1721955
สิ่งแรกที่ผู้ชมจะรับรู้ได้จากซีรีส์เรื่องนี้ Unorthodox (2020) ก็คือ เอสตี้ (เชียรา ฮาสส์) นางเอกของเรื่อง ถูกจับคลุมถุงชน และดูเหมือนทั้งสองฝ่ายจะเห็นดีเห็นงามให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเรามองด้วยสายตาจากโลกปัจจุบัน ที่องค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโลดแล่นไปไกลโขแล้ว (เพราะโลกผ่านเหตุการณ์สาหัสของการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างสะบักสะบอม) การแต่งงานของเอสตี้อาจจะดูน่าสังเวชใจ แต่หากลองย้อนกลับไปถามอากงอาม่า หรือแม้แต่รุ่นป๊ารุ่นม้าเรา อาจได้รู้ความจริงที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ว่า คุณเองก็อาจเป็นผลผลิตของการถูกจับคลุมถุงชน ที่บรรดาผู้อาวุโสมักจะลงเอยด้วยคำพูดเดิมๆว่า “อยู่ๆไปเดี๋ยวก็รักกันไปเอง” นั่นหมายความว่าจริงๆแล้วการคลุมถุงชนในบ้านเราเพิ่งหมดไปในยุคก่อนรุ่นเราเท่านั้น
Unorthodox มินิซีรีส์ 4 ตอนจบ ที่นอกจากจะลุ้นระทึกเบาๆ ยังนำเสนอวัฒนธรรมอื่นที่โลกไม่คุ้น อย่างชุมชนซัตมาร์ เชื้อสายยิวยิดดิช (หรือยูดาห์นิกายฮาซิดิก Satmar Hasidic Jews) อันเป็นหนึ่งในกลุ่มอัลทราออร์โธด็อกซ์ ย่านวิลเลียมสเบิร์ก ภายในเมืองบรูคลิน แห่งนิวยอร์ก รัฐที่ตั้งแห่งเทพีเสรีภาพ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะยังมีกลุ่มความเชื่อที่ยึดมั่นขนบดั้งเดิมเล็ดลอดสืบสานมาอย่างเคร่งครัดจนถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือขายดี Unorthodox: The Scandalous Rejection of My Hasidic Roots (2012) ของ เดโบราห์ ฟีลด์แมน อันเป็นนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของเธอเอง ที่เธอเล่าว่า “ชุมชนซัตมาร์นี้เกิดขึ้นจากการดิ้นรนต่อสู้กับบาดแผลสาหัสยากจะจินตนาการ และสองรุ่นแรก บาดแผลนี้เป็นแรงกระตุ้นเบื้องหลังความคิดอันเป็นรากฐานของชุมชน”
จริงๆนี่ไม่ใช่เรื่องแรกที่เน็ตฟลิกซ์นำเสนอประเด็นชาวฮาซิดิก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีหนังสารคดีเรื่อง One of Us (2017) แต่ขณะที่สารคดีเรื่องนั้นมองจากมุมคนนอกเข้าไปเห็นความเถื่อนถ้ำของชุมชนนี้ ซีรีส์เรื่องนี้กลับเลือกจะเล่าจากมุมคนในรีต (ที่ต่อมาเลือกจะออกนอกรีต) ด้วยสายตาที่พยายามจะมองอย่างเข้าใจว่าทำไมต้องคร่ำเคร่งต่อขนบคร่ำครึขนาดนี้
