ThaiPublica > คอลัมน์ > บทบาทสตรีในซีรีส์เกาหลีท่ามกลางกระแสต่อต้านเฟมินิสต์

บทบาทสตรีในซีรีส์เกาหลีท่ามกลางกระแสต่อต้านเฟมินิสต์

4 มีนาคม 2023


1721955

บทความนี้สืบเนื่องมาจากวันอาทิตย์ที่ 5 นี้ (พรุ่งนี้) จะมาถึงบทสรุปของ Crash Course in Romance (2023) สักที ซีรีส์ล่าสุดของผู้กำกับ ยูเจวอน ที่เคยสร้างความฮือฮามาก่อนเมื่อสองปีที่แล้วจาก Hometown Cha-Cha-Cha (2021) (ที่ตามมาด้วยเรื่องอื้อฉาวของพระเอก คิมซอนโฮ แต่ก็เคลียร์ตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งผู้กำกับยังคงใช้สูตรคล้ายเดิม คือความผูกพันและขัดแย้งของผู้คนในชุมชน เพียงแต่เปลี่ยนโลเคชั่น จากเมืองชายทะเลบ้านนอกแถบกงจุน มาเล่าเรื่องรักใสกลางเมืองใหญ่

ที่เริ่มไต่จากเรตติ้งไม่ถึง 1 มาเรื่อย ๆ จนล่าสุดแตะนิวไฮที่ 14.296% แซงอันดับ Hometown Cha-Cha-Cha ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขึ้นมาอยู่อันดับ 14 บนตารางท็อป 50 ซีรีส์เรตติ้งสูงสุดตลอดกาล

Crash Course in Romance เป็นเรื่องราวของ นัมแฮงซอน (ฉ่อนโด-ย็อน) แม่ค้าร้านเครื่องเคียง สาวโสดรุ่นใหญ่ที่สมอ้างเอาลูกสาวของพี่สาวมาเป็นลูกตัวเอง ด้วยความที่อยากโฟกัสแต่การดูแลร้าน ลูกสาว และพี่ชายที่เป็นออทิสติก ในวัยเด็กเธอถึงขนาดยอมทิ้งความฝันที่จะเป็นนักกีฬาทีมชาติ เนื่องจากเสียแม่ไปกะทันหัน ในอีกฟาก ชเวชียอล (ฉ็องคย็อง-โฮ) ครูโรงเรียพิเศษ คนดังในย่านละแวกร้านของนางเอก เป็นครูทำรายได้อันดับหนึ่งเนื่องจากเลื่องชื่อว่าใครติวคณิตศาสตร์กับเขามีอันติดมหาวิทยาลัยดีดีได้ไม่ยาก

คนสองคนทุ่มเทโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองถนัด บังเอิญมาเจอกัน เริ่มจากเกลียดกลายเป็นค่อย ๆ รักตามสูตรหนังรักโรแมนติกอย่างชื่อเรื่อง มีซับพล็อตคืออดีตของกันและกัน แต่หนักหน่วงกว่าหน่อยตรงพระเอกมีใครบางคนจากอดีตตามมาด้วย กลายเป็นปมฆาตกรรมเบา ๆ ให้คนดูได้ลุ้นระทึก

นางเอกรุ่นพี่ พระเอกรุ่นใหม่

นางเอก ย จ ร น ม น จ แจงทั้งน้ำตาปมดราม่าป้าแมว ยันไม่เคยพูดจะดูแลตลอดชีวิต / รุ่นใหญ่ขอเคลียร์ หลังโดนทัวร์ลง ปมฉะดารารุ่นน้องไม่มีสัมมาคารวะ / คนดัง ชี้เคยถูกนักแสดงรุ่นน้อง “ปีนเกลียว”ใส่! / ‘ไม่ทันดังระวังกระเด็น’ เตือนสติดารามือแข็ง ไปไม่ลา-มาไม่ไหว้ / เปิดหมดเปลือก ดารารุ่นใหม่ยันเคยโดนดารารุ่นเก่าตกอับตบจริงไม่ใช่แค่แตะ! …เชื่อว่าชาวไทยเราน่าจะเคยผ่านตาพาดหัวข่าวดราม่าทำนองนี้

