ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เมื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าสั่นคลอน!(1)

เมื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าสั่นคลอน!(1)

16 พฤษภาคม 2023


ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าถูกสั่นคลอน เมื่อ กฟผ.ในฐานะผู้รักษาเสถียรภาพของระบบ เหลือสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าแค่ 30% ถามโรงไฟฟ้าเอกชน ยามเกิดเหตุการณ์คับขันจะยอมตายเพื่อชาติหรือไม่?

ในยุคที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารจัดการประเทศกว่า 8 ปี อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างความสั่นคลอนให้กับความมั่นคงของระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย จนหลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ปัจจุบันกิจการไฟฟ้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศกำลังบิดเบี้ยวด้วยอำนาจที่สามารถสั่งการได้ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความมั่นคงของเรื่องนี้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

แม้วันนี้ผลการเลือกตั้ง(14 พ.ค.2566)ได้ประกาศออกมาชัดเจน ว่าพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามกติกามารยาทของพรรคเสียงข้างมากได้จริง การเปลี่ยนขั้วอำนาจอาจจะเกิดขึ้น ความมั่นคงระบบพลังงานไฟฟ้า โครงสร้างการกำกับดูแลต้องได้รับการปรับเปลี่ยน ไม่ให้อยู่ภายใต้การผูกขาดของบางกลุ่มมากไปกว่านี้ แต่ถ้าไม่ การสั่นคลอนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทยยังต้องหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นต่อไป

กิจการไฟฟ้า เป็นบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและต่อเนื่องไปถึงความมั่นคงของประเทศ สำหรับโครงสร้างในการบริหารกิจการไฟฟ้าของไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ “EGAT” ทำหน้าที่ดูแลการผลิต และการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน โดยมีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operation : SO) ซึ่งอยู่ภายใต้กิจการระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ทำหน้าที่สั่งการโรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. และเอกชน ให้เดินเครื่องผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และบริหารจัดกำลังการผลิต (Supply) ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand) อยู่ตลอดเวลา จากนั้นก็นำไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่งไปให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขายให้ประชาชนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแล และตรวจสอบความโปร่งใสของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าในการสั่งเดินไฟอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างของกกพ.เป็นอีกหน่วยงานที่ถูกจับตาและมีกระแสข่าวว่ามีโครงสร้างภายในที่อาจจะบิดเบี้ยวตาม “บิ๊กพลังงาน”

จากข้อมูลประมาณการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ส่วนใหญ่ซื้อมาจากโรงไฟฟ้าของเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกันประมาณ 48,597 ล้านหน่วย คิดเป็นสัดส่วน 67% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของทั้งหมด ส่วนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเองแค่ 23,623 ล้านหน่วย คิดเป็นสัดส่วนแค่ 33%

ปัจจุบัน กฟผ.จึงไม่ใช่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่เหมือนในอดีต

จากการที่ กฟผ.มีสัดส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลือแค่ 30% ถามว่า กฟผ.ยังคงมีศักยภาพในการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศได้มากน้อยแค่ไหน

หากย้อนไปดูกรณีตัวอย่างและบทเรียนที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ในช่วงกลางปี 2561 เกิดฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ ของโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ส่งผลทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ต้องส่งเข้าระบบไฟฟ้าของไทยขาดหายทันที 1,300 เมกะวัตต์ ทำให้ระดับแรงดันและความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลงจากมาตรฐานปกติ ความถี่ต้องอยู่ที่ 50 เฮิรตซ์ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ “SPP” อีก 23 รายทั่วประเทศ ต้องสับสวิตซ์ปลดเครื่องผลิตไฟฟ้าออกจากระบบ ทำให้กระแสไฟฟ้าขายหายเพิ่มไปอีก 2,000 เมกะวัตต์ ทั้ง ๆที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ทำสัญญาพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.

การที่โรงไฟฟ้า SPP เหล่านี้ ต้องปลดเครื่องผลิตไฟฟ้าออกจากระบบ ยอมจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. เนื่องจากโรงไฟฟ้า SPP เหล่านี้ ไม่ได้ขายไฟฟ้าให้ กฟผ.รายเดียว ยังมีสัญญาขายไฟฟ้ากับลูกค้าเอกชนรายอื่นๆอีกหลายราย เมื่อแรงดันหรือความถี่ของกระแสไฟฟ้าตกจะทำให้เครื่องผลิตไฟฟ้าทำงานหนักจนอาจได้รับความเสียหาย จึงตัดสินใจสับสวิตซ์ปลดเครื่องออกจากระบบ ยอมจ่ายค่าปรับให้ กฟผ.เจ้าเดียวคุ้มกว่าที่จะเสี่ยงเครื่องพัง และต้องจ่ายค่าปรับ หรือ ค่าเสียหายให้กับลูกค้าโดยตรงอีกหลายราย