ก่อนอื่นเลยลองขยับเข้ามาทำความเข้าใจชุมชนแห่งนี้สักหน่อย ภาพแรกที่ซีรีส์จงใจจะให้เห็นคือเส้นลวดที่ขาดหล่นปลิวลมอยู่ข้างเสา สิ่งนี้ต่อมาซีรีส์อธิบายว่ามันคือ ลวดอีรูฟ (Eruv wire) หรือลวดบอกขอบเขตในวันสะบาโต อันเป็นวันเสาร์ที่พระเจ้าบัญญัติไว้ให้พักผ่อน ซึ่งชาวยิวฮาซิดิกตีความอย่างเคร่งว่า การพักผ่อนดังที่คัมภีร์โตร่าห์ระบุไว้ หมายรวมถึงการห้ามถือของ หรือเคลื่อนย้ายสิ่งของออกจากขอบเขตส่วนตัวไปยังพื้นที่ชุมชนอื่นด้วย ดังนั้นการขึงลวดอีรูฟจึงจำเป็น เพื่อให้รู้กันว่าภายในขอบเขตรั้วลวดนี้ ถือเป็นเขตส่วนตัว เพราะอยู่ในเขตชุมชนฮาซิดิก ทีนี้ถ้าคุณจะออกไปนอกเขตก็ทำได้นะ เพียงแต่ห้ามถือหรือแบกสิ่งใดออกไปนอกเขตลวด อันหมายรวมถึงกุญแจบ้านหรือแม้แต่กระเป๋าสตางค์ กฎนี้เป็นข้ออ้างที่ดีเพื่อป้องกันคนที่คิดจะหนีออกจากชุมชน เพราะถ้าคนนั้นไม่มีเงินติดตัวก็ไปไหนไม่ได้ไกล
ดังจะเห็นได้จากฉากแรกเมื่อ เอสตี้ นึกขึ้นได้ว่าวันนี้เป็นวันสะบาโต จากทีแรกที่เธอหิ้วกระเป๋าออกจากบ้าน เลยต้องรีบกลับเข้าบ้านแล้วแอบซุกซองใส่เงินไว้ในกระโปรงแทน
ซีรีส์ค่อยๆ เผยให้รู้ว่าปลายทางที่เอสตี้จะไป คือ เยอรมัน แต่เพราะเหตุใดและทำไมคือสิ่งที่ผู้ชมคงต้องติดตามจากในเรื่อง อย่างไรก็ตามการกลับมาของยิวเพื่อเหยียบดินแดนแห่งนี้ ดูไม่น่าจะเป็นจริงได้ แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องจริง เพราะตัวผู้เขียนนิยายเลือกที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมันจนทุกวันนี้
ในตอนหนึ่ง เอสตี้ไปเที่ยวทะเลกับเพื่อนใหม่แปลกหน้าในเบอร์ลิน สถานที่แห่งนั้นคือ ทะเลสาปวานน์ซี (Großer Wannsee) ในเรื่องเขาเล่าให้เอสตี้ฟังว่า “เห็นบ้านพักตากอากาศตรงนั้นไหม การประชุมที่พวกนาซีตัดสินใจจะฆ่าชาวยิวในค่ายกักกัน ในปี1942 คือบ้านหลังนั้นแหละ” เอสตี้ตื่นตะลึงก่อนจะถามกลับไปว่า “แล้วคุณยังจะกล้าว่ายน้ำในทะเลสาปนี้ได้อยู่อีกหรือ” ชายคนนั้นตอบเธอกลับว่า “ทำไมล่ะ ทะเลสาปก็คือทะเลสาปนั่นแหละ…ยังมีอีกนะ ตอนสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นมา ทหารเยอรมันตะวันออกยิงทุกคนที่พยายามจะว่ายข้ามทะเลสาปนี้ไปสู่อิสรภาพ” เอสตี้ถามกลับว่า “แล้วตอนนี้ล่ะ” เขาตอบเธอว่า “ตอนนี้หรือ…เราจะว่ายไปไกลแค่ไหนก็ได้ที่อยากไป”
