ThaiPublica > คอลัมน์ > Divorce Attorney Shin ว่าด้วยเพลงทร็อตและนิทานเกาหลี

Divorce Attorney Shin ว่าด้วยเพลงทร็อตและนิทานเกาหลี

2 เมษายน 2023


1721955

Divorce Attorney Shin (2023) ซีรีส์เกาหลีล่าสุดที่ได้ โจ ซึง-อู (ที่บ้านเราน่าจะรู้จักเขาจากหนัง Classic ไม่ก็ซีรีส์ Stranger ทั้งสองภาค) เขาคือนักแสดงยอดฝีมือที่คว้ารางวัลมาแล้วทุกสถาบัน และเติบโตมาจากการมีคุณพ่อเป็นอดีตนักร้องดัง กับมีพี่สาวเป็นนักแสดงละครเวทีแถวหน้า ทำให้เขาใฝ่ฝันจะเป็นนักแสดงละครเวทีแนวมิวสิเคิล แต่จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นดาราเสียก่อน และเขาเป็นหนึ่งในพระเอกที่ค่าตัวสูงที่สุดในช่วงยุค 2000

ชินซองฮัน (โจ ซึง-อู) ทนายผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดในคดีหย่าร้าง แต่อันที่จริงเขาเรียนจบมาเป็นศาสตราจารย์ด้านเปียโนจากเยอรมัน แต่ด้วยความช็อคจากเหตุการณ์บางอย่างในอดีตในช่วงต้น 30 ทำให้เขากลับมาเกาหลี แล้วผันตัวไปร่ำเรียนด้านกฎหมายก่อนจะกลายมาเป็นทนายความจริง ๆ ด้วยวัย 45

อย่างไรก็ตามซีรีส์นี้ดัดแปลงจากเว็บตูน ซึ่งความต่างของมันคือในการ์ตูนต้นฉบับ ชินซองฮัน เป็นคนเนี๊ยบผมเรียบแปล้ สวมเสื้อกั๊กตลอดเวลา และชอบพูดจากเหยียดหยามคนอื่น แต่เขาจะเป็นบ้าเป็นบอและเสียลุคสุด ๆ เวลาอยู่กับเพื่อน ขณะที่ในทีวีบทนี้ถูกเปลี่ยนเป็นแต่งตัวสบาย ๆ ผมยุ่งเหยิง และมักจะเก็บความรู้สึก

รวมถึงในเว็บตูนไม่เคยเอ่ยถึงว่าเขาเป็นนักเปียโน แต่ช่วงแรกจะเกาะติดสถานการณ์ว่าเขาผ่านความยากลำบากอย่างไรบ้างเพื่อจะสอบติดทนายในวัยที่ช้ากว่าคนทั่วไป เนื่องจากแรงบีบจากความต้องการแก้แค้น ซึ่งทั้งเรื่องเปียโน และบุคลิกที่ต่างออกไปเกิดจากต้นฉบับเป็นความต้องการของโจ ซึง-อู เอง

ชินมีเพื่อนสนิทจากสมัยมัธยมอีกสองคน คนหนึ่งคือ จางฮยองกึน (คิม ซอง-คยุน Reply 1994 และ D.P.) ผู้ช่วยทนายความ และโจจองซิก (จอง มุน-ซอง จาก Hospital Playlists คนนี้ก็ใช่ย่อย จริง ๆ แล้วเขาเป็นนักแสดงละครเวทีชื่อดังก่อนจะโดดมาแสดงทีวี) นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่มีออฟฟิศในตึกเดียวกัน ตัวละครสองตัวนี้ไม่มีอยู่ในเว็บตูนเป็นการเพิ่มเข้ามาเพื่อสร้างสีสัน อีกทั้งต้นฉบับเดิมมีความสั้นมาก คือแบ่งทั้งเรื่องได้เพียง 5 เล่มจบ

ยามที่ชินเดือดคดี เวลาพักผ่อนอันน้อยนิดของเขาคือการจิบโซจู เคล้าเพลงทร็อต และสิ่งนี้คือเนื้อหาที่บทความคราวนี้จะมาเหลาให้ฟัง

