ThaiPublica > คอลัมน์ > Someone Has to Die ในยุคเผด็จการย่อมมีคนไม่ตายดี

Someone Has to Die ในยุคเผด็จการย่อมมีคนไม่ตายดี

27 เมษายน 2021


1721955

หากมองผิวเผิน Someone Has to Die (2020) อาจเป็นซีรีส์กามราคะของชายต่างถิ่นคนหนึ่ง ที่เข้ามายุ่งขิงกับครอบครัวชนชั้นสูง เขาเป็นหนุ่มช่างฝันรักอิสระ มีเสน่ห์ไม่ว่ากับชายหรือหญิง ไม่ว่าจะอายุน้อยกว่าหรือแก่กว่า ยิ่งด้วยเรตติ้งที่ถูกจัดไว้ 18+ ยิ่งคิดไกลไปจากนี้ไม่ได้เลย และแน่นอนว่าซีรีส์นี้มีฉากหวิวกับฉากรุนแรงเหี้ยมๆ พอสมควร

แต่หากถอยออกมามองอย่างพินิจ ซีรีส์ลูกครึ่งสเปน-เม็กซิโก 3 ตอนจบเรื่องนี้ เลือกจะวางเหตุการณ์ไว้ในยุคของจอมเผด็จการนายพลฟรังโก ความซับซ้อนจึงมีมิติให้ขบคิดมากกว่านั้น โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าเนื้อเรื่องแทบไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับนายพลจอมเผด็จการคนนี้เลย แต่เรากลับรู้สึกถึงความเหี้ยมเกรียมชั่วร้ายและฉ้อฉลอันแผ่ไพศาลไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

ไม่ว่าจะเป็นรูปของท่านนายพลที่มีอยู่ทุกบ้าน ธงตราแผ่นดิน คำขวัญ คำปลุกใจ และโฆษณาชวนเชื่อ หรือแม้แต่ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ที่เผด็จการมักใช้อ้างอิงเสริมบารมีให้ตนดูน่ายกย่อง “เป็นคนดี ทำเพื่อชาติ” (แม้จะมีเบื้องหลังฟอนเฟะเละเน่าสักเท่าใด) สิ่งเหล่านี้ล้วนสื่อถึงความสวามิภักดิ์ชาตินิยม ที่ก่อผลกระทบไปทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ได้รับผลประโยชน์ หรือฝ่ายผู้เสียผลประโยชน์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แตกแยก แบ่งลำดับขั้นเชิงอำนาจ และปกครองด้วยการกดขี่ผู้เห็นต่างผิดจารีต ด้วยวิธีทารุณกรรมต่างๆ ให้พวกเขาสยบยอม อย่างไร้ปราณีและมองพวกเขาเป็นดั่งสัตว์ชั้นต่ำ ดังจะเห็นได้จากฉากผู้คุมคุกที่เอ่ยขึ้นว่า

ผู้คุมคุก: “เรากำลังชำระล้างประเทศ ให้ปลอดจากพวกปรสิต และบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา ให้กลับมาบริสุทธิ์อย่างยั่งยืน ตอนนี้เรามีคุกแล้วห้า กำลังจะสร้างเพิ่มขึ้นใหม่อีกสอง (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้ขังพวกหัวเอียงซ้ายคิดต่าง)”

ดังนั้นหากเราจะทำความเข้าใจยุคระบอบฟรังโก เราอาจเข้าใจมุมซุกเร้นที่ซีรีส์แฝงฝังอยู่ตลอดเรื่องมากขึ้นก็เป็นได้

รูปท่านผู้นำฟรังโกพร้อมคำขวัญที่ว่า “การเชื่อฟัง คืองาน ฟรังโก คือ สเปน” ก่อนจะเป็นจอมเผด็จการฟรังโก

ฟรานซิสโก ฟรังโก บาฮามอนเด (1892-1975) เกิดที่เมืองกาลิเซีย มีบิดาเป็นทหารนาวีสเปนซึ่งลือกันว่ามีจิตวิปลาส ส่วนมารดาเป็นคาทอลิกอนุรักษนิยมเคร่งระเบียบ ฟรังโกจึงเป็นส่วนผสมชั้นดีที่จะเติบโตกลายมาเป็นจอมเผด็จการ เขาจบจากโรงเรียนทหารราบติดยศร้อยตรีขณะยังมีอายุแค่ 17 ปี จากนั้นก็อาสาไปรบในโมร็อกโก จนถึงปี 1912 ขณะมีอายุเพียง 20 ปี เขาก็ได้เลื่อนยศเป็นร้อยโท ก่อนจะเลื่อนเป็นนายร้อยเอกในช่วงสงครามโลกครั้งแรก กระทั่งในปี 1925 เขาก็ถูกแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังทหารปราบต่างด้าว และด้วยผลงานการปราบปรามหัวหน้ากบฏในอาฟริกาลงได้ ทำให้เขาได้เลื่อนยศเป็นนายพลจัตวาตั้งแต่อายุเพียง 33 ปี ที่ถือว่าเป็นนายพลที่อายุน้อยที่สุด และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย

แต่หลังจากกษัตริย์อัลฟองโซที่ 13 ได้สละราชบัลลังก์ ทำให้ระบอบกษัตริย์ล่มสลายในปี 1931 สเปนได้เปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐที่มีนโยบายต่อต้านระบอบทหารอย่างรุนแรง โรงเรียนนายร้อยที่ฟรังโกดูแลอยู่ถูกสั่งยุบ เขาถูกเก็บเข้ากรุไร้บทบาทอำนาจใด แต่แล้วเมื่อมีการจัดตั้งกองทัพฝ่ายอนุรักษนิยมขึ้นมา ฟรังโกก็ได้เลื่อนยศเป็นนายพลตรีในฐานะผู้ปราบปรามจลาจลกรรมกรเหมืองถ่านหินในปี1933 ก่อนจะได้เลื่อนเป็นเสนาธิการกองทัพสเปนในอีก 2 ปีต่อมา

แต่แล้วในปี 1936 สมัยรัฐบาลกลุ่มแนวร่วมประชาชน ฟรังโกก็ถูกปลดจากตำแหน่งแล้วถูกย้ายไปเกาะคาเนรี ในปีเดียวกันนั้นเองแม้ว่าการเลือกตั้งที่ฝ่ายซ้ายพรรคแนวร่วมประชานิยม (Popular Front) จะคว้าชัยชนะมาได้ แต่ก็กลับถูกฟรังโกและนายพลอีกหลายคนนำกองกำลังฮือขึ้นต่อต้าน ทำรัฐประหารพยายามจะโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนานถึง 3 ปี

จนในปี 1939 เขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากพวกนาซีเยอรมัน และฝ่ายมุสโสลินีอิตาลี ทำให้เขาชนะสงครามในที่สุด ก่อนจะสถาปนาระบอบเผด็จการ ตั้งตนเป็นประมุขแห่งรัฐในนาม “เอล เกาดีโย (El Caudillo — ท่านผู้นำ)”

สเปนภายใต้ระบอบฟรังโก

สเปนภายใต้การนำของฟรังโก (Francoist Spain หรือ Francoist dictatorship หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า รัฐสเปน Spanish State) จึงเริ่มตั้งแต่หลังสงครามกลางเมืองในปี 1939 ไปจนถึงการสิ้นชีพของฟรังโกในปี 1975

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้สเปนจะออกปากว่าวางตัวเป็นกลาง แต่ก็กลับตีสองหน้าเอนใจให้กับพวกอักษะ เพราะฮิตเลอร์และมุสโสลินีเคยช่วยเขามาก่อน ฟรังโกจึงลอบส่งกองกำลังเสื้อสีฟ้าไปช่วยนาซีในแนวรบด้านตะวันออก พร้อมกับส่งกรรมกรจำนวนมากไปทำงานในโรงงานของเยอรมนีอย่างลับๆ แต่พอเห็นว่าฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังจะได้ชัยชนะ ฟรังโกก็รีบปรับท่าทีว่าสเปนวางตัวเป็นกลาง

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ประชาคมโลกเริ่มเห็นว่าเผด็จการเป็นภัยร้ายแรง จึงมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น แต่ฟรังโกยังคงยึดถือเผด็จการ เขาจึงเริ่มเป็นขี้ปากในกระแสต่อต้านจากชาวโลก ถึงขั้นสหประชาชาติออกตัวคว่ำบาตรและประณามว่าฟรังโกคือเผด็จการคนสุดท้ายในยุโรปที่ยังมีชีวิตอยู่ สเปนจึงกลายเป็นชาติเดียวที่ถูกตั้งข้อรังเกียจมากที่สุดในเวลานั้น กระทั่งในช่วงสงครามเย็นเมื่อกระแสสังคมนิยมเชี่ยวกรากและโลกเสรีนิยมเกิดหวาดผวาต่อภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ ฟรังโกจึงกลับได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา เพราะเขามีท่าทีต่อต้านฝ่ายซ้ายอย่างเข้มข้นมาตลอด ประชาคมโลกจึงคลายการโดดเดี่ยวสเปน

ระบอบฟรังโกในช่วงยุค 50s

วกกลับไปที่ซีรีส์ หากมองจากมุมของยุคสมัย เรื่องย่อจากที่เคยเกริ่นไว้ข้างต้นบทความจะถูกมองอีกมุมได้ว่า เหตุการณ์ใน Someone Has to Die เกิดขึ้นในช่วงยุค 50s ณ ตระกูลฟอลคอน ในวันที่ กาบิโน (อเลฮานโดร สปีเซอร์) หลานชายคนเดียวของตระกูลกำลังจะกลับมาบ้านเกิด หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ในเม็กซิโกนานถึง 10 ปี ในช่วงสงครามโลก แต่กาบิโนไม่ได้กลับมาลำพัง เขามากับ ลาซาโร (ไอแซค เฮอร์นันเดซ) เพื่อนซี้ที่รู้จักกันในเม็กซิโก ฟอลคอนเป็นตระกูลมากบารมีเพราะเกรกอริโอ (เออร์เนสโต อัลเตริโอ) ผู้เป็นพ่อมีตำแหน่งเป็นถึงรองผู้บังคับบัญชาเรือนจำ ส่วนคุณย่าเอ็มปาโร (คาร์เมน มัวรา) ก็เป็นผู้ดีสายตระกูลเก่า อดีตแชมป์แม่นปืน กาบิโนมีแม่คือ มีน่า (เซซิลลา ซูเรซ) ผู้มีเชื้อสายเม็กซิโก

กาบิโนถูกนัดหมายให้ดูตัวกับกาเยตานา (เอสเตอร์ เอ็กเปอร์ซิโต) ลูกสาวสวยเฉี่ยวแห่งตระกูลอัลดามา มหาเศรษฐีเจ้าของโรงงานทำรองเท้า ที่รายได้กำลังพุ่ง (และใช้แรงงานทาสพวกคิดต่างทางการเมือง) เธอมีพี่ชายชื่ออัลลองโซ (คาร์ลอส คัววาส) ลูกชายคนเดียวของตระกูลผู้รับช่วงสืบทอดกิจการและสมัยเด็กเขาเคยสนิทกับกาบิโน

ปมเขื่องของเรื่องคือน่าจะมีเหตุการณ์ไม่ดีบางอย่างเคยเกิดขึ้นในบ้านฟอลคอน เมื่อ 10 ปีก่อน อันเป็นช่วง 10 ปีที่กาบิโนไม่เคยรู้เลยว่าสภาพสังคม ระบอบ ระเบียบหลายอย่างเคร่งครัดและฉ้อฉลมากขึ้นกว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ลาซาโร เพื่อนชายคนสนิทที่เขาหนีบกลับมาด้วยจากต่างแดน เวลานี้พวกสเปนถูกนโยบายคลั่งชาติกล่อมเกลาให้เหยียดชนเชื้อสายอื่น ชาวเม็กซิโกหัวเสรีนิยมจึงถูกมองว่าแหกคอก แถมลาซาโรยังเป็นนักเต้นในแบบที่พวกสเปนมองว่าเหมือนกะเทย ส่วนลาซาโรเองผู้ยังหนุ่มแน่นเจ้าเสน่ห์จากต่างถิ่น กลับเนื้อหอมฉุยจนเป็นที่หมายปองของกาเยตานา ขณะที่กาบิโนดูจะชอบพอ ลาซาโรอยู่เหมือนกัน และท่าทีบางอย่างก็คล้ายว่าลาซาโรกำลังคั่วกับแม่เพื่อนอยู่ด้วย ส่วนอัลลองโซเพื่อนเก่าผู้มีความลับลึกซึ้งกับกาบิโน บางทีก็ทำตัวเป็นมิตรบางทีก็เป็นศัตรู ความซับซ้อนเหล่านี้ยิ่งเขม็งเกลียวขึ้นท่ามกลางนโยบายรัฐที่เข้มงวดมากขึ้นต่อพวกเห็นต่างนอกรีตนอกรอย

นับตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง มีกลุ่มฝ่ายซ้ายมากกว่า 580,000 คน ถูกเข่นฆ่า และอีกกว่า 200,000 รายเสียชีวิตเพราะถูกประหารชีวิต, เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ, เสียชีวิตจากความหิวโหยในค่ายกักกัน และการบีบบังคับให้พวกเขาไปเป็นทหารออกรบ ในจำนวนนี้มีอีก 130,000 คนถูกบังคับให้สูญหาย ภายในช่วง 15 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1936–1951

แต่ยิ่งปราบปรามก็ดูเหมือนผู้เห็นต่างกลับทวีจำนวนขึ้นมาก และแยบยลขึ้นในการมุดลงไปเป็นขบวนการใต้ดิน ขณะที่สเปนต้องดีลกับประชาคมโลกเพื่อปรับตัวในช่วงสงครามเย็น แต่แทนที่จะผ่อนปรนนโยบายรัฐต่างๆ สเปนกลับเลือกหนทางที่เคร่งครัดขึ้น เป็นชาตินิยมมากขึ้น เช่น กีดกันประเพณีที่ดูไม่สเปนออกไป และส่งเสริมวัฒนธรรมสู้วัวกระทิงกับเต้นฟลามิงโกขึ้นมาแทน

แต่นโยบายนี้ก็กลับกลายเป็นการโชว์โง่ของรัฐเผด็จการที่ไม่รู้จักรากเหง้าตนเอง เหตุเพราะระบำฟลามิงโกไม่ใช่วัฒนธรรมสเปนแท้ๆ แต่เป็นประเพณีของพวกอันดาลูเซีย (ชุมชนอิสระทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรสเปน) ก็เกิดการตั้งคำถามถึงสเถียรภาพและมาตรฐานของนโยบายรัฐที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อปากท้องชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย

หัวเมืองต่างๆ มีหน่วยลาดตะเวนคอยตรวจสอบอย่างไร้ความปรานี ไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนใดใด หนำซ้ำยังเป็นการกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างเนียนๆ ด้วยการเปิดช่องให้มีการจับผิด ใส่ร้ายป้ายสี ท่ามกลางสังคมอันหลากหลาย ที่มีทั้งชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ คนต่างศาสนา และผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนเหล่านี้ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว
ดังจะเห็นได้ช่วงนึงของซีรีส์ที่หนุ่มๆ ละแวกบ้านต่างเม้าท์มอยกันเกี่ยวกับลาซาโรว่า “คนนั้นรึเปล่าที่มาจากเม็กซิโก… ดูไม่ออกเลยว่ะว่าเป็นกะเทย” “เขาเป็นนักเต้น… ดูไม่ออกเลยว่าเป็น…” “หวังว่ากาบิโนจะไม่ติดเชื้อมานะ เขาว่าพวกตุ๊ดมันเหมือนเชื้อไข้”

มีการบังคับใช้ภาษากลาง เพื่อปราบปรามพวกสำเนียงท้องถิ่น เอกสารใดที่เขียนด้วยภาษาอื่นจะกลายเป็นโมฆะ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อฝ่ายได้รับผลประโยชน์ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา จากการคอร์รัปชัน ยัดเงินใต้โต๊ะ ฮั้วประโยชน์กันระหว่างทหารและพ่อค้า ส่วนฝ่ายเสียผลประโยชน์ก็จำต้องอยู่อย่างแร้นแค้นสงบปากสงบคำ

ผู้นับถือคาทอลิกจะได้รับสิทธิพิเศษเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องเป็นคาทอลิก งานบางอย่างต้องได้รับการรับรองจากศาสนจักร การแต่งงานนอกศาสนาใดใดจะถูกบังคับให้เป็นโมฆะ ห้ามหย่าร้าง ห้ามคุมกำเนิด และห้ามทำแท้ง ผู้หญิงต้องเป็นเมียที่ซื่อสัตย์ต่อสามี และเป็นแม่ที่ดูแลครอบครัวเป็นอย่างดี เพศหญิงห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง เช่น ห้ามเป็นผู้พิพากษา ห้ามเป็นพยานในการพิจารณคดี ห้ามเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รายได้ใดๆ ของหญิงสาวต้องได้รับการจัดการโดยพ่อหรือสามีเท่านั้น ไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากเองได้ จะต้องมีการลงนามจากพ่อหรือสามีเท่านั้น และในปี 1954 ผู้ค้าประเวณี หรือมีรสนิยมรักเพศเดียวกันจะถือว่ามีความผิดทางอาญา ซึ่งหมายถึงต้องถูกลากเข้าคุก ซ้อมทรมาน หรือถูกกำจัดหายไปเลย

แต่สเปนเวลานั้นมีความย้อนแย้งหลายอย่าง เพราะขณะที่ทำตัวเป็นคนดีมีศีลธรรมสูงส่ง แต่รักสนุกกับกีฬายิงปืนล่าสัตว์ และไม่ปรานีต่อการฆ่าหรือทำร้ายคนมีอำนาจต่ำกว่า แม้พวกเขาจะชาตินิยม ทระนงตน เหยียดคนอื่นที่ต่างออกไป แต่บ่อยครั้งกลับทำตัวงี่เง่า ภูมิใจในเรื่องโง่ๆ แม้แต่หลอกตัวเองก็ยอม

อย่างฉากหนึ่งเมื่อ มีน่า เข้าไปในสโมสรยิงปืนแล้วเห็นนกพิราบที่ถูกตัดหาง เพื่อให้มันไม่บินสูงเกินไปหรือออกนอกทาง เพื่อเป็นเป้าลูกปืนได้ง่ายขึ้น เธอจึงถามพนักงานสโมสรว่า

มีน่า: “ทำไมพวกเขายังคงทำเรื่องป่าเถื่อนแบบนี้ไม่เลิกนะ”
พนักงาน: ”มันเป็นทางเดียวที่จะทำให้นกพิราบไม่บินครับ… ไม่งั้นที่นี่คงไม่มีแชมป์ยิงปืนตั้งหลายคนหรอกครับ”

เป็นการเฉลยไปในตัวว่าบรรดาแชมป์แม่นปืนสไตล์สเปนไม่ได้เป็นแชมป์เพราะความเก่งฉกาจแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะนกมันถูกทำให้บินไปได้ไม่ไกล

น่าสนใจว่าภาพนกพิราบถูกสื่อให้เห็นอยู่หลายครั้ง นอกจากมันจะมีความหมายถึงเสรีภาพแล้ว มันยังไม่ต่างจากสังคมสเปนในช่วงเวลาของฟรังโกอีกด้วย คือ เป็นเหยื่อ ไปไม่ได้ไกล ห้ามออกนอกลู่นอกทาง และหลอกตนเอง

เจ้าชายฮวน คาร์ลอส (ซ้าย) นายพลฟรังโก (ขวา)

เกิดอะไรขึ้นหลังจากระบอบฟรังโก

เมื่อฟรังโกชราภาพ เขาสถาปนาสถาบันกษัตริย์กลับขึ้นมาอีกครั้งในเดือนตุลาคม 1969 แล้วเลือกเจ้าชายฮวน คาร์ลอส เพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ทันทีหลังจากที่เขาตาย โดยข้ามพระบิดาอย่าง ดอน ฮวน เดอบูร์บง ไป เพราะแสดงตัวชัดเจนว่าเป็นพวก ‘เอียงซ้าย’ และเหตุผลที่หันไปสนับสนุน ฮวน คาร์ลอส เพราะเชื่อว่า เจ้าชายผู้เป็นศิษย์ก้นกุฏิที่ฟรังโกปั้นมากับมือจะเชื่อฟังเขามากกว่า และจะรักษาอำนาจอนุรักษนิยมสุดโต่งเอาไว้ได้

แต่แล้วเมื่อฟรังโกเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะและเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายในปี 1975 ฮวน คาร์ลอส กลับประกาศเลือกข้างประชาธิปไตย ทำให้สเปนพ้นจากยุคสมัยเผด็จการอันยาวนาน เพราะรู้ดีว่าหากวางตัวเป็นกษัตริย์แบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยมีกองทัพหนุนหลัง ที่สุดจะต้องพังอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศยุโรปอื่นๆ รอบข้าง

การไม่ปรับตัวจะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ไม่นานท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก พระองค์จึงเปลี่ยนสเปนไปสู่ประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ ส่วนพระองค์เองก็ค่อยๆ ปรับตัวไปเป็น ‘ราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญ’ ค่อยๆ ลดอิทธิพลของพลพรรคฟรังโกลง แม้พระองค์จะมีอำนาจเต็มที่ แต่กลับเลือกผู้นำหัวก้าวหน้าเข้ามาปฏิรูปการปกครอง เพื่อผลักดันร่างรัฐธรรมนูญระบอบใหม่ ที่แม้จะทำให้กษัตริย์มีอำนาจน้อยที่สุด ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองน้อยที่สุด แต่กลับค่อยๆ ก่อร่างสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เบ่งบานทัดเทียมประเทศอื่นในยุโรป พรรคการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี ประชาชนชุมนุมทางการเมืองได้ นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในช่วงระบอบฟรังโกได้รับการปล่อยตัว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 1978 ที่วางรากฐานประชาธิปไตยให้สเปน ก็ผ่านฉลุยทั้งการโหวตในสภาของ ส.ส. และการลงประชามติโดยประชาชน ทำให้ชื่อของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ถูกจดจำในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้พลิกโฉมหน้าสเปนไปตลอดกาล

ในปี 1981 ทหารฝ่ายขวาอดีตที่ปรึกษากษัตริย์จับมือกับพวกฟรังโกเดิมพยายามทำรัฐประหาร ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จับกุมสมาชิกสภาและรัฐมนตรีหลายคนเป็นตัวประกันนานกว่า 18 ชั่วโมง ซ้ำยังอ้างด้วยว่ากษัตริย์ฮวน คาร์ลอส เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงคือเมื่อกษัตริย์สวมเครื่องแบบทหารเต็มยศออกถ่ายทอดสดทางทีวี ประกาศปฏิเสธการรัฐประหารอย่างไม่ไยดี และเรียกร้องให้ประชนชนออกมาปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อต้านอำนาจนอกระบบอย่างเต็มที่

พระองค์กล่าวว่า…

“สถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของความอดกลั้นและความสามัคคีกันของชาติ จะไม่ยอมรับพฤติกรรมของผู้ใดก็ตามที่พยายามจะใช้กำลังขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย ที่ชาวสเปนรับรองผ่านการออกเสียงประชามติไปแล้วก่อนหน้านี้”

พระองค์กลายเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญไปในทันที แม้แต่ขบวนการคอมมิวนิสต์เดิมยังออกมาสนับสนุนพระองค์ ส่วนนายทหารผู้ก่อรัฐประหารก็กลายเป็นกบฏถูกจำคุก 30 ปี และสเปนไม่เคยมีรัฐประหารอีกเลย

สถานการณ์ปัจจุบัน

ทุกวันนี้แม้สเปนจะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมากว่า 45 ปี แต่ผลพวงจากยุคฟรังโกยังคงตามมาหลอกหลอน จากช่วง 2 ทศวรรษแรกสเปนปรับตัวอย่างเงียบเชียบ อดกลั้นต่อบาดแผลเรื้อรังนั้น แต่ 20 ปีให้หลังครอบครัวเหยื่อเหล่านั้นถึงเพิ่งจะออกมาเรียกร้องสิทธิ์ใดๆ ซึ่งรัฐบาลสเปนก็ให้การร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น

เมื่อปี 2011 มีการก่อตั้งมูลนิธิ 26 ธันวา ในกรุงมาดริด อันหมายถึงวันที่ 26 ธันวาคม 1979 วันที่สเปนประกาศว่าชาวเกย์มิได้มีมลทินมัวหมองอย่างที่เคยถูกกล่าวร้ายอย่างรุนแรงในยุคของฟรังโก ที่เคยลงโทษชาวเกย์ในฐานะพวกนอกรีต ต้องได้รับการเยียวยาบำบัด เป็นตัวแพร่เชื้อโรคร้าย มหันตภัยร้ายแรงต่อสเปนที่ต้องถูกกำจัด โดยมูลนิธินี้ก่อตั้งมาเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของชาวเกย์ในโลกปัจจุบัน

เมื่อต้นตุลาปี 2019 แฟนบอลอาจเคยได้ข่าวว่าสโมสรบาร์เซโลนา ได้ผ่านมติคืนเหรียญรางวัลที่เคยได้รับจากนายพลฟรังโก เพราะเหรียญจากเผด็จการไม่ได้แสดงถึงเกียรติยศใด แต่มันคือความอัปยศจากฆาตกรมือเปื้อนเลือดจอมสังหารหมู่เพราะบาร์เซโลนาอยู่ในแคว้นกาตาลุญญา หนึ่งในชุมชนพื้นเมืองที่เคยถูกกีดกันอย่างโหดเหี้ยม สเปนสนับสนุนแคว้นส่วนกลางอย่างสโมสรเอสปันญอล มากกว่าถึงขนาดแปะคำนำหน้าว่าเป็น “เรอัล” หมายถึง อยู่ในพระบรมราชูปถัมป์ นั่นเองยิ่งทำให้สโมสรบาร์เซโลนาเลือกจะแสดงอัตลักษณ์แบบชาวกาตาลัน ซึ่งล้วนถูกกีดกันอย่างรุนแรงในสมัยฟรังโก

ฟุตบอลเวลานั้นถือเป็นของใหม่ แม้ฟรังโกจะไม่ได้ชื่นชอบ แต่เห็นช่องว่ามันจะเป็นเครื่องมือสร้างภาพของเขาเป็นอย่างดี ในปี 1943 นัดชิงระหว่างบาร์เซโลนา กับ เรอัล มาดริด มีเรื่องเล่าว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าไปคุยกับนักเตะบาร์เซโลนาด้วยคำพูดทำนองว่า “อย่าลืมว่าที่พวกแกเข้ามาเล่นในแผ่นดินนี้ได้ เป็นเพราะความกรุณาปรานีของฟรังโก ที่มีเมตตาต่อพวกไม่รักชาติอย่างพวกแก”

จึงไม่แปลกใจเมื่อทันทีที่ฟรังโกตาย บาร์เซโลนาก็รีบเปลี่ยนธงสโมสรกลับเป็นภาษากาตาลัน และมติล่าสุดนี้ก็เพื่อคืน 3 เหรียญตราที่เคยได้รับจากมือฟรังโกเอง โจเซฟ มาเรีย บาร์โตเมล ประธานสโมสรบาร์เซโลนา ให้ความเห็นว่า “นี่คือการให้เกียรติต่อพ่อแม่และบรรพบุรุษของเราที่ได้รับความเจ็บปวดในช่วงเผด็จการฟรังโก”

เช่นเดียวกับข่าวดังในปี 2019 คือการอัปเปหิศพฟรังโกออกจาก Valley of the Fallen อันเป็นสุสานสำหรับเหยื่อสงครามกลางเมืองของทั้งสองฝ่าย ที่ฟรังโกอ้างว่า “ที่แห่งนี้เป็นอนุสรณ์แห่งการปรองดอง” แต่มันถูกสร้างโดยแรงงานเหยื่อนักโทษทางการเมือง หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามตลอดมาว่าผู้ที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง จนส่งผลกระทบหลอกหลอนมาถึงปัจจุบันอย่างฟรังโก เหมาะควรแล้วหรือที่จะฝังร่างไว้ในสุสานทำเลทองเพื่อเชิดชูเขากลางเมืองมาดริดแห่งนี้

