ThaiPublica > สู่อาเซียน > การพังทลายทางเศรษฐกิจ จะทำให้เมียนมากลายเป็น “รัฐล้มเหลว”

การพังทลายทางเศรษฐกิจ จะทำให้เมียนมากลายเป็น “รัฐล้มเหลว”

16 มิถุนายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประตูทางเข้าเรือนจำอินเซน เมียนมาร์ ที่มาภาพ : เว็บไซต์ bbc.com

หนังสือพิมพ์ The New York Times เสนอรายงานข่าวเรื่อง เรือนจำอินเซน (Insein Prison) ที่โบราณเก่าแก่ของเมียนมาว่า ตลอดเวลา 134 ปีที่ผ่านมา เรือนจำอินเซนเป็นสัญลักษณ์ของความป่าเถื่อน นับจากรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อินเซนกลายเป็นที่คุมขังนักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และนักเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลทหาร

กว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา เรือนจำอินเซนเป็นตัวอย่างการใช้อำนาจปราบปรามของรัฐบาลเมียนมา เรือนจำสร้างขึ้นในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า เรือนจำมีรูปทรงคล้ายกับแผ่นพิซซ่า ช่วง 50 ปีที่เมียนมาร์อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร อินเซนมีชื่อเสียงในเรื่องความโหดร้ายและการทรมานนักโทษ อินเซนบรรจุนักโทษได้ 5 พันคน แต่ทุกวันนี้มีนักโทษราว 13,000 คน

นับจากเกิดการรัฐประหาร ที่กองทัพเมียนมากลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง เรือนจำอินเซนที่โบราณเก่าแก่ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของการปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ทหารเมียนมาได้จับกุมคนที่ต่อต้านมาแล้วถึง 4,300 คน นักโทษส่วนใหญ่ถูกนำมาคุมขังที่เรือนจำอินเซน

มรดกจากลัทธิล่าอาณานิคม

เรือนจำอินเซนไม่ได้เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเท่านั้น บทความของ foreignaffairs.com ชื่อ Myanmar’s Coming Revolution ผู้เขียน Thant Myint-U นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของเมียนมา กล่าวว่า เมียนมาหรือพม่าในอดีตถูกสร้างขึ้นมาโดยลัทธิล่าอาณานิคม ในศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 อังกฤษสามารถเอาชนะดินแดนตามแถบชายฝั่งทะเลเบงกอล ไล่มาจนถึงแหลมมลายู ส่วนดินแดนตามลุ่มแม่น้ำอิรวดีที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ของพม่าอาศัยอยู่ อังกฤษก็ใช้การควบคุมโดยกำลังทหาร และนโยบายเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์

ผู้ปกครองอังกฤษคนหนึ่งบอกว่า เมียนมาคือดินแดนที่ไร้เสถียรภาพทางชาติพันธุ์ และในการปกครองก็แบ่งจำแนกประชากรเมียนมาออกเป็นพวกคนท้องถิ่นกับพวกต่างด้าว อังกฤษยังนำเอาระบบเศรษฐกิจแบบอาณานิคมมาใช้กับเมียนมา โดยรากฐานทางเศรษฐกิจอาศัยแรงงานอพยพจำนวนมากจากอินเดีย และพึ่งพิงการส่งออกสินค้าขั้นปฐมภูมิ เช่น ข้าว น้ำมัน และไม้สัก ไปยังตลาดโลก

ในปี 1937 หรือ 10 ปีก่อนที่ปากีสถานจะแยกตัวจากอินเดีย อังกฤษได้แยกพม่าออกจากอินเดีย เพราะเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ หลังจากได้รับเอกราชในปี 1948 เมียนมา ประเทศเกิดใหม่พยายามรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ก็ยังอยู่ในกรอบที่คนเชื้อชาติเมียนมายังมีฐานะนำ ส่วนพวกโรฮิงญากว่า 7 แสนคน ที่มาจากบังกลาเทศถูกถือเป็นพวกต่างด้าว

แต่การสร้างชาติของเมียนมาล้มเหลวมาตลอด มีการต่อสู้ด้วยอาวุธของชนกลุ่มน้อย และการเป็นประเทศของเมียนมาก็ไม่เคยอยู่ในสภาพที่เป็นหนึ่งเดียว

เศรษฐกิจหลังสงครามโลก

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า กองทัพพม่าเป็นกองทัพเดียวในโลกที่ทำสงครามอย่างไม่หยุดเลย นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เริ่มต้นจากการต่อสู้กับอังกฤษและญี่ปุ่น หลังจากได้รับเอกราช ก็ต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายตรงกันข้าม ได้แก่ กองทัพก๊กมินตั๋งในช่วงปี 1950 กองกำลังคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 1960 กองกำลังพวกค้ายาเสพติด และกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต้องการปกครองตัวเอง

