ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาตั้งแต่ปี 2560 ผ่านโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ที่ให้คำแนะนำปรึกษาทั่วราชอาณาจักร กับลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่กลายเป็นหนี้เสีย หรือไม่ได้ชำระหนี้เกิน 120 วัน ขณะเดียวกัน ลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่มีปัญหาผ่อนจ่ายไม่ไหว รายได้ลดลง ธปท. ก็ได้เปิดโครงการ หมอหนี้เพื่อประชาชน ในการให้คำปรึกษา และเสนอทางเลือกในการเจรจากับเจ้าหนี้ เป็นทางออกอีกทางในการแก้ปัญหาหนี้ที่ประสบอยู่
หมอหนี้เป็นตัวกลางช่วยประสานลูกหนี้กับเจ้าหนี้
ฉัตรบดินทร์ สร้อยแก้ว ผู้ตรวจสอบอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้มีประสบการณ์ในโครงการ หมอหนี้เพื่อประชาชน เล่าว่า หมอหนี้จะให้คำปรึกษาลูกหนี้ทั้งประชาชนรายย่อย และธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับประชาชนรายย่อย หลัก ๆ เป็นหนี้บัตรเครดิต อย่างน้อยแต่ละคนจะต้องมี 1 ใบ แล้วเป็นหนี้บัตรเครดิตบวกรถยนต์ บวกสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือบัตรเครดิตบวกไฟแนนซ์ต่าง ๆ บัตรกดเงินสดก็มีเยอะ นอกจากนี้ยัง ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี จะเป็นสินเชื่อธุรกิจ มีหลักประกันเป็นที่ดิน หรือโรงงาน ค่อนข้างเยอะ โดยเน้นเอสเอ็มอีรายเล็ก ๆ เพราะรายใหญ่มีธนาคารคอยดูแลอยู่แล้ว
โดยในภาพรวมตั้งแต่ปี 2564 มีผู้สมัครเข้าโครงการหมอหนี้ เกือบ 1 หมื่นคน ปัญหาหลักที่เข้ามาเพราะเข้าใจผิด คิดว่า เป็นหนี้ถ้าไม่จ่ายจะติดคุกหรือไม่ ถ้าไม่มีเงินจ่ายจริง ๆ ต้องทำอย่างไร การติดต่อแบงก์ทำได้ยากเหลือเกิน บางทีไปเจรจากับแบงก์แล้วแบงก์ไม่ช่วย ก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า โดยหลักการแบงก์ชาติสนับสนุนให้สถาบันการเงินต่าง ๆ เข้าช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือถ้าเป็นหนี้เสีย ถูกบังคับคดี ก็สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้ที่เข้าโครงการได้ทุกเวลา คือ ลูกหนี้มีเจตนาที่ดี อยากใช้หนี้ เพียงแต่มีวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูลอย่างไร เตรียมแนวทางการเจรจากับแบงก์อย่างไร เป็นปัญหาอุปสรรคของลูกหนี้ อีกกลุ่มหนึ่งที่พบบ่อย ๆ คือ ตอนนี้เขาจ่ายขั้นต่ำมาเรื่อย ๆ ก็ถือว่าโอเค อยากแก้ไขเฉพาะหนี้ที่จ่ายไม่ได้เท่านั้น