ทร็อต คืออะไร

เท่าที่อ่านหลายบทความในไทย มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเพลงทร็อตอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการบอกว่า ทร็อตเป็นแนวเพลงโบราณ ตรงนี้ก็ขอบอกว่า…ไม่ใช่เสียทีเดียว หรือเป็นเพลงลูกทุ่งแบบเกาหลีบ้างล่ะ ซึ่งก็อาจจะคล้าย การจะทำความเข้าใจว่าทร็อตคืออะไร ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ทร็อตไม่ได้มาจากยุคโบราณ แต่ทร็อตเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หรือถ้าเจาะจงจริง ๆ ก็คือช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองเกาหลี (1910-1945) ดังนั้นทร็อตเกาหลีในยุคแรก ๆ จึงผสมผสานเพลงพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก และได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเพลง “เอ็งกะ” ของญี่ปุ่น

[Enka เอ็ง (การแสดง, ความบันเทิง) กะ (เพลง) เป็นการผสมผสานดนตรีสองแนวที่แต่งต่างกัน แนวแรกคือดนตรีแบบดั้งเดิมในรัชสมัยเมจิ (1868-1912) และรัชสมัยไทโช (1912-1926) มาผสมผสานกับแนวป๊อปญี่ปุ่นที่มีกลิ่นอายคันทรีแบบฝรั่ง เพลย์ลิสต์แนวเพลงเอ็งกะ ]

แต่ครั้นจะบอกว่าเพลงทร็อตได้อิทธิพลมาจากเอ็งกะแบบเต็มสูบ ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะระหว่างญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีนั้น ญี่ปุ่นเองก็รับเอาวัฒนธรรมเพลงคย็องกี-มินโยพื้นบ้านเกาหลี (Gyeonggi-minyo) มาด้วยเช่นกัน และในเวลาเดียวกัน ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นก็รับวัฒนธรรมเพลงเห่เรือพื้นบ้านจากจีน (เยี่ยเหรินเกอ / เพลงเรือชาวเยี่ย) มาอีกทอดด้วย

แล้วแม้ว่าพัฒนาการของมันจะเริ่มมาจากยุคดังกล่าว แต่ทร็อตเริ่มป๊อปขึ้นมาในช่วงหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณานิคมญี่ปุ่นไปสู่ช่วงสงครามเกาหลีนี้เอง (1950-1953 แปลว่าแนวเพลงนี้ปรากฏในฝั่งเกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน แต่หายไปในที่สุดเมื่อฝั่งเหนือทดแทนแนวทร็อตด้วยเพลงโฆษณาชวนเชื่อ) ก่อนที่จะเสียรังวัดให้กับวัฒนธรรมเคป๊อปต้นทศวรรษที่ 90s นับแต่นั้นทร็อตก็ถูกมองว่าเชยและตกยุคไปแล้ว เพลย์ลิสต์แนวเพลงทร็อต

กระทั่งทร็อตเริ่มกลับมาฮิตอีกครั้งในช่วงต้นปี2000 เมื่อศิลปินทร็อตรุ่นหลังอย่าง จาง ยุน-จ็อง, ฮง จิน-ยอง ไปจนถึงเคป๊อปบางกลุ่มอย่าง ซูเปอร์จูเนียร์-ที, แดซอง และลิซซี่ นำวัฒนธรรมเพลงทร็อตกลับมาสู่ความนิยมในหมู่วัยรุ่นอีกครั้ง

ทร็อต (Trot) ย่อมาจากคำว่า Foxtrot เป็นการเต้นบอลรูมแบบต่อเนื่องลื่นไหลและยาวตลอดฟลอร์เต้นรำ ภายในจังหวะแบบที่เรียกว่า วิ่งเหยาะหรือเยื้องย่าง แต่จริง ๆ คำว่า ทร็อต เพิ่งจะปรากฎในช่วงทศวรรษที่ 50s ก่อนจะแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ 80s นี้เอง แต่หากย้อนไปในช่วง 1920 แนวเพลงนี้เคยถูกเรียกว่า yuhaeng-changga ยูแฮง (เทรนด์ แฟชั่น ความนิยม) และเพลงต่างชาติ เช่น เพลงสวด เพลงกล่อมเด็ก เพลงโฟล์ค ของฝรั่ง กับเอ็งกะของญี่ปุ่นที่เกาหลีรู้จักในยุคนั้น ถูกเรียกรวม ๆ ว่า “ชังกา” ต่อมาเรียกย่อว่า “ยูแฮงกา”

