ThaiPublica > สู่อาเซียน > เมียนมาตั้งรัฐบาลรักษาการ นายพลมิน อ่อง หล่าย นั่งนายกรัฐมนตรี กุมอำนาจยาว

เมียนมาตั้งรัฐบาลรักษาการ นายพลมิน อ่อง หล่าย นั่งนายกรัฐมนตรี กุมอำนาจยาว

2 สิงหาคม 2021


พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่มาภาพ: https://www.myanmar-now.org/en/news/tatmadaw-chief-min-aung-hlaing-says-election-candidates-should-resist-foreign-influence

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลรักษาการ ที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย แถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในสองปี

นายพลอาวุโสแห่งกองทัพก้าวขึ้นมาสู่อำนาจหลังจากที่ทำการรัฐประหารเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ไม่ได้ระบุถึงตำแหน่งใหม่หรือการตั้งรัฐบาลชั่วคราวในการแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ที่ใช้เวลา 52 นาทีในเช้าวันอาทิตย์

การตั้งรัฐบาลใหม่ได้ประกาศผ่านสื่อของรัฐในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน โดยนอกจากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว ยังแต่ตั้งให้พลเอกโซ วิน รองประธานสภาบริหารแห่งรัฐ เป็นรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ในระดับรัฐและเขตหลายตำแหน่ง

รวมทั้งมีการแต่งตั้งมุขมนตรีระดับรัฐและระดับเขตหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีมุขมนตรีเป็นผู้นำและมีคณะมนตรีอีก 6 คน และอัยการสูงสุดประจำรัฐหรือเขตแห่งละ 1 คน

สำหรับกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ สองเมืองใหม่ของเมียนมา จะมีคณะมนตรีประจำของแต่ละเมือง โดยให้นายกเมือง รักษาการคณะมนตรี
กองทัพเมียนมาได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองทัพในตำแหน่งนายพัน ให้เป็นผู้นำคณะมนตรีแต่ละรัฐหรือเขตในการดูแลความมั่นคงและพื้นที่ชายแดน ขณะที่นายพันตำรวจจะเป็นหัวหน้าคณะมนตรีในการดูแลด้านการขนส่งคมนาคม

ในแถลงการณ์ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย อ้างถึงรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกองทัพในปี 2008 เป็นพื้นฐานในการกำหนดกรอบเวลาสำหรับการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเปิดให้ขยายการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน หลังจากที่ได้ประกาศใช้ทันทีหลังยึดอำนาจจากรัฐบาลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจะใช้เวลา 6 เดือนสำหรับเตรียมการจัดการเลือกตั้ง

“การบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินจะสิ้งสุดลงในเดือนสิงหาคม 2023,” พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายกล่าว

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายยังย้ำว่า มีการทุจริตเลือกตั้งในยุครัฐบาลพลเรือนที่นำโดยที่ปรึกษาแห่งรัฐ นาง ออง ซาน ซูจีและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(National League for Democracy :NLD) ที่ชนะแบบถล่มทะลายในการเลือกตั้งปีที่แล้ว

หนึ่งวันหลังการยึดอำนาจ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า ภายใต้การบริหารของกองทัพ จะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ภายใน 1 ปี แต่นับจากนั้นสิ่งที่ดำเนินการมีเพียงการยกเลิกผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการเลือกตั้งที่กองทัพแต่งตั้งได้ประกาศว่า ได้ยกเลิกผลการเลือกตั้งที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา(Union Solidarity and Development Party:USDP)ที่ กองทัพหนุนพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

คณะกรรมการเลือกตั้งอ้างว่า การนับคะแนนผิดพลาด 11 ล้านคะแนน และกล่าวหาว่า รัฐบาลที่พรรค NLD เป็นแกนนำในขณะนั้นฝ่าฝืนข้อห้ามด้านสาธารณสุขในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด -19 เพื่อที่จะให้อยู่ในอำนาจต่อไปอีก 5 ปี

ผู้สังเกตการณ์ทั้งในและต่างประเทศไม่ยอมรับการกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งของกองทัพ และระบุว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชากรส่วนใหญ่ของเมียนมา

