ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (7) :ใช้จ่ายเกินรายได้จนหนี้พอกเป็นล้าน… ‘ที่แก้ได้ ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยเป็นหนี้เสีย’

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (7) :ใช้จ่ายเกินรายได้จนหนี้พอกเป็นล้าน… ‘ที่แก้ได้ ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยเป็นหนี้เสีย’

23 กรกฎาคม 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

คุณเอ เป็นลูกหนี้อีกรายที่พัวพันกับหนี้สินจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ด้วยพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ที่เธอยอมรับว่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จนหนี้สินพอกพูนกลายเป็น 1 ล้านกว่าบาท แม้จะพยายามหาวิธีมาปิดบัญชีหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยืมจากคนรอบตัว ไปจนถึงการหารายได้พิเศษ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้รายได้พิเศษหายวับไป ทำให้เธอต้องวิ่งเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินไปทั่ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเจ้าหนี้สถาบันการเงินมีวิธีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่เหมือนกัน

คุณเอ เล่าว่า ตอนนี้เป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด รวม ๆ แล้วประมาณ 1 ล้านกว่าบาท กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 4 แห่ง…

สาเหตุจากความฟุ่มเฟือย มีการใช้เงินเกินตัว ซึ่งอยากให้ทุกคนยอมรับในจุดนี้ ไม่ว่าจะเอาภาระที่บ้าน ลูก หรือค่าใช้จ่ายฉุกเฉินมาอ้าง แต่สุดท้ายมันเกิดจากการใช้เงินเกินกำลัง

โดยหนี้หลักๆ แล้วเกิดจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล คือพื้นฐานคนเป็นหนี้ จะใช้บัตรเครดิตก่อน แรก ๆ ก็มีวินัยเพราะใช้จ่ายไม่มาก และมีการจ่ายคืนปกติ ไม่ได้จ่ายแต่ขั้นต่ำ แต่พอมีการใช้จ่ายเกินตัว ก็เริ่มไม่ไหว ต้องจ่ายขั้นต่ำ พอจ่ายขั้นต่ำ วงเงินก็เริ่มเต็ม ค่าใช้จ่ายส่วนเกินต้องหาสินเชื่อส่วนบุคคลมาปิด เพราะสินเชื่อส่วนบุคคลดอกเบี้ยจะถูกกว่าการกู้จากบัตรเครดิต แต่พฤติกรรมเดิมไม่หาย บัตรเครดิตก็ใช้เต็มวงเงินเหมือนเดิม กลายกู้เบอร์หนึ่ง เบอร์สอง ถ้ายังไม่หยุดใช้เงินเกินตัว หรือมีภาระ มีเรื่องฉุกเกินที่ต้องจ่าย ก็จะกลายเป็นเบอร์สาม เบอร์สี่ ตามมา คือ หมุนเงินมาจ่าย

คุณเอ บอกว่า พฤติกรรมนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 8-9 ปีก่อน และเคยพยายามปิดหนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกยืมเงินคุณพ่อมาปิดหนี้บัตรเครดิต แล้วจ่ายหนี้พ่อ ตอนนั้นชำระหนี้ แต่ไม่ยกเลิกบัตร โดยมีบัตร 2 ที่ แต่ด้วยนิสัยที่แก้ไม่หาย ใช้จ่ายเหมือนเดิม ผ่านมาอีก 2-3 ปี ก็เป็นหนี้อีก ทุกครั้งที่เกิดปัญหาก็จะไปหยิบยืมคนรอบๆ มาจ่าย เพราะว่าสามีไม่รู้ พอรู้ก็ทะเลาะกัน จนสุดท้ายเขาก็ช่วย แต่บอกไม่หมด ตอนนั้นมีบัตรเครดิต 2 ใบ บัตรกดเงินสด 1 ใบ สินเชื่อส่วนบุคคล 1 ใบ เขาก็ช่วยปิดบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ปิดแล้วก็ตัดบัตรทิ้งเลย อันนี้ก่อนเกิดโควิด