“ตอนนี้เริ่มเห็นเยอะ คือ มีบางเพจในเฟซบุ๊ค หรือสื่อต่าง ๆ พยายามบอกลูกหนี้ว่า เป็นหนี้ก็ไม่ต้องจ่ายหรอก คุณไม่ติดคุก เต็มที่ก็โดนฟ้อง เสียประวัติไป แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีผลเรื่องการเงินอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้ามีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกิดขึ้น ลูกหนี้จะเสียทั้งเงิน เสียเวลา เสียเครดิตด้วย หมอหนี้จึงพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ให้มีโอกาสได้คุยกัน ได้คุยกับคนที่มีปัญหาจริง ๆ บางคนก็บอกว่า ทำไมแบงก์ไม่ช่วยเลย พอเราถามไปถามมา พบว่า เขาไม่ได้คุยกับแบงก์เลย ไปคุยกับคนทวงหนี้ คนทวงหนี้ก็มีหน้าที่ทวงหนี้อย่างเดียว พอถามความช่วยเหลือไป เขาก็บอกว่าไม่มี ไม่ช่วย ก็จะพยายามแนะนำให้เขาคุยกับแบงก์ โทรหาคอลล์เซ็นเตอร์ ว่าตอนนี้ไม่ไหวจริง ๆ พิสูจน์ได้ ที่ผ่านมามีการจ่ายขั้นต่ำมาตลอด เราเป็นลูกหนี้ชั้นดีของคุณนะ แต่ตอนนี้ไม่ไหวจริง ๆ อยากให้ช่วย”
โควิดทำยอดติดหนี้บัตรเพิ่มเป็นหมื่นราย
ทั้งนี้ สาเหตุที่ปี 2564 มีหนี้บัตรเครดิตเพิ่มเป็นหมื่นราย อาจจะเพราะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้น เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าให้มีบัตรเครดิตได้กี่ใบ สมัครเป็นเจ้าของบัตรได้มาก มีโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่เอื้อให้เอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ก่อนหน้านี้เขาประเมินแล้วว่าไหว มีเงินเดือน มีรายได้ปกติ ก็สามารถจ่ายได้ แต่พอถึงช่วงเกิดโรคระบาดโควิด หลายคนได้รับผลกระทบ ไม่สามารถจ่ายได้ตามการวางแผนขั้นต้นของเขา พอได้รับผลกระทบก็กลายเป็นลูกโซ่ จ่ายใบหนึ่งไม่ได้ ก็ไปกดอีกใบหนึ่งมาจ่าย วนกันอยู่อย่างนี้ 5-6 ใบ หนี้ก็ไม่หมดสักที หนักสุด คือกู้หนี้นอกระบบมาจ่ายหนี้ในระบบอีก ยิ่งหนักเลย คือ หลักการในการแก้หนี้ ก็แนะนำว่า การหาแหล่งทุนมาปิดหนี้เดิม ควรเป็นแหล่งทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่เขาไม่รู้ คิดว่าอยากรวมหนี้ อยากแก้หนี้เร็ว ๆ ตอนนี้มีหนี้บัตรเครดิตที่อัตราดอกเบี้ยปกติ คือ 16% ต่อปี แต่กู้นอกระบบ 20% ต่อปีเพื่อมาปิดหนี้หลายตัว เขาก็คิดว่าจะได้จ่ายหนี้ทางเดียว ไม่ต้องลำบาก ลืมดูว่าอัตราดอกเบี้ยเยอะกว่าเดิม จะทำให้เขาไม่สามารถจบหนี้ได้ ก็เป็นปัญหาเรื้อรัง
