ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (19) แบงก์ชาติเตือน อย่าหลงกลหนี้นอกระบบ

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (19) แบงก์ชาติเตือน อย่าหลงกลหนี้นอกระบบ

20 กันยายน 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายแหล่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ โดยหมอหนี้พร้อมรับฟัง ให้คำแนะนำ และมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มความสามารถ ปัจจุบันมีทีมหมอหนี้รวม 200 คน และนี่คือหนึ่งในทีมงานหมอหนี้ ที่มาเล่าประสบการณ์ลูกหนี้ที่มีปัญหาจากการกู้นอกระบบ รวมถึงปัญหาความไม่รู้กระบวนการทางกฎหมาย หลงเชื่อคำแนะนำผิดๆ ปล่อยให้มีการบังคับคดี ยึดทรัพย์ ที่ส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด

พรชัย เจริญใจ ผู้ทรงคุณวุฒิหมอหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าให้ฟังว่า ปัญหาการกู้หนี้นอกระบบที่พบบ่อย คือ ลูกหนี้ถูกหลอกให้ทำสัญญากู้เงิน โดยหลังจากลูกหนี้กู้นอกระบบมาระยะหนึ่ง แล้วต้องการกู้เพิ่ม ก็จะพยายามให้ลูกหนี้มาทำสัญญาเพื่อบวกดอกเบี้ยเข้าไปในเงินต้น เป็นดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้นอกระบบคิดเอง และผิดกฎหมายที่กำหนดให้ไม่เกิน 15% ต่อปี และเอาดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ไปทบเป็นเงินต้น แล้วให้ทำสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อใช้เอกสารนี้ในการฟ้องร้อง บังคับคดี ยึดทรัพย์ลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้อาจรู้ไม่เท่าทันเจ้าหนี้นอกระบบ ก็ยอมเซ็นสัญญาไป เพราะต้องการจะขอกู้เงินเพิ่มอีกก้อนหนึ่งจากเจ้าหนี้ แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งที่ลงนามไปจะมีผลย้อนกลับมาที่ตัวเอง

กรณีนี้ก็จะแนะนำไปว่า สิ่งที่ลูกหนี้ทำแต่เดิมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย แต่เจ้าหนี้พยายามทำให้ถูกกฎหมายเพื่อจะได้ฟ้องร้องยึดทรัพย์ลูกหนี้ได้ ลูกหนี้ก็ถามว่า อย่างนี้จะทำอย่างไร ก็แนะนำให้ไปร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม หรือแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อขอไกล่เกลี่ยหนี้ หรือจะลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย กันนอกจากนี้ ทรัพย์ที่ถูกเจ้าหนี้ขู่ว่าจะยึดจะเป็นทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่ติดจำนองอยู่กับสถาบันการเงิน ก็จะบอกลูกหนี้ว่าไม่ต้องกังวล เพราะเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จำนองเขาคงไม่ยอมให้ยึดง่าย ๆ สถาบันการเงินก็ต้องรักษาสิทธิ์ของเขา ให้สบายใจได้

“อยากจะฝากเตือนลูกหนี้ที่กู้นอกระบบ อย่าไปหลงกลเจ้าหนี้นอกระบบที่จะหลอกให้เราทำสัญญากู้ในลักษณะเช่นนี้”

พรชัย บอกว่า อีกปัญหาหนึ่งคือ ลูกหนี้ที่กู้นอกระบบจะมีปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เมื่อมาหาหมอหนี้ ก็จะมีคำถามว่า จะทำอย่างไรดีที่จะสามารถหาเงินไปชำระหนี้นอกระบบให้หมดไป หรือน้อยลง ก็จะแนะนำให้ไปคุยกับสถาบันการเงินดู โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ได้ไปกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยว่า ผ่อนชำระมาแล้วเป็น 10 ปี ยอดหนี้ลดลงไปมากแล้ว ขณะที่มูลค่าหลักประกัน หรือที่อยู่อาศัยอย่างน้อยมีช่องให้กู้ใหม่ได้ในระดับหนึ่ง ก็จะได้เงินก้อนมาจากการที่หนี้เก่าลดลงไป และมูลค่าหลักประกันสูงกว่าหนี้ ให้ลองไปคุยดู ถ้าสถาบันการเงินเจ้าหนี้ยินยอม จะได้เอาเงินมาไปจ่ายหนี้นอกระบบให้เบาบางลง หรือถ้าปิดหนี้นอกระบบได้ก็ปิดเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกภาระและเป็นข้อกังวลใจอยู่ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เคยเจอมา

