ThaiPublica > เกาะกระแส > การเยือนไต้หวัน “อย่างเป็นทางการ” ของนางเพโลซี จุดชนวนความเสี่ยงสงครามสหรัฐฯ กับจีน

การเยือนไต้หวัน “อย่างเป็นทางการ” ของนางเพโลซี จุดชนวนความเสี่ยงสงครามสหรัฐฯ กับจีน

5 สิงหาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

พื้นที่การซ้อมรบของจีนประชิดเขตน่านน้ำไต้หวัน ที่มาภาพ : https://twitter.com/IndoPac_Info/status/1555528453838946305/photo/1

การเดินทางไปเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นับเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเผชิญหน้าทางยุทธศาสตร์ครั้งร้ายแรงระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือการจงใจก็ตาม รัฐบาลของโจ ไบเดน กำลังตกอยู่ในสภาพเหมือคนขับรถที่หลับในไปบนเส้นทางที่จะเกิดสงครามกับจีน

การไปเยือนไต้หวันของนางเพโลซี ทำให้เกิดการท้าทายต่อฝ่ายจีน เนื่องจากสถานภาพทางรัฐธรรมนูญของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ เป็นบุคคลอันดับที่สอง ต่อจากรองประธานาธิบดี ในการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในกรณีที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวัน

เหตุการณ์นี้จะเท่ากับเป็นการข้าม “เส้นแดง” ของจีน เส้นที่จีนถือว่าไม่มีการประนีประนอมหรือการเจรจาใดๆ แต่เมื่อประธานสภาผู้แทนฯ ไปเยือนไต้หวัน ก็เหมือนกับการไปแตะเส้นแดง

ละเมิดหลักการ “จีนประเทศเดียว”

ความสัมพันธ์ทางการทูตสหรัฐฯ กับจีน ตั้งอยู่บนแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ 1972 ที่มีสาระสำคัญแสดงถึงพันธกรณีของสหรัฐฯ ว่า “สหรัฐฯ ประกาศว่า สหรัฐฯ รับทราบ (acknowledge) จีนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนของช่องแคบไต้หวัน ถือว่ามีจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ท้าทายต่อท่าทีนี้ สหรัฐฯ ยืนหยัดอย่างหนักแน่นในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สหรัฐฯ ที่ปัญหาไต้หวันมาจากการตกลงกันอย่างสันติของฝ่ายจีนด้วยกัน”

บทความชื่อ Sleepwalking Into War With China ในเว็บไซต์compactmag.com บอกว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่มีส่วนร่างแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ 1972 บอกว่า การเดินทางไปเยือนไต้หวันของนางเพโลซี เป็นการละเมิดต่อจิตวิญญาณของแถลงการณ์ 1972 อย่างชัดเจน เพราะตามสถานภาพทางรัฐธรรมนูญของคนที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การที่บุคคลในตำแหน่งนี้ไปหารือกับรัฐบาลไต้หวัน เหมือนกับให้การรับรองว่าไต้หวันมีอำนาจอธิปไตย

ข้อความ press release ของนางเพโลซี ที่เผยแพร่หลังไปเยือนไต้หวันก็เขียนชัดเจนว่า เป็น “การไปเยือนเป็นทางการครั้งแรก” (first official visit) ในฐานะประธานสภาผู้แทนฯ รัฐบาลไบเดนเองก็ไม่ยอมรับผิดชอบต่อการไปเยือนไต้หวันของนางเพโลซี นายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็พูดว่า การตัดสินใจทั้งหมดเป็นเรื่องของประธานสภาผู้แทน แต่ปรากฏว่า นางเพโลซีเดินทางโดยเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ไม่ใช่สายการบินพาณิชย์

