ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (5) : ครูสู้ชีวิตตั้งใจปลดหนี้หนี้ 8 ล้าน ขอคืนความสุขครอบครัว

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (5) : ครูสู้ชีวิตตั้งใจปลดหนี้หนี้ 8 ล้าน ขอคืนความสุขครอบครัว

15 กรกฎาคม 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

เป็นหนี้ต้องมีวันจบตอนนี้ เป็นเรื่องราวของคุณครูอีกราย ที่สำนวนสมัยนี้ใช้คำว่า สู้ชีวิต แต่ถูกชีวิตสู้กลับจนแทบล้มคว่ำ เป็นหนี้ก้อนโตถึง 7-8 ล้านบาท เพราะใช้จ่ายไปกับการรักษาและดูแลลูกคนโตที่ตกชิงช้า แขนหัก ขาหัก ต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นปี ระหว่างนั้นสามีก็ตกงาน ยังมีลูกคนเล็กอายุได้ไม่ถึงขวบ ทำให้ชีวิตต้องวนเวียนอยู่กับการกู้เงินจนกลายเป็นหนี้จำนวนมหาศาล ครูจึงเข้าขอคำแนะนำจากโครงการแก้หนี้ เพราะตั้งใจจะปลดหนี้ที่มีอยู่ เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ครู เล่าที่มาของการเป็นหนี้ก้อนใหญ่ในชีวิตว่า หลังจากทำงานเป็นอัตราจ้างได้ประมาณ 2 ปี ก็สามารถสอบติดเป็นพนักงานข้าราชการ ตอนนั้นลูกคนเล็กเพิ่งอายุได้ 7 เดือน ลูกคนโตก็มาตกชิงช้า แขนหัก ขาหัก ต้องเข้าโรงพยาบาล ระหว่างนั้นก็เที่ยวยืมเงินคนรู้จักมาดูแลรักษาลูก แต่ความที่สอบผ่านพนักงานข้าราชการ ก็สมัครสหกรณ์ที่สามารถกู้ได้ทันที จึงกู้เต็มสิทธิ์ ประมาณ 5 แสนบาท แล้วมีสวัสดิการประกันชีวิตให้กู้ได้อีก เบ็ดเสร็จกู้รวม 5-6 แสนบาท เพื่อเอาไปปิดหนี้เล็ก ๆ น้อย ๆ และหนี้ซื้อรถที่เหลืออยู่ แต่พอ ลูกคนโตตกชิงช้า ต้องนอนโรงพยาบาล 3 เดือน แล้วเกิดติดเชื้อต้องพักห้องพิเศษ คืนละ 1 พันบาท ระหว่างนั้นสามีตกงาน พอได้งานก็ต้องไปย้ายไปฝึกงานที่จังหวัดระยอง 2 ปี ลูกคนเล็กก็ต้องดูแล จนต่อมาลูกคนโตถูกส่งเข้าโรงพยาบาลที่กรุงเทพเพื่อรับการผ่านตัด ก็ต้องนั่งรถเทียวไปเทียวมาทุกสองอาทิตย์ ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมาก ต้องหารายได้ทุกทาง ทั้งขายของ เล่นแชร์ ขายหวย พอคนซื้อไม่จ่ายค่าหวย ก็ต้องผ่อนจ่ายเอง เล่นหวยเองถลำลึกไปเรื่อย ๆ กู้เงินจากเพื่อน จากทุกคนที่กู้ได้ พ่อก็มาป่วยอีก นอนห้องพิเศษในโรงพยาบาล แม้จะเบิกได้ แต่ก็ต้องสำรองจ่าย เป็นภาระที่หนัก

“ย้อนกลับไปดู เราไม่เคยคำนวณค่าใช้จ่ายตอนรักษาลูก และเข้ากรุงเทพมาดูแลลูก พอไปคำนวณจำนวนมันไม่ธรรมดานะ ค่าน้ำมันรถ ค่ากิน ค่าอยู่ ค่ายาที่ต้องซื้อให้ลูก โรงพยาบาลเขาไม่ได้จ่ายยาให้ ค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้ต้องกู้หมดทุกทาง จนล้ม แชร์ก็ล้ม ทั้งแชร์ที่เล่นกับคนอื่นไว้ หรือที่ตั้งเอง พอเราล้ม เพื่อนที่กู้เงินไว้มีสัญญาด้วย เขาก็ฟ้องยึดทรัพย์ ยึดบ้าน ตอนนี้ไม่มีบ้านแล้ว กลายเป็นแบล็คลิสต์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ชีวิตเกือบตาย ต้องหลบหน้าหลบตาผู้คน อยู่ไม่ได้ แต่ยังไปสอนหนังสือปกติ ทำงานปกติ แต่พยายามไม่เจอผู้คน จากที่เคยเป็นคนที่ทำงานใคร ๆ ก็รัก แต่พอเป็นแบบนี้ก็ต้องถอย น้ำหนักลดจนเหมือนผีนอนตาย แทบไม่มีเงินไปโรงเรียน มีแค่เติมน้ำมันรถเพื่อขับไปทำงาน ห่อข้าวไปกิน ซุกแต่อยู่ในห้องพัก”

“แต่โชคดีที่มีคนดูแลเรา คือพ่อแม่ น้อง เพื่อนอีก 5-6 คนที่ไม่ทิ้งกัน รวมทั้งผู้ใหญ่โรงเรียนก็เดินเรื่องช่วยให้ปิดยอดหนี้บางส่วน ถือว่ายืนขึ้นมาได้เพราะกำลังใจจากคนข้าง ๆ จนแม่ เพื่อน บอกให้ลุกขึ้น”

