เป็นหนี้ต้องมีวันจบครั้งนี้ เป็นเรื่องราวของ คุณครู ศิริเลิศ ชูชาติ ข้าราชการบำนาญ จังหวัดมหาสารคาม อายุ 70 กว่าปี ที่กู้เงินตั้งแต่เริ่มรับราชการ เพื่อสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัย และคิดว่าตนเองมีการชำระหนี้ตรงตามเวลาทุกงวด แต่จนเกษียณอายุมาได้ 10 กว่าปีแล้วเงินต้นแทบไม่ลดลง ซึ่ง จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า กรณีนี้ถือเป็นหนี้เรื้อรัง ที่เกิดจากการไม่มีความรู้ทางการเงิน เพราะที่ครูคิดว่า จ่ายตรงเวลานั้น เป็นการจ่ายเฉพาะหนี้ขั้นต่ำ ซึ่งไปตัดเฉพาะดอกเบี้ย แต่ไม่ตัดเงินต้น ทำให้ยอดหนี้คงค้างปัจจุบันสูงถึง 3.8 ล้านบาท
ครูศิริเลิศ เล่าว่า เริ่มรับราชการครูปี 2513 ปัจจุบันมีหนี้อยู่ 3 บัญชี บัญชีแรก กู้จากธนาคารออมสินเมื่อปี 2553 ในโครงการพัฒนาอาชีพ เป็นเงินกู้สวัสดิการที่ให้กับสมาชิก ช.พ.ค. วงเงิน 6 แสนบาทก่อน ต่อมาเงินเดือนเพิ่ม ก็กู้เพิ่มเป็น 1.2 ล้านบาท โดยเงินกู้ที่ได้ต้องหักชำระหนี้ก้อน 6 แสนบาทก่อน ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย 5.4% จากก่อนหน้านั้น 4.9% ที่ผ่านมามีการผ่อนจ่ายค่างวดมาตลอด ไม่เคยค้างชำระ มีแต่ช่วงเกิดโควิด ธนาคารพักชำระหนี้และดอกเบี้ย ล่าสุด ไปขอใบรับรองหนี้ ปรากฏว่า ตั้งแต่ปี 2553-เมษายน 2566 มียอดคงค้างหนี้ 1,034,091 บาท ทั้งที่เป็นลูกค้าชั้นดี มีการชำระหนี้ตรงเวลามาตลอด ไม่เคยขาดส่ง
นอกจากนี้ ยังมีหนี้ที่กู้จากธนาคารกรุงไทย ปี 2556 ในโครงการสินเชื่ออเนกประสงค์สำหรับผู้รับบำนาญ โดยใช้บำเหน็จตกทอดค้ำประกัน อีก 6 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 4-5% โดยให้หักหนี้จากบัญชีเงินเดือน ส่งเฉพาะดอกเบี้ยมาจนถึงปัจจุบัน 10 กว่าปี โดยเงินต้นยังเป็น 6 แสนบาทเท่าเดิม และหนี้ยอดที่สาม กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคาม ที่มีหลายโครงการ อัตราดอกเบี้ย 5.75% รวมยอดหนี้ 2,227,778 บาท รวม 3 บัญชีแล้ว ปัจจุบันมีหนี้รวม 3.8 ล้านบาท
ครูศิริเลิศ บอกว่า เงินกู้ทั้งหมดไม่ได้นำมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่เป็นการกู้มาซื้อบ้านและที่ดิน กู้มาเพื่อส่งบุตรเรียนหนังสือ เพราะความที่เป็นข้าราชการครูมีเงินเดือนน้อย ก่อนเกษียณได้รับเงินเดือน 38,000 บาท และไม่มีอาชีพเสริมอย่างอื่น ค่าเล่าเรียนบุตรต้องกู้สวัสดิการทุกอย่างที่มี รวมถึงกู้ให้ตัวเองได้เรียนหนังสือเพื่อพัฒนาตัวเองด้วย และไม่เคยซื้อรถยนต์ มีแต่มอเตอร์ไซค์เท่านั้น
