ThaiPublica > คอลัมน์ > BLIND เรื่องจริงที่คล้ายกัน

BLIND เรื่องจริงที่คล้ายกัน

22 ตุลาคม 2022


1721955

ออกตัวก่อนว่าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับซีรีส์เกาหลี Blind (2022) เลยแม้แต่น้อย ไม่เคยปรากฏว่าผู้สร้างหรือผู้แต่งเรื่องนี้ได้ไอเดียมาจากไหน แต่ที่อยากจะเล่าเพราะมีความสอดพ้องกันในหลายอย่าง อันเป็นคดีสุดสะเทือนใจที่พวกผู้มีอำนาจในเกาหลีใต้พยายามจะฝังกลบ แต่กลับถูกขุดคุ้ยออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้กันเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

Blind หรือในชื่อเกาหลีมีความหมายว่า “บังตา” เป็นซีรีส์ระทึกขวัญช่อง tvN ที่มีความยาว 16 ตอน ซึ่งเพิ่งออนแอร์มาได้ครึ่งทางแต่หักมุมไปมาจนยากจะคาดเดาว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกี่ยวพันกันอย่างไร ซีรีส์เล่าสลับเวลาในอดีตเมื่อปี 2000-2002 กับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ห่างกัน 20 ปี

เหตุการณ์ในอดีตที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับปัจจุบัน กลับค่อยๆ ดำเนินเรื่องมาบรรจบกัน แล้วคลี่คลายออกก่อนจะขยักปั่นประสาทผู้ชมจนยากจะคาดเดา เมื่อเรื่อง 20 ปีก่อน กล่าวถึงศูนย์สวัสดิการความหวัง อันเป็นองค์กรสวัสดิการสังคม ที่ฉากหน้าเหมือนบ้านเด็กกำพร้า แต่ที่จริงคือไปต้อนกว้านเอาเด็กเล็กข้างถนนที่มีพ่อมีแม่หรือเปล่าก็ไม่รู้เข้ามากองรวมกันในบ้านนี้ โดยรับเอาเงินสวัสดิการจากรัฐ เช่น ค่าอาหาร ค่าเลี้ยงดูต่างๆ แต่แทนที่จะเอามาดูแลเด็กกลุ่มนี้ พวกผู้บริหารองค์กรกลับยักยอกเงินเหล่านั้นไว้เอง แล้วให้เด็กๆ กินแต่มันเทศประทังหิว แถมยังใช้แรงงานเด็กในธุรกิจอื่นด้วย โดยมีผู้คุมโหดเหี้ยมคอยทารุณเด็ก

ตัดมาในเวลาปัจจุบัน ซีรีส์โฟกัสไปที่ครอบครัวพ่อแม่ลูกชายสอง พ่อเป็นอดีตผู้พิพากษา ส่วนแม่กำลังจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ พี่ชายคนโต รยูซองฮุน (ฮาซ็อกจิน จาก Radiant Office-2017) เป็นผู้พิพากษาประจำศาลคดีอาญา หัวกะทิจากสถาบันอบรมตุลาการ บุคลิกเงียบขรึม มีเหตุผล เชื่อมั่นในความยุติธรรม ไม่ยืดหยุ่นแม้ความผิดเล็กน้อย ขณะที่คนน้องชายตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง รยูซองจุน (แท็คยอน วง 2PM จาก Vincenzo-2021) ตำรวจหนุ่มที่ฝันอยากเป็นฮีโร่ เลือดร้อน ทำทุกอย่างเพื่อต่อกรกับผู้ร้าย แต่ก็มีใจเมตตาอบอุ่น

เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อเกิดคดีฆาตกรรมที่เหมือนจะคลี่คลายได้ง่ายๆ โดยมีคนน้องจับผู้ร้ายได้ ไปขึ้นศาลที่มีคนพี่เป็นผู้พิพากษา และมีคนจากหลากหลายอาชีพ 9 คน ถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน แต่แล้วเหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อเกิดเหยื่อขึ้นรายแล้วรายเล่า โดยเหยื่อเหล่านั้นบ้างก็เป็นหนึ่งในคณะลูกขุน บ้างก็เป็นญาติใกล้ชิดของหนึ่งในลูกขุน แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว กลุ่มคนทั้งหมดในการพิจารณาคดีครั้งนี้ ที่แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่กลับมีความเกี่ยวข้องกันอย่างประหลาด และเหตุการณ์กลับดูเลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยน่าจะอยู่ในการควบคุมของคนร้ายที่อาจเป็นใครสักคนในห้องพิพากษาคดีนั้น

