ThaiPublica > สู่อาเซียน > “รัฐบาลเงา”ของเมียนมา

“รัฐบาลเงา”ของเมียนมา

21 เมษายน 2021


รายงานโดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

ภาพปกของเพจ National Unity Government of Myanmar (จากซ้าย) ดู่หว่า ละชี ละ, อองซาน ซูจี, ประธานาธิบดีวิน มิ่น และนายกรัฐมนตรี มาน วิน ข่าย ตาน

บ่ายวันศุกร์ที่ 16 เมษายน 2564 คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา (CRPH) ซึ่งเล่นบทรัฐบาลคู่ขนานมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในกุมภาพันธ์ ได้ประกาศตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ขึ้น

NUG จะทำหน้าที่รัฐบาลเงา ประกอบด้วยบุคลากร 26 คน มีประธานาธิบดี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและรองรัฐมนตรี 11 กระทรวง อีก 22 คน

CRPH ต้องการให้นานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศรับรองรัฐบาลเงาชุดนี้ ให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ของเมียนมาอย่างเป็นทางการ และให้คว่ำบาตรสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (SAC) ที่ตั้งขึ้นมาโดยกองทัพเมียนมา ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย และเป็นองค์กรนอกกฎหมาย

การประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24 เมษายน 2564 CRPH เรียกร้องให้อาเซียนเชิญตัวแทนจาก NUG เข้าร่วมประชุมแทนที่จะเป็น พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ประธาน SAC

NUG ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยอ้างอำนาจตามธรรมนูญสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Federal Democracy Charter) ที่ CRPH ได้ประกาศใช้แทนรัฐธรรมนูญเมียนมา ฉบับปี 2008 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยในวันที่ 16 เมษายน 2564 CRPH ได้ออกประกาศ 2 ฉบับ ฉบับแรก เป็นประกาศเลขที่ 23/2021 รายชื่อบุคคลในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และฉบับที่ 24/2021 รายชื่อรองรัฐมนตรี 12 ตำแหน่ง

CRPH พยายามอธิบายว่า โครงสร้างของ NUG เป็นการผสมผสานกันของกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย ทั้งในด้านวิชาชีพ ความสามารถ ประสบการณ์ และที่สำคัญที่สุด คือ “ชาติพันธุ์”

ประกาศฉบับที่ 23/2021 รายชื่อบุคคลในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามีประชากรรวม 54 ล้านคน ประกอบด้วยคนจาก 135 ชาติพันธุ์ แต่มีคนชาติพันธุ์พันธุ์ “พม่า” เป็นประชากรส่วนใหญ่ และใช้ “ภาษาพม่า” เป็นภาษาทางการ

ในโครงสร้างการปกครองของเมียนมา แบ่งเป็น 7 รัฐชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ฉาน, คะฉิ่น, กะเหรี่ยง, กะยา (กะเหรี่ยงแดง), มอญ, ชิน และยะไข่ กับอีก 7 ภาค คือ ย่างกุ้ง, พะโค, อิรวดี, ตะนาวศรี, มะกวย, สะกาย และมัณฑะเลย์ มีกรุงเนปิดอ ในฐานะเมืองหลวง เป็นเขตปกครองพิเศษ

รัฐธรรมนูญปี 2008 ของเมียนมา ยังได้ให้การรับรองพื้นที่และเขตปกครองตนเองอีก 6 แห่ง ได้แก่

  • พื้นที่ปกครองตนเองนาคา ในภาคสะกาย
  • พื้นที่ปกครองตนเองโกก้าง
  • พื้นที่ปกครองตนเองธนุ
  • พื้นที่ปกครองตนเองปะหล่อง (ตะอั้ง)
  • พื้นที่ปกครองตนเองปะโอ
  • เขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า

นอกจากนี้ยังมีเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหมือนอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก แม้ไม่มีชื่อถูกรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2008 แต่ในทางปฏิบัติเป็นพื้นที่ปกครองตนเองของชาวลื้อ และมีกองทัพเป็นของตนเอง ทั้งโกก้าง ธนุ ปะหล่อง ปะโอ ว้า และเมืองลา อยู่ในรัฐฉานทั้งหมด

ความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องทุกภาคส่วนให้สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

เมื่อได้สืบค้นข้อมูลตัวบุคคล 26 คน ที่ได้มารวมเข้าเป็น NUG พออธิบายภาพกว้างๆ ได้ดังนี้