Rokkugo! Rokkugo! Rokkugo! โดย Super Junior-T

บางครั้งทร็อตก็ถูกเรียว่า ซองอิน-กาโย (แนวเพลงสำหรับผู้ใหญ่) ปัจจุบันมีบางคนเรียกว่า ฉ่อนท่อง-กาโย (เพลงยอดฮิตแบบดั้งเดิม) ใดใดก็ตาม การใช้คำว่า ทร็อต แทนที่จะเรียกว่า ชังกา (มาจากต่างชาติ) ก็เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของแนวเพลงแบบนี้ และคลายความคับข้องใจเกี่ยวกับกำพืดของมันที่เป็นการผสมผสานจากพวกต่างชาติ (โดยเฉพาะชาติศัตรูอย่าง ญี่ปุ่น)

ทร็อตเคยเป็นประเด็นทางการเมือง 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารของพัก ช็อง-ฮี มันถึงกับกลายเป็นเพลงต้องห้ามในยุคนั้นเนื่องจากที่มาของมันคล้ายเพลงเอ็งกะญีปุ่น มีการใช้วาทกรรมเรียกเพลงทร็อตว่า “เพลงที่มีท่วงทำนองญี่ปุ่น” หรือเรียกว่า “เพลงเสื่อมทราม” (แบบที่ยุคฮิตเลอร์เคยแบนงานศิลปะ และเรียกมันว่า “Entartete Kunst -ศิลปะเสื่อมทราม”) เนื่องจากเนื้อหาของเพลงทร็อตที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่ศีลธรรม ลามก หยาบคาย อนาจาร (ตรงนี้คนไทยเราอาจจะเข้าใจง่ายขึ้น ถ้าเอาไปเทียบกับเพลงลูกทุ่งบ้านเราที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่าม อย่างเพลง หมากัด, ตั๊กแตนผูกโบว์, ปล่อยน้ำใส่นาน้อง หรือ คันหู) ในปี 1965 สถานีวิทยุจึงเลิกเปิดเพลงทร็อต ทำให้สมาคมนักร้องออกมาประท้วงอย่างรุนแรง

ต่อมาในปี 1968 คณะกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิม ออกมาแบนเพลงทร็อตจำนวน 108 เพลงอย่างเจาะจง(เพื่อไม่ให้สถานีวิทยุแบนเพลงทร็อตทั้งหมด) ก่อนที่จะเดินหน้าแบนเพลงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากเสื่อมเสียศีลธรรม อิงวัฒนธรรมชาติศัตรู” ความบ้าคลั่งนี้ถูกยกเลิกไปในทศวรรษที่70s แต่ยังคงสุมเชื้อไฟโดยเฉพาะในฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางจำพวกที่ต่อมาในปี 2010 ถึงขนาดออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนเพลงชาติ เนื่องจากมันถูกแต่งโดยนักประพันธ์โปรญี่ปุ่น

Camellia Lady ร้องโดย อี มี-จา

ความฮาประการหนึ่งคือ เพลงทร็อตที่ฮิตอย่างมากอย่าง Camellia Lady ของ อี มี-จา ติดอยู่ในรายชื่อโดนแบนทั้งในปี 1965 และปี 1968 แต่ระหว่างนั้นในงานเลี้ยงของประธานาธิบดีปัก ช็อง-ฮี เขากลับขอให้เธอร้องเพลงดังกล่าว โดยไม่รู้เลยว่ากระทรวงภายใต้รัฐบาลตนเองแบนเพลงนั้นด้วย

และรัฐบาลจงใจปลุกปั่นสร้างกระแสชังญี่ปุ่นอีกครั้งในปี 1984 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารชุน ดู-ฮวาน ทำให้เกิดการโต้เถียงในหมู่คนทำเพลงและนักวิจารณ์ เรียกกันว่า “การโต้เถียงปงจัก” (ทร็อต บางครั้งถูกเรียกว่า ปงจัก (ppongjjak) อันหมายถึงเพลงที่มีห้วงทำนองโดดเด่นกว่าเนื้อร้อง)

ชนวนประเด็นการโต้เถียงปงจัก เกิดขึ้นจากวารสารรายเดือน The Eumak Dong-a ฉบับเดือนพฤศจิกายน 1984 ด้วยบทความ “ใครอ้างว่าปงจักเป็นของเรา” ที่วนกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งถึงที่มาของเพลงทร็อต อันกำเนิดจากประเทศอริราชศัตรู การโต้เถียงไปมาเหล่านี้กลายเป็นวาทกรรมอยู่เนือง ๆ มาจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามในปี 2010 สมัยประธานาธิบดีอี เมียง-บัก บทความใน Choson Ilbo ก็ชี้ด้วยว่ารัฐบาลใช้เพลงทร็อตในการโฆษณาชวนเชื่อและโจมตีเกาหลีเหนือ มีเพลงกว่า 184 เพลงจากศิลปินอย่าง นา ฮุน-อา, จาง ยุน-จอง, พัก ฮุน-บิน มีเนื้อหาโจมตีและถูกเปิดออกอากาศทางคลื่นวิทยุบ่อยมาก โดยมีเป้าหมายโจมตีเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเพลงทร็อตถูกยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเกาหลีมีนโยบายใช้สื่อบันเทิงเป็นธงนำประเทศชาติมาตั้งแต่ช่วงยุค 90s มาจนถึงตอนนี้