ไม่เท่านั้น คนร้ายรายนี้น่าจะเป็นหนึ่งในเด็กสักคนจากเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน ว่าแต่ว่าอดีตนั้นเกี่ยวพันอย่างไรกับปัจจุบัน เป็นซีรีส์หัวจะปวดที่คนดูไม่เคยคาดเดาตอนต่อไปได้เลย

เรื่องจริงยิ่งกว่าละคร

ย้ำอีกครั้งว่าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับซีรีส์เรื่องนี้ แต่ช่างมีความคล้ายคลึงกันโดยบังเอิญหรือจงใจก็ไม่อาจทราบได้ เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นในปี 2016 โดยสมาคมผู้สื่อข่าว (AP) และสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ได้ลงบทความเหตุการณ์ทารุณกรรมครั้งมโหฬารที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในช่วงยุค 70-80 ที่มีรายงานว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน นับเป็นการสังหารหมู่ที่เหี้ยมโหดในประวัติศาสตร์ที่แม้แต่คนเกาหลีในยุคปัจจุบันก็ไม่เคยรู้เลยว่ามันเคยเกิดขึ้นจริง!?

“เราจะลืมความเจ็บปวดจากการถูกทุบตี ศพ การทำงานหนัก ความหวาดกลัว … ความทรงจำที่เลวร้ายทั้งหมดนั้นได้อย่างไร” ลี หนึ่งในเหยื่อที่รอดมาได้กล่าว “มันจะหลอกหลอนเราไปจนตาย”

หลายคนที่ภายหลังหลุดพ้นจากที่แห่งนี้มาได้ กลายเป็นคนไร้บ้าน อยู่ในบ้านพักพิง หรือสถาบันจิตเวช บางคนติดเหล้าอย่างหนักเพื่อจะลืมเลือนความโกรธ ความอับอาย การซ้อมทรมาน การถูกข่มขืน ถูกทุบตี ความทุกข์ยาก ซึมเศร้า และอดอยากยากแค้น

คนเหล่านี้ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่คนที่กล้าจะออกมาเล่าความจริง และรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ร้องขอคำขอโทษจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้สนับสนุนให้ตำรวจลักพาตัวพวกเขาไปกักขังไว้ทั้งที่พวกเขาไม่มีความผิดแต่อย่างใด หลายคนไม่กล้าออกมาเพราะฝ่ายผู้ก่อเหตุยังคงมีอำนาจทรงอิทธิพลทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

หนึ่งในผู้ประท้วง ชเวซึงวู เล่าว่า “ตอนนั้นผมอายุแค่ 14 ทั้งที่อยู่ในเครื่องแบบนักเรียนสีดำ แต่ตำรวจก็พยายามจะจับเขาด้วยข้อหาขโมยขนมปังหนึ่งชิ้น ทั้งที่ผมไม่ได้ขโมย” ชเวเล่าไปร้องไห้ไป “ตำรวจดึงกางเกงผมลง แล้วจุดไฟแช็กลนไปที่อวัยวะเพศของผม จนผมต้องยอมสารภาพว่าขโมย ทั้งที่ไม่ได้ทำ” จากนั้นเจ้าหน้าที่สองคนก็ลากชเวไปที่ Brothers Home ศูนย์สวัสดิการที่ตั้งตระหง่านอยู่บนไหล่เขาเหนือเมืองท่าทางตอนใต้ของเมืองปูซาน เหยื่อเคราะห์ร้ายเหล่านี้ถูกซ่อนอยู่หลังกำแพง ที่มีผู้คุมเข้มควงกระบองและจูงสุนัขลาดตระเวน…. แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในซีรีส์ Blind ไม่มีผิด