26 คน ใน NUG ไม่มีผู้ใดที่มาจากกองทัพพม่า (Tatmadaw) โดยตรง แทบทั้งหมดเป็นนักการเมือง หรือเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พรรคหรือกลุ่มการเมืองที่คนเหล่านี้สังกัด คือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มีอองซาน ซูจี เป็นผู้นำ หรือไม่ก็เป็นพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่เป็นพันธมิตร หรือเป็นแนวร่วมกับ NLD ในการต่อต้านกองทัพพม่า

ใน 26 คน มีอย่างน้อย 4 คน เป็นแพทย์

เมื่อแยกตามกลุ่มชาติพันธุ์ หากเทียบกับชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในเมียนมาทั้งหมด 135 ชาติพันธุ์แล้ว บุคคลใน NUG อาจดูกระจุกตัวอยู่กับชาติพันธุ์เพียงไม่กี่กลุ่ม โดยใน 26 คนนี้ เป็นชาวพม่ามากที่สุด 11 คน ที่เหลือเป็น

  • ชาวกะเหรี่ยง 3 คน
  • ชาวกะเหรี่ยงแดง 3 คน
  • ชาวคะฉิ่น 3 คน
  • ชาวชิน 2 คน
  • ชาวมอญ 2 คน
  • ชาวตะอั้ง 1 คน
  • มี 1 คน ที่ข้อมูลเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของเธอที่ปรากฏออกมา มีความขัดแย้งกันเอง

ใน 6 ชาติพันธุ์ (ยกเว้นพม่า) ที่มาร่วมอยู่ใน NUG มี 2 ชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังติดอาวุธขนาดใหญ่ และกำลังสู้รบอยู่กับกองทัพพม่าอย่างหนักและต่อเนื่อง คือคะฉิ่น ที่มีกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army: KIA) และกะเหรี่ยง ซึ่งมีกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army: KNLA) เป็นกองทัพของตน

ส่วนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่อื่นๆ อย่างกองทัพอาระกัน (AA) กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) หรือกองทัพสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) ไม่มีตัวแทนเข้าร่วมอยู่ใน NUG

ช่วงค่ำของวันศุกร์ที่ 16 เมษายน หลัง CRPH เพิ่งประกาศตั้ง NUG ออกมาเมื่อตอนบ่าย พล.อ. ทุน เมียต ไหน่ ผู้บัญชาการ กองทัพอาระกัน (AA) ได้ทวีตข้อความที่มีเนื้อหาโดยสรุปได้ว่า CRPH ได้ส่งเทียบเชิญให้เขาเข้าร่วม NUG แล้ว แต่เขาได้ปฏิเสธ

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ในวันที่ 10 เมษายน พล.อ. ทุน เมียต ไหน่ ได้เขียนสาสน์ในภาษาอาระกัน ในโอกาสครบรอบ 12 ปี ของการก่อตั้งกองทัพอาระกัน ระบุว่าเขาไม่ต้องการให้ในรัฐยะไข่มีปฏิบัติการอารยะขัดขืนโดยการหยุดงาน (CDM) หรือการออกมาเดินขบวนประท้วงการรัฐประหารบนท้องถนน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำลายเป้าหมายของกองทัพอาระกันที่ต้องการสร้างเอกราชให้กับรัฐยะไข่

พล.อ. ทุน เมียต ไหน่ เขียนว่ากองทัพอาระกันพร้อมให้การสนับสนุนทุกชาติพันธุ์ในเมียนมา แม้แต่คนพม่า ให้บรรลุถึงเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง อย่างไรก็ตาม ชาวยะไข่มีเป้าหมายของตนเองที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเรียกว่า “Way of Rakhita” หรือความฝันของชาวยะไข่ นั่นคือการสร้างอาณาจักรอาระกันซึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีตให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ประกาศฉบับที่ 24/2021 รายชื่อรองรัฐมนตรี 12 ตำแหน่ง

สำหรับผู้ที่อยู่ใน NUG แยกตามรายบุคคล เท่าที่ได้สืบค้นข้อมูลมา มีรายละเอียดพอสรุปได้ดังนี้

  • อู วิน มิ่น ประธานาธิบดี
  • อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ
  • ทั้งคู่เป็นชาวพม่า และอยู่ในตำแหน่งเดิมที่เคยดำรงมาในรัฐบาลชุดที่ถูกรัฐประหาร และปัจจุบันทั้งคู่อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยคณะรัฐประหาร ที่สำคัญ ข้อมูลของทั้งคู่ได้ถูกเผยแพร่ออกมาต่อสาธารณะเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว จึงไม่ขอกล่าวถึง