นิทานบย็อลจูบู

ใน ep. สัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวละครเอ่ยถึงนิทานที่เรียกว่า “บย็อลจูบู” หรือ นิทานกระต่ายกับเต่าบก (Terrapin) เวอร์ชั่นเกาหลีในช่วงศตวรรษที่ 19 ยุคโชซอน รู้จักในหลายชื่อ เช่น The Tale of Rabbit (ต๊กกิจอน), The Tale of Terrapin (บย็อลจูบูจอน), The Song of the Underwater Palace (ซูกุงกะ) และ The Tale of a Rabbit’s Life (โตแซงจอน) เป็นเรื่องราวของราชามังกรกลางมหาสมุทรเกิดป่วยและต้องการกินตับกระต่ายเพื่อรักษา เต่าบก(เกาหลีเรียก จารา หรือ บย็อลจูบู) อาสาขึ้นบกไปหลอกล่อกระต่ายแล้วเอากลับมายังวังมังกร เต่าบกต้องเผชิญความยากลำบากมากมาย อาทิต้องต่อสู้กับเสือ ไปจนถึงไม่รู้ว่ากระต่ายมีหน้าตาเป็นอย่างไร จนเมื่อหลอกพากระต่ายมาถึงวังมังกรได้สำเร็จ เจ้ากระต่ายน้อยก็รู้ว่าตัวมันกำลังจะถึงแก่ชีวิต

กระต่ายจึงหลอกราชามังกรว่า “หม่อมฉันไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าได้ช่วยรักษาพระองค์ แต่เกรงว่าตับของกระหม่อมเป็นอวัยวะที่มีค่ามาก ดังนั้นกระหม่อมจึงไม่ได้เอามันติดตัวมาด้วย ถ้ากระหม่อมรู้ว่าท่านต้องการมัน กระหม่อมจะเอามันมาด้วย แต่ตอนนี้มันถูกซ่อนอยู่อย่างปลอดภัยในที่ลับกลางป่า ขอพระองค์โปรดให้เต่าพากระหม่อมกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ข้าพเจ้ายินดีจะกลับมาพร้อมตับ เพราะเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เสียสละตัวเองเพื่อท่าน”

แล้วเมื่อมันขี่หลังเต่ากลับขึ้นฝั่ง เจ้ากระต่ายก็เอ่ยขึ้นว่า “เธอคิดว่าฉันจะสละตับให้ราชามังกรโง่ ๆ ของเจ้าหรือ” ว่าแล้วมันก็กระโดดหายเข้าป่าไปอย่างรวดเร็ว ตรงนี้นัยยะหนึ่งก็น่าสังเกตว่าพันโซรีพื้นบ้านสมัยโบราณ มีนัยยะเสียดสีชนชั้นสูง แม้จะไม่กล่าวถึงตรง ๆ แต่ภาพเปรียบเทียบระหว่างราชามังกร และกระต่ายน้อยธรรมดาที่หือขึ้นสู้เพื่อเอาตัวรอด ก็อดคิดไม่ได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับสถาบันกษัตริย์

ซูกุงกะ เป็นพันโซรี (นิทานร้องโบราณ) 1 ใน 5 เรื่องสุดท้ายที่เหลืออยู่ อีกสี่เรื่องคือ ซิมชองกะ (โศกนาฎกรรมซิมตาบอด), ฮึงบูกะ (ลำนำน้ำเต้า), จ็อกพย็อกกะ (ส่วนหนึ่งของสามก๊ก) และ ชุนฮยางกะ (รักต้องห้ามระหว่างชุนฮยางลูกสาวคีแซง หรือนางบำเรอคล้ายเกอิชาของญี่ปุ่น กับ อี มอง-รย็อง บัณฑิตหนุ่มลูกชายผู้พิพากษา)

