ThaiPublica > คอลัมน์ > แม่เกาหมกมุ่นเกินเรื่องการเรียนลูก #SAVEหยก

แม่เกาหมกมุ่นเกินเรื่องการเรียนลูก #SAVEหยก

22 มิถุนายน 2023


1721955

ซีรีส์เกาคราวนี้คงไม่เน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเจาะจง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีจนมาถึงตอนนี้ มีซีรีส์เกาหลีอย่างน้อย 3 เรื่องที่เล่าความหมกมุ่นของแม่ในด้านการศึกษาของลูก นับตั้งแต่ Crash Course in Romance ที่ตัวนางเอกต้องเผชิญดราม่าโรงเรียนกวดวิชา จากบรรดาแม่ ๆ จอมริษยาที่ไม่อยากให้ลูกใครได้ดีไปกว่าลูกตัวเอง ต่อเนื่องมาถึง The Good Bad Mother ที่เนื่องด้วยความยากจนและความอยุติธรรมที่ได้รับ แม่จึงทำตัวร้าย ๆ เพื่อผลักดันให้ลูกได้เรียนกฎหมาย ขณะที่ล่าสุด Happiness for Battle ที่ดัดแปลงจากนิยายขายดีของ จู ยอง-ฮา (ความสุขเธอนั้น ขอฉันเถอะนะ-ฉบับแปลไทยโดย วิทิยา จันทร์พันธ์) ก็วนกลับมาดราม่าสร้างภาพของบรรดาแม่ ๆ ที่พยายามขิงอวดกันว่าลูกฉันฉลาดเด่นเก่งกว่าใครตั้งแต่น้อง ๆ ยังวัยแค่ 4-6 ขวบ

ไม่ใช่แค่นี้ จริง ๆ แล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในซีรีส์ที่กุมใจคนท่วมบ้านท่วมเมืองอย่าง Extraordinary Attorney Woo ที่ปีนี้บททนายออทิสติก อู ยอง-อู ก็ทำให้นางเอกสาวพัค อึน-บิน คว้าแดซัง(กรังปรีซ์)มาได้อย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งก็มีอยู่ตอนหนึ่งที่พุ่งประเด็นไปในวัยเด็กว่าควรจะได้สนุกสนานมากกว่าสูญเสียวัยเยาว์ไปกับการเรียน รวมถึงซีรีส์ที่เล่นประเด็นนี้เป็นแกน คงไม่มีเรื่องไหนโดดเด่นเท่า SKY castle (2019) ซีรีส์อันดับสามบนตารางเรตติ้งสูงสุดตลอดกาล สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ว่าบรรดาแม่ ๆ จ้ำจี้จ้ำไชลูกในเรื่องการเรียน ไม่ได้มีอยู่แค่ในซีรีส์เท่านั้น

ประวัติศาสตร์ด้านการศึกษา

อาจต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เกาหลีกันสักนิด จุดเริ่มต้นคงต้องย้อนไปในช่วงยุคอาณานิคมญี่ปุ่น ชาวเกาหลีใต้ทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ จะมีก็เพียงแต่บรรดาลูกคุณหนูทั้งหลาย เนื่องด้วยฝ่ายรัฐไม่มีความสนใจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นเมื่อเกาหลีเป็นเอกราช ประชาชนที่ไม่ได้รับการศึกษาจึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อัตราการรู้หนังสือในสมัยนนั้นต่ำอยู่แค่ 22% และมีเด็กน้อยกว่า 20% ที่ได้เข้าเรียนในระดับมัธยม

อี ซึง-มัน ประธานาธิบดีคนแรกช่วงรัฐบาลของเขาในปี 1948-1960 ได้ริเริ่มการผลักดันด้านการศึกษาระดับประถมขนานใหญ่ แต่ในยุคนั้นเกาหลีใต้มีทรัพยากรน้อยมาก จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐน้อยมากเช่นกัน และมีการคอร์รัปชันกันหนักมาก ภายหลังมีวิทยาลัยหลายแห่งยอมรับว่าสมัยนั้นใครจ่ายเงินหนักก็จะได้เข้าเรียนก่อน แทนที่จะมีการสอบคัดเลือกคุณสมบัติอย่างทุกวันนี้ ในปี 1952 องค์การยูเนสโกระบุว่า 75% ของงบประมาณด้านการศึกษาในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยมาจากเงินของพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ๆ เอง และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐน้อยมาก

เมื่อเผด็จการทหารพัค ช็อง-ฮี ขึ้นสู่อำนาจในปี 1962 เขาก็เร่งสร้างกลุ่มแรงงาน เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของเขาที่มุ่งนำพาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการสร้างโรงงาน และจัดหาพนักงานจำนวนมาก ด้วยความรีบเร่งทำให้แรงงานเหล่านี้จะได้รับการฝึกฝนทักษะถึงระดับปานกลางเท่านั้น สำหรับพัค เขามองว่าการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยไม่จำเป็น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของพวกนักศึกษามหาวิทยาลัย จะไปรู้เรื่องโง่ ๆ เกินจำเป็น แล้วลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ (ซึ่งในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงในช่วงบั้นปลายชีวิตของ พัค สามารถอ่านเพิ่มได้ที่นี่

ดังนั้นในปี 1963 รัฐบาลเกาหลีจึงเปิดโรงเรียนอาชีวศึกษา ควบคู่ไปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่เขาผลักดันให้นักเรียนกว่า 70% เข้าเรียนอาชีวะ จริง ๆ แล้วระบบการศึกษาแบบนี้มีในเยอรมนี แต่ที่เกาหลีกลับพบว่าพวกจบอาชีวะ มีทักษะต่ำและล้าสมัย ความแตกต่างคือในเยอรมนีพวกเขามีสหภาพแรงงานที่เข้ามาช่วยส่งเสริมทักษะและให้ความรู้ใหม่ ๆ ขณะที่ในเกาหลีเวลานั้นยังไม่มีสหภาพแรงงานเนื่องจากรัฐบาลต้องการแรงงานต้นทุนต่ำ และมองว่าสหภาพแรงงานเป็นเสมือนประตูเปิดสู่อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายแบบคอมมิวนิสต์

กระทั่งปลายช่วงยุค60s ด้วยการผลักดันให้นักเรียนส่วนใหญ่ไปสู่อาชีวะ ทำให้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีระดับความยากเป็นอย่างมาก มีเพียงระดับหัวกะทิเท่านั้นที่จะทำได้ ในปี 1967 มีการสำรวจพบว่านักเรียนชั้นป.6 จำนวน 9 ใน 10 คนในกรุงโซลมีการเรียนพิเศษนอกห้องเรียน แล้วหากไม่ได้โรงเรียนที่ต้องการ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกเรียนซ้ำป.6 เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามัธยมอีกครั้งในปีถัดไป

ดังนั้นในปี 1968 จึงได้มีการยกเลิกการสอบแข่งขัน แล้วให้โรงเรียนมัธยมแต่ละแห่งจับฉลากเพื่อให้มีคละกันระหว่างเด็กคะแนนสูงกับคะแนนต่ำ แม้จะประสบความสำเร็จในการลดแรงตึงเครียด แต่สุดท้ายการศึกษาในระดับมัธยมปลาย หากนักเรียนต้องการไปเรียนในโรงเรียนดี ๆ พวกเขาจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีผลคะแนนในระดับต้น ๆ เท่านั้น

กระทั่งในปี 1973 มีนักเรียนชั้นม.3 ราว 27% ประสบความเครียดทางร่างกายและจิตใจ จากการสอบในชั้นมัธยมปลาย ดังนั้นในปี 1973 รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายใหม่ให้มีการคัดเลือกนักเรียนแบบสุ่มในเขตที่พักอาศัย คือโรงเรียนจะเลือกนักเรียนที่มีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนเป็นหลักก่อน และมีข้อยกเว้นให้สำหรับนักเรียนในจังหวัดห่างไกล

การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยยังคงมีความเข้มข้นอย่างมาก มหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล, มหาวิทยาลัยเกาหลี และมหาวิทยาลัยยอนเซ หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า SKY มีการสำรวจพบว่า ซีอีโอ 50% นักการเมืองระดับสูง 43% และผู้พิพากษา 80% ล้วนจบจาก SKY ขณะที่ในปี 1988 พบว่าบริษัทใหญ่ ๆ ดี ๆ มีแนวโน้มจะรับผู้สำเร็จการศึกษาจาก SKY มากถึง 83-90% แถมใครก็ตามที่จบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (SNU) บริษัทยังให้เงินเดือนสูงกว่าคนอื่นอีก 7%

ฮักวอนธุรกิจการศึกษาสำหรับผู้มีปัญญาจ่าย

ในปี 1980 นักเรียนชั้นประถม 13% มัธยมต้น 15% และมัธยมปลาย 26% ได้รับการติวนอกระบบโรงเรียน เรียกว่า ฮักวอน (Hagwon) อันเป็นการแบ่งสังคมเป็นสองชนชั้น คือ ผู้ที่สามารถจ่ายฮักวอนได้ กับผู้ที่ไม่มีปัญญาซื้อฮักวอน แม้ว่าในปี 1980 ชุน ดู-ฮวาน เผด็จการทหารอีกคนที่เข้ามาโดยรัฐประหาร เขาพยายามทำการปฏิรูปเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ด้วยมาตรการปฏิรูปการศึกษา 7.30 ที่ห้ามการสอนพิเศษ แต่ก็มีข้อยกเว้นบางประการสำหรับเด็กสอบตก มาตรการนี้ยังเพิ่มโควต้ามหาวิทยาลัย และยกเลิกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง และแก้ไขหลักสูตรการศึกษาระดับชาติ รวมถึงมีเครือข่ายวิทยุและโทรทัศน์สำหรับการเรียนพิเศษผ่านช่องเพื่อการศึกษา EBS

แต่แม้การถูกสั่งห้ามให้เรียนพิเศษ บรรดาพ่อแม่ก็ยังยินดีจะจ่ายเพื่อให้ลูกได้เรียนพิเศษ จึงมีโรงเรียนลับที่เปิดขึ้นอย่างผิดกฎหมายในเวลานั้น ซึ่งมีค่าเล่าเรียนราคาแพงลิ่วจากเดิมมากเพื่อประกันความเสี่ยง มาถึงจุดนี้ก็มีแต่พวกร่ำรวยเงินเหลือใช้เท่านั้นที่มีปัญญาเอื้อมถึงฮักวอน สุดท้ายกฎหมายนี้ก็เริ่มมีการผ่อนปรน และยกเลิกไปในปี 2000

นับจากนั้นธุรกิจฮักวอนก็กลับมาคึกคักอย่างยิ่ง จากในปีที่ถูกแบน 1980 มีฮักวอนเพียง 381 แห่งต่อผู้เรียน 118,000 คน แต่ในปี 2000 ที่ยกเลิกกลับกระฉูดไปสูงถึง 14,043 แห่ง ต่อผู้เรียน 1.4 ล้านคน

ส่วนในปี 2013 มีระบุว่าจำนวนมากเกือบถึง 105,000 แห่ง ทุกวันนี้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้มากกว่าล้านเจ็ดแสนบาทต่อปี จะยอมจ่ายค่าเรียนฮักวอน 30% (ราวห้าแสนบาท)ของรายได้ต่อครัวเรือน

