ThaiPublica > คอลัมน์ > The Silent Sea ทำไมไซ-ไฟจึงหกเหลี่ยม?

The Silent Sea ทำไมไซ-ไฟจึงหกเหลี่ยม?

6 เมษายน 2022


1721955

บทความคราวนี้อาจไม่ได้วิเคราะห์เชิงสังคมมากนักเกี่ยวกับซีรีส์เกาหลีThe Silent Sea (24 ธันวาคม 2021 Netflix 8 ตอน)แต่มาจากข้อสังเกตของผู้เขียนที่ดูเหมือนซีรีส์ไซ-ไฟเรื่องนี้จงใจจะใช้การออกแบบทรงหกเหลี่ยมเป็นฐานรากของทุกสิ่ง ซึ่งสำหรับคอแนวไซ-ไฟแล้ว หกเหลี่ยมอาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะมันปรากฏในหนังแนวนี้มาตลอด 60 ปีที่ผ่านมา แต่คำถามคือ…ทำไมจึงหกเหลี่ยม?

ซีรีส์ The Silent Sea (2021) ดัดแปลงมาจากหนังสั้น 37 นาทีเรื่อง Mare Tranquillitatis (2014) อันเป็นผลงานทีสิสของ ชเว ฮัง-ยอง ที่เป็นผู้กำกับฉบับซีรีส์นี้ด้วย เรื่องราวเกี่ยวกับโลกอนาคตในปี 2075 เมื่อทั่วโลกกำลังขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ถึงขั้นมีการลำดับชั้นยศเพื่อให้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงน้ำ ขณะเดียวกันองค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ (SSA) ของเกาหลี ได้วางแผนจะส่งทีมหัวกะทิขึ้นไปทำภารกิจลับบนดวงจันทร์ ภารกิจของพวกเขาคือต้องไปยังสถานีวิจัยบัลแฮ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่บนดวงจันทร์ที่เรียกว่า “ทะเลสงัด (Mare Tranquillitatis)” โดยนำตัวอย่างสำคัญกลับมายังโลก ซึ่งตัวอย่างดังกล่าวถูกค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ขึ้นไปบนดวงจันทร์เมื่อ 5 ปีก่อนนี้ แต่เกิดเหตุการณ์บางอย่างทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับมาได้อีกเลย ดังนั้นช่วงแรกของซีรีส์คือ เกิดอะไรขึ้นบนสถานีวิจัยบัลแฮ และตัวอย่างสำคัญที่ว่าคืออะไร

นำแสดงโดยดาราชั้นนำคับคั่ง อาทิ แบ ดู-นา จากหนังฮอลลีวูด Cloud Atlas (2012), ซีรีส์อเมริกา Sense8 (2015-2018) และซีรีส์เกาหลียอดฮิต Kingdom (2019-2020) กงยู แดดดี้สุดหล่อจากหนังกวาดรายได้ Train to Busan (2016) และซีรีส์ฮิตอย่าง Goblin (2016) กับ Squid Game (2021) และ The Silent Sea ยังเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกอีกด้วยที่เล่าเหตุการณ์ในอวกาศทั้งเรื่อง

ผู้กำกับศิลป์ ลี นา-กวม อธิบายว่า “สถานีบัลแฮเป็นเหมือนที่ซุกซ่อนความลับอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมันยิ่งใหญ่มาก ๆ ต่อมวลมนุษยชาติในเรื่องนี้ การออกแบบให้คนดูนึกถึงความรู้สึกนั้น ฉันเลือกให้ภายนอกของสถานีดูเหมือนเป็นป้อมปราการทางทหารในยุคโบราณ ขณะเดียวกันฉันก็ให้สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในเรื่องมีขนาดใหญ่และรูปแบบอย่าง Brutalist เพื่อให้ดูหนักแน่นสมจริง ผสมผสานดีไซน์ล้ำ ๆ ด้วยทรงหกเหลี่ยมที่ให้ความรู้สึกถึงเทคโนโลยีโลกอนาคต แต่ยังคงความล้าหลังเชยนิด ๆ ด้วยโครงเรื่องที่มีความดิสโทเปียหน่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องชนชั้นหรือชั้นยศต่าง ๆ”

Hexagon

รูปทรงหกเหลี่ยม ถูกใช้เป็นรูปแบบสำคัญในงานดีไซน์เกี่ยวกับไซ-ไฟมาตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ไม่เชื่อลองย้อนกลับไปดูหนังไซ-ไฟเก่า ๆ อย่าง 2001: A Space Odyssey (1968), Silent Running (1972), Star Wars: A New Hope (1977), Star Trek: The Motion Picture (1979), Alien (1979), Outland (1981), 2010: odyssey two (1984) ฯลฯ ถ้ามันไม่ถูกวางไว้เด่น ๆ บางทีมันก็ถูกใช้เป็นพื้นหลัง บางครั้งก็ใช้ออกแบบยานหรือรถทั้งลำ เป็นลายธงประดับ หรือตัดทอนเป็นรูปทรงคล้าย ๆ กัน เช่น สี่เหลี่ยมมุมมน หรือ แปดเหลี่ยม ฯลฯ

ซิด มี้ด นักออกแบบวิช่วลอนาคตผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2019 เขาเคยออกแบบผลงานเจ๋ง ๆ ให้กับหนังอย่าง Blade Runner (1982), Elysium (2013) รวมถึงหุ่นยนต์ญี่ปุ่นในตำนาน อย่าง Gundam Turn “A” และ Turn “X” (1999) ฯลฯ ครั้งหนึ่งเขาเคยเล่าให้ฟังว่า “ต้องออกตัวก่อนว่าไอเดียนี้ผมไม่ได้คิด เพราะตอนผมเริ่มแหย่เท้าเข้าวงการหนัง คือเรื่อง Star Trek: The Motion Picture (1979) ซึ่งจะมีฉากวาร์ปยานอวกาศ และน่าจะเป็น ลีออน แฮร์รีส หนึ่งในทีมออกแบบได้เสนอรูปทรงหกเหลี่ยมขึ้นมา แต่จริง ๆ มันถูกใช้ในหนังมาหลายเรื่องก่อนหน้านั้นแล้ว ตอนนั้นแฮร์รีสเล่าให้ฟังว่า ที่รูปทรงหกเหลี่ยมเพอร์เฟ็คต์ที่สุดสำหรับหนังโลกอนาคตก็เพราะว่า โลกประกอบด้วยสสาร และหกเหลี่ยมคือรูปทรงของสสารที่มาจับกันเพื่อเป็นวัตถุต่าง ๆ ไม่แค่นั้น ในดีเอ็นเอของคนเราก็เกิดจากอนุพันธุ์ที่เกาะเกี่ยวกันเป็นรูปหกเหลี่ยม รวมถึงเรติน่าในดวงตามนุษย์ก็เป็นรูปหกเหลี่ยม เช่นเดียวกับนัยน์ตาอันละเอียดอ่อนของแมลงต่าง ๆ ล้วนเป็นทรงหกเหลี่ยมเล็ก ๆ ต่อ ๆ กัน และสิ่งที่ประหยัดพื้นที่ที่สุด แต่กลับเก็บกักได้ปริมาณมากที่สุดก็คือ รวงผึ้ง ซึ่งมีรูปทรงหกเหลี่ยมเช่นกัน”

แต่หกเหลี่ยมไม่เพียงถูกใช้ในโลกแฟนตาซีเท่านั้น ความจริงแล้วล่าสุด กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ที่องค์การนาซ่าออกแบบก็มีรูปทรงเป็นหกเหลี่ยมหลายอันต่อ ๆ กัน มันคือกล้องที่ถูกส่งออกสู่อวกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2021 (เพียงหนึ่งวันถัดจากซีรีส์ The Silent Sea ออนแอร์) เพื่อแทนที่กล้องฮับเบิลตัวเก่า โดยกล้องใหม่นี้จะไปยังอวกาศที่ลึกกว่าเดิมด้วยคุณภาพที่ชัดกว่าเดิม มันจะถูกติดตั้งยังจุดที่เรียกว่า Lagrange L2 ที่อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร อันเป็นจุดที่มนุษย์ไม่สามารถไปถึงได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม มี้ด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “แต่แนวคิดเรื่องหกเหลี่ยมถูกใช้มาตั้งแต่ปลายยุค60s แล้ว มันจึงอาจจะดูเชยไปเสียหน่อยสำหรับโลกในยุคดิจิตอล แนวคิดนี้จึงถูกต่อยอดต่อ ๆ มา อาทิ ผสมกับหลักการอย่างแอโร่ไดนามิค ที่ออกแบบให้มีความสตรีมไลน์ หรือเพรียว ลู่ลม ไปจนถึงให้วัตถุมีทรงกลมเพราะหากย้อนกลับไปเรื่องหลักการของทรงหกเหลี่ยมแล้ว หน่วยย่อยกว่าของโครงสร้างดีเอ็นเอ หรือสสารใดใด ก็คือ โมเลกุล หรืออะตอม ที่มักจะถูกสมมติด้วยทรงกลม รวมถึงสีขาวคลีน ๆ อย่างดีไซน์แบบคอมพ์พิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิตอลต่าง ๆ ของค่ายล้ำ ๆ อย่าง แอปเปิ้ล” ซึ่งหนังที่ใช้ดีไซน์ทรงกลมมนเพรียวและขาวคลีนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ Oblivion (2013)

Brutalist

จากที่ผู้กำกับศิลป์ของซีรีส์นี้ได้เอ่ยถึง Brutalist คือสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในยุค1950s ในสหราชอาณาจักร ก่อนจะกลายเป็นที่นิยมในแถบยุโรป อเมริกา และเอเชียบางประเทศ ภายใต้โครงการฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองหลังสงครามโลก จึงจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้คนจำนวนมาก ราคาประหยัดเพื่อที่ผู้คนจะสามารถเอื้อมถึงได้ และมีโครงสร้างแข็งแรงพอที่หากจะมีสงครามครั้งใหม่เกิดขึ้นมันก็จะไม่เสียหายมากนัก บางทีก็ใช้เป็นอาคารสำนักงานทางราชการ เป็นมหาวิทยาลัย เป็นโบสถ์หรือโรงเรียนสอนศาสนาก็มี เป็นอาคารที่พักรวมสำหรับผู้ประสบภัยสงคราม หรืออาคารสาธารณะต่าง ๆ โดยรูปแบบจะมีลักษณะมินิมอล ผนังเป็นคอนกรีตเปลือย โชว์องค์ประกอบโครงสร้างมากกว่าการประดับตกแต่ง มีรูปทรงเรขาคณิต เน้นรูปทรงที่ใช้แพทเทิร์นซ้ำ ๆ ตัวคำมีที่มาจากภาษาฝรั่งเศส béton brut “คอนกรีตดิบ” และ art brut “ศิลปะดิบ”

แต่ความนิยมในรูปแบบอาคารเหล่านี้เริ่มเสื่อมถอยไปภายในช่วงเวลา 20 ปีต่อมา เมื่ออาคารแบบนี้ถูกมองว่าเชื่อมโยงกับแนวคิดแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ที่กำลังแผ่อิทธิพลในหลายประเทศทางยุโรป โดยเฉพาะลักษณะอาคารขนาดใหญ่ แบบที่เกาหลีเหนือสร้างเอาไว้แสดงแสนยานุภาพ ดูทรงพลัง ไร้เครื่องประดับตกแต่ง ด้วยวัสดุสามัญธรรมดาจึงดูเป็นความเท่าเทียมในแบบคอมมิวนิสต์ไปอย่างช่วยไม่ได้ ยิ่งรวมไปถึงเหตุผลในการสร้างเพื่อชีวิตหลังสงคราม มันช่างคล้ายการสร้างสังคมโลกแบบดิสโทเปีย คนจำพวกนึงจึงมองว่ามันงาม แต่อีกหลายจำพวกก็มองว่ามันดูเย็นชาและไร้จิตวิญญาณ สุดท้ายหลาย ๆ อาคารจึงถูกปล่อยทิ้งร้าง เมื่อผู้อยู่อาศัยเลือกจะออกไปใช้ชีวิตในตึกอื่นที่ไม่ได้ดูโล่งโจ้งและมหึมาขนาดนี้