คู่พระนางจากซีรีส์ผู้กำกับคนเดียวกัน (จากซ้าย) Crash Course in Romance (2023) กับ Hometown Cha-Cha-Cha (2021)

แต่รู้หรือไม่เทรนด์นิยมในซีรีส์เกาหลีตอนนี้คือ นูน่า-ดงแซง (พี่สาว-น้องชาย) อย่างคู่พระนางใน Crash Course in Romance คู่นี้ ฉ่อนโด-ย็อน อายุ 50 กับ ฉ็องคย็อง-โฮ อายุ 40 สองคนนี้มีอายุห่างกัน 10 ปีพอดี ไม่ใช่เท่านั้นหากย้อนกลับไปที่ผลงานของผู้กำกับเดียวกัน Hometown Cha-Cha-Cha แม้พระนางจะมีอายุไล่เลี่ยกัน คือ ชินมิน-อา อายุ 39 ส่วนพระเอก คิมซ็อน-โฮ อายุ 37 ก็จริง แต่นางเอกชินมิน-อา เธอเข้าวงการมาตั้งแต่ปี 2001 (22 ปีก่อน) ด้วยบทนางเอกเลยทันที ส่วนคิมซ็อน-โฮ ที่ถือว่าเป็นรุ่นน้อง และเข้าวงการด้วยบทต๊อกต๋อยในปี 2017 จนบัดนี้เขามีชั่วโมงบินมาแค่ 6 ปี และเพิ่งขึ้นแท่นพระเอกก็ปี 2019 นี้เอง จัดว่าประสบการณ์ห่างชั้นกันเกือบยี่สิบปีก็ไม่ผิด

The World of the Married (2020)

แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้กำกับคนนี้ ย้อนกลับไปที่อันดับที่ 1 บนตารางซีรีส์เรตติ้งพุ่งสูงสุดตลอดกาล The World of the Married (2020) ด้วยสถิติเรตติ้ง 28.371% ที่ยังไม่มีใครคว่ำลงได้ คู่สามีภรรยาละเหี่ยใจที่แสดงโดย คิมฮี-แอ กับ พัคแฮ-จุน อายุจริงของพวกเขาห่างกัน 9 ปี

(จากซ้าย) The Glory (14ปี) / Now, We Are Breaking Up (11ปี) และ Search: WWW (12 ปี)

หรือซีรีส์ล้างแค้นล่าสุดจากเน็ตฟลิกซ์ ที่ครึ่งหลังกำลังจะสตรีมมิ่งวันที่ 10 มีนาคมนี้แล้ว The Glory นางเอก ซงฮเย-คโย ก็อายุมากกว่าพระเอก อีโด-ฮยอน ถึง 14 ปี หรือย้อนกลับไปที่พระเอกเรื่องก่อนหน้านี้ของเธอ ใน Now, We Are Breaking Up (2021) จางคี-ย็อง ก็อายุน้อยกว่าเธอถึง 11 ปี ส่วนนางเอกของ คี-ย็อง ก่อนหน้านี้ที่เด่น ๆ อย่าง Search: WWW (2019) แม้นางเอกของเขา อิมซู-จุง จะหน้าเด็กมาก ๆ แต่เธอและฮเย-คโย ทั้งคู่มาจากยุคโคเรียนเวฟระลอกแรก และนางเอก ซู-จุง อายุมากกว่าพระเอก คี-ย็อง ถึง 12 ปี

หันกลับมามองละครไทย ขณะที่ดาราที่อายุเกือบจะแตะเลข 4 ส่วนใหญ่ไม่ว่าชายหรือหญิงก็จะถูกผลักไปเล่นบทพ่อแม่ แล้วเน้นสร้างดาราสวยหล่อรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาแทน ทำให้บ่อยครั้งนางเอกส่วนหนึ่งคือเล่นบทสาวตั้งแต่ตัวจริงยังเรียนมัธยมอยู่ก็มี ไปจนถึงซีรีส์วายที่ต้องย้อนวัยไปเล่าเรื่องราววนเวียนอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยหรือมัธยมเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่ของเกาหลี อายุ 40-50 ยังเล่นเป็นนางเอก หรือบทเด่น ๆ กันอยู่เลย สิ่งนี้ นิตยสารฟอร์บ ยกเนื้อหาจากรีเสิร์ชของ แมรี ไอนสลีย์ รองศาสตราจารย์ด้านสื่อและสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม สาขาหนิงโป ประเทศจีน ที่เธอเคยให้ความเห็นว่า “การเลือกนักแสดงชายอายุน้อยกว่าเป็นผลข้างเคียงของคลื่นวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีที่รู้จักกันในนาม ฮันรยู (Hallyu=K wave) เธออธิบายว่า “สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนดูมองข้ามความแตกต่างระหว่างอายุในซีรีส์เกาหลี คือการที่เรื่องส่วนใหญ่เน้นไปให้ตัวละครหญิงเป็นศูนย์กลาง อันเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์เกาหลีมาโดยตลอด ละครเกาหลีอธิบายตัวละครแบบ “นูน่า (พี่สาว)” ในเชิงรักใคร่ และหลายเรื่องทำให้สิ่งนี้เป็นหนึ่งในอุปสรรคความรักที่ต้องฝ่าฟัน เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งนี้คือชาวบ้านต่างครหา เป็นรักต้องห้าม และไม่เป็นที่ยอมรับในครอบครัว”

ฟอร์บอธิบายว่า ‘จากข้อมูลของ ไอนสลีย์ การไหลบ่าของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีนั้นสอดคล้องกับการรับรู้ของหน่วยงานเกี่ยวกับสตรีที่เพิ่มขึ้นเช่นกันในเกาหลี อันเกิดจากการที่ผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ อันเป็นแรงงานสำคัญในเขตเมือง ในขณะที่ฮันรยูยังคงสร้างนิยามใหม่ของแนวคิดเรื่องความเป็นชายทั่วเอเชีย ที่จากเดิมล้วนเป็นแนวคิดชายเป็นใหญ่ หรือในอดีตตัวละครชายในช่วงไพร์มไทม์ มักนำเสนอรูปแบบความเป็นชายชาตินักสู้อย่างหนักหน่วงตลอดมา’

“นี่คือเหตุผลว่าทำไมเดี๋ยวนี้เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบทบาทของชายในซีรีส์เกาหลี เช่นเดียวกับที่หญิงมีประเด็นการทำงานในเมือง เป็นผู้นำ หรือเป็นตัวละครศูนย์กลางเรื่องมากกว่าแต่ก่อน” ไอนสลีย์อธิบาย ส่วนฟอร์บเสิรมด้วยว่า ‘ตามสถิติของเกาหลี ประมาณ 17.2% ของคู่แต่งงานนับตั้งแต่ปี 2019 ประกอบด้วยผู้หญิงที่อายุมากกว่าชาย’ อีซึง-อา ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย ยอนเซย์ ในโซลกล่าวว่า “แท้จริงแล้วหญิงที่อายุมากกว่าชายในทีวีเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการสะท้อนภาพสังคมปัจจุบัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์อี ยังเสริมด้วยว่า “สิ่งนี้สร้างความพึงพอใจและเติมเต็มแฟนตาซีให้กับทั้งนักเขียนที่ส่วนใหญ่เป็นหญิง และผู้ชมที่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงด้วยเช่นกัน”

ฟอร์บเสริมว่า ‘ผู้กำกับ ผู้ผลิต และนักเขียนบทส่วนใหญ่ทั่วโลกล้วนเป็นผู้ชาย แต่ในเกาหลีปัจจุบัน 90% ของผู้เขียนบทเป็นผู้หญิง ในทางกลับกันในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดของสหรัฐแม้จะมีหญิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เปอร์เซ็นต์ของผู้เขียนบทหญิงในฮอลลีวูดมีน้อยกว่ามาก คือมีไม่ถึง 30% ของทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสหรัฐ’

ยอนจิล นามปากกาหนึ่งในเว็บไซต์ seaolbeats อธิบายว่า ‘เทรนด์เหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งมีในช่วงทศวรรษนี้ อย่างน้อยเท่าที่ย้อนกลับไปได้คือนับตั้งแต่ปี 2005 จากซีรีส์เรื่อง My Lovely Kim Sam-soon (2005), What’s Up, Fox? (2006), Oh My Lady (2010) ซีรีส์เหล่านี้ล้วนใช้ความสัมพันธ์แบบนูน่าเป็นธีมหลัก และเรตติ้งพุ่งทะลักแรงมาก อันเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเรื่องทำนองนี้โดนใจผู้ชม หมายความว่าการนำเสนอมุมมองที่เปลี่ยนไปในซีรีส์เกาหลีเป็นที่ชื่นชอบของคนดู จนกลายเป็นกระแสนิยมอย่างมากในช่วงปลายยุค2000

(แถวบน) กงยู, อีดง-อุค, ซงซึง-ฮุน
(แถวล่าง) อีบยอง-ฮยุน, แจงดอง-กัน, วอนบิน

และที่น่าสนใจว่าปฏิกิริยาที่ผลักให้เกิดกระแสนี้ มาจากกองทัพ เพราะดูเหมือนเทรนด์จะเริ่มต้นเมื่อนักแสดงแม่เหล็กที่มีอายุมากขึ้นหลายคนในช่วงปี2008 ต้องออกไปปฏิบัติภารกิจทางทหารในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น กงยู, อีดง-อุค หรือ ซงซึง-ฮุน ถ้าไม่เช่นนั้นก็เกิดจากส่วนหนึ่งพวกเขาหันหลังให้วงการซีรีส์แล้วมุ่งโฟกัสไปที่วงการหนังเพียงอย่างเดียว อาทิ อีบยอง-ฮยุน, แจงดอง-กัน หรือวอนบิน’

ยุนซ็อก-ย็อล ประธานาธิบดีคนใหม่ รัฐบาลเสียงข้างน้อย

ประธานาธิบดีคนใหม่ต่อต้านสตรีนิยม

เว็บ de/code กล่าวว่า ‘เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งที่ 20 การเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สื่อเกาหลีใต้และสื่อหลายแห่งทั่วโลก ต่างกล่าวว่า นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งที่เละเทะมากที่สุดครั้งหนึ่ง และจะส่งผลให้การพัฒนาของประเทศถอยหลังในหลาย ๆ ด้าน

ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังปรากฏภาพอีกมุมของประเทศ โดยเฉพาะวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่ฝังลึกในสังคม ภายใต้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ “ผู้ชาย” น่าหลงใหลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก’

ปลายปี 2022 บีบีซี รายงานว่า ‘หญิงเกาหลีใต้ลุกขึ้นสู้ หลังรัฐบาลเล็งยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศ’

บทความเปิดหัวด้วยเรื่องเล่าของยูนา(นามสมมติ) พนักงานหญิงคนใหม่ในธนาคาร ที่หน้าที่แรกคือต้องเอาผ้าเช็ดมือของพนักงานชายกลับไปซัก เธอปฏิเสธอย่างสุภาพว่าทำไมผู้ชายถึงซักผ้าเช็ดมือเองไม่ได้ แต่หัวหน้าเธอกลับตอบว่า “เธอคาดหวังให้ผู้ชายซักผ้าเช็ดมือได้อย่างไร” ยูนาจำใจรับภาระนี้ แต่เธอก็ถูกหมายหัวไปแล้ว ขณะเดียวกันเธอก็ถ่ายคลิปเก็บหลักฐานส่งให้หน่วยงานราชการเข้ามาตรวจสอบ อันเป็นผลให้เธอถูกเพื่อนร่วมงานชายรังแก ส่วนเพื่อนร่วมงานหญิงก็ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือเธอทั้งที่พวกเธอมีวัย 20 เศษใกล้เคียงกัน
บีบีซีระบุด้วยว่า ‘ผู้หญิงมีรายได้ราว 1 ใน 3 ของผู้ชายที่ทำงานตำแหน่งเดียวกัน ส่งผลให้เกาหลีใต้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชายมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศร่ำรวย ปัจจุบันมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนของเกาหลีใต้เพียง 5.8% นอกจากจะทำงานนอกบ้านแล้ว ผู้หญิงเหล่านี้ยังได้รับการคาดหวังให้รับภาระงานบ้านและการเลี้ยงลูกด้วย’

นอกจากนี้พวกเธอยังประสบปัญหาความรุนแรง การคุกคามทางเพศ อาชญากรรมทางสื่อดิจิทัลด้วย [การประทุษร้ายและคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์เป็นปัญหาที่กำลังเพิ่มขึ้นในเกาหลีใต้ โดยในปี 2021 มีการแจ้งคดีอาชญากรรมทางเพศ 11,568 คดี เพิ่มขึ้น 82% จากปี 2020] แต่แทนที่จะให้คำมั่นในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ยุน ซ็อก-ยอล ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ [เจ้าของฉายาประธานาธิบดีขวาจัดลัทธิทรัมป์นิยม] กลับพูดว่า ปัญหาการเหยียดเพศที่ฝังรากลึกในระบบต่าง ๆ ของเกาหลีใต้นั้น “เป็นเรื่องในอดีต”

ล่าสุดนายยุนมีความพยายามให้ยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้หญิงและผู้ตกเป็นเหยื่อการทำร้ายทางเพศ โดยอ้างว่าเป็นกระทรวงที่ล้าสมัย ส่งผลให้องค์กรกว่า 800 แห่งรวมตัวกันประท้วงแผนยุบกระทรวงนี้ โดยชี้ว่านี่อาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อชีวิตของผู้หญิงเกาหลีใต้

ในปี 2018 ผู้หญิงเกาหลีใต้เป็นชาติแรก ๆ ในเอเชียที่ออกมาเคลื่อนไหวในขบวนการ #MeToo เพื่อต่อต้านปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ทว่าในเวลาต่อมาได้เกิดกระแสต่อต้านแนวคิดสตรีนิยมไปทั่วประเทศจากกลุ่มคนหนุ่มที่กังวลว่าผู้หญิงจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในสังคมที่มีการแข่งขันสูงอย่างเกาหลีใต้

การเคลื่อนไหวของชายกลุ่มนี้ทำให้ “สตรีนิยม” กลายเป็นคำแสลงหู ถึงขั้นที่ผู้หญิงบางคนรู้สึกอับอาย หรือกลัวที่จะใช้คำนี้

ลี จุน-ซ็อก วัย 37 ผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะของประธานาธิบดีคนล่าสุดกล่าวว่า “ความเสมอภาคทางเพศได้เข้าสู่ยุคใหม่ เราจำเป็นต้องมีระบบใหม่ที่ก้าวข้ามแนวคิดสตรีนิยมและมุ่งเน้นไปที่สิทธิของคนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในสังคม” เขากล่าว

แม้จะฟังดูเหมือนจะดี แต่กระทรวงความเสมอภาคทางเพศได้รับการจัดสรรงบประมาณคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% จากงบประมาณทั้งหมดของรัฐบาล ถึงอย่างนั้นผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนมากระบุว่า กระทรวงนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเธอ

นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน กระทรวงความเสมอภาคทางเพศได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อการตั้งกล้องแอบถ่าย รวมทั้งผู้หญิงที่ถูกไล่ออกจากงานเพราะตั้งครรภ์ และช่วยให้แม่เลี้ยงเดี่ยวได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น

“ฉันได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงนี้มากกว่าครอบครัวของฉันเอง…การยุบกระทรวงนี้เป็นความคิดที่อันตราย” ยูนาพนักงานธนาคารคนใหม่ที่ถูกสั่งให้ซักผ้าเช็ดมือของพนักงานชายกล่าว

เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมา ยูนา พนักงานได้รับการติดต่อจากรัฐบาลที่แจ้งว่าผลการสอบสวนพบว่าธนาคารทำผิดกฎหมายฐานคุกคามทางเพศและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งทางการมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายค่าปรับ และให้ยูนาย้ายไปทำงานที่สาขาอื่น

ตัวละครใน Itaewon Class ที่ต้นฉบับเว็บตูนเป็นกะเทยแต่งหญิง แต่ฉบับซีรีส์ใช้ผู้หญิงแสดงแทน

ความเท่าเทียมที่ไม่หลากหลาย

de/code พูดคุยกับ เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เรืองรวีให้ความเห็นว่า “เกาหลีใต้ไม่ได้แค่ สร้างสรรค์ soft power ของตัวเองให้คนดูชอบอย่างเดียว แต่เขาหยิบยก soft power เหล่านี้ยึดโยงกับการเมือง เพื่อที่จะสามารถพามันไปได้ไกลยิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการตีแผ่สังคม” คงไม่เกินจริง หาก 10 ปีที่แล้ว มีคนพูดว่าสื่อเกาหลีจะดังไปทั่วโลก คงมีแต่คนหัวเราะเยาะแน่ ๆ แต่มาตอนนี้สื่อเกาหลีได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ทั้งรูปแบบหนัง ซีรีส์ รวมถึงเพลง”

เรืองรวีเล่าถึงประสบการณ์ 3-4 ปีหลัง ที่ได้สนใจและเข้าสู่วงการติ่งเกาหลี ผ่านซีรีส์ หนัง และศิลปินเกาหลี ทว่า ภายใต้เรื่องราวหวานซึ้งกินใจ เรืองรวี เห็นถึงมิติของการผลิตซ้ำและต่อต้านวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสื่อเหล่านี้ “หากเราสังเกตดี ๆ พล็อตหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก คือเรื่องราวของผู้ชายรวย เจ้าของบริษัท ที่พบรักกับสาวน้อยหาเช้ากินค่ำ อยู่ในห้องเล็ก ๆ ”

การผลิตซ้ำวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของสื่อเกาหลีในสายตาของเรืองรวี อาจจะไม่ใช่การกดทับอย่างตรงไปตรงมาเหมือนละครไทย ที่ผู้คนโรแมนติไซซ์การข่มขืนของพระเอกหล่อ แต่เป็นการฉายภาพที่ผู้หญิงมักจะอยู่ในฐานะหรือตำแหน่งที่ต่ำกว่าผู้ชายอยู่บ่อยครั้ง กลับกัน เรืองรวี ตั้งคำถามต่อว่า ทำไม พล็อตเรื่องที่ผู้หญิงมีฐานะสูงกว่าผู้ชาย จึงมีน้อยและไม่เป็นที่นิยม

รวมถึงการสนับสนุน LGBTQIA+ เรืองรวีให้ข้อมูลของกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวว่า กระทรวงนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมเพศหลากหลายกลุ่มอื่นมากนัก ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของสิทธิสตรีและครอบครัวมากกว่า เรืองรวี เปรียบเทียบกับการสนับสนุนประเด็นนี้ในสังคมไทย อย่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่ครอบคลุมเพศหลากหลายมากกว่า

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในเกาหลีได้ที่ลิงค์นี้ https://thaipublica.org/2020/08/series-society03/