อย่างไรก็ตามมีความพยายามของรัฐบาลในการจัดการเคอร์ฟิวให้ทุกฮักวอนต้องหยุดสอนในเวลาสี่ทุ่ม(จากเดิมห้าทุ่มหรือเที่ยงคืนก็มี) ในปี 2006 แต่กว่ากฎหมายจะบังคับใช้ก็ผ่านไปถึงปี 2009 แต่ก็พบว่ากฎหมายนี้ทำให้บรรดากลุ่มคนรวยยอมจ่ายเพื่อเรียนตัวต่อตัวแทนการเข้าชั้นฮักวอนแบบเรียนรวม

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 (สมัยประธานาธิบดีคิม แด-จุง ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย) ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ ชั้นเรียนหลังเลิกเรียนที่จัดโดยโรงเรียนเอง เป็นการเรียนฟรีที่ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล แต่เป็นชั้นเรียนด้านศิลปะและวัฒนธรรม เป็นการศึกษาที่นักวิชาการพบว่าสิ่งนี้ขาดหายไปจากชั้นเรียนปกติ อย่างไรก็ตามหลังจากสอนไปได้ไม่นานก็พบว่าชั้นเรียนเหล่านี้ถูกเปลี่ยนไปเป็นการสอนกวดวิชาแทนโดยพฤตินัย เพราะมันไม่ได้สำคัญต่อการสอบซูนึง(สอบเข้ามหาวิทยาลัย) อย่างไรก็ตามชั้นเรียนหลังเลิกเรียนเป็นการลดภาระของครอบครัวรายได้น้อยให้มีโอกาสมากขึ้น

เมื่อสามปีก่อนมีรายการโทรทัศน์ทางช่อง SBS ไปตามชีวิตเด็กน้อยวัย 8 ขวบที่ต้องเรียนฮักวอนเพิ่ม 11 ชั้นเรียนต่อสัปดาห์ เด็กคนนั้นเรียนภาษาอังกฤษและจีนในวันจันทร์ อังคารเรียนเขียนอักษรจีน กับประวัติศาสตร์เกาหลี รวมถึงเรียนไวโอลินกับบัลเลต์ วันพุธเรียนคณิตศาสตร์และการจัดองค์ประกอบศิลป์ แค่สามวันนี้ฟังดูก็ท้อแล้วแต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กเพียงคนเดียว

ในโซล เขตที่มีชื่อเสียงด้านชั้นเรียนฮักวอนคือเขตกังนัมและซอโซ หลังสี่ทุ่มเมื่อชั้นเรียนเลิก คุณจะเห็นเด็กนับพันหลั่งไหลออกมาบนถนน มีรถบัสฮักวอนส่งนักเรียนกลับบ้าน ไปจนถึงรถส่วนตัวของผู้ปกครองที่ทำให้การจราจรติดขัดมากในช่วงนี้

คดีสุดดาร์กเมื่อแม่บังคับลูกเรียนหนักเกินไป

คดีนี้เกิดขึ้นในปี 2011 มีนักเรียนชั้นมัธยมปลายเกียรตินิยมคนหนึ่งถูกจับกุมฐานฆ่าแม่ เหตุเพราะแม่บังคับให้เขาต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลให้ได้ ลูกชายปล่อยศพไว้ในบ้านเป็นเวลาแปดเดือนก่อนจะไปเข้าสอบซูนึงตามกำหนด

แม่นามสกุล พัค ติดป้ายขนาดใหญ่ในห้องนั่งเล่นว่า “มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลเท่านั้น!” ลูกชายของเธออายุ 18 ปีระบุด้วยชื่อสมมติว่า จิ (Ji) นักเรียนมัธยมปลายในเขตควังจิน กรุงโซล ตอนม.4-ม.5 เขาอยู่ในสามอันดับแรก แต่ผลการเรียนตกมาอยู่ในสิบอันดับแรกในช่วงม.6 ทำให้เขาต้องปลอมผลการเรียน เพราะแม่ของเขาเป็นคนอารมณ์ร้ายและลงโทษเขาอย่างหนักเสมอ

แต่ถึงลูกจะเรียนได้ดีขนาดนี้แม่ก็ยังเฆี่ยนตีลูกชายของเธอ บางทีก็ไม่ยอมให้ลูกกินข้าว ห้ามลูกเข้านอนต้องท่องหนังสือทั้งวันทั้งคืน อาจเป็นผลมาจากความเครียดหลังจากหย่าร้างกับสามีวัย 52 เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ และเธอต้องเลี้ยงลูกด้วยตัวเองตามลำพัง

เวลาสี่ทุ่มของคืนวันที่ 12 มีนาคม 2011 แม่เริ่มด่าทอลูกชาย และเฆี่ยนตีเขาอย่างหนักด้วยไม้เบสบอลและไม้กอล์ฟ หลังจากรู้ผลการเรียนว่าลูกอยู่ในอันดับ 62 (จากสี่พันคน) ของการสอบพรีเทสต์นักเรียนทั้งประเทศ แม้จะยังอยู่ในลำดับต้น ๆ แต่แม่ก็ยังโกรธเขาลงโทษอย่างโหดเหี้ยม จนเวลาแปดโมงเช้าแม่ถึงไปเข้านอน

กระทั่งเวลา 11 โมง ลูกชายได้หยิบมีดทำครัวเข้าไปแทงแม่ที่หลับอยู่จนตาย เขาทิ้งอาวุธไว้ข้างศพแม่ ภายหลังเขาให้การกับตำรวจว่า