“เป็นครูเกษียณ ที่มีหนี้ระดับกลาง เป็นลูกค้าชั้นดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มีรถยนต์ขับ อยู่แบบประหยัดที่สุด ทุกวันนี้ลำบากมาก และไม่มีความรู้ที่จะหาอาชีพเสริมอื่น มีแค่ทำนา ทำนาเดี๋ยวนี้ก็ลงทุนสูง ตัวเองก็ไม่แข็งแรง มีแต่ค่าใช้จ่าย มีข้าวใส่ยุ้งไว้ ไม่ได้ซื้อ ตอนนี้ ไม่มีวิธีแก้ปัญหาเลย หนี้ครูเป็นหนี้ที่ยากที่สุดทั้งประเทศขณะนี้”
นอกจากหนี้ตัวเองยังต้องค้ำประกันเพื่อนครูด้วยกันอีก และเพื่อนที่ค้ำประกันหนี้ให้ก็มีภาวการณ์ส่งชำระหนี้ไม่ปกติ ก็กังวลอยู่ หลายคนหนี้ตัวเองก็หนักเต็มบ่า เต็มเพดาน ถ้าคนที่เราค้ำส่งไม่ได้ก็โดนเจ้าหนี้ฟ้องให้ไปรับภาระหนี้แทนคนที่เราค้ำด้วย โดยเฉพาะครูเกษียณอย่างตัวเองที่เงินเดือนลดลงมากเกือบครึ่ง เงินที่เหลือแค่พอส่งหนี้ได้ บางทีก็ไม่พอ แทบจะไม่มีเงินเหลือใช้จ่ายประจำวัน อาศัยว่าเป็นคนชนบทก็ทำนา ทำสวนผักเล็ก ๆ แต่ไม่ได้รายได้ ก็ต้องประหยัดที่สุด มีชีวิตยากลำบากที่สุด ไปไหนอายชาวบ้านเพราะไม่มีเงินใช้ เก็บเงินไว้ใช้หนี้อย่างเดียว ไม่ให้มีเงินค้าง”
จิตเกษม กล่าวว่า เมื่อดูจากภาระหนี้คงค้างแล้ว เหมือนครูศิริเลิศ แต่ละงวดจะชำระเฉพาะขั้นต่ำ ทำให้เงินที่ผ่อนชำระไม่ตัดเงินต้น หรือเงินต้นลดน้อยลงมาก ทำให้เงินกู้ธนาคารออมสิน เหลือเงินต้นพอสมควร 9.7 แสนบาท การชำระขั้นต่ำตลอดเวลาจะทำให้เงินต้นลดลงไม่มาก ภาระหนี้จึงยังเหลืออยู่ กรณีนี้ถือว่าเป็นหนี้เรื้อรัง ถ้าในช่วงที่ทำงานอยู่ มีรายได้พอจะส่งหนี้ได้ จะไม่รู้สึกอะไร แต่พอรายได้ลดลง จะเห็นได้ทันทีว่า ความสามารถในการชำระมีน้อยลง พอกลับมาดูจะเห็นต้นยังเหลืออีกมากมาย จึงอยากจะแนะนำ ให้ไปคุยกับธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ว่าอยากจะจบหนี้ ปิดหนี้ จะทำอย่างไรได้บ้าง และบางครั้งต้องยอมตัดใจขายสินทรัพย์บางอย่างออกไป เพื่อนำเงินไปปิดหนี้ และครูยังมีความเสี่ยงอีกว่า เพื่อนที่ไปค้ำประกัน เริ่มไม่ไหวแล้ว ก็ต้องคุยกับเพื่อนให้ดี เพื่อนก็ต้องทำคล้ายกัน คือขายสินทรัพย์ออกบ้าง
ครูศิริเลิศ บอกว่า ทราบว่า ถ้าผ่อนชำระมากขึ้นจะทำให้ยอดหนี้หมดเร็วขึ้น แต่เนื่องจากรายได้มีจำกัด เงินเดือน 38,000 บาท ไม่สามารถส่งได้มากกว่านี้ ทำได้เพียงจ่ายค่างวดตามที่ธนาคารกำหนด โดยไม่ค้างงวด ไม่ถูกฟ้อง เพียงประคับประคองตัวเองไม่ให้โดนฟ้อง หรือถ้าส่งงวดไม่ได้ ก็จะถูกปรับให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก ส่วนการขายทรัพย์ชำระหนี้ ก็ไม่ได้มีสินทรัพย์มากมาย ไม่มีเงินเก็บ บ้านที่อยู่ก็เอาไปค้ำเงินกู้สหกรณ์ ต้องเข้าใจว่า ครูไม่ได้มีบ้าน