ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการไทยลงชื่อเสนอรัฐไทย ช่วย ‘นักวิชาการเมียนมา’ ผ่อนผันวีซ่า-อนุโลมเข้าไทย

นักวิชาการไทยลงชื่อเสนอรัฐไทย ช่วย ‘นักวิชาการเมียนมา’ ผ่อนผันวีซ่า-อนุโลมเข้าไทย

18 ธันวาคม 2021


คณะอาจารย์จากPathein University ร่วมรณรงค์แคมเปญริบิ้นสีชมพู ที่มาภาพ:https://www.mizzima.com/article/teachers-various-departments-pathein-university-launch-red-ribbon-campaign

เปิดแถลงการณ์ “ขอความร่วมมือในการทบทวนนโยบายการสกัดกั้นนักศึกษานักวิชาการจากเมียนมาเข้าประเทศไทย” ร่วมลงนามโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 25 ราย ถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สำเนาถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปลัดกระทรวงกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้รัฐบาลไทยผ่อนผัน/ปรับเปลี่ยนวีซ่าของนักศึกษา-นักวิชาการเมียนมา ให้สามารถอาศัยในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง และขอให้สภาความมั่นคงและก.ต่างประเทศ ผ่อนผันการเดินทางข้ามประเทศโดยไม่มีการจับกุม สำหรับนักวิชาการที่หนีภัยความตายและการจับกุม

จากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา ที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย ในช่วงต้นปี 2564 นำไปสู่การปกครองโดยคณะรัฐบาลทหาร ทำให้นักวิชาการเมียนมาออกมาวิพากษ์​วิจารณ์ แต่ถูกจับกุมคุมขังทำให้นักวิชาการบางรายจำเป็นต้องหนีออกจากประเทศ

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยื่นหนังสือกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอให้กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนนโยบายการสกัดกั้นนักศึกษานักวิชาการจากเมียนมาเข้าประเทศไทย และเสนอให้ผ่อนผันวีซ่า รวมถึงอนุโลมให้นักวิชาการเมียนมาที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ

ในแถลงการณ์ยังระบุว่า “พวกเราที่มีตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆในประเทศไทย ซึ่งในเวลาปกติ มีความพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์วิชาการกับนักศึกษาและนักวิชาการจากต่างประเทศ รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ที่ยังมีความต้องการการสนับสนุนทางวิชาการเป็นอย่างสูง มองเห็นว่า การใช้การทูตเชิงการศึกษา (education diplomacy) คือ การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการทูตในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันจะเป็นผลดีในระยะยาวกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้

ตามที่เกิดการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศเมียนมาโดยกลุ่มนายทหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และมีการจับกุมคุมขังอดีตผู้นำประเทศและบุคคลที่สนับสนุน อันเป็นผลให้เกิดการประท้วงต่อต้านและเป็นที่มาของการปราบปรามอย่างรุนแรง จนทำให้ผู้ร่วมการประท้วงและประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งต้องหลบหนีการจับกุมเข้ามาในประเทศไทยและประเทศที่สาม ตามที่ทราบกันทั่วไปแล้วนั้น

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเรียกร้องให้ผู้นำทหารแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ผ่านการเจรจาร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินการตามข้อเสนอ 5 ประการ ที่รัฐบาลทหารเมียนมามีท่าทียอมรับ แต่การดำเนินการให้เป็นจริงดูจะยังห่างไกล ในขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศเมียนมายังคงมีความรุนแรง การออกหมายจับ การจับกุมคุมขังและการสู้รบในรัฐต่างๆ ในประเทศเมียนมายังคงดำเนินต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาถูกสั่งปิด นักวิชาการกว่า 80% ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารถูกให้ออกจากตำแหน่ง หรือไม่ก็ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ การเรียนการสอนหยุดชะงักและไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะได้รับการแก้ไข สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ “ความหายนะทางการศึกษา” ของประเทศเมียนมาซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตของการพัฒนาบุคลากรที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศเมียนมาต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทย

เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งรณรงค์แคมปริบบิ้นสีชมพู ที่มาภาพ: https://www.irrawaddy.com/news/burma/thousands-join-peaceful-protests-myanmar-military.html

ในฐานะนักวิชาการที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ รวมถึงเสรีภาพทางวิชาการ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักวิชาการและนักเรียนนักศึกษา กอปรกับสถาบันการศึกษาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับอุดมศึกษาและระดับที่ลดไป มีนโยบายรับนักศึกษาจากต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมอบให้กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาที่ห่างไกลออกไปแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของการศึกษาไทย (internationalization of the Thai education) อีกด้วย