เมื่อเที่ยวบินทหารของนางเพโลซีออกจากมาเลเซีย ในวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 มีคนทั่วโลกติดตามเส้นทางบินที่เกิดขึ้นจริงของนางเพโลซีถึง 2.9 ล้านคน ผ่านทางเว็บไซต์ flightradar24.com ตามปกติแล้ว ชั่วโมงบินจากมาเลเซียไปไต้หวันจะใช้เวลา 4 ชั่วโมง แต่เที่ยวบินของนางเพโลซีใช้เวลา 7 ชั่วโมง เพราะต้องเลี่ยงการบินผ่านทะเลจีนใต้ โดยหันไปใช้เส้นทางบินผ่านอินโดนีเซีย แล้วบินขึ้นไปทางตะวันออกของฟิลิปปินส์แทน

พื้นที่การซ้อมรบของจีนประชิดเขตน่านน้ำไต้หวัน ที่มาภาพ : nytimes.com

จุดปะทุความขัดแย้งกรณีไต้หวัน

หนังสือ Asia’s New Geopolitics (2021) บอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความรุ่งเรืองที่มากขึ้นของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ กลายเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจ จีนและญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของโลก แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ก็เป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งด้านดินแดน ที่สามารถขยายตัวจนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงที่กว้างขวาง หลายประเทศถูกดึงเข้าไปร่วมวงด้วย และผลเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมจะมีอย่างมหาศาล

นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์มาแล้วว่า ไต้หวันจะเป็นจุดปะทุความขัดแย้งของภูมิภาคนี้ นับจากมกราคม 2016 ความสัมพันธ์จีนกับไต้หวันตกต่ำลงมาตลอด เมื่อไช่ อิง เหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรกของไต้หวัน และเดือนมกราคม 2020 เธอก็ได้รับเลือกเป็นสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียง 56% ของผู้มาลงคะแนน

Asia’s New Geopolitics กล่าวว่า นับจากช่วงปี 2000 เป็นต้นมา จีนได้พัฒนาศักยภาพทางทหาร ที่สามารถชะลอหรือยับยั้งการเข้ามาช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ แก่ไต้หวัน หากเกิดความขัดแย้งขึ้นมา จีนจะใช้ยุทธศาสตร์ทางทหารเรียกว่า “การต่อต้านการเข้าถึงพื้นที่” (anti-access/area denial) ที่รวมถึงการโจมตีเรือรบสหรัฐฯ และระบบ C4ISR ของสหรัฐฯ ที่หมายถึงระบบบัญชาการ การสื่อสาร การข่าว และการสอดแนม

อันตรายจากการเผชิญหน้าทางการทหารในช่องแคบไต้หวัน อาจมาจากการตัดสินใจผิดพลาดต่อสถานการณ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบานปลายจากเหตุการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุ Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า สงครามยูเครน สหรัฐฯ และรัสเซียไม่ได้เผชิญหน้ากันโดยตรงทางทหาร แต่สงครามในไต้หวัน จะเป็นการรบโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

เส้น Median Line ที่เคยแบ่งกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน และพื้นที่น่านฟ้าการป้องกันทางอากาศของไต้หวัน ที่มาภาพ : https://twitter.com/tingtingliuTVBS/status/1554826358345580545/photo/1

ก่อนหน้าปี 2020 ทั้งจีนกับไต้หวันยอมรับในทางพฤตินัย เรื่องเส้นแบ่งกึ่งกลางบริเวณช่องแคบไต้หวัน ที่เรียกว่า median line ไต้หวันเองใช้เป็นแนวกำหนดพื้นที่การป้องกันทางอากาศ เรียกว่า Taiwan’s Air Defense Identification Zone (ADIZ) กองทัพอากาศจีนทำการบินลาดตระเวนสอดแนม ก็จะบินตามเส้น median line นี้

แต่เมื่อเดือนกันยายน 2020 กระทรวงต่างประเทศจีนประกาศว่า “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า median line ในช่องแคบ (ไต้หวัน)”

  • หนังสือ Leadership ของ Kissinger พูดถึงความเป็นผู้นำของ ‘ลี กวนยู’
  • สงครามใหญ่จีน-ไต้หวันกำลังมา?
  • ฉากทัศน์สงครามไต้หวัน

