ThaiPublica > เกาะกระแส > ความสำเร็จของ Fu Tai Umbrella Group เส้นทางธุรกิจที่ขนานกับ “ความมหัศจรรย์” ของไต้หวัน

ความสำเร็จของ Fu Tai Umbrella Group เส้นทางธุรกิจที่ขนานกับ “ความมหัศจรรย์” ของไต้หวัน

22 กุมภาพันธ์ 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : CommonWealth Magazine

คนในโลกส่วนหนึ่งรู้ว่า ไอโฟน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือรองเท้าวิ่ง ผลิตโดยบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไต้หวัน และถ้าอ่านข่าวเศรษฐกิจโลก ก็คงพอจะรู้ว่าบริษัทที่ผลิตสินค้าเหล่านี้คือ Foxconn, Quanta และ Yue Yuen

ทว่า คนในโลกจำนวนมากเป็นเจ้าของสินค้าอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่สินค้าไฮเทค แต่คือร่มกันแดดและฝนซึ่งผลิตโดยบริษัท Fu Tai Umbrella Group ที่ไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเลย แต่ Fu Tai คือบริษัทของไต้หวันที่ผลิตร่มจำนวนมากที่สุดในโลก

เส้นทางการเติบโตทางธุรกิจของ Fu Tai ช่วยอธิบายให้เห็นถึงเส้นทาง “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” ของไต้หวัน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจากประเทศเกษตรกรรมมาสู่การประกอบการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ สู่การผลิตเพื่อส่งออก และสู่การลงทุนในต่างประเทศ

Fu Tai ได้เดินทางผ่านทุกสถานีในการเดินทางทางเศรษฐกิจของไต้หวันมาแล้วทั้งหมด รวมทั้งในปีทศวรรษ 1990 ได้ย้ายฐานการผลิตที่ต้องอาศัยแรงงานมากไปยังประเทศจีน เนื่องจากค่าแรงถูกกว่า และเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับนักลงทุนไต้หวันหลายพันคน ที่สร้างจีนให้กลายเป็น “โรงงานโลก”

เริ่มต้นจากธุรกิจ “ร่ม”

หนังสือชื่อ The Tiger Leading the Dragon (2021) เขียนถึงประวัติทางธุรกิจของ Fu Tai ไว้ว่า Chen Tian-fu คือผู้ก่อตั้งบริษัท Fu Tai เขาเกิดเมื่อปี 1926 ในสมัยที่ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรของญี่ปุ่น เรื่องราวชีวิตการต่อสู้ของ Chen Tian-fu เป็นกระจกเงาสะท้อนการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายสิบปีของไต้หวัน จากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม จากการผลิตเพื่อส่งออก สู่การลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่ลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ ธุรกิจของ Fu Tai เติบโตขึ้นมาจากการคว้าโอกาสที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลในแต่ละช่วง และแนวโน้มของโอกาสทางตลาด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 Chen เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นผู้จัดการบริษัทผลไม้ ธุรกิจเป็นไปแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เกษตรกรปลูกกล้วยและสับปะรดสนองตลาดญี่ปุ่น ตั้งแต่ยังหนุ่ม Chen เชื่อในคติพจน์ 2 อย่าง คือ “ให้เดินไปข้างหน้าก่อนหนึ่งก้าว” และ “หาเงินจากโอกาสระยะยาว ไม่ใช่โอกาสระยะสั้น” เนื่องจากเห็นว่าตลาดส่งออกผลไม้จะอิ่มตัวในอีกไม่นาน เขาจึงมองหาลู่ทางออกจากธุรกิจที่แข่งขันกันดุเดือด

