือบางรายการจำเป็น แต่ใช้มากไปเหมือนกัน เช่น อาหาร เป็นเรื่องจำเป็น แต่จดออกมาแล้วไปกินชาบูบ่อย กินหมูกระทะบ่อย หรือกินอาหารนอกบ้านบ่อย ก็อาจจะลดลง หรือของที่ใช้ทุกวันนี้ ยี่ห้อนี้ดีจริง แต่แพงไปหรือเปล่า ก็ลองดูยี่ห้ออื่นที่ถูกลงเป็นทางเลือก ก็ช่วยประหยัดเงินได้บ้าง มีตัวอย่างคนที่จดบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วประสบความสำเร็จ คือ คุณครูท่านหนึ่ง จดบัญชีรายรับรายจ่าย แล้วมาดู มาวิเคราะห์ว่า รายจ่ายไหนที่มากเกินไป ลดลงได้หรือไม่ ทำแบบนี้โดยมีความฝันอย่างหนึ่งที่อยากจะทำหลังเกษียณ เวลาผ่านไปหลายปีจนคุณครูเกษียณและปรากฏว่า สามารถทำความฝันของตัวเองสำเร็จ คือ มีตึกหอพักให้เช่าเก็บกินหลังเกษียณ ซึ่งพื้นฐานมาจากการจดบัญชีรายรับรายจ่ายที่จดแล้วมาดูว่า มีรายการอะไรที่จะลดได้ ปรับได้

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (5) : ครูสู้ชีวิตตั้งใจปลดหนี้หนี้ 8 ล้าน ขอคืนความสุขครอบครัว
  • “คนเป็นหนี้ ไม่ได้เป็นวันเซ็นสัญญา แต่เห็นได้จากพฤติกรรม เช่นใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่มี เคยมีคนบอกว่า ไม่รู้ตัวเลยว่า ใช้จ่ายมากกว่ารายได้ แต่ที่ยังอยู่ได้เพราะเงินบัญชีมีมาก พอจดบัญชีรายรับรายจ่ายก็เลยรู้ บัญชีรายรับรายจ่าย ใครก็สามารถทำได้ คนหาเช้ากินค่ำก็ทำได้ อาจจะยิ่งมีกำลังใจด้วย เพราะเงินเข้าทุกวัน หรือได้ทุก 3 วัน จะยิ่งดี เพราะการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เป็นการดูพฤติกรรมของเรา และยังมีประโยชน์อีกอย่างด้วย ถ้าบางครั้งเรามีปัญหาหนี้ และต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้ การมีบันทึกรายรับรายจ่ายไปแสดง จะทำให้เห็นได้ชัดว่า ช่วงก่อนหน้านี้ที่จ่ายหนี้ได้ดี เพราะรายได้เท่านี้ แต่วันนี้จ่ายไม่ได้ เพราะสาเหตุอะไร เช่น คนที่บ้านป่วย และมีจดไว้ว่า ค่าหมอเท่าไหร่ บันทึกเหล่านี้จะช่วยได้ และเวลาการทำบันทึกรายรับรายจ่ายสามารถจดในกระดาษก็ได้ หรือมีแอพพลิเคชั่นด้วย ขณะที่โมบายล์แบงก์ก็ช่วยให้รู้ว่าแต่ละวันมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ย้อนไปดูได้”

    จุฬาลักษณ์ กล่าวว่า ความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ย การคำนวณ เรื่องการออม การทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั้น ควรกระจายตัวออกไปผ่านระบบการศึกษา ซึ่งธปท.พยายามทำมาตลอดและมีความคืบหน้าขึ้น แต่อยากจะบอกว่า ไม่อยากให้เรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่แค่วิชาเลข แต่อยากให้ซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของเรา อยู่ในทุกวิชา เช่น วิชาสังคม เพื่อให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเรา ถ้าให้รู้ได้ตั้งแต่เด็กก็จะสร้างเป็นนิสัย เป็นพฤติกรรมได้ ซึ่งมีขั้นตอนอยู่ว่าเด็กอายุเท่านี้ ควรเรียนรู้เรื่องอะไรได้บ้าง เช่น เด็กชั้นประถม ควรแยกให้ออกได้ว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็น อะไรคือสิ่งที่อยากได้ หรือ need & want นอกจากความรู้ ก็มีเรื่องทัศนคติ ทำอย่างไรให้เปลี่ยนความคิด เช่น ถ้าเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยได้ ก็จะเสียเงินน้อยลง เป็นต้น