นอกจากนี้ ลูกหนี้ยังคาดหวังว่า เมื่อมารับคำปรึกษาจากหมอหนี้แล้ว จะมีการชี้ช่องทางกู้หนี้ใหม่เพื่อมาล้างหนี้นอกระบบ ซึ่งก็ได้บอกว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะการกู้หนี้ในระบบแล้วมาจ่ายนอกระบบ สถาบันการเงินเองก็ไม่อยากจะรับความเสี่ยงแทนเจ้าหนี้นอกระบบ จึงพยายามเตือนว่าอย่ากู้นอกระบบเลย หรือถ้ามีหนทางใดที่จะปิดหนี้นอกระบบได้ให้รีบปิด เพราะการกู้ในระบบอัตราดอกเบี้ยถูกกว่ามาก และยังพอคุยกันได้ ขณะที่หนี้นอกระบบส่วนมากคุยยาก หรือถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องไปแจ้งความ แต่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่กล้า เพราะเจ้าหนี้นอกระบบมักเป็นผู้มีอิทธิพล ทำให้กลัวเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินตนเอง ก็พยายามหาช่องทางช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ไปกู้นอกระบบ พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบมาก่อน คือเป็นหนี้จำนวนมากจนไม่ไหว ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้ในระบบ จึงไปกู้นอกระบบ การกู้นอกระบบจึงเกิดทีหลัง หลังจากกู้ในระบบแล้ว ไม่ใช่เพราะหาแหล่งเงินกู้หรือเข้าถึงเงินกู้จากสถาบันการเงินไม่ได้ เพราะเวลาคุยกัน จะถามว่า ไปกู้หนี้นอกระบบมาก่อน ใช่หรือไม่ เขาบอกว่าไม่ใช่ เขากู้หลังจากเฟืองมันติดแล้ว ก็เลยต้องหาเงินช่องทางนี้มาจ่ายหนี้ในระบบ แต่ก็ไม่รอดอยู่ดี และที่พบมากที่สุดจากการซักถาม คือ หนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว เพราะบางรายฐานรายได้ไม่ได้มาก โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ จำนวนมาก กลุ่มที่มีเงินเดือน 3-5 หมื่นบาท แต่ก่อหนี้เป็นหลักล้านบาท ที่สำคัญคือเอาบัตรเครดิตไปกดเงินสดมาใช้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยแพงมาก และบอกว่ามีการจ่ายขั้นต่ำ จึงเป็นบัญชีปกติ แต่พอจ่ายขั้นต่ำแล้วก็ไปกดมาใหม่ ก็เหมือนไม่ได้จ่าย เงินที่กดมาใหม่ก็กลายเป็นเงินต้นเหมือนเดิม ทำให้เงินต้นไม่ลด มีแต่เพิ่มไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ไหว หรือบางคนไปลงทุนในพวกฟอเร็กซ์ (ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน) หรือถูกหลอกบ้าง เพราะอยากรวยเร็ว ก็เลยเป็นปัญหา

“ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้มีการสอนเรื่องการบริหารจัดการเงิน จึงต้องสอนวินัยการใช้เงินให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่อยากได้ อยากมี โดยเฉพาะรถยนต์ บางคนเงินเดือน แค่ค่าเติมน้ำมันก็ยังไม่พอ ก็อยากถอยรถมาขี่เพื่อท่องเที่ยว เพื่ออวดกัน แข่งขันกัน มีแบบนี้เยอะ”