ฉัตรบดินทร์ กล่าวว่า ผู้ที่เข้ามาขอคำปรึกษาจะมาจากหลากหลายอาชีพ แต่ระยะหลังเริ่มมีสัญญาณว่า ข้าราชการก็มีจำนวนมากขึ้นที่เข้ามาปรึกษาหมอหนี้ กลุ่มนี้จะต่างจากกลุ่มอาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ค้า ตรงที่ข้าราชการมีเงินเดือนแน่นอน แต่เข้ามาปรึกษาเพราะจ่ายขั้นต่ำมานานเริ่มไม่ไหว อยากขอแนวทางลดภาระต่อเดือน ลดดอกเบี้ย แต่ที่หนักสุด คือกลุ่มอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ต่าง ๆ พ่อค้า แม่ค้า จะมีปัญหาเยอะจากรายได้ที่เข้ามาไม่แน่นอน ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะค้างชำระสองงวด สามงวด ซึ่งแบงก์ชาติพยายามดูข้อมูลต่าง ๆ แล้วประสานกับโครงการคลินิกแก้หนี้ที่ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) ในการปรับเงื่อนไขต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ล่าสุดก็มีการปรับเงื่อนไขไป สามารถแก้ไขหนี้ที่เป็นบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลได้ค่อนข้างเยอะ ทำให้สามารถจบหนี้ได้
สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่เป็นเอสเอ็มอี หมอหนี้จะให้คำปรึกษาเอสเอ็มอีรายย่อย ที่เป็นกลุ่มร้านค้าเล็ก ๆ ร้านขายของชำในต่างจังหวัดที่มีปัญหา โดยปัญหาสำคัญ คือใช้สินเชื่อผิดประเภท โดยการทำธุรกิจควรกู้สินเชื่อธุรกิจ ที่มีระยะเวลาผ่อนชำระยาวหน่อย อัตราดอกเบี้ยประมาณ 4-5% เพื่อมาทำธุรกิจ แต่บางครั้งขอสินเชื่อไม่ได้ หรือต้องการใช้เงินด่วน ก็จะไปเลือกใช้บัตรเครดิต ใช้สินเชื่อส่วนบุคคล มาหมุนใช้ทำธุรกิจ ซึ่งเป็นปัญหาเพราะอัตราดอกเบี้ยแพง และการทำธุรกิจเวลาขายสินค้าไป จะมีเครดิต กว่าจะได้รับเงินอาจจะ 60-90 วัน ทำให้ไม่ได้รอบที่นำเงินมาจ่ายหนี้บัตรเครดิต กรณีนี้จะพบมากเป็นหนี้เรื้อรังเพราะไม่มีความรู้การเงิน
ฉัตรบดินทร์ กล่าวว่า เรื่องหนี้บางครั้งเป็นเรื่องความรู้ทางการเงิน เป็นพื้นฐานสำคัญ บางคนไม่รู้จริง ๆ ว่า การกู้เงิน การใช้แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง บางคนแค่อยากรู้ว่าต่อเดือนต้องจ่ายเท่าไหร่เท่านั้น จบ ไม่ต้องสนใจดอกเบี้ย ไม่ต้องสนใจระยะเวลาชำระหนี้ ก็ต้องเน้นย้ำเขาว่า การกู้เงินต่าง ๆ ต้องดูให้ครบทุกด้าน ดูดอกเบี้ย ระยะเวลา ค่างวด ไปด้วยกัน เพราะบางทีดูแต่ค่างวดอย่างเดียว จ่ายแต่ค่างวดขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ หนี้ก็ไม่หมดสักที กลายเป็นหนี้เรื้อรัง ไม่จบ แต่ถ้ารู้ว่าอัตราดอกเบี้ยเท่านี้ ระยะเวลาการผ่อน ถ้าจ่ายเท่านี้ จะจบได้เมื่อไหร่ ส่วนใหญ่การกู้ยืมจะเป็นแบบ “ลดต้น ลดดอก” แต่หลายคนไม่รู้ว่า การที่เขาบอกว่าให้จ่ายเดือนละ 2 พันบาท ถ้าจ่ายแบบนี้เรื่อย ๆ อาจจะต้องจ่าย 7-10 ปีกว่าหนี้จะหมด แต่ถ้าเติมไปสัก 3-5 พันบาท หนี้จะหมดเร็วไปครึ่งหนึ่งเลย เราเติมข้อมูลความรู้ทางการเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ให้เขา รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่พอจะคุยกับแบงก์ได้ก็มีประโยชน์ บางคนเดินไปสาขาแบงก์เลย บอกไม่ไหวแล้ว ช่วยหน่อย แบงก์ก็จะงง ๆ ไปต่อไม่เป็น บางทีสาขาก็ไม่รู้นโยบายของส่วนกลาง การช่วยเหลือก็เป็นไปได้ยาก