ที่ดิน อะไรมากมาย มีเงินเดือนไม่มาก อยู่ในชนบทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทางสังคม อย่างตัวเอง ที่ดินต้องผ่อนตั้งแต่เงินเดือนไม่ถึง 1 พันบาท พอได้ที่ดินมา 1 แปลง แต่สร้างบ้านไม่ได้ ต้องเอาที่ดินนี้ไปจำนองธนาคาร ที่ดินทุกแปลงที่มีอยู่ จำนองเพื่อกู้ธนาคาร จะขายใช้หนี้ 3-4 ล้านบาทได้อย่างไร เพื่อนครูที่ไปค้ำประกันเขาก็มีที่มีบ้านในตัวเมือง ก็กู้สหกรณ์มาสร้าง ปีต่อมาเงินเดือนมากขึ้น ก็กู้มาต่อเติม แล้วจะมีเงินเก็บที่ไหน แล้วครูไม่มีโบนัส มีแต่เงินเดือน
กิจกรรมทุกกิจกรรมในโรงเรียน ครูเป็นคนจ่าย เวลาพานักเรียนไปไหน ต้องควักจ่ายเอง หรือซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่มีงบให้ เวลามีงานในหมู่บ้าน ก็จะให้ครูเป็นผู้นำในการบริจาค เขาบอก 100 บาท ก็ต้องให้ 300 บาทบ้าง 500 บาทบ้าง ไม่ได้ต้องการเอาหน้า แต่ในฐานะครู เป็นภาษีสังคม
ฉะนั้น จึงไม่มีเงินเก็บ บ้านที่อยู่ก็ค้ำเงินกู้สหกรณ์ ราคาประเมินที่ดินต่างจังหวัดก็นิดเดียว ขายออกไปก็จ่ายหนี้ไม่ได้ครึ่งหนึ่งของหนี้ที่มีอยู่ เรื่องขายนี่ตัดไปได้เลย ขายแล้วจะเช่าใครอยู่ ลูกเอง จบมา หางานไม่ได้ ลงทุนให้ลูก พอเจอโควิดไม่เหลืออะไรเลย
จิตเกษม บอกว่า ถ้าเช่นนั้น ลองไปคุยกับเจ้าหนี้ทั้งหมด สหกรณ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ขอจ่ายแต่เงินต้นอย่างเดียว หรือขอปรับโครงสร้างหนี้
ครูศิริเลิศ บอกว่า ไปคุยแล้ว คุยไปนั่งร้องไห้ไปบอกว่าไม่มีเงินใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ถามธนาคารว่าพอจะช่วยอะไรครูได้บ้าง เขาบอกว่า ให้อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว ที่จะขอให้จ่ายแต่เงินต้นอย่างเดียว เขาไม่ให้หรอก นอกจากแบงก์ชาติจะสั่งการลงมา ครูเป็นหนี้ติดลบเยอะมาก ฆ่าตัวตายก็มากมาย พอไปคุยกับธนาคารออมสิน ทุกครั้งเขาจะบอกว่าเป็นนโยบายของแบงก์ชาติ อย่างขึ้นดอกเบี้ยก็ไปถาม ทำไมต้องขึ้น เขาบอกไม่ขึ้นไม่ได้ รวมทั้งครู 90% ที่เป็นหนี้ไปขอปรับโครงสร้างหนี้ทุกที่ แต่การปรับโครงสร้างหนี้ ดอกเบี้ยยังอยู่ ไม่ช่วยให้หนี้ลดลง ดีไม่ดีดอกเบี้ยเอามาทบต้นอีก
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของชีวิตครูในชนบทคนหนึ่ง ที่เป็นหนี้เรื้อรังจนเกษียณมา 10 กว่าปีแล้วยังไม่สามารถปิดหนี้ได้ เป็นปัญหาของครูเกือบทั้งประเทศต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องเงินเดือน ภาระทางสังคม รวมถึงความรู้ทางการเงิน เกี่ยวกับการออม การหารายได้เพิ่ม ไปจนถึงการชำระหนี้ด้วย