พรชัย กล่าวว่า ในฐานะหมอหนี้ ยังต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้ที่เข้ามารับคำปรึกษาด้วย

กรณีแรก คือหลายรายไม่เข้าใจกระบวนการทางกฎหมาย ว่า การบังคับคดีมีผลต่อเราอย่างไรบ้าง ถ้าปล่อยให้หนี้ไปถึงขั้นฟ้องร้องและถูกบังคับคดี เขาจะยึดทรัพย์ สืบทรัพย์ กลุ่มนี้จะไปเชื่อโซเชียลมีเดียที่ว่า ไม่ต้องจ่าย ปล่อยทิ้งไปเลย ซึ่งผิด แล้วจะเดือดร้อนถึงครอบครัวด้วย และการที่มีบ้านผ่อนมาเยอะแล้วทิ้งไป ไม่ผ่อนต่อ เพราะไปเชื่อเพื่อนว่าไม่ต้องผ่อนแล้ว ปล่อยทิ้งไปเลย ให้เขาบังคับคดี ขายทอดตลาด แต่ไม่รู้ว่าการบังคับคดีขายทอดตลาดนั้น ราคาบ้านถูกกดลงไปถึง 40% จึงต้องชี้แจงว่า ควรประคองผ่อนชำระไป ระหว่างนั้นก็ประกาศขายบ้าน จะทำให้ไม่เสียเปรียบมาก บางครั้งอาจจะเหลือเงินหลังจากหักหนี้เบ็ดเสร็จแล้ว สามารถนำมาใช้ หรือจ่ายหนี้อื่นได้ แต่ถ้าปล่อยให้มีการบังคับคดี หรือขายทอดตลาด โอกาสที่จ่ายหนี้ให้หมดจะน้อยมาก และหนี้ที่จ่ายไม่หมด ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องจ่าย ลูกหนี้ก็ยังต้องรับผิดชอบ สถาบันการเงินก็จะไปตามสืบทรัพย์อื่นอีก รวมทั้งเงินเดือนด้วย บางคนถูกยึดอายัดเงินเดือน หักบัญชีเงินเดือนแล้ว ก็มาถามว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ก็แนะนำให้ยื่นร้องขอกรมบังคับคดีขอลดหย่อน ให้เจ้าหนี้หักน้อยลง เพราะเราไม่ไหว สามารถคุยกับเจ้าหนี้ได้ มีช่องทางที่จะแก้ไขได้ ซึ่งลูกหนี้จะไม่ค่อยเข้าใจประเด็นเหล่านี้

กรณีต่อมา คือ ลูกหนี้มีความประสงค์ที่จะขอรวมหนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ก่อนอื่นลูกหนี้ต้องมีสินเชื่อที่อยู่อาศัย และเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงินที่ลูกหนี้มีหนี้บัตรเครดิต หนี้กดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน แล้วมูลค่าที่อยู่อาศัยและมูลหนี้ที่อยู่อาศัยจะต้องมีส่วนเหลื่อมเหลือพอเป็นหลักประกันพอที่จะโอนหนี้ที่ไม่มีหลักประกันเข้าไป และผ่อนได้ระยะยาวขึ้น นี่คือหลักการ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน แต่ถ้าไม่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือมี แต่ไปอยู่กับสถาบันการเงินที่ไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้กดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ก็รวมไม่ได้ เพราะเขาไม่รวมข้ามธนาคารกัน เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันอย่างมาก