ตอนนั้นเหลือบัตรเครดิตใบเดียว และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ได้บอกเขา เพราะคิดว่าไหว ก็ผ่อนไปเรื่อย ๆ แต่นิสัยไม่เปลี่ยน และมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นด้วย จนเกิดโควิด รายได้ลดลง งานพิเศษที่เคยได้รายได้ก้อนใหญ่มาก ไม่มี มันหายไป ขณะที่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมเพราะสินเชื่อส่วนบุคคลก็ยังอยู่ เนื่องจากเป็นการผ่อนระยะยาว โควิดปีแรกคิดว่าจะรอด เอาเงินมาโปะหนี้ได้ พอปีที่สอง รายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น

“เกิดจากการใช้เงินเกินตัวทั้งรอบแรกและรอบสอง สุดท้ายอายุมากขึ้น ภาระมากขึ้น ต้องดูแลพ่อแม่ มีลูกอีก เงินเดือนไม่พอต้องหางานพิเศษ ที่ผ่านมาอยู่มาได้ โดยรอบสองกำลังจะดีขึ้น สามารถจ่ายปิดบัตรเครดิต จ่ายเต็มได้แทบทุกครั้ง มีแค่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องจ่ายเท่านั้น แต่สุดท้ายพอภาระต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น แล้วปัญหาคือ รายได้ลดลง ทำให้เงินเดือนที่ปกติไม่พอกับค่าใช้จ่ายในบ้าน ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้มีส่วนเกินขึ้นมา และยังเป็นแบบนี้อยู่ถึงทุกวันนี้ มีส่วนเกินที่งอกขึ้นมาประมาณเดือนละ 2 หมื่นบาท หนี้ก็ทบ ๆ ไปเรื่อย ตอนนี้ค่าใช้จ่ายในบ้านไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ ตัดไม่ได้ แล้วยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างค่าน้ำมัน เพราะขับรถไปทำงาน ค่ากิน ถ้าจะต้องให้ตัดค่าใช้จ่ายแบบสุดโต่ง ก็คงต้องกินข้าวมื้อเดียวต่อวัน”

คุณเอ บอกว่า มีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ ซึ่งสูตรสำเร็จ คือลดค่าใช้จ่าย หารายได้เพิ่ม ซึ่งก็พยายามลดรายจ่ายอยู่ นั่งรถเมล์ไปทำงานแทนขับรถในวันที่ไม่มีประชุม เป็นต้น ขณะที่การหารายได้เพิ่มทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะงานประจำก็เยอะมากปลีกตัวไม่ได้ งานพิเศษก็หายไปช่วงเกิดโควิด ทำให้ไม่มีเงินมาอุดรอยรั่ว ก็รั่วไปเรื่อย ๆ เหมือนถังน้ำที่กำลังรั่ว จนจะสลาย จากรายได้ที่หายไป

สุดท้าย ก็โทรไปปรึกษาสถาบันการเงินเจ้าหนี้ และธนาคารแห่งประเทศไทยโดยจะพูดทุกครั้งว่า อยากจ่ายหนี้ เพราะรู้ว่าเราเป็นหนี้ เราต้องจ่าย เรารู้ว่าเอาเงินเขามาใช้ เราต้องคืน แต่นาทีนี้มันจ่ายไม่ไหว จะทำอย่างไรดี และไม่อยากติดเครดิตบูโร ไม่อยากต้องมาคอยรับโทรศัพท์