    หลังจากสิ้นสุดการไปเยือนไต้หวัน สิ่งที่นางเพโลซีทิ้งไว้คือ โอกาสที่สถานการณ์ของการปะทะทางทหารจะเกิดขึ้น กองทัพจีนประกาศที่จะซ้อมรบใช้กระสุนจริงช่วง 4-7 สิงหาคม ในพื้นที่ 6 แถบรอบเกาะไต้หวัน โดยไต้หวันประกาศว่า ใน 3 พื้นที่การซ้อมรบ เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งของน่านน้ำไต้หวัน

    หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ทำแผนที่บริเวณการซ้อมรบของจีนที่เกิดขึ้นรอบไต้หวัน และระบุว่า บางพื้นที่ซ้อมรบบางจุดเกิดขึ้นในรัศมีแค่ 10 ไมล์ห่างจากชายฝั่งไต้หวัน มีพื้นที่ 2 แห่งที่จีนจะยิงขีปนาวุธหรือปืนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่ไต้หวันถือว่าเป็นพรมแดนทางทะเลของตัวเอง และ 5 พื้นที่การซ้อมรบครั้งนี้ จีนได้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารอย่างชัดเจน จากที่จีนเคยซ้อมรบในอดีต

    บทความของ foreignaffairs.com เรื่อง Washington Is Preparing for the Wrong War With China บอกว่า สหรัฐฯ เริ่มเอาจริงเอาจังกับเรื่องการเกิดสงครามกับจีน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ระบุว่า จีนคือฝ่ายตรงกันที่เป็นคู่ต่อสู้หลัก ผู้นำพลเรือนก็สั่งให้ฝ่ายทหารวางแผนการปกป้องไต้หวัน โจ ไบเดน ก็พูดทำนองว่า จะไม่ปล่อยให้เกาะประชาธิปไตยถูกพิชิตลง

    บทความของ foreignaffairs.com บอกว่า ดูเหมือนสหรัฐฯ กำลังเตรียมตัวทำสงครามที่ผิดพลาด หรือไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง กลาโหมสหรัฐฯ คิดว่าสหรัฐฯ สามารถเอาชนะทางทหารในช่องแคบไต้หวันในเวลาอันสั้น โดยการสกัดการบุกของจีนได้ ฝ่ายจีนก็มองว่าการโจมตีทางทหารจะสามารถเอาชนะการต่อต้านของไต้หวันอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้สถานกาณ์ที่สิ้นสุดลงและเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว

    แต่บทความ foreignaffairs.com ระบุว่า สงครามความขัดแย้งทางทหารเหนือเกาะไต้หวัน จะเป็นสงครามยาวนาน มีขอบเขตระดับภูมิภาค เป็นสงครามที่ง่ายจะปะทุขึ้นมา แต่ยากจะทำให้จบลง เป็นสงครามที่แต่ละฝ่ายแพ้ไม่ได้ แต่ละฝ่ายคิดว่า จะเป็นสงครามขนาดเล็ก เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก

    แต่ทั้งสองประเทศจะเผชิญความเสี่ยง ที่อาจมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่มหาอำนาจทำสงครามโดยตรง โดยที่แต่ละฝ่ายต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ หากไม่มีการใช้อาวุธนี้ สงครามที่รบกันแบบยาวนานจะเข้ามาแทน และผลเสียหายทางเศรษฐกิจต่อโลก จะร้ายแรงกว่าสงครามยูเครน

    ในธุรกิจการลงทุน มีคำพูดที่เป็นสัจจะความจริงว่า “สิ่งที่เป็นความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็จะสูง” แต่การไปเยือนไต้หวันของนางเพโลซี กลับย้อนแย้งความจริงข้อนี้ เพราะทำใน “สิ่งที่มีความเสี่ยงสูง แต่ได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก”

    เอกสารประกอบ
    Sleepwalking Into War With China, David P. Goldman, compass.com
    Asia’s New Geopolitics, Desmond Ball and Others, 2021, Routledge.
    Chinese military drills circling Taiwan set up a potential standoff, August 3, 2022, nytimes.com
    Washington Is Preparing for the Wrong War With China, December 2021, foreignaffairs.com