แต่ถ้าเขามีข้อมูล เตรียมพร้อม มาคุยกับหมอหนี้ก่อนไปเจรจากับแบงก์ ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ อย่างน้อยที่สุด ก็จะให้ความรู้ว่า ให้ขอลดดอกเบี้ย เพิ่มระยะเวลาการจ่าย ค่างวดจะลดลง อย่างน้อยที่สุดก็ได้รับการลดดอกเบี้ย หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ก็ยังช่วยได้ นิดหนี่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
กู้ในระบบ-นอกระบบ บอกครบจบหนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ฉัตรบดินทร์ กล่าวว่า มีกรณีที่หนักใจ คือ การให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน บางทีแจ้งมาเป็นหนี้ 2-3 ตัว คุยไปคุยมา ปรากฏว่าบอกไม่หมด ไม่กล้าบอก เป็นหนี้นอกระบบด้วยก็จะไม่บอก โครงการหมอหนี้จะดูหนี้ทั้งหมด ทั้งหนี้ในระบบ หรือหนี้นอกระบบด้วย การแก้หนี้ต้องดูในภาพรวมทั้งหมด การเลือกดูตัวใดตัวหนึ่งอาจจะกระทบในภาพรวมได้ วิธีคือทำให้เขาเชื่อใจก่อนให้ได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลลูกหนี้ครบถ้วน การได้ข้อมูลเพียงบางส่วน จะแก้ไขหนี้ไมได้ เราแนะนำให้เขาแก้ไขหนี้ในระบบได้แล้ว เต็มที่ก็ลดลงไป 50% เช่น มีหนี้ 1 แสนบาท ปรับโครงสร้างหนี้ก็อาจจะเหลือ 5 หมื่นบาท แต่คุยไปคุยมามีหนี้นอกระบบอีก 5 แสนบาท ตรงนี้ยากเลย หนี้นอกระบบถ้าจำนวนไม่มาก ก็มีช่องทางช่วย อาจจะขอคุยกับเจ้าหนี้ จ่ายดอกเบี้ยมาเยอะแล้ว ต่อไปจ่ายแต่เงินต้นได้มั้ย เจรจากันได้ หรือบางทีมีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ไมโครไฟแนนซ์ ที่ภาครัฐออกมา ก็กู้ตรงนี้มาโปะหนี้นอกระบบได้ ซึ่งบางคนไม่รู้ว่าจะหาแหล่งเงินทุนได้จากไหน คนที่กู้เงินนอกระบบ คือเครดิตในการกู้ในระบบไม่ค่อยดีแล้ว กู้ในระบบไม่ได้ ต้องกู้นอกระบบ หลายคนที่คุยกันเป็นหนี้นอกระบบจ่ายดอกเบี้ย 10-20% ต่อเดือน ไม่ใช่ต่อปี ต่อปีก็ 100-200% ขณะที่กฎหมายกำหนดไม่ให้เกิน 15% ต่อปี ลูกหนี้เขาก็ไม่รู้
“การกู้หนี้นอกระบบ ยังมีปัญหาลูกหนี้ไม่กล้าเจรจากับเจ้าหนี้ ถูกทำร้ายร่างกายบ้าง อีกส่วนที่มีมาก คือเกรงใจเขา ไปขอเขาลำบาก ไม่อยากต่อรองเขา แบบนี้ก็แก้ไขไม่ได้ ต่อให้หนี้ในระบบจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ มีการช่วยเหลืออย่างไร แต่เงินที่จะนำมาจ่ายหนี้ถูกแบ่งไปจ่ายนอกระบบจำนวนมาก อีกอย่าง ถ้าเอาหนี้ในระบบไปปิดหนี้นอกระบบได้ ให้หนี้มาอยู่ในระบบทั้งหมด อาจจะแก้หนี้ไม่ได้ใน 1-2 ปี แต่ใน 10 ปีจะหมดหนี้แน่ ๆ ทำให้ใช้ชีวิตไปได้ด้วย จ่ายหนี้ครึ่งหนึ่ง ใช้ชีวิตครึ่งหนึ่ง บริหารได้ แต่ถ้าต้องแก้หนี้นอกระบบ ไม่มีทางเลย อัตราดอกเบี้ยสูงมาก ทำงานมาเอาไปจ่ายหนี้หมด”