อีกกรณีหนึ่ง คือ ลูกหนี้ร้องมากว่า ทำไมไม่เอาหนี้หลาย ๆ แบงก์ไปรวมที่แบงก์ใดแบงก์หนึ่ง ก็จะบอกว่า เบื้องต้น แบงก์ต้องมีมาตรการดูแลลูกหนี้เขาก่อน ดูแลพอร์ตสินเชื่อเขาก่อน จนกระทั่งเขาดูแลลูกหนี้ได้ดีแล้วจึงจะกล้าเปิดรับความเสี่ยงรวมหนี้ของที่อื่นเข้ามา ต้องให้เวลาแบงก์เขาศึกษาก่อน แต่จะให้อยู่ ๆ รวมเข้าไปเขาไม่กล้ารับหรอก ต้องทำความเข้าใจกัน

พรชัย กล่าวว่า ในการให้คำปรึกษา จะเริ่มถามก่อนถึง อายุ เพศ รายได้ แล้วค่อยมาถึงปัญหา โดยพบว่าหนี้ที่เกิดขึ้นมาจากบัตรกดเงินสดมากที่สุด และเป็นกลุ่มคนเริ่มวัยทำงานมาได้ 3-4 ปี อายุ 26-50 ปีเยอะมาก ผู้ชายผู้หญิงพอ ๆ กัน ระดับการศึกษาก็มีส่วน และมีส่วนมากๆ

โดยคนที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องธุรกรรมทางการเงิน จะรู้วิธีการจัดการหนี้ว่าทำอย่างไรได้บ้าง เพียงแต่มาขอความแน่ใจว่า วิธีนี้ถูกหรือไม่ แต่คนที่มีความรู้ระดับน้อยลงมา จะไม่ค่อยรู้เรื่อง แม้กระทั่งสัญญากู้เป็นอย่างไร อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ หรือการผ่อนชำระไปตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย อย่างไร จะไม่รู้ ไม่ดูสัญญา ไม่ดูเอกสาร พอซักถามก็จะบอกว่าไม่รู้ไปทิ้งไว้ไหนด้วย กรณีอย่างนี้ เวลาลูกหนี้จะไปขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ก็จะไม่รู้ว่าปรับโครงสร้างแล้วลูกหนี้ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เพราะฉะนั้นลูกหนี้ต้องรู้ ต้องศึกษาก่อน ไปเอาเอกสารมาดูก่อนว่ากู้มาอย่างไร ผ่อนชำระอย่างไร จ่ายเงินต้นเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เวลาไปเจรจาทำให้เราผ่อนชำระลดลงจริงหรือไม่ เป็นการตัดให้เงินต้นลดลงจริงหรือไม่ มีการลดดอกเบี้ยให้จริงหรือไม่ ทั้งหมดนี้ต้องมีข้อมูลพื้นฐานอยู่ในมือก่อน ไม่ใช่ไม่มีอะไรในมือแล้วเดินไปคุยจะลำบาก นี่คือคำแนะนำที่ให้ไป

สำหรับคนใกล้วัยเกษียณ ส่วนใหญ่อายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป จะพบว่า ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะสามารถจะจัดการตัวเอง เนื่องจากรู้ว่าอีก 5 ปีหลังจากนี้จะไม่มีรายได้แล้ว ก็จำเป็นต้องเคลียร์ชีวิตเขาให้ปลอดโปร่งขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาในบั้นปลายหลังเกษียณ และรู้ตัวดีว่าหลังเกษียณจะไม่มีรายได้อะไรแล้ว ก่อหนี้ยาก ช่วงนี้มีอะไรที่พอจะเคลียร์ให้เสร็จได้ ก็จะมาขอคำแนะนำว่า ควรจะคุยอย่างไร ส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นแบบนี้ มีน้อยมากที่มีหนี้เยอะจนเคลียร์ไม่ได้

