ThaiPublica > คอลัมน์ > สู้เค้าสิวะอีหญิง

สู้เค้าสิวะอีหญิง

2 กรกฎาคม 2023


1721955

มาสบาย ๆ กันบ้างดีกว่าสำหรับบทความนี้ ที่ไอเดียตั้งต้นเราแค่อยากแนะนำซีรีส์เกาหลีหญิ๊งหญิง ที่เผอิญออนแอร์และสตรีมมิ่งในช่วงนี้ ไปสู่ความสงสัยว่าเออนะ ซีรีส์เกาหลีช่วงนี้มีความคึกคักอย่างมาก โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของตัวละครหญิง มาสู่การเป็นตัวละครนำ เป็นนางแบกของเรื่องที่มีมุมมองแบบผู้หญิงต่างจากช่วงทศวรรษก่อนอย่างชัดเจน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในซีรีส์เกาหลีที่ฮิตสุด ๆ ในปีที่ผ่านมาคือ Extraordinary Attorney Woo ที่เล่าความพยายามของทนายหญิงออทิสติก อู ยอง-อู ที่ใช้ไหวพริบในการเอาชนะคดีความด้วยหัวใจอันละเอียดอ่อนของเธอ ที่ในที่สุดตัวละครนี้ก็พาให้ พัค อึน-บิน คว้าแดซังรางวัลเกียรติยศสูงสุดจากเวที Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 59

(จากซ้าย) ซอง ฮเย-คโย, พัค อึน-บิน, อิม จี-ยอน

อันเป็นรางวัลสูงสุดที่มอบให้กับ ซีรีส์ หรือหนัง หรือนักแสดง หรือแม้แต่ทีมงานเบื้องหลังอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงคนเดียวหรือเรื่องเดียว แต่เรื่องนั้นหรือบุคคลนั้นต้องได้รับความนิยมสูงสุด หรือแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นพยายามในสาขาอาชีพของตนเองอย่างแท้จริงในปีนั้น ๆ
ซึ่งหากวิเคราะห์เฉพาะในส่วนของรางวัลแดซังย้อนหลังลงไป 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2020 คือ ซีรีส์ When the Camellia Blooms, ปี 2021 ยู แจ-ซุก พิธีกรรายการวาไรตี้, ปี 2022 ซีรีส์ Squid Game จะพบว่าปี 2023 เป็นการมอบรางวัลสูงสุดให้กับนักแสดงหญิงที่คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ นี่ยังไม่นับว่าในปีเดียวกัน The Gloryที่มีนักแสดงหญิงเป็นศูนย์กลางของเรื่อง นอกจากจะคว้าซีรีส์ยอดเยี่ยมแล้ว ทั้งตัวนางเอก ซอง ฮเย-คโย และตัวนางร้าย อิม จี-ยอน ยังคว้ารางวัลยอดเยี่ยมพร้อมกันทั้งคู่อีกด้วย

(จากซ้าย) Our Blues, Under the Queen’s Umbrella, Little Women

หญิงแกร่งในบทบาทอันหลากหลาย

ปีที่แล้วหลายเครือข่ายทีวีมีการเผยว่ามีตัวละครหญิงเป็นตัวนำในซีรีส์ของแต่ละช่องมากกว่า 53% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วง 5 ปีก่อนคือจากอยู่ที่ราว 40% แจ็คเกล็น คิม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของช่องสตรีมมิ่ง ENA ผู้สร้าง Extraordinary Attorney Woo กล่าวว่า “เดี๋ยวนี้จำนวนนางเอกในโทรทัศน์ของเกาหลีมีค่อนข้างสูง…ไม่เพียงแต่ผู้หญิงจะถูกมองเห็นมากขึ้นเท่านั้น แต่พวกเธอยังได้รับบทบาทที่มีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย” คิมกล่าวเสริม “คาแร็คเตอร์โมเอะงุงิตะมุตะมิแหวว ๆ ที่เคยครองตลาดมาก่อนค่อย ๆ หายไป นับเฉพาะแค่ปี 2022 เพียงปีเดียว มีตัวละครหญิงที่มีบทบาทหลากหลายขึ้นตั้งแต่ราชินีหญิงฉลาดเฉลียว ใน Under the Queen’s Umbrella ไปจนถึงนักข่าวหัวรั้น Little Women