    ดู่หว่า ละชี ละ รองประธานาธิบดี ชาวคะฉิ่น ของรัฐบาลเงา
  • ดู่หว่า ละชี ละ (Duwa Lashi La) รองประธานาธิบดี เป็นชาวคะฉิ่น ข้อมูลเท่าที่ค้นได้พบว่าเคยเป็นอดีตประธาน Kachin National Consultative Assembly (WMR)
  • มาน วิน ข่าย ตาน (Mahn Win Khaing Than) นายกรัฐมนตรี เป็นชาวกะเหรี่ยง เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2505 อดีตประธานสภาชาติพันธุ์ (Amyotha Hluttaw) หรือสภาสูงจากพรรค NLD ในรัฐบาลชุดที่แล้ว
  • มาน วิน ข่าย ตาน นายกรัฐมนตรี (ภาพสมัยยังเป็นประธานสภาสูง)
  • ดอ สิ่น หม่า อ่อง (Daw Zin Mar Aung) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นชาวพม่า เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2519 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Pyithu Hluttaw) หรือ ส.ส. สังกัดพรรค NLD จากเขตยานขิ่น กรุงย่างกุ้ง จบปริญญาตรีด้านพฤกษศาสตร์ จาก University of Distance Education กรุงย่างกุ้ง
  • อู โม ส่อ อู (U Moe Zaw Oo) รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ชาวพม่า เป็นมือทำงานให้กับอองซาน ซูจี โดยเป็นกรรมการในมูลนิธิ ดอ ขิ่น จี ที่อองซาน ซูจี ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่มารดาของเธอ (ดอ ขิ่น จี เป็นมารดาของอองซาน ซูจี) อู โม ส่อ อู ยังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสันติภาพที่ซูจีตั้งขึ้นมาในช่วงที่เป็นรัฐบาล เพื่อเจรจากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ รวมถึงได้เป็นคณะทำงานเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ของกองกำลังชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่มเมื่อปีที่แล้ว
  • อู ลวิน โก ลัต (U Lwin Ko Latt) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและตรวจคนเข้าเมือง เป็นชาวพม่า เกิดวันที่ 20 มกราคม 2519 เป็นอดีต ส.ส. พรรค NLD จากเขตตานลยิน (สิเรียม) กรุงย่างกุ้ง ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2558
  • คู แท บู (Khu Hte Bu) รองรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและตรวจคนเข้าเมือง เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง และเป็นกรรมการบริหารของ Karenni National Progressive Party พรรคการเมืองของชาวกะเหรี่ยงแดง ในรัฐกะยา
  • อู หยี่ มูน (U Yee Mon) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อู หยี่ มูน หรือหม่อง ติน ติท กวีชาวพม่า อดีตนักศึกษาแพทย์ที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ใน เหตุการณ์ 8888 และถูกจับกุมเป็นนักโทษการเมืองอยู่ 7 ปี ก่อนออกมาเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เคยลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ในกรุงเนปิดอ เมื่อปี 2558 ในนามพรรค NLD แต่พ่ายแพ้ไปอย่างเฉียดฉิว
  • ดอ ขิ่น มะ มะ เมียว (Daw Khin Ma Ma Myo) รองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นชาวพม่า อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ใน University of Yangon เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร Myanmar Institute of Peace and Security Studies รวมถึงมีผลงานทางวิชาการอีกจำนวนมาก
  • นาย กอง รอต (Nai Kao Rot) รองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นชาวมอญ อดีตนายทหารระดับนายพัน จากกองทัพพรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party: NMSP) และเคยเป็นผู้ว่าการเมืองสะเทิม ในรัฐมอญ
  • ดร.ลยาน โมง ส่าคอง (Dr.Lian Hmung Sakhong) รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสหพันธรัฐสหภาพ เป็นชาวชิน และเป็นรองประธาน Chin National Front (CNF) องค์กรการเมืองของรัฐชิน ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1988
  • อู ชิด ทูน (U Chit Tun) รองรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสหพันธรัฐสหภาพ เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง สมาชิก Karenni National People’s Liberation Front (KNPLF) กองกำลังติดอาวุธของชาวกะเหรี่ยงแดงในรัฐกะยา