อีกประเภทคือ กลุ่มที่มีธุรกิจส่วนตัว แต่กลุ่มนี้จะมีประสบการณ์สูง แต่เกิดปัญหาช่วงวิกฤติ เช่น โควิด ทำให้ธุรกิจไม่ดีเหมือนเดิม ยอดตกไปเยอะ ทำให้เงินทุนหมุนเวียนขาดสภาพคล่อง ก็จะมาขอคำแนะนำว่าจะจัดการอย่างไร เช่น ธุรกิจปิดตัวไป แต่มีหนี้โอดี (สินเชื่อเบิกเกินบัญชี) อยู่ ก็จะแนะนำให้ไปบอกธนาคารขอเปลี่ยนสัญญาจากโอดีที่คิดอัตราดอกเบี้ยทบต้น มาเป็น term loan แล้วผ่อนชำระคืนทุกเดือน เป็นเวลากี่ปีก็คุยกัน อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ถูกคิดแบบทบต้นที่ทำให้เวลาค้างชำระดอกเบี้ยก็จะไปทบเงินต้น กลายเป็นหนี้ไม่มีวันจบ กรณีอย่างนี้คือเจ้าของธุรกิจไม่มีความจำเป็นต้องมีการใช้เช็คเพื่อหมุนเวียน ก็ให้คุยกับธนาคาร ถ้ามีความตั้งใจจะชำระหนี้คืนอยู่แล้ว ซึ่งธนาคารก็ยินดีจะคุย เพราะไม่อยากให้ลูกหนี้กลายเป็นเอ็นพีแอล

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (16) แบงก์ชาติยึดแนวทางแก้หนี้ที่ win-win ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้
  • ทั้งนี้ พบว่าผู้ที่เข้ามารับคำปรึกษาพบว่าสามารถแก้ไขหนี้สำเร็จเกินครึ่ง คือถ้าดูแล้วว่า รายนี้ประเมินแล้วน่าจะสำเร็จ ก็ได้ตามนั้น แต่บางรายก็บอกตรง ๆ เลยว่า ดูแล้วค่อนข้างยาก เพราะสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่เป็นหนี้อยู่หนักหนาสาหัสมาก เนื่องจากมีรายได้เท่านี้แต่ก่อหนี้ขนาดนี้ ก่อนเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินขอดูเครดิตบูโรแล้ว ประเมินแล้วว่าจะจ่ายหนี้ไม่ได้แน่นอน ก็อาจจะสำเร็จยาก ส่วนใหญ่ต้องขอจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ และก็พยายามจะบอกว่า นอกจากงานประจำ ยังมีความรู้ความสามารถด้านไหนที่จะไปหารายได้เพิ่ม แต่ต้องเป็นอาชีพสุจริต ไม่ใช่คิดสั้น หรือทำอะไรไม่ถูกไม่ควร ก็จะเป็นปัญหาหมักหมมมากไปกว่าเดิม ก็ต้องบอกให้หาลู่ทางในการหารายได้เสริม และพยายามควบคุมการใช้จ่าย อย่าฟุ้งเฟ้อเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต อะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดไปบ้าง อย่าไปเห็นใจเพื่อนฝูง หรือญาติ กรณีนี้ก็มี บางทีญาติพี่น้องขอความช่วยเหลือ อย่างที่พูดกันว่า สายเปย์ หน้าใหญ่ ไม่เป็นไรช่วยหมด แต่ตัวเองจะตาย พอถึงเวลาพวกเขาก็ไม่มาร่วมรับรู้กับเรา