ปี 1953 Chen ใช้เงินออมของเขา 1,300 ดอลลาร์ เปิดร้านในไทเปเพื่อผลิตร่มกันแดดกันฝน ในระยะแรก เขาอาศัยรายได้จากการส่งออกกล้วยแลกกับกรอบโครงร่มเหล็กที่ทำในญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานั้นญี่ปุ่นเป็นผู้ส่งออกร่มรายใหญ่ของโลก เขากับคนงาน 9 คนประกอบร่มทำจากผ้าได้เดือนหนึ่ง 6 พันคัน ผู้ส่งออกกล้วยรายใหญ่สุดของไต้หวันพูดล้อเลียนเขาว่า “คนอื่นขายกล้วยได้กำไรแล้วจึงไปซื้อร่ม ตอนนี้คุณกลับไปตั้งโรงงานผลิตร่ม”

ในเวลานั้น การย้ายธุรกิจมาตั้งโรงงานประกอบสินค้าเป็นเรื่องเสี่ยง รัฐบาลไต้หวันควบคุมการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเก็บภาษีสูงกับชิ้นส่วนนำเข้า เช่น โครงร่มเหล็กจากญี่ปุ่นที่ Chen ต้องการนำเข้า เขามองว่า การขายสินค้าเกษตรและผลไม้ ทำให้เกิดการสร้างความต้องการอุปสงค์ในสินค้าของผู้บริโภคขึ้นมา แทนที่จะรอให้ตลาดสินค้าผู้บริโภคพัฒนาเต็มที่ก่อน แต่เขาตัดสินใจที่จะก้าวไปก่อนหนึ่งก้าว

ร่มมีโครงเหล็กกล้าทำจากผ้าไนลอนเป็นนวัตกรรมครั้งใหญ่ เทียบกับร่มกระดาษที่คนไต้หวันใช้มานานนับร้อยปีแล้ว ร่มกระดาษมีความสวยงามแต่โครงสร้างทำจากไม้ไผ่ หลังคาร่มเป็นกระดาษเคลือบน้ำมัน ทำให้ร่มกระดาษมีราคาแพง หนัก และใช้งานไม่ดีเมื่อฝนตกหนัก ในไต้หวัน ปีหนึ่งฝนตก 180 วัน ดังนั้น ร่มผ้าไนลอนที่ใช้ได้นาน ราคาไม่แพง และน้ำหนักเบา จึงเป็นนวัตกรรมที่ประชาชนต้องการจะให้เกิดขึ้น

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Tiger-Leading-Dragon-Propelled-Economic-ebook/dp/B095VVFQ8V

ตัวอย่างคลาสสิกของ SME

หนังสือ The Tiger Leading the Dragon บอกว่า ธุรกิจร่มในระยะแรกของบริษัท Fu Tai เป็นตัวอย่าง “คลาสสิก” ของตำนานธุรกิจ “ทดแทนการนำเข้า” แรงงานราคาถูกที่มีอยู่มากมาย สามารถชดเชยการทำธุรกิจของบริษัทที่มีเทคโนโลยีต่ำและมีเงินลงทุนไม่มาก อาศัยเทคโนโลยีง่ายๆ กับชิ้นส่วนจากการนำเข้า ทำให้ Chen สามารถผลิตร่มจำนวนมากสำหรับผู้บริโภคชาวไต้หวันในราคาที่คนซื้อได้ และทำให้เขาสามารถสะสมทุนเพื่อนำไปลงทุนต่อยอดในธุรกิจ

ไม่กี่ปีต่อมา Chen ก็ทำการผลิตโครงร่มจากเหล็กกล้าด้วยตัวเอง จากที่เคยนำเข้าจากญี่ปุ่น ทำให้ Fu Tai สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับเทคโนโลยีให้สูงขึ้น รวมทั้งได้อัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำลง เนื่องจากไม่ได้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่นำเข้าวัตถุดิบที่เป็นเหล็กกล้า พัฒนาการของ Fu Tai คือการเคลื่อนย้ายจากการประกอบการผลิตแบบง่ายๆ มาสู่กระบวนประกอบการผลิต ที่ประกอบด้วยการทำโครงร่มเหล็กกล้า การทำส่วนประกอบร่มที่ทำจากพลาสติก การพิมพ์ลายผ้าไนลอน และการออกแบบ