“จากบทเรียนเหตุการณ์ฟ้าฝ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของโรงไฟฟ้าหงสาฯครั้งนั้น ทำให้ไฟฟ้าขาดหายไปจากระบบทันที 1,300 เมกะวัตต์ และขยายเพิ่มเป็น 3,300 เมกะวัตต์อย่างรวดเร็ว จากการที่โรงไฟฟ้าเอกชนดีดตัวเองออกจากระบบ เกิดปัญหาไฟฟ้าดับไปเกือบครึ่งประเทศ”

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ชี้ให้เห็นว่า เมื่อถึงยามคับขัน ทุกคนก็ต้องหนีเอาตัวรอดกันหมด ยกเว้น กฟผ.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ต้องเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งกว่าจะกู้ระบบกลับคืนมาได้ทั้งหมดใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน นี่คือตัวอย่างทำไมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจึงสำคัญ

สำหรับการแก้ปัญหาในครั้งนั้น ต้องทำความสมดุลระหว่างกำลังการผลิตไฟฟ้า(supply)กับความต้องการใช้ไฟฟ้า(demand) ให้กลับคืนมาให้ได้ก่อน วิธีการง่ายๆ ตัดโหลด หรือ ดับไฟฟ้าในพื้นที่ที่ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด จากนั้นก็พยายามเร่งซัพพลาย เพื่อสร้าง Balance กันใหม่ โดย กฟผ.สั่งให้โรงไฟฟ้าที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานลม โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เร่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ติดเครื่องเดินไฟฟ้าเสร็จสามารถจ่ายเข้าระบบได้ทันที กรณีนี้เปรียบเสมือนการขับรถยนต์เร่งเครื่องยนต์เพิ่มความเร็ว จาก 0 ไปถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องใช้เวลา หลังจากผลิตกระแสไฟฟ้าได้แล้ว ก็ทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ สร้างความสมดุลกันขึ้นมาใหม่

เพราะโอกาสจะเกิดวิกฤติมีได้เสมอๆ จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงในกรณีวิกฤติที่คาดไม่ถึง

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไม กฟผ.ต้องมีโรงไฟฟ้าของตนเอง เพราะในยามที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน “ประเทศ” ต้องรอด กฟผ.ต้องเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่สำคัญ

กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หากเดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามากเท่าไหร่ รายได้ที่เกิดขึ้น ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ให้รัฐบาลนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ปัจจุบันการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นำรายได้ส่งคลังเป็นอันดับที่ 4 คิดเป็นเงินเกือบ 10,000 ล้านบาท รองมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน

ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือ 70% เป็นของเอกชน ที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนให้เอกชนตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก ถามว่าประเทศชาติได้ประโยชน์จริงหรือ โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤติ ทุกคนต่างก็หนีเอาตัวรอดกันหมด กฟผ.ต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพความมั่งคงของไฟฟ้ารายเดียว เครื่องอาจจะพัง แต่ต้องเดินไฟฟ้าเลี้ยงระบบ แล้วค่อยมาซ่อมกันภายหลัง นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม กฟผ.ต้องมีโรงไฟฟ้าของตนเองในสัดส่วนที่มากเพียงพอในการบริหารจัดการความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนให้นิยามของคำว่า “ความมั่นคงทางด้านพลังงาน” เอาไว้อย่างชัดเจน แต่โดยทั่วไปน่าจะหมายถึง “การที่ประเทศมีพลังงานพร้อมใช้อย่างเพียงพอทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในราคาที่เหมาะสมด้วย”

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ คือ กรณีของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีการจ้างทหารจากประเทศอื่นเข้าไปร่วมรบ ถามว่าทหารรับจ้างเหล่านี้จะยอมรบจนตัวตายหรือไม่ และถ้าคุณเป็นผู้นำของกองทัพ คุณกล้าตัดสินใจจ้างทหารรับจ้างมาร่วมรบเกินครึ่งหนึ่งของกองทัพหรือไม่ “ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า” ก็เช่นเดียวกัน

จากบทเรียนในอดีต แม้ กฟผ.จะมีสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าที่ทำกันไว้กับโรงไฟฟ้าเอกชนก็ตาม แต่เมื่อเกิดเหตุคับขัน โรงไฟฟ้าเอกชนไม่สนใจค่าปรับ ทุกคนต่างหนีเอาตัวรอดกันหมด ไม่มีใครยอมตายเพื่อชาติ มีแต่ กฟผ.เท่านั้นที่ต้องทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพความมั่นคงของระบบไฟฟ้าต่อไป…

ล่าสุดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพิ่งประกาศรายชื่อโรงไฟฟ้าเอกชนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและความพร้อมที่จะขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ให้กับกฟผ.ในช่วงปี 2565-2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ปรากฎว่ามีแต่รายใหญ่หน้าเดิม ๆ ที่ผูกขาดมาโดยตลอดได้สัมปทานขายไฟฟ้าไปแล้วกว่า 70% และก่อนที่รัฐบาลประกาศยุบสภา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ กกพ.รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 3,668 เมกะวัตต์ และทราบว่ารายใหญ่ๆหน้าเดิม คงจะได้อีก