โครงการฟอกสังคม

อย่างที่รู้กันว่าทุกวันนี้เกาหลีเจริญเพราะเอาทหารออกไปจากการปกครองอย่างยาวนาน ทหารครองเกาหลีนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเกาหลีถูกฉีกออกเป็นเหนือใต้ แล้วทหารอ้างความมั่นคง อ้างว่าขอเวลาอีกไม่นาน แต่กลับโกงและกินเวลานานถึงเกือบครึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะในยุคของจอมเผด็จการทหาร พักจองฮี ที่ทั้งโกงเลือกตั้งบัตรเขย่ง ทั้งแก้รัฐธรรมนูญขยายเวลาให้ตัวเองอยู่ต่อได้เกิน 3 วาระในปี 1969, ไปจนถึงแก้บทบัญญัติให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีวิตนับตั้งแต่ปี 1972 ส่งผลให้เกิดความอึดอัดระส่ำระสายทั้งฝ่ายทหารและประชาชน

จนเมื่อเดือนตุลา 1979 พักจองฮีก็เสียชีวิตลงสักที ด้วยการถูกทหารคนสนิทลอบสังหาร ในช่วงฝุ่นตลบนี้เอง เกาหลีมีรัฐบาลพลเรือนช่วงสั้นๆ ก่อนจะเกิดรัฐประหารโดยพลเอก ช็องดูฮวัน เมื่อวันที่ 12 ธันวา 1979 อันนำไปสู่การบังคับใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 แล้วล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนลง ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากเกาหลีเหนือ ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางทั้งในโซลและกวางจู นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน เมื่อช่วงวันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980 ที่กวางจู และมีคนตาย 165 คน (ตามจำนวนอ้างของฝ่ายทหาร แต่ปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีมากกว่านั้น) สูญหาย 76 คน บาดเจ็บ 3,515 คน และถูกจับกุมอีก 1,394 คน

เมษายน 1981 ช็องดูฮวัน ร่อนจดหมายถึงนายกฯ นัมดักวู สั่งให้เจ้าหน้าที่ “ปราบปรามขอทานและคุ้มครองคนเร่ร่อน” ที่ฟังเหมือนจะดูดี แต่มันคือโครงการฟอกสังคม โดยอาศัยกฤษฎีกาฉบับที่ 410 ที่บัญญัติไว้ตั้งแต่สมัยพักจองฮี เมื่อปี 1975 อยู่แล้ว เดิมทีเป็นข้ออ้างเรื่องบิ๊กคลีนนิ่งเพื่อให้ถนนสะอาดปราศจากคนจรจัด แต่ในสมัยทหารของช็องดูฮวัน มีการอัดฉีดเงินสนับสนุนและมอบรางวัลเกียรติคุณส่วนหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการปราบปราม โดยฉากหน้าคืออ้างว่าเพื่อให้สังคมสะอาด ดีงาม จัดให้พวกขอทานและคนเร่ร่อนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งด้วยสวัสดิการรัฐ แต่แท้จริงแล้วเป้าหมายคือนอกจากจะกำจัดคนจรจัดแล้ว ยังรวมถึงพวกเห็นต่างทางการเมืองด้วย แล้วการทุ่มเงินมหาศาลให้เจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ตำรวจออกสุ่มกว้านไปจนถึงลักพาตัวรวบตึงไม่ว่าจะเด็กกำพร้ามีหรือไม่มีพ่อแม่ก็ตาม ขอทาน คนพิการ พวกกระด้างกระเดื่องทั้งหมดถูกจับยัดขึ้นรถกะบะ กระจายไปยังบ้านสวัสดิการของรัฐนับร้อยแห่งทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือ บราเธอร์สโฮม บ้านสวัสดิการที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยพักจองฮี

เจ้าของบ้านคือพักอินกึน อดีตนายทหารและนักมวยเก่า เดิมทีเป็นศูนย์พักพิงสำหรับชาวคริสเตียนพลัดถิ่นและเป็นบ้านเด็กกำพร้าที่เปิดทำการในปี 1960 ก่อนที่นายพักอินกึนจะรับช่วงบ้านนี้มาจากพ่อตาในปี 1965 เขาจึงเปลี่ยนที่นี่เป็นสวัสดิการสังคมในปี 1971 โดยได้รับเงินอุดหนุนจากเทศบาลเมืองปูซาน เพื่อทำเป็นสถานสงเคราะห์เด็ก จนกระทั่งขยายเป็นศูนย์ดูแลคนจรจัดในปี 1975 แล้วนับตั้งแต่โครงการฟอกขาวของช็องดูฮวันในปี 1981 ที่แห่งนี้ก็ได้เงินสนับสนุนในการดูแลสูงถึงปีละสองพันล้านวอน (ราว 50 ล้านบาท)