  • มาย วิน ทู (Maing Win Htoo) รองรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสหพันธรัฐสหภาพ เป็นชาวปะหล่อง (หรืออีกชื่อหนึ่งคือตะอั้ง) อดีต ส.ส. สังกัด Ta’ang National Party จากเมืองน้ำสั่น เขตปกครองตนเองปะหล่อง ในภาคเหนือของรัฐฉาน
  • อู ติ่น ทูน ไหน่ (U Tin Tun Naing) รัฐมนตรีกระทรวงวางแผน การคลัง และการลงทุน เป็นชาวพม่า เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2514 ที่เมืองมยินจาน ภาคมัณฑะเลย์ เรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้า จาก Mandalay Technological University และ XMBA จาก Yangon University of Economics อดีต ส.ส. พรรค NLD จากเขตเซะจี ขะนองโต ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำย่างกุ้ง จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2558
  • มิน เซยา อู (Min Zayar Oo) รองรัฐมนตรีกระทรวงกระทรวงวางแผน การคลัง และการลงทุน เป็นชาวมอญ สมาชิก Mon Unity Party (MUP) พรรคการเมืองเพียง 1 เดียว ของชาวมอญในเมียนมา
  • ดร.วิน เมียต เอ (Dr.Win Myat Aye) รัฐมนตรีกระทรวงกิจการมนุษยธรรมและจัดการภัยพิบัติ เป็นชาวพม่า เกิดวันที่ 1 มิถุนายน 2497 ที่เมืองปยูนตาส่า ภาคพะโค เรียนจบจาก University of Medicine 1 กรุงย่างกุ้ง และเคยเป็นสมาชิกสภาสูง สังกัดพรรค NLD จากเขตเลือกตั้งที่ 4 ภาคพะโค
  • หน่อ ทู ผ่อ (Naw Htoo Phaw) รองรัฐมนตรีกระทรวงกิจการมนุษยธรรมและจัดการภัยพิบัติ เป็นชาวกะเหรี่ยง ยังค้นไม่พบข้อมูลประวัติบุคคลที่สามารถยืนยันได้
  • ดร.ส่าส่า (ขวา) ก่อนถูกตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ ใน NUG เขาเป็นทูตพิเศษของ CRPH ในสหประชาชาติ ทำหน้าที่เหมือนโฆษกของ CRPH ในภาพ ดร.ส่าส่าถ่ายรูปคู่กับ Pu Zoramthanga มุขมนตรีรัฐมิโซรัม ของอินเดีย ซึ่งมีพื้นที่ติดกับรัฐชิน ดร.ส่าส่า โพสต์ภาพนี้ในเพจส่วนตัวของเขา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ขอบคุณรัฐมิโซรัม ที่อยู่เคียงข้างชาวเมียนมาในการต่อต้านรัฐประหาร
  • ดร.ส่าส่า (Dr.Sa Sa) รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นแพทย์ชาวชิน เคยทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งของพรรค NLD ในรัฐชิน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ดร.ส่าส่า มีชื่อภาษาพม่าว่า “สะไล หม่อง ไต่ ซาน” เกิดเมื่อปี 2523 ในเขตไหล่ลินบี่ รัฐชินดร.ส่าส่านับถือศาสนาคริสต์ หลังเรียนจบระดับมัธยมในย่างกุ้งแล้ว ได้ไปเรียนต่อที่ Shillong College ในอินเดีย และจบแพทย์จาก Yerevan State Medical University ในอังกฤษ เมื่อกลับมาได้ก่อตั้ง Helth & Hope องค์กรที่ทำกิจกรรมด้านสาธารณสุขของชุมชนชาวคริสต์ ในรัฐชิน ก่อนเบนเข็มมาเล่นการเมือง
  • ดร.ส่อ เหว่ โซ (Dr.Zaw Wai Soe) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ควบรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เป็นศัลยแพทย์กระดูกชาวพม่า เกิดเมื่อปี 2505 จบแพทย์จาก University of Medicine 2 กรุงย่างกุ้ง เมื่อปี 2529 มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกรุงย่างกุ้ง ช่วงปี 2563
  • จา ทวย ป่าน (Ja Htoi Pan) รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นชาวคะฉิ่น ยังค้นไม่พบข้อมูลประวัติบุคคลที่สามารถยืนยันได้
  • ดร.ฉ่วย โป่ง (Dr.Shwe Pon) รองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เป็นชาวพม่า อดีต ส.ส. พรรค NLD จากภาคพะโค
  • ดร.ตู คอง (Dr.Too Khaung) รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นชาวคะฉิ่น ยังค้นไม่พบข้อมูลประวัติบุคคลที่สามารถยืนยันได้
  • ขุน บีดู (Khun Bedu) รองรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐกะยา ในนามกลุ่ม Kayan New Generation Youth เคยถูกกองทัพพม่าจับติดคุกระหว่างปี 2551-2555 ในข้อหาต่อต้านรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2008 จากนั้นจึงเข้าสู่การเมืองในฐานะสมาชิกพรรค Kayan National Party