แต่เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่มีความไม่แน่นอน ไม่รู้จะไปเมื่อไหร่ มาเมื่อไหร่ ทำให้ต้องเตรียมกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) เอาไว้รองรับตามสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มเข้ามาในระบบ

ดังนั้นปัญหาเดิมๆ…ของเก่าค่าพร้อมจ่ายยังไม่ได้ปรับแก้ ซึ่งเป็นต้นทุนและเป็นสาเหตุหนึ่งของค่าไฟแพง(อ่านเพิ่มเติมในข่าวข้างล่าง) การเพิ่มรายใหม่เข้ามาอีก ยิ่งทำให้ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าสั่นคลอนมากขึ้นๆ…เพราะสัดส่วนที่ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเองถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ค่าพร้อมจ่ายไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

  • นายกฯเคาะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 MW ยันไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” – ดันไฟฟ้าสำรองเพิ่ม
  • สนพ. ปรับเงื่อนไขกันกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่ฟ้องศาลปกครอง ห้ามยื่นซองขายไฟฟ้าสีเขียว 3,668 MW
  • ผู้ผลิตไฟฟ้าร้องศาลปกครอง เบรกซื้อ “ไฟฟ้าสีเขียว” 5,000 เมกะวัตต์
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (2) สัญญาทาส – ค่าพร้อมจ่าย ใครได้บ้าง?
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (1) เราจ่ายค่าอะไรบ้าง?
  • ‘ปอกเปลือกหัวหอม’ ความไม่เป็นธรรมที่ซุกในบิลค่าไฟ(แพง)
  • ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (1)
  • กกพ.หั่น “ค่าไฟ” ช่วยภาคธุรกิจลง 35 สตางค์ – เลื่อนใช้หนี้ กฟผ.กว่าแสนล้านบาท เป็น 3 ปี
  • “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” แจงขึ้นค่าไฟทุกข้อกล่าวหา
  • แทรกแซงการบริหารจัดการ

    ย้อนหลังกลับเมื่อปี 2560 ช่วงที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานได้ทำเรื่องเสนอที่ประชุม กพช.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ มีมติเห็นชอบให้ กฟผ.ไปดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติ (LNG )ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 โดยมีเงื่อนไขว่า “ราคา LNG ที่ กฟผ.ไปจัดหามานั้น ต้องไม่สูงกว่าราคา LNG ต่ำที่สุดตามสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวของบริษัท ปตท.”

    ต่อมา กฟผ.จึงเร่งดำเนินการจัดประกวดราคา จนกระทั่งได้บริษัท ปิโตรนาส ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ชนะ เสนอขาย LNG ในราคาต่ำที่สุด 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นระยะเวลา 8 ปี ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาต่ำที่สุดของ ปตท. เป็นตามเงื่อนไขที่ กพช.และกระทรวงพลังงานกำหนดทุกประการ

    แหล่งข่าวในวงการพลังงานบอกว่า “อยู่ดีๆก็มี “บิ๊กพลังงาน” มาเปลี่ยนโจทย์ให้ กฟผ.ใหม่ โดยบอกว่า ก๊าซ LNG ที่ กฟผ.ไปจัดหามาได้นั้นมีราคาแพงกว่าราคา Pool Gas ซึ่งแน่นอนอยู่แล้ว เพราะใน Pool Gas มีก๊าซอ่าวไทยผสมอยู่ หากนำก๊าซจากมาเลเซียเข้ามาใน Pool Gas จะทำให้ค่าไฟฟ้ายิ่งแพงขึ้น ขณะที่ทางบริษัท ปตท.เองก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของเขา”

    จนกระทั่งมาถึงช่วงปลายปี 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ไม่นาน กระทรวงพลังงาน ได้มีการทำเรื่องเสนอที่ประชุม กพช. ยกเลิกมติ กพช.เมื่อปี 2560 ทำให้ กฟผ.ต้องไปยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อ-ขายก๊าซ LNG กับบริษัทปิโตรนาสในปริมาณ 1.5 ล้านตัน ในราคา 7 ดอลลาร์สหรัฐ อายุสัญญา 8 ปี

    “ตรงนี้ถือเป็นความเสียหายของคนไทยทั้งประเทศ การได้ก๊าซในราคานี้และเป็นสัญญาระยะยาว 8 ปี ปัญหาต้นทุนแพง ค่าไฟแพงที่เรากำลังประสบอยู่จะไม่เกิดขึ้น ลองคิดดูว่าปีที่แล้ว เราต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศมาในราคากว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู วันนั้นถ้า “บิ๊กพลังงาน” ไม่สั่งยกเลิกสัญญาซื้อ-ขาย LNG กับบริษัทเปโตรนาสในครั้งนั้น คนไทยทั้งประเทศคงไม่เดือดร้อนมาจนถึงวันนี้”

    นี่เป็นเพียงบางเสี้ยวของอำนาจที่แทรกแซงการบริหารจัดการความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย เราต้องตั้งคำถามว่า จะปล่อยให้ “บิ๊กพลังงาน” ยังลอยนวลอีกนานแค่ไหน….

    (อ่านต่อตอนที่2)