“หรืออย่าง Our Blues ที่นำเสนอตัวละครหญิงแกร่งหลายคน ไม่ว่าจะหัวหน้าชาวประมงผู้มั่งคั่ง นักดำน้ำลึกหญิงที่มีอายุมากกว่าคนอื่นบนเกาะเซจู ไปจนถึงเด็กมัธยมหญิงหัวดื้อที่ขัดคำสั่งพ่อแม่ด้วยการเป็นคุณแม่วัยใส เป็นสิ่งเกินคาดที่ถ้าเรื่องแบบนี้ถูกเล่าเมื่อทศวรรษที่แล้ว อาจไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม”

อย่างไรก็ตามคิมยังเสริมด้วยว่า “ในชีวิตจริง ผู้หญิงของเกาหลีใต้เผชิญกับอุปสรรคสำคัญต่อความเท่าเทียม และปัญหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ทัศนคติเหมารวมทางเพศที่ล้าสมัย และรูปแบบอื่น ๆ ของการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานที่มีผู้ชายเป็นใหญ่” World Economic Forum มีรายงานดัชนีชี้วัดว่าเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 99 จาก 146 ประเทศที่มีช่องว่างระหว่างเพศชายและหญิง จากทั่วโลก ในปี 2022 อีกทั้ง Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ยังเผยด้วยว่า ผู้หญิงเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายอยู่ 31.1% ขณะเดียวกัน ในขณะเดียวกันปัญหาในสตรียังคงเป็นประเด็นที่มีความเห็นทางสังคมแตกแยกต่างกันหลากหลายเป็นอย่างมาก

การเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เพิ่มเป็นอย่างมากขึ้นจนเห็นได้ชัดในซีรีส์เกาหลีนี้ สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงภายในสังคมเกาหลีจริงหรือ หรือเป็นเพียงการแสดงความคาดหวังของสังคม หรือเพียงแค่เป็นการแสดงความพยายามของฝ่ายผลิตเท่านั้นในการตัดสินผู้ชมเพศหญิง หรือง่าย ๆ ว่าก็แค่ทำเนื้อหาเอาใจผู้หญิงอันเป็นกลุ่มคนดูหลักของรายการประเภทซีรีส์ แต่ในชีวิตจริงพวกเธอไม่สามารถขืนสู้ต่อเพศชายได้เลยในทุกแง่มุม หรือจริง ๆ แล้วเป็นแค่แฟนตาซีปลอบประโลมใจผู้หญิงก็เท่านั้น

ขึ้นอยู่กับมุมมองของใครของมัน

ตลอดช่วงทศวรรษที่ 90 และต้นทศวรรษที่ 2000 การเหยียดเพศอย่างโจ่งแจ้งและแม้กระทั่งฉากตบตีจิกกบาลความรุนแรงต่าง ๆ ภายในครอบครัวสามารถพบเห็นได้ทางโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ ตามคำบอกเล่าของ พัค ซัง-อึน ผู้อำนวยการสร้างของค่ายละครสตูดิโอ LuluLala เธออ้างถึงละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศยาวนานที่สุดของประเทศ (1,088 ตอน) เรื่อง Country Diaries ที่ออกอากาศตั้งแต่ปี 1980 ถึง 2002 และมีฉากของตัวละครหญิงที่ถูกสามีทุบตีมาตลอดทุกซีซั่น

ในช่วงครึ่งหลังของยุค 2000 เมื่อแนวโรแมนติกคอมมิดี้กำลังฮิต ก็มักจะเป็นการจับคู่ผู้หญิงยากจนกับผู้ชายร่ำรวย ไม่ว่าจะเป็น My Lovely Sam Soon (2005), Coffee Prince (2007) และ Boys Over Flowers ​​(2009) ในเวลานั้นละครเหล่านี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก จากการท้าทายจารีตของเพศหญิงในสังคมที่ไม่จำเป็นต้องนุ่มนิ่ม ยอมอ่อนข้อให้ผู้ชายอีกต่อไป แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังถูกกรอบคิดให้เชื่อว่า หนทางสู่ความสุขของหญิงทั้งหลายคือ…จงมีผัวรวย