เพราะหลังจากมีการเปลี่ยนชื่อถนนที่เคยให้เกียรติแก่ฟรังโก รวมถึงโค่นอนุสาวรีย์ฟรังโกในหลายแห่ง แต่สิ่งที่ถกเถียงกันมานานนับตั้งแต่ฝ่ายซ้ายยื่นข้อเสนอย้ายศพในปี 2011 บัดนี้มติยืดเยื้อดังกล่าวได้บรรลุผลแล้ว โดยการย้ายศพฟรังโกและ การ์เมน โปโล ภริยาของเขาออกไปสู่สุสาน El Pardo-Mingorrubio Cemetery ทางขอบตอนเหนือของกรุงมาดริดแทน แม้ก่อนหน้านี้ครอบครัวฟรังโกได้เสนอแย้งว่า ควรฝังเขาไว้ที่ห้องฝังศพใต้ดินประจำตระกูลที่โบสถ์อัลมูเดนา ใจกลางกรุงมาดริด แต่รัฐบาลสเปนยืนยันชัดว่า “อดีตเผด็จการไม่ควรถูกฝังไว้ในที่เชิดชูเกียรติใดๆ ต่อเขา”

ปี 2020 พรรคสังคมนิยมสเปน ชูนโยบายสืบสานความทรงจำถึงผู้ตกเป็นเหยื่อตลอดมา และรัฐบาลฝ่ายซ้ายมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติความทรงจำประชาธิปไตย (Law on Democratic Memory) อันมีเนื้อหาจัดสรรงบประมาณจำนวน 750,000 ยูโร (27.6ล้านบาท) สำหรับค้นหาและขุดสุสานเหยื่อสังหารหมู่ที่ถูกฝังในยุคฟรังโก และยกเลิกการเชิดชูเกียรติฟรังโกตามสถานที่ราชการ

และล่าสุดปลายปีที่ผ่านมานี้เอง ศาลสเปนได้มีคำสั่งไปถึงครอบครัวฟรังโก ให้มอบคืนพระราชวังฤดูร้อน Pazo de Meirás (สร้างขึ้นเมื่อปี 1893 เดิมทีเป็นของครอบครัวเอมิเลีย ปาร์โด บาซัน นักเขียนชาวสเปน) ที่เคยถูกฟรังโกยึดไปเมื่อปี 1938 ให้กลับคืนมาเป็นของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์แก่สาธารณชน โดยคดีนี้เริ่มต้นในปี 2018 เมื่อตระกูลฟรังโกประกาศขายพระราชวังแห่งนี้ ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อปวงชนอย่างยิ่ง ทางวังจึงดำเนินคดีตามกฎหมายต่อตระกูลฟรังโก อันมีผลต่อมาในปี 2019 เมื่อรัฐบาลอ้างสิทธิ์ตามกฎหมายและแย้งว่าการถูกครอบครองไว้ให้เป็นสิทธิ์ของฟรังโกในยุคเผด็จการนั้น เป็นการฉ้อโกง เพราะสัญญาซื้อขายที่เคยทำไว้เมื่อปี 1941 เป็นสัญญาปลอมที่ถูกตกแต่งขึ้น คดีนี้จึงเป็นความพ่ายแพ้ครั้งล่าสุดของครอบครัวฟรังโกที่พยายามตลอดมาในการเรียกร้องพิทักษ์อดีตอันเป็นตำนานของฟรังโกมาแล้วหลายครั้ง

ในฉากส่งท้ายของ Someone Has to Die เมื่อคนในตระกูลถือปืนส่องเข้าหากัน ตัวละครพูดขึ้นว่า…

“มีเลือดของคุณไหลเวียนในตัวผมมากกว่าหนึ่งหยดครับคุณผู้หญิง”

แม้เราจะเสแสร้งใช้ถ่อยคำแบ่งแยกห่างเหินเป็นอื่นต่อกันสักเพียงใด ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือเราต่างเป็นเพื่อนร่วมชาติ คนในครอบครัว เชื้อสายเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็มีเลือดมีเนื้อเฉกเช่นเดียวกัน ใยจึงยอมศิโรราบต่อนโยบายปลุกปั่นของรัฐที่พยายามแบ่งแยกให้เราขาดจากกันอยู่ตลอดเวลา