ในการประชุมสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติของเมียนมา (National Defence and Security Council :NDSC) ที่กรุงเนปิดอว์เมื่อวันจันทร์(31 ก.ค.) สมาชิกสภาตัดสินใจขยายเวลาการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศและระยะเวลาของรัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ออกไปอีก 6 เดือน ตามประกาศที่ออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์เมียวดี( Myawady TV channel)สื่อของรัฐในวันเดียวกัน
เมื่อการขยายสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนหน้านี้สิ้นสุดลงในวันจันทร์ หัวหน้ารัฐบาลทหารได้ส่งรายงานให้สมาชิกสภาพิจารณาเกี่ยวกับการปกครองของทหารเป็นเวลา 2 ปีครึ่งตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่กองทัพร่างขึ้น ที่ได้ใช้เป็นเหตุผลในการอ้างสิทธิ์ในอำนาจเมื่อทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมย้ำว่ายังมี “ความไม่สงบ” ในประเทศ
กองทัพประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนานหนึ่งปีเมื่อเข้ายึดอำนาจ และหลังจากนั้นได้ขยายการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินออกไป 3 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน โดยการขยายเวลาเมื่อวันจันทร์นับเป็นครั้งที่ 4 รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยกองทัพอนุญาตให้ขยายเวลาได้เพียง 2 ครั้งครั้งละ 6 เดือน และกำหนดให้ผู้มีอำนาจต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 6 เดือนหลังจากประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
ผู้นำรัฐประหารพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย พูดเป็นนัยว่า รัฐบาลของเขาอาจขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกและชะลอการเลือกตั้งจากที่ได้สัญญาไว้ ในการประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวันที่ 14 กรกฎาคม
NDSC จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยกองทัพ และประกอบด้วยประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีสองคน ประธานสภาสองคน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม รัฐมนตีกระทรวงกิจการภายในและกิจการชายแดน
หลังจากผู้นำพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างออง ซาน ซูจี และวิน มี้นต์ ถูกโค่นล้มในการทำรัฐประหาร รองประธานาธิบดีมี้นต์ ส่วย ก็ทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีของรัฐบาล และเป็นประธาน NDSC
เช่นเดียวกับการขยายสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งก่อน เมื่อวันจันทร์ รองประธานาธิบดีมี้นต์ ส่วย ประกาศบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศต่อไปอีก 6 เดือน และโอนอำนาจให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย
แถลงการณ์โดยละเอียดอย่างเป็นทางการจาก NDSC จะออกในภายหลัง
รองประธานาธิบดีอีกคนหนึ่ง เฮนรี วาน เทียว ไม่อยู่ในสายตาของสาธารณชนตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ และไม่ได้เข้าร่วมการประชุม NDSC สามครั้งก่อนหน้านี้ โดยอ้าง “ปัญหาสุขภาพ”
มีข่าวลือว่าเฮนรี วาน เทียว จะเข้าร่วมการประชุมในวันจันทร์ และมีผู้เห็นเขานั่งถัดจาก นายที คุน เมียต ประธานสภาล่างในภาพวิดีโอของการประชุม ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็น ส.ส. จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(National League for Democracy)ของซูจี และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานโดยพรรค
มาน วิน ข่าย ตาน ประธานรัฐสภา เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาหลังการรัฐประหารในปี 2564
แม้ NDSC จะมีอำนาจบริหารบางส่วนในรัฐ แต่โครงสร้างของ NDSC ยังทำให้สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร แม้เมียนมาจะอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนก็ตาม
เต็ง อู รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของ NUG แสดงความคิดเห็นตอบโต้การขยายอำนาจการปกครองของทหาร ว่า ความชอบธรรมของรัฐบาลทหารไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของกองทัพที่นำมาอ้าง
“มันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของพวกเขาเองอย่างโจ่งแจ้ง พวกเขาต่อเวลาถึงสามครั้งแล้ว และตอนนี้เป็นครั้งที่สี่ มันแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญของพวกเขาเองก็ไร้ประโยชน์” เต็ง อู ให้ความเห็นกับสำนักข่าว Myanmar Now
สำหรับการเข้าร่วมประชุม NDSC ของ เฮนรี วาน เทียว รัฐมนตรียุติธรรมของ NUG กล่าวว่า ไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของพรรค
“ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย การเข้าร่วมประชุมนั้นเป็นการละเมิดกฎหมาย… มันผิดกฎหมาย
อ้างความไม่สงบต้องฟื้นฟูเสถียรภาพ
การขยายเวลาครั้งล่าสุดไม่น่าแปลกใจหลังจากพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย พูดเป็นนัยเมื่อสองสัปดาห์ก่อนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพและหลักนิติธรรมทั่วทั้งประเทศ”โดยอ้างถึงการต่อต้านด้วยอาวุธทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร
สำนักข่าว The Irrawaddy รายงานว่า รัฐบาลเมียนมากำลังดิ้นรนเพื่อควบคุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ของประเทศ โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย บอกกับคณะรัฐมนตรีว่ามีเหตุระเบิดทั้งหมด 489 ครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 11 กรกฎาคมปีนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 782 คน
หัวหน้ารัฐบาลทหารยังเรียกร้องให้เพิ่มปฏิบัติการทางทหารในภูมิภาคซะไกง์ เช่นเดียวกับรัฐชินและรัฐกะยา โดยกล่าวว่าการโจมตีของ “ผู้ก่อการร้าย” นั้นเลวร้ายที่สุด ทั้งนี้ ซะไกง์ ชิน และกะยา เป็นฐานที่มั่นที่สำคัญของฝ่ายต่อต้าน
พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ยอมรับว่า รัฐบาลพม่าไม่ได้ควบคุมเมือง 130 แห่ง โดยมีกฎอัยการศึกบังคับใช้ในเกือบ 50 เมืองในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ซะไกง์ และมะเกว รวมถึงรัฐชินและกะยา
รัฐบาลทหารตอบโต้ขบวนการต่อต้านที่เพิ่มขึ้นด้วยการโจมตีทางอากาศ การจู่โจม และการสังหารโดยพลการทั่วประเทศโดยไม่เลือกหน้า
ณ วันศุกร์ จากรายงานของหน่วยงานเฝ้าระวังอิสระ รัฐบาลทหารได้สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 3,850 ราย รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านระบอบการปกครองและพลเรือนที่ถูกสังหารในการโจมตีตามอำเภอใจ