ทำไมเยอรมันจึงไม่ใช่ดินแดนที่คนยิวอยากจะกลับไปเหยียบ เพราะในยุคนาซี ยิวเคยถูกกระทำโชอา (สังหารหมู่) จนมีชาวยิวเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน และอีกกว่า 17 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้น ซึ่งในบรรดานั้นคือ ชาวฮาซิดิก ที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดแล้วหนีตายข้ามไปตั้งรกรากในอเมริกา อันเป็นสาเหตุว่าทำไมพวกเขาจึงต้องยึดโยงกับขนบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น ตลอดจนหล่อหลอมให้เพศหญิงจำต้องทนทำหน้าที่เพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ เป็นเมียกับเป็นแม่ เพื่อขยายพงศ์พันธุ์เชื้อสายยิวตามคำสั่งของพระเจ้า อันทำให้พวกเขาพยายามอย่างหนักในการไม่ปล่อยให้คนในชุมชนข้ามเขตแดนไปที่อื่นใด เพื่อกอบกู้ยึดเหนี่ยวกันและกันไว้ในฐานะเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากพระเจ้า
หากจะเจาะลึกลงไปในรายละเอียด ฮาซิดิก มีความหมายว่า “พระเจ้าเมตตา” ขบวนการนี้เริ่มต้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในฮังการี ซึ่งภายหลังแตกออกเป็นกลุ่มฮาซิดิกอีกหลายชุมชน เช่น Breslov, Skver, Bobov และหนึ่งในนั้นคือ ชุมชนซัตมาร์ (ที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่20นี้เอง) โดยมีผู้นำขบวนการคือ รับไบโยเกล เททเทลบวม (1887-1979) ชุมชนนี้ถูกพวกนาซีกักขังไว้ในค่ายกักกัน เบอร์เกน-เบลเซน (เมืองโลว์เออร์แซกโซนี เยอรมนี) แล้วหลังจากรอดเงื้อมมือนาซีมาได้ พวกเขาก็อพยพไปอยู่ในเขตปกครองบริติชปาเลสไตน์ภายใต้อาณัติของอังกฤษ ก่อนจะอพยพไปนิวยอร์กด้วยปัญหาทางการเงิน แล้วเริ่มชุมชนในย่านวิลเลียมสเบิร์ก มาตั้งแต่ปี1970 โดยถือเอาว่าชุมชนวิลเลียมสเบิร์กเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าเลือกสรร ดังนั้นจะไปอยู่ปะปนนอกเขตแดนร่วมกับฆราวาสอื่นไม่ได้
และด้วยความทรนงที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถเหลือรอดมาได้จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะพระเจ้าเลือกสรรพวกเขาไว้ ดังที่เพราะเจ้าระบุไว้ในคัมภีร์ ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องประพฤติตนให้สมกับการสืบเชื้อสายจากพระเจ้าด้วย ในซีรีส์เราจะเห็นภาพงานเทศกาลหนึ่งที่ทั้งตระกูลมาร่วมโต๊ะอาหารกัน นั่นคือเทศกาลปัสกา (Passover seder) หรืองานฉลองปีใหม่ เพียงแต่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 ของเดือนนิสาน (เดือนแรกของปี ตรงกับช่วงมีนา-เมษาในปฏิทินสากล) โดยจะเฉลิมฉลองเป็นเวลา 7 วันในอิสราเอล หรือ 8 วันสำหรับชาวยิวพลัดถิ่น