พัค ผู้เข้าสู่แวดวงทีวีตั้งแต่ปี 1999 ตอนนั้นเธออยู่ช่อง MBC เธอกล่าวว่า “สมัยนั้นผู้หญิงถูกคาดหวังให้แต่งานตอนอายุไม่เกิน 30 ปี อย่าง One of the Pair (1994) นางเอกแต่งงานตอนอายุ 26 ส่วน My Lovely Sam Soon (2005) ที่เล่าถึงหญิงสาววัย 29 อันคนเกาหลีถือว่าเป็นปีสุดท้ายที่สามารถจะหาสามีได้ แต่หากเทียบกับซีรีส์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่ผู้หญิงเกาหลีแต่งงานน้อยลง และมีลูกน้อยลง หรือล่วงวัย 30 ปีไปแล้วยังไม่มีสามี ในขณะที่รัฐบาลทำงานอย่างหนักเพื่อจะเพิ่มอัตราการเกิดที่ลดฮวบลงจนเป็นวิกฤติด้านประชากรศาสตร์”

“ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่ผู้หญิงวัยแต่งงานจะมีอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีคำว่า ‘บิฮอน’ สำหรับผู้หญิงที่พึงพอใจกับการอยู่เป็นโสด หรือใช้ชีวิตคู่โดยไม่ต้องการแต่งงานเพิ่มขึ้นด้วย” พัคกล่าว “ผู้คนจำนวนมากเข้าใจแล้วรับรู้แล้วด้วยว่าการแต่งงานเป็นทางเลือกของแต่ละบุคคล ดังนั้นคนดูจะพบว่าตัวละครหญิงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ใส่ใจเรื่องการแต่งงานจริง ๆ มีน้อยลงทุกที”

เมื่อการแต่งงานไม่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับเรื่องราวที่จะต้องจบลงอย่างมีความสุข ตัวละครหญิงจึงสามารถมีทางออกอันหลากหลายให้กับตัวเองได้มากขึ้น มิเชลล์ โช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต กล่าวว่า “เรื่องเล่าโรแมนติกในละครเกาหลีจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองและมิตรภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ในอดีต มีประเภทตัวละครและลักษณะเฉพาะค่อนข้างตายตัว เช่น นางเอกชนชั้นแรงงานผู้กล้าหาญได้พบรักกับชายมั่งคั่ง” เธอเสริมด้วยว่า “ตัวอย่าง Crash Landing on You ที่ประสบความสำเร็จสุด ๆ สุดท้ายเธอในบทบาทของ CEO บริษัทที่ประสบความสำเร็จสุด ๆ ที่แม้จะเลือกหน้าที่การงาน แต่ก็ยังรักษาความรักเอาไว้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องแต่งงานกันอย่างเปิดเผย” โช อธิบาย

“การแต่งงานไม่ใช่เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตหญิงสาวอีกต่อไป”

อาจเป็นเพราะพลังเฟมินิสต์

มาถึงตรงนี้ทุกความเห็นเป็นเอกฉันท์เห็นพ้องต้องกันว่าเคดราม่าเปลี่ยนไปแล้ว(ในทางที่ดีขึ้น) ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังบอกด้วยว่าแม้แต่ในทีมเบื้องหลังเอง ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระดับบริหารของฝ่ายการผลิต มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น การมีส่วนร่วมมากขึ้นของผู้หญิงในระดับกำลังแรงงาน มีข้อมูลจากสหภาพนักเขียนบทโทรทัศน์ในเกาหลีปี 2018 พบว่า นักเขียนบทโทรทัศน์เป็นผู้หญิงมากถึง 94.6% ไปจนถึงรูปแบบครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม และการเข้าถึงได้ง่ายของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้หญิงสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทีวีรายการต่าง ๆ ได้มากขึ้น เฟมินิสต์หลายคนต่างก็ชี้ไปที่ประเด็นสตรีนิยมระลอกล่าสุด

