ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (11): โครงการ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ อีกหนึ่งทางออกปลดภาระหนี้และเป็นไท

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (11): โครงการ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ อีกหนึ่งทางออกปลดภาระหนี้และเป็นไท

9 สิงหาคม 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

เป็นหนี้ต้องมีวันจบครั้งนี้ เป็นเรื่องราวของคุณต๊อบ อดีตนักกีฬาทีมชาติ ที่ตั้งใจทำธุรกิจการค้าทุกอย่างเพื่อเลี้ยงชีพ มีหนี้แต่ไม่ใช่เพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ที่เจ้าตัวบอกว่า อาจจะเกินตัวไปบ้าง ประกอบกับความไม่รู้ ทำให้เมื่อประสบปัญหารายได้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจอหมายศาล ก็เลยคิดจะหนี ไม่จ่าย แต่หลังจากได้รับคำแนะนำจากผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าโครงการ “หมอหนี้เพื่อประชาชน” ทำให้คุณต๊อบ มีทางออก สามารถปลดภาระหนี้ เป็นไทกับตัวเอง และยังมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างมีวินัยอีกด้วย

คุณต๊อบ เล่าว่า ตนเองก็เหมือนกับทุกคนที่ต้องการมีชีวิตที่ดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ตัวเองทำ หลังจากจบการศึกษา ก็ใช้เงินทุนตัวเองเปิดบริษัททัวร์เล็ก ๆ ในปี 2552-2553 แต่ด้วยความไม่เชี่ยวชาญก็ปิดไป จากนั้นทำร้านกาแฟ เป็นผู้แทนยา จนมาทำอาหารเสริมได้ประมาณ 7-8 ปี ในช่วงที่ธุรกิจดี มีรายได้ ก็เริ่มกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ หนี้ที่มีอยู่เป็นหนี้ซื้อบ้านเป็นหลัก ไม่ได้ใช้สุรุ่ยสุร่าย หรือหนี้บางอย่างแม้จะจำเป็น แต่ใช้ oversize ไป

โดยกู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ถ้ารวมรถก็เป็น 8-9 ล้านบาท มีหนี้บัตรเครดิตด้วยประมาณ 3 แสนกว่าบาท ตอนแรกมีรายได้เข้ามา แต่พอถึงจุดหนึ่ง มีสัญญาณบางอย่าง ยอดจำหน่ายไม่เหมือนเดิม ก็พยายามทำอย่างไรให้ขับเคลื่อนต่อ

สุดท้ายต้องยอมรับว่า สถานการณ์แบบนี้มาแล้ว ไม่เวิร์กแล้ว ทำต่อไปน่าจะลำบาก อันดับแรกก็เริ่มลด รถดี ๆ ที่เคยใช้ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ได้จริง ๆ แม้กระทั่งเรื่องบ้านก็ไปคุยกับแบงก์ ว่าจะขอปรับลดค่างวดได้หรือไม่ จากเดือนละ 3 หมื่นกว่าบาท ตอนแรกก็ไม่ได้ให้ทันที จนเราไปไม่ไหวจริง ๆ ก็เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ก่อน พอปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ก็พอหายใจได้บ้าง ก็คิดว่า ปล่อยบ้านให้เช่า แล้วหาบางสิ่งบางอย่างว่าตัวเองมีความสามารถอะไรอีก พอดีตัวเองเคยเป็นนักกีฬายิมนาสติกทีมชาติ ก็ตัดสินใจเปิดโรงยิมเล็ก ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ทุกอย่างเริ่มดูดีขึ้น รายได้ก็เอาผ่อนแบงก์ชำระหนี้บ้าน และคาดหวังว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมให้ได้ แต่ก็มาเจอกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด ซึ่งเป็นปัจจัยควบคุมไม่ได้ และไม่ใช่แค่จำนวนลูกค้าลดลง เด็กนักเรียนลดลง แต่ด้วยนโยบาย มาตรการบังคับให้ปิดก่อน 2 เดือนทำให้รายได้เป็นศูนย์ แต่รายจ่ายไม่ศูนย์ เลยคิดหนักมากขึ้น เริ่มลำบาก จนกลับมาเปิดได้ ก็ตีตื้นขึ้นมา แต่พอปีที่สอง ก็เจอสถานการณ์โควิดกลับมาอีก ทำให้เราคิดว่าไม่ไหวแล้ว สุดท้ายต้องไปสอบบรรจุเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ได้รับการบรรจุที่วิทยาเขตสุโขทัย

คุณต๊อบ เล่าว่า แม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่าใช้จ่าย และเข้ามาตรการช่วยเหลือของรัฐช่วงโควิด แต่พอปี 2565 ก็หมดระยะเวลาที่แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้บ้าน ทำให้ตารางการผ่อนชำระหนี้เปลี่ยน คือ ปีแรกต้องผ่อนเดือนละ 3 หมื่นบาท ปีที่สอง 4 หมื่นบาท ปีที่สาม 5 หมื่นบาท ขณะที่รายได้จากโรงยิมที่ประสบปัญหาจากโควิด เด็กเข้ามาเรียนน้อยลง รายได้ไม่ครอบคลุมยอดการชำระหนี้ สุดท้ายเมื่อชำระหนี้ไม่ไหวจริง ๆ ก็ได้รับหมายศาล