ในฉากดังกล่าวจะเห็นการห่อกระดาษฟอยล์ ไม่ว่าจะโซฟา เก้าอี้นั่ง โต๊ะอาหาร หรือครัวทั้งครัว ขนบนี้สืบเนื่องมาจากสมัยยิวยังเป็นทาสอียิปต์ ก่อนที่โมเสสจะพาชาวยิวแหวกทะเลแดงหนีไปนั้น ได้เกิดภัยพิบัติขึ้น 10 ครั้ง และครั้งสุดท้ายพระยาเวห์จะพรากบุตรหัวปีแห่งอียิปต์ไป แต่จะทรงข้ามผ่าน (ปัสกา/Passover) บ้านที่ทาเลือดแกะไว้บนวงกบประตู แล้วหลังจากนั้นในคัมภีร์ก็ได้กล่าวว่า ‘โมเสสจึงกล่าวแก่ประชาชนว่า “จงระลึกถึงวันนี้ ที่พวกท่านออกมาจากอียิปต์ จากแดนทาส” เพราะพระยาห์เวห์ทรงนำท่านออกจากที่นั่นด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ ห้ามกินขนมปังใส่เชื้อ’ อพยพ บทที่ 13 ข้อที่ 3
จากคัมภีร์ข้อนี้เอง ชาวฮาซิดิกตีความว่า หมายถึงการปลอดจาก Chametz หรือเชื้อหมักใดใด เช่น ยีสต์ทำขนมปัง ผลไม้หมักรสเปรี้ยว ไปจนถึงจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยว น้ำส้มสายชู ฯลฯ คือสิ่งที่ห้ามกินเลยตลอดช่วงเทศกาลปัสกา แต่พวกเขาจะปลอดเชื้อได้อย่างไร ในเมื่อขนมปังคือสิ่งที่กินเป็นอาหารทุกเมื่อเชื่อวัน ตรงนี้เองคือสาเหตุให้เกิดภูมิปัญญาว่า ถ้าห่อฟอยล์ทั้งครัว น่าจะปลอดจากเชื้อจากเศษขนมปังปะปนได้ และขนมปังชนิดเดียวที่พวกเขาจะกินได้ในเทศกาลนี้ คือ ขนมปังมัทโซห์ (Matzoh bread) อันเป็นขนมปังไร้เชื้อ หรือบ้างก็เรียกว่าขนมปังศีล ที่ฝ่ายคริสต์จะใช้ในพิธีศีลมหาสนิท อันเป็นเครื่องรำลึกถึงความศรัทธา เนื่องจากเมื่อครั้งชาวยิวอพยพออกจากอียิปต์อย่างรีบร้อน ไม่มีเวลารอให้แป้งขึ้นฟูจึงต้องกินแต่ขนมปังนี้ในระหว่างการอพยพ
ในตอนหนึ่ง เมื่อโรเบิร์ต (แอรอน อัลทาราส) เพื่อนใหม่ของเอสตี้โพล่งขึ้นว่า “แยล (เพื่อนอีกคน) ก็แค่เคยเล่นไวโอลินในวงดุริยางค์ของกองทัพแค่นั้นแหละ” แล้วเพื่อนของเขาก็หยอกล้อสำทับว่า “อย่างเพลงโฟร์ซีซันของวีวัลดีทุกสุดสัปดาห์งั้นหรือ” แยล (ทามาร์ อามิต) ตอกกลับไปว่า “ไม่ ไม่จริงหรอก…บางทีเราก็เล่นเพลงเบโธเฟนไนน์” แล้วก็หัวเราะครืนกันทั้งคันรถ ว่าแต่มันขำตรงไหน มุขตลกนี้ไม่ใช่จะมีแต่เอสตี้เท่านั้นที่ไม่เข้าใจ แต่เชื่อว่าคนดูชาวไทยก็คงเกาหัวแกรกงงเป็นไก่ตาแตก
ซิมโฟนี หมายเลข 9 ของ เบโธเฟน มีเนื้อหาเกี่ยวกับภราดรภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษยชาติ อันเป็นอุดมคติที่เบโธเฟนได้รับมาจากยุคปฏิวัติฝรั่งเศส แล้วบทเพลงนี้ก็ถูกผลิตซ้ำและตีความโดยนักคิดฝ่ายซ้ายที่ต้องการยกย่องความเท่าเทียมกัน รวมไปถึงความร่วมมือกันระหว่างชนชั้นกรรมาชีพ ด้วยเนื้อหาเช่นนี้เอง นาซีย่อมลังเลที่จะใช้เพลงนี้ แม้ว่ามันจะชวนฮึกเหิมเสียเหลือเกิน เพราะพวกเขาไม่เชื่อในการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะพวกเลือดต่างเชื้อชาติอย่างยิวที่อาจแปดเปื้อนเลือดอารยันแท้ของพวกเขาได้ แต่แล้วไม่รู้อีท่าไหน วิลเฮล์ม เฟิร์ตแวงเลอร์ กลับเลือกเพลงนี้ในงานฉลองวันเกิดของฮิตเลอร์ในปี 1942