ด้วยเหตุนี้ ฉัตรบดินทร์ จึงบอกว่า การพูดคุยเพื่อให้ลูกหนี้ให้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน จึงต้องใช้ศิลปะขั้นสูง ที่ได้จากการเรียนรู้ จากการฟัง และประสบการณ์ต่าง ๆ แม้จะมีการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญของแบงก์ชาติ และแบงก์พาณิชย์ต่าง ๆ แต่พอลงสนามจริงจะเป็นอีกเรื่องเลย ทฤษฎีต่าง ๆ ต้องวางไว้ก่อน หลักสำคัญที่สุดคือเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองดูว่าถ้าเราเป็นแบบเขา แล้วแบงก์ไม่ช่วย เราจะรู้สึกอย่างไร พอเราเข้าใจว่าเป็นปัญหาจริง ๆ ส่วนหนี่งก็ให้ความรู้ อีกส่วนหนึ่งก็ให้กำลังใจ พูดให้เขารู้สึกดีก่อน เชื่อใจเขาก่อน ก็จะง่าย เพราะบางทีมาถึงแรงเลย ใส่แบงก์ยับ แบงก์ไม่ช่วยโน่นนี่นั่น แบงก์ชาติเสือกระดาษ ก็บอกพี่ใจเย็น ๆ ก่อน แล้วพยายามอธิบายหลักการ เหตุผล พอเขารู้เหตุผลแล้ว ต่อไปคือ กำลังใจ บวกกับให้ข้อมูล ช่วยได้หรือไม่ ไม่รู้ อย่างน้อยเรารับฟังเขา อารมณ์เขาก็จะเย็นลง บางคนก็หนักจริง ๆ
ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับแบงก์ เขาก็มีนโยบาย เขาไม่ใช่องค์กรการกุศล ต้องทำกำไร แต่ก็จะมีจุดอยู่ แบงก์ก็ลดลงมานิดหนึ่ง ลูกหนี้ก็ผลักตัวเองขึ้นมานิดหนึ่ง ให้มาเจอกัน ไปด้วยกันได้ และที่มาขอคำปรึกษายังไม่เคยมีกรณีที่จะถึงกับฆ่าตัวตาย แต่จะบอกว่าเครียดมาก ไม่มีทางออก คิดจะฆ่าตัวตายแล้ว ไม่ไหวแล้ว ที่หนักจริง ๆ คือคนที่ไม่ได้ก่อหนี้ด้วยตัวเอง น่าสงสาร บางทีถูกหลอก ถูกโกง เป็นหนี้เพราะค้ำประกันให้คนอื่น ไม่ได้ก่อเอง เห็นใจมาก ตอนนี้มีกฎหมายใหม่ออกมา ก็ต้องให้เขาเข้าใจว่า ผู้ค้ำประกันไม่ต้องจ่ายหนี้เต็มจำนวน สามารถเจรจากับเจ้าหนี้จ่ายเฉพาะส่วนที่เขาค้ำประกัน ก็ลดภาระ ทำให้เขาเบาใจได้ประมาณหนึ่ง โดยประสานทั้งสองฝ่าย เจ้าหนี้ด้วย ขอให้เจ้าหนี้เห็นใจเขาหน่อย เขาไม่ได้ตั้งใจหนีหนี้ แต่ไม่ไหวจริง ๆ เอาความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลักก่อน คือได้น้อยดีกว่าไม่ได้เลย ให้เห็นใจซึ่งกันและกัน