[โจ ซึง-อู พระเอกซีรีส์เรื่องนี้ Divorce Attorney Shin แจ้งเกิดเข้าสู่โลกภาพยนตร์จากการคัดเลือกนักแสดงมากกว่าพันคน ด้วยหนังที่สร้างจากพันโซรีเรื่อง Chunhyang (2000) และเขารักบท อี มอง-รย็อง พระเอกของเรื่อง เป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่เข้าถึงสายประกวดในเทศกาลหนังเมืองคานส์]

ผู้ทำให้เพลงโบราณกลับมาฮิต

อาจต้องขอบคุณช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้ศิลปินกลุ่มนี้ อี นัล-ไช มารวมตัวกัน พวกเขาทำให้แนวเพลงที่เล่าอย่างกับลำตัดบ้านเรา “พันโซรี” กลับมาฮิตระเบิดระเบ้ออีกครั้งตั้งแต่ปี 2019 และอย่างที่เล่าไปว่าพันโซรีเหลืออยู่แค่ 5 เรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ ซูกุงกะ หรือกระต่ายเสียตับ ที่ฮิตจนได้รับเชิญไปแสดงสดตามที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ มีไลฟ์คอนเสิร์ตขายบัตรจริงจัง ไปจนออกแผ่นสวยงามน่าสะสม สมาชิกส่วนร้องเป็นหญิง 3 ชาย 1 กับมือเบสและมือกลอง พวกเขาไม่ใช่เล่น ๆ แต่ทั้งหมดจบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อันเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง อย่างที่เราอาจเคยได้ยินตัวย่อว่า SKY (อย่างในซีรีส์ SKY Castle อันย่อมาจาก โซล, โคเรีย และยอนเซ) มือเบส จางยองกยูเคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Wailing (2016, หนังคานส์ที่ต่อมาผู้กำกับนา ฮง-จิน มาโปรดิวซ์หนังไทย ร่างทรง) และ ” Train to Busan ” (2016, หนังคานส์อีกเรื่องที่ทำรายได้ถล่มทะลายทั้งในเกาหลีและทั่วเอเชีย)

ชื่อวงนำมาจากนักร้องพันโซรีชื่อดัง และเป็นนักแสดงไต่เชือกในยุค 1880 พวกเขารู้จักกันครั้งแรกในการแสดงชื่อ Dragon King (ตามนิทานกระต่ายกับเต่าบก) ปี 2018 ก่อนช่วงโควิด ในงาน Asia Culture Centre ที่เมืองกวางจู จึงรวมตัวกันตั้งวงหลังจากนั้นเพราะเป็นพวกชื่นชอบเพลงคอเดียวกัน ดังขนาดการท่องเที่ยวเกาหลีต้องรีบเอาพวกเขามาโปรโมทจุดท่องเที่ยวสำคัญในเกาหลี จนคว้า 3 รางวัลใหญ่ในงาน Korean Music Awards 2021ในสาขา นักดนตรีแห่งปี, เพลงโมเดิร์นร็อคยอดเยี่ยม และอัลบัมยอดเยี่ยมแนวแจ๊สและข้ามไขว้แนวเพลง โดยกรรมการยกย่องว่าเป็นแนวเพลงที่เซ็กซี่ที่สุดในปีนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่เกาหลีนำวัฒนธรรมเป็นธงนำ รัฐบาลมีวิสัยทัศน์จ้างพวกเขามาโปรโมท สนับสนุนต่าง ๆ นี่คือแนวทางซอล์ฟพาวเวอร์อย่างแท้จริง ไม่ใช่หลอกใช้ฟรี ๆ อย่างไร้ค่าอย่างที่บางประเทศทำ หรือไม่ให้ความสนับสนุนใดใดแบบบ้านเรา

แคมเปญโปรโมทการท่องเที่ยว Feel the Rhythm of KOREA

ย่านอันดง https://youtu.be/R2GeUF_xm1Y
ย่านม็อกโป https://youtu.be/CitIMlaa8To
กรุงโซล https://youtu.be/3P1CnWI62Ik
เกาะจอนจู https://youtu.be/dQ_lCmB2hfk
เมืองกังนึง https://youtu.be/RdzvyvGcOYQ
เมืองบูซาน https://youtu.be/xLD8oWRmlAE
ย่านอินชอน https://youtu.be/24iEAmpWn-0
บันทึกการแสดงสดของอี นัล-ไช https://youtu.be/LCZPF0eg9UA,
https://youtu.be/oxlimz2fJMo
เพลย์ลิสต์ MV ทั้งหมดของวงอี นัล-ไช https://www.youtube.com/watch?v=8ydkpCD7-Hk&list=PL_i0CViBxwRGcTSqL6A4koCR65FDpLZTI