ไม่เท่านั้นในกระบวนที่ 4 (Ode to Joy) ของซิมโฟนีนี้ยังเคยถูกใช้แทนเพลงชาติของทีมผสมเยอรมันตะวันออกและตะวันตกในการแข่งโอลิมปิกปี 1956-1968 ด้วย แถมยังถูกใช้ในงานเฉลิมฉลองหลังกำแพงเบอร์ลินทะลาย และนับตั้งแต่ปี1985 Ode to Joyยังถูกใช้เป็นเพลงประจำสหภาพยุโรปด้วย ความชาญฉลาดของมุขตลกบรรทัดนี้ในซีรีส์ คือต้องการจะเสียดเย้ยกองทัพ ที่เลือกจะเล่นเพลงนี้ทั้งที่เนื้อหาของมันไม่ใช่เพลงสำหรับฝ่ายกองทัพ แต่เป็นเพลงเพื่อมวลชนโดยแท้ ทว่าด้วยท่วงทำนองแสนฮึกเหิม ย่อมทำให้ขั้วตรงข้ามมองข้ามความหมายของมันไป แม้แต่พวกนาซียังชอบใจ
หลายคนอาจสงสัยว่าซีรีส์เรื่องนี้สามารถถ่ายทำในอเมริกาได้อย่างไร เพราะเนื้อหาชวนดราม่าทัวร์ลงจากฝ่ายชุมชนซัตมาร์เป็นอย่างยิ่ง แต่จริงๆแล้ว Unorthodox ไม่ใช่ซีรีส์อเมริกัน แต่เป็นซีรีส์เยอรมัน และกว่า 90% ของทั้งเรื่องถูกถ่ายทำในเบอร์ลิน แต่นักแสดงบทชาวยิวทั้งหมด เป็นชาวยิวที่อยู่ในเยอรมนี (ยกเว้น เชียร์รา ฮาสส์ คนเดียวที่เป็นชาวอิสราเอล) รวมถึง เอริ โรเซน ชาวยิวในเรื่องนี้ที่พูดภาษายิดดิชที่ใช้กันในชุมชนซัตมาร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ซีรีส์นี้มีความสมจริงเป็นอย่างมาก โดยผู้จัดซีรีส์เรื่องนี้เล่าว่า “เอริ โรเซน แสดงเป็นรับไบ เขาสอนเราเรื่องรายละเอียดทางขนบวัฒนธรรมต่างๆ” รวมถึง เจฟฟ์ วิลบุช ชาวชุมชนซัตมาร์แท้ๆจากชุมชนแมเชรีม ในกรุงเยรูซาเลม (ชุมชนเดียวกันกับที่ไปตั้งรกรากในนิวยอร์ก แต่แมเชรีมคือซัตมาร์ที่ยังคงอยู่ในอิสราเอลมาจนทุกวันนี้)
แล้วยิวในเยอรมันทุกวันนี้ยังอยู่ดีกันหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยากจะตอบ ภายหลังยุคนาซี เหลือยิวรอดชีวิตที่ยังคงอยู่ในเยอรมัน 15,000 คน ขณะที่มียิวจากฝั่งยุโรปตะวันออกอพยพเข้ามาสมทบอีกกว่า 20,000 คน จนในปัจจุบันมีชาวยิวกว่า 200,000 คน แต่เพราะหลังจากเยอรมันประกาศเปิดประเทศให้ผู้ลี้ภัยมุสลิมในช่วงอาหรับสปริง ไปจนถึง พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี หรือ AfD ที่มีแนวคิดชาตินิยมขวาจัด ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี2017 มากเป็นอันดับ 3 และประกาศเดินหน้าแนวทางต่อต้านผู้อพยพที่ทะลักเข้ามาในเยอรมัน แม้ AfD จะประกาศว่าไม่มีทัศนคติต่อต้านชาวยิว แต่ที่ผ่านมา นักการเมืองของพรรคหลายคนได้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงจากองค์กรชาวยิวและนักการเมืองคนอื่น ๆ