“อีกสองวันจะมีการประชุมใหญ่ของผู้ปกครอง ผมฆ่าแม่เพราะกังวลว่าแม่จะรู้ความจริงเรื่องเกรดปลอมของผม แล้วจะโดนตีหนักกว่าเดิม”

หลังจากฆ่าแม่เสร็จแล้ว จิไม่ไปโรงเรียน 3 วัน แต่ต่อมาเขาก็กลับเข้าชั้นเรียน ตอนนั้นเขามีเงิน 1.5 ล้านวอน (ราวสี่หมื่นห้าพันบาท) ที่พ่อเขาส่งให้แม่ทุกเดือน มีข้อสังเกตว่าในช่วงนี้เขาไปเรียนบ้างไม่ไปบ้าง แต่ดูร่าเริงขึ้นกว่าเดิมเพราะสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ และเริ่มจีบหญิงเป็นครั้งแรก รวมถึงชวนเพื่อน ๆ ไปเที่ยวเล่นที่บ้านบ้าง (ส่วนห้องที่ใช้เก็บศพถูกล็อคปิดตายเอาไว้)

กระทั่งผ่านไปแปดเดือน หลังจากศพแม่แห้งกรังหนอนไช กริ่งหน้าบ้านก็ดังขึ้นเมื่อพ่อของจิไม่สามารถติดต่อแม่ได้เป็นเวลานานเกินไป ในที่สุดพ่อจึงเข้าแจ้งความทำให้จิยอมสารภาพ สุดท้ายจิถูกพิพากษาติดคุก 3 ปี ตามคำเรียกร้องของจิเองที่ต้องการชดใช้ในความผิดตนเอง
ซอ ชอน-ซอก ผู้อำนวยการคลินิกประสาทจิตเวชแห่งกรุงโซลให้ความเห็นว่า…

“หลายครอบครัวโดยเฉพาะแม่บ้านเต็มเวลามักมีความเชื่อว่าสามารถพัฒนาลูกตัวเองได้ ด้วยความเข้มงวดกับลูกเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และนี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผลักดันให้สังคมไปสู่จุดที่เรียกว่า ผู้ชนะเท่านั้นจึงจะได้ทุกสิ่งไป”

ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยคาธอลิกเกาหลี ซุง กิ-ซุน ให้ความเห็นว่า “สถานการณ์ในบ้านหลายหลังในเกาหลีใต้เป็นสถานการณ์ที่พ่อแม่แสดงความปรารถนาที่ยังไม่บรรลุผลของตนเองใส่ลงไปในลูกของตน โดยมองว่าลูก ๆ เป็นเสมือนเครื่องมือในการสร้างความพึงพอใจเพื่อตอบแทน แต่พวกเขากลับแสดงความรักในรูปแบบที่บิดเบี้ยว และมักอ้างว่าทำไปเพราะเรารักลูกของเรา”

ปัจจุบันจิแต่งงานมีลูกแล้วกับแฟนสาวที่คบหากันในช่วงหลังจากที่แม่เสียชีวิต ส่วนพ่อของจิตัดพ้อว่า “สังคมตราหน้าว่าผมเป็นพ่อของฆาตกรอกตัญญู แต่ไม่เคยทำความเข้าใจว่าแม่ลงโทษลูกเขาหนักเกินไป” ภายหลังมีการพบหลักฐานว่าแม่ของจิมีอาการทางประสาทเนื่องจากการถูกกดดันอย่างเข้มงวดในวัยเด็ก

#saveหยก

หันกลับมากรณีการศึกษาบ้านเราช่วงนี้ คงไม่มีเรื่องไหนสะท้านสะเทือนวงการมากไปกว่าแฮชแท็ก saveหยก กรณี หยก ต้องย้อนกลับไปแต่แรก สืบเนื่องจากการจับกุม “บังเอิญ” ศิลปินอิสระที่พ่นสีตัวเลข 112 พร้อมขีดทับ (แปลว่า ยกเลิก 112) และสัญลักษณ์อนาคิสต์บนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2023

[“บังเอิญ” เคยช่วยพ่อขายหนังสือในม็อบเสื้อแดงตั้งแต่อายุ 12 ในปี 2553 ตอนนั้นเขาเคยมีประสบการณ์หนีตายจากระสุนจริง ในช่วงสลายการชุมนุมในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังนั้น “บังเอิญ” จึงเป็นหนึ่งในเหยื่อความรุนแรงโดยรัฐ ปัจจุบันเขามีอายุ 25 ปี]

จากกรณีนี้ทำให้ หยก เด็กหญิงวัย 15 ปี ติดตามไปที่สน.พระราชวังเพื่อทวงถามกรณี “บังเอิญ” และทำให้ หยก ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 จากสน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเธอยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่ได้ส่งหนังสือขอเลื่อนนัดหมายไว้แล้วเนื่องจากติดสอบ สุดท้ายในวันถัดมาเธอถูกเจ้าหน้าที่ 7 คนอุ้มขึ้นรถเพื่อนำตัวไปยังศาลเยาวชน เธอยืนยันที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง ด้วยการนั่งหันหลังให้บัลลังก์ศาลเป็นสัญลักษณ์ รวมถึงไม่ขอยื่นประกันตัวด้วย ทำให้เธอถูกส่งไปยังบ้านปรานี จ.นครปฐม

ภายหลังหยกกล่าวต่อสื่อว่า “การที่หนูมาอยู่ในสถานพินิจ ถูกดำเนินคดีตั้งแต่อายุ 14 ด้วย ม.112 ถูกหมายจับและส่งเข้ามาสถานพินิจตอนอายุ 15 แบบนี้ยังไม่เห็นปัญหาของ ม.112 อีกหรือ?”