โดยขณะนี้สามารถเจรจาปรับโครงสร้างบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกับธนาคารได้ 1 แห่ง จากที่ต้องจ่ายเดือนละ 1 หมื่นกว่าบาท ก็ลดลงมาเหลือ 5 พันกว่าบาท ทำให้เธอรู้สึกโอเคว่า อย่างน้อยมี 1 แห่งที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ ขณะเดียวกันก็พยายามติดต่อธนาคารอีกแห่งเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย และเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ ทำให้ยอดผ่อนจากเดือนละ 5 พันกว่าบาท เหลือ 3 พันกว่าบาท โดยยอดจ่ายที่ลดลง 1 พันกว่าบาทก็นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ตอนนี้ยังเหลือหนี้ก้อนใหญ่อยู่กับอีก 2 ธนาคาร ที่มียอดจ่ายเดือนละ 5 พันกว่าบาทและ 6 พันกว่าบาทที่พยายามคุยกับธนาคารตลอด โดยยังผ่อนจ่ายตามปกติ แต่การเจรจายังไม่ประสบความสำเร็จ

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (1) : ธปท. จับมือหลายภาคส่วน วางแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เน้นคุณภาพชีวิตลูกหนี้
  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (6) : คลินิกแก้หนี้ ช่วยคนเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลกลับมายืนได้
  • ระหว่างนั้น คุณเอ ได้ติดต่อแบงก์ชาติ ผ่านคอลล์เซ็นเตอร์ เพราะต้องการเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ แต่แบงก์ชาติบอกว่า กรณีของคุณเอ ยังไม่สามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ เพราะไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ กลายเป็นว่า การหมุนเงินมาผ่อนชำระทุกเดือนทำให้เข้าโครงการของรัฐไม่ได้ เพราะคลิกนิกแก้หนี้ต้องมียอดผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน คือต้องเป็นหนี้เสียก่อน ทั้งที่ควรกำหนดเงื่อนไขว่า มีหนี้เกิน 4 ธนาคารจะตอบโจทย์มากกว่า เพราะถ้าไม่มีการรวมหนี้จะแก้หนี้ได้อย่างไร ถ้ารวมหนี้แล้วจ่ายดอกเบี้ย 30% ก็ยังมีกำลังใจที่จ่าย

    อย่างไรก็ตาม พอเข้าคลินิกแก้หนี้ไม่ได้ แบงก์ชาติก็โทรหาทุกธนาคารเพื่อให้ปรับโครงสร้างหนี้ให้ โดยคุยเงื่อนไขกับธนาคารว่า ถ้ามีการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องลดดอกเบี้ยให้เหลือไม่เกิน 13% แล้วยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้เป็น 60 เดือน ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้ที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือน 2 หมื่นบาท ลดลงเหลือ 1.7 หมื่นบาท เป็นยอดที่น่าจะจ่ายไหว โดยลดค่าใช้จ่ายในบ้านลง แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น โดย 2 ธนาคารแรกที่ทำไป จำไม่ได้ว่าดอกเบี้ยเหลือเท่าไหร่ รู้แค่ลดจากยอดผ่อนเดือนหมื่นบาท เหลือ 1.7 พันบาทก็ดีใจแล้ว

    ส่วนอีก 2 ธนาคารนั้น ธนาคารหนึ่งจะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 17% จาก 18% และลดวงเงินผ่อนจ่ายลงเดือนละ 1 พันบาท ระหว่างทำเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ เขาบอกว่า ไม่ต้องจ่ายค่างวด ถ้าจ่ายจะถูกปรับเลย แล้วยอดจ่ายจากเดือนละ 5 พันบาทเหลือ 4 พันบาท ระหว่างนั้นฝ่ายทวงถามหนี้ก็โทรมาตลอด เราก็บอกว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ เขาก็บอกว่า เป็นหน้าที่เขาที่ต้องทวงถาม จน 2 เดือนผ่านไปแล้วที่ไม่ได้จ่ายค่างวด ล่าสุด ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยยอดชำระ 60 งวด ดอกเบี้ยจำไม่ได้ แต่ละเดือนจ่ายเหลือ 3500 บาท อ้าว แล้วก่อนหน้าที่บอกว่าให้จ่ายเดือนละ 4 พันบาทหมายความว่าอย่างไร อีกธนาคารหนึ่ง เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล จะลดยอดชำระหนี้ให้เดือนละ 1 พันบาท เป็นเวลา 1 ปี แต่ดอกเบี้ยจะเพิ่มจาก 18% เป็น 25% สรุปมันปรับโครงสร้างหนี้ตรงไหน เราก็บอกว่าไม่ถูกต้อง เพราะปรึกษาแบงก์ชาติแล้ว ได้ข้อมูลว่า ดอกเบี้ย 17% แต่ธนาคารบอกไม่ได้ ไม่มีนโยบายนี้ แล้วอย่างนี้จะปรับโครงสร้างหนี้ทำไม แล้วลดยอดจ่ายแค่ 1 พันบาท คือถ้าจ่ายลดครึ่งหนึ่งก็ว่าไปอย่าง ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