นึกย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซีรีส์เรื่องดังอย่าง ‘Itaewon class’ ก็มีการนำเสนอตัวละคร transgender ที่เป็นนักแสดงหญิงมาแสดง เราแทบจะไม่เคยเห็นซีรีส์เกาหลีหรือละครเรื่องใด ให้นักแสดงที่เพศตรงกับตัวละครในเรื่องมารับบทโดยตรงเลย การผลักดัน LGBTQIA+ ใน soft power ต่าง ๆ จึงดูกำกวมและผิวเผิน นี่ยังเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ในการชี้ชัดถึงค่านิยมผ่านศาสนาและกรอบสังคม ที่ปรากฏให้เราเห็นในสื่อเกาหลีใต้ และทำให้เราได้เห็นทิศทางผลของคะแนนที่ปรากฏในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ยุนซ็อก-ย็อล เคยถูกแซวว่าสร้างภาพอ่านหนังสือที่เป็นหน้ากระดาษเปล่า

22 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมาประชาชนลุกฮือกว่าสามแสนคน ณ จัตุรัสควังฮามุน ใจกลางโซลเพื่อขับไล่ ประธานาธิบดีคนใหม่ ยุนซ็อก-ย็อล ทั้งที่เขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 10 พฤษภาคม เพียง 5 เดือนแต่กลับมีกระแสต่อต้านอย่างหนักเพื่อเรียกร้องให้เขาลาออก เนื่องจากเขามีความพยายามที่จะทำให้ประเทศเป็นรัฐอัยการ [ซ็อก-ย็อลเคยเป็นอดีตอัยการสูงสุด และพยายามอย่างมากในการผลักดันให้ฝ่ายอัยการเข้ามามีอำนาจทางการเมือง] แถมภริยาของเขายังพัวพันกับคดีปั่นหุ้น แต่ที่ประชาชนรับไม่ได้สุด ๆ คือการไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ และปากไม่ดีเผลอพูดโดยไม่คิดอยู่บ่อย ๆ

แม้ระหว่างประท้วงจะมีฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกมาแสดงพลังในเวลาเดียวกันด้วย แต่ก็ไม่เกิดความรุนแรงแต่ใดเนื่องจากมีตำรวจเข้ามาดูแล อย่างน้อยนี่คือความงดงามของชาติประชาธิปไตยที่รัฐไม่ได้สร้างวาทกรรมว่า “การประท้วงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” และตำรวจไม่ได้ทำตัวเหมือนหน่วยควบคุมฝูงชนของไทยที่ออกมาทุบตีทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม แทนที่จะเข้ามาดูแลและอำนวยความสะดวกอย่างชาติที่ยึดหลักประชาธิปไตย และอย่างน้อยตอนนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเกาหลีก็ยังไม่ถึงขั้นเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรในแวดวงซีรีส์ แล้วถ้าจะเป็นเช่นนั้นจริงก็เชื่อว่าย่อมเกิดกระแสโต้กลับอย่างหนักเช่นกัน

ลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้าเหตุการณ์พวกนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยจริง ๆ คนไทยคงได้แต่กริบเงียบไม่หือไม่อือก้มหน้าให้รัฐบาลปู้ยี่ปู้ยำแล้วโทษว่าเป็นเรื่องของกรรมตะพึดตะพืออย่างที่เคยเป็นมา ความเจริญมันต่างกันตรงนี้ และช่วยไม่ได้จริง ๆ กับประเทศที่เคยถูกกดขี่มาตลอดก่อนจะเพิ่งลืมตาอ้าปากได้ในยุค 90s แล้วถีบตัวก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วจนตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จักวัฒนธรรมเกาหลีอีกต่อไปแล้ว…ส่วนประเทศไทยนั้น….ถอยหลังลง ถอยหลังลง แทบไม่มีบทบาท ไม่มีใครรู้จักอีกแล้วบนเวทีโลก หรือที่รัฐบาลบอกว่าอยากจะซอล์ฟพาวเวอร์แบบเกาหลี

นี่ หมายถึงเกาหลีเหนือรึเปล่า