เป็นเวลาร่วม 40 ปี ที่รัฐบาลเมียนมาใช้นโยบายสังคมนิยมเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากยุคอาณานิคม ในทศวรรษ 1960 รัฐบาลทหารพม่าใช้นโยบายยึดกิจการธุรกิจที่สำคัญเป็นของรัฐ และแยกตัวเองจากโลกภายนอก

แต่ในปี 1988 เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายดังกล่าว เมื่อรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจปฏิเสธนโยบายสังคมนิยม และหันมาส่งเสริมธุรกิจเอกชน การค้ากับต่างประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วงเดียวกัน ศัตรูทางทหารที่สำคัญคือกองกำลังคอมมิวนิสต์พม่า ก็พังทลายลง เป็นการปูทางไปสู่การค้ากับจีน และในเวลาต่อมา ทุนนิยมของพม่าก็ไปผูกพันกับยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมของจีน

ช่วงนับจากทศวรรษ 1990 จนถึงทศวรรษ 2000 ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างมาก การค้ายาเสพติดก็เฟื่องฟู โดยเฉพาะในเขตชนกลุ่มน้อย ที่ทำความตกลงสงบศึกกับทหารพม่า การค้าไม้สักและหยกสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้นำทหารและหุ้นส่วนธุรกิจ การค้นพบก๊าซธรรมชาติชายฝั่งทะเลในปี 2008 ทำให้รัฐบาลทหารมีรายได้ปีหนึ่ง 3 พันล้านดอลลาร์

ในเมียนมาไม่มีใครเสียภาษี ดังนั้นรัฐจึงแทบไม่ได้ให้บริการทางสังคมใดเลยแก่ประชาชน ในปี 2000 องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าสาธารณสุขของเมียนมาอยู่อันดับต่ำสุดของโลก

ปี 2008 พายุไซโคลนทำให้คนตายถึง 140,000 คน ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินและภัยทางธรรมชาติ ทำให้คนเมียนมาจากทุกแห่งในประเทศเดินทางอพยพเพื่อมายังประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมา 3-4 ล้านคน

เปิดประเทศและเศรษฐกิจ

เมื่อสิบปีที่แล้ว เมียนมาเริ่มเปิดกว้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้นำทหารคือนายพลตันส่วย เขียนกติกาการเมือง ที่จะแบ่งอำนาจกันระหว่างผู้นำทหารรุ่นใหม่ กับพรรคการเมืองที่ทหารตั้งขึ้นมาชื่อ Union Solidarity and Development Party (USDP) แต่ในปี 2011 ผู้นำทหารเมียนมาเกิดความคิดปฏิรูปการเมือง โดยปล่อยนักโทษการเมือง รวมทั้งนางอองซาน ซูจี เลิกควบคุมสื่อมวลชน เปิดเสรีอินเทอร์เน็ต เมียนมามีเสรีภาพขึ้นมาทันทีทันใดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 50 ปี

ชาติตะวันตกมองการเปลี่ยนแปลงว่า ประชาธิปไตยกำลังจะเกิดขึ้นในเมียนมา จึงเริ่มยกเลิกการคว่ำบาตร และเศรษฐกิจก็รุ่งเรืองทันที การเปิดระบบโทรคมนาคมทำให้เกิดการปฏิวัติในด้านการเชื่อมโยง ปี 2011 คนเมียนมาแทบไม่มีสมาร์ทโฟน

แต่ปี 2016 แทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือและเข้าถึง Facebook คนรุ่นใหม่ที่เติบโตในช่วงที่ประเทศมีเสรีภาพจึงต้องการประชาธิปไตยที่รุ่งเรืองและสงบสันติ

สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลเมียนมา ได้เผยแพร่ภาพ อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ หัวหน้าพรรค NLD ประธานาธิบดีวินมิ่น และ ดร.เมียวอ่อง นายกเทศมนตรีกรุงเนปิดอ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ขณะที่ไปให้การที่ศาลกรุงเนปิดอ ถือเป็นภาพของอองซาน ซูจี ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/pundop

ในปี 2016 พรรค National League for Democracy (NLD) ของนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ผู้นำทหารตกอยู่ในสภาพที่ต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่เคยเป็นศัตรูเก่าแก่ทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ กองทัพเมียนมาเป็นฝ่ายแต่งตั้ง 3 รัฐมนตรี คือกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน และแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 4 แต่ชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลพรรค NLD สามารถผ่านกฎหมายใดก็ได้ มีอำนาจควบคุมงบประมาณ และดำเนินนโยบายอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง

ในสมัยของรัฐบาลพรรค NLD จีนเสนอการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ที่เชื่อมโยงมณฑลยูนานมาถึงอ่าวเบงกอล

หลังจากนั้น ก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลกระทบมากที่สุดคือการล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการสะดุดลงของการค้ากับต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเมียนมาร์ตกต่ำอย่างหนัก

จากการสำรวจในเดือนตุลาคม 2020 ประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1.90 ดอลลาร์ เพิ่มจาก 16% เป็น 63% และประชาชน 1 ใน 3 บอกว่า ไม่มีรายได้เลย

เพจ 36 Myanmar เผยแพร่ภาพพร้อมคำบรรยายสั้นๆว่า…
“เหล่าผู้อาวุโสกับเด็กน้อย ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในรัฐกะยา” ในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มาภาพ :เพจ 36 Myanmar
https://www.facebook.com/1318701914918671/posts/3937203809735122/?d=n

เมียนมาที่เป็นรัฐล้มเหลว

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจ โดยบอกว่าไม่ใช่รัฐประหาร แต่เป็นการดำเนินการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามรัฐธรรมนูญ นายพลอาวุโส มินอ่องหล่าย คิดว่าการยึดอำนาจจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่กองทัพเมียนมาคิดผิด เพราะอ่านอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนผิดพลาด รัฐประหารกลายเป็นปัจจัยที่ไปปลดปล่อยพลังการต่อต้านขึ้นมา

การต่อต้านรัฐประหารของประชาชนเมียนมามีลักษณะที่เกิดขึ้นเอง เพราะทุกคนต้องการแสดงอารมณ์ไม่พอใจบางอย่างออกมา ภายในไม่กี่วันคนนับแสนๆ ออกมาเดินขบวนบนถนนเรียกร้องให้รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งกลับคืนมา ให้ปล่อยนางอองซาน ซูจี เกิดขบวนการขัดขืนทางสังคมขึ้นมา เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทิ้งงานตามโรงพยาบาล

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า การพังทลายของเศรษฐกิจคือสิ่งที่จะทำให้เมียนมากลายเป็น “รัฐล้มเหลว” อุตสาหกรรมที่คนทั่วไปอาศัยเป็นแหล่งรายได้ เช่น การท่องเที่ยว ก็พังทลายลง รวมทั้งรายได้จากการส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ที่ในปี 2019 เป็นมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ อุตสาหกรรมสิ่งทอที่จ้างงานนับล้านคน ต้องหยุดการผลิต เพราะการสั่งซื้อจากยุโรปหายไป

คนเมียนมาจะได้รับความยากลำบากอย่างมากจากการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ องค์การพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) คาดว่า ใน 6 เดือนข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของประชากร 55 ล้านคน จะกลับไปมีชีวิตที่ยากจน

โครงการ World Food Program ของสหประชาชาติก็คาดว่า ชาวเมียนมา 3.5 ล้านคนจะเผชิญความอดอยาก ยารักษาโรคจะขาดแคลนอย่างมาก คนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือชาวบ้านในชนบทที่ไม่มีที่ดินทำกิน ชาวนาที่ทำไร่บนที่สูง คนงานอพยพ คนพลัดถิ่นในประเทศ และพวกโรฮิงญา

เมียนมาที่กลายเป็นรัฐล้มเหลว จะมีสภาพที่กองทัพสามารถควบคุมเมืองต่างๆ และที่ราบตามลุ่มแม่น้ำอิรวดี แต่จะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ทั้งหมด เพราะจะมีการต่อสู้ด้วยอาวุธที่กระจายออกไป การหยุดงานประท้วงคงจะสิ้นสุดลง แต่คนนับล้านๆ คน ยังไม่มีงานทำ คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน

ส่วนพวกกองกำลังอาวุธต่างๆ จะหันไปร่วมมือมากขึ้นกับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ และการทำธุรกิจผิดกฎหมาย จะขยายตัวมากขึ้น เมียนมาจะกลายเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรค อาชญากรรม และการทำลายล้างธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

แต่อนาคตของเมียนมาก็ไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดโดยปัจจัยทางประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ ที่จะต้องเดินไปสู่หนทางที่มืดมน สิ่งที่เกิดขึ้นนับจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวของประเทศนี้มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เมียนมาเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่สงบสันติและรุ่งเรือง ซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างชัดเชนของคนเมียนมา

เอกสารประกอบ
They Call It “Insane”: Where Myanmar Sends Political Prisoners, May 29, 2021, nytimes.com
Myanmar’s Coming Revolution, Thant Myint-U, July-August 2021, foreignaffairs.com