ระลอกนี้เริ่มต้นในปี 2016 เมื่อเกิดการฆาตกรรมผู้หญิงอย่างโหดเหี้ยม ในห้องน้ำในเขตกังนัมของกรุงโซลได้จุดชนวนการเคลื่อนไหวที่ได้รับการอธิบายว่าเป็น “การรีบูตสตรีนิยม” ของเกาหลีใต้ นอกจากนี้แรงผลักดันจากการเคลื่อนไหว #MeToo ทั่วโลก นำไปสู่การประท้วงที่รุนแรงหลายพันครั้งความแตกแยกทางการเมือง และการต่อต้านจากการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ชาย (เมื่อปีที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ชายร่วมกันสนับสนุนประธานาธิบดีคนล่าสุด ยุน ซ็อก-ย็อล ผู้มีนโยบายต่อต้านสตรีนิยม อันส่วนหนึ่งมาจากการที่ซีรีส์เกาหลีเอนใจเข้าข้างเพศหญิงและให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในซีรีส์มากเกินไป อ่านเพิ่มเติมที่นี่ )

ฮวาง จิน-มี นักวิจารณ์วัฒนธรรมป๊อปกล่าวว่า “ตอนนิยาย Kim Ji-young, Born 1982 วางจำหน่ายเมื่อปี 2016 (ปีที่เกิดฆาตกรรมผู้หญิงอย่างโหดเหี้ยมในห้องน้ำย่านกังนัม) อันเป็นหนังสือเกี่ยวกับแม่บ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า การถูกกีดกันทางเพศ และความไม่เท่าเทียมของสังคมเกาหลี หนังสือเล่มนี้ติดอันดับขายดีในทันทีพร้อม ๆ กับถูกดัดแปลงเป็นหนังในปี 2019 และติดชาร์ตอันดับหนังทำเงิน คุณต้องไม่ลืมด้วยว่า สิ่งนี้ไม่ใช่แค่สะท้อนถึงว่ามันเป็นเนื้อหาที่โดนใจผู้หญิงทั้งหลายเท่านั้น แต่มันยังบอกถึงกำลังซื้อของเหล่าสตรีด้วยเช่นกัน”

เนื้อหาของเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนมากในสังคมเกาหลี มีทั้งผู้สนับสนุน ที่ออกมาแสดงพลังของเพศหญิง กลายเป็นกระแสต่อต้านความงาม ถึงกับทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งเลิกสนใจความสวยความงาม และปล่อยตัวเองตามธรรมชาติ
ขณะที่ในฟากเพศชายกลับมองว่ามันมีเนื้อหาปลุกปั่นคตินิยมจนเกินจริง และเรียกร้องสิทธิจนเกินไป ตัวอย่างเช่น ศิลปินเกิร์ลกรุป Red Velvet เมื่อไอรีน ประกาศว่าเธอเป็นแฟนตัวยงของหนังสือเล่มนี้ ก็ถึงกลับทำให้แฟนคลับเพศชายไม่พอใจพร้อมกับฉีกรูปของเธอและเผาทิ้งพร้อมกับหนังสือ ไปจนถึงประกาศถอนตัวจากการเป็นแฟนคลับก็มี มีชายหลายคนโชว์แมนว่าเพศชายในเกาหลีก็เผชิญความเหลื่อมล้ำด้วยเช่นกัน อย่างการต้องถูกเกณฑ์ทหาร อันเป็นความยากลำบากที่เพศหญิงไม่ต้องเผชิญ

ฮวางยังเสริมด้วยว่า “ผู้หญิงเกาหลีทุกวันนี้ไม่แค่ต้องการเห็นผู้หญิงด้วยกันมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่พวกเธอยังต้องการเห็นผู้หญิงที่ทำได้ทุกอย่าง แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการโกหก คดโกง หรือต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่าก็ตาม” อย่างไรก็ตามฮวางพบว่า “แม้ว่าคำว่า เฟมินิสต์ในยุคสมัยนี้จะเป็นคำชื่นชมในทางบวก แต่ค่ายทีวีหลายค่ายก็ไม่สบายใจเมื่อซีรีส์ผลงานที่ตัวเองสร้างมา ถูกตีตราจำแนกบนแพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่งว่าเป็นซีรีส์แนวเฟมินิสต์ เพราะในด้านหนึ่งมันก็เป็นการกีดกันเพศชายบางกลุ่มด้วยเช่นกัน”

“ค่ายผลิตภาพยนตร์เกาหลีที่พยายามจะเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมักหลีกเลี่ยงที่จะเกี่ยวข้องกับ เฟมินิสต์ เพราะจะตกเป็นหัวข้อถกเถียงแตกแยกในสังคมทัวร์ลงเอาได้” โช แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตเสริมความเห็นนี้อีกว่า “ซึ่งต่างจากในแถบอเมริกาเหนือ ถ้าคุณปะหัวว่าเป็นแนวเฟมินิสต์ ผู้คนจะมองคำนี้ในแง่บวก แต่คำนี้จะถูกใช้ในเชิงดูถูกเหยียดหยามเป็นอย่างมากในสังคมเกาหลี”