ครูเล่าวว่า พอยืนขึ้นได้ พอดีเป็นช่วงโควิดระบาดปี 2563 ต้องสอนอยู่บ้าน ก็เลยทำขนมปังปิ้งขาย มีหน้าร้าน ทำไปพร้อมกับตั้งกล้องสอนหนังสือเด็ก โดยการเรียนการสอนไม่เคยขาดตกบกพร่อง พอดีขนมปังปิ้งขายได้ดี ก็เอาเงินทยอยส่งคืน ที่บ้านก็ช่วยด้วยส่วนหนึ่ง ระหว่างขายขนมปังปิ้งที่ไปได้ดี ตอนนั้นที่บ้านมีรถตู้คันหนึ่ง เคยขับรถส่งนักเรียนที่อยู่ทางผ่านไปโรงเรียน แต่ไม่ได้เก็บเงินเด็ก พอเจอโควิดก็จอดทิ้งไว้ พอดีสหกรณ์มีโครงการให้กู้ 1 แสนบาท จึงกู้เอาเงินไปแปลงรถตู้คันนี้ทำซุ้มเป็นร้านขายขนมปัง แล้วไปจอดตรงสนามกีฬาหน้าโรงเรียนทุกวัน ช่วยกันทำกับสามี วันหยุดก็ขับรถมาขายที่กรุงเทพฯ เวลามีงานต่าง ๆ พาลูกคนเล็กไปด้วย ส่วนคนโตให้อยู่บ้านดูแลยาย ระยะเวลาที่สู้ชีวิตเกือบ 2 ปี จนช่วงโควิดที่สู้หนักมาก ขับรถขายขนมปังเสร็จ ขับรถเลยบ้านเพราะร้องไห้ตลอดทาง จนป่วยเข้าโรงพยาบาล ไม่กิน ไม่อะไร แต่ยังไปไปโรงเรียนสอนปกติ โดยเงินเดือนที่ได้จะใช้หนี้หมด ส่วนรายได้จากการขายขนมปัง ที่ตอนหลังเพิ่มลูกชิ้นปิ้ง ขายน้ำ ส่วนนี้ประมาณ 4 หมื่นบาทต่อเดือนเอามาใช้จ่ายในบ้าน ส่วนสามี ก็ให้บริหารเงินในส่วนค่าใช้จ่ายของลูก ค่าน้ำ ค่าไฟ

ครูบอกว่า…

พอมีโครงการแก้หนี้ ก็เข้าไปขอคำปรึกษา ซึ่งพอได้รับคำแนะนำ ก็วางแผนว่าจะเคลียร์หนี้ให้หมดภายใน 5 ปี โดยเริ่มเคลียร์หนี้ในระบบให้หมดก่อน และจะไม่ก่อหนี้ใหม่ ไม่กู้เงินสหกรณ์ด้วย โดยหนี้ในระบบบนั้น หลังจากทยอยใช้หนี้บางส่วน และมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ทำให้มีหนี้ ธอส. เหลืออยู่ 1.88 แสนบาท หนี้ธนาคารออมสิน 2.16 แสนบาท รวม 4-5 แสนบาท ถ้าปิดหนี้ส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้มีเครดิตดีพอที่จะกู้ธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาจ่ายหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยแพง ๆ ประมาณ 5-10 บาทต่อเดือน

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (1) : ธปท. จับมือหลายภาคส่วน วางแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เน้นคุณภาพชีวิตลูกหนี้

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (2) คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้เสีย
  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (3) ธปท. คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับบริการที่เป็นธรรม
  • “ตอนไปคุยกับทางโครงการแก้หนี้ พบว่า ช่วงที่เป็นหนี้เยอะเพราะลูกตกชิงช้า อาจจะเพราะคิดไม่รอบคอบ สติน้อย ซึ่งพอย้อนกลับไปดู ก็พบว่า เราไม่รู้จักเก็บ มีเงินก็จ่ายไป ช่วยคนอื่นด้วย ถูกโกงบ้าง ตามคืนไม่ได้บ้างก็ปล่อยไป ยอดส่วนนี้เยอะอยู่ประมาณ 5 แสนบาทเอามาใช้หนี้ได้ แต่ก็ปล่อยไป ไม่ตาม และตอนนี้ก็พยายามสอนลูกให้รู้ค่าของเงิน อย่างคนเล็กจะเอาไปขายของด้วยตลอด เพราะคนโตต้องอยู่บ้านดูแลยาย สอนลูกให้ขายของ โดยมีข้อแลกเปลี่ยน คนเล็กถ้าขายไม่ได้ ขายไม่ดี แม่จะไม่ให้เงิน มีข้อแลกเปลี่ยน ถ้าขายดีจะให้วันละ 100 บาท แล้วต้องเสียบลูกชิ้น ช่วยตั้งร้าน จนเขาเริ่มรู้ค่าของเงิน ต้องสอนตั้งแต่ตอนนี้ เพราะไม่อยากให้ลูกทำผิดพลาด เหมือนเราที่ผิดพลาดใหญ่หลวง วางแผนอนาคตผิด ทำให้พ่อแม่เป็นห่วง เป็นทุกข์ใจกับเรา”

    ครูบอกว่า ชีวิตเพิ่งจะดีขึ้น หน้าตาสดใสขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และตั้งใจว่า ถ้าแก้ปัญหาหนี้ได้ ก็จะขยายไปเปิดร้าน และตั้งใจจะทำอาชีพครูต่อไป แม้ว่าจะถูกรางวัลที่ 1 ก็จะไม่ลาออกจากอาชีพครู เพราะตั้งใช้จะใช้เงินรัฐบาล