พวกเราที่มีตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆในประเทศไทย ซึ่งในเวลาปกติ มีความพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์วิชาการกับนักศึกษาและนักวิชาการจากต่างประเทศ รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาที่ยังมีความต้องการการสนับสนุนทางวิชาการเป็นอย่างสูง มองเห็นว่า การใช้การทูตเชิงการศึกษา (education diplomacy) คือ การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการทูตในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันจะเป็นผลดีในระยะยาวกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ได้รับการ้องขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการและนักศึกษาจากประเทศมียนมา หลายสถาบันได้รับนักศึกษาและนักวิซาการที่ยังต้องการการพัฒนาทางวิชาการเข้ามาในฐานะนักศึกษาและนักวิจัยในสถาบันต่างๆจำนวนหนึ่ง สถาบันเหล่านั้น ต่างประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือ

  1. นักวิชาการและนักศึกษาที่รับมาเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องด้วยวีซานักท่องเที่ยว ต้องมีการเปลี่ยนชนิดของวีซ่า ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยอุปสรรคหรือทำไม่ได้ การแนะนำให้คนเหล่านี้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อให้สมัครขอวีซ่าใหม่เป็นชนิดที่ถูกต้องทำไม่ได้เนื่องจากสถานการณ์แพร่กระจายของโรคโควิด-19
  2. มีนักศึกษาและนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ยังคงอยู่ในประเทศเมียนมา แม้จะมีเอกสารเดินทางครบถ้วน แต่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ด้วยนโยบายงดออกวีชาชนิดต่างๆ ให้กับประชาชนเมียนมา ของรัฐไทย และ/หรือนโยบายปิดกั้นการเดินทางออกนอกประเทศโดยเมียนมาเอง
  3. มีนักศึกษาและนักวิชาการบางคนที่ต้องหนีภัยการจับกุมหรือหนีภัยความตาย โดยไม่มีเอกสารการเดินทาง ทางเดียวที่คนเหล่านี้จะเดินทางเข้าประเทศไทยได้ คือ การเดินทางผ่านพรมแดนธรรมชาติซึ่งมีความเสี่ยงต่อการจับกุม คุมขัง และส่งกลับโดยรัฐไทย

เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการที่สามารถเข้ามาศึกษาและทำงานวิชาการในประเทศไทยใหั พวกเรา ในฐานะนักวิชาการจึงเรียนมาเพื่อขอหารือและเสนอแนะว่า

  1. สำหรับนักวิชาการและนักศึกษากลุ่มแรกที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องและอยู่ในประเทศไทยแล้ว ขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาผ่อนผันปรับเปลี่ยนชนิดของวีซ่าเป็นวีซ่านักศึกษา/วิชาการ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้ศึกษาหาความรู้ได้อย่างเต็มที่
  2. อนุญาตให้นักศึกษา นักวิชาการที่ได้รับการตอบรับเข้าศึกษา วิจัย หรือทำงานจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินทางมาได้ สามารถสมัครขอวีซ่าอย่างถูกต้อง และเดินทางเข้ามาได้ทั้งทางอากาศและชายแดนทางบก โดยให้ยึดถือหนังสือตอบรับของแต่ละสถาบันการศึกษาเป็นหลักฐานสำคัญ
  3. สำหรับบุคคลที่หนีภัยความตายและการจับกุมคุมขัง โดยเฉพาะที่มีหนังสือตอบรับของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยตามข้อที่ 2 ขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องผ่อนผันให้เดินทางผ่านแดนเข้ามาโดยไม่มีการจับกุม และการเปิดลำนักงานประสานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ.2562 มาปรับใช้ โดยอนุโลมเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นอยู่ในประเทศไทยได้ และได้รับการศึกษาและความคุ้มครอง ตามหลักการระหว่างประเทศทั้งหลักการสิทธิมนุษยซนและมนุษยธรรมที่ประเทศไทยยึดถือ

การปรับนโยบายให้ผ่อนปรนขึ้นสำหรับคนบางกลุ่ม อย่างน้อยในขั้นแรก ขอให้ปรับใช้กับบุคคลที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อการศึกษา การดำเนินการเหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชนแก่ประเทศเมียนมาในอนาคตและบุคคลเหล่านั้นแล้ว ยังจะเป็นประโยซน์กับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย และชื่อเสียงของประเทศไทยที่จะได้รับการชื่นชมจากประชาคมระหว่างประเทศ ไม่มีอะไรที่รัฐไทยจะทำได้ในขณะนี้ ดีไปกว่าการประกันอนาคตของประเทศเมียนมาและอนาคตของบุคคลเหล่านั้นด้วยการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้คนเหล่านั้น

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิซาการจะยินดียิ่งหากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปิดช่องทางหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันและหาแนวทางร่วมมือกัน จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณา และกำหนดเป็นแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้ด้วยจะขอบคุณยิ่ง

จดหมายฉบับเต็มพร้อมรายชื่อนักวิชาการ