ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > “สมาร์ทกริด” เทคโนโลยีการบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อเมืองอนาคต

“สมาร์ทกริด” เทคโนโลยีการบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อเมืองอนาคต

5 พฤศจิกายน 2019


นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน

ปัจจุบันเราทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าในอดีต เห็นได้จากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป มีความทันสมัยสะดวกสบาย ทุกอย่างครบจบในมือถือ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องพลังงานที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ พ่วงมากับอุปกรณ์ไฟฟ้ามากมาย ซึ่งหากมองในภาพใหญ่ คำว่าระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด หรือที่หลายคนเรียกว่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ อาจดูเหมือนไกลตัว แต่ในความเป็นจริงคือเราอาจมีการขยับเข้าใกล้เทคโนโลยีไฟฟ้าไปแล้ว ผ่านการใช้แอปพลิเคชันการจัดการพลังงานต่างๆ เช่น การสั่งเปิดปิดแอร์จากโทรศัพท์มือถือ การใช้แอปฯ ดูการใช้ไฟฟ้า เพื่อที่จะไปบริหารต่อได้ว่าควรประหยัดมากขึ้นหรือไม่

คำว่า “สมาร์ทกริด” (smart grid) หรือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ คือการนำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกันในระบบไฟฟ้า โดยครอบคลุมเทคโนโลยี ด้านการผลิตไฟฟ้า ด้านการส่งไฟฟ้า ด้านการจำหน่ายไฟฟ้า ไปจนถึงด้านผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง

หน่วยงานภาครัฐโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ตระหนักถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด จึงได้จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อ “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ขึ้น เพื่อให้ได้ทราบถึงเทคโนโลยีสมาร์ทกริดที่เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาในภาพรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้า รวมทั้งการพัฒนาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยว่า สนพ.เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าประเทศ และกระทรวงพลังงานยังได้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2558-2579) มีการแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (พ.ศ. 2558-2559) ระยะสั้น (พ.ศ. 2560-2564) ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2565-2574) และระยะยาว (พ.ศ. 2575-2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ อีกทั้งยังได้วางนโยบายและกรอบทิศทางการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยในภาพรวม เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ คือ 3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และภาคเอกชน ได้กำหนดทิศทางแผนการพัฒนาและการลงทุนที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาตามนโยบายของประเทศ

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองไฟฟ้า สนพ. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของเทคโนโลยีพลังงานก็มีความก้าวหน้ามาก เช่น ปัจจุบันเราสามารถควบคุมการบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน สำหรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดนั้นจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการต่อยอดเรื่องเศรษฐกิจการลงทุน และเกิดการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

นายนพดล ประเสริฐกาญจนา ผู้ตรวจการการไฟฟ้านครหลวง

ด้านนายนพดล ประเสริฐกาญจนา ผู้ตรวจการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่าแนวโน้มการใช้พลังงานหมุนเวียนในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับขณะนี้ราคาพลังงานทดแทนถูกลง มีการพูดกันถึงเรื่องแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตการไฟฟ้าฯ อาจไม่ใช่ผู้เล่นรายเดียวแล้ว แต่จะมีโรงไฟฟ้าเล็กๆ เกิดขึ้นอีกมาก

นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า <การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาค้นคว้าทดลองทำโครงการนำร่องต่างๆ ที่เน้นด้านการตอบสนองโหลดหรือระบบบริหารจัดการพลังงาน คือ พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าระยะ 1 (demand response) ซึ่งหากทำสำเร็จนอกจากประหยัดไฟแล้วยังได้เงินกลับคืนอีกด้วย ทั้งยังมีโครงการเปลี่ยนนำร่องเปลี่ยนมิเตอร์จานหมุนมาเป็นแบบสมาร์ทมิเตอร์ที่เมืองพัทยาประมาณ 120,000 เครื่อง ขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาสมาร์ทกริด ซึ่งความฉลาดของระบบที่ผสานเทคโนโลยีด้านพลังงานผ่านการใช้แอปพลิเคชัน PEA Smart Plus ทำให้ผู้บริโภคสามารถเช็คปริมาณการใช้ไฟฟ้า ตรวจสอบค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง ได้แบบสะดวก [caption id="attachment_180064" align="aligncenter" width="620"] ดร.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)[/caption]

ดร.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เริ่มพัฒนาระบบกริดให้มีความทันสมัยและยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานรูปแบบใหม่ที่จะเริ่มเข้าระบบมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังมีแผนการเชื่อมระบบไฟฟ้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นฮับพลังงานอาเซียน ซึ่งปลายทางเรามองถึงความยั่งยืนของระบบไฟฟ้าในประเทศ

สนพ.ได้ตั้งเป้าสร้างประโยชน์ใน 3 ส่วน คือ smart system > smart life > green society เพื่อเป็นการยกระดับทั้งทางด้านระบบไฟฟ้าและคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และยังเป็นการยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้า สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ด้วย

สำหรับแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ดกริดนั้นได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) เรียบร้อยแล้ว และการจัดงานสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจในภาคประชาชนจาก สนพ.ก็ถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้แผนพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น โดย สนพ.เตรียมกระจายความรู้สู่ประชาชนระยะแรก เริ่มจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี และภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบนโยบาย แผนงาน และทิศทางการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ก็จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้ก้าวทันตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง