ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนกับการสร้าง “อาชีวศึกษา” เพื่อเศรษฐกิจหลังการหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง”

จีนกับการสร้าง “อาชีวศึกษา” เพื่อเศรษฐกิจหลังการหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง”

31 กรกฎาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://clb.org.hk/en/content/shanghai-traffic-police-target-delivery-workers-through-electronic-licence-plate-chip

หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2023 รายงานว่าการว่างงานในหมู่เยาวชนจีน กำลังกลายเป็นสถานการณ์
ที่ไม่น่ารื่นรมย์ต่อเศรษฐกิจจีน ประเด็นไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจจีน ไม่มีงานให้กับคนจีน จำนวนประชากรที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจจีน มีความต้องการคนงานมากขึ้น

แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้การสร้างงานที่ใช้ทักษะสูงและให้รายได้ตอบแทนที่ดี มีไม่มากพอกับการคาดหวังของบรรดานักศึกษาที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยออกสู่ตลาดแรงงาน ในปี 2023 นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยมีจำนวน 11.6 ล้านคน ขณะเดียวกันทางการจีนก็กล่าวว่า อุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการที่ค่าตอบแทนไม่สูงยังต้องการแรงงานมาก

ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์

หนังสือ Invisible China เขียนถึงทรัพยากรมนุษย์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไว้ว่า ประเทศที่ยากจนในโลก แรงงานแทบทั้งหมด มีอาชีพแบบเดียวกันคือ อาชีพชาวนา เมื่อประเทศเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจสูงขึ้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการจ้างงานแต่ละระดับการพัฒนา จะมีความต้องการงานที่เฉพาะด้านลงไป ประเทศรายได้ต่ำ โดยเฉลี่ยคนงานจะมีงานแบบรายได้ต่ำ และประเทศรายได้ปานกลาง โดยเฉลี่ยคนงานจะมีงานแบบรายได้ปานกลาง

งานที่มีรายได้แตกต่างกัน จะต้องการพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกัน อาชีพการเป็นชาวนาที่ดี ไม่จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาเป็นทางการ รวมทั้งการเป็นแรงงานก่อสร้าง หรือคนงานในโรงงาน ก็ไม่ต้องการการศึกษาเป็นทางการมากมาย แต่พนักงานสำนัก งานช่างเทคนิคในโรงงานไฮเทค หรือผู้เชี่ยวชาญงานบริการที่ค่าแรงสูง ต้องมีการศึกษาเป็นทางการที่สูงด้วย

Invisible China บอกว่า ประเด็นก็คือประเทศจะไม่สามารถรักษาฐานะการเป็นประเทศรายได้สูง หากแรงงานไม่มีการศึกษาพอ ที่จะเข้าไปทำงานที่ให้รายได้สูง ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ล้วนเอนเอียงเป็นคุณประโยชน์ให้กับคนที่มีทักษะประเทศรายได้สูงจึงต้องการแรงงานที่มีการศึกษาสูง ในสหรัฐฯ อังกฤษ หรือญี่ปุ่นมีเหลืองานน้อยลง สำหรับแรงงานที่ไม่จบการศึกษามัธยมปลาย หรือที่สูงกว่านี้

เพราะเหตุนี้ หากจีนอยากจะดำเนินการเหมือนเป็นประเทศรายได้สูงจำเป็นต้องมีแรงงานที่มีทักษะในการทำงานที่ให้รายได้สูง สิ่งนี้คือปัญหาท้าทายของจีน โลกในปัจจุบันประเทศยากจนสามารถพัฒนาขึ้นมามีฐานะเศรษฐกิจในระดับปานกลางได้ภายในเวลาไม่กี่สิบปี อย่างเช่น จีน ขณะที่ประเทศตะวันตกเคยใช้เวลาในการพัฒนาแบบนี้ นานนับร้อยปี

แต่ความรวดเร็วในการพัฒนาจึงกลายเป็นปัญหา เพราะทรัพยากรมนุษย์สำหรับประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงจำเป็นต้องมีการสั่งสมมาล่วงหน้า กล่าวกันว่าการที่จะยกระดับการศึกษาของแรงงานทั้งหมด รวมทั้งแรงงานที่สูงอายุแล้ว อาจใช้เวลานานถึง 45 ปี ดังนั้น ประเทศจึงต้องพัฒนาแรงงานล่วงหน้าเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่มีคุณภาพในอนาคต

ที่มาภาพ : https://www.google.co.th/books/edition/Invisible_China/LaD6DwAAQBAJ?hl=en&gbpv=1&printsec=frontcover

บทเรียนจากไต้หวัน

หนังสือ Invisible China หยิบยกกรณีความสำเร็จในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไต้หวัน ในทศวรรษ 1980 หลังจากเศรษฐกิจเติบโตมาหลายปีอย่างต่อเนื่อง แทบทุกคนในไต้หวันล้วนมีงานทำ แรงงานที่ล้นเกินถูกใช้จนหมด หนทางเดียวที่ผู้ประกอบการจะรักษาคนงานของตัวเองคือการเพิ่มค่าแรง