[คดีฆาตกรรมในห้องน้ำสาธารณะซอโชดง ปี2016 หรือคดีฆาตกรรมกังนัม เป็นคดีที่เกิดขึ้นในห้องน้ำสาธารณะของบาร์ คาราโอเกะ ในเขตซอโชกู ย่านกังนัม ในโซล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2016 เมื่อนายคิม ซ็อง-มิน อายุ 34 ปีกระหน่ำแทงผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนจนเสียชีวิต ต่อมาเขาออกสื่อว่าทำเช่นนั้นเพราะความเกลียดชังที่มีต่อเพศหญิง เพราะพวกผู้หญิงชอบเมินใส่เขาและทำให้เขาขายหน้ามาตลอดชีวิต แต่แล้วทางตำรวจกลับออกมาหักล้างคำอ้างดังกล่าวว่าเป็นเพราะเขาป่วยทางจิต และนี่ไม่ใช่อาชญากรรมซึ่งเกิดจากความเกลียดชัง (Hate crime) ต่อมา 13 เมษายน 2017 นายคิมถูกศาลตัดสินจำคุก 30 ปี คดีนี้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายในวงกว้าง อันเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกกระแสสตรีนิยมอย่างล้นหลามในสังคมเกาหลี]

บทบาทสดใหม่ของผู้หญิง

คิม ฝ่ายการตลาดของ ENA เล่าว่า “การที่ทนายความออทิสติก อู ยอง-อู ได้รับความนิยมอย่างมากโดยหลัก ๆ แล้วเพราะมันมีเนื้อหาเล่าถึงชัยชนะของคนบกพร่อง ยิ่งเป็นตัวละครหญิงด้วยแล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่เพราะที่ผ่านมาในซีรีส์มีแต่ทนายความชาย ในอดีตผู้ชายรับบทได้ทุกอย่างตั้งแต่นักสืบ แก๊งอันธพาล ฆาตกรโรคจิต ไปจนถึงฮ่องเต้ ผู้พิพากษา”

ฮวาง เสริมประเด็นนี้ว่า “ความสดใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมาอันที่จริงเกิดขึ้นเพราะการพลิกบทบาทจากที่เคยเป็นของเพศชายมาก่อน มาสู่การแทนที่ด้วยตัวละครหญิง ส่วนตัวฉันเชื่อด้วยซ้ำว่าจริง ๆ สตูดิโอทำไปเพื่อเรียกเรตติ้ง ไม่ใช่มุมมองทางการเมืองในแบบหัวก้าวหน้าอะไรเลย แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะสุดท้ายตัวละครเหล่านี้ก็จะนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้หญิงเผชิญอยู่ในสังคมมาตลอดอยู่ดี”
ไม่นานนี้นิตยสาร Tatler Asia ระบุว่า “ในโลกของเคดราม่า…สิ่งหนึ่งที่เราวางใจได้คือการได้เห็นผู้หญิงขับเคลื่อนโลก ไม่ว่าจะเป็นการยืนหยัดต่อสู้กับผู้มีอำนาจหรือทำลายความคาดหวังของสังคมว่าผู้หญิงควรเป็นอย่างไร”

4 ซีรีส์ #สู้เค้าสิวะอีหญิง ที่ช่วงนี้เราอยากแนะนำ

Bitch X Rich

การลงจอดราม่าครั้งแรกของมักเน่น้องเล็กแห่งแฟนด้อมลัฟวี่ เยริ จากวงเกิร์ลกรุปสุดฮอต Red Velvet ที่พลิกจากลุคใสมาเป็นนังตัวร้ายสุดแสบบ้านรวยแสนอวดดี ส่วนลูกเป็ดขี้เหร่อย่าง อี อึน-เซียม ที่ตลอดมาแสดงแต่บทตัวประกอบชาวบ้านหนึ่งก็โดดขึ้นมารับบทนางเอกเป็นครั้งแรก ด้วยบทนักเรียนมัธยมเรียนดีแต่ยากจนที่เผอิญไปรู้เห็นการฆาตกรรม ก่อนที่เธอจะได้เข้ามาในโครงการเท่าเทียมเพื่อเรียนกับบรรดาลูกคุณสุดไฮโซ ในโรงเรียนนานาชาติอันดับหนึ่งที่แบ่งแยกชนชั้นกันด้วยความจนรวย เธอจึงตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งที่ทำให้เธอทั้งต้องหลบหนีจากการถูกบูลลี่และต้องมาสืบคดีไปพร้อมกัน