[ภายหลังหยกกล่าวกับสื่อว่า ตำรวจผู้จับกุมเธอหลายรายนั่งทับบนตัวเธอ ล้วงจับขาเธอ และพยายามล้วงเข้าไปในหน้าอกเพื่อพยายามยึดไอแพดของเธอที่เหน็บไว้ใต้เสื้อด้านใน สิ่งนี้ใช่การคุกคามทางเพศหรือไม่] [คดี 112 ที่ หยก ถูกกล่าวอ้าง ผู้ร้องทุกข์คือ นายอานนท์ กลิ่นแก้ว หัวหน้ากลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ร้องไว้ที่สน.สำราญราษฎร์ จากการแสดงออกในกิจกรรมทางเมือง “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” ที่บริเวณเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 อันเป็นกิจกรรมการรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกมาตรา 112 ส่งผลให้บัดนี้ หยก กลายเป็นผู้ถูกหมายเรียกกรณี 112 ที่มีอายุน้อยที่สุด ขณะถูกฟ้องหยกมีอายุเพียง 14 ปี 7 เดือนเศษ]
ที่มาภาพ : https://www.instagram.com/p/CrF0N7yLhdt/
[15 เมษายน อานนท์ กลิ่นแก้ว ไลฟ์สดว่า “มึงอย่าหวังว่ากูจะหยุด กูไม่หยุด ไม่ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น จะแจ้งต่อ แจ้งมาตรา 112 ต่อ อีหยก สหายนอนน้อย ถ้าสมมติว่ามันเป็นคนๆ เดียวกัน ตายอย่างเขียดคอยดู มันไม่ใช่เด็ก เด็กเลว ไม่รู้จะเลวยังไง ไปเที่ยวร้องขอ ไปเที่ยวโฆษณา เด็กดี ๆ เยอะแยะไป เขาไม่ทำกันหรอก เขาไม่หมิ่น ไม่จาบจ้วง ไม่ล่วงละเมิด ก้าวร้าว เด็กมันเลวไง และก็มีผู้ใหญ่บางตัวมันสนับสนุนอยู่เบื้องหลังไง และก็ไปสนับสนุนให้เด็กมันทำเลว และเด็กมันก็มีสันดานเลวอยู่แล้ว”(ดูเพิ่มเติมที่นี่)]

หยกถูกคุมขังในสถานพินิจ 51 วัน จึงมีการปล่อยตัวในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หยกได้เปิดเผยร่อยรอยจากโรคผิวหนังติดเชื้อขณะถูกคุมขัง อาจเป็นไปได้ว่าบ้านปราณีมีความสะอาดไม่เพียงพอ ก่อนจะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เธอกล่าวว่า “ดีใจที่ได้ออกมามีอิสรภาพ 51 วันที่ถูกขังเป็นอะไรที่ย่ำแย่มาก ๆ”

15 มิถุนายน 2566 หยก ยืนอยู่หน้าประตูรั้วเหล็กของโรงเรียนที่ปิดแน่นไม่ยอมให้เธอผ่านเข้าไป แม้ระฆังเข้าเรียนจะดังขึ้นมาพักหนึ่งแล้ว ต่อมาอาจารย์หลายคนแง้มประตูเหล็กให้เด็กนักเรียนที่มาสายคนอื่น ๆ เข้าไปได้ แต่ไม่ยอมให้หยกเข้าไป

หยก ไปโรงเรียนด้วยชุดไปรเวท ย้อมสีผมเป็นชมพู หยกมองว่า “ชุดนักเรียนเป็นอำนาจนิยมแบบหนึ่ง” จากนั้นไม่นานทำให้หยกตัดสินใจปีนรั้วเป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เธอลอบปีนหน้าต่างห้องยามเข้าไป

17 มิถุนายน 2566 หยกชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กของเธอเองว่า

    1. หนูไม่ได้เข้าเรียนตามเวลาที่ใจปรารถนา แต่ที่หนูเข้าห้องสายตอนนี้เพราะถูกกีดกันไม่ให้เข้าโรงเรียน มันยากลำบากมาก หนูเข้าคาบตามเวลาที่กำหนดตลอด คาบไหนออดดังแล้วก็รีบวิ่งขึ้นไปทันที

    2. หนูไม่ได้เลือกเรียนเฉพาะวิชาที่ชอบ แต่หนูเห็นว่าวิชาจริยธรรม เป็นวิชาที่ไม่มีประโยชน์ หนูคิดว่าสอนกันมาแบบนี้ก็ไม่มีใครเป็นคนดีขึ้น จากการต้องฟังว่าเราต้องเป็นคนดี

    3. หนูไม่ได้ต่อต้านทุกกิจกรรมของโรงเรียน เหมือนกับในคุกบ้านปรานีเช่นกัน หนูไม่ท่องอาขยานก่อนกินข้าว แต่ถ้าต้องทำความสะอาดตรงกลางหนูก็ทำ เรื่องไหว้ครู ต่าง ๆ หนูเห็นว่าไม่มีประโยชน์กับเยาวชนและนักเรียน

    4.การกระทำนี้ ไม่ใช่หนูดื้อแพ่งโง่ ๆ แต่หนูคิดว่า สิ่งที่ทำอยู่ในโรงเรียนในประเทศคือเรื่องไม่ปกติ เด็กหลายคนก็คงอยากแต่งตัวไปรเวทเหมือนกันแหละ แต่อาจจะถูกพ่อแม่ไม่ให้ สังคมไม่ให้ โครงสร้างที่กดทับ ถูกโรงเรียนกดทับ แล้วก็ไม่มีความสามารถที่จะเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เริ่มมาตั้งแต่ในชั้นเป็นเด็กแล้วคุณจะคาดหวังว่าเราจะมีผู้ใหญ่ที่โตไปเป็นผู้พิพากษาหรือข้าราชการ หรือคนมีตำแหน่งแล้วให้เค้ากล้าหาญที่จะหักคำสั่งของเจ้านายในเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรได้ยังไงกันคะ