การเพิ่มค่าแรงทำให้ผลกำไรลดลง ผู้ประกอบการไต้หวันที่ผลิตสินค้าใช้แรงงานไร้ฝีมือ เช่น ของเด็กเล่น สิ่งทอ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
ต้องฐานย้ายการผลิตไปประเทศค่าแรงต่ำ เช่น จีน ระหว่างปี 1986-1989 งานในโรงงานของไต้หวันย้ายไปต่างประเทศถึง 300,000 งาน ช่วงปี 1990-1998 ผู้ประกอบการย้ายธุรกิจไปต่างประเทศ 80,000 ราย

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับไต้หวันหลังจากนี้ ทุกวันนี้คนที่ไปเยือนไต้หวันจะเห็นเศรษฐกิจที่คึกคัก เต็มไปด้วยงานที่ดีมีคุณภาพ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่สูง และสังคมมีเสถียรภาพ

คำถามคือไต้หวันทำอย่างไรกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ในการรับมือกับค่าแรงที่สูงขึ้น ไต้หวันพัฒนาไปสู่การผลิตห่วงโซ่อุปทานที่มีคุณค่าสูงขึ้น แทนที่จะหาทางเอาชนะการแข่งขันในตลาดโลกโดยกดค่าแรงของคนงาน

บริษัทไต้หวันสามารถสร้างความแตกต่างจาก “คุณภาพ” ของสินค้า นวัตกรรมใหม่ และชื่อเสียงของตราสินค้า เช่น Acer เวลาต่อมาไต้หวันกลายเป็นผู้นำการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ไต้หวันกลายเป็นสัญลักษณ์ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพ

เศรษฐกิจไต้หวันยังขยายตัวอย่างมาก ในด้านธุรกิจบริการ ช่วงปีทศวรรษ 1980 และ1990 คนทำงานในธุรกิจบริการแบบคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้นและอย่างรวดเร็ว ในทศวรรษ 1970 ไต้หวันมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและภัตตาคารที่เก่าแก่ ตลาดนัดกลางคืน (NightMarket) และหาบเร่แผงลอย แต่ทุกวันนี้ คนเดินทางไปไต้หวันเพื่อไปทานอาหารจีนที่ดีที่สุดในโลก ในร้านอาหารที่ตกแต่งอย่างดีเลิศ

ความสำเร็จในการพัฒนาของไต้หวัน มีลักษณะเดียวกับเกาหลีใต้ช่วงจากรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง อัตราการว่างงานมีตัวเลขแทบเป็นศูนย์ทุกคนได้ประโยชน์หมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักลงทุนที่ย้ายไปลงทุนในจีนหรือคนงาน ทั้งที่มีทักษะสูงและมีฝีมือต่ำค่าแรงสูงขึ้นกับโอกาสการมีงานทำแบบใหม่ๆ ทำให้รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นและความเหลื่อมล้ำลดลง

ที่มาภาพ : https://clb.org.hk/en/content/workers-crowdfund-hebei-food-delivery-rider%E2%80%99s-medical-bills-showing-need-work-safety

คุณภาพแรงงานจากอาชีวศึกษา

Invisible China บอกว่า กรณีของจีน แม้ทุกวันนี้ ทางการจีนแทบไม่กล่าวถึงเรื่อง “กับดักรายได้ปานกลาง” แต่เจ้าหน้าที่จีนมองปัญหานี้อย่างจริงจังและดำเนินการในการตระเตรียมแรงงานจีน สำหรับปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจในอนาคต

โดยเฉพาะการขยายการศึกษาทางวิชาการระดับสูง สำหรับกลุ่มคนชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัย การอบรมผู้ประกอบการ วิศวกร และการสร้างนักประดิษฐ์ สำหรับแรงงานทั่วไป นับจากปี 2002 จีนได้ขยายการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเพื่อรองรับนักศึกษาที่ไม่ได้ไปเรียนต่อทางสายวิชาการ หรือมหาวิทยาลัย

ในแต่ละประเทศ คำว่า “อาชีวศึกษา” มีความหมายที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปอาชีวศึกษาหมายถึง การศึกษาที่เน้นวิชาชีพ หรือการเรียนรู้เพื่อวิชาชีพ ในสหรัฐฯนักเรียนที่จะไปศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา ต้องผ่านการศึกษาระดับมันธยมปลายก่อน แต่ในหลายประเทศ อาชีวศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษารับมัธยมปลาย เช่น เยอรมันมีระบบการศึกษาด้านอาชีวะในระดับมัธยมปลาย ที่ได้รับการยกย่องว่า มีส่วนสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจเยอรมัน

Invisible China กล่าวว่า ระบบอาชีวศึกษาของจีนถูกสร้างขึ้นมาคล้ายกับระบบของเยอรมัน การศึกษาระดับมัธยมปลายของจีนมี 2 สายการเรียนรู้ ที่นักเรียนสามารถเลือกที่จะเรียนทางสายวิชาการหรือทางสายอาชีวศึกษา มัธยมปลายสายอาชีวะใช้เวลาเรียน 3 ปี ระบบการเรียนจะมีการแบ่งเวลา ระหว่างการเรียนในชั้นเรียน 2 ปี กับการฝึกอาชีพ 1 ปี วิชาที่ได้รับความนิยมในอดีตคือ การซ่อมรถยนต์ ทักษะคอมพิวเตอร์การเชื่อมโลหะ และพยาบาล

การเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่นักเรียน การลดค่าเล่าเรียน และการลดมาตรฐานทางวิชาการสำหรับการสอบเข้าเรียนอาชีวศึกษา ทำให้จีนสามารถรับนักเรียน ที่ประสงค์จะเรียนสายอาชีพ ได้หมดแทบทุกคน

ทางการจีนมองว่าการเปิดกว้างแก่นักเรียนด้านอาชีวศึกษาคือ การสร้าง “เครื่องยนต์ใหม่ของเติบโต” เป็นการเตรียมแรงงานเพื่อขั้นตอนใหม่ของเศรษฐกิจเป็นการสิ้นสุดของงานประเภทไร้ฝีมือและทำให้จีนสามารถดึงการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น

อาชีวศึกษาเพื่ออนาคต

แต่ Invisible China วิจารณ์ว่า การศึกษามัธยมปลายสายอาชีวะของจีน จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการปฏิรูป หากต้องการบรรลุเป้าหมายที่จีนเองวางไว้ว่าให้แรงงานทั่วไป มีทักษะที่จะมีบทบาทให้กับเศรษฐกิจแบบใหม่ เพราะปัญหาของจีนคือ โรงเรียนมัธยมปลายสายอาชีวะของจีนเน้นการสอนในทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจในอนาคต

คำถามมีอยู่ว่า อะไรคือ “ทักษะ” ที่จะทำให้คนงานจีนทั่วไปประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจแบบใหม่ในอนาคต คนทำงานจำเป็นต้องมีทักษะ
แบบที่เป็นประโยชน์ในการสมัครงาน แบบแรกคือทักษะเฉพาะด้านอาชีพเพื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การซ่อมรถยนต์

ทักษะแบบที่สองคือทักษะทั่วไปหรือทางวิชาการ เช่น คณิตศาสตร์ การอ่านเข้าใจ การเขียน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และภาษาอังกฤษ ทักษะทั่วไปนี้จะสอนให้นักเรียน “สามารถที่จะเรียนรู้” สิ่งใหม่ หรือทำงานอาชีพใหม่

แต่การศึกษามัธยมปลายสายอาชีวะของจีนจะเน้นและให้ความสำคัญกับทักษะทางวิชาชีพ ขณะนี้จีนในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ประเทศจะมีรายได้สูง ประเทศรายได้สูงมีพลวัตมากกว่าประเทศรายได้ปานกลาง คนงานจะทำงานแบบใหม่มีการเปลี่ยนงาน หรือต้องสามารถที่จะเรียนรู้ได้รวดเร็ว คนงานจะปรับตัวเข้ากับภาวะเศรษฐกิจใหม่ได้ ต้องมีทักษะด้านคณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์ การคิดวิเคราะห์ (critical thinking) และการสร้างสรรค์

แต่บางคนอาจมีคำถามว่า เยอรมันเองก็มีระบบมัธยมปลายสายอาชีวะ เช่นเดียวกับจีน แต่ทำไมจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันเข้มแข็ง คำตอบก็คือการศึกษามัธยมปลายสายอาชีวะของเยอรมัน ไม่ได้มีการสอนในกรอบคับแคบทางด้านวิชาชีพ นักเรียนต้องใช้เวลา 70-80% เรียนวิชาการทั่วไป เยอรมันรู้ดีว่า คนที่จบจากโรงเรียนอาชีวศึกษาจำเป็นต้องมีทักษะว่า “จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างไร”

  • อาชีวศึกษา “ระบบคู่ขนาน” ของเยอรมัน ความสำเร็จที่กลายเป็นแบบอย่างแก่นานาประเทศ
  • การศึกษาเพื่อความมั่งคั่งของประเทศ แบบอย่างของเยอรมนีและญี่ปุ่น
  • เอกสารประกอบ
    Unemployed Youth Cast Pall Over China’s Economy, 27 July 2023, Wall Street
    Journal.
    Invisible China, Scott Rozelle and Natalie Hell, The University of Chicago Press,
    2020.