ไปจนถึงความซับซ้อนทางเชื้อชาติ เมื่อมีคลิปไวรัลในปี 2018 ที่ว่อนเนตไปทั่ว เป็นภาพชาวซีเรียนอพยพ ถอดเข็มขัดฟาดไปยัง อดัม อาร์มุช ชาวอาหรับ-อิสราเอลที่ไม่ได้เป็นยิว เพียงเพราะเข้าใจผิดคิดว่า อดัม เป็นยิว เพราะอดัมสวมหมวกคิปปาห์แบบยิว โดยภายหลังอดัมเล่าว่าเขาได้หมวกนี้มาจากเพื่อนชาวยิว ซึ่งเตือนเขาไว้แล้วว่าอย่าใส่เดินถนนในเบอร์ลิน แต่เขาไม่เชื่อ เลยอยากจะทดลองใส่ดู ผลก็ปรากฏดังในคลิป ความรุนแรงยิ่งระอุขึ้นในปี 2019 เมื่อมีชาวเยอรมันบุกเดี่ยวเข้าไปกราดยิงในโบสถ์ยิว จนมีผู้เสียชีวิต 2 ศพ และตัวเลขอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังยิว ก็พุ่งขึ้นอีก 10% ในแต่ละปีหลังจากนั้นอย่างน่าวิตก
อย่างไรก็ตาม Unorthodox ก็ได้สะท้อนบางอย่างต่อสังคมเยอรมัน เพราะแม้แต่ชาวอิสราเอลแท้ๆอย่าง เชียร์รา ฮาสส์ ก็ยืนยันว่า “ซีรีส์นี้เป็นเรื่องราวที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นโลกทั้งสองมุม ฉันไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของพระเจ้า แต่มันเป็นเรื่องของสิทธิในการแสดงความคิดเห็น” รวมถึงนักแสดงประกอบในเรื่องนี้ผู้มีเชื้อสายยิวอีกคนก็ระบุว่า
“ฉันคิดว่านี่เป็นซีรีส์เรื่องแรกที่สะท้อนภาพชุมชนฮาซิดิกอย่างถูกต้อง…ตอนที่ชุมชนยิวของฉันได้ดู มีคนแบบฉันได้ดูมันและเห็นว่า ชีวิตของเอสตี้เหมือนกับพวกเธอเลย และซีรีส์นี้ทำให้พวกเธอกล้าจะออกไปทำตามความฝัน”
อย่างไรก็ตาม ตัวซีรีส์ก็มีจุดที่ต่างไปจากนิยายอยู่บ้าง ดังที่ผู้จัดเล่าว่า “เราสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องราวปัจจุบัน ให้ต่างจากชีวิตจริงของผู้เขียน เพราะเธอเป็นนักเขียนเป็นที่รู้จักในสังคม เธอเป็นปัญญาชน และคนเยอรมันรู้จักเธอเป็นอย่างดี เราเลยอยากให้ชีวิตของเอสตี้ในเบอร์ลินต่างจากชีวิตจริง เพื่อให้คนดูคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นฉากในอดีตจะยึดตามหนังสือ แต่ฉากในปัจจุบันเราต้องแต่งขึ้นใหม่”
มาเรีย ชราเดอร์ ผู้กำกับที่เพิ่งคว้ารางวัลกำกับยอดเยี่ยมเวทีเอ็มมี่จากซีรีส์เรื่องนี้มาหมาดๆ ให้ความเห็นว่า “การเห็นตัวละครเผชิญหน้ากับโลกของเรา ทำให้เราตั้งคำถามต่อโลกของเราเช่นกัน”