    5. สังคมไทยก็ต้องเปลี่ยนตอนนี้ ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วจะเป็นตอนไหนคะ

หนูพูดในฐานะที่ตัวเองเป็นเยาวชนเพราะเปลี่ยนเพื่อให้หนูได้อยู่ต่อ ให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้ไปต่อพร้อมกัน การที่ผู้ใหญ่ชอบโลกแบบของผู้ใหญ่ก็คือเรื่องนึง แล้วพวกหนูในฐานะเด็กถ้าอยากเปลี่ยนแปลงเราต้องทำยังไง การร้องขอดี ๆ หลายสิบปีที่ผ่านก็ปรากฎชัดแล้วว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง

ในวันนี้ สิ่งที่หนูทำไม่ได้เป็นเรื่องฆ่าคนตาย เป็นการแสดงออกทางความคิดผ่านสัญญะ การแต่งตัวแบบนี้ไม่ได้ทำให้หนูเรียนไม่ได้ สิ่งที่ทำให้เรียนไม่ได้คือโรงเรียนและบุคลากร

เรื่องนี้เป็นบททดสอบของสังคมไทยทำให้เห็นว่า จะพิสูจน์อะไรอีก ถ้าตกลงแล้วสถานศึกษาหรือทัศนคติของสังคมไทย ว่าจะยังไง จะใช้วิธีปัดตกเขี่ยทิ้งกลบฝังคนที่อยากได้ความเปลี่ยนแปลงใช่ไหม

หลักฐานการมอบตัว

ทางโรงเรียนชี้แจงว่าที่ไม่ให้หยกเข้าเรียน เพราะการมอบตัวไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่มีผู้ปกครอง(มาดา) มาดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนเส้นตายในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ขณะที่บุ้ง ผู้ได้รับมอบหมายจากแม่ของหยกให้เป็นผู้ปกครองยืนยันว่า ได้มีการเซ็นเอกสารและจ่ายค่าเล่าเรียนไปแล้ว และวันนั้นโรงเรียนยอมรับให้หยกเข้าเรียน

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ได้นิยามความหมายของคำว่า “ผู้ปกครอง” ไว้ว่า “ผู้ปกครอง” หมายความว่า บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดู หรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย

เมื่อดูจากนิยามผู้ปกครองของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กแล้ว ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่แท้ ๆ ของเด็ก ยังสามารถเป็นผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กหรือผู้ที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยก็ได้ ทำให้การที่โรงเรียนอ้างว่ากระบวนการมอบตัวจำเป็นต้องใช้ผู้ปกครองที่เป็นพ่อและแม่แท้ ๆ นั้น อาจเป็นการกีดกันสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก และเพื่อเป็นการยืนยันให้ชัดเจนว่าผู้ปกครองในกระบวนการมอบตัวของนักเรียนมีนิยามไว้อย่างไร ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษา พ.ศ. 2522 ได้ให้นิยามไว้ว่า “ผู้ปกครอง” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับนักเรียนหรือนักศึกษาไว้ในความปกครอง หรืออุปการะเลี้ยงดู หรือบุคคลที่นักเรียนนักศึกษานั้นอาศัยอยู่ ทั้งหมดนี้ บุ้ง จึงมีสิทธิ์ในฐานะผู้ปกครองตามกฎหมาย

[ย้อนกลับไปในปี 2020 ระหว่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และคณะราษฎร โรงเรียนดังแห่งนี้เคยมีครูคนหนึ่งในชั้นเรียนข่มขู่ดูแคลนนักเรียนด้วยการอ้างว่าตนเองมีปืนและกล่าวว่า “ซื้อปืนไม่ได้ซื้อไว้ยิงหมา ซื้อปืนไว้ยิงคนโดยเฉพาะ” ซึ่งปรากฎเป็นหลักฐานคลิปเสียงชัดเจน แต่ปัจจุบันครูคนนี้ยังคงลอยนวล เหตุการณ์นี้สืบเนื่องจากความไม่พอใจของครูต่อการเรียกร้องภายในโรงเรียนที่ย้ำถึง 3 ข้อ ได้แก่ 1.หยุดคุกคามนักเรียน 2.ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง 3.ปฏิรูปการศึกษาหากทำไม่ได้ก็ลาออกไป]

[ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 น้องฟิว เด็กนักเรียน LGBTQ ชั้นม.2 ในจังหวัดชัยภูมิ ฆ่าตัวตายเนื่องจากถูกบังคับให้ตัดผม แม้โรงเรียนจะพลิกลิ้นว่าไม่มีการบังคับ ภายหลังพบแชทหลุดที่มีการยืนยันว่าเป็นของครู พิมพ์ว่า “มันสมควรตาย สมอง ความคิด ไปเกิดชาติหน้าเป็นหมาดีกว่า ถ้าเรื่องแค่นั้นมันตาย มันสมควรตาย พวกที่สงสาร ก็ควรผูกคอตายตามมันไป”]

[นร. ดิ่งดับ เครียดปมทรงผม ครูขู่ ‘ไม่แก้ก็ย้ายออกไป’ ไร้วี่แวว ร.ร. รับผิด/จากกรณี นร. กระโดดเสาสัญญาณเสียชีวิตเมื่อกลางดึกวันอังคารที่ 6 มิ.ย. เช้าวันถัดมา มีคนพบสภาพร่างกายอยู่ในชุดพละ ร.ร. แห่งหนึ่งใน อ. ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พ่อผู้เสียชีวิตระบุว่า ลูกถูกกดดันจากครูสั่งให้แก้ทรงผมถึง 3 รอบ หากไม่แก้ทรงผมก็ต้องย้าย ร.ร.