หรือง่ายๆ ว่า ทั้งตำรวจที่ยิ่งกว้านเด็กเข้ามาได้มากเท่าไหร่ก็ได้ค่าหัวมากเท่านั้น ส่วนบ้านที่ดูแลเด็กก็ได้เงินมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะบ้านหลังนี้ในปีปีหนึ่งรองรับผู้คนได้มากถึง 4,000 คน และคาดว่านับตั้งแต่เปิดบ้านมามีเหยื่อทั้งสิ้น 38,000 รายที่เคยมาสู่นรกในบ้านหลังนี้ เด็กๆ จะถูกใช้แรงงานทาสให้ทำงานทั้งวันทั้งคืน ที่นี่เป็นโรงงานผลิตสินค้ากว่า 10 แห่ง เย็บผ้า ผลิตรองเท้าผ้าใบ ถุงเท้า ร่ม อุปกรณ์ตกปลา งานไม้ งานโลหะ และสินค้าส่งออกหลายอย่างไปยัง ยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกา

ใครป่วยก็ทิ้งไว้ให้ตายไปแล้วหาเด็กใหม่เข้ามาแทน หนึ่งในเหยื่อ ฮันจองซุน เล่าให้ฟังถึงตอนที่เขาถูกลักพาตัวไปพร้อมกับน้องสาวในปี 1984 ว่าตอนนั้นเขาอายุเพียง 9 ขวบ เข้าเมืองมาพร้อมกับพ่อ แต่พ่อมีธุระที่ต้องทำในวันนั้นอีกหลายอย่าง เลยฝากเขากับน้องสาวไว้ที่สถานีตำรวจ

แต่ใครจะรู้ว่าตำรวจคนนั้นจะพรากครอบครัวของเขาไปตลอดกาล ฮันเล่าว่า “รถบัสมาจอดหน้าสถานีตำรวจ พวกเราถูกบังคับให้ขึ้นไป เราไม่รู้เลยว่าจะถูกพาไปไหน แม้จะร้องไห้ว่าพ่อบอกให้รอที่นี่! พ่อกำลังจะมา! แต่กลายเป็นว่าพวกเขาเริ่มทุบตีเรา”

ฉากหน้าของบ้านนี้คือโบสถ์โปรแตสแตนต์ มีผู้ดูแลคือศาสนาจารย์ ลิมยองซุน น้องเขยของเขาเอง ยิ่งสร้างภาพลักษณ์คนดีให้กับบ้านหลังนี้ไปอีก โดยเฉพาะเมื่อรัฐทำสารคดีออกอากาศทางทีวี ล้างสมองประชาชนว่าบ้านแห่งนี้ดีงามอย่างไร

ในสารคดีฉากหนึ่งจะเห็นว่าพวกเด็กๆ อยู่ดีกินดีมีโรงอาหารที่ตักข้าวให้พูนๆ และกับไม่มีอั้น ซึ่งก็จริงที่ว่าที่นี่มีการทำอาหารจำนวนมากทุกวัน แต่ไม่ใช่อาหารสำหรับผู้เข้ามาพักพิง ศูนย์แห่งนี้เปิดเป็นโรงขายอาหารให้บุคคลภายนอก เก็บเงินได้อีกทอดหนึ่ง ส่วนพวกเด็กสงเคราะห์ได้กินแต่เศษอาหารและมันฝรั่ง จนต่อมาพบว่าที่นี่มีแต่คนขาดสารอาหาร เรียกได้ว่าเจ้าของศูนย์ได้เงินทั้งจากรัฐ และขูดรีดแรงงานเด็กโดยไม่จ่ายค่าแรง เพื่อผลิตสินค้าและอาหาร ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมากๆ เข้ากระเป๋าเจ้าของศูนย์

พวกเขาอ้างว่าเด็กเหล่านี้คือเด็กเหลือขอ บ้านแห่งนี้จะดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี อบรม ช่วยเหลือ เยียวยา สอนวิชาชีพ และให้งานทำ ให้พวกเขาเติบโตคืนสู่สังคมได้โดยไม่เป็นพิษเป็นภัย ทั้งที่มีบันทึกว่าพบผู้เสียชีวิตถูกทิ้งศพไว้เกลื่อนภูเขาหลังบ้านมากถึง 657 ราย เท่าที่บันทึกไว้ได้ คาดว่าความจริงมีมากกว่านั้น ภายหลังค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่ามีการขายอวัยวะและศพให้กับโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อนำไปเป็นอาจารย์ใหญ่สำหรับเรียนผ่าตัด และใช้สำหรับผู้ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะ ในราคาร่างละ 3-5 ล้านวอน (แปดหมื่นถึงแสนสามหมื่นบาท) อันเป็นไปได้ว่าบางศพเป็นการถูกฆ่าตายทั้งเป็น