วกกลับมาที่ตัวซีรีส์ แม้ว่าช่วง 2-3 อีพีแรก ๆ จะมีบางส่วนคล้ายคลึงกับหนังสยองเยียบเย็น ๆ อย่างหนังตระกูล Alien ทั้งหลายที่มีภาคต่อ ๆ มาอย่าง Prometheus (2012) Alien: Covenant (2017) ของริดลีย์ สก็อตต์ [ซึ่งกำลังจะมีหนังภาคต่อที่ชื่อเรื่องยังคงถูกปิดเป็นความลับ แต่ลือกันว่าน่าจะลงฉายแบบสตรีมมิ่งทาง Hulu ภายในปีนี้โดยมี เฟด อัลเวอร์เรซ จากหนังสยอง Evil Dead (2013) และ Don’t Breathe (2016) รับหน้าที่กำกับ] ซึ่งอันที่จริงตัวผู้กำกับฝั่งเกาหลีก็ยอมรับว่าได้ไอเดียมาจาก Alien ไม่น้อย นั่นทำให้ฉบับหนังสั้นปี 2014 ของเขา ตัวองค์กรเจ้าของสถานีบนทะเลสงัดไม่ใช่อาคารของเกาหลี แต่เป็นของบริษัท Weyland อันเป็นบริษัทเดียวกันกับในหนังของริดลีย์ สก็อตต์

แต่หลังจากผ่านอีพีที่ 3 ไป ประเด็นหลักของซีรีส์จะปรากฏ และหักเหจากสิ่งที่ปูเอาไว้แต่แรก ไปสู่แนวคิดเรื่องทางรอดของมวลมนุษยชาติด้วยไอเดียใหม่ ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหนังเรื่องไหน แม้จะถูกนักวิจารณ์จวกก็ตามว่ามันแฟนตาซีเกินกว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ทิ้งปมนำไปสู่ความเป็นไปได้ว่าซีรีส์นี้น่าจะมีซีซั่นต่อไป

รวมถึงชื่อทะเลสงัด เป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง มันคือดินแดนแรกที่มนุษย์โลกลงจอดยานอะพอลโล 11 ในวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1969 เมื่อนีล อาร์มสตรอง เหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก และบัซซ์ อัลดริน ปักธงสหรัฐเป็นหมุดหมาย พร้อมคำประกาศของอาร์มสตรองที่ว่า “นี่คือก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์ แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” แม้ว่าเบื้องหลังการทุ่มทุนมหาศาลเพื่อเดินทางสู่อวกาศจะเป็นการแข่งขันระหว่างโลกเสรีนิยมอย่างสหรัฐ(และพวกพ้อง) กับโลกสังคมนิยมอย่างสหภาพโซเวียต(ในเวลานั้น) ที่แม้ทุกวันนี้จะล่มสลายไปแล้ว แต่การต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายก็ยังคงดำเนินอยู่ในรูปสงครามตัวแทน อย่างกรณีล่าสุดก็คือยูเครนที่มีสหรัฐหนุนหลัง

และแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากแค่ไหนในช่วง 53 ปีหลังจากมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ แต่ดวงจันทร์ก็ยังคงเป็นสถานที่นอกโลกเพียงแห่งเดียวจนบัดนี้ที่มนุษย์เคยไปถึง และก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ยังคงเป็นได้แค่คำโฆษณาอวดอ้างเท่านั้น