Lies Hidden in My Garden

ตำนานสุดยอดดาราสาวสวย The Troika ที่รู้จักกันในชื่อ แทฮเยจี อันหมายถึง จี ยัยตัวร้าย ฉ่อน จี-ฮยอน (My Sassy Girl, Il Mare, My Love from the Star) ฮเย คือ ซอง ฮเย-คโย ( Autumn in My Heart, Full House, The Glory) ส่วนแท นั้นมาจาก คิม แท-ฮี (Stairway to Heaven, Iris) นางเอกที่ทำให้สาวทั้งโลกอิจฉาเพราะเธอคือภรรยาของตำนานนักร้องอันดับหนึ่งของเกาหลี เรน นั่นเอง และซีรีส์นี้เธอแสดงเป็นตัวนำ ประกบคู่กับ อิม จี-ยอน (นังตัวร้ายมือรางวัลจาก The Glory) เล่าเรื่องของครอบครัวคนรวยที่ถูกแบล็คเมล์โดยสามีจอมทุบตีเมียของอิม จี-ยอน ก่อนที่จะพบว่าคนที่มาแบล็คเมล์นั้นกลายเป็นศพ เรื่องจึงนำไปสู่สถานการณ์พลิกไปมาระหว่างสองบ้านนี้ที่เดาไม่ได้เลยว่าใครคือฆาตกร

Battle for Happiness / Happiness Battle เมื่อตัวตนบนโลกโซเชียลที่สร้างภาพอวดโลกด้วยแฮชแท็ก #ชีวิตดี๊ดี #กินหรูอยู่แพง #ผัวรักผัวหลง ฯลฯ แต่ชีวิตของแม่บ้านสาวสวยแห่งชุมชนบนตึกหรูสุดรวย ที่หน้าฉากรักและหวังดีต่อกันจี๋จ๋า แต่หลังฉากคือนอกจากจะขิงข่าใส่กันแล้วยังหมั่นกันถึงขนาดอยากจะพยายามฆ่า ซีรีส์เปิดฉากด้วยใครคนหนึ่งเสียชีวิต จะเป็นหนึ่งในพวกเธอ หรือสามีของพวกเธอก็ไม่รู้แหละ แต่หลังจากนั้นสิ่งที่เรารับรู้ผ่านโซเชียลของพวกเธอ คนดูจะได้รู้ทันทีว่าชีวิตจริงของพวกหล่อนนั้นตรงกันข้าม ก่อนที่คดีจะพลิกไปพลิกมาหลังจากสืบว่าใครคือฆาตกร

See You in My 19th Life ชิน เฮย-ซ็อน (Mr. Queen, Still 17) แสดงในงานกำกับของผู้กำกับหญิงคนเก่ง อี นา-จ็อง ที่มีแต่ผลงานเด่น ๆ อย่าง Mine (tvN / 2021), Love Alarm (Netflix / 2019), Fight for My Way (KBS2 / 2017) และ Oh My Venus (KBS2 / 2015-2016) คราวนี้ ชิน จะแสดงเป็นคนที่สามารถระลึกชาติได้ และชาตินี้ของเธอเป็นชาติที่ 19 โดยในชาติที่ 18 เธอมีความรักกับพระเอก อัน โบ-ฮุน (ตัวร้ายจาก Itaewon Class, พระเอกจาก Yumi’s Cells) ในวัยเด็ก ทำให้ชาตินี้เธอมีเป้าหมายชีวิตในการจะรักพระเอก การรอคอยของเธอมันช่างยาวนาน เพราะตลอด 18 ชาติของเธอที่ผ่านมา นื่คือครั้งแรกที่เธอรู้สึกว่ารักใครสักคนจริง ๆ และเธอพยายามอย่างหนักกว่าจะได้เจอเขา