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (1) : ธปท. จับมือหลายภาคส่วน วางแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เน้นคุณภาพชีวิตลูกหนี้
  • “พอได้หมายศาลมา ก็คิดว่า ไม่เอาแล้ว จะหนีไปเลย ไม่จ่าย กระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไป จะยึดก็ยึด พอดีได้รู้จักคุณสมิตานันท์ พรหมพินิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ ที่ให้คำแนะนำว่า ต๊อบ อย่าหนี แล้วโชคดีได้มาบรรจุที่สุโขทัย ก็มีโครงการดี ๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทย คือ หมอหนี้เพื่อประชาชน คุณสมิตานันท์ แนะนำให้เข้าไปหา ก็คิดว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ถ้าหนีก็จะไม่มีทางออก ก็เลยเข้าไปคุย หลังจากนั้น เมื่อเข้าโครงการแล้ว ธนาคารเจ้าหนี้ก็ติดต่อมา เขาให้ไปขึ้นศาลก็ไป ตอนแรกกลัวเพราะไม่เคยขึ้น แต่ในความเป็นจริง มันเป็นกระบวนการไกล่เกลี่ย หรือหาทางออกเท่านั้น พอมีทางออก ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์ใช้หนี้ หรืออื่น ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้มาก่อน รู้อย่างเดียวว่า ไม่ไหวแล้วจะทำอย่างไร ประนีประนอมแล้วก็ยังไม่ไหว คิดอย่างเดียว ว่าหนี ดีมั้ย”

  • 5 องค์กรร่วมเปิดตัว “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน”
  • คุณต๊อบ เล่าว่า หลังจากเข้าโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ธนาคารเจ้าหนี้ก็ติดต่อแนวทางการแก้ปัญหา โดยเสนอให้คืนทรัพย์ใช้หนี้ โดยมูลค่าบ้านอาจจะถูกกว่าการขายทรัพย์คืนหนี้ และไม่ครอบคลุมหนี้ที่มีอยู่ แต่จะทำให้ยอดหนี้ลดต่ำลงมา เหลือส่วนต่างเล็กน้อยที่ต้องขำระเพิ่มคือมีหนี้บ้าน 4.2 ล้านบาท ตีราคาขายได้ 2 ล้านกว่าบาท คิดในใจว่า ต้องมาผ่อนกุญแจบ้านเปล่า ๆ อีก 2 ล้านบาทหรือเปล่า แต่แบงก์ได้ลดมูลค่าหนี้ลงมา ขายบ้านแล้วจะต้องผ่อนต่ออีก 2-3 แสนบาท ถ้าอย่างนี้ก็ดี ผ่อน 2-3 แสนบาท ดีกว่าผ่อน 4.2 ล้านบาท แต่ความจริงแล้ว พอทำกระบวนการทุกอย่างเสร็จ แบงก์ก็ยกยอดหนี้ให้ ทำให้เป็นไทเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา

    คุณต๊อบ บอกว่า พอเป็นไท จึงตั้งตัวใหม่ ไม่ได้ซื้อบ้าน เพราะแฟนมีบ้านที่จังหวัดลำปาง ตัวเองเป็นครูที่สุโขทัย ก็มีบ้านพักให้อยู่ ไม่ต้องเช่า มีรายได้เสริมจากการสอนยิมนาสติกบ้าง ไม่ซื้อรถแบบผ่อน เพราะเสียดายเงิน ยอมใช้รถเก่า ซื้อสด และไม่เอาเงินอนาคตมาใช้ อยากได้อะไร ก็ตั้งเป้าหมายเก็บเงิน ไม่เหมือนเมื่อก่อนรูดบัตรจ่ายเต็มวงเงิน เดี๋ยวค่อยไปผ่อน

    “ความคิดเปลี่ยนไปเป็นคนละขั้ว มีวินัยทางการเงิน ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ได้บทสรุป ว่าการขับเคลื่อนชีวิตต้องมีเป้าหมาย แต่เป้าหมายจากนี้ไปต้องมีการวางแผน ผมมีเป้าหมายไม่อยากเป็นหนี้ และก้าวทีละเล็ก ๆ อีกประเด็น คือ ไม่เอาเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ถ้าจะซื้ออะไร จะดูว่า เป็น need หรือเป็น want สำคัญที่สุด ถ้าเป็น need ก็จะตั้งเป้าเก็บเงินในระยะเวลาสั้น แต่ถ้าเป็น want ระยะเวลาก็ยาวหน่อย ที่สำคัญที่สุด ไม่เอาเงินอนาคตมาใช้ เพราะเทียบแล้วเราเสียดอกเบี้ยโดยใช่เหตุ โดยไม่จำเป็น แล้ววางแผนว่าถ้าอยากได้อะไร ก็จะมีวินัยทางการเงิน ถ้าอยากได้สิ่งนี้ ตั้งเป้าจะให้เวลากี่เดือนในการเก็บเงิน คิดว่า เราจะไม่เป็นแบบเดิมอีกแล้ว ไม่พลาดแบบเดิม เพราะมันไม่สนุก”