    ข้อมูลที่หาได้ในอินเทอร์เน็ตล้วนระบุว่า ขุน บีดู เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง แต่มีข้อสังเกตตรงชื่อที่ใช้คำนำหน้าว่า “ขุน” ซึ่งเป็นคำนำหน้านามของชายที่เป็นชาติพันธุ์ปะโอ อีกทั้งรัฐกะยาก็มีพื้นที่บางส่วนที่คาบเกี่ยว ทับซ้อนกับเขตปกครองตนเองปะโอในรัฐฉาน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าขุน บีดู อาจมีเชื้อสายปะโอด้วย

  • หน่อ ซูซานนา ละ ละ โซ (Naw Susanna Hla Hla Soe) รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสตรี เยาชน และเด็ก เป็นชาวกะเหรี่ยงที่เกิดในย่านอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง เรียนจบด้านสัตวศาสตร์ (Zoology) จาก Yangon University จากนั้นได้เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์เด็กและสตรีจาก Karen Women Empowerment Group และเคยทำงานให้กับ NGO ของคริสตจักรอย่างองค์กร World Vision ด้วย
  • อิ ตินส่า หม่อง อายุเพิ่งย่าง 27 ปี เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดใน NUG
  • อิ ตินส่า หม่อง (Ei Thinzar Maung) รองรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสตรี เยาวชนและเด็ก เป็นรัฐมนตรีที่คุ้นหน้าคุ้นตาของผู้ที่ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวการรัฐประหารในเมียนมา เพราะอิ ตินส่า หม่อง เป็นเด็กสาวที่ได้ออกมานำการเคลื่อนไหวประท้วงในกรุงย่างกุ้ง และสื่อจำนวนมาก นำเสนอภาพของเธอ

    อิ ตินส่า หม่อง เป็นรัฐมนตรีใน NUG ที่มีอายุน้อยที่สุด เธอเกิดวันที่ 11 กันยายน 2537 ปัจจุบันอายุเพิ่งย่าง 27 ปี เรียนจบด้านภาษาต่างประเทศจาก Mandalay University

    อิ ตินส่า หม่อง เคยถูกจับติดคุก ในภาคพะโค เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 เพราะเป็นแกนนำประท้วงกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ในสมัยประธานาธิบดีเตง เส่ง

    สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) เคย บันทึกประวัติของของอิ ตินส่า หม่องในปีที่เธอถูกจับว่า อิ ตินส่า หม่อง เป็นชาวพม่า

    แต่เมื่อเธอได้เดินนำขบวนเหล่าพนักงานจากโรงงานสิ่งทอที่ออกมาประท้วงบนท้องถนนในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ หลัง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เพิ่งทำรัฐประหารได้ไม่กี่วัน อิ ตินส่า หม่อง สวมเสื้อผ้าของชาวกะเหรี่ยง ทำให้สื่อหลายสำนักบันทึกประวัติของเธอว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงแดง

    อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เว็บไซต์ Women in Journalism ได้ลงบทสัมภาษณ์ อิ ตินส่า หม่อง มีเนื้อหาช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ได้เขียนถึงเธอว่าเป็นชาวคะฉิ่น

  • อิ ตินส่า หม่อง (คนขวา) เมื่อครั้งนำขบวนกลุ่มพนักงานหญิงโรงงานทอผ้าในกรุงย่างกุ้งประท้วงรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เธอสวมเสื้อของชาวกะเหรี่ยง ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเธอเป็นชาวกะเหรี่ยงแดง

    กลุ่มบุคคลเหล่านี้ คือผู้ที่จะพยายามขับเคลื่อน นำหน้าเรียกร้องให้เมียนมาหลุดออกจากการปกครองของทหาร