“ล่าสุดไปออกมหกรรมการเงินครูไทย เพื่อแก้หนี้กลุ่มครู ส่วนใหญ่เป็นครูเกษียณ คือ ตอนที่ทำงานอยู่ สามารถจ่ายหนี้ได้ตามปกติ แต่พอเกษียณ ได้แต่บำนาญ รายได้ลดลง ไม่ได้วางแผนการเงินที่ดีพอ อาจจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ก็เครียด ก็มาคุยกับเราว่า สหกรณ์ก็ไม่ช่วยลดเลย แบงก์ก็ไม่ช่วย ร้องห่มร้องไห้ มีแต่ความเครียด เราก็รับฟัง แล้วบอกไปว่า มันมีทางออก ไม่ต้องเครียดหรอก บางทีเป็นเส้นผมบังภูเขา ง่ายที่สุด เป็นหนี้ ก็ไปคุยกับเจ้าหนี้ เล่าความจริงให้เขาฟัง เจ้าหนี้เขายอมรับได้อยู่แล้ว แต่หลายคนไม่กล้าไปคุย อาย หรือกลัวเขาไม่ช่วย กรณีอย่างนี้จะเยอะ ถ้าเขาได้คุยกัน มันจบได้ อย่างน้อยที่สุดจะได้รับการช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางทีเครียดหนัก ก็พาไปเลยบูธออมสิน บอกคนนี้มีปัญหาช่วยอะไรได้บ้างมั้ย เขาก็โอเค ไม่ไหวจริง ๆ ก็พักหนี้ให้ก่อน 3 เดือน เขาก็จะมีเวลาหายใจนิดหนึ่ง ไปขายที่ดิน หรือมีแหล่งเงินทุนอื่น มีครอบครัว มีลูกหลานมาช่วย ก็เบาไปได้เยอะเหมือนกัน แต่หลักการ คือเป็นหนี้ต้องจ่าย จะจ่ายช้า จ่ายเร็ว จ่ายมาก จ่ายน้อย ก็ตกลงกัน เพราะอย่างน้อยแบงก์ก็ได้ ดีกว่าไปฟ้องร้อง เขาก็ไม่มีให้อยู่ดี ก็เสียทั้งสองฝ่าย”
ไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต แบงก์ฟ้องยึดบ้านได้
ฉัตรบดินทร์ กล่าวว่า จากการพื้นที่ในโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน พบว่า ผู้ที่มีปัญหาหนี้จะกระจายไปทุกภาคในไทย จะแตกต่างกันตรงที่คนใต้เป็นหนี้แต่มีทรัพย์สิน มีบ้าน ที่ดิน เป็นหลัก ภาคอื่นจะเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน แต่การมีบ้าน มีที่ดิน ทำให้การเจรจากับแบงก์จะยาก คือบางคนไม่รู้ว่า การไม่จ่ายชำระบัตรเครดิต แบงก์สามารถฟ้องให้เขาขายบ้านมาจ่ายหนี้ได้ คนเป็นหนี้ไม่รู้ คิดว่าไม่จ่ายก็ไม่เป็นไร ไม่สนใจ พอถึงเวลาถูกฟ้องยึดบ้านก็เป็นปัญหา ก็จะคำแนะนำให้เขารีบไปเจรจากับเจ้าหนี้บัตรเครดิต ว่าจะจ่าย ไม่ต้องยึดบ้านหรอก เป็นหนี้ 5 หมื่นบาท หรือ 1 แสนบาท จะมายึดบ้าน 3-5 ล้านบาททำไม ไม่คุ้มกัน เพียงแต่ต้องรีบไปติดต่อแบงก์ ไม่ใช่เขาโทรมาก็ไม่รับสาย เปลี่ยนเบอร์หนี จะเป็นปัญหา
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ 80% จะมีความรู้ทางการเงินที่ไม่ครบถ้วน หรือมีความรู้ผิด ๆ บางทีเป็นความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาถึงก็โวยวายว่า บัตรกดเงินสดทำไมดอกเบี้ยแพงจัง บัตรเครดิตกดมาใช้ดอกเบี้ย 16% ทำบัตรกดเงินสด ดอกเบี้ย 25% บางทีเขาไม่ได้ดูรายละเอียดในสัญญาบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ให้ดีพอ ก็จะมาโวยวาย ไม่เข้าใจ หาว่าแบงก์เอาเปรียบ ทำให้เห็นว่า ลูกหนี้หลายคนไม่รู้ข้อมูลด้านสินเชื่อ หรือไม่ให้ความสนใจ สนใจเพียงว่าต้องจ่ายเดือนละเท่าไหร่ ได้ข้อมูลแค่ว่า ใช้ไปเลยจ่ายเดือนละ 2 พันบาทพอ แต่การจ่าย 2 พันบาทไปเรื่อย ๆ ไม่รู้เลยว่าต้องจ่ายกี่ปีหนี้ถึงจะหมด ไม่รู้เลยว่าเขาคิดดอกเบี้ยอัตราเท่าไหร่ ก็เป็นปัญหา
แนะเด็กรุ่นใหม่วางแผนการเงินระยะยาว
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ นักศึกษา รวมถึงกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือ first jobber นั้น ฉัตรบดินทร์ กล่าวว่า เด็กมหาวิทยาลัยจะมีหนี้บัตรเครดิตเยอะ มีสัญญาณผิดนัดชำระหนี้บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นเป็นหนี้เสีย แต่จะจ่ายเฉพาะขั้นต่ำเยอะ ถ้าตีว่าจ่ายขั้นต่ำเป็นปัญหา ก็ถือว่าเยอะ เพราะตามหลักการใช้บัตรเครดิต การจ่ายขั้นต่ำถือว่าไม่ดี บัตรเครดิต ใช้เท่าไหร่ ก็ควรจ่ายเท่านั้นให้เต็ม จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย การที่เขาจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ อาจจะเห็นว่าไม่เป็นไร หนี้ไม่หมดก็ไม่เป็นไร ก็ใช้ชีวิตกันต่อไป ถ้ามองว่าไม่เป็นปัญหาก็ได้ ถ้าบริการจัดการได้ แต่ตามหลักการก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่ายสินค้า ของมันต้องมี ยอดฮิตก็โทรศัพท์มือถือ 0% 10 เดือน ถ้าจ่ายได้ก็จบ ไม่เสียดอกเบี้ย บางคนไม่รู้ จ่ายบ้าง ไม่จ่ายบ้าง เสียดอกเบี้ยจากเงินต้น แต่แบบนี้ไม่ค่อยมาก
ส่วนกลุ่ม first jobber ก็เห็นสัญญาณเหมือนกันว่าเขาต้องวางแผนการเงินในอนาคตให้ไกลขึ้น การบริหารเงินระยะสั้น อยากได้รถ อยากได้นั่นนี่ การใช้บัตรเครดิตมันคล่อง สะดวก มีแรงจูงใจจากโปรโมชั่น เห็นเพื่อนมีอยากมีบ้าง ก็มีแนวโน้มที่อาจจะจ่ายไม่ได้ แต่ก็เบาใจว่า มีความรู้ทางการเงิน ดูแลตัวเองได้ มีการประเมินสถานการณ์ 3 เดือน 6 เดือน แต่อยากให้ประเมินยาวขึ้นอีกหน่อย ลองดูสัก 1-2 ปี ว่าถ้ายังจ่ายแบบนี้ หนี้จะหมดเมื่อไหร่ ลองดูเรื่องการบริหารการเงิน จะมีการเพิ่มรายได้หรือไม่ เพราะการแก้หนี้ไม่ใช้ลดรายจ่ายอย่างเดียว อาจจะต้องเพิ่มรายได้ด้วย คือ กลุ่ม first jobber เขามีศักยภาพในการเปลี่ยนงาน หารายได้เสริม มาบริหารจัดการหนี้ได้
“ส่วนใหญ่กลุ่มนักศึกษา นักเรียน ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ค่อนข้างมีความรู้ทางการเงิน จะมีการเปรียบเทียบก่อนว่าจะใช้บัตรอะไร บัตรนี้เงื่อนไขเป็นอย่างไร มีโปรโมชั่นอะไร บัตรนี้ใช้สำหรับเติมน้ำมัน บัตรนี้ใช้สำหรับท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เลือกใช้บัตรให้เหมาะกับตัวเอง แต่ถ้าเป็นกลุ่มอื่นที่อายุมากกว่า ใช้บัตรเดิมมานาน ก็ไม่ได้เตรียมอะไร”
แบงก์ชาติเปิดช่องทางหลากหลายช่วยแก้หนี้
ฉัตรบดินทร บอกว่า คนที่เข้ามาปรึกษาหมอหนี้ จะได้แนวทางเลือก เพราะการบริหารจัดการหนี้มีหลายแนวทาง มีทางเลือกให้ คือคุณให้โจทย์มาแบบนี้ ให้ข้อมูลมาประมาณนี้ ก็จะให้ทางเลือกว่า ถ้าเลือกแนวนี้จะเป็นแบบนี้ เลือกปรับโครงสร้างหนี้ หนี้ 1 แสนบาท ผ่อน 4 ปีหมดแน่นอน จ่ายเดือนละ 2.6 พันบาท ถ้ามีเยอะกว่านี้ก็จ่าย 5 พันบาท 1 หมื่นบาท ก็หมดเร็วขึ้น ถ้าไม่จ่ายจะเป็นอย่างไร ถูกฟ้องศาล บอกแนวทางให้หมด ให้เขาเลือกเองส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับแบงก์ มีบ้างที่ให้ทางเลือกแล้ว กลับมาใหม่ มีหนี้ที่บอกไม่หมดในครั้งแรก หรือมีหนี้ใหม่เพิ่มเติม หรือยื่นเสนอไปแล้วแต่เจ้าหนี้ไม่รับ ก็จะอธิบายเพิ่มเติม เพราะบางทีเป็นเรื่องการอธิบาย ทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้ด้วย เจ้าหนี้บางรายได้ข้อมูลชุดหนึ่ง ก็โอเคแล้ว ดำเนินการได้ เจ้าหนี้บางรายขอเอกสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เราแจ้งไป ก็แนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ไปทำแผนการชำระเงินว่าจะจ่ายอย่างไร เขาเรียกมาเท่านี้ คุณจ่ายไม่ไหว ขอเท่านี้ก่อนได้หรือไม่ จ่ายเป็นเพิ่มเป็นขั้นบันไดได้หรือไม่ ปีนี้ขอจ่าย 1 หมื่นบาท ปีหน้าขอจ่าย 1.5 หมื่นบาท เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แบงก์มากขึ้นด้วย เพราะแต่ละแบงก์มีนโยบายไม่เหมือนกัน
สุดท้าย ฉัตรบดินทร์ ฝากไว้สำหรับคนที่เป็นหนี้และมีปัญหาว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหลายช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ โดยการเสิร์ชใน google คำว่า หมอหนี้เพื่อประชาชน หรือจะเข้า เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/ แล้วคลิกที่หมวดร้องเรียน แล้วคลิกหมอหนี้เพื่อประชาชน และยังมีโครงการอื่น ๆ เช่น คลินิกแก้หนี้ในกรณีที่เป็นหนี้เสีย ไม่ได้ชำระเกิน 120 วัน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคลล สามารถเข้าโครงการนี้ได้ ปรึกษาในเว็บไซต์คลินิกแก้หนี้ได้ แล้วก็มีทางด่วนแก้หนี้ เป็นช่องทางที่เชื่อมให้ลูกหนี้ได้คุยกับเจ้าหนี้ได้โดยตรง แจ้งเลยว่าอยากแก้หนี้อย่างไรบ้าง เจ้าหนี้ก็จะตอบกลับมาว่า ช่วย ไม่ช่วย อย่างไรบ้าง กรณีนี้จะเป็นคนที่มีความรู้ รู้แล้วว่าอยากได้ประมาณไหน ก็เข้าทางด่วนแก้หนี้ ส่วนหมอหนี้ จะคุยกับกลุ่มที่ไม่รู้แนวทาง พอคุยแล้วก็ไปเข้าทางด่วนแก้หนี้ต่อ หรือติดต่อแบงก์โดยตรงก็ได้เหมือนกัน