ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเคาะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 MW ยันไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” – ดันไฟฟ้าสำรองเพิ่ม

นายกฯเคาะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 MW ยันไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” – ดันไฟฟ้าสำรองเพิ่ม

9 มีนาคม 2023


เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯเคาะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม-แสงอาทิตย์-ก๊าซชีวภาพ-ขยะอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ สำหรับปี 2565 – 2573 จากปัจจุบัน กกพ.กำลังเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 5,203 เมกะวัตต์ ปลัดพลังงานยันไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” – ไม่เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง – ลดการปล่อยก๊าซ CO2 พร้อมมอบหมาย กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า “น้ำงึม 3 – เซกอง 4A – 4B” เห็นชอบข้อเสนอ กกพ. ในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ-ปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2564 – 2568 ยังไม่มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าฐาน

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพช. นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม กพช.มีมติรับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) โดยมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมได้ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณรับซื้อเพิ่มเติมรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ และได้มีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ซึ่งจะเป็นการรับซื้อต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ดำเนินการเปิดรับซื้ออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ที่สนใจยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ภายใต้ระเบียบและประกาศในปัจจุบัน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

“การรับซื้อเพิ่มเติมจะเปิดรับซื้อจากก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และสำหรับขยะอุตสาหกรรม (ในรูปแบบสัญญา Non-Firm) มีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20 -25 ปี ราคา FiT เดิมตามปริมาณข้างต้น โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในระบบไฟฟ้าของประเทศ ไม่มีค่าความพร้อมจ่าย (AP) ไม่เพิ่มระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองให้สูงขึ้น ราคาถูกไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน นอกจากนี้ช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในปี 2573 (NDC) ได้ รวมทั้งช่วยสนับสนุนการจัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกภาคเอกชนต่อไป โดย กพช. ได้มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป อาจปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา และที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า เพื่อรองรับการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยใช้งบประมาณของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วและมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังได้รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการน้ำงึม 3 และโครงการ เซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA โครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข รวมทั้งในวันนี้ที่ประชุม กพช.ยังได้รับทราบผลการดำเนินการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2564 – 2568 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ดำเนินการให้สอดคล้องตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 และวันที่ 1 เมษายน 2564 และมีการปรับปรุงข้อมูลและหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันมากที่สุด โดยในที่ประชุม กพช. ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะของ กกพ. ต่อการดำเนินการตามนโยบายและการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2564 – 2568 โดยมีประเด็นด้านนโยบายสำหรับการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ดังนี้

    (1) เห็นควรให้คงอัตราค่าไฟฟ้าฐานเท่าเดิม สำหรับค่าพลังงานไฟฟ้า และค่าความต้องการพลังไฟฟ้า ในการกำหนดค่าไฟฟ้าขายปลีก และคงอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง และเลื่อนการบังคับใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะจำแนกค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐออกจากค่าไฟฟ้าฐานและค่าเอฟทีออกไป เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้าง มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติพลังงานและการจัดหาก๊าซธรรมชาติแหล่งอ่าวไทยที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2567
    (2) ชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะที่ครบถ้วน เพื่อจำแนกค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน เหมาะสมในทางปฏิบัติในระยะต่อไป
    (3) กำหนดให้การดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส โดยการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมแปร์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ที่การไฟฟ้าได้ตรวจสอบสิทธิของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ให้มีความซ้ำซ้อน และผู้ใช้ไฟฟ้าได้มีการลงทะเบียนผู้มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป และให้นำค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส เป็นส่วนหนึ่งของความต้องการรายได้ (Revenue Requirement) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าตามนโยบาย กพช. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558

อนึ่ง สำหรับความคืบหน้าในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 รวมปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ หลังจากที่สำนักงาน กกพ.ออกประกาศเชิญชวน และปิดรับข้อเสนอ มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (VSPP) ยื่นข้อเสนอ RE- Proposal จำนวนทั้งสิ้น 670 ราย ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์ ปรากฏว่ามีผู้ผลิตไฟฟ้าเข้ารอบผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ 550 ราย และผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค 318 ราย ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 7,729 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 230 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ในจำนวนนี้มีกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าบางรายทำเรื่องร้องเรียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ อาจไม่โปร่งใส เนื่องจากไม่มีการประมูลหรือเปิดกว้างให้มีการเสนอราคาแข่งขันกัน และไม่ประกาศเกณฑ์การคัดเลือกให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบล่วงหน้า โดยการพิจารณาคัดเลือกขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกของ กกพ.

  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (2) สัญญาทาส – ค่าพร้อมจ่าย ใครได้บ้าง?
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (1) เราจ่ายค่าอะไรบ้าง?
  • ‘ปอกเปลือกหัวหอม’ ความไม่เป็นธรรมที่ซุกในบิลค่าไฟ(แพง)
  • ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (1)
  • กกพ.หั่น “ค่าไฟ” ช่วยภาคธุรกิจลง 35 สตางค์ – เลื่อนใช้หนี้ กฟผ.กว่าแสนล้านบาท เป็น 3 ปี
  • “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” แจงขึ้นค่าไฟทุกข้อกล่าวหา