    สุดท้ายเดือนที่ผ่านมา ก็หาเงินมาจ่ายปิดยอดปกติ ซึ่งธนาคารบอกว่า จะทำโครงการนี้ได้ยอดต้องไม่ค้างชำระ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล คนที่ต้องการเข้าโครงการเพราะไม่มีเงินจะชำระแล้ว ถ้ามีเงินชำระจะเข้าโครงการนี้เพื่ออะไร เราเข้าใจว่า เราติดเงินคุณ เข้าใจว่าเราผิด เอาเงินคุณมาใช้ก่อน แต่ถ้ามีเงินผ่อนชำระจะเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ทำไม พอโทรไปปรึกษาแบงก์ชาติ จากนั้นธนาคารก็โทรมา แนะนำว่า ไม่ผ่อนชำระ 90 วัน เพื่อเข้าคลินิกแก้หนี้

    “คือเหมือนธนาคารบีบให้เราต้องติดเครดิตบูโรก่อน ถึงจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ ไม่เข้าใจว่า ธนาคารคิดอะไร อยากได้หนี้เสียหรือ เคยฟังไลฟ์โค้ช บอกว่า ธนาคารจะดูว่าเขาได้ยอดเท่ากับเงินต้นแล้วหรือยัง แต่คนเป็นหนี้ถ้ามีความรู้พอจะไม่เป็นหนี้ แล้วคำนวณได้ว่าธนาคารได้ดอกเบี้ยไปเพียงพอแล้วหรือยัง จะไม่เป็นหนี้หรอก มีธนาคารหนึ่ง ตอนโทรคุยกับแบงก์ จะผ่านคอลเซ็นเตอร์ ก็จะโอนสายกันไปมา แล้วบอกว่าจะติดต่อกลับ แต่ไม่มีใครติดต่อมาสักที ก็เลยไปที่แบงก์ ติดต่อที่เคาน์เตอร์เลย เขาก็โทรถามให้ สุดท้ายก็บอกว่ายังไงก็ต้องโทรคอลเซ็นเตอร์ เขาบอกว่ามีลูกค้าเดินมาแบบนี้หลายคนมาก คือลูกค้าอยากจ่าย แต่ไม่รู้ว่าทำไมธนาคารเป็นแบบนี้”

  • ธปท.ประกาศใช้มาตรการ Responsible Lending แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน 1 ม.ค. 2567
  • คุณเอ บอกว่า “หนี้ที่มีอยู่ตอนนี้ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ก็หมุนจ่ายไป ที่ผ่อนไม่ไหว บอกตามตรงว่ากำลังจะทิ้งธนาคารที่ติดต่อไม่ได้แห่งหนึ่ง ต้องปล่อย จะฟ้อง หรืออะไร ก็คุยกันอีกที เพราะสุดท้ายได้รับคำปรึกษาแล้วว่า ถ้าชำระไม่ได้ เกิน 90 วัน ติดเครดิตบูโรแล้ว จะโอนให้บริษัทจัดการหนี้สินแทน บริษัทก็จะดูว่าเขาซื้อหนี้มาเท่าไหร่ โดยอาจจะซื้อจากธนาคารในราคาถูก เพื่อไปทวงถามหนี้ต่อ เราก็อาจจะต่อรองได้ ที่แก้ได้ ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยเป็นหนี้เสีย และรอคลินิกแก้หนี้”