เด็กหลายคนวาดภาพความทารุณในนั้นเป็นบันทึกซ่อนไว้ ก่อนจะถูกเปิดเผยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

ความแตก

การเปิดโปงความโฉดชั่วของบ้านพักคนดีแห่งนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแท้ วันหนึ่งในปี 1986 หัวหน้าอัยการ คิมยองวอน ในเขตอัลซานที่เพิ่งย้ายมาใหม่ ออกล่าสัตว์ไปยังแนวเขตกำแพงบราเธอร์สโฮมเห็นผิดสังเกตจึงถ่ายรูปไว้ ก่อนจะออกหมายค้นและปล่อยเหยื่อนับร้อยออกมาได้

17 มกราคม 1987 พักอินกึนและเจ้าหน้าที่บราเธอร์สโฮม 5 คนถูกตั้งข้อหายักยอกทรัพย์ กักขังหน่วงเหนี่ยว ฟอกเงิน และละเมิดกฎหมายอาคาร และแม้จะมีหลักฐานหลายอย่างแต่ไม่สามารถเอาผิดพวกเขาในข้อหาร้ายแรงได้ เพราะเบื้องหลังมีผู้มีอำนาจระดับสูงคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ เนื่องจากในปีที่ความแตกคือปี 1986 นั้นเกาหลีกำลังจัดเอเชียนเกมส์ และปีถัดไปเป็นปี 1988 เกาหลีจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก อันเป็นช่วงที่เกาหลีทั้งประเทศโหมกระแสคลั่งกีฬาเตรียมพร้อมชิงชัยในงานใหญ่ระดับโลก จนไม่มีใครหรือสื่อไหนเหลียวแลต่อข่าวสะเทือนขวัญเช่นนี้ อีกทั้งนโยบายฟอกขาวดังกล่าวเป็นฝีมือของช็องดูฮวันที่ยังมีอำนาจอยู่ในขณะนั้น พวกฝ่ายรัฐทหารจึงร่วมมือกันทุกอย่างเพื่อไม่ให้ข่าวนี้กระพือออกไป เพราะเกรงว่าประชาชนจะลุกฮือขึ้นต้านรัฐบาลอีกเหมือนอย่างเหตุการณ์ที่กวางจู

(บน) ภาพถ่ายทางอากาศแสดงอาณาบริเวณ บราเธอร์สโฮม
(ซ้าย) พักอินกึน เจ้าของศูนย์สวัสดิการสังคม (ขวา) หัวหน้าอัยการ คิมยองวอน ผู้เปิดโปง

ทั้งคิมจูโฮ นายกเทศมนตรีเมืองปูซาน ทั้งพักฮีแท หัวหน้าอัยการเมืองปูซาน (อีกหลายปีหลังจากนั้นคนนี้ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม) ต่างสั่งการให้ยุติการสอบสวนอย่างรวดเร็ว สุดท้าย พักอินกึนถูกจำคุกสองปีครึ่ง เจ้าหน้าที่อื่นๆ ต้องโทษปีครึ่งบ้าง แปดเดือนบ้าง โดยไม่มีคำขอโทษหรือการเยียวยาใดๆ ต่อเหยื่อที่รอดมาได้ทั้งหมด 544 คน นี่ยังไม่นับที่เสียชีวิตและสาบสูญไปอีกมากมาย

ที่เลวร้ายกว่านั้น หลังพ้นโทษ ในปี 2001 พักอินกึนยังขายที่ดินแห่งนั้นให้กับบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งได้ในราคา 27 ล้านดอลล์ (ราวพันล้านบาท) คดีนี้ถูกปิดลงอย่างง่ายดาย ท่ามกลางความภูมิใจในชาติของคนเกาหลีใต้ที่กำลังเห่อต่อการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก

สังคมเกาหลีไม่รู้เรื่องเลวร้ายครั้งยิ่งใหญ่นี้เลย เพราะมันถูกกลบโดยการโหมประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล โดยเฉพาะความสำเร็จครั้งใหญ่จากโอลิมปิก ไปสู่ช่วง IMF กว่าที่พวกเขาจะรู้ว่ามีเรื่องต่ำทรามแบบนี้เกิดขึ้นในเกาหลี ก็เมื่อผ่านไปแล้ว 27 ปี คือในปี 2012 เมื่อฮันจองซุน เด็กชายที่ถูกลักไปพร้อมกับน้องสาวตั้งแต่เขาอายุแค่ 9 ขวบ ออกมาถือป้ายประท้วงคนเดียวหน้ารัฐสภา จนกลายเป็นข่าวที่ทำให้คนทั้งสังคมตาสว่าง

ฮันจองซุน ถือป้ายประท้วงคนเดียวหน้าสภา

กระทั่งปี 2016 สื่อต่างๆ รวมถึงสื่อต่างชาติ ทั้ง AP, CNN, BBC และอัลจาซีรา ต่างพร้อมใจกันโหมข่าวนี้ให้ทั่วโลกได้รับรู้ ในช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีหญิง พักกึนฮเย ลูกสาวคนโตของจอมเผด็จการทหารพักจองฮีผู้ล่วงลับ หลังจากความนิยมของเธอเสื่อมลงเนื่องจากไม่สามารถแก้ไขจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม ต่อกรณีเรือเซวอลอัปปางในปี 2014 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึงเกือบ 300 คน กระทั่งปี 2018 เมื่อพักมินซอง ส.ส.เมืองปูซาน ได้เรียกร้องให้รัฐกล่าวขอโทษและหาทางเยียวยา พฤษภาคม 2020 คณะกรรมการความจริงและการปรองดองแห่งชาติจึงเพิ่งรื้อคดีนี้กลับมาใหม่ ขณะที่พักอินกึนผู้เป็นเจ้าของบ้านเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2016 หลังจากหลบหนีไปออสเตรเลียพร้อมลูกเมีย จนร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีกิจการหลายอย่างไปพร้อมๆ กับเป็นนักเทศน์ในโบสถ์เพรสไบทีเรียน ส่วนเหยื่อบางคนที่ถูกจับไปตั้งแต่สิบขวบจนป่านนี้อายุปาไป 50 ยังมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นและเจ็บปวดแสนสาหัส

ปี 2021 ความโด่งดังของซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ Squid Game (2021) กลายเป็นชนวนให้สื่อต่างๆ นำไปเทียบกับบราเธอร์สโฮม เนื่องจากเครื่องแบบชุดกีฬาและตัวเลขกำกับเป็นระบบที่ใช้กันในบ้านหลังนั้น

ล่าสุดคณะกรรมการความจริงและการปรองดองเพิ่งออกแถลงข่าวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาปีนี้ ว่าจะเร่งรัดให้รัฐบาลเยียวยาต่อเหยื่อ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

พวกเด็กๆ ถูกบังคับให้แสดงละครศาสนา ถ้าทำได้ดีวันนั้นจะได้ไข่อีสเตอร์เป็นอาหารแทนมันฝรั่ง ในวันที่มีผู้บริจาคชาวคริสต์มาเยือน พวกเหยื่อจะถูกจับแต่งตัวเหมือนกันในชุดวอร์มสีฟ้า และที่นี่เขาไม่เรียกกันด้วยชื่อ แต่ใช้หมายเลขประจำตัวแทน ช่างเหมือนกับในซีรีส์ Blind ไม่มีผิด

รูปถ่ายของฮันจองซุนในวัย 9 ขวบพร้อมเลขประจำตัวใน บราเธอร์สโฮม

กาลครั้งหนึ่งผมเป็นเหมือนหมาที่ถูกใช้แรงงานเหมือนวัวควาย ผมเคยมีครอบครัวเช่นเดียวกับพวกคุณ เป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้คนกลายเป็นเหมือนสัตว์เดรัจฉาน แต่มันยากมากที่จะกลับจากสัตว์มาเป็นคนอีกครั้ง บางคนถึงขั้นเสียชีวิต ตอนนี้ผมกำลังลำบาก แต่ผมพยายามอย่างหนักที่จะกลับจากสัตว์ร้ายเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนพวกคุณ
– ฮัน จอง ซุน ผู้รอดชีวิตจากศูนย์สวัสดิการบราเธอร์สโฮม