หลังเกิดเหตุสลด ทาง ร.ร. ออกมาชี้แจงถึงกฎระเบียบทรงผมต่อสื่อมวลชนว่า ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันและให้นักเรียนมีส่วนร่วมด้วย อ้างไม่อยากให้ผู้ใหญ่-เด็กขัดแย้งกัน แต่เมื่อสอบถามไปยัง นร. ใน ร.ร. กลับพบว่า เอกสารร่างแก้ไขระเบียบทรงผมของสภานักเรียนที่มี นร. มาลงความเห็นถึง 1,354 คน ถูกปัดตกโดย ร.ร. โดยอ้างว่าผปค. ไม่เห็นด้วย]

ล่าสุดวันที่ 19 มิถุนายน โรงเรียนได้เรียกกองร้อยน้ำหวาน ตำรวจหญิงเข้ามาควบคุมสถานการณ์ในโรงเรียน พรรคก้าวไกลได้ส่งคนเข้าเจรจากับทางโรงเรียนแต่ไม่เป็นผล ขณะที่ทางโรงเรียนได้ประกาศว่าวันที่ 20 มิถุนายน จะมีการพูดคุยกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในเย็นวันเดียวกันนี้เอง พม.ได้ประกาศรายชื่อเพื่อมอบรางวัลให้แก่ “ผู้เสียสละเพื่อสังคม” อันปรากฎชื่อของ อานนท์ นิด้า, ปู จิตกร, เปิ้ล จารุณี ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มอัลตร้ารอยัลลิสต์

อย่างไรก็ตามในช่วงพักเที่ยงวันที่ 19 มิถุนายน นี้เอง ได้ปรากฎป้ายผ้าเขียนว่า “เสรีเครื่องแต่งกาย” แต่ก็ถูกครูเก็บออกไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน “ข้าว” นักเรียนชั้นม.4 จากโรงเรียนหญิงล้วนในกรุงเทพ ก็ประกาศ ยืนสู้เคียงข้างหยกด้วยการแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน

“เด็กทุกคนต้องไม่ถูกตัดออกจากระบบการศึกษาไม่ว่ากรณีใด” – คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงฯ กรณี หยก
ศิษย์เก่าคนหนึ่งของโรงเรียนดังแห่งนี้ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า โรงเรียนควรจะเป็นตัวละครหลักที่จะซัพพอร์ตและดูแลนักเรียนของตัวเอง แม้จะมีเงื่อนไขต่าง ๆ เรื่องการมอบตัว ก็ควรจะดูแลเขาในฐานะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง “คำชี้แจงต่าง ๆ ของโรงเรียนที่ออกมามันเป็นการผลักไสเด็กคนหนึ่งออกไป เหมือนผลักปัญหาให้พ้นตัว ยังไงตอนนี้น้องก็ยังมีสถานะเป็นนักเรียน กระทั่งวางตัวเป็นตัวกลางในการหาทางออกว่า เมื่อมีนักเรียนเรียกร้องสิทธิเช่นนี้ อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เราจะสร้างพื้นที่พูดคุยกันยังไงให้เกิดทางออกที่ดีกับทั้งสองฝ่าย แต่นี่กลายเป็นว่าโรงเรียนไม่ได้ยืนอยู่ข้างน้องเลย”

“และในเรื่องการแสดงออกทางการเมืองของหยก ถ้าโรงเรียนไม่ได้เห็นด้วยกับหยกทุกอย่าง แล้วมองว่าทุกสิ่งที่หยกไปแตะคือผิดหมด มันก็จะกลายเป็นว่าโรงเรียนเลือกที่จะไม่ยืนข้างหยกเลย ทุกคนมองว่าน้องผิดไปหมด ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น…..โรงเรียนคือสถาบันที่ทำหน้าที่พัฒนาการเติบโตของเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ก็ควรจะมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนให้กับนักเรียน สิ่งที่น้องออกมาเรียกร้องก็เป็นสิทธิที่น้องทำได้ ไม่ใช่ว่าต้องรอให้ถึงวัยมหาวิทยาลัยก่อนคนคนหนึ่งถึงจะมีสิทธิแสดงความเห็นทางการเมือง หรือพื้นที่ในการเรียกร้องสิทธิของตัวเอง”

“อย่างกรณีที่ให้ตำรวจหน่วยควบคุมฝูงชนเข้าไปในโรงเรียน น้องทำผิดอะไรขนาดนั้นหรือ ถ้าสมมติบอกว่าน้องปีนเข้าโรงเรียนแล้วต้องเรียกตำรวจ เท่ากับว่าการจัดการของโรงเรียนห่วยมากนะ แค่เด็กคนหนึ่งปีนเข้าโรงเรียน หรือส่งเสียงเรียกร้องบางอย่างแล้วต้องเรียกตำรวจมา แค่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของหยก ถึงกับปล่อยให้คฝ. ซึ่งเป็นคนนอกเข้ามาสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยกับเด็กของตัวเองได้เลยเหรอ”

ดร.ธงชัย วินิจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศาสตราจารย์มหาวิทยลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐเอมริกา

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศาสตราจารย์มหาวิทยลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐเอมริกา ให้ความเห็นว่า “นักเรียนขบถไม่ใช่เชื้อโรคร้ายที่จะแพร่ไปสู่คนอื่นได้ง่ายๆ เพราะมีความเสี่ยงและค่าเสียหายแพงมากที่ต้องจ่าย ความเสี่ยงสำคัญที่สุดคืออาจจะไม่ได้เข้าสอบ หรือเสี่ยงสอบตก ผมเองก็เกือบตก รอดมัธยมปลายมาได้อย่างหวุดหวิดแค่นั้น….ถ้าโรงเรียนมีภารกิจในการปลูกฝังเยาวชนให้เป็นจอมเผด็จการอำนาจนิยมรุ่นถัดๆ ไป นักเรียนขบถ…อย่างเช่นหยก ย่อมเป็นภัยต่อโรงเรียนมากกว่าแบบอื่น มากกว่านักเรียนที่เหลวไหลไม่เอาดีเสียอีก

