รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เมื่อปีที่แล้วเว็บไซต์ ceoworld.biz รายงานการสำรวจ Countries With The Best Health Care Systems, 2021 ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน เดนมาร์ก ออสเตรีย และญี่ปุ่น ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 13 นอร์เวย์ที่ 15 เยอรมันที่ 17 สิงคโปร์ที่ 24 สหรัฐฯที่ 30 มาเลเซียที่ 34 และฮ่องกงที่ 36
การจัดอันดับระบบสาธารณสุขของ ceoworld.biz อาศัยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณภาพโดยรวมของระบบประกันสาธารณสุข เช่น (1) โครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข (2) คุณภาพบุคลากรสาธารณสุข (แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข) (3) งบประมาณเฉลี่ยด้านสาธารณสุข ต่อประชากรหนึ่งคน (4) ความการแพร่ทั่วถึงของยามีคุณภาพ และ (6) ความพร้อมของรัฐ
จากหลักเกณฑ์ 6 อย่างดังกล่าว เกาหลีใต้ที่ติดอันดับ 1 ได้คะแนนรวม 78.72 จากทั้งหมด 100 โดยได้คะแนนมากสุดคือความพร้อมของรัฐ รองมาคือโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนไต้หวันได้คะแนนรวม 77.7 จุดเด่นคือ ความทั่วถึงของยามีคุณภาพ และโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับไทยได้คะแนนรวม 59.52 ได้คะแนนสูงในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการแพร่หลายของยามีคุณภาพ
ระบบประกันสาธารณสุขของไต้หวัน
หนังสือ Which Country Has the World’s Best Health Care? (2020) เขียนถึงระบบสาธารณสุขของไต้หวันไว้ว่า ระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั่วถึง เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ในช่วงต้น ๆ ทศวรรษ 1990 เกือบครึ่งหนึ่งของคนไต้หวันไม่มีหลักประกันสุขภาพ หากต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ก็อาศัยกองทุนการกุศล เงินออมของตัวเอง หรือที่ Lee Po-Chang ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ไปหาแพทย์ แต่ไม่ได้รับการรักษา “เมื่อรับรู้การตรวจรักษา แล้วก็กลับไปเสียชีวิตที่บ้าน”
นับจากปี 1980 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไต้หวันเติบโตสูงกว่า 10% ต่อปี และคนชั้นกลางมีเพิ่มมากขึ้น จึงมีการเรียกร้องเสรีภาพ และการบริการของรัฐในด้านสาธารณสุข ที่ประชานสามารถเข้าถึงได้ ทำให้รัฐบาลไต้หวันในเวลานั้น ศึกษาระบบประกันสุขภาพจากต่างประเทศ เพื่อหาทางสร้างระบบประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับไต้หวัน
รัฐบาลไต้หวันอาศัยคำแนะนำจาก Bill Hsiao นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เข้ามาวางระบบประกันสุขภาพในระยะแรกๆ ต่อมาทางการไต้หวันอาศัยคำแนะนำจาก Uwe Reinhardt และ Tsung-Mei Cheng นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน
นักวิชาการสองคนเสนอว่า ไต้หวันเป็นตัวอย่างโดยธรรมชาติของประเทศ ที่จะมีระบบประกันสุขภาพแบบที่เรียกว่า single-payer scheme คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับการประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุกคน จะมาจากงบประมาณรัฐ ระบบนี้เหมาะกับไต้หวัน เนื่องจากมีประชากรไม่มาก การเปลี่ยนมาสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องยกเลิกระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ เป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่มาจากกงบประมาณรัฐแห่งเดียว จะทำให้ระบบประกันสุขภาพสะท้อนคุณค่าของนโยบายรัฐบาลสำคัญ 2 อย่าง คือ ความเท่าเทียมกันของประชากร และประสิทธิภาพ คนในไต้หวันเรียกแนวคิดนี้ โดยยืมมาจากคำพูดของ Uwe Reinhardt ที่เขาเองเรียกว่า “ระบบท่อน้ำเลี้ยงเดี่ยว” (single-pipe system)