การดำเนินการของกองทัพล่าสุด ถูกมองว่าเป็นหลักฐานชัดเจนถึงจุดอ่อนและความตั้งใจที่จะอยู่ในอำนาจของกองทัพ

เต็ง อู รัฐมนตรียุติธรรมในรัฐบาลเงา ให้ความเห็นว่า การดำเนินการของรัฐบาลทหารมีเป้าหมายเพื่อกองทัพและเพื่อกลบภาพทหาร ทั้งๆที่ยังหวังยึดอำนาจ

“เมียนมากลายเป็นรัฐล้มเหลว และกองทัพก็แตกแยกภายใน ดังนั้นการดำเนินการเพื่อกลบภาพในกองทัพ ไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้งอย่างแท้จริง แต่เพื่อให้กองทัพยังมีอำนาจต่อไป”

ผู้สังเกตการณ์ที่ทำงานในภาคประชาสังคมอีกรายหนึ่งระบุว่า การแถลงและการประกาศของกองทัพส่งสัญญานว่า กองทัพมีแผนที่จะอย่ในอำนาจอย่างไม่มีกำหนด

“ค่อนข้างชัดเจนว่า พวกเขาพยายามที่จะยึดอำนาจในฐานะรัฐบาลต่อไปในระยะยาว”

เมียนมาไม่ได้ตกอยู่ภายในใต้รัฐบาลทหารเป็นครั้งแรก ในปี 1958 นายพลเน วินได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรีอูนุ ให้ทำหน้าที่บริหารประเทศเป็นเวลา 2 ปีท่ามกลางวิกฤติการเมืองที่รุนแรงขึ้น

แม้นายพลเน วินต้องคืนอำนาจในช่วงท้ายของวาระ แต่ยังยึดอำนาจต่อไปดวยการทำการรัฐประการในปี 1962 ที่ส่งผลให้ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารร่วมครึ่งศตวรรษ

รัฐบาลทหารไม่ได้พยายามที่จะบอกว่าการตั้งรัฐบาลใหม่มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนญ แต่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ย้ำในการแถลงถึง ตำแหน่งของเขา และย้ำว่าการรัฐประหารสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและให้คำมั่นที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยและสหพันธ์รัฐของเมียนมา

นอกจากนี้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า สภาบริหารแห่งรัฐจะประสานงานกับอาเซียนในการนำ 5 ข้อตกลง ซึ่งผู้นำและตัวเเทนประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ให้ความเห็นชอบในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเดือนเมษายนมาปฏิบัติ

“เมียนมาพร้อมที่จะทำงานกับอาเซียนตามกรอบความร่วมมือของอาเซียน รวมทั้งจากการหารือกับตัวแทนพิเศษของอาเซียน”

เมียนมาอยู่ในสถานะที่ใกล้จะล่มสลายนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร ซึ่งก่อให้เกิดการประท้วง เดินขบวนทั่วประเทศของประชาชนรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์นับแสนคนในทันที

กองทัพได้ปราบปรามการเดินขบวนต่อต้านกองทัพด้วยวิธีการที่โหดร้ายและรุนแรง ทำให้วิตกว่าสถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

เศรษฐกิจของเมียนมาทรุดหนักภายใต้การปกครองของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย รายงานธนาคารระบุว่าคนจำนวนมากต้องตกอยู่ในความยากจน

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเมียนมายังเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวเลขจากทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคนในแต่ละวัน ซึ่งตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้

ในการแถลงพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายระบุว่า ผู้ก่อการร้าย ที่ต่อต้านการปกครองของเขาเป็นสาเหตุของความเดือดร้อนของประเทศ

“การประท้วงทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ไปนำไปสู่ความสับสนอลหม่าน และการปะทะและมีใช้อาวุธ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่า ทำไมต้องเข่นฆ่าประชาชน ทำไมต้องโจมตีประชาชนที่อยู่ในความสงบ เรารับไม่ได้”

กองทัพได้สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 900 ราย ซึ่งเป็นเด็กนับสิบคน และจับกุมตัวอีกราว 7,000 เพื่อกลบเสียงคัดค้านและควบคุมประเทศ ซึ่งพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายระบุว่า การจัดการในลักษณะนี้สอดคล้องกับแนวมาตรฐานสากล