เราสามารถเห็นและแยกแยะนักเรียนขบถ…ได้ง่ายมาก แต่อาจจะจัดการยากที่สุดเพราะเขามักไม่ยอมประนีประนอม ยอมหักไม่ยอมงอ กล้าชนแบบไม่หาทางเอาตัวพอรอด แต่ขบถประเภทนี้มิใช่หรือที่มีศักยภาพสำหรับอนาคต ขบถประเภทนี้แหละที่โรงเรียนดี ๆ ในโลกยินดีต้อนรับ (ยกเว้นในระบบที่มีโรงเรียนไว้ทำให้เยาวชนสมองฝ่อ) เพราะเห็นศักยภาพในตัวเด็กเหล่านั้น แต่ต้องหาวิธีจัดการที่เหมาะสม เพื่อผันพลังของความกล้าเผชิญความเสี่ยง พลังของความกล้าคิดกล้าวิพากษ์วิจารณ์ และพลังของความปรารถนาสิ่งที่ดีกว่าให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์
น่าเสียดายที่นักเรียนขบถประเภทนี้เป็นคนที่โรงเรียนตามระบบการศึกษาไทยกลัวที่สุดและจ้องทำลาย”

เครื่องแบบนักเรียนทั่วโลก

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ (จากรูปด้านบน) โรงเรียนทั่วทั้งโลกนี้ ในส่วนสีฟ้า คือประเทศที่ไม่บังคับเครื่องแบบนักเรียน อาทิ สหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส ส่วนสีน้ำตาลเข้มและน้ำตาลอ่อนคือ มีเครื่องแบบนักเรียน ยิ่งเข้มแปลว่า เข้มงวดมาก ประเทศไทยอยู่ในส่วนที่เข้มงวดมาก / และจากแผนที่ทั้งโลกจะพบประเทศเดียวที่เป็นสีม่วง คือ รัฐบาลออกกฎหมายห้ามไม่ให้โรงเรียนใดใดบังคับให้นักเรียนใส่เครื่องแบบนักเรียน คือห้ามให้มีเครื่องแบบนักเรียนเลย ประเทศนี้ก็คือ ฟินแลนด์ ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก
ขณะที่แผนที่อีกชุดนึงก็ชี้ให้เห็นว่าในโลกนี้มีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่บังคับเครื่องแบบนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย นั่นก็คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมาร์ และประเทศไทย

เพจเยอรมันมีเรื่องเล่า เล่าว่า “…เยอรมนีในยุคปัจจุบันเอง ก็เคยมีบางช่วงที่มีการเสนอแนวความคิดที่จะให้มีการใช้เครื่องแบบนักเรียนในแคว้นต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาเรื่องการแข่งขันด้านการแต่งตัวของเด็ก ๆ และก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันทางสังคมอย่างกว้างขวาง บางฝ่ายเห็นด้วย แต่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย และในที่สุดแนวคิดนี้ก็ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะการบังคับให้เด็กแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราที่ 2 และทางรัฐบาลแคว้นต่างก็เห็นว่าการแต่งกายของเด็กนักเรียนไม่ใช่หน้าที่ของสภาในการจะไปตัดสิน (ออกกฎหมาย) ว่านักเรียนต้องแต่งกายอย่างไร ควรเป็นสิทธิของนักเรียนและโรงเรียนที่จะตัดสินใจกันเอง (แต่ในส่วนของโรงเรียนรัฐบาลนั้นไม่สามารถออกกฎให้มีการแต่งเครื่องแบบนักเรียนได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้มีได้ต้องมีการออกกฎหมายบังคับ ซึ่งสภาไม่เห็นด้วย ก็จบไป แต่ในส่วนของโรงเรียนเอกชนสามารถมีเครื่องแบบได้ โดยอาศัยสัญญาการเข้าเรียน ว่ายอมรับเงื่อนไขในเรื่องของการแต่งกาย เพราะการไปโรงเรียนเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย แต่กฎหมายไม่ได้บังคับให้เรียนโรงเรียนเอกชน จึงเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะยอมรับเงื่อนไขของโรงเรียนหรือไม่)…”

.*** เพิ่มเติม: รัฐธรรมนูญเยอรมัน มาตราที่ 2 (เสรีภาพส่วนบุคคล) ระบุไว้ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเป็นตัวของตัวเองตราบใดที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นหรือขัดต่อกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิ์ในชีวิตและความเป็นปัจเจกของตน และเสรีภาพนี้ใครก็จะละเมิดมิได้ยกเว้นจะมีกฎหมายอนุญาต

หากถามในส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าขึ้นชื่อว่าครู ขึ้นชื่อว่าโรงเรียน ก็ควรมีใจเมตตาต่อลูกศิษย์ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่ลุแก่อำนาจพลิกลิ้นใส่ร้ายปิดประตูใส่ หรือรอให้เด็กต้องคลานเข่าเข้าหา โลกเปลี่ยนไปแล้ว อนาคตคือโลกของคนรุ่นใหม่ สังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลง โปรดอย่าแช่แข็งเด็กให้อยู่แบบในโลกยุคคุณ ทุกอย่างง่ายเพียงคลิกเดียวแค่คุณอนุญาตและเปิดใจกว้างยอมรับความเป็นไป