ในการเปลี่ยนแปลงของไต้หวัน จากอาณาจักรกล้วย มาสู่อาณาจักรร่ม และอาณาจักรของเด็กเล่น การลงทุนของ Chen ก็ประสบความสำเร็จ การดำเนินงานของ Fu Tai เจริญเติบโตเป็นเครือข่ายโรงงาน ตั้งอยู่ชานเมืองไทเป ที่เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นร่ม 3 ล้านอันต่อปี และโครงเหล็กของร่มอีก 6.5 ล้านอันต่อปี ที่ Fu Tai ขายส่วนหนึ่งให้โรงงานร่มรายอื่น และส่งออกไปต่างประเทศ

ในช่วงรุ่งเรืองที่สุด อุตสาหกรรมร่มของไต้หวันสามารถครองตลาดโลก โรงงานร่มกว่า 300 แห่ง เป็นแหล่งผลิตป้อนการนำเข้าร่ม 2 ใน 3 ของสหรัฐฯและยุโรป Fu Tai Umbrella Group เป็นตัวอย่างธุรกิจของไต้หวัน ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาช่วง “อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า” และช่วง “อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก” Fu Tau ยังมีส่วนร่วมในขั้นตอนการพัฒนาที่สำคัญของไต้หวัน ที่เรียกว่า “การรับจ้างการผลิต” (contact manufacturing)

ในกลางทศวรรษ 1970 การผลิตร่ม 1 ใน 4 ของ Fu Tai ป้อนให้กับบริษัท Totes Inc. ของสหรัฐฯ การรับจ้างการผลิตถือเป็นกลยุทธทั่วไปของบริษัทในไต้หวัน ทำให้ Fu Tai สามารถหันมาทุ่มเทพัฒนาด้านที่ตัวเองถนัดคือ การพัฒนาและคุณภาพผลิตภัณฑ์ Fu Tai เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เทคโนโลยีร่มจำนวนมาก นวัตกรรมล่าสุดคือร่มที่เปิดและปิดเองอัตโนมัติ แต่ต่อมาในปี 1991 Fu Tai ก็สร้าง Brand ร่มของตัวเองในชื่อ Rainkist, Leighton และ Tina T เป็นต้น

การเติบโตของอุตสาหกรรมส่งออก ทำให้ค่าแรงสูงขึ้นมากในไต้หวัน ปี 1973 ค่าแรงเพิ่มถึง 50% ทำให้ฐานะยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมร่มของไต้หวันสิ้นสุดลงในต้นทศวรรษ 1980 ในปี 1982 Fu Tai เปิดโรงงานผลิตร่มที่คอสตาริกาและอินเดีย ปี 1990 เปิดโรงงานผลิตร่มในจีนแผ่นดินใหญ่

หนังสือ The Tiger Leading the Dragon สรุปว่า เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวัน ที่เดินทางผ่านหลายสถานี กลุ่ม Fu Tai Umbrella Group ได้เดินทางแวะผ่านมาแล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การผลิตเพื่อตลาดในประเทศ การผลิตเพื่อส่งออก การกระจายการผลิต และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ

การย้ายฐานการผลิตร่มไปยังจีนในปี 1990 กลุ่ม Fu Tai ไม่ได้เพียงแค่รักษาฐานะนำด้านอุตสาหกรรมร่มของไต้หวันเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระแสคลื่นลูกใหญ่ ที่ต่อมาสร้างจีนให้กลายเป็น “โรงงานโลก” ด้วย

ความสำเร็จของ Fu Tai Umbrella Group สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนา SME ของไต้หวัน Fu Tai เป็น SME ที่เริ่มต้นด้วยคนงาน 10 คน เป็น SME ที่มีเงินทุนจำกัดและแรงงานมีทักษะน้อย แต่สามารถพัฒนาขยายธุรกิจ จนกลายเป็นผู้ผลิตร่มรายใหญ่สุดของโลก

เอกสารประกอบ

The Tiger Leading the Dragon: How Taiwan Propelled China’s Economic Rise, Shelley Rigger, Rowman & Littlefield, 2021.