ใช้สวัสดิการของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเกณฑ์
แนวคิดระบบประกันสุขภาพ ที่อาศัยงบประมาณจากรัฐ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจ โดยให้มียกเลิกระบบประกันสุขภาพอื่นๆที่มีอยู่แล้ว และเปลี่ยนมาใช้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติแทน ค่าใช้จ่ายมาจากงบประมาณของรัฐ นักการเมืองในสภาก็นำแนวคิดนี้มาอธิปราย สะท้อนความกังวลของแพทย์ ที่กลัวว่า จะกระทบต่อรายได้ของตัวเอง ส่วนนายจ้างวิตกในเรื่องการหักภาษีจากเงินเดือนลูกจ้าง ที่จะนำมาเป็นงบประมาณของระบบประกันสุขภาพ
ในที่สุด สภาไต้หวันผ่านกฎหมายการตั้งระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance – NHI) ขึ้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 1994 ภายในเวลาไม่ถึงปี วันที่ 1 มีนาคม 1995 ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติก็เริ่มดำเนินงาน ไต้หวันสามารถเปลี่ยนผ่านได้รวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะยังใช้วิธีการดำเนินงานแบบกองทุนประกันสังคม เพียงแต่หน่วยงานรัฐบาลกลาง มาทำหน้าที่การเบิกจ่ายแทนกองทุนประกันสังคม
เพื่อให้หลักประกันว่า
ระบบบริการสาธารณสุขถ้วนหน้าที่อาศัยงบประมาณรัฐ จะไม่มีมาตรฐานบริการต่ำกว่า หรืออาจดีกว่าระบบประกันสุขภาพที่เคยมีอยู่ ทางการไต้หวันกำหนดให้ใช้มาตรฐานการรักษาพยาบาลแก่ข้าราชการของไต้หวัน เป็น baseline หรือจุดเริ่มต้นของการเปรียบเทียบมาตรฐานประกันสุขภาพของระบบใหม่
หลังจากใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ไม่กี่ปี เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายสูงกว่างบประมาณ ทำให้ต้องมีการออกกฎหมายนำรายได้ใหม่เข้ามาชดเชย เช่น การเพิ่มการหักภาษีจากผู้มีรายได้ การเพิ่มภาษีรายได้ทั่วไป และจากบุหรี่และสลากกินแบ่ง
หนังสือ Which Country Has the World’s Best Health Dare? ระบุว่า ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHI) ของไต้หวัน ประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้ คือความเท่าเทียมของคนในสังคม และประสิทธิภาพ ไต้หวันมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่คนทุกคน และเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลแล้ว งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขต่อคนก็ต่ำกว่า สาเหตุที่ระบบประกันสุขภาพของไต้หวันที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานประเทศ เพราะปัญหาฐานะทางการเมืองระหว่างประเทศ
การคุ้มครองด้านสุขภาพ
ไต้หวันมีประชากร 24 ล้านคน 99% ของประชากรได้รับการคุ้มครองการรักษาพยาบาลจากระบบประกันสุขภาพ NHI การประกันสุขภาพที่มาจากระบบของเอกชนก็ยังมีอยู่ แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำประกันสุขภาพที่ NHI ให้บริการอยู่แล้ว การทำประกันสุขภาพของเอกชนจะจ่ายเงินโดยตรงให้กับผู้เอาประกัน เพื่อนำเงินไปใช้เรื่องบริการพิเศษ เช่น ห้องรักษาพยาบาลส่วนตัว หรือส่วนต่างของค่าใช้จ่าย ที่มากกว่าการรับผิดชอบของ NHI
ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติบริหารงานโดย สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ การลงทะเบียนในระบบประกันสุขภาพเกิดขึ้นอัตโนมัติ จากการเกิด การเดินทางเข้ามาในไต้หวัน และการเข้าใช้บริการสาธารณสุขครั้งแรก ระบบสาธารณสุขครอบคลุมพลเมืองทุกคน รวมทั้งคนต่างชาติที่อยู่ในไต้หวันนานกว่า 6 เดือน
บริการของระบบประกันสุขภาพของไต้หวัน ครอบคลุมกว้างขวาง ที่รวมถึงการดูแลการเป็นคนไข้นอกและคนไข้ใน ค่ายารักษา และการดูแลด้านจิตเวท ตามปกติ จะรวมถึงการรักษาฟันและสายตาของเด็กและผู้ใหญ่ NHI ยังรับผิดชอบค่ายาสมุนไพรเดิมของจีนด้วย แต่ผู้ให้บริการต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐ และเป็นยาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของไต้หวัน
แต่มีการรักษาพยาบาลบางอย่างที่ NHI ไม่ให้การคุ้มครองดูแล ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น การคุมกำเนิด การทำแท้ง การบำบัดการเลิกบุหรี่ การบำบัดการติดยาเสพติด NHI ไม่รับผิดชอบต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่าง เช่น หูฟังหรือรถเข็น เป็นต้น ทาง NHI ให้เหตุผลว่า อุปกรณ์เหล่านี้ไม่จำเป็นต่อการรักษาโดยตรง
นักสาธารณสุขไต้หวันเห็นว่า การใช้วิธีการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมของคนไข้ จะช่วยลดการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นทางเว็บไซต์ของ NHI อธิบายว่า เหตุผลที่มีระบบการร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ก็เพื่อให้คนที่มีประกันสุขภาพตระหนักว่า ทรัพยากรสาธารณสุขมีไว้เพื่อช่วยคนป่วย และคนที่ได้รับบาดเจ็บ จะต้องไม่เกิดการสูญเปล่าใดๆของทรัพยากร แต่ระบบร่วมจ่ายของคนไข้ก็ต่ำมาก ไม่ว่าจะเป็นคนไข้นอกหรือคนไข้ใน เช่น กรณีฉุกเฉิน คนไข้ร่วมจ่ายเงินแค่ 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ
คนไต้หวันพอใจต่อ NHI
Which Country Has the World’s Best Health Care? สรุปว่า ประชากรส่วนใหญ่ของไต้หวันมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานด้านประกันสุขภาพของ NHI สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ประชาชนทุกคนได้รับการประกันสุขภาพ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยที่ไม่สร้างปัญหายากลำบากทางการเงิน คนไข้สามารถเลือกโรงพยาบาลและแพทย์ หรือเลือกจะใช้การรักษาสมัยใหม่หรือแบบดั่งเดิม
ไต้หวันยังพัฒนาการเก็บข้อมูลการแพทย์ของคนไข้แบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา ในด้านหนึ่ง ทำให้การบริการรักษาพยาบาลแบบพื้นฐานสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น อีกด้านหนึ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาศัยเป็นข้อมูลติดตามวิธีการรักษาพยาบาลของแพทย์ ที่อาจจะใช้การรักษาที่แพงเกิดเหตุจำเป็น
ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีระบบการประกันสุขภาพทั่วไปที่แตกต่างกันไป บางประเทศ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสงคราม ทำให้เกิดระบบประกันสุขภาพ เช่น กรณี National Health Service (NHS) ของอังกฤษ ที่เกิดขึ้นในปี 1946 แต่ไม่มีประเทศไหน ที่มีระบบประกันสุขภาพแก่ประชากรแล้ว ต่อมาได้ยกเลิกโครงการนี้ลง
เอกสารประกอบ
Revealed: Countries with the Best Health Care System,2021, ceoworld.biz
Which Country Has the World’s Best Health Care? Ezekiel J. Emanuel, Public Affairs, 2020.