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (11): โครงการ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ อีกหนึ่งทางออกปลดภาระหนี้และเป็นไท
  • อย่างไรก็ตาม มีบ้างที่ผู้มารับคำปรึกษาส่วนใหญ่ที่มามากกว่า 1 ครั้ง เพราะเจรจากับสถาบันการเงินตามที่แนะแนวไปแล้วไม่สำเร็จ ก็จะมีช่องทางว่า ให้ส่งเรื่องข้อเท็จจริงมายังทีมแก้หนี้ที่ โทร 1213 เป็นการส่งข้อมูลรายละเอียดมาให้ดู แล้วจะประสานเชิญฝั่งสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้มาดูว่ามีแนวทางช่วยเหลืออะไรได้บ้าง กรณีนี้ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ เพราะบางทีลูกหนี้ไม่ได้พูดความจริงกับหมอหนี้ คือ เวลากรอกข้อมูลในแอพพลิเคชั่นหมอหนี้ จะมีแค่ข้อมูล แต่ไม่เห็นหลักฐาน แต่ในขั้นตอนที่สอง จะโชว์หลักฐานแล้ว จะได้รู้ว่า ข้อเท็จจริงที่บอกในแอพพลิเคชั่นกับหลักฐานจริง ๆ เป็นอย่างไร และการคุยกับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน มีการคุยอย่างไร ทางหมอหนี้แนะนำบอกให้เอาแค่นี้ แต่ลูกหนี้ไปขอมากกว่านั้น สถาบันการเงินเจ้าหนี้ก็รับไม่ได้ เป็นต้น และเวลาหมอหนี้รับเคสรายไหนมาก็จะคุยไปจนจบ เพราะถ้าเปลี่ยนมือจะต้องนับหนึ่งใหม่ ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่มีการแนะนำไปครั้งแรกเป็นอย่างไร รวมทั้งข้อมูลที่บอกไว้ครั้งแรก เวลากลับมาจะเล่าความเท็จไม่ได้แล้ว

    พรชัย กล่าวถึงคุณสมบัติของหมอหนี้ ว่า ต้องใจเย็น รับฟังให้มาก มีเมตตาเห็นอกเห็นใจ ที่สำคัญ เวลาให้คำปรึกษาแล้วมีหนทางแก้ได้ก็บอกไปเลยว่า แก้ได้ แต่ถ้ากรณีไหนดูแล้วยาก ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่ายาก และต้องบอกด้วยว่า สถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่ได้มีนโยบายช่วยเหลือที่เหมือนกัน ก็ต้องเผื่อใจบ้างว่าอันไหนที่ต้องแก้ไขก่อนก็ต้องไปแก้ อย่าปล่อยทิ้งไว้ และหมอหนี้ต้องอดทน ที่เจอแล้วรู้สึกไม่ดีเลยคือ โวยวาย โวยวาย ก่อนเลย โทษโน่น โทษนี่ โทษนั่น ไม่เคยโทษตัวเอง ก็ต้องเตือนสติว่า ทุกสิ่งที่เกิดเพราะตัวเอง ลูกหนี้สร้างขึ้นมาเอง นี่คือเงินในอนาคตที่เอาไปใช้ก่อน แล้วมาถึงวันนี้จะหาเงินมาเพิ่มไม่ได้ มีแต่ต้องใช้คืนเจ้าหนี้อย่างเดียว เพียงแต่ต้องไปหาแนวทางในการเจรจาขอความเมตตาจากเจ้าหนี้ โดยเฉพาะคนที่ประสบปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ หรืออุบัติเหตุ จนกระทั่งพิการ ทุพพลภาพ ทำงานไม่ได้ กรณีแบบนี้ถ้าไปคุยกับแบงก์ คงมีความเห็นใจ ถ้ามีความตั้งใจที่จะจ่ายชำระคืน แบงก์ก็ไม่ถึงขั้นไม่ยอมฟังเรา อย่าไปคิดว่าเขาจะไม่คุยกับเรา เขาคุย เพราะไม่อยากให้ลูกหนี้กลายเป็นเอ็นพีแอล ทำให้ต้องกันสำรองเต็มไปหมด ผลประกอบการก็ลดลง เขาก็อยากให้เราเดินไปคุย ไปบอกปัญหาที่เกิดขึ้น จะจ่ายเขาได้ประมาณไหน ก็ไปคุย พอบอกไปลูกหนี้ก็สบายใจขึ้น

    “เหนื่อยครับ แต่ก็ยินดี เพื่อช่วยเหลือคนไทยประสบความสำเร็จบ้าง ยิ่งไปเจอปัญหาโควิดมา 3 ปี ปัญหาเศรษฐกิจทำให้เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ก็ต้องให้ความช่วยเหลือ มีจิตกุศลกันบ้าง ไม